ในช่วง 4-5 ปีมานี้ กระแสรถยนต์ไฟฟ้าหรือรถ EV (Electric Vehicle) กำลังเป็นทางเลือกที่ได้รับความนิยมในตลาดรถยนต์ไทยและต่างประเทศ ด้วยราคาของน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้นไม่มีหยุด ความคุ้มค่า รวมถึงปัญหาสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง แต่ ไพศาล ตั่งยะฤทธิ์ ศึกษาและดัดแปลงรถยนต์น้ำมันให้กลายเป็นรถ EV ฝีมือคนไทยมานานกว่า 20 ปี ก่อนที่รถยนต์ไฟฟ้าจะเป็นที่นิยมในปัจจุบัน
“Before it was cool”
“ตอนแรกไม่มีใครเห็นด้วย เพราะรถไฟฟ้าในตอนนั้นยังเป็นเรื่องไกลตัว ไม่มีรูปแบบในเมืองไทยให้เห็น สังคมของเรามักมองว่าอะไรที่ไม่เคยเห็นก็แปลว่าเป็นไปไม่ได้ แต่ผมมักจะฝืนมติคนที่ขัดขวางเรา ด้วยการเดินหน้าทำมันต่อไป อันนี้คือบุคลิกส่วนตัวของผม” ลุงไพศาลเผยบุคลิกเฉพาะของคนคูลๆ
ไม่ได้ฝืนเพราะดื้อ…โอเค ดื้อก็ส่วนหนึ่ง แต่ดื้ออย่างมีข้อมูลและความรู้ ลุงไพศาลมองเห็นความเป็นไปได้ของพลังงานไฟฟ้าสำหรับรถยนต์ มีความรู้เพราะเรียนจบไฟฟ้า และมีใจรักในเครื่องยนต์กลไก
“ผมจบไฟฟ้า เริ่มทำงานด้านไฟฟ้า แต่ก็ชอบความเร็วของรถยนต์” ลุงไพศาลบอก และเล่าว่าเริ่มตั้งคำถามต่อทรัพยากรเชื้อเพลิงฟอสซิล สักวันหนึ่งมันต้องหมดไป ประกอบกับความผันผวนของเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองโลก ก็สัมพันธ์กับราคาน้ำมันอย่างที่คนอย่างเราๆ ไม่สามารถควบคุมอะไรได้ ขณะเดียวกันรถยนต์มือสองเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ หากทำการดัดแปลงให้เป็นรถพลังงานไฟฟ้า ก็จะลดต้นทุนไม่ต้องสิ้นเปลืองวัสดุสร้างผลิตชิ้นส่วนใหม่ โดยใช้รถยนต์เชื้อเพลิง นำมาพัฒนาต่อยอดให้เป็นพลังงานไฟฟ้า
“เราก็คิดว่าถ้าวันหนึ่งน้ำมันหมด แก๊สราคาสูงขึ้น เราจะต้องมีพลังงานทางเลือก” เป็นจุดเริ่มต้นให้ลุงไพศาลสนใจพลังงานทางเลือก
ลุงไพศาลเริ่มต้นทำงานเกี่ยวกับมอเตอร์ไฟฟ้าทั้งเล็กใหญ่ ตั้งแต่มอเตอร์พัดลม ไปจนถึงระบบไฟฟ้าในโรงงาน จากนั้นจึงเริ่มต้นธุรกิจเกี่ยวกับรถยนต์ เลยทำให้รู้เรื่องพื้นฐานรถยนต์ทั้งคัน ตั้งแต่เครื่องยนต์ยันช่วงล่าง ระบบขับเคลื่อนทั้งหมด ต่อมาจึงเริ่มให้บริการติดแก๊สรถยนต์ แล้วค่อยๆ มาทำรถยนต์ไฟฟ้า โดยเริ่มจากรถของตัวเองก่อน”
ลุงไพศาลเริ่มซื้อรถยนต์มือสอง ค่อยๆ รื้อ ค่อยๆ แกะ ผิดพลาดเก็บเป็นบทเรียน คราบน้ำมันเปื้อนมือเปรอะหน้าทุกวัน เพื่อที่จะทำในสิ่งที่เขามองเห็นแจ่มชัดในความคิดของตนเอง
“เรามีธุรกิจติดตั้งแก๊สในรถยนต์อยู่แล้ว เรามีงบที่จะเดินหน้าต่อ งานนี้เราต้องเดินให้ถึงจุดหมาย ผมซื้อรถเก่ามาดัดแปลงเป็น EV แล้วขาย ก็ทำให้เราพัฒนาตัวเอง จากที่เราทำรถเล็กๆ เริ่มจากจักรยาน มอเตอร์ไซค์ รถเก๋งเล็ก รถเก๋งใหญ่ รถบัส ก็ขยับขึ้นมาเรื่อยๆ สั่งสมประสบการณ์มาตลอด ทุกวันนี้ก็ยังค้นคว้าพัฒนาตัวเองตลอด การเรียนรู้ไม่มีวันสิ้นสุดครับ” ลุงไพศาล บอกกับทีมงานมนุษย์ต่างวัย ราวกับว่าการเรียนรู้เพิ่งเริ่มต้น
ในช่วงที่ลุงไพศาลลองผิดลองถูกกับเศษซากรถเก่า คนในครอบครัวย่อมมองไม่เห็นสิ่งที่ปรากฎในความคิดของลุงไพศาล เหมือนที่ลุงไพศาลมองเห็นมันในความคิดความฝันของตัวเอง
“ญาติพี่น้องบอกว่าเราเสียเงินมากมายขนาดนี้ ไปทำอย่างอื่นดีกว่ามั้ย แต่คนเรามันคิดไม่เหมือนกันหรอกครับ ถ้าเราแตกต่างและมีเป้าหมายว่าจะทำให้มันเกิดขึ้น เราก็จะเป็นหนึ่งเดียวครับ แล้วตอนนี้เป็นยังไงละครับ ตอนนี้รถไฟฟ้าเข้ามาตีตลาดบ้านเราและทั่วโลก” ลุงไพศาลบอก และข้อเท็จจริงนี้ก็ยืนยันว่าลุงไพศาล Before it was cool จริงๆ
ความฝันของชายวัย 71
ปัจจุบัน EV Car Thailand ของลุงไพศาลให้บริการดัดแปลงรถเครื่องยนต์สันดาปเป็นรถยนต์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้า 100 เปอร์เซ็นต์ โดยการเสียบปลั๊กไฟบ้านและสามารถชาร์จได้ตามสถานีชาร์จรถไฟฟ้า รถยนต์ที่ผ่านการดัดแปลงสามารถวิ่งใช้งานได้บนท้องถนนหลวง และจดทะเบียนกับกรมการขนส่งทางบกได้ เบื้องต้นทำความเร็วได้กว่า 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เฉลี่ยอัตราสิ้นเปลืองที่กิโลเมตรละ 50 สตางค์ โดยไม่มีค่าบำรุงรักษาเครื่องยนต์และเชื้อเพลิงตลอดอายุการใช้งาน และอยู่ระหว่างพัฒนาต่อยอด ให้มีประสิทธิภาพให้สูงขึ้นอีก 50-100 เปอร์เซ็นต์
เหมือนที่ลุงไพศาลบอกไว้ ทุกวันนี้ก็ยังค้นคว้าพัฒนาตัวเองตลอด การเรียนรู้ไม่มีวันสิ้นสุด “ผมอยากเห็นบ้านเมืองของเราปลอดมลพิษ รถยนต์วิ่งเงียบ ไร้ควัน” ลุงไพศาล เกริ่นถึงความฝันของเขาในวัย 71
“ช่วงก่อนโควิด ผมมีโอกาสได้ไปประเทศจีน เชื่อไหม ต่อให้คุณใส่ชุดขาว คุณจะไปนั่งที่ไหนก็ได้ครับ ไม่ต้องกลัวเปื้อน ไม่มีฝุ่น อันนี้ต้องเชื่อ รัฐบาลจีนที่สามารถควบคุมมลพิษทางอากาศได้ดีมาก เขากำหนดนโยบายเอื้อให้ประชาชนใช้รถไฟฟ้าได้สะดวก แต่ถ้าคุณใช้รถเครื่องยนต์สันดาป เขาจะกำหนดเวลาในการวิ่งในเมือง คุณวิ่งได้ตามเวลานี้เท่านั้น แต่ถ้าใช้รถไฟฟ้าก็วิ่งได้ตลอดเลย”
ลุงไพศาลเชื่อมั่นในพลังของคนที่มีใจรักในรถยนต์ไฟฟ้า ว่าจะสามารถเปลี่ยนแปลงสังคมได้เหมือนการทำงานของแรงงานมดที่จะช่วยกันขับเคลื่อนพลังงานยานยนต์ไฟฟ้าสู่ทางเลือกใหม่ จึงเปิดสถานฝึกอบรมออนไลน์เพื่อเผยแพร่ความรู้และทักษะให้กับบุคคลากรวิชาชีพสาขาสายต่างๆ เช่น ช่างยนต์ ช่างไฟฟ้า ช่างกลโรงงาน หรือผู้ที่มีพื้นฐานเชิงช่างที่สนใจ เพื่อจะสามารถนำความรู้ไปต่อยอดทำธุรกิจได้
“พอสูงวัยขึ้น ผมก็เริ่มมองอีกแบบ เราไม่ได้มองว่าต้องร่ำรวย เราอยากช่วยเหลือคนอื่น อยากสร้างอาชีพให้กับเขา เพราะในบั้นปลายของเรา เรามีหน้าที่ให้ ผมฝันอยากให้บ้านเมืองสะอาด เป็นแหล่งท่องเที่ยว มีธุรกิจที่สร้างรายได้ให้คน”
“ผมจึงเปิดคอร์สสอนทางออนไลน์ ให้ความรู้นี้กระจายไปทั่ว ให้เกิดอู่เหมือนอู่ซ่อมรถทั่วๆ ไป เพื่อรองรับรถพลังงานไฟฟ้าดัดเเปลง อำนวยความสะดวกให้ผู้บริโภค ซึ่งจะแตกต่างจากรถไฟฟ้าจากโรงงาน ซึ่งจะมีจุดบริการเฉพาะ ไม่กระจายเหมือนที่เราทำ เราต้องการให้ความรู้แพร่ไปในหมู่นักศึกษาอาชีวะ ผู้ประกอบการ หรือผู้ต้องการรักษาสิ่งแวดล้อม การแปลงรถยนต์ไม่ใช่เรื่องยากถ้าสนใจจริง และมีพื้นฐาน เพราะจะช่วยลดต้นทุนทุกอย่าง ส่งผลเชิงบวกต่อทุกวิชาชีพ ถ้าหน่วยงานรัฐอุดหนุน ก็ทำให้ประเทศเจริญขึ้น”
ในวัยหนุ่ม ความฝันของคนคนหนึ่งอาจจะมีขนาดจำกัดเฉพาะตัวและคนรอบข้างไม่กี่คน แต่เมื่อเดินทางผ่านโอกาสมากมายมาจนถึงวันนี้ ลุงไพศาลกลับพบโอกาสครั้งสำคัญ ซึ่งอาจเป็นโอกาสที่จะทำให้เขาได้สร้างความหมายให้แก่ชีวิต
“เราผ่าน 60 เข้าสู่ 70 เรานับถอยหลังแล้วครับ นับว่าพรุ่งนี้จะตื่นขึ้นมาหรือเปล่า ช่วงนี้คือโอกาสที่เราจะเป็นผู้ให้ เราเก็บไว้ไม่ได้แล้ว เราต้องให้ความรู้ สร้างคน สร้างอาชีพ อันนี้ถือเป็นภารกิจของผู้สูงอายุ ใครมีความรู้มากๆ อย่าเก็บไว้ครับ ต้องให้ลูกหลานให้สังคม สิ่งนี้จะตราตรึงให้ผู้คนจดจำคุณไว้นานแสนนาน” ลุงไพศาลบอก
การสร้างการจดจำ บางครั้งก็เป็นเรื่องราวเงียบเชียบเหมือนเสียงเครื่องยนต์ที่ขับเคลื่อนจากพลังงานไฟฟ้า ซึ่งไม่ก่อมลพิษให้แก่คนรุ่นต่อไป