‘ป้าแตน’ คุณป้าหัวใจอาสา ผู้มอบความงามครั้งสุดท้ายแด่ผู้จากไป

“ป้าเป็นคนชอบแต่งหน้าอยู่แล้ว สมัยเด็ก ๆ ที่บ้านมีคณะลิเกด้วย เราก็เคยไปช่วยเขาแต่ง ไปเล่นเป็นตัวโจ๊กให้เขา วันหนึ่งป้าไปเจอโพสต์สอนแต่งหน้าผู้วายชนม์ฟรี ก็เลยชวนเพื่อนสมัครไปเรียนด้วยกัน ตอนเรียนก็ได้ฝึกแต่งกับส้มโอก่อน เรียนอยู่แค่ 1- 2 วันก็เป็นแล้ว พอมีเคสมาก็ได้ไปแต่งกับศพจริงเลย”

มนุษย์ต่างวัยคุยกับ ‘ป้าแตน’ ฤปภา กรเกษตร วัย 71 ปี จิตอาสาแต่งหน้าผู้วายชนม์ ผู้ส่งมอบความสวยงามครั้งสุดท้ายให้กับผู้คนที่จากไป ที่มองว่าทุกคนเหมือนญาติพี่น้องที่เราต้องส่งเขาให้ดีที่สุดเป็นครั้งสุดท้าย และชีวิตที่มีความหมายคือการได้ช่วยเหลือผู้คนไปจนกว่าวาระสุดท้ายของชีวิตจะมาเยือน

“เวลาแต่งหน้า เราจะใช้ครีมรองพื้น ลิปสติก แป้ง พู่กัน แปรงแต่งหน้า ดินสอเขียนคิ้ว บางครั้งเราก็ซื้อไปเอง บางครั้งเราไปก็ไปแต่ตัว ทีมอาสาฯ เขาก็เตรียมอุปกรณ์ไว้ให้ หรือบางครั้งทางเจ้าภาพก็เตรียมไว้ให้เราเอง เพราะเขาจะรู้ว่าผู้วายชนม์ชอบลิปสีอะไร ชอบน้ำหอมกลิ่นไหน แต่ถ้าเราเอาไปเอง เวลาแต่งเสร็จเราจะใส่ไปในโลงศพให้เขาเลย ไม่เอากลับ

“ก่อนเริ่มแต่งหน้า เราจะจุดธูปขอขมาก่อนทุกครั้ง หลังจากนั้นก็ใช้สำลีหรือผ้าเช็ดทำความสะอาดใบหน้า แล้วทาครีมรองพื้น ทาแป้งที่ติดทนนาน อยู่ได้หลาย ๆ วัน เขียนคิ้ว ทาปาก หวีผมให้ จากนั้นก็แต่งเล็บมือ เล็บเท้า ใช้เวลาแต่งครั้งละประมาณ 1 ชั่วโมง ช่วยกันแต่ง 2-3 คน แต่ถ้าเป็นผู้ชายจะใช้เวลาแต่งน้อยกว่า เพราะไม่ได้แต่งเยอะเท่าผู้หญิง

“ป้าเป็นอาสาแต่งหน้าผู้วายชนม์มาได้ประมาณปีกว่า ๆ แล้ว แต่งมาแล้วประมาณ 25 เคส แต่ยังไม่เคยเจอเคสยาก หรือเคสอุบัติเหตุ เจอแต่เคสที่เสียชีวิตจากโรคต่าง ๆ เช่น เบาหวาน มะเร็ง ติดเชื้อในกระแสเลือด ฯลฯ และส่วนใหญ่เป็นเคสผู้สูงอายุ

“ป้ามีความสุขนะที่ได้แต่งหน้าให้เขาเป็นครั้งสุดท้าย และรู้สึกขอบคุณเขาด้วย ตอนทำป้าก็ไม่ได้คิดอะไรเลย คิดแค่ว่าทุกคนก็เหมือนญาติพี่น้องของเรา อยากให้เขาออกมาสวย ออกมาดูดีที่สุดเป็นครั้งสุดท้าย

“เวลาเราไปแต่งหน้าให้ผู้วายชนม์ ญาติ ๆ เขาจะพูดกับเราดีมาก ขอบคุณเราตลอด จริง ๆ ป้าอยากไปแต่งให้คนที่ใกล้จะเสียชีวิตด้วยนะ อยากให้เขาได้รับรู้เป็นครั้งสุดท้าย ได้เห็นตัวเองดูดีก่อนที่จะจากไป

“บางครั้งก็มีคนมาถามนะว่าป้าไม่กลัวเหรอ เราก็บอกไม่กลัว แล้วไม่กลัวติดโรคเหรอ เราก็บอกว่าไม่เลย เพราะก่อนทำเขามีน้ำยาฆ่าเชื้อให้เราอยู่แล้ว และถ้าเป็นโรคติดต่อ เขาก็คงไม่ให้เรามาทำหรอก”

เริ่มทำจิตอาสาในวัยใกล้เกษียณ

“ป้ามาเริ่มทำงานอาสาจริงจังมากขึ้นตอนอายุ 50 กว่า ๆ ไปสมัครเป็นอาสาสมัครสาธารณสุขกรุงเทพมหานคร (อสส.) อยู่ที่ศูนย์บริการสาธารณสุข 4 ดินแดง และเป็นจิตอาสาอยู่ที่โรงพยาบาลราชวิถี ไปช่วยรับ-ส่งคนไข้ไปหาหมอตามห้องต่าง ๆ บางครั้งก็ไปเยี่ยม ไปพูดคุยกับผู้ป่วย ให้เขาสบายใจมากขึ้น บางคนออกจากโรงพยาบาลแล้ว ก็ยังโทรหาเราอยู่

“เวลาไปทำจิตอาสา ป้าไปด้วยใจ ใกล้ ไกลไปได้หมด ไม่เกี่ยงระยะทาง ใจมันอยากทำ มันสู้ มันไม่ได้คิดเรื่องความลำบาก แต่บางครั้งเราไปทำงานอาสาไกล ๆ ลูกเขาก็จะเป็นห่วง เขาก็จะบอกแม่ดูแลตัวเองด้วยนะ ใส่ถุงมือด้วย ฆ่าเชื้อด้วย แต่เขาไม่ได้ห้าม ถ้าเป็นเรื่องทำบุญเขาไม่ห้ามเลย อย่างลูกชายป้าที่เสียชีวิตไป เมื่อก่อนเขาก็ทำจิตอาสาอยู่ด้วยกันนี่แหละ ตอนที่เขาเสีย เขาก็เป็นอาจารย์ใหญ่ให้อาสาคนอื่นได้ฝึกแต่งหน้าด้วย ป้าภูมิใจในตัวเขามาก ทุกวันนี้ก็ยังเก็บรูปไว้ในกระเป๋าสตางค์อยู่เลย

“ทุกวันนี้ป้าไม่เหงานะ ตื่นเช้ามาป้าก็จะใส่บาตร ถ้าตื่นไม่ทันก็เดินไปทำบุญที่วัด เวลาอยู่บ้าน ไม่ได้ไปไหน ก็จะสวดมนต์ ฟังธรรมะ ดูโทรทัศน์เป็นเพื่อน ไม่ได้คิดอะไรมากมาย เวลามีคนป่วยแถวบ้าน ป้าจะรีบคว้ากระเป๋ายาจากบ้านวิ่งออกไปดูเขา ช่วยอะไรได้ก็ช่วย

“การที่ป้าช่วยคนอื่นมาตลอดทำให้ป้ารู้สึกเหมือนมีเรื่องที่ไม่คิดไม่ฝันเกิดขึ้นอยู่บ่อย ๆ และรู้สึกว่าสิ่งเหล่านี้มันส่งผลถึงครอบครัวเราด้วย เมื่อก่อนอยู่ดี ๆ ก็จะมีของมาส่ง มาวางอยู่หน้าบ้าน ไม่รู้ใครส่งมาให้เหมือนกัน แต่ชื่อบนกล่องเป็นชื่อเรา เป็นผลไม้พวกเงาะ ลองกอง มังคุด ลองถามไปเรื่อย ๆ สรุปก็เป็นคนที่เราเคยช่วยเขาไว้ ที่บ้านเขาทำสวนผลไม้ พอเขากลับบ้านไป เขาก็เลยส่งของมาขอบคุณ แต่ป้าจะบอกทุกคนที่ป้าช่วยตลอดนะว่าเราไม่ได้ต้องการสิ่งของอะไร เราทำด้วยใจ หรือบางครั้งมีคนเห็นเรายืนถือของรอรถอยู่ข้างทาง ก็มีคนอาสาขับรถมาส่งที่บ้าน

“บางครั้งป้าก็หวังนะว่าสิ่งที่ป้าทำมันจะทำให้คนที่เขาเห็นได้ลองมาทำแบบเราบ้าง ถ้าเขาเห็นว่าเออ…ขนาดป้าแก่ขนาดนี้แล้ว เขายังทำได้เลย จริง ๆ การเริ่มทำจิตอาสาง่ายมากเลยนะ แค่ถือไม้กวาดด้ามหนึ่งไปวัด ก็ทำได้แล้ว

“ถ้าวันหนึ่งไม่ได้ทำงานอาสา ป้าคงเสียดายมาก อย่างตอนที่ไปผ่าเข่า ต้องนอนรักษาตัวอยูู่หลายปี ไปช่วยใครไม่ได้เลย แต่ป้าก็จะโทรถามเขาแทนนะว่ามีอะไรที่เราพอช่วยได้ไหม อย่างเทศบาลมาล้างท่อในซอยนี้ เราพอเดินไหว เราก็เดินไปดู ถ้าขาดน้ำดื่มเราก็ซื้อให้ หรือถ้าคนอื่นเขาซื้อแล้ว เราก็ช่วยสมทบไป

“ป้าจะสอนลูกสอนหลานตลอดว่าให้ขอบคุณคนอื่นนะ อย่าคิดว่ามันเป็นเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ อย่างเรานั่งรถไปโรงเรียน พอลงจากรถ จ่ายเงินเสร็จก็ขอบคุณเขาด้วย ที่เขาพาเรามาส่งถึงจุดหมายปลายทางอย่างปลอดภัย เพราะถ้าไม่มีเขา เราอาจจะลำบากมากกว่านี้

“สำหรับป้าการทำงานอาสาเป็นการทำสิ่งที่เป็นกุศล เราทำแล้วได้ความสบายใจ มีความสุข นอกจากนี้ป้าก็ได้เจอเพื่อนใหม่ ๆ แล้วก็มีเรื่องกลับมาเล่าให้ลูกฟังด้วย บางครั้งป้าก็คิดนะว่า ถ้าวันนี้เราช่วยใครไป วันข้างหน้าที่เขาดีขึ้น เขาอาจจะไปช่วยคนอื่นได้มากกว่าที่เราช่วยเขาในวันนี้ด้วยซ้ำ”

ติดตามข้อมูลกิจกรรมเพิ่มเติมได้ที่ อาสาอิสระแต่งหน้าศพฟรีเพจใหญ่ 

Credits

Author

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ