‘บันหลีเฮง’ ไอศกรีมถั่วเขียวโบราณ ความอร่อยที่ถูกส่งต่อจากบรรพบุรุษสู่ทายาทรุ่น 4

ไอติม หรือ ไอศกรีม เมนูของหวานทานง่ายที่เป็นของโปรดของใครหลายคน รสชาติหวาน เย็น กินแล้วชื่นใจ มีหลายรสชาติ หลายรูปแบบให้เลือก ปรับเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ ตามยุคสมัย ไม่ว่าจะเป็นหวานเย็น ไอศกรีมหลอด ไอศกรีมแท่ง เจลาโต ซอฟต์เสิร์ฟ ฯลฯ สามารถรับประทานได้ทุกเพศทุกวัย ทุกฤดูกาล

ริมถนนนาทวี อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา มีร้านไอศกรีมสีสันสดใสที่หากดูเผิน ๆ จากภายนอกร้านแล้วเหมือนเป็นร้านที่เพิ่งเปิดใหม่ แต่จริง ๆ แล้วร้านนี้คือ ‘บันหลีเฮง’ ร้านไอศกรีมถั่วเขียวในตำนานที่เปิดมาตั้งแต่ปี 2473 อยู่คู่เมืองสงขลามาเกือบ 100 ปี และขยับขยายมาเปิดสาขาใหม่ด้วยดีไซน์ที่เข้ากับยุคสมัย มีที่นั่งกว้างขวาง สะดวกสบายมากขึ้น แต่ร้านสาขาดั้งเดิมตรงถนนนางงามก็ยังไม่ได้หายไปไหน แค่กำลังปรับปรุงโฉมใหม่ ซึ่งจะกลับมาเปิดให้บริการอีกครั้งเร็ว ๆ นี้

ด้วยรสชาติหวาน มัน โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ของไอศกรีมกะทิสดและไอศกรีมวนิลาใส่ถั่วเขียวต้มราดด้วยไข่แดงสด หรือ ‘ไอศกรีมถั่วเขียวไข่แข็ง’ ทำให้ไอศกรีมบันหลีเฮงเป็นที่รู้จักและอยู่ยาวนานมาจนถึงทุกวันนี้

มนุษย์ต่างวัยพาไปคุยกับ ‘ลุงนกเขา – ไชยวัฒน์ อัครวิเนก’ วัย 75 ปี ทายาทรุ่นที่ 3 ของบันหลีเฮงเจ้าของร้านรุ่นใหญ่ใจดีที่บอกว่าตัวเองเป็นเหมือนโลโก้ร้าน ที่มาคอยต้อนรับลูกค้าด้วยหน้าตาและรอยยิ้มที่สดใสอยู่ที่ร้านในยามว่างเสมอ เพราะวางใจที่จะส่งไม้ต่อให้ทายาทรุ่นที่ 4 ‘หมี – ศุภวิชญ์ อัครวิเนก’ วัย 28 ปี ลูกชายคนเล็กที่ผันตัวจากอาชีพวิศวกรโรงงานกลับมาสืบทอดกิจการร้านไอศกรีมของ ครอบครัว เพราะกลัวว่าจะไม่มีคนสานต่อธุรกิจและคิดถึงชีวิตที่บ้าน

เมนูซิกเนเจอร์ที่เริ่มต้นจากความบังเอิญ 

หมีเล่าถึงจุดเริ่มต้นของร้านไอศกรีมอายุเกือบ 100 ปีที่อยู่มาตั้งแต่ก่อนที่เขาจะเกิดว่า “ทวดเขามาจากเมืองจีน มาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่นี่ เมื่อก่อนก็เริ่มจากอาชีพขายน้ำชา ซาลาเปา แล้วหาอย่างอื่น เช่น ข้าว ก๋วยเตี๋ยว มาขายด้วย จริง ๆ ก็ขายไอศกรีมด้วย แต่ตอนนั้นยังไม่ได้เอาออกมาวางหน้าร้าน เพราะเมื่อก่อนคนอาจจะไม่นิยมกินไอศกรีมเท่าไร เพราะคนจีนเขาจะกินแต่น้ำชากับเหล้า แต่พอยุคสมัยเปลี่ยนจากยุคโรงลิเกมาเป็นโรงหนัง คนนิยมกินไอศกรีมมากขึ้น เลยเปลี่ยนจากร้านน้ำชามาเป็นร้านไอศกรีมแทน”

ลุงนกเขาเล่าต่อว่า “ร้านเราอยู่ใกล้โรงหนัง คนแวะมากินเยอะ นอกจากขายน้ำชากับซาลาเปา ที่บ้านก็ต้มถั่วเขียวขายด้วย ตอนนั้นเราลองเอาถั่วเขียวต้มมากินกับไอศกรีม พอกินแล้วมันอร่อย ก็เลยกลายมาเป็นไอศกรีมถั่วเขียวที่ขายมาจนถึงทุกวันนี้

“จริง ๆ มีคนทำไอศกรีมถั่วเขียวเยอะนะ แต่เราเป็นร้านแรก ๆ ที่ทำ เรามีเทคนิคการต้มที่ไม่เหมือนคนอื่น เตี่ยเขาได้สูตรมาจากก๋งอีกที ช่วงแรกเราใช้เตาถ่านต้ม แต่ตอนนี้เปลี่ยนมาเป็นเตาแก๊สแล้ว ถ้าไปถามคนที่อยู่ที่นี่มาตั้งแต่ดั้งเดิม เวลาพูดถึงไอศกรีมถั่วเขียวเขาก็จะนึกถึงบันหลีเฮง”

คนกินมีความสุข คนทำก็มีความสุข

“ที่ร้านอยู่มาได้ขนาดนี้ก็รู้สึกดีนะ มันรู้สึกว่าสินค้าเรามีคนต้องการ เมื่อก่อนเวลาลูกค้ามากิน เขาต้องใส่ข้าวเหนียวมูน ใส่ถั่วคั่วเอง บางคนกินมาตั้งแต่เด็ก ๆ จนทุกวันนี้เกษียณแล้ว เขาก็ยังตามหาร้านเราอยู่ มาทีไรก็มาถามว่ายังมีไอศกรีมถั่วเขียวไหม บางคนย้ายไปอยู่ที่อื่น เขานึกถึงเรา เขาก็ยังฝากคนอื่นมาซื้อ เดี๋ยวนี้มีน้ำแข็งวิทยาศาสตร์ ทำให้เราเก็บความเย็นได้ ส่งได้ในระยะทางไกลขึ้น

“ลุงไม่เคยรู้สึกอยากเลิกทำร้านเลยนะ มันสนุกกับการได้ทำนั่น ทำนี่ไปเรื่อย ๆ ยิ่งเดี๋ยวนี้มันมีเครื่องไม้เครื่องมือ มีเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเราเยอะ ทำให้มันเบาลง เมื่อก่อนต้องตื่นมาเปิดร้านตั้งแต่เช้า กว่าจะได้ปิดก็เที่ยงคืน ตีหนึ่ง เพราะมันมีโรงหนัง คนเลยมาเที่ยวเยอะ หน้าบ้านก็เปิดให้คนขายอาหารตามสั่ง ขายก๋วยเตี๋ยวราดหน้า คนมากินข้าวก็แวะกินไอศกรีมไปด้วย ใครมาก็บอกต่อ ๆ กันว่าไอศกรีมถั่วเขียวร้านเราอร่อย

“ทุกวันนี้ลุงไม่ได้ทำงานแล้ว ลูกชายเขาเป็นคนทำเองหมด ลุงแค่มาเป็นโลโก้ มานั่งให้คนเห็นหน้า คนเราอยู่เฉย ๆ ไม่ได้หรอก มันต้องหาอะไรทำ เราถึงจะรู้สึกว่าตัวเองยังมีประโยชน์ มีคุณค่า แค่ได้คุยกับคนนั้นคนนี้บ้าง วันไหนขายของได้ มีคนมาบอกว่าไอศกรีมเราอร่อย แค่นี้ก็มีความสุขแล้ว

“การที่ลูกกลับมาทำธุรกิจที่บ้านมันก็ดีเหมือนกันนะ คิดว่าเขาจะมีโอกาสได้เติบโตมากกว่าการไปเป็นลูกจ้างคนอื่น เมื่อก่อนคนอาจจะดูถูกอาชีพค้าขายว่าต้อยต่ำ คิดว่ามันไม่มั่นคง จริง ๆ ทุกอาชีพก็สำคัญเหมือนกันหมด ไอศกรีมเป็นสิ่งที่เด็กกินได้ ผู้ใหญ่กินได้ ใคร ๆ ก็กินได้ ลุงคิดว่ามันคงอยู่ไปได้เรื่อย ๆ ถ้าเราใส่ใจ ทำให้ดี มันก็มีคนกิน”

จุดเปลี่ยนเส้นทางชีวิต 

ด้วยความวางใจจากพ่อที่คิดว่าคงจะฝากฝังอนาคตของธุรกิจครอบครัวที่ผ่านร้อนผ่านหนาวและระยะเวลาอันยาวนานจนอยู่มาถึงทุกวันนี้ไว้ในมือของลูกชายได้ หมีได้เล่าย้อนกลับไปถึงจุดเริ่มต้นและเหตุผลในการกลับมาสานต่อธุรกิจเล็ก ๆ ของที่บ้าน

“ผมเรียนจบวิศวกรรมศาสตร์ ไปทำงานดูแลไลน์ผลิตโรงงานมาประมาณ 3 ปี ถึงกลับมาช่วยงานที่ร้าน  ที่อยากกลับมา เพราะผมคิดว่าพี่น้องคนอื่นเขาก็ไปทำงานกันหมด ผมเสียดายที่ไม่มีใครมาสานต่อตรงนี้

“ตอนไปทำงาน ผมไปอยู่ตัวคนเดียว ก็คิดถึงบ้านมาตลอด ผมไม่เคยอยู่ไกลบ้านเลยตั้งแต่เด็กจนเรียนจบ ตอนนั้นผมคิดว่าเราเลือกในสิ่งที่เป็นของตัวเองดีกว่า อีกอย่างจะได้กลับมาอยู่ใกล้ ๆ บ้าน ดูแลพ่อแม่ด้วย เมื่อก่อนเขาทำกันสองคนถ้าทำไม่ไหว เขาก็หยุด เพราะเขาก็อายุมากกันแล้ว

“พอผมกลับมาทำ ผมก็มาคิดเมนูเพิ่มและมาดีไซน์ร้านใหม่ตรงนี้ พอดีตอนนั้นมันต้องสร้างบ้านใหม่แล้วต้องย้ายบ้าน ผมก็เลยคิดว่าเราทำร้านสไตล์ใหม่ไปเลย ปรับตามยุคสมัย แต่เรื่องเมนูที่เป็นเอกลักษณ์ เราจะไม่ทิ้ง ทำให้สะอาด ดูดี อากาศไม่ร้อน นั่งเล่นได้ ส่วนร้านเดิม ผมตั้งใจว่าพอปรับปรุงเสร็จเราก็จะกลับมาขายตรงนั้นเหมือนเดิม เป็นการขยายสาขาเพิ่มเติมด้วย”

ไอศกรีมที่อยากให้ทุกคนกินได้ทุกวัน 

“ลูกค้าส่วนใหญ่ที่ร้านจะเป็นลูกค้าประจำ ก่อนจะปรับปรุงร้าน ผมก็บอกล่วงหน้าว่าจะย้ายมาอยู่ตรงนี้ เขาก็เลยตามมา ส่วนร้านที่สาขาเก่าจะทำเป็นอาคารโบราณแบบดั้งเดิม ปรับแต่งให้ดูดี เราต้องการขยายสาขา เป็นการสร้างทางเลือกให้กับลูกค้ามากขึ้น อาจจะสร้างความแตกต่างของร้านทั้งสองสาขาด้วยกิมมิกเล็ก ๆ น้อย ๆ อย่างการขายน้ำชาที่สาขาเก่า ส่วนร้านนี้ก็อาจจะเพิ่มเมนูของทอด

“เราต้องคิดให้รอบคอบเสมอว่า สิ่งที่เราทำ ลูกค้าจะประทับใจไหม ต้องเอาใจใส่ รักษาคุณภาพของสินค้าเราอยู่เสมอ ส่วนเรื่องราคาก็ปรับตามความเหมาะสม ไม่ได้ตั้งไว้สูงมาก ผมอยากให้ลูกค้ากลับมากินไอศกรีมของผมได้ทุกวัน บางคนทำงานเงินเดือนไม่เยอะ จะให้เขากินกาแฟราคาแก้วละ 70 80 บาททุกวันก็คงไม่ไหว แต่ถ้าเขามีเงิน 30 บาท เขากินไอศกรีมของเราได้ หรือถ้าบ้านไหนมีเด็ก ๆ เยอะ อยากพามาเลี้ยงขนม ก็พามากินไอศกรีมได้ อยากให้ร้านเราเป็นทางเลือกหนึ่งของเขา”

ความอร่อยที่คนบอกต่อ

“ร้านเราเปิด 10 โมงถึง 2 ทุ่ม ผมกับแม่จะช่วยกันทำเป็นหลัก มีลูกน้องมาช่วยขาย ช่วยเสิร์ฟ เริ่มงานประมาณ 7 โมงครึ่ง กว่าจะทำไอศกรีมเสร็จก็ประมาณ 11 โมง พอทำไอศกรีมเสร็จแล้ว ผมก็จะมีเวลามาช่วยดูแลลูกค้าหน้าร้าน ถ้าของหมด หรือมีปัญหาอะไร  ผมจะเป็นคนจัดการ หลัก ๆ ผมก็จะอยู่ที่ร้าน สลับกันกับคุณแม่ ส่วนพ่อเเล้วแต่เขาสะดวก ถ้าเขาว่าง ๆ เขาก็จะมานั่งคุยกับลูกค้าที่้ร้าน

“เอกลักษณ์ของบันหลีเฮงคือไอศกรีมถั่วเขียวไข่แข็ง ใส่ไข่เพิ่มเข้าไปในไอศกรีมถั่วเขียว ซึ่งเป็นจุดเด่นของร้าน ผมเคยเห็นลูกค้าประจำที่มาสั่งถั่วเขียว เดินเข้ามาก็สั่งถั่วเขียว บางคนกินมาตั้งแต่ผมยังไม่เกิด ทุกวันนี้ก็ยังแวะมากินอยู่ แวะมาคุย มาถามไถ่สารทุกข์สุกดิบกัน

“เวลาลูกค้ามากิน บางครั้งเขาก็ถ่ายไปลงติ๊กต๊อกให้  ทำให้ลูกค้าใหม่ ๆ รู้จักร้านเรามากขึ้น เขาบอกว่าไอศกรีมของเราอร่อย ไม่แพง เมนูที่ขายดีที่สุดคือไอศกรีมถั่วเขียวใส่ไข่ ส่วนเมนูที่คิดขึ้นมาใหม่จะเป็นเมนูโฟลต และเมนูที่ใส่คอร์นเฟล็กซ์

ร้าน = ต้นทุนชีวิต 

การกลับมาทำงานที่บ้านใช่ว่าจะราบรื่น ไร้ปัญหา แต่หมีบอกว่าทุกวันนี้เขายังดูแลร้านช่วยพ่อแม่อยู่ พ่อกับแม่เขายังเป็นเจ้าของ เขาอาจจะมีความคิดใหม่ ๆ อยากทำนั่นทำนี่ แต่สุดท้ายเวลาจะตัดสินใจอะไรเขาก็จะปรึกษาพ่อแม่ก่อนเสมอ ส่วนการเริ่มต้นธุรกิจด้วยตัวเองนั้น สำหรับเขาคิดว่ามันไม่ใช่เรื่องง่ายนัก การมาสานต่อสิ่งที่ทำไว้ดีอยู่แล้ว เป็นเหมือนแต้มต่อให้ชีวิตและการทำธุรกิจสามารถเติบโตได้เร็วขึ้น

“การที่เราจะเริ่มต้นทำอะไรสักอย่าง เราต้องคิดให้รอบคอบก่อน เพราะมันเป็นการใช้เงินลงทุน เราต้องประเมินความเสี่ยงให้ดี ส่วนคนที่มีธุรกิจอยู่แล้ว ถ้าอยากจะมารับช่วงต่อก็ไม่เสียหาย คนเรามีความคิดแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับตัวเราว่าต้องการอะไร บางคนต้องการความมั่นคง เงินเดือนน้อยก็ไม่เป็นไร บางคนก็อยากรวย อยากมีเงินเยอะ ๆ แต่ไม่ว่าเราจะทำอะไรก็ตาม สิ่งสำคัญก็คือความอดทน ถ้าเราไม่ทน มันก็ไปต่อไม่ได้

“ผมอยากให้ร้านเป็นธุรกิจของครอบครัวมากกว่าขายแฟรนไชส์ให้คนอื่นทำ ในอนาคตคิดว่าจะขยายสาขาโดยที่ครอบครัวดูแลกันเอง ทำเท่าที่เราไหว อาจจะไปเลือกทำเลใหม่ ๆ จากอำเภอใกล้เคียงที่เราสามารถดูแลได้ทั่วถึง

“ร้านบันหลีเฮงเป็นเหมือนของขวัญที่ครอบครัวมอบให้ เป็นอาชีพที่ถูกส่งต่อมาจากบรรพบุรุษ ถ้าเราไม่มีตรงนี้เราก็ต้องไปเป็นลูกจ้างคนอื่น การที่เรามาสานต่อธุรกิจที่สร้างไว้ดีแล้ว ทำให้เราไม่ต้องลำบากมาก มันง่ายกว่าเราต้องมาเริ่มใหม่ตั้งแต่ต้น”

พิกัดร้าน : บันหลีเฮง ไอศกรีมถั่วเขียวโบราณ

ถ.นาทวี ข้างโรงพยาบาลสงขลา(เก่า) 

เปิด : 10.00 – 20.00 น. 

FB : บันหลีเฮง ไอศครีมถั่วเขียวโบราณ

Credits

Authors

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ