“ขนมเต่าแดง” หรือ “อังกู๊” จากบ้านอังกู๊ ร้านขนมพื้นเมือง จ.ภูเก็ต ที่สืบทอดสูตรมานานกว่า 100 ปี

บ้านอังกู๊ เป็นร้านขนมพื้นเมืองใน จ.ภูเก็ต ที่ยังทำขนมอังกู๊ ซึ่งปัจจุบันหาทานได้ยากแถมยังได้สูตรลับจากปีนังที่สืบทอดมากว่า 100 ปี

ขนมเต่าแดง หรือ อังกู๊ มีความหมายว่า อายุมั่นขวัญยืน เป็นอีกหนึ่งขนมมงคลที่คนภูเก็ตเชื้อสายจีนใช้ในการประกอบพิธีบวงสรวงเทพเจ้า พิธีไหว้บรรพบุรุษ ในวันตรุษ วันสารท วันไหว้เทวดา 

เนื่องในเทศกาลตรุษจีน มนุษย์ต่างวัยขออาสาพาล่องใต้ไปยัง จ.ภูเก็ต เพื่อทำความรู้จักขนมมงคลชนิดนี้พร้อม ๆ กับเรื่องราวของ “เจ๊กิ่ง” กนกวรรณ กัตติกมาส วัย 67 ปี ทายาทรุ่นที่ 3 แห่งร้านบ้านอังกู๊ ที่กลับมารื้อฟื้นสูตรการทำขนมของครอบครัวที่ส่งต่อกันมาเป็นร้อยปี ให้กลับมาเป็นที่รู้จักอีกครั้ง

จนปัจจุบันกลายเป็นหนึ่งในไม่กี่ร้านที่ยังคงขายขนมท้องถิ่นของ จ.ภูเก็ต ในขณะที่ร้านอื่นทยอยปิดตัวลงเรื่อย ๆ จนหาทานได้ยากขึ้น

อังกู๊ ขนมมงคลประจำเทศกาลตรุษจีน หมายถึงอายุมั่นขวัญยืน 

“หนูเคยกินไหม ขนมเต่าแดง ทุกวันนี้หากินยากแล้วนะ คนทำขายน้อยลงทุกที” 

“เจ๊กิ่ง” กนกวรรณ กัตติกมาส อายุ 67 แห่งบ้านอังกู๊ ยิ้มต้อนรับพร้อมนำขนมเต่าแดง หรืออังกู๊ ขนมพื้นเมืองภูเก็ตที่หาทานได้ยากมาให้ทีมงานได้ลิ้มลอง ก่อนจะเล่าถึงที่มาที่ไป 

“ขนมอังกู๊ หรือ ขนมเต่าแดง”  ตามความหมายในภาษาจีน “อัง” คือสีแดง เป็นสีแห่งความเป็นมงคลส่วน “กู๊” คือเต่า หมายถึงอายุมั่นขวัญยืน ดังนั้น อังกู๊ จึงเป็นหนึ่งในขนมมงคลที่คนไทยเชื้อสายจีน โดยเฉพาะคนไทยเชื้อสายจีน ใน จ.ภูเก็ต นิยมใช้เพื่อเป็นเครื่องบวงสรวงในพิธีต่าง ๆ 

“สมัยก่อน ขนมนี้ไม่ได้หากินกันได้ทั่วไป จะได้กินแค่ปีละ 3 ครั้ง ตามเทศกาล หรือโอกาสมงคล ก็คือวันตรุษจีน วันไหว้เทวดา หรือบางความเชื่อก็จะใช้ในงานรับขวัญเด็กเกิดใหม่ บางคนเชื่อว่า ควรทำพิธีกรรมนี้ก่อนเด็กอายุครบเดือน เพื่อให้เด็กว่านอนสอนง่าย ไม่ดื้อ

“โดยทั่วไปเราจะเห็นขนมอังกู๊แค่รูปเต่า แต่ความจริงขนมอังกู๊มีด้วยกัน 4 แบบ ซึ่งแต่ละแบบก็มีความหมายต่างกันออกไป 

อังอี๋ คือ ขนมที่ไม่ได้ใส่พิมพ์ให้เกิดรูป มีลักษณะกลม ๆ หมายถึง ลูกหลาน

อังโถ คือ ขนมที่นำมากดลงในพิมพ์รูปผลไม้มงคลหรือลูกท้อ หมายถึง ร่มเย็นเป็นสุข

อังกู๊โก้ย คือ ขนมที่นำมากดลงในพิมพ์ลูกเต่า หมายถึง อายุยืน 

อังข่าน คือ ขนมที่นำมากดลงในพิมพ์ยาวเป็นรูปเหรียญจีน  หมายถึง เงินทอง

“แต่เดี๋ยวนี้ด้วยความที่เจ๊อยากให้ขนมพื้นเมืองแบบนี้ยังคงอยู่ เราก็ปรับปรุงขายทุกวัน ต่อให้ไม่ใช่เทศกาลก็ยังหากินได้ ถ้ามาที่ร้านเจ๊กิ่ง”

สมัยรุ่นคุณยาย หรืออาม่า กว่าจะได้อังกู๊ต้องใช้เวลาทำถึง 3 วัน

“สมัยก่อนการทำขนมอังกู๊ทุกบ้านทำกันเองเพื่อใช้ในงานมงคล บ้านของเจ๊ก็เป็นอีกบ้านที่ต้องให้ลูกหลานทุกคนทำขนมอังกู๊ให้เป็น ความทรงจำในวัยเด็กของเรากับการทำขนมมีแต่คำว่าเหนื่อยและลำบาก ไม่เคยได้ไปวิ่งเล่นสนุก เพราะกว่าจะได้ขนมต้องใช้เวลา 3-4 วันในการทำ

“การทำอังกู๊ ไม่ได้มีวัตถุดิบที่ซับซ้อน มีแค่ 2 อย่างคือ ถั่วเขียว กับ แป้ง เป็นขนมที่ทำจากแป้งข้าวเหนียว ข้างในเป็นใส้ถั่วเขียวกวน แต่ที่ต้องใช้เวลาถึง 3 วันก็เพราะว่า ในสมัยก่อนไม่มีแป้งสำเร็จรูป และถั่วเขียวสำเร็จรูปยังไม่มีขาย ดังนั้นกว่าจะได้วัตถุดิบในการมาทำ จึงต้องทำเองทั้งหมดทุกกระบวนการ 

“เริ่มตั้งแต่วันแรกเราต้องแช่ถั่วเขียวทิ้งไว้ 1 คืน และโม่แป้ง ซึ่งแป้งสมัยก่อนก็ไม่ได้มีขายแบบสำเร็จรูป ตอนเจ๊ทำกับอาม่า สมัยก่อนคือต้องเอาข้าวมาแช่และเอามาโม่เป็นแป้ง กว่าจะได้ต้องใช้เวลานานมาก หลังจากนั้นวันที่สองก็จะต้องนำถั่วที่แช่ไว้มากะเทาะเปลือกออก และแช่ทิ้งไว้อีก 1 คืน วันที่สามถึงนำถั่วที่ร่อนไว้ มากวนและอัดใส่พิมพ์ให้เป็นรูป

“กว่าจะได้ขนมมาแต่ละชิ้นไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องพิถีพิถันแต่ละขั้นตอน เลยไม่ใช่อาชีพที่ทุกคนอยากทำ”

“ตอนเด็ก ๆ เราจำฝังใจเลยว่าให้ตายอย่างไรก็จะไม่มีวันมาขายขนม”

“เพราะความลำบากที่กว่าจะได้ขนมแต่ละชิ้น เราต้องโดนดุ ต้องนั่งหลังขดหลังแข็งทำ เจ๊ก็ไม่เคยคิดว่าจะมารับช่วงต่อสูตรขนมของที่บ้านเลยนะ เราพยายามจะหาทางดิ้นรนไปทำอะไรก็ได้ที่ไม่ใช่การทำขนม ช่วงเริ่มตั้งตัวเจ๊ก็เริ่มจากการทำโรงงานผ้า สมัยก่อนเฟื่องฟูมาก จนในที่สุดทำไปไม่นานก็ต้องปิดตัวไปเพราะพิษเศรษฐกิจช่วงต้มยำกุ้งปี 2540 

“พอเราล้มจากตรงนั้น เราก็ไปทำอาหารขาย เป็นร้านข้าวแกง ตอนนั้นให้ตายเราก็จะไม่ไปทำขนม เพราะคิดว่ากว่าจะได้แต่ละชิ้นใช้เวลานาน ไม่เหมือนทำอาหารขายวันต่อวันก็เสร็จ จนในที่สุดร้านอาหารที่เหมือนกำลังจะไปได้ดีก็ต้องปิดตัวลง เพราะพอเราทำอาหารจริง ๆ ด้วยความที่เราต้องทำเองทั้งหมด ไม่มีผู้ช่วย ความเหนื่อยยิ่งทวีคูณ สุดท้ายร้านก็ต้องปิดตัวไป ชีวิตเหมือนต้องคำสาปไหม ทำอะไรก็ไม่สำเร็จ 

“มีอยู่วันหนึ่ง คุณยายแถวบ้านก็มาถามหาซื้อขนมอังกู๊ว่าเราทำให้ได้ไหม เพราะร้านที่ทำขายน้อยลงทุกที แล้วไม่มีร้านไหนอร่อยเหมือนกับที่แม่กับอาม่าของเจ๊ทำ น่าเสียดายนะ ทำไมไม่ทำขายอีก คำพูดของคุณยายที่มาถามหาซื้อขนมในวันนั้นเป็นเหมือนจุดเปลี่ยนสำคัญว่า ในเมื่อเรามีของดีอยู่ที่บ้าน มันเป็นตัวตนของเรามาทั้งชีวิต ถ้าเราทิ้งไปเท่ากับสูตรของครอบครัวที่อยู่มาเป็นร้อยปีก็จะสูญหายไป นี่อาจจะเป็นจุดเริ่มต้นใหม่ที่ทำให้ประสบความสำเร็จก็ได้นะ

“แล้วอีกอย่างสมัยนี้เราไม่ต้องโม่แป้งเอง ถั่วเขียวก็มีสำเร็จ เพียงแต่ต้องใส่ใจในการทำเลือกใช้วัตถุดิบที่สดใหม่ รู้ความพอดีในการนวดแป้ง ซึ่งเราทำมันมาตั้งแต่เด็กจนโต สิ่งนี้คือความเชี่ยวชาญของเรา ก็จะทำให้ขนมอังกู๊ออกมาน่ารับประทาน จากใช้เวลา 3 วัน ก็เหลือเพียง 4 ชั่วโมงก็พร้อมเสิร์ฟ เราก็น่าจะทำขายได้ หลังจากนั้นเจ๊ก็เริ่มต้นอาชีพใหม่อีกครั้งในฐานะคนทำขนมท้องถิ่นโบราณ”

“ในเกาะกูเก็ตเจ๊มั่นใจว่าร้านเจ๊คือร้านที่มีพิมพ์ขนมเยอะมากที่สุด

“หลังจากที่เรากลับมารับช่วงต่อ เราก็พยายามพัฒนารูปแบบมาเรื่อย ๆ ซึ่งมีเพื่อนมาบอกว่าทำไมไม่ทำให้ขนาดมันเล็กกินง่ายหมดในคำเดียวดูบ้าง เราก็ปิ๊งไอเดียและเริ่มเปลี่ยนจากขนมเต่าลูกใหญ่เท่าฝ่ามือ ให้เล็กลงมาเหมือนชิ้นเล็กที่สามารถกินหมดใน 1 คำ ก็กลายเป็นได้รับผลตอบรับที่ดี และเป็นที่รู้จักจนถึงทุกวันนี้ ที่สำคัญทำให้ทุกวันนี้ ขนมเต่า หรืออังกู๊ ไม่ใช่ขนมที่ซื้อแค่นำไปใช้ในพิธีสำคัญ แต่วัยรุ่น หรือนักท่องเที่ยวก็หันมาสนใจและซื้อรับประทานอีกด้วย

“อย่างที่เห็นว่าเจ๊มีพิมพ์หลายแบบมาก ต้องบอกว่าสิ่งเหล่านี้หาซื้อไม่ได้ คนทำขายมีน้อย อาจจะต้องซื้อจากเมืองจีน แต่ด้วยความที่เราอยู่กับมันมาตั้งแต่เด็ก เรามีฝีมือทางศิลปะอยู่บ้าง พิมพ์ทั้งหมดเราก็จะแกะสลักเอง ทุกวันนี้เรามีพิมพ์มากกว่า 50 แบบ

“ทุกวันนี้เจ๊รับช่วงต่อในการทำขนมมาตั้งแต่อายุ 30 ปัจจุบันอายุ 67 ก็นับเป็นเวลากว่า 37 ปี ผลตอบรับของเราดีขึ้นทุกปี ในแต่ละวันขายได้ไม่ต่ำกว่าวันละ 500 ชิ้น ถ้าช่วงเทศกาลคือต้องสั่งจองล่วงหน้าเท่านั้น บางปีก็ทำไม่ทันต้องปิดรับออเดอร์ก่อนก็มี”

ถ้าหมดรุ่นเรา ก็อาจจะเป็นรุ่นสุดท้ายที่ทำขนม “อังกู๊”

“เจ๊กิ่งเล่าทิ้งท้ายว่า เจ๊คงเป็นรุ่นสุดท้ายจริง ๆ ที่ทำขนมสูตรของบ้านอังกู๊ เพราะว่าลูก ๆ เขามีเส้นทางของเขา เราก็ไม่ได้อยากบังคับ ทุกวันนี้จึงออกไปสอนตามที่ต่าง ๆ เพื่อให้เป็นทั้งอาชีพ และแรงบันดาลใจให้เด็กรุ่นใหม่หันกลับมามองเห็นคุณค่าของขนมพื้นถิ่น 

“สำหรับเราในวัยขนาดนี้ ความภาคภูมิใจคงไม่ใช่แค่การขายดี ในแต่ละครั้งที่ไปสอน ขอแค่มี 1 คนที่เอาไปทำ นำไปใช้สร้างอาชีพได้ แค่นี้ก็ถือเป็นความภาคภูมิใจสูงสุดในชีวิต

“ทุกวันนี้ลูกศิษย์หลายคนก็จะทำขนมไปฝากขายที่ร้าน เราก็ช่วยหาลูกค้าให้ เราไม่ได้หวงลูกค้าเลย เพราะเรารู้สึกว่าถ้าเราส่งต่อขนมได้ แม้วันข้างหน้าลูก ๆ อาจจะไม่ได้รับช่วงต่อแล้ว แต่ขนมอังกู๊จะยังคงอยู่ใน จ.ภูเก็ต สืบต่อไป

“สำหรับตรุษจีนปีนี้เจ๊ขออวยพรให้ให้ทุกคน คิดหวังสิ่งใดขอให้สมปรารถนา มั่งคั่งร่ำรวยตลอดปี”

ติดต่อร้าน : บ้านอังกู๊

โทร. 064-9192828

Credits

Author

  • นันท์นภัส โอดคง

    Authorครีเอทีฟตัวกลม อารมณ์ดี รักภูเขา หลงรัก จ.เชียงใหม่ ชอบการเดินทาง enjoy กับการกินอาหารท้องถิ่น สนุกกับการรู้จักคนใหม่ๆ อนาคตที่ฝันไว้สูงสุดคืออยากเป็นคนที่ถูกหวย

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ