เป็นมนุษย์เงินเดือนนั้นแสนลำบาก ทั้งเหนื่อยเครียดกับการทำงาน แค่ค่าครองชีพก็ยังแพงหูดับ ทั้งอดทน อดออมก็แล้ว โดยจะให้เหลือกินเหลือเก็บแต่ละทีมันก็ยากเสียเหลือเกิน หากถามถึงการเก็บเงินออมเพื่อใช้วัยหลังเกษียณโดยเฉพาะกับคนหนุ่มสาวกันแล้ว ก็ยิ่งดูเป็นเรื่องอีกไกลตัวไปอีก
แล้วเราจะมีชีวิตหลังเกษียณดั่งใจฝันได้จริงไหม? มีเงินใช้สบาย ๆ ไปตลอดหลังเกษียณได้จริงหรือเปล่า? มนุษย์ต่างวัยชวนคุยกับ เชฟดำริ มุขสมบัติ และ นุช – อรนุช แก้วหาวงศ์ คู่รักวัย 50 ปี อดีตพนักงานประจำที่สามารถเกษียณจากงานประจำได้ตามที่ตั้งใจ ออกมาใช้ชีวิตได้ตามฝันที่วาดไว้ได้สำเร็จเพราะมีการวางแผนทางการเงินที่ดี
ชีวิตและความฝันของมนุษย์เงินเดือน
หลังเรียนจบ ม.6 เชฟดำริก็เข้ามาหางานทำในกรุงเทพฯ ทำงานครัวมาตลอดและเป็นเชฟมามากกว่า 20 ปี ส่วนนุชหลังเรียนจบก็ทำงานในแวดวงสื่อและสิ่งพิมพ์ ทั้งสองใช้ชีวิตเป็นพนักงานประจำมาตลอด จนกระทั่งปี 2562 ทั้งคู่ตัดสินใจลาออกจากงานประจำ ประกาศขายบ้าน แล้วย้ายออกมาใช้ชีวิตหลังเกษียณที่จังหวัดชัยภูมิในวัย 47 ปี
“ก่อนหน้านี้เราทั้งคู่เป็นพนักงานประจำกันมาตลอด การอยู่ในเมืองทำให้เราต้องมีการวางแผนค่าใช้จ่ายให้ดี แต่เราคุยกันเสมอว่าอยากใช้ชีวิตอย่างเต็มที่ด้วย เราไม่อยากไปเที่ยวตอนแก่ที่ต้องใช้ไม้เท้า หรือตอนที่กินอะไรก็ไม่อร่อยแล้ว อย่างหน้าหนาวเราต้องไปภูเขา หน้าร้อนเราต้องไปทะเล ปีหนึ่งเราจะปักหมุดไว้เลยว่าต้องไปเที่ยวไหนบ้าง
“เรื่องกินเราก็เต็มที่เหมือนกัน เพราะเชฟทำงานด้านอาหาร การสร้างประสบการณ์ด้านการกินเป็นสิ่งสำคัญ ถ้าเราจะพูดถึงอาหารมิชลินสตาร์ แต่ไม่เคยกินมิชลินสตาร์เลยคงเป็นไปไม่ได้ มันต้องมีประสบการณ์หลากหลาย ฉะนั้นถ้ามื้อไหนเราอยากกินให้ดี กินให้อร่อย เราจะขึ้นไปแตะให้ถึงสิ่งที่เรียกว่าอร่อยที่สุดแล้วยอมจ่าย”
ความรักในการทำอาหารของเชฟดำริทำให้เขาใช้เวลากว่า 30 ปีในการทำงานในครัว และความผูกพันกับชีวิตหน้าเตาอย่างยาวนานถูกฉายเป็นภาพซ้ำครั้งแล้วครั้งเล่าจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต
“เมื่อก่อนผมก็คิดว่าจะเกษียณตอนอายุ 60 ปี แต่พอเราคุยกันมาเรื่อย ๆ ก็เกิดคำถามว่าเราจะเกษียณตอนอายุ 60 ปี เลยเหรอ ถึงวันนั้นเราจะมีแรงทำอะไรหลายอย่างที่อยากทำหรือเปล่า มันทำให้เราวางแผนเรื่องนี้กันมาตลอด แล้วเป็นจังหวะที่เราสองคนออกจากงานประจำในวัยใกล้ 50 ปีพอดี เราก็คิดกันว่าน่าจะเกษียณตอนนี้นี่แหละ ยังมีแรงทำอะไรหลายอย่างที่อยากทำ รอให้อายุ 60 ปี คงไม่มีแรงกันแล้ว”
“เราสองคนคุยกันตั้งแต่อายุ 20 ปี ต้น ๆ แล้วว่าอยากมีภาพฝันในบั้นปลายแบบไหน เรารู้แค่ว่าไม่อยากอยู่กทม. แล้ว เพราะมันอึดอัดไปหมด อยากมีบ้าน มีร้านอาหารที่ต่างจังหวัดสักที่ที่มีอากาศดีทั้งปี เราแค่อยากนั่งด้วยกันสักที่ที่สบาย ๆ นั่งชิล ๆ อยู่ข้างกันในวันที่เราแก่จนผมขาว แต่มันเป็นไปไม่ได้เลยถ้าเราไม่มีเงิน จากนั้นเราก็เริ่มวางแผนเก็บเงินด้วยกัน” นุชกล่าวเสริมถึงจุดเริ่มต้นด้วยรอยยิ้ม
วางแผนการเงิน – หัวใจอยู่ที่วินัยและความสม่ำเสมอ
นุชเล่าให้เราฟังว่าแม้ทั้งคู่จะมีการวางแผนค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันเป็นอย่างดี ใช้จ่ายเงินอย่างคุ้มค่า แต่ยังคงให้ความสำคัญกับการซื้อประสบการณ์และการเติมความสุขด้านต่าง ๆ ของชีวิตอย่างไม่ขาดตกบกพร่อง การวางแผนใช้จ่ายเงินของทั้งคู่เป็นการวางแผนร่วมกันโดยมีนุชดูแลเป็นหลัก ศึกษาวิธีการออมเงิน ลงมือวางแผน และเก็บออมอย่างมีวินัยเป็นเวลานาน
“พอเราทั้งคู่อายุ 25 ปี เริ่มมีงานประจำ ตอนนั้นเงินเดือนไม่ได้มาก แต่สิ่งเร้าที่ดึงเงินเราออกจากกระเป๋าก็ไม่ได้มากเหมือนกัน เราเริ่มวางแผนทางการเงินด้วยกัน ทั้งการออมเงินและซื้อประกัน เป็นการสะสมทีละเล็กละน้อยอย่างต่อเนื่อง วันหนึ่งเราก็ได้เงินก้อนพอสมควรเลย”
แม้ในช่วงแรกทั้งคู่ต่างคนต่างดูแลเงินของตัวเอง แต่ภายหลังกลับพบวิธีที่สะดวกกับทั้งคู่ได้มากกว่านั่นคือ การนำเงินมารวมกัน โดยเชฟดำริจะให้นุชเป็นผู้ดูแลให้ทั้งหมด
“เมื่อก่อนผมคิดว่าผมเก็บเงินได้ ก็จะแบ่งเงินไว้เก็บครึ่งหนี่ง ใช้จ่ายครึ่งหนึ่ง แต่เอาเข้าจริงมันไม่พอ เลยเปลี่ยนเป็นให้นุชดูแลทั้งหมด เขาจะโอนเงินให้ใช้ทุกสิ้นเดือน อยากซื้อหาอะไรนุชก็จะดูแลจัดการให้ ส่วนตัวผมคิดว่ามันดีตรงที่ทำให้เราไม่ฟุ่มเฟือย”
“พอเงินเดือนออก เราจะนำเงินสองคนมากองรวมกัน แล้วแบ่งเป็น 2 กองเท่า ๆ กัน (50:50) กองแรกคือเงินเก็บอีกกองหนึ่งคือค่าใช้จ่าย ถ้าคิดจากสัดส่วนของเงินทั้งหมด ก้อนเงินเก็บ เราใช้ซื้อประกัน 20% ซื้อสลากออมสิน 20% และฝากประจำ 10% ส่วนก้อนที่เป็นค่าใช้จ่ายแบ่งให้พ่อแม่ 10% จ่ายภาษี 5% และใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน 35%
“ในช่วงแรก เราก็ต่อต้านการทำประกันเหมือนกัน แต่พอเริ่มศึกษา เราพบว่ามันมีข้อดี มันเหมือนเงินฝาก ถ้าเราเป็นอะไรไป คนข้างหลังก็สบายมีเงินก้อน แต่ถ้าเราไม่ได้เป็นอะไร ก็มีดอกผลคืนมา เหมือนมีบำนาญไว้ใช้ตอนแก่ เรามองว่าประกันนั้นซื้อไว้เถอะ เป็นการลงทุนที่ปลอดภัยและให้ผลประโยชน์มากกว่าฝากธนาคาร
“การวางแผนการเงินเป็นเรื่องระยะยาว ต้องใจแข็ง มีวินัย ซื่อสัตย์กับตัวเอง ไม่ใช่ว่าเอามาใช้ก่อนแล้วโปะคืน มันจะกลายเป็นดินพอกหางหมู สุดท้ายเงินออมก็จะหายไปเรื่อย ๆ หรือถ้าเรามีเงินเก็บก้อนหนึ่ง แล้วไม่มีเงินมาเติมแล้ว สุดท้ายมันก็หมดไป เรื่องเงินเก็บ แม้จะดูเป็นโบร่ำโบราณ แต่มันเป็นความมั่นคงของชีวิต มีผู้ใหญ่ท่านหนึ่งกล่าวไว้ที่เราประทับใจมาก ท่านบอกว่า จะวัดความสามารถคนไม่ใช่วัดที่การหาเงินได้เท่าไหร่ แต่วัดที่เก็บเงินได้เท่าไหร่ต่างหาก” นุชกล่าวเสริม
บอกลางานประจำ ร่ำลาเมืองกรุง เดินตามความฝันในวัย 48 ปี
ปลายปี 2562 เชฟดำริเลือกลาออกจากงานประจำ ในขณะที่งานสื่อสิ่งพิมพ์ของนุชถูกสื่อออนไลน์เข้าแทนที่ ประกอบกับเป็นช่วงของโควิด กรุงเทพฯ เงียบสงัด จะออกไปไหนก็ลำบาก นี่จึงกลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของทั้งคู่ที่เลือกประกาศขายบ้าน แล้วย้ายถิ่นฐานมาอยู่ที่ อ.ภักดีชุมพล จ.ชัยภูมิ
“ตอนนั้นเราสองคนตัดสินใจว่าจะไม่หางานใหม่อีกแล้ว ถือว่าเกษียณโดยสมบูรณ์ เราเลยเอาเงินก้อนที่เราเก็บไว้มาดูกัน เรามีเงินรวมกันเจ็ดหลัก เลยลองแจกแจงค่าใช้จ่ายดูว่าถ้าจะย้ายถิ่นต้องใช้อะไรบ้าง อันดับแรกคือเราต้องขายบ้านที่กรุงเทพฯ เพราะมันเป็นภาระ พอลองมาแบ่งเงินเก็บพบว่าเราต้องใช้ก้อนหนึ่งปลูกบ้าน อีกก้อนสำหรับทำธุรกิจเพื่อเลี้ยงตัว และก้อนสุดท้ายคือสำรองไว้เพื่อให้เราใช้ในการเริ่มต้นใหม่ พอเห็นว่ามันน่าจะเป็นไปได้ก็หาที่ดินทันที
“เราขับรถดูกันหลายที่ เน้นอยู่ในเมืองและใกล้แหล่งท่องเที่ยวเพราะเราคิดว่าน่าจะทำธุรกิจง่ายกว่า แต่สุดท้ายมาเลือกลงหลักปักฐานที่นี่ (อ.ภักดีชุมพล จ.ชัยภูมิ) ที่นี่เป็นที่ของเราเอง ไม่ต้องเสียเงินซื้อ แต่ไม่ได้มีสถานที่ท่องเที่ยวมากนัก มีแค่ทุ่งดอกกระเจียวบานปีละครั้ง แต่พอลองทดสอบความรู้สึกกันดูแล้ว เราทั้งคู่คิดว่าอยู่ได้ ก็ปักหมุดกันตรงนี้เลย
“เราสองคนคุยกันมาตั้งแต่เด็ก ๆ ว่าเราอยากมีภาพฝันบั้นปลายชีวิตแบบไหน พอเราอายุ 25 ปี มีเงินเดือนประจำ ก็เริ่มวางแผนเก็บเงินกันมาเรื่อย ๆ ตอนนั้นเงินเดือนไม่ได้มาก เน้นว่ามีน้อยเก็บน้อย แต่เก็บสม่ำเสมอ การเก็บเล็กผสมน้อยสม่ำเสมอแต่ยาวนานนี้ มันทำให้เราในวัย 47-48 ปี มีเงินมากพอที่จะมีบ้าน มีร้านอาหารเล็ก ๆ ในต่างจังหวัด
“แรก ๆ เราเองก็คุยกันว่าเป็นไปได้ไหมที่จะทำธุรกิจในที่แบบนี้ แต่เราเชื่อว่าเราได้ทำในสิ่งที่เราถนัด เก่งในทางของเรา เราออกแบบไว้ว่าให้เป็นแค่ร้านเล็ก ๆ เรียบง่าย แต่เป็นอาหารรสมือเชฟดำริ มากินตอนไหนรสก็ไม่ผิดเพี้ยน เราเชื่อว่า ถ้าเราอดทนคนจะมาหาเราเอง เราจะบอกทุกคนเสมอว่า ที่เราอยู่ได้ นั่นเป็นเพราะเราอยากอยู่ ถ้าเราอยากอยู่แล้ว เราจะบริหารจัดการทุกอย่างให้มันอยู่ได้ในที่สุด” นุชเล่าถึงจุดเริ่มของร้านอาหารบ้านเชฟดำริแห่งนี้ด้วยแววตาเปล่งประกาย
ส่วนเชฟดำรินั้นก็คิดไม่ต่างกัน เชฟเล่าให้เราฟังว่า ไม่ว่าจะย้ายไปอยู่ที่ไหน ขอแค่ยังได้ทำในสิ่งที่รัก ได้ใช้วัตถุดิบดี ๆ ปรุงอาหาร ได้เห็นรอยยิ้มของลูกค้า แค่นี้ก็เพียงพอแล้ว
“ตอนเป็นพนักงานประจำ เรามีความสุขในอาชีพเชฟก็จริง แต่มันก็มีความทุกข์ ความเครียดแฝงอยู่ตลอดทั้งเรื่องงาน เรื่องคน สุขภาพเราก็แย่ลงไปเรื่อย ๆ พอเราได้ออกมาอยู่แบบนี้ ผมกลายเป็นอีกคนหนึ่ง ได้ทำแต่สิ่งที่อยากทำ ไม่ใช่แค่ทำอาหาร แต่ผมได้ปลูกต้นไม้ จับจอบเสียม ได้เห็นการเจริญเติบโต มีความสุขทุกเสี้ยววินาที แต่ละวันคิดเพียงว่าจะทำอย่างไรให้ลูกค้ากินอาหารเราแล้วมีความสุขที่สุด”
ภาพฝันอันแจ่มชัดและการลงมือทำในทุกวัน
สิ่งหนึ่งที่ทั้งสองเน้นย้ำเสมอคือการมีเป้าหมายและการมีภาพฝันอันแจ่มชัดว่าชีวิตหลังเกษียณต้องการแบบใด เมื่อมีหมุดหมายแล้ว เพียงแต่วางแผน และลงมือทำในแต่ละวันอย่างสม่ำเสมอ
“บางคนอาจคิดว่าเพราะไม่มีลูกหรือเปล่าจึงทำแบบนี้ได้ แต่จริง ๆ แล้ว เราคิดว่าไม่ว่าจะเป็นคนโสด คนมีคู่ หรือมีลูก สิ่งสำคัญที่สุดคือขอให้มีภาพในวัยเกษียณที่ชัดเจน เราอยากเป็นผู้สูงวัยที่มีความสุขแบบไหน ถ้าเราอยากเป็นผู้สูงวัยที่มีความสุข ให้ย้อนคิดกลับมาว่าเราจะเป็นอย่างนั้นได้ วันนี้เราต้องทำอย่างไร จากนั้นก็วางแผนจัดการชีวิต ยิ่งทำเร็ว ก็ยิ่งมีโอกาสเป็นจริงได้สูง การมีวินัย ทำให้มีโอกาสประสบความสำเร็จเกือบ 100%
“เหมือนเราฝันอยากมีสวนสวย ๆ เพียงแค่วันนี้ลงมือขุดดิน ปลูกต้นไม้เล็ก ๆ อีกไม่กี่วันข้างหน้ามันก็จะกลายเป็นไม้ใหญ่แล้วกลายเป็นสวนสวยที่เราอยากมี ถ้าเริ่มวางแผนชีวิตได้เร็ว แม้เราจะเหนื่อยนานแต่มันเหนื่อยน้อยกว่า แต่ถ้าเริ่มช้าจะเหนื่อยหนักมากกว่าจะได้ในสิ่งที่ฝัน
“สำหรับคนที่มีลูก อาจจะเหนื่อยกว่านิดหน่อย แต่ไม่ได้ยากเกินไป เราคิดว่าสิ่งสำคัญคืออย่าคิดว่าจะให้ลูกมาเลี้ยงเรา ขอให้เป็นผู้สูงอายุที่มีคุณภาพ ดูแลตัวเองได้ และปล่อยให้ลูกหลานได้ไปมีชีวิตของเขา เราต่างหากต้องเป็นตัวอย่างให้เขาว่าพอถึงวัยเกษียณ นอกจากจะส่งลูกหลานถึงฝั่งได้แล้วยังเป็นเกษียณสำราญได้อีกด้วย
“ในหนังเรื่อง Before Sunset (2004) มีฉากที่คู่รักนอนอยู่บนเตียงผ้าใบ จิบแชมเปญแล้วดูพระอาทิตย์ตกดินด้วยกัน เรามีภาพฝันถึงชีวิตตอนแก่แค่นี้แหละ ทุกวันนี้ ภาพมันใกล้เคียงกับที่เคยฝันไว้มาก ๆ สำหรับเชฟ เราจะถามเขาเสมอว่าแฮปปี้ไหมเพื่อเช็กความรู้สึกกันตลอดเวลา บางวันเราก็ได้ยินเขาร้องเพลงอยู่ในครัว มันเป็นภาพที่ทำให้เรายิ่งมั่นใจว่าเราได้ตัดสินใจถูกแล้ว เขาจะบอกเสมอว่าขอบคุณที่ชวนมาอยู่ที่นี่ ได้ใช้ชีวิตแบบนี้ มันทำให้เรายิ่งรู้เลยว่าความสุขของเราคือการเห็นคนที่รักมีความสุขด้วย”
“ถึงตอนอยู่กรุงเทพฯ เราได้รายได้เยอะกว่านี้ก็จริง แต่เราสองคนได้คุยกันน้อยมาก วันหนึ่งเราเจอกันแค่ไม่กี่ชั่วโมง เดี๋ยวต่างคนก็ต้องไปทำงานอีกแล้ว แต่พอมาอยู่ที่นี่ เราเหมือนได้อยู่ด้วยกันตลอดเวลา ได้แชร์เรื่องนู้นเรื่องนี้ให้กันฟัง ผมคิดว่าความสุขมันอยู่ที่เราต้องการอะไรมากกว่า” เชฟดำริกล่าวทิ้งท้ายด้วยรอยยิ้ม
แนวคิดเกษียณเร็ว หรือ F.I.R.E (Financial Independence, Retire Early) หรือการมีอิสรภาพทางการเงินจนสามารถหยุดทำงานได้ตั้งแต่อายุน้อย (30-40 ปี) กำลังเป็นแนวคิดที่ได้รับความสนใจมากในหมู่คนรุ่นใหม่ เพราะพวกเขาต้องการใช้วันเวลาในวัยหนุ่มสาวทุ่มเททำในสิ่งที่รัก ที่สนใจอย่างอิสระมากไปกว่าการนั่งทำงานจนแก่เฒ่า แต่การเกษียณเร็วไปก็อาจเจอกับปัญหาเหมือนกัน
ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET: The Stock Exchange of Thailand) ได้แนะนำไว้ว่า การเกษียณอายุเร็วอาจทำให้มีช่วงเวลาเก็บเงินลดลงตามไปด้วย หรือหากเกษียณไปแล้วอาจมีค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพมากกว่าที่ประเมินไว้ การพยายามเก็บเงินต่อปีที่มากขึ้นหรือลดค่าใช้จ่ายทำให้ต้องทำงานหนักมากขึ้น เสียสมดุลชีวิต ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ รวมถึงสภาพจิตใจหลังเกษียณเร็วที่อาจทำให้สูญเสียสถานภาพและบทบาททางสังคมไป หากวางแผนจะเกษียณเร็วแล้ว สิ่งสำคัญที่สุดคือการวางแผนล่วงหน้าอย่างรัดกุมรอบคอบ เลือกการลงทุนที่เหมาะสมกับไลฟ์สไตล์ของตัวเองอย่างมีความรู้ จะทำให้สามารถจัดการกับความเสี่ยงต่าง ๆ และบรรลุภาพฝันหลังเกษียณได้ดังใจฝัน
|