‘Kamimura Soba’ โซบะสูตรลับจากโอบาจัง ของแม่บ้านที่อยู่ญี่ปุ่นมา 23 ปี

“สำหรับแม่ โซบะคือคุณค่าของชีวิตหลังเกษียณ ในการตัดสินใจกลับมาเกษียณตัวเองที่ไทย”

มนุษย์ต่างวัยพาขึ้นเหนือสู่ จ.เชียงใหม่ ไม่ใช่เพื่อชิมข้าวซอยหรือน้ำเงี้ยว แต่เพื่อสัมผัสรสชาติแห่งชีวิตหลังเกษียณของ “แม่ปุ๊” สมร หงษ์แก้ว วัย 63 ปี เจ้าของร้าน Kamimura Soba ร้านโซบะเล็ก ๆ ท่ามกลางทุ่งนาและวิวเขา ที่ อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่

หลังใช้ชีวิตดูแลสามีและลูกที่ญี่ปุ่นนาน 23 ปี กระทั่งสามีจากไปและลูกชายเติบโตขึ้นดูแลตัวเองได้ ทำให้แม่ปุ๊ตัดสินใจกลับมาใช้ชีวิตที่เหลือที่แผ่นดินเกิด เพราะเธอไม่อยากให้ชีวิตในวันข้างหน้าเป็นผู้สูงวัยที่ใช้ชีวิตโดดเดี่ยวในต่างแดน การกลับมาเกษียณตัวเองที่บ้านเกิดใน จังหวัดเชียงใหม่ จะช่วยทำให้เธอได้มีโอกาสอยู่ท่ามกลางหลาน ๆ เพื่อน ครอบครัว และลูกชายคนโต ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่สามารถหาได้ในประเทศญี่ปุ่น

หน้าที่หนึ่งของการกลับมาที่ไทยของ “แม่ปุ๊” ก็คือการดูแลหลาน ๆ เธอจึงใช้โอกาสนี้ทำอาหารญี่ปุ่นสารพัดเมนูที่ได้ได้เรียนมาจาก “โอบาจัง” หรือ “คุณย่า” มากกว่า 23 ปี ซึ่งอาหารญี่ปุ่นแบบต้นฉบับแท้ ๆ ก็เป็นที่ถูกใจของหลาน ๆ และคนรุ่นใหม่ที่ทำงานในบริษัทของลูกชาย  จนเกิดแรงบันดาลใจในการเริ่มต้นลองเปิดร้านโซบะ ภายใต้ชื่อ  “Kamimura Soba”

จากญี่ปุ่น สู่สันกำแพง 

“Kamimura Soba สวัสดีเจ้า” คำกล่าวทักทายด้วยน้ำเสียงอบอุ่น และใบหน้าเปื้อนยิ้มของแม่ปุ๊คือสิ่งที่ลูกค้าที่นี่คุ้นเคย ที่ร้านแห่งนี้เธอทำหน้าที่แทบทุกตำแหน่งเป็นทั้ง พนักงาน เด็กเสิร์ฟ เจ้าของร้าน

“ที่นี่มีเมนูไม่มาก เพราะแม่ทำคนเดียว โดยหลักจะเน้นเป็นโซบะทั้งร้อนและเย็น ซึ่งความพิเศษก็คือรสชาติจะไม่เหมือนโซบะร้านอื่น ๆ ส่วนผสมหรือเครื่องเคียงจะแตกต่างจากร้านทั่วไป

เพราะโซบะที่แม่ทำคือสูตรที่มาจากชนบทในญี่ปุ่น รสชาติก็จะเหมือนที่คนญี่ปุ่นกินกัน ซึ่งแม่ได้รับการถ่ายทอดสูตรมาจาก โอบาจัง หรือคุณย่า ที่สอนให้แม่ปุ๊เข้าครัวทำอาหารให้สามีและลูกกินมากว่า 23 ปี

“เมนูโซบะจริง ๆ เป็นเมนูที่ทำไม่อยาก และเป็นเมนูที่ชาวญี่ปุ่นนิยมกินกันในช่วงวันที่ 31 ธันวาคม เพื่อเป็นการส่งท้ายปีที่กำลังจะผ่านพ้นไป โดยเปรียบความยาวของเส้นโซบะ หมายถึงการมีสุขภาพดีและอายุยืนยาว ซึ่งความพิเศษของโซบะ Kamimura Soba ก็คือตัวน้ำซุป จะไม่ใช่แค่โชยุสำเร็จรูปเท่านั้น แต่ส่วนผสมที่เป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้ชูรสชาติให้โซบะหอม กลมกล่อม ก็คือการใส่ Maguro (มากุโระ) ปลาทูน่าญี่ปุ่น

“สมัยก่อนแม่ก็ไม่รู้ว่าทำอย่างไร ทำไมทุกครั้งที่โอบาจังทำให้กินถึงได้หอม รสชาติกลมกล่อม แม่ก็อาศัยเข้าครัวกับโอบาจังบ่อย ๆ เลยได้เคล็ดลับนี้มา พอกินก็จะรู้สึกเหมือนได้กลับไปญี่ปุ่นที่แม่เคยกินมาตลอด 23 ปี

“นอกจากน้ำซุปที่แตกต่างจากทั่ว ๆ ไป เครื่องเคียงในการทานก็ต่างออกไปด้วย เพราะคนญี่ปุ่นจะกินโซบะคู่กับขิงขูด ต้นหอมซอย และงาคั่ว ทำให้ยิ่งขับรสชาติของน้ำซุปให้ลงตัวมากยิ่งขึ้นเพราะจะมีความหอมปลา ผสมกับรสชาติของกลิ่นขิงอ่อน ๆ

“นอกจากนั้นความพิเศษอีกอย่างหนึ่งคือเทมปุระที่นำมาเสิร์ฟ แม่จะใช้เป็นเทมปุระจากผักปลอดสารพิษที่แม่ปลูกไว้รอบรั้วบ้าน ทั้งใบหม่อน ฟักทอง ต้นหอม ถั่วฝักยาว ซึ่งมั่นใจได้ว่าปลอดภัย ผักปลอดสารพวกนี้จะถูกนำมาชุบแป้งทอดกรอบทำเป็นเทมปุระ และเสิร์ฟพร้อมกุ้งแม่น้ำคัดไซซ์ใหญ่ แต่มาในราคาย่อมเยา

“สมัยก่อนก็จะมีแค่โซบะที่ขาย แต่ยังมีอีกหลายเมนูที่แม่ได้เรียนรู้จากญี่ปุ่น ก็เลยค่อย ๆ พัฒนาเมนูออกมาเรื่อย ๆ ทำให้นอกจากโซบะแล้วที่ร้านแม่ก็ยังมีเมนูอื่น ๆ อีกไม่ว่าจะเป็น โคโรเกะที่แม่ทำสดใหม่ทุกวัน เต้าหู้เย็นแบบฉบับแม่บ้านญี่ปุ่น คาเรไรซึหรือข้าวหน้าแกงกระหรี่ และทงคัตสึเป็นต้น

23 ปี ในการใช้ชีวิตที่ญี่ปุ่น 

“ แม่มีโอกาสได้เริ่มต้นชีวิตรักครั้งใหม่อีกครั้งกับชายชาวญี่ปุ่น เลยต้องย้ายไปอยู่ที่นั่น แต่ก็ยังกลับมาเยี่ยมลูกชายคนโตที่ไทยตลอด ชีวิตของแม่ที่ต้องจากบ้านเกิดเมืองนอน ไม่ได้ทั้งภาษา ไม่ชอบอากาศหนาว ไม่ชินกับอาหาร จึงต้องค่อย ๆ ปรับตัวและประคองครอบครัวกัน กระทั่งมีลูกกับสามีชาวญี่ปุ่น 1 คน หน้าที่ของแม่ในตอนนั้นคือช่วยสามีดูแลร้านวัสดุอุปกรณ์ก่อสร้างซึ่งเป็นกิจการของครอบครัว ชีวิตในตอนนั้นก็เหมือนแม่บ้านทั่วไป มีความสุขอยู่กับการดูแลลูกและสามี

“พอไปเป็นสะใภ้ญี่ปุ่นด้วยความที่เราอยากดูแลลูก ๆ และสามีให้ดีที่สุด คุณแม่สามีก็เป็นคนชอบทำอาหาร เราก็เลยได้เป็นลูกมือบ้าง ครูพักลักจำบ้าง และฝึกทำจนสามารถทำได้คล่องขึ้นหลายเมนู โดยเฉพาะโซบะ

“แต่พอลูกชายอายุได้ประมาณ 7 ขวบ สามีก็เสียชีวิต ทำให้จากชีวิตครอบครัวที่กำลังไปได้อย่างอบอุ่นต้องเริ่มต้นใหม่อีกครั้งในฐานะแม่เลี้ยงเดี่ยว ร้านอุปกรณ์ก่อสร้างก็ปิดไปเพราะแม่ปุ๊ไม่มีความรู้เกี่ยวกับอุปกรณ์รวมถึงภาษาก็ยังไม่ดี

“แม้จะได้เงินสนับสนุนจากรัฐบาลในการดูแลบุตรจากการที่สามีเสียชีวิต แต่การเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวก็ยังยากอยู่ดี เพื่อให้เพียงพอต่อชีวิตที่ดีของลูก ทำให้แม่ต้องทำทั้งงานประจำในออฟฟิศ ทำงานเสริมในร้านอาหาร หรือไปรับทำงานพาร์ตไทม์ที่ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ แม่ไม่เคยได้เหงาเลยเพราะแค่ทำงานก็เหนื่อยจนหลับลืมเหงาไปเลย”

สังคมในญี่ปุ่น ยิ่งสูงวัย ยิ่งโดดเดี่ยว

“หลังจากที่ลูกเรียนจบและมีงานทำ แม่ปุ๊ก็ตัดสินใจเกษียณจากงาน จากที่เคยทำงานจนไม่มีเวลาได้เหงา ก็เริ่มตั้งคำถามกับตัวเองว่า ถ้าลูกต้องเติบโตไปมีครอบครัวของลูก แล้วชีวิตของเราที่เหลืออยู่ในญี่ปุ่นจะเป็นอย่างไร ?

“สำหรับแม่ การทำงานแม้จะเหนื่อยแต่ก็มีความสุข แต่การเป็นคนต่างแดนที่ไม่ทำงาน โดยเฉพาะที่ญี่ปุ่นยิ่งทำให้เราโดดเดี่ยว เพราะวัฒนธรรมเขาจะแตกต่างกับคนไทย คนไทยจะไปมาหาสู่กัน ออกมาพูดคุยกับเพื่อนบ้าน แต่คนญี่ปุ่นไม่เป็นอย่างนั้น หนุ่มสาวก็ออกไปทำงานในเมืองเพราะค่าครองชีพสูง  แต่ก็ต้องแลกมาด้วยความเครียดจากการทำงาน ส่วนผู้สูงอายุก็อยู่บ้าน และไม่ได้มีนิสัยในการออกมาพบปะพูดคุยแบบสังคมคนไทย ต่างคนต่างอยู่แม้กระทั่งคนในครอบครัวเดียวกัน ทำให้ญี่ปุ่นมีบ้านพักคนชราเยอะมากแทบจะทุกหัวมุมถนน

“แม่เคยไปทำงานอยู่ที่ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุหรือบ้านพักคนชราของญี่ปุ่น ค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง ไม่ใช่ทุกคนจะมีเงินไปอยู่ บางคนติดบ้านไม่อยากไปไหน เลยทำให้สังคมชนบทในญี่ปุ่นมีแต่ผู้สูงอายุ

สิ่งที่แม่พบเจออีกอย่างหนึ่งก็คือ บางคนคู่ชีวิตเสีย และต้องอยู่คนเดียวยิ่งทำให้โดดเดี่ยว เลยมีข่าวให้เห็นอยู่บ่อยครั้งว่าคนญี่ปุ่นฆ่าตัวตาย “เพื่อหนีความโดดเดี่ยว”

“ทำให้แม่ตัดสินใจว่าชีวิตที่เหลือแม่ไม่อยากโดดเดี่ยวแบบนั้น การกลับมาเกษียณที่ไทยท่ามกลางลูกหลานน่าจะเป็นคำตอบที่ดีที่สุดสำหรับการใช้ชีวิตในช่วงบั้นปลาย”

กลับมาเกษียณที่ไทย

“ตอนนั้นลูกชายคนโตกำลังมีลูกพอดี ก็ได้จังหวะในการกลับมาเลี้ยงหลาน ซึ่งหน้าที่ประจำของแม่ปุ๊คือการทำกับข้าวให้ลูกและหลานกิน รวมไปถึงลูกชายเปิดบริษัทออกแบบบ้าน ที่ตั้งบริษัทก็ค่อนข้างไกลจากร้านอาหาร แม่ปุ๊เลยได้รับบทบาทเป็นแม่ครัวหลักประจำบริษัทเพิ่มเติมด้วยอีกหนึ่งตำแหน่ง

“ตอนนั้นทั้งหลาน ทั้งลูก ทั้งน้อง ๆ ในบริษัทก็ชอบมากเวลาที่แม่ทำอาหารญี่ปุ่นให้กิน โดยเฉพาะเมนูโซบะแม่จะทำบ่อยเพราะแม่ชอบ น้องเขากินก็บอกว่าไม่เคยกินรสชาตินี้ที่ไหนเลย แม่ต้องเปิดร้านนะอร่อยขนาดนี้ จากคำพูดเล่นของเด็ก ๆ ทำให้แม่เกิดแรงบันดาลใจว่า หรือเราจะลองเปิดร้านดี เปิดในบ้านเรานี่แหละ พอหลานโตก็จะได้มีกิจกรรมได้ทำอยู่”

“ลูกชายก็สนับสนุนให้ทำร้าน และก็ปรับปรุงพื้นที่ร้านให้ และมีทีมงานของลูกชายเป็นคนเปิดเพจ พาสื่อมาโพรโมต เพื่อทำให้ร้านโซบะกลางทุ่งที่ไม่เคยมีคนรู้จักถูกรู้จักในชื่อ Kamimura Soba ซึ่งมีที่มาจากนามสกุลของสามี เพราะอาหารทุกเมนูที่เสิร์ฟล้วนมีที่มาจากบ้าน Kamimura การเปิดร้านครั้งนี้ถ้าไม่มีเด็ก ๆ ไม่มีลูกที่สนับสนุน แม่ก็คิดว่าแม่คงไม่กล้าพอที่จะออกมาทำอะไรใหม่ ๆ ในวัยนี้

ชีวิตเริ่มต้นใหม่ในฐานะ “คุณป้าโซบะ” 

“แม่ไม่เคยเปิดร้านอาหารมาก่อน วันแรกที่เปิดร้านตื่นเต้นมาก กลัวลูกค้าจะไม่ถูกใจ  แต่ละจาน ทำนานมากเพราะเราทำอยู่คนเดียว อยากให้ลูกค้าประทับใจเลยต้องพิถีพิถัน พอช้าลูกค้าก็มาช่วยเสิร์ฟ มาช่วยล้างจาน สนุกสนานเหมือนเป็นครัวบ้านญาติ

“กิจวัตรประจำวันของแม่ก็เปลี่ยนไปเลย กลายเป็นคุณป้าโซบะ ช่วงกลางวันยังคงทำอาหารให้เด็ก ๆ ในออฟฟิศทาน ช่วงเย็นก็ยังทำอาหารให้ลูกชายและหลาน แต่เพิ่มเติมมาคือหน้าที่ใหม่ในการเปิดร้านโซบะด้วย แรก ๆ เปิดขายแค่วันเสาร์-อาทิตย์ ก็ขยับเวลามาเปิดตอนเย็นของวันธรรมดาเพิ่ม หลังจากนั้นก็ขยายเป็นเต็มเวลา เปิดทั้งวัน 10.00 – 18.00 น. ทุกวัน

“แม่ไม่คิดเลยนะว่าแม่จะทำได้ ที่ทำให้เรามีอาชีพอีกครั้งได้และกลายเป็นงานที่เรามีความสุขด้วย ร้านของแม่อยู่ไกล ไม่ได้ใกล้จุดที่จะไปเที่ยวไหน มีแต่ทุ่งนา แต่ลูกค้าก็ยังมาทุกวัน โทรมาจองกันตลอด นั่นยิ่งทำให้เราดีใจ เราทำช้าหน่อย เขาก็เข้าใจ ลูกค้าบางคนมาทุกอาทิตย์จนกลายเป็นลูกค้าประจำ ยิ่งทำให้แม่รู้สึกว่าชีวิตแม่มีค่ามาก

ชีวิตที่ยืนยาว = ชีวิตที่มีความสุข

“สำหรับแม่ถ้าต้องมีชีวิตที่ยืนยาวแบบเส้นโซบะ ตามความเชื่อของคนญี่ปุ่น แม่อยากขอเป็นคนที่มีความสุข มีชีวิตที่ยังมีประโยชน์กับตัวเองและไม่เป็นภาระกับคนรอบข้าง คนเราพอมีอายุมากขึ้นความโดดเดี่ยวคือสิ่งที่น่ากลัวที่สุด ดังนั้นไม่มีอะไรมีความสุขไปกว่าการได้อยู่กับลูกหลาน ครอบครัวและการได้ทำในสิ่งที่รัก

สำหรับแม่ โซบะคือโชคที่ทำให้แม่ได้พบเส้นทางชีวิตใหม่ที่มีความสุข สำหรับชีวิตที่เหลือต่อจากนี้

Credits

Author

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ