“ทีมป้าแดงอาสามาช่วย” เมื่อคนวัย 60+ รวมตัวกันเปิดศูนย์ให้ยืมอุปกรณ์การแพทย์ฟรี 

“ถ้ายังไม่หมดลมหายใจความตั้งใจสูงสุดของกลุ่มป้าคือ กระจายศูนย์ฯ เพื่อให้ยืมอุปกรณ์การแพทย์ฟรี ไปทุกภาคให้ทั่วประเทศ”

มนุษย์ต่างวัยพาไปรู้จักกับ “โครงการบรรเทาทุกข์ ปันใจ ปันสุข” ที่ตั้งอยู่ภายในวัดบางจาก อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี ศูนย์ที่ให้บริการยืมอุปกรณ์การแพทย์ฟรีที่มีอุปกรณ์หลากหลายไม่ว่าจะเป็นเครื่องดูดเสมหะ ที่นอนลม เครื่องช่วยหายใจ เครื่องผลิตออกซิเจน

ศูนย์ให้ยืมอุปกรณ์การแพทย์เกิดจากการรวมตัวกันของกลุ่มคนวัยเกษียณ ภายใต้ชื่อกลุ่มว่า  “ทีมป้าแดงอาสามาช่วย” ที่มีทั้งอดีตพยาบาล เจ้าของกิจการ แพทย์ที่มองเห็นว่าความทุกข์ของหลายครอบครัวที่มีผู้เจ็บป่วยติดบ้าน ติดเตียงก็คือค่าใช้จ่ายในการดูแล โดยเพราะอุปกรณ์ดูแลผู้ป่วยที่มีราคาสูง ถึงหลักหมื่น หลังแสน ทำให้หลายครอบครัวไม่สามารถจัดหามาใช้ได้

“ป้าแดง” อมราพร องอาจอิทธิชัย วัย 63 อดีตป้าพยาบาลที่เคยทำเรื่องการให้ยืมอุปกรณ์การแพทย์ฟรีในโรงพยาบาล มากกว่า 15 ปี จึงตัดสินใจชวนเพื่อน ๆ ในวัยเกษียณมาตั้งกลุ่ม “ทีมป้าแดงอาสามาช่วย” นำโครงการให้ยืมอุปกรณ์มาปัดฝุ่นใหม่อีกครั้ง จนทำให้กว่า 1 ปีที่เปิดให้บริการสามารถ ช่วยครอบครัวของผู้ป่วยไปมากกว่า 600 ครอบครัวและยังสามารถขยายศูนย์ฯ ออกไปอีกถึง 3 แห่ง

คนไข้ล้น เตียงไม่พอ การกลับไปรักษาที่บ้านคือค่าใช้จ่ายที่ลูกหลานต้องแบกรับ

“ป้าแดง”  อมราพร องอาจอิทธิชัย วัย 63 เป็นอดีตพยาบาลวิชาชีพ เริ่มต้นโครงการให้ยืมอุปกรณ์การแพทย์มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555 หรือ 18 ปีที่แล้วเพราะพบว่าโรงพยาบาลหลายแห่งมีปัญหาเดียวกันคือเตียงไม่พอรองรับคนไข้ เพราะสถานการณ์ครองเตียงนานของกลุ่มคนไข้ติดเตียง ทำให้ผู้ป่วยบางส่วนไม่สามารถอยู่โรงพยาบาลได้ ต้องกลับไปพักฟื้นที่บ้าน

“ในตอนนั้นป้าแดงเป็นพยาบาลชำนาญการพิเศษ สาขาจิตเวช อยู่ที่ศูนย์การแพทย์ปัญญานันทภิกขุ ชลประทาน ทำให้ได้พูดคุยกับญาติผู้ป่วยเยอะและรู้ว่าเขาทุกข์ใจแค่ไหน ถ้าต้องพาคนป่วยกลับไปพักฟื้นที่บ้าน เพราะต้องหาอุปกรณ์การแพทย์มาใช้เองซึ่งราคาสูง ไม่มีกำลังจ่ายไหว ป้าเลยคิดว่าสิ่งที่จะแก้ปัญหานี้ได้คือเราต้องมีบริการที่สามารถช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายให้กับญาติและผู้ป่วย โครงการศูนย์ส่งเสริมมิตรภาพบำบัดเพื่อนช่วยเพื่อน จึงเริ่มต้นขึ้น เพื่อให้บริการยืมอุปกรณ์การแพทย์ฟรี”

“ ตลอดระยะเวลา 15 ปีที่ป้าทำงานจิตอาสาให้กับศูนย์อุปกรณ์ต่าง ๆ ทั้งเตียงนอน เครื่องผลิตออกซิเจน เครื่องช่วยหายใจ เครื่องพ่นยา และอุปกรณ์การแพทย์อื่น ๆ อีกหลายชนิดที่ได้รับบริจาคมา หรือไม่ก็เกิดจากการระดมทุนจาการบริจาค ก็ถูกส่งต่อช่วยเหลือคนไข้หลายได้หลายพันครอบครัวโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายและไม่มีระยะเวลากำหนดในการคืน ข้อแม้อย่างเดียวคือใช้เสร็จต้องคืน เพื่อให้คนอื่นที่มีความจำเป็นได้ใช้ต่อ”

สังคมสูงวัย ยิ่งทำให้ความต้องการอุปกรณ์สูงขึ้นทุกปี 

“หลังจากป้าแดงเกษียณได้ 2 ปี การปฏิบัติหน้าที่ในฐานะหัวหน้าโครงการศูนย์มิตรภาพบำบัดเพื่อนช่วยเพื่อน ก็ได้ยุติลง ความตั้งใจคือจะหยุดพักและไปทำสวน แต่ด้วยความที่คลุกคลีกับการให้คนไข้ยืมอุปกรณ์และทำงานมานานทำให้แม้จะเกษียณก็ยังต้องให้คำแนะนำและหาช่องทางในการช่วยเหลือคนไข้อยู่ จนค้นพบว่าความต้องการของคนที่ต้องการยืมอุปกรณ์มีจำนวนมากขึ้นกว่าเมื่อก่อน

“พอเห็นปัญหาแบบนี้ กลุ่มจิตอาสาที่ป้าเคยทำงานด้วยก็ชวนกันตลอดว่าเราน่าจะทำอะไรสักอย่างเพื่อคนไข้ เพราะแรงเรายังมี ป้าเลยตัดสินใจว่างั้นมาลุยสร้างศูนย์ให้ยืมอุปกรณ์การแพทย์ฟรีอีกครั้ง ในวันที่แรงยังมี เพื่อช่วยเหลือคนไข้ให้ได้มากที่สุด”

เมษายน 2566 รวมทีมจิตอาสาสูงวัยสร้างศูนย์ให้ยืมอุปกรณ์การแพทย์ฟรีอีกครั้ง 

“สมาชิกที่ป้ารวบรวมมาในการสร้างศูนย์ให้ยืมอุปกรณ์การแพทย์ฟรีครั้งนี้ส่วนใหญ่เป็นคนวัยเกษียณ อายุน้อยที่สุดคือ 62 ปี มากที่สุดคือ 75 ปี จำนวนกว่า 20 คน มาร่วมกันบุกเบิกจัดตั้งศูนย์ฯ ให้ยืมอุปกรณ์ขึ้นมาใหม่โดยได้รับการอนุเคราะห์สถานที่จากเจ้าอาวาสวัดบางจาก ที่ท่านเมตตาและเห็นว่าการมีบริการแบบนี้จะช่วยเหลือชาวบ้านได้มาก

“ที่สมาชิกของกลุ่มป้ามีแต่ผู้สูงอายุในวัยนี้เพราะทุกคนมีเวลา และไม่ต้องทำงานหาเงินเพื่อเลี้ยงชีพเหมือนวัยทำงานอีกแล้ว งานนี้เป็นงานอาสาต้องใช้ทั้งเวลา ใช้ทั้งใจ เพราะเราไม่ได้ค่าจ้างอะไรตอบแทน ดังนั้นวัยเกษียณจึงเป็นมดงานที่ตอบโจทย์ได้ดี  ที่สำคัญคือใจสมาชิกของป้าทุกคนมีจุดร่วมเดียวกันคือ อยากช่วยเหลือคนที่เดือดร้อน”

“การทำงานจะทำคนเดียวไม่ได้ป้าต้องมีทีมที่แข็งแกร่ง ป้าแดงจะทำหน้าที่บริหารทีม จัดสรรอุปกรณ์และระดมทุน นอกจากนั้นยังมีทีมหลัก ๆ อีก 3 ฝ่ายคือ ฝ่ายหน้างาน ฝ่ายโลจิสติกส์ซ่อมบำรุงและฝ่ายเชิงรุก”

ฝ่ายตั้งรับและประจำศูนย์

ธพรรธช์ณกร  สรณ์สิริฐากร อายุ 62 ปี หรือ พี่พรรธช์ อดีตพยาบาลวิชาชีพที่เกษียณแล้วรับหน้าที่เป็นฝ่ายตั้งรับประจำอยู่ที่ศูนย์ให้ยืมอุปกรณ์การแพทย์วัดบางจาก บทบาทหน้าที่ก็คือให้คำปรึกษา จัดอุปกรณ์ให้ญาติคนไข้ สอนวิธีการใช้งานอุปกรณ์ และทำความสะอาดอุปกรณ์ให้พร้อมใช้

“จุดเริ่มต้นที่สนใจทำงานอาสามาจากที่พี่เป็นพยาบาลห้องฉุกเฉินมาก่อน และทำงานร่วมกับมูลนิธิกู้ชีพด้วย ทำให้มีโอกาสคลุกคลีกับญาติผู้ป่วยที่ต้องนำผู้ป่วยกลับไปดูแลต่อที่บ้านและต้องเผชิญกับความทุกข์ใจในเรื่องของค่าใช้จ่าย และที่สำคัญตัวพี่เองก็มีแม่ที่ป่วยต้องดูแล ซึ่งต้องมีค่าใช้จ่ายเยอะมาก พี่เลยยิ่งเข้าใจเลยว่าความทุกข์ของผู้ดูแลเป็นอย่างไร

“พอเกษียณแล้ว พี่ก็ชวนป้าแดงเลยว่า มาทำศูนย์ให้ยืมอุปกรณ์การแพทย์กัน วิชาชีพเราก็มี กำลังเราก็มีถ้าหยุดอยู่แค่การเกษียณ แล้วช่วงชีวิตที่เหลือของเราจะเป็นอย่างไร สู้เอาเวลานี้มาสร้างประโยชน์ สุขภาพร่างกายเราก็จะได้แข็งแรงและได้ความภาคภูมิใจด้วย

“หลายครั้งพี่ไม่ได้ทำแค่ให้บริการยืมอุปกรณ์แต่ต้องเป็นหน่วยซัปพอร์ตให้กำลังใจญาติคนไข้ เพราะทุกคนที่มาไม่ใช่แค่ต้องการอุปกรณ์ แต่หลายครั้งเราต้องมอบกำลังใจให้เขาด้วย บางครั้งก็ต้องลงพื้นที่ไปเยี่ยมบ้านคนไข้เช่นกัน”

ทีมโลจิสติกส์ และซ่อมบำรุง

เนื่องจากอุปกรณ์ที่ได้มาเป็นอุปกรณ์มือสองที่ได้รับบริจาคมา หน้าที่สำคัญอีกหน้าที่หนึ่งคือการไปรับอุปกรณ์ และการส่งซ่อม กำลังสำคัญในส่วนนี้คือ ชัยสิทธิ์  อู่วิเชียร อายุ 62 ปี หรือช่างหนุ่ม อดีตเจ้าของธุรกิจรับเหมาก่อสร้างที่ผันตัวมาใช้ชีวิตช่วงเกษียณมาทำจิตอาสา เขาเป็นกำลังหลักในการเดินทางไปทั่วประเทศเพื่อไปรับอุปกรณ์ และนำส่งซ่อม โดยจะกระจายส่งซ่อมไปยังเครือข่ายที่มีความชำนาญเพื่อให้อุปกรณ์ที่ได้รับมามีความปลอดภัยได้มาตรฐาน พร้อมส่งต่อให้กับคนไข้

“เตียงหรืออุปกรณ์ที่ต้องมีการซ่อมแซม ส่งไปที่ ศูนย์ทดสอบฝีมือแรงงาน KTC (ประเทศไทย) เพราะที่ศูนย์มีทั้งอุปกรณ์และแรงงานที่เชี่ยวชาญด้านนี้โดยเฉพาะ ด้วยความที่พอมีความรู้เรื่องช่าง ผมก็จะสื่อสารกับทีมช่างที่ประจำที่ศูนย์ได้ว่าต้องซ่อมอย่างไร เพราะการซ่อมอุปกรณ์ต้องอาศัยคนที่เข้าใจด้วย

ส่วนรถเข็น ก็จะส่งไปซ่อมที่โรงงานไทยวีล โดยมูลนิธิคนพิการ เพราะเชี่ยวชาญและมีอะไหล่พร้อมให้บริการ สำหรับเครื่องช่วยหายใจและอุปกรณ์ไฟฟ้าจะส่งซ่อมที่วิทยาลัยวิศวกรรมชีวการแพทย์ มหาวิทลัยรังสิต เพื่อตรวจสอบคุณภาพให้ได้มาตราฐานความปลอดภัย”

“ผมเองเคยเป็นสโตรกมาก่อน เลยเข้าใจว่าการไม่มีเงินในการซื้ออุปกรณ์ดูแลผู้ป่วยมันคือความทุกข์ขนาดไหน บวกกับช่วงน้ำท่วมใหญ่ที่ปทุมธานีในปี พ.ศ. 2554 ได้มีโอกาสทดลองทำงานจิตอาสา ทำให้เข้าใจเลยว่าคนที่ต้องการความช่วยเหลือมีมาก แต่คนทำมีน้อยเพราะคนทำงานอาสาไม่สามารถทำงานได้เต็มเวลา ผมเลยตั้งใจจะทำงานอาสาตลอดทั้ง 7 วัน เพื่อเป้าหมายในการช่วยเหลือผู้ป่วยให้ได้มากที่สุด”

ทีมเชิงรุกบุกตะลุยสำรวจความช่วยเหลือที่ตกหล่น

และฝ่ายสุดท้ายที่เป็นอีกกำลังสำคัญก็คือ “ทีมเชิงรุก” โดยหน้าที่นี่มี “เฮียวิวัฒน์”  นายวิวัฒน์  ธาราธิคุณเดช อายุ 73 นักธุรกิจทำโรงงานที่นอนลมมาเป็นกำลังสำคัญ เฮียวิวัฒน์นอกจากจะลงแรงแต่ยังช่วยระดมทุนมาบริจาค และยังทำหน้าที่ที่ถนัดคือดูแลซ่อมบำรุงที่นอนลมทุกยี่ห้อ และปฏิบัติการเชิงรุกในการสำรวจผู้ที่ตกหล่นในการได้รับการช่วยเหลือ

“ผมทำโรงงานที่นอนลมมา 30 ปี เป็นที่นอนลมที่ออกแบบให้เข้ากับคนไทย ส่วนมากก็จะขายให้กับโรงพยาบาล พอช่วงใกล้เกษียณผมก็รู้สึกว่าไม่อยากทำโรงงานต่อ เพราะลูกก็มีอาชีพที่ดีและไม่สนใจรับช่วงกิจการต่อ ตอนนั้นก็ตัดสินใจว่าจะปิดโรงงาน แต่พอมีโอกาสได้รู้จักป้าแดง ได้เฝ้าดูการทำงานของป้าแดงตลอด 3 เดือนจนรู้สึกว่าองค์ความรู้เราเยอะ แรงยังมี ทำไมถึงหยุดโรงงาน เราน่าจะใช้เวลาที่เหลืออยู่ในการช่วยเหลือผู้อื่น

“หลังจากนั้น งานของผมทุกวันคือการออกไปสำรวจคนไข้ในต่างจังหวัดที่ตกหล่น รวมถึงตระเวนออกซ่อมบำรุงที่นอนลมที่ผู้ขอยืมนำไปใช้ แล้วเราพอจะมีเพื่อนในแวดวงธุรกิจเยอะ ผมก็จะช่วยป้าแดงอีกแรงในการระดมทุนจากเพื่อน ๆ ให้มาร่วมบริจาค ส่วนกำไรจากที่นอนลมที่เราขาย ผมก็เอามาหมุนเวียนในการซื้อของบริจาคเข้าศูนย์ฯ ”

ยืมฟรีตลอดชีพ หากไม่ใช้ให้นำกลับมาคืน

ป้าแดงเล่าถึงเงื่อนไขการให้ยืมว่า ที่ศูนย์ฯ มีระเบียบการให้ยืมที่ไม่ซับซ้อน เงื่อนไขการยืมคือต้องมี

1.สำเนาบัตรประชาชนของคนไข้ และคนที่มาขอยืมอุปกรณ์

2.สำเนาทะเบียนบ้านที่อุปกรณ์จะถูกนำไปใช้พร้อมรูปถ่ายที่เห็นบ้านเลขที่ เพื่อประโยชน์ในการติดตามอุปกรณ์  3.ภาพถ่ายคนไข้ทั้งตัว เพื่อประเมินเบื้องต้น

4.ใบรับรองแพทย์ล่าสุด เพื่อจ่ายอุปกรณ์ตามแพทย์สั่งเท่านั้นเพื่อไม่ให้อันตรายต่อคนไข้

“อุปกรณ์ทุกอย่างเราไม่มีค่าใช้จ่ายในการยืม บางรายถ้ารวมมูลค่าอุปกรณ์ที่ยืมไปรวมแล้วมีมูลค่าเป็นแสน เราก็ไม่คิดค่าใช้จ่าย และไม่กำหนดระยะเวลาที่จะต้องส่งคืนด้วย ให้ทุกคนยืมจนกว่าจะพอ แต่ก็จะมีการโทรเช็กตลอดเพื่อสอบถามว่าคนไข้เป็นอย่างไร ใช้อุปกรณ์เสร็จแล้วหรือไม่ เพื่อนำอุปกรณ์กลับมาให้คนอื่น ๆ ได้หมุนเวียนใช้

“ป้าทำเรื่องนี้มาหลายปี คนที่ไม่คืนมีน้อยมาก ส่วนใหญ่คนที่ยืมเขาเดือดร้อนและเข้าใจว่าความจำเป็นในการมีอุปกรณ์พวกนี้สำคัญอย่างไร ทำให้พอใช้เสร็จทุกคนก็รีบคืน เพื่อหวังว่าจะให้คนอื่นที่ต้องการได้ใช้ต่อเช่นกัน”

อุปกรณ์ทุกชิ้น มาจากการระดมทุน ไม่มีการใช้งบจากภาครัฐ 

“มีคนสงสัยว่ากลุ่มป้ามีแต่คนวัยเกษียณ สร้างศูนย์แบบที่ไม่ใช้เงินตัวเอง แถมให้ยืมฟรี ไม่คิดเงินเลยแล้วทำแบบนี้ได้อย่างไร ไปเอาอุปกรณ์มาจากไหน คำตอบคืออุปกรณ์พวกนี้มาจากแรงบุญ จากความเชื่อมั่นที่ทุกคนเห็นว่าป้าทำงานจริง ทุกบาทถึงสตางค์ถึงผู้ป่วยจริง ๆ มาตลอด 15 ปี ความไว้ใจจึงเกิดเป็นแรงศรัทธา

“ป้าได้เงินทุนจากทั้งหมด 3 กองคือ

1.กองจากการบริจาค ที่ได้มาจากผู้มีจิตศรัทธาและพันธมิตร

2. เราจำหน่ายสินค้าผ้าอ้อม อุปกรณ์การแพทย์ในราคาที่ต่ำกว่าตลาด เพราะป้าได้รับสินค้ามาในราคาพิเศษจากการร่วมบุญของโรงงานต่าง ๆ เพื่อนำกำไรหมุนเวียนกลับมาซื้ออุปกรณ์

และ 3. คือผู้ที่มายืมแม้เราจะไม่คิดค่าใช้จ่าย แต่ทุกคนล้วนอยากร่วมบุญให้โครงการนี้อยู่ได้นานก็จะหยอดตู้บริจาค ทำให้เงินทั้ง 3 ก้อน ถูกใช้เพื่อไปซื้ออุปกรณ์มาเติมให้เพียงพอต่อความต้องการ”

1 ปี ช่วยเหลือไปแล้ว 600 ครอบครัว ขยายโมเดลไปแล้ว 3 จังหวัด

“หลังจากที่เราต่อสู้กันมาเกือบ 1 ปี เราช่วยเหลือครอบครัวผู้ป่วยไปแล้วมากกว่า 600 ครอบครัว อุปกรณ์ของเราถูกยืมไปทั่วประเทศทั้ง จ.เชียงราย จ.ปัตตานี และภาคอีสาน ไม่ใช่แค่ใน จ.นนทบุรี หรือกรุงเทพฯ เท่านั้น ที่สำคัญก้าวที่ยิ่งใหญ่ของพวกเราคือ ขยายโมเดลนี้ไปอีก 3 จังหวัด คือที่วัดสีโควนาราม อ.เลิงนกทา จ.ยโสธร  จ.สุทรินทร์  และร่วมมือกับวัดทับคล้อ จ.พิจิตร

“สำหรับกลุ่มของป้าเป้าหมายสูงสุดในวันที่ยังมีลมหายใจคือจะทำให้ศูนย์ยืมอุปกรณ์การแพทย์ฟรีกระจายไปทั่วประเทศให้ได้ หรืออย่างน้อยต้องไปให้ได้ในทุกภาค เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วย”

ติดต่อขอรายละเอียดการยืมหรือบริจาคอุปกรณ์และบริจาคสมทบทุนได้ที่

วัดบางจาก อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี

0891121085 ป้าแดง

0819131669 คุณพรรธ

0818678962 เฮียวิวัฒน์

Credits

Author

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ