หลายคนเข้าใจผิดว่า “โรคอัลไซเมอร์” คืออาการของคนขี้ลืม ลืมทุกอย่างกระทั่งคนที่รักที่สุด แต่ “โรคอัลไซเมอร์” หรือ “โรคสมองเสื่อม” ส่งผลต่อผู้ป่วยมากกว่านั้น เพราะอาการของโรคอาจส่งผลโดยตรงต่อความสามารถทุกด้านของผู้ป่วย ทั้งการแสดงออก การตัดสินใจ ความสามารถเฉพาะตัว และมีพฤติกรรมการแสดงออกที่ไม่เหมาะสม หรือไม่เคยทำมาก่อน และอาการทั้งหมดที่กล่าวมานี้มากเพียงพอที่จะทำให้การใช้ชีวิต อาชีพ และสังคมของผู้ป่วยเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง
เพื่อให้เราเข้าใจ “โรคอัลไซเมอร์” มากยิ่งขึ้นว่าเป็นมากกว่าอาการหลงลืม มนุษย์ต่างวัยจึงเชิญชวนทุกท่านมาทำความเข้าใจใหม่เกี่ยวกับโรคอัลไซเมอร์ หรือโรคสมองเสื่อม กับ ผศ.พญ.สิรินทร ฉันศิริกาญจน นายกสมาคมผู้ดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อม ภาควิชาเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ โรงพยาบาลรามาธิบดี เพื่อเตรียมตัวรับมือก่อนที่พ่อแม่จะเป็นโรคนี้ หรือก่อนอาการอัลไซเมอร์จะลามไปถึงระยะสุดท้าย
คุณเข้าใจโรคสมองเสื่อมหรืออัลไซเมอร์มากแค่ไหน?
หลายคนจะเข้าใจว่าโรคสมองเสื่อมเป็นเรื่องของการลืมเท่านั้น ซึ่งก็ถูกต้อง แต่ไม่ทั้งหมด เพราะคำว่าสมองเสื่อมมันใหญ่กว่านั้นมาก การที่คนคนหนึ่งเคยทำสิ่งๆ หนึ่งได้ดี แต่วันหนึ่งเขากลับทำไม่ได้อีกแล้ว นั่นหมายความว่าคนๆ นั้นมีความสามารถที่บกพร่องลง ซึ่งความบกพร่องนี้ มีผลต่อการใช้ชีวิตแน่นอน
เดิมเขาเคยดูแลตัวเองได้ แต่วันนี้ทำไม่ได้แล้ว เพราะความเข้าใจของเขาสูญเสียไป เขาไม่สามารถวางแผนบริหารจัดการตัวเองเหมือนเดิมอีกแล้ว และนี่คืออาการในภาพกว้างของโรคสมองเสื่อมที่ผู้ป่วยต้องเผชิญ
โรคสมองเสื่อมหรืออัลไซเมอร์ เป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติในสมอง จากพื้นที่ในสมองที่ผู้ป่วยใช้รับความทรงจำใหม่สูญเสียไป เช่น ลืมว่าเมื่อวานฝนตก ลืมนัดเมื่อวาน เราเรียกมันว่าความจำระยะสั้น เมื่อจุดบันทึกความทรงจำในสมองไม่ดี มันบันทึกได้บ้าง ไม่ได้บ้าง ผู้ป่วยก็จะเอาความทรงจำนั้นออกมาใช้ไม่ได้ ทำให้คนใกล้ตัวเริ่มสงสัยแล้วว่าทำไมเรื่องนั้นจำได้เรื่องนี้จำไม่ได้
ความทรงจำค่อยๆ ถูกล้างออกไป
อาการของโรคสมองเสื่อมนั้นสามารถสังเกตได้โดยคนใกล้ตัวผู้ป่วยเลย เพราะอาการที่แสดงออกนั้นจะมีรูปแบบของมัน เริ่มต้นจาก เขาจะลืมเรื่องราวที่เกิดขึ้นในระยะเวลาสั้นๆ 1 วัน จนกระทั่ง 2-3 สัปดาห์ แต่เขาจะมีความทรงจำเก่าที่ดีมาก เช่น เพื่อนเก่าที่รู้จักกันมานานมากกว่า 30 ปี ย้ายบ้านไปนานแล้ว แต่วันนี้ผ่านมาเจอกันพอดี โอ้ย… ดีใจมาก คุยกันใหญ่เลย จำได้หมดว่านิสัยเป็นอย่างไร มีลูกกี่คน คือจำความจำเก่าได้ดี แต่ลืมความจำใหม่ ซึ่งนี่คืออาการคลาสสิกเลย และจะรวมถึงการลืมสิ่งที่เป็นทักษะระดับสูง เช่น การทำบัญชี และการบริหารจัดการกับปัญหาไปด้วย ต่อมาการลืมจะเริ่มชิดติดตัวขึ้นเรื่อยๆ อาการกินแล้วบอกไม่ได้กิน เพิ่งกลับมาแล้วบอกยังไม่ได้ไป อาการจะเริ่มหนักขึ้น ซึ่งอาการแบบนี้ไม่มีผู้สูงวัยดีๆ ที่ไหนเป็นกัน ถ้ามีอาการนี้ฟันธงได้ 99 เปอร์เซ็นต์เลยว่ามีอาการของโรคสมองเสื่อม หรืออัลไซเมอร์แน่นอน ซึ่งระยะนี้จะเริ่มมีผลต่อการใช้ชีวิตกับผู้ป่วยและคนใกล้ตัวมาก
สุดท้ายหลายอย่างที่เขาเคยทำได้ เขาจะไม่สามารถทำมันได้อีก ความสามารถในการบริหารจัดการมันหายไป การกิน การอาบน้ำ การใส่เสื้อผ้า ทักษะเหล่านี้จะค่อยๆ หลุดออกไปเป็นชิ้นๆ แล้วเขาจะไม่สามารถดูแลตัวเองได้อีกเลย เศร้าที่สุด คือเขาลืมคนใกล้ตัวไป เราเป็นอะไรกันเขาจะจำไม่ได้ และสุดท้ายเลย คือเขาจะไม่รู้จักเราอีกเลย
อาการแบบนี้อาจทำให้ลูกหลานไม่เข้าใจ ปัจจุบันมีคนไข้น้อยมากที่มาหาหมอด้วยตัวเอง ส่วนใหญ่คนที่พามาคือลูกหลาน ถ้าลึกลงไปอีก ส่วนมากจะเป็นหลานพามา เพราะคุณปู่คุณย่าจะเป็นคนเลี้ยงหลานมาเองตัวติดกันตลอด หลานก็จะบอกหมอว่า… คุณย่าไม่เหมือนเดิมแล้ว แบบนี้ไม่ใช่แล้ว และปัญหาความไม่เข้าใจกันในครอบครัวจะเกิดขึ้น เขาจะเริ่มทำตัวไม่เหมาะสม เช่น ไปงานบุญงานศพก็แต่งตัวไม่เหมาะสม ไม่ใช่ว่าอยากโดดเด่น หรืออยากดังนะ แต่มันคือการที่เขาไม่สามารถบริหารจัดการความคิดอะไรในตัวเองได้เลย บางคนมีอาการโวยวาย แสดงท่าทีไม่เหมาะสม จนกระทบกับอาชีพและสังคมไปโดยไม่รู้ตัว
ในเรื่องของการตัดสินใจ เขาจะไม่สามารถทำได้ด้วยตัวเอง เพราะการตัดสินใจเกี่ยวข้องกับความทรงจำรวมถึงความเข้าใจและจิตใต้สำนึก พอเขาสูญเสียสิ่งเหล่านี้ไป เขาจึงไม่สามารถตัดสินใจได้ว่าจะเลือก หรือไม่เลือกอะไร จะมีอาการหลงทิศหลงทางประกอบด้วย เช่น บ้านอยู่ตรงนี้ออกไปตัดผมร้านเดิมที่เคยไปมาตลอด 50 ปี วันนี้กลับจำทางกลับเดิมไม่ได้แล้ว ซึ่งเป็นอันตรายกับผู้ป่วยมาก
โรคอัลไซเมอร์ ต้องดูแลด้วยความเข้าใจจากคนใกล้ตัว
เมื่อในบ้านเรามีใครคนใดคนหนึ่งเป็นโรคนี้แล้ว หมออยากฝากไว้ว่าอย่าทิ้งเขา หรือปล่อยมือเขาไประหว่างการรักษาเด็ดขาด เพราะนั้นจะกลายเป็นฝันร้ายของผู้ป่วยทันที เพราะความทรงจำที่มีค่อยๆ ถูกล้างออกไปเรื่อยๆ เขาจะไม่สามารถดูแลตัวเองได้เลย ทำอะไรก็ต้องพึ่งคนอื่นทั้งหมด ฉะนั้นคนใกล้ตัวจึงต้องเสียสละเวลาไปกับการดูแลผู้ป่วยโรคนี้เป็นอย่างมาก หมอเองเจอคนไข้ไม่ถึงชั่วโมง ให้ยาเพื่อไปบรรเทาอาการเล็กๆ น้อยๆ เท่านั้น
ซึ่งเปรียบเหมือนการใส่ปุ๋ยให้กับต้นไม้ แต่คนที่ดูแลเขาจริงๆ คือลูกหรือคนใกล้ตัว ที่จะรดน้ำ พรวนดิน เพิ่มแสงแดด เขาจะได้กิน ได้อยู่ ได้ใช้ชีวิตอย่างดีและปลอดภัยในทุกๆ วันได้ ก็เพราะคนใกล้ตัวช่วยดูแลทั้งนั้น หมอเข้าใจนะ ลูกที่โกรธหรือไม่เข้าใจพ่อแม่ที่เป็นโรคนี้ นั่นเพราะเรากลัวที่จะสูญเสียเขาไป ไม่อยากให้พ่อแม่ผิดปกติหรือเป็นอะไรไป แต่เราต้องยอมรับให้ได้ว่าทุกคนล้วนมีโอกาสเป็นโรคนี้ได้ ยิ่งเป็นผู้สูงวัยอายุด้วยแล้วโรคนี้ใกล้ตัวมาก คนไข้ที่มาหาหมอด้วยโรคนี้มีทุกระดับ ทุกชนชั้น
โรคมันไม่แบ่งแยกฐานะหรือความดีเลว ฉะนั้นถ้ามันเกิดขึ้นกับคนที่เรารัก ก็อย่าเสียใจหรือโกรธใครเลย ทางที่ดีที่สุดที่ทำได้ คืออยู่ดูแลเขาด้วยความเข้าใจ เขาจะกลายเป็นเด็กเล็กๆ ที่กำลังเดินเป็น เขาจะเดินไปเรื่อยๆ ด้วยความไม่กลัว เรามีหน้าที่ดูแลเขาให้เขาปลอดภัยที่สุด เท่าที่เราจะทำได้