ถอดบทเรียนจาก “ศูนย์การออกแบบและสร้างสรรค์โกเบ” กับการออกแบบกิจกรรมที่อยากให้ผู้สูงอายุตื่นเต้นและอยากทำอะไรใหม่ ๆ

มนุษย์ต่างวัยชวนฟังประสบการณ์ในการเปลี่ยน Mindset ของคนในสังคม สร้างสรรค์พื้นที่และให้ความหมายใหม่ของชีวิตหลังเกษียณด้วยไอเดียครีเอทีฟในการจัดกิจกรรมเพื่อขับเคลื่อนความคิดของผู้คนในสังคม จาก Mr. Hirokazu Nagata Executive Director of DESIGN AND CREATIVE CENTER KOBE (KIITO) หรือ ศูนย์การออกแบบและสร้างสรรค์โกเบประเทศญี่ปุ่น ที่ได้ให้เกียรติมาร่วมแบ่งปันเรื่องราวดี ๆ บนเวที Main Stage ในหัวข้อ “Aging with Attitude: A lesson learned from Kobe” ที่จัดขึ้น ณ ห้อง Grand Hall ชั้น 3 True Digital Park (West) เมื่อวันเสาร์ที่ 18 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ในงานมนุษย์ต่างวัย Talk 2023 “Out of the Box Aging”

“ผมเรียนจบมาทางด้านสถาปัตยกรรม ทำงานออกแบบสิ่งของต่าง ๆ  ผมพอมีความรู้เรื่องการออกแบบเมืองอยู่บ้าง และมีโอกาสได้มาทำงานที่เกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อนชุมชน ซึ่งก็คืองานที่ KIITO แห่งนี้ 

“KIITO ตั้งอยู่ในอาคารที่มีอายุกว่า 100 ปี ของเมืองโกเบ ชื่อ KIITO เป็นภาษาญี่ปุ่น แปลว่าเส้นไหมดิบ เนื่องจากเดิมทีที่นี่เป็นศูนย์คัดแยกเส้นไหมซึ่งยังมีอุปกรณ์ต่าง ๆ จัดแสดงไว้ให้ชมอยู่ ตัวอาคารมีพื้นที่ใช้สอยประมาณ 10,000 ตารางเมตร มี 4 ชั้น ประกอบด้วยห้องสำหรับจัดงาน ห้องประชุม คาเฟ และพื้นที่ทำงานของนักออกแบบ

“ในปี 2010 ทาง UNESCO ได้กำหนดให้เมืองโกเบเป็นเมืองแห่งการสร้างสรรค์และการออกแบบ ซึ่งโกเบเป็นหนึ่งใน 45 เมืองทั่วโลกที่อยู่ในเมืองที่เป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์

โดยมีเป้าหมายที่จะสร้างเมืองให้เป็นเมืองสร้างสรรค์สำหรับทุกคน และมีแผนในการจัดกิจกรรมต่าง ๆ สำหรับเด็กเล็กไปจนถึงผู้สูงอายุ 

“จุดเริ่มต้นของการจัดกิจกรรมต่าง ๆ เกิดจากการมองเห็นปัญหาที่อยู่ในพื้นที่ เช่น การขยายตัวของสังคมสูงวัย เราได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานต่าง ๆ เข้ามาช่วยในการจัดกิจกรรมให้มีความน่าสนใจ และดึงดูดผู้คนให้เข้าร่วม เพราะเมื่อกิจกรรมน่าสนใจ ก็จะทำให้คนภายนอกที่มองเข้ามาตื่นเต้นและอยากเข้าร่วมกิจกรรม  

“โครงสร้างของกิจกรรมถูกคิดจากประเด็นปัญหาสังคมผนวกกับความคิดสร้างสรรค์ และที่สำคัญคือให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้มีส่วนร่วมในการออกแบบว่าเขาอยากได้เมืองแบบไหน”

“ในปี 2022 จากจำนวนประชากร 125 ล้านคนในประเทศญี่ปุ่น มีประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไป มากถึง 1 ใน 3 หรือประมาณ 36 ล้านคน และในอีก 50 ปีข้างหน้า จำนวนประชากรที่เป็นผู้สูงอายุจะเพิ่มขึ้นถึง 38.7% ซึ่งเท่ากับในประชากร 2.6 คน จะมีผู้สูงอายุ 1 คน ทำให้ญี่ปุ่นมีจำนวนประชากรสูงอายุค่อนข้างสูงมาก  

“สังคมญี่ปุ่นมักจะมีปัญหาเรื่องผู้สูงอายุที่เป็นผู้ชาย เนื่องจากโครงสร้างการทำงานของผู้ชายญี่ปุ่น เมื่อไปอยู่ในสังคมบริษัทนาน ๆ ทำให้เขาไม่มีความรู้สึกเชื่อมโยงหรือเกี่ยวข้องกับสังคมที่บ้าน พอเกษียณอายุแล้วทำให้เขาไม่รู้ว่าจะเอาตัวเองไปอยู่ตรงไหนในพื้นที่บ้านหรือพื้นที่ชุมชน ดังนั้น พวกเขาจึงมักจะใช้เวลาไปกับการดูทีวีและการออกกำลังกาย แต่ผลปรากฎว่า แม้ผู้สูงอายุจะมีร่างกายแข็งแรงขึ้น แต่หัวใจกลับไม่ได้แข็งแรงตาม นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นและแรงบันดาลใจให้ทาง KIITO จัดกิจกรรมขึ้น โดยเริ่มจากการฝึกทำอาหารมื้อเย็นให้ตัวเอง เพื่อให้ร่างกายได้รับสารอาหารที่สมดุล แต่ปัญหา คือ เราได้อาหารที่ดี มีประโยชน์ แต่ก็ไม่ได้ทำให้คนที่เข้าร่วมกิจกรรมรู้สึกภาคภูมิใจหรือมีความสุขเลย 

“เรื่องนี้ทำให้ทาง KIITO ต้องมาคิดว่าจะทำเมนูอะไรที่ทำให้ผู้สูงอายุรู้สึกว่าทำอาหารแล้วได้สร้างความสุขให้ทุกคนด้วย จึงเกิดโพรเจกต์ที่เรียกว่า “Pan-Jii” หรือ “คุณลุงขนมปัง” ขึ้น เนื่องจากโกเบเป็นเมืองแห่งขนมปัง มีความเชี่ยวชาญในการทำขนมปังมาก ซึ่งถือเป็นจุดแข็งของเมือง โพรเจกต์นี้เกิดขึ้นเพื่อให้การทำขนมปังเป็นการสร้างความสุขให้กับทุกคน มีผู้สูงอายุมาเข้าร่วมกิจกรรมเป็นจำนวนมาก และทุกคนตั้งใจมาก ๆ คุณลุงวัย 87 ก็มาเข้าร่วมกิจกรรมนอกจากทำเมนูธรรมดาทั่วไปเเล้ว ก็ยังมีการคิดเมนูพิเศษเพิ่มด้วย”

“โครงการ Pan-Jii ของโกเบได้รับความนิยมและมีชื่อเสียงมากขึ้นเรื่อย ๆ จนมีการขยายโครงการไปทั่วประเทศ เช่น ในห้องสมุดเมืองทาเคโอะ เกาะคิวชู, ศูนย์ชุมชนเมืองฮิโรชิมา โดยคุณลุงจะมาอบขนมปังขายเดือนละครั้ง และจะได้เงินพาร์ตไทม์เป็นค่าตอบแทน โดยกิจกรรมนี้จัดต่อเนื่องมาถึง 5 ครั้งแล้ว 

“ไม่ใช่แค่คลาสเรียนทำขนมปังเท่านั้น เรายังเปิดร้านทำขนมปังหน้าห้างไดมารุ โดยคุณลุงจะมีหน้าที่ทำขนมปัง และมีเด็ก ๆ คอยรับออเดอร์ เสิร์ฟอาหาร ทำให้คุณลุงมีความภาคภูมิใจที่ได้เห็นคนชื่นชอบขนมปังที่ตัวเองทำ กิจกรรมนี้ได้รับความสนใจมาก ทำให้มีการจัดกิจกรรมต่อเนื่องมาโดยตลอด โดยร่วมมือกับศูนย์ชุมชนในการเปิดร้านคาเฟทุกอาทิตย์ 

จากคลาสขนมปังธรรมดาเริ่มขยายไปสู่กิจกรรมต่าง ๆ ในชุมชน มีการออกร้านมากขึ้นเรื่อย ๆ ดึงดูดผู้คนเข้ามามากมาย ทำให้คุณลุงรู้สึกมีความสุขและมีสุขภาพที่ดีขึ้น นอกจากการทำขนมปัง เริ่มมีเมนูอื่น ๆ ตามมา เช่น แกงกะหรี่ กาแฟ และขนมมาเดอลีนที่มีรูปร่างคล้าย ๆ ขนมไข่

“ทาง KIITO อยากสร้างสรรค์กิจกรรมใหม่ ๆ ขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อทำให้ผู้สูงอายุตื่นเต้นและอยากทำอะไรใหม่ ๆ เราหยุดจัดกิจกรรมไปพักหนึ่งในช่วงโควิด พอเปิดเมืองมา เราก็พยายามจัดกิจกรรมต่าง ๆ อยู่เรื่อย ๆ ตอนนี้กิจกรรม Pan-Jii ได้รับผลตอบรับที่ดีมากจนผู้สูงอายุต้องรอคิวในการเข้าร่วมกิจกรรม ซึ่งกิจกรรมนี้ไม่ได้จำกัดให้เฉพาะคนญี่ปุ่น เราได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยในโกเบจัดกิจกรรมร่วมกับนักศึกษาต่างชาติด้วย ตอนนี้กิจกรรมของเราขยายออกไปตามเมืองต่าง ๆ ทั้งโอซากา โยโกฮามา และฟุกุอิ”

“เมื่อมีการจัดกิจกรรมให้กับผู้สูงอายุที่เป็นผู้ชายแล้ว เราก็กลัวว่าผู้สูงอายุที่เป็นผู้หญิงจะน้อยใจ จึงจัดกิจกรรมสอนตัดเย็บเสื้อผ้าขึ้น ซึ่งไม่ได้ตั้งต้นจากของใหม่ แต่ประยุกต์จากการนำผ้ากิโมโนเก่า หรือชุดที่ไม่ได้ใส่แล้วนำมาตัดเป็นชุดเดรสและของใช้ต่าง ๆ รวมทั้งมีการจัดแสดงแฟชั่นโชว์ด้วย 

“พอทำไปได้สักประมาณ 2 ปี เราก็อยากต่อยอดกิจกรรมเพื่อสร้างความภูมิใจให้ผู้สูงอายุได้มากขึ้น เลยขยายเป็นเวิร์กช็อปให้ผู้สูงอายุได้ร่วมตัดเย็บเสื้อผ้ากับเด็ก ๆ รวมทั้งร่วมกับร้านค้าต่าง ๆ สร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ขึ้นมา และมีการจัดแฟชั่นโชว์ร่วมกับเด็ก ๆ ด้วย พอผู้สูงอายุได้ทำกิจกรรมร่วมกับเด็ก ๆ ก็มีความสดใสมากขึ้น

“ผู้สูงอายุและเด็ก ๆ ที่มาร่วมกิจกรรมมีความสุขกันมาก จากการอยู่บ้านดูทีวี ไม่ได้ออกไปไหน พอได้มาทำกิจกรรมแบบนี้ทุกคนดีใจกันมาก และขอบคุณที่เราจัดกิจกรรมนี้ขึ้น ทำให้เราเห็นว่าการทำขนมปังไม่ใช่แค่การทำขนมปังธรรมดา ๆ อีกต่อไป แต่เป็นการแลกเปลี่ยน สร้างความเชื่อมโยงและสายสัมพันธ์กับคนเจเนอเรชันอื่น เป็นการเติมเต็มจิตใจให้ผู้สูงอายุ

“จากผลตอบรับของการจัดกิจกรรมที่เกิดขึ้น ทำให้ผมหวังว่าในอนาคตจะมีการขยายผลไปยังชุมชนต่าง ๆ นอกจากเมืองโกเบ ซึ่งถ้าได้ขยายผลออกไปต่างประเทศด้วย ผมก็คงจะมีความสุขมาก ๆ โดยเฉพาะถ้ามี Pan-Jii เกิดขึ้นในกรุงเทพฯ และถ้าได้ร่วมกับเมืองไทยในการสร้างเมืองและพื้นที่สร้างสรรค์แบบนี้ให้เกิดขึ้นร่วมกันได้ ก็คงจะดีไม่น้อย”

สนับสนุนโดย : TheJapanFoundation,Bangkok

Credits

Author

  • มนุษย์ต่างวัย

    Authorพื้นที่ถ่ายทอดเรื่องราวของสังคมสูงวัยในมุมที่สนุก สร้างสรรค์ และเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนทุกวัย

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ