เมื่อวันอาทิตย์ที่ 22 ต.ค. ที่ผ่านมา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับมนุษย์ต่างวัย ชวนคนวัย 50+ ที่อยากลองเปลี่ยนความชอบ ความถนัดให้กลายเป็นแหล่งรายได้ในวัยเกษียณ มาร่วมถอดสูตรการทำธุรกิจให้รอดในยุคที่โลกหมุนไวจนอาจไล่ตามไม่ทัน ผ่านเรื่องราวและประสบการณ์ของเหล่าผู้ประกอบการตัวจริง พร้อมค้นหาความหมายของชีวิต ซีซัน 2 ในแบบของตัวเอง ผ่านกิจกรรม “ชีวิต ซีซัน 2” ครั้งที่ 3 กับวิชา Senior Entrepreneur 101 ถอดสูตรการทำธุรกิจยุคนี้ให้รอด ฉบับเถ้าแก่อายุ(ไม่)น้อย
โดยวิทยากรครั้งนี้ คือ คุณต่อ ธนพงศ์ วงศ์ชินศรี เจ้าของแบรนด์ Penguin Eat Shabu และเจ้าของเพจ Torpenguin ที่มียอดผู้ติดตามกว่า 460,000 คน ที่มาถ่ายทอดประสบการณ์และความรู้ในการสร้างแบรนด์ผ่านการทำการตลาดในโลกออนไลน์ให้ประสบความสำเร็จ รวมทั้งการสร้างคอมมูนิตี้ใหม่ ๆ และสายสัมพันธ์กับคนในวงการธุรกิจให้แข็งแรง เปลี่ยนคู่แข่งเป็นเพื่อนร่วมอาชีพ ร่วมสนับสนุน แบ่งปันดูแลกันให้ทั้งชีวิตและธุรกิจเติบโต
รวมทั้งการแชร์ประสบการณ์สุดพิเศษแบบจริงจังและจริงใจจากเจ้าของธุรกิจรุ่นใหญ่ ที่ทำสิ่งที่ชอบให้ใช่ เพื่อสร้างรายได้และความสุขให้ชีวิตจาก “ปาป้าเชา” คุณชวลิต จริตธรรม วัย 66 ปี เจ้าของร้าน PAPA Chao Café อดีตผู้บริหารบริษัทที่ผันตัวมาทำร้านกาแฟ เพื่อดูแลความฝันและครอบครัว และ “คุณหมู” อนุสรณ์ เสนีย์ประกรณ์ไกร วัย 57 ปี เจ้าของร้าน Laluka Pizza อดีตนักออกแบบตกแต่งภายในที่กลายเป็นเจ้าของร้านพิซซ่าโฮมเมดที่ทำเอง ขายเอง ดูแลเองด้วยหัวใจในทุกขั้นตอน
มนุษย์ต่างวัย เชื่อว่า หลังจบคลาสนี้ไป เพื่อน ๆ หลายคนคงได้ทั้งข้อมูลในการเริ่มต้นธุรกิจแบบอินไซด์ และแรงบันดาลใจในการไปต่อยอดสร้างสรรค์ชีวิต ซีซัน 2 ของตัวเองกันอย่างเต็มที่ รวมทั้งอาจได้มิตรภาพใหม่ ๆ จากเพื่อนวัยเดียวกันกลับบ้านไปด้วย บรรยากาศในงานจะอบอุ่นและน่าประทับใจแค่ไหน ชวนไปชมกันครับ
ธนพงศ์ วงศ์ชินศรี (ต่อ) เจ้าของแบรนด์ Penguin Eat Shabu และเจ้าของเพจ Torpenguin
“เมื่อไหร่ที่เราก้าวเข้ามาเป็นเจ้าของธุรกิจแล้ว เราลาออกจากการเป็นตัวเราเองไม่ได้ เราต้องนำเสนอจุดยืนตัวตนของตัวเองออกมา ทำทุกอย่างให้ออกมาจากใจของเรา และเล่าอย่างซื่อสัตย์ออกไปหาลูกค้า”
การเป็นตัวเอง เริ่มจากสิ่งที่ตัวเองชอบ เป็นหัวใจสำคัญของการทำธุรกิจที่คุณต่อฝากและเน้นย้ำไว้สำหรับคนมีฝันที่กำลังตามหาและออกแบบชีวิตในเฟสถัดไปของตัวเอง
วันนี้ มนุษย์ต่างวัยถอดบทเรียน 9 ข้อสำคัญในวิชา Senior Entrepreneur 101 ที่คุณต่อสรุปไว้ให้คนที่อยากเริ่มต้นธุรกิจเข้าใจได้ง่าย ดังนี้
1. ถ้าทำสินค้าดีกว่าคู่แข่งไม่ได้ ก็ต้องทำให้แตกต่าง
เมื่อไรที่สินค้าไม่แตกต่าง ลูกค้าจะเลือกที่แบรนด์ ของบางอย่างเราไม่ต้องขายคนทุกคน เราแค่ดูว่ากลุ่มลูกค้าของเราคือใคร แล้วทำให้เหมาะกับกลุ่มลูกค้าที่เราจะขาย
2. ขายสิ่งที่ลูกค้าต้องการ ไม่ใช่สิ่งที่เราอยากขาย
ต่อยอดไอเดียสินค้าจาก Pain Point หาให้เจอว่าลูกค้าแต่ละกลุ่มมีความเจ็บปวดยังไง แล้วถ้าเรายื่นยาให้เขา เขาก็จะยอมจ่าย แต่ถ้าเราคิดจาก Gain Point ลูกค้าจะยอมจ่ายมากกว่า คือ ไม่ได้คิดจากปัญหาของลูกค้า แต่คิดจากการที่ลูกค้าได้รับบริการสิ่งนี้แล้วชีวิตจะดีขึ้น เหมือนที่เรายอมจ่ายค่าวิตามินแพงกว่าค่ายา
3. เดินไปหาลูกค้า ไม่ใช่ให้ลูกค้าเดินมาหาเรา
ปัจจุบันลูกค้าไม่มีขาเขายังอยู่ได้ แต่ถ้าไม่มีนิ้วเขาจะอยู่ไม่ได้ทันที ฉะนั้น อย่าให้ลูกค้าเดินมาหาเรา ถ้าเรามั่นใจว่าเรามีดี เราต้องตะโกนออกไปผ่านการเล่าเรื่อง โดยเลือกเเพลตฟอร์มที่ลูกค้าเราคุ้นเคย เพราะเราไม่ต้องการให้เขามาบ้านเรา แต่เราต้องการไปอยู่บ้านเขา ต้องทำการตลาดให้เหมาะกับแพลตฟอร์ม เช่น ทุกวันนี้เราเปลี่ยนการถ่ายภาพ ถ่ายวิดีโอเป็นแนวตั้ง เพื่อให้เหมาะกับเเพลตฟอร์ม และกินสายตาของลูกค้าทั้งหมด
เวลาดูคอนเทนต์ อย่าดูเพื่อความบันเทิงเท่านั้น ให้ศึกษาเรื่องการทำตลาดให้เหมาะกับแพลตฟอร์มนั้น ๆ ด้วย ถึงแม้เรื่องออนไลน์อาจจะดูยาก แต่ไม่ใช่ข้ออ้างที่จะไม่ทำ เพราะเราเป็นคนเลือกที่จะมาทำธุรกิจเอง
4. รู้ลึกในบางเรื่อง รู้กว้างในทุกเรื่อง
ทุกวันนี้โลกมันเปลี่ยนแปลงไปเร็วกว่าที่เราคิด ความรู้ หรือทักษะที่เรามีในอดีต นำมาใช้ในวันนี้ไม่ได้อีกต่อไป เราต้องเข้าใจว่าการผลิตสินค้ากับการทำธุรกิจขายสินค้าไม่เหมือนกัน การที่เราทำสินค้าเก่ง ไม่ได้หมายความว่าเราจะทำธุรกิจเก่งด้วย เราอาจจะรู้ลึก รู้จริงเรื่องสินค้า แต่มีอีกหลายเรื่องที่เราไม่รู้ ทั้งเรื่องบัญชี การตลาด การขนส่ง การวางบิล การสร้างแบรนด์ และเรื่องอื่น ๆ อีกมากมาย แต่บางคนรู้ทุกเรื่อง เก่งทุกอย่าง แต่ไม่เก่งในเรื่องสินค้า ดังนั้น เราจึงจำเป็นต้องรู้กว้างในทุกเรื่อง และรู้ให้ลึกในบางเรื่อง เพื่อการทำธุรกิจให้ประสบความสำเร็จและเป็นผู้ประกอบการที่ปรับตัวได้ในทุกสถานการณ์ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เราไม่ได้มีติดตัวมาตั้งแต่เกิด แต่เราสามารถฝึกฝนได้
5. เข้าใจภาพรวมธุรกิจ มากกว่าแค่ตัวสินค้า
การทำธุรกิจต้องมี Business Model เราต้องทำการบ้านก่อนว่าเรามีต้นทุนเท่าไร มีค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง ประเมินความเสี่ยง คิดถึงวันที่ขายไม่ได้ แต่รายจ่ายยังอยู่เท่าเดิมด้วย เช่น ค่าจ้างพนักงาน ค่าน้ำ ค่าไฟ งบทำการตลาด การตัดราคาจากคู่แข่ง และปัจจัยอื่น ๆ ที่เราควบคุมไม่ได้ อย่างลมฟ้าอากาศ หรือการขาดงาน การลาออกของพนักงานด้วย ต้องคำนวณให้ได้ว่าเรามีรายได้เท่าไร มีค่าใช้จ่ายเท่าไร หักค่าใช้จ่ายแล้วจะเหลือเท่าไร อย่าปล่อยให้ธุรกิจเราขายดี แต่เจ๊ง เพราะประเมินความเสี่ยงไม่รอบด้าน
6. รู้โครงสร้างต้นทุนธุรกิจ เหมือนรู้สุขภาพตัวเราเอง
ทุกธุรกิจมีต้นทุนที่ไม่เหมือนกัน อย่างต้นทุนธุรกิจร้านอาหาร มีต้นทุนวัตถุดิบเป็นต้นทุนที่สูงที่สุด ต่อมาก็มีต้นทุนพนักงาน ต้นทุนค่าเช่ารวมทั้งเรื่องภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ต้นทุนสาธารณูปโภค ค่าน้ำค่าไฟต่าง ๆ ต้นทุนค่าส่วนกลาง เช่น ค่าขนส่ง ค่าที่ปรึกษาบัญชี ซึ่งเป็นต้นทุนที่ไม่เกี่ยวกับหน้าร้าน ต้นทุนการตลาด และค่าใช่จ่ายอื่น ๆ อย่างค่าซ่อมเเซมอุปกรณ์ ถ้าเราทำออนไลน์ก็จะมีต้นทุนเดลิเวอรีด้วย
เวลาที่เราประเมินเรื่องผลกำไร เราควรจะทำให้ได้อยู่ที่ประมาณ 15-20% ก่อนหักค่าเสื่อมและภาษี ควรทำบัญชีแยกเป็นหมวดหมู่ให้ชัดเจน รวบรวมต้นทุนทุกอย่างเป็นหมวดหมู่ แล้วหารด้วยยอดขาย เหมือนการตรวจเช็กสุขภาพร่างกายว่าค่าเลือดเท่าไร ค่าเบาหวานเท่าไร ก็ประเมินจากค่ามาตรฐาน เราถึงจะรู้ว่ามันสูงหรือต่ำ ดีหรือไม่ดี การทำธุรกิจก็เหมือนกัน ทุกต้นทุนจะมีค่ามาตรฐานของมัน เราต้องรู้ให้ได้ว่าธุรกิจของเราต้นทุนค่ามาตรฐานอยู่ที่เท่าไร เวลาที่เกิดปัญหา เราจะได้รู้และโฟกัสได้ถูกว่าจะต้องแก้จากต้นทุนส่วนไหน
7. อย่าเจ๊ง เพราะตั้งราคาผิด
การทำธุรกิจมีวิธีการตั้งราคาอยู่ 3 แบบ แบบแรก คือ ตั้งจากต้นทุนที่มี แบบที่สอง ดูจากสภาพการแข่งขัน ดูว่าคนอื่นตั้งราคาเท่าไร แต่ต้องเป็นเหตุเป็นผล แบบที่สาม คือ การตั้งราคาจากคุณค่าที่เราให้ลูกค้า และลูกค้าให้ค่าเรากลับมา
การตั้งราคาจากต้นทุน ต้องมองเผื่อไว้ด้วยว่าเราจะตั้งราคานี้นานเท่าไร และโอกาสที่ราคาจะสูงขึ้นอยู่ที่เท่าไร เพราะค่าวัตถุดิบมีการปรับเพิ่มลดได้ตลอด โดยเผื่อเหลือเผื่อขาดไว้ที่ 10% ส่วนการตั้งราคาจากสภาพการแข่งขัน เราต้องสำรวจตลาด หรือคู่แข่งก่อนว่าเขาขายเท่าไร จากนั้นก็มาคำนวณราคาขายโดยให้ต้นทุนวัตถุดิบไม่เกิน 30% ส่วนการตั้งราคาจากคุณค่า คือ การสร้างจุดขายที่แตกต่างในแบบของตัวเอง เล่าเรื่องให้ลูกค้าเห็นว่าเรามีดีกว่าคนอื่นอย่างไร ถ้าเราทำได้ เราจะหลุดออกจากกับดักราคาทั้งหมด
8. การตลาดต้องใส่ใจ มากกว่าใส่เงิน
ถ้าเรามีงบทำการตลาดน้อย อย่าสู้ด้วยเงินเด็ดขาด ให้สู้ด้วยใจ ถ้าเราทำการตลาดด้วยเงิน เราต้องคอยใส่เงินอยู่ตลอด แต่ถ้าเราทำการตลาดด้วยใจ เราทำได้เรื่อย ๆ แม้เราจะขายของเหมือนคู่แข่ง แต่ถ้าเราจำชื่อลูกค้าได้ ใส่ใจรายละเอียดของลูกค้า ลูกค้าเข้ามานั่งที่ร้านยังไม่รู้จะสั่งอะไร เราก็เสิร์ฟน้ำให้ ลูกค้าจะรักเราแน่นอน บางครั้งลูกค้าไม่ได้ซื้อของที่ดีที่สุด แต่เขาซื้อของที่ทำให้เขารู้สึกดีที่สุด
9. ถ้าไปคนเดียวมันเหนื่อย ก็ให้หาเพื่อนไปด้วยกัน
การเริ่มต้นธุรกิจอาจเป็นเรื่องที่เหนื่อยและเสี่ยง เราคือปลาตัวเล็กว่ายทวนน้ำยังไงก็เหนื่อย เราต้องรวมปลาตัวเล็กให้กลายเป็นปลาฝูงใหญ่ เปลี่ยนคู่แข่งให้กลายเป็นเครือข่าย ให้ทุกคนรักกัน ช่วยเหลือกัน ไม่ฟาดฟันราคากัน สร้างมิตรภาพให้เกิดขึ้น
พัชราภรณ์ ตู้วชิรกุล (แพท) 52 ปี กรรมการผู้จัดการบริษัทเอกชน อาจารย์พิเศษ และวิทยากรอิสระ
“เราเป็นนายตัวเองมา 10 ปีแล้ว ตอนนี้อยู่ระหว่างการออกแบบชีวิตเฟสถัดไป การอยู่ในคอมฟอร์ตโซนนาน ๆ เราจะอิ่มตัว ประกอบกับเราชอบทำอาหาร อยากมาฟังประสบการณ์จริงจากตัวจริง เลยสมัครมาเข้าร่วมกิจกรรมนี้
“เราประทับใจที่คนที่มาแชร์ประสบการณ์อย่างคุณหมู คุณเชา เราว่าเขาจริงใจ เขาแชร์เรื่องจริง ๆ ให้เราฟัง ทำให้เราได้ย้อนกลับมาคิดว่า เราชอบอะไร และจะไปไกลแค่ไหน จริง ๆ แล้วเราชอบทำคลิป ชอบรีวิวอุปกรณ์ที่เราใช้ หรือเราอยากทำอาหารให้คนได้ชิม เราจะได้ทบทวนและปรับใช้ให้เข้ากับความชอบ ความพร้อมของตัวเอง โดยที่เราไม่ต้องไปลองผิดลองถูก แต่ฟังจากประสบการณ์ของเขาแล้วเราก็ตัดสินใจได้เลย
“เราชอบประโยคที่ว่า “เราไม่จำเป็นต้องเป็นทุกอย่างให้กับทุกคน แต่จงเป็นบางอย่างให้กับบางคน” เพราะเราเชื่อในเรื่องของการโฟกัส หรือมุ่งเน้นไปในบางสิ่ง อีกประโยคหนึ่ง คือ “อย่าให้คนมาหาเรา ให้เราไปหาคน” เพราะเราเติบโตมากับการทำเพจเฟซบุ๊ก แต่ยุคนี้เราต้องเริ่มไปทำตลาดในติ๊กตอก เราก็ต้องมาดูว่าจะไปทำในรูปแบบไหน จะให้มานั่งพูดเป็นวิทยากรเราก็ไม่ค่อยชอบ เราชอบทำคลิปทำอาหารมากกว่า
“ชีวิตเฟสถัดไปของเรา เราอยากทำกิจกรรมที่เรามีแพสชัน มีความสุข ความสบายใจ ถ้ามันสร้างรายได้ด้วย ก็ถือเป็นกำไรชีวิต เราให้คุณค่าในเรื่องของความสุข ความสมดุล และความยั่งยืนมากกว่าเรื่องของวัตถุ แต่เราก็ต้องอยู่ได้ด้วยและมีความสุขด้วย”
ทันต์ธนัท คงชาญศิริ (ทีเค) 51 ปี ผู้เชี่ยวชาญด้านนวัตกรรมบรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม
“แนวคิดที่ประทับใจในวันนี้มี 3 อย่าง อย่างแรก คือ ได้รู้พื้นฐานการทำธุรกิจ เราต้องรู้ก่อนว่าต้นทุนของเราคืออะไรบ้าง อย่างที่สอง ชอบการแบ่งปันประสบการณ์ของเจ้าของธุรกิจทั้งสองท่าน ทั้งร้านกาแฟและร้านพิซซ่า ได้รู้ว่าการทำธุรกิจต้องเริ่มจากหาความชอบของตัวเองให้เจอก่อนแล้วค่อยลงมือทำ และอย่างที่สาม คือ การต่อยอด สร้างคอนเน็กชัน มาเจอผู้คน เพื่อสร้างคู่ค้ามากกว่าคู่แข่ง
“ผมคิดว่าสิ่งที่เริ่มทำได้เลยคงเป็นการค้นหาความชอบของตัวเองก่อน ส่วนตัวอยากหาอาชีพที่ทำคนเดียวได้ ไม่ต้องพึ่งพาคนอื่น โดยอาจจะต้องศึกษาในเรื่องของการทำการตลาด และสร้างความแตกต่างเพิ่มเติม หากมีคอร์สหรือกิจกรรมที่สามารถเรียนรู้ในสิ่งเหล่านี้ได้ ผมก็พร้อมที่จะเป็นนักเรียน เข้าไปเรียนรู้และเก็บประสบการณ์ให้มากขึ้น
“จริง ๆ ผมตั้งหลักเกณฑ์ของชีวิตเป็นเรื่องความสุขไว้อยู่แล้ว ดังนั้น ไม่ว่าจะชีวิตซีชันไหนก็แล้วแต่ ทั้งอดีต ปัจจุบัน และอนาคต ผมก็มองหาไลฟ์สไตล์ที่จะทำให้มีความสุขกับทุกโมเมนต์ที่เกิดขึ้น แม้จะเป็นวัยเกษียณ ผมก็มองหาสิ่งแวดล้อมที่จะทำให้ตัวเองมีความสุขมากขึ้น อาจจะเป็นเรื่องการทำธุรกิจ หรือการทำงานอดิเรกก็ได้ ดังนั้น ซีซัน 2 ของผมก็คือ อะไรก็แล้วแต่ที่ทำแล้วแม็ตช์กับตัวผมได้ มีความสุขได้ และทำให้ผมอยู่รอด ผมมองว่านั่นคือเป้าหมายในชีวิต
“ณ ตอนนี้ ผมมองเรื่องของการไม่มีภาระเป็นสิ่งที่ดีที่สุด สิ่งสำคัญเลยเป็นการโฟกัสเรื่องสุขภาพมากกว่ากำไรหรือจุดคุ้มทุน ชีวิตในวัยเกษียณสำหรับผม อาจไม่ได้มองเรื่องธุรกิจเป็นหลัก แต่เป็นการทำอะไรก็ได้ที่ลดภาระลงให้น้อยที่สุด แต่ยังคงไว้ซึ่งความสุข สุขภาพ และยังมีเวลาในการใช้ชีวิตไปด้วย”
ศุจิรัตนา กุลพฤกษ์ (ป๊อบ) 49 ปี อดีตพนักงานบริษัท
“ก่อนหน้านี้เราไม่เคยคิดเรื่องการทำธุรกิจเลย ใช้ชีวิตเป็นพนักงานประจำ พอออกจากงานประจำก็มีเวลาว่างมากขึ้น ไม่ค่อยมีไอเดียอะไรใหม่ ๆ เลยมาร่วมงานตามคำชวนของเพื่อน เพราะเชื่อว่าเพื่อนจะต้องแนะนำสิ่งดี ๆ ให้
“เราเคยได้ยินชื่อเสียงคุณต่อมาอยู่แล้ว พอได้มาฟังเเล้วก็เข้าใจเลย ไม่ต้องไปเรียนคอร์สธุรกิจ เพราะเขาย่อยมาให้เราแล้ว เราได้แรงบันดาลใจ เอาไปเริ่มต้นใช้ได้จริง ๆ อย่างการหาคอนเน็กชัน หาเพื่อน ๆ ที่เราจะไปสื่อสาร ไปแชร์ต่อ แล้วรวมกลุ่มกัน ช่วยกันดูว่าเราจะต่อยอดไปทางไหนได้บ้าง อาจจะเริ่มจากเพื่อน ๆ ร่วมงานที่ออกจากงานมาด้วยกัน หรือเพื่อน ๆ ในวัยใกล้เคียงกันก่อน เพราะทุกคนก็มีคำถามคล้าย ๆ กัน
“ถ้ามองเรื่องธุรกิจ คิดว่าเราคงมองเรื่องธุรกิจอาหาร เครื่องดื่ม เพราะเราเป็นคนชอบกิน สกิลทำอาจจะศูนย์ถึงหนึ่ง แต่ถ้าสกิลกินให้เก้าเต็มสิบ ตอนนี้อาจจะมองไม่เห็นภาพเท่าไหร่ แต่ถ้าจะเริ่มทำอะไรสักอย่าง คงเริ่มจากความชอบของตัวเอง
“ชีวิต ซีซัน 2 สำหรับเรา คือ การที่เราจะมาทำประโยชน์ให้กับตัวเอง หลังจากที่เราก้าวออกจากความคุ้นเคยเดิม ๆ มาเปิดประสบการณ์ใหม่ ๆ ค้นหาอะไรบางอย่าง แล้วนำมาปรับใช้กับตัวเอง และสามารถส่งต่อประโยชน์ให้กับคนอื่นได้มากกว่าการทำงานหาเลี้ยงชีพ
“วันนี้เราได้พลังงานบวก ได้วิธีคิดดี ๆ กลับไปมากมาย เราได้เห็นว่าการเริ่มจากจุดเล็ก ๆ ด้วยความตั้งใจ ไม่ต้องคิดอะไรที่มันใหญ่โต แค่นี้ก็ดีมากแล้ว อย่างน้อยวันนี้เราก็รู้สึกดีและสามารถไปส่งต่อความรู้สึกนี้ให้กับคนอื่นได้ ขอบคุณมาก ๆ ที่ทำให้วันนี้เป็นอีกวันที่ดีของเรา”
ชาดา วุฒิคุณจินดา (ดา) 63 ปี ที่ปรึกษาทางการเงินบริษัทเอกชน
“เราเป็นคนรักการเรียนรู้ ด้วยแบ็กกราวนด์ที่เป็นนักการตลาดอยู่แล้ว เลยสนใจในเรื่องของธุรกิจ เห็นว่ามีกิจกรรมดี ๆ แบบนี้ เลยอยากมาเพิ่มเติมความรู้ให้ตัวเอง
“การทำธุรกิจยุคออนไลน์ เราต้องแตกต่าง เพราะถ้าเราไม่แตกต่างจากคนอื่น สินค้าเราก็จะหาได้ทั่วไป แต่สิ่งที่ต้องปรับ คือ เราต้องมีความฉับไวมากขึ้น เร็วขึ้น เพราะถ้าเราช้า เราเอื่อย คนก็จะเลื่อนผ่าน และไม่เห็นสินค้าเรา เราต้องปรับรูปแบบให้พอดีกับตัวเองและพอดีกับความต้องการของกลุ่มลูกค้าของเราด้วย
“คุณต่อเป็นมืออาชีพตัวจริง มุมมองที่เขาสะท้อนให้ฟัง ทำให้เราเห็นว่าการที่เขาจะไปยืนอยู่ในธุรกิจที่สเกลใหญ่ขนาดนั้นได้ จะต้องผ่านอุปสรรคมากมาย และยังถอดเเบบออกมาให้เราเห็นว่า ถ้าจะทำธุรกิจในยุคนี้ เราจะต้องเป็นน้ำไม่เต็มแก้ว เพราะมีสิ่งที่เราจะต้องเรียนรู้ใหม่อยู่ตลอด ทำให้เราแตกแขนงความคิดเพิ่มขึ้นไปอีก
“ส่วนคุณหมู คุณเชา ก็เป็นตัวอย่างที่ดีของคนที่มาเริ่มต้นใหม่ในวัยเกษียณไปแล้ว ทั้งสองท่านสะท้อนให้เห็นว่าการที่เราจะทำอะไรให้สำเร็จ เราจะต้องจริงจังกับมัน ต้องจริงจัง จริงใจ และเอาจริง ขณะเดียวกันก็ต้องมีความสุขกับมันด้วย อีกมุมหนึ่งก็ต้องคำนึงถึงเรื่องรายได้เช่นกัน เพราะช่วงนี้เป็นช่วงที่ไม่ได้เอื้อให้เกิดธุรกิจใหม่ ๆ เท่าไรนัก ใครที่จะเข้าสู่วงการธุรกิจก็ควรจะทำอย่างระมัดระวัง
“สเต็ปต่อไปในชีวิต เราอยากดึงศักยภาพ และความช่างสังเกตของเรามาใช้ในงานด้านออนไลน์ เราเป็นนักเล่าเรื่อง และเพื่อนก็ชอบฟังเรื่องที่เราเล่า เลยคิดว่าเราน่าจะเป็นนักรีวิว ทำเพจของตัวเอง เล่าเกร็ดความรู้เล็ก ๆ น้อย ๆ เล่าประสบการณ์ของเรา โดยสอดเเทรกความบันเทิงเข้าไปด้วย เหมือนมีเพื่อนมานั่งเล่าเรื่องให้ฟัง เพราะผู้สูงวัยส่วนใหญ่มักจะมีมือถือเป็นเพื่อน บางครั้งเขาอาจจะขาดเพื่อนคุย เราเลยอยากเป็นเหมือนเพื่อนคนหนึ่งให้กับเขา”