เปิด 10 เคล็ดลับสำคัญที่ต้องทำก่อนเริ่มต้นทำธุรกิจเพื่อรองรับสังคมสูงวัย และ 3 คำถามสำคัญที่ต้องถามตนเอง เพื่อทำให้ธุรกิจไปต่อและยั่งยืนได้ กับกิจกรรม “ชีวิต ซีซัน 2” ครั้งที่ 4 กับ วิชา “ปั้นธุรกิจ (เพื่อรองรับสังคมสูงวัย) ให้กลายเป็นจริง”
ที่จัดขึ้นเมื่อวันเสาร์ที่ 13 ม.ค.67 โดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับมนุษย์ต่างวัย กิจกรรมครั้งนี้มีผู้สนใจสมัครเข้ามามากกว่า 80 คน ซึ่งแต่ละคนต่างกำลังมองหาโอกาสใหม่ ๆ ในการเริ่มต้นธุรกิจสร้างสินค้าและบริการเพื่อตอบโจทย์สังคมสูงวัย
วิทยากรครั้งนี้ คือ คุณศานิตย์ ภู่บุบผา Founder & Lead Catalyst Wisdom Works Consultancy & Services Co., Ltd. ผู้เชี่ยวชาญด้านการบ่มเพาะธุรกิจสตาร์ตอัปและนวัตกรรมองค์กรที่มีประสบการณ์ยาวนานในองค์กรธุรกิจชั้นนำของประเทศ มาช่วยถ่ายทอดประสบการณ์และความรู้ในการทำธุรกิจเบื้องต้น พร้อมทีมงานกระบวนกรอาสา
มนุษย์ต่างวัย เชื่อว่าหลังจบคลาสนี้ไป เพื่อน ๆ หลายคนคงได้ทั้งข้อมูลดี ๆ ที่เป็นพื้นฐานในการเริ่มต้นธุรกิจและแรงบันดาลใจในการไปต่อยอดสร้างสรรค์ชีวิต ซีซัน 2 ของตัวเองกันอย่างเต็มที่ รวมทั้งได้แนวคิดใหม่ ๆ ไปปรับใช้ เพื่อสร้างธุรกิจที่ตั้งใจให้สำเร็จ บรรยากาศในงานจะอบอุ่นและน่าประทับใจแค่ไหน
ศานิตย์ ภู่บุบผา
Founder & Lead Catalyst Wisdom Works Consultancy & Services Co., Ltd.
“ก่อนเริ่มธุรกิจอะไรก็ตาม เราต้องลองสวมหมวกเป็นนักลงทุนให้ตัวเอง และต้องตั้งคำถามเหล่านี้กับตัวเองทุกครั้ง
- มีคนต้องการสิ่งนี้จริงไหม เราต้องมั่นใจว่าถ้าเปิดธุรกิจนี้จะมีคนใช้บริการ
- เราสามารถทำมันได้จริงไหม ถ้าวันไหนขาดกำลังคน หรือพนักงานลาออก เจ้าของธุรกิจต้องสามารถทำด้วยตัวเองได้
- มันคุ้มที่จะทำไหม ทำกำไรได้จริงไหม ตลาดใหญ่แค่ไหน เมื่อเทียบกับเป้าหมายที่วางไว้
ซึ่งทั้งหมดจะต้องพิสูจน์ได้ด้วยหลักฐานข้อมูลจริง ไม่ใช่ด้วยคำพูด
“โมเดลธุรกิจที่ดี เกิดจากการฟังเสียงของลูกค้า ถ้าเราเข้าใจเขาจริง ๆ เราก็จะสามารถทำธุรกิจได้ง่ายขึ้น ซึ่ง 3 ขั้นตอนในการทำความเข้าใจลูกค้า ประกอบด้วย การเลือกกลุ่มลูกค้าเป้าหมายและระบุลักษณะเฉพาะให้ชัด ต้องมองให้เห็นว่าใครเป็นลูกค้าของเรา หน้าตาแบบไหน อายุ รายได้เท่าไร ต่อมาก็ทำความเข้าใจวัตถุประสงค์ที่แท้จริงของลูกค้าว่าเขาต้องการอะไร หรืออะไรที่เป็นงานที่เราต้องทำให้เสร็จ เพื่อแก้ปัญหาให้เขา และสุดท้าย คือ สัมภาษณ์ลูกค้าเพื่อค้นหาความต้องการและจุดเจ็บปวดที่จะทำให้เขายอมมาใช้บริการของเราได้
“การทำธุรกิจนั้นต้องเผชิญกับอุปสรรคและปัญหา แต่ขอให้คิดเสมอว่า “ล้มเร็ว เรียนรู้เร็ว ก็สำเร็จก่อน” และการมีทีมและคอนเน็กชันที่แข็งแรง จะช่วยลดจุดอ่อน เสริมจุดแข็งให้ธุรกิจของเราได้ สิ่งสำคัญ คือเรียนรู้และมีความสุขกับสิ่งที่ทำเสมอ เริ่มจากจุดเล็ก ๆ ไม่ต้องยิ่งใหญ่ ค่อยเป็นค่อยไป เดี๋ยวภาพที่เราหวังไว้ ก็จะชัดเจนขึ้น
“สุดท้าย ไม่ว่าเราตั้งใจจะทำอะไรก็ตาม อาจมีเหตุผลเป็นร้อยข้อที่จะไม่ทำ แต่ขอเหตุผลแค่สักข้อที่จะทำให้เราตัดสินใจและเริ่มลงมือทำจริง ๆ ก็พอ เพราะไม่ว่าความฝันของเราจะใหญ่หรือเล็กแค่ไหน การได้ทำให้เกิดขึ้นจริงก็คือความสุข”
ณัฐกาญจน์ เด่นวณิชชากร (จอย) 42 ปี
CEO Joy Ride Thailand
“ซีซัน 2 ของชีวิต เราอยากทำอะไรที่มีความสุข ทำให้ตัวเองรู้สึกมีคุณค่า และเป็นประโยชน์ต่อคนอื่น ตอนนี้เราทำบริการพาผู้สูงอายุไปหาหมอ หรือ Joy Ride Thailand ลูกรับจ้างหลานจำเป็น และเปิดเพจรับจ้างล้างห้องน้ำวัด ซึ่งทำให้คนในชุมชนรอบวัดมีรายได้และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
“สิ่งที่อยากทำหลังจากนี้คือทำเพื่อตัวเอง เรารู้สึกว่าเราเกิดมาเพื่อทำอะไรบางอย่างที่เป็นสิ่งที่ดีให้กับโลกนี้ เลยตั้งใจว่าอยากทำโครงการ ‘Forest For Rest สวรรค์คนเป็น ร่มเย็นคนไป’ ซึ่งน่าจะตอบโจทย์กลุ่มผู้สูงอายุในอนาคต โดยเฉพาะคนที่ไม่มีลูกหลาน ซึ่งจริง ๆ แล้วก็ไม่ได้หมายถึงคนอื่นเลยนอกจากตัวเอง เรามองว่าคนเรามีโอกาสจัดงานวันเกิดกี่ครั้งก็ได้ แต่งงานกี่ครั้งก็ได้ เปลี่ยนงานกี่ครั้งก็ได้ แต่เรามีวาระสุดท้ายได้แค่ครั้งเดียว เราก็เลยอยากทำให้มันดีที่สุด อยากคืนทุกอย่างกลับสู่ธรรมชาติ นำร่างกายไปเป็นปุ๋ยให้กับต้นไม้ และเมื่อต้นไม้รวมกันหลาย ๆ ต้นก็จะกลายเป็นป่าให้กับคนรุ่นต่อไป ให้บริการเรื่องการวางแผนชีวิตและการจัดการต่าง ๆ ในวันที่เราเสียชีวิต เช่น การจัดงานศพ การจัดการเรื่องเอกสารต่าาง ๆ หรือการจัดการข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์
“การทำ Forest For Rest ให้ไปถึงเป้าหมาย ยังคงเป็นความท้าทายและเรื่องยากสำหรับเรา เพราะบริการนี้ไม่ใช่เรื่องจำเป็นเมื่อเทียบกับการพาผู้สูงอายุไปหาหมอที่เรามองเห็นกลุ่มลูกค้าอย่างชัดเจน เรามาร่วมกิจกรรมนี้ เพราะรู้สึกว่าอยากมาเติมกำลังใจ เติมความรู้ใหม่ ๆ ให้ตัวเอง อยากคิดโมเดลธุรกิจให้แหลมคมมากขึ้น เพราะตอนทำ Joy Ride เราไม่ได้คิดเรื่องนี้เลย แค่คิดว่าอยากออกจากงานมาฮีลใจตัวเองแค่นั้น แต่ตอนนี้เราทำธุรกิจมาหนึ่งอย่างแล้ว เราคิดว่าถ้าเราเริ่มต้นธุรกิจด้วยวิธีที่ถูกต้อง ก็จะทำให้เราไม่ต้องลองผิดลองถูกมาก และมองเห็นทิศทางได้ชัดเจนขึ้น
“เราชอบเอเนอร์จี้ของทุกคนที่มาร่วมงานวันนี้ เหมือนทุกคนมีของ มีแพสชันในตัวเอง พอเรามาเจอคนที่มีคลื่นความถี่ที่ดี ก็เหมือนกับเราได้ยกระดับจิตใจของตัวเองไปด้วย”
เชาวฤทธิ์ เงินไธสง (ต้า) 34 ปี
พยาบาลวิชาชีพ
“ผมเป็นลูกจ้างมาตลอด ตอนนี้พอมีประสบการณ์ระดับหนึ่งแล้ว ก็เลยอยากผันตัวมาเป็นผู้ประกอบการ อยากทำ Senior Complex สำหรับดูแลผู้สูงอายุครอบคลุมทุกกลุ่ม ทุกด้าน รวมทั้งจำหน่ายผลิตภัณฑ์สำหรับการดูแลผู้สูงอายุด้วย แต่จากประสบการณ์ที่ตัวเองมีจะเป็นประสบการณ์ด้านการให้บริการ ผมยังขาดแนวคิดทางด้านธุรกิจ ผมเลยตัดสินใจมาร่วมกิจกรรม เพราะคิดว่าน่าจะช่วยเติมเต็มในส่วนนี้ได้
“ผมมีโอกาสได้ไปทำวิจัยเกี่ยวกับกลุ่มผู้สูงอายุที่เป็น LGBTQ+ แล้วพบว่าผู้สูงอายุกลุ่มนี้ส่วนใหญ่ไม่มีครอบครัว และมักจะเป็นแคร์กิฟเวอร์ที่ดูแลพ่อแม่ เมื่อพ่อแม่เสียไป เขาก็มักจะไม่มีหน้าที่การงานอื่น ทำให้ขาดความมั่นคงทางการเงิน บางคนต้องอาศัยอยู่คนเดียว เวลาที่เขาเจ็บป่วยก็จะมีความลำบาก พอเราถามว่าเขาอยากได้บริการอะไรเป็นพิเศษบ้าง เขาบอกว่าไม่ได้ต้องการอะไรมากไปกว่ากลุ่มผู้สูงอายุทั่วไป เพียงแต่อยากได้ผู้ให้บริการที่เข้าใจไลฟ์สไตล์ของเขา หรืออยากให้มีพื้นที่ที่คนที่มีความชอบแบบเดียวกันมาอยู่ด้วยกัน
“ผมเลยมีไอเดียขึ้นมาว่า ถ้ามี Nursing Home สำหรับผู้สูงอายุที่เป็น LGBTQ+ ก็คงจะช่วยเขาได้มาก เขาจะได้มีคนช่วยดูแลเวลาเจ็บป่วย มีเพื่อนคอยพูดคุย ไม่รู้สึกโดดเดี่ยว ผมอยากทำให้ที่นี่ให้ความรู้สึกเหมือนบ้าน เน้นสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีตามความชอบของเขา ให้เขาได้สร้างสรรค์และออกแบบกิจกรรมต่าง ๆ ด้วยตัวเอง โดยที่เราคอยสนับสนุน
“กิจกรรมวันนี้ทำให้ผมได้คอนเน็กชันและไอเดียใหม่ ๆ ได้เห็นทิศทางการทำธุรกิจที่ชัดเจนขึ้น และนำไปต่อยอดได้ รวมทั้งได้แรงบันดาลใจจากทุกคนด้วย ตอนนี้ผมกับเพื่อนก็ไปจดทะเบียนเปิด Nursing Home เรียบร้อยแล้ว ชื่อว่า Cozy Homey Care
“ถ้าคุณมีความฝัน ผมอยากให้ตัดสินใจลงมือทำ ไม่อยากให้ทุกคนเสียดายที่ไม่ได้ทำ เพราะต่อให้มันจะไม่สำเร็จ อย่างน้อยเราก็ได้เรียนรู้ ทุกกระบวนการ ทุกขั้นตอนที่เราทำ เป็นครูของเราเสมอ อยากให้มีความสุขตลอดการเดินทาง ไม่ต้องฝากความหวังไว้ที่เป้าหมายเพียงอย่างเดียว”
ฉมาพร ขจรบุญ (ปุย) 55 ปี
แม่บ้านและนักวิชาการอิสระ
“เรากำลังก้าวสู่การเป็นผู้สูงอายุ และต้องดูแลคุณแม่ซึ่งเป็นผู้สูงอายุด้วย เราคิดว่าควรจะต้องเตรียมตัว ดูแลสุขภาพให้ดี และหาช่องทางสร้างรายได้เพิ่ม เราไม่อยากเป็นคนที่ติดบ้านหรือติดเตียง เลยออกมาหากิจกรรมที่จะช่วยพัฒนาความรู้และดึงศักยภาพที่เรามีอยู่ เพื่อให้สามารถปรับตัวได้ตามโลกที่เปลี่ยนไปทุกวัน
“ชีวิต ซีซัน 2 ของเราเกิดขึ้นเร็วกว่าที่คิดไว้ ตอนแรกเราคิดว่าจะทำงานไปจนอายุ 60 แต่พอเกิดจุดเปลี่ยน ต้องดูแลคุณแม่ เราก็ต้องไปต่อ ตอนนี้เราคงใช้เวลาเพื่อดูแลคุณแม่ให้เต็มที่ หาอะไรทำเพิ่มเติมที่พอจะทำให้เรามีรายได้ รวมทั้งหาความรู้ ที่ปรึกษา หรือผู้เชี่ยวชาญมาช่วยเรา และพยายามทำอะไรด้วยความรอบคอบมากขึ้น
“เราอยากทำธุรกิจเล็ก ๆ ที่เราพอดูแลได้ที่บ้านของตัวเอง จะได้ดูแลคุณแม่ไปด้วย คิดว่าอยากจัดอบรมเรื่องการดูแลจิตใจ และให้บริการ รับจัดระเบียบบ้านในฝัน เราได้เเรงบันดาลใจมาจากการสังเกตสถานการณ์ต่าง ๆ ในหมู่บ้านของตัวเอง และการดูรายการทางโทรทัศน์ เห็นว่าเดี๋ยวนี้คนไม่ค่อยมีเวลาดูแลบ้าน ดูแลที่อยู่อาศัย โดยเฉพาะผู้สูงอายุและคนหนุ่มสาวที่อาศัยอยู่คนเดียว ยิ่งวันนี้มาเจอเพื่อนที่มาร่วมกิจกรรมบอกว่าเขาชอบล้างจาน ก็ยิ่งคิดว่าธุรกิจนี้มันเป็นไปได้ คงเริ่มทำจากในหมู่บ้านของตัวเองก่อน ถ้าเริ่มได้แล้ว ค่อยขยับขยายอีกครั้ง
“กิจกรรมนี้ทำให้เราได้ความรู้เรื่องธุรกิจลึกมากขึ้น รู้วิธีเริ่มทำธุรกิจ การประเมินความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น มองเห็นปัญหาและอุปสรรคที่อาจจะต้องเจอ และสำคัญที่สุด คือ ได้มาเจอเพื่อน เจอมิตรภาพใหม่ ๆ ทุกวันนี้เราก็พยายามปรับตัว หาความรู้ใหม่ ๆ ศึกษาเรื่องโซเชียลมีเดียให้มากขึ้น ทำตัวเองให้แอคทีฟ ไม่หยุดเรียนรู้ และปรับตัวอยู่เสมอ เพื่อให้ทันกับโลกเปลี่ยนแปลงไป”