How to กินอย่างไรให้ดีต่อใจและดีต่อสุขภาพ ฉบับ 40+ คุยกับ “ป๋วย อัจจิมา ศรีปรัชญาอนันต์” เจ้าของ Little Sunshine Cafe

หลายคนอาจมีคำถามว่าเริ่มต้นดูแลสุขภาพตอน 40 ยังทันไหม ?

จริง ๆ แล้วไม่มีคำว่าสายเกินไปสำหรับการดูแลสุขภาพ อายุเท่าไรก็เริ่มต้นได้ และเวลาที่ดีที่สุดในการเริ่มต้นก็คือตอนนี้ เพราะถ้าเรายังไม่เจ็บป่วยมันก็คือการที่เราทำเพื่อป้องกันโรคภัยไข้เจ็บที่อาจเกิดขึ้น แต่ถ้าเราเจ็บป่วยไปแล้ว การดูแลสุขภาพก็จะทำเพื่อฟื้นฟูและรักษาให้ร่างกายเรากลับมาแข็งแรงขึ้น ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลข้อใดก็ตาม มันส่งผลดีต่อร่างกายอย่างแน่นอน

หนึ่งในการดูแลสุขภาพที่เริ่มได้ง่ายและใกล้ตัวเรามากที่สุดคือเรื่องของอาหารการกิน ทุกวันนี้มีแหล่งข้อมูลในการกินเพื่อสุขภาพให้เราได้เรียนรู้มากมาย แต่สิ่งสำคัญที่สุดของการกินดีให้ได้ผลลัพธ์อย่างยั่งยืนนั้นคือการมีพื้นที่ยืดหยุ่นให้กับการกินในแบบที่ได้ทั้งความสุขและสุขภาพ

มนุษย์ต่างวัยชวนอ่านเคล็ดลับการกินดีอย่างสมดุลในแบบฉบับของ ‘ป๋วย’ อัจจิมา ศรีปรัชญาอนันต์ วัย 37 ปี นักกำหนดอาหารที่ผันตัวมาทำร้านอาหารของตัวเองอย่าง Little Sunshine Cafe ร้านอาหารโฮมเมดเพื่อสุขภาพย่านถนนวิทยุ ที่เปิดขึ้นเพราะอยากสื่อสารเรื่องอาหารและการกินดีในมิติที่ถูกต้อง รวมทั้งสร้างพื้นที่ให้คนได้มาแลกเปลี่ยน เรียนรู้เรื่องการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับอาหาร และทำให้คนเข้าใจว่าการกินดีเป็นเรื่องง่ายที่ไม่จำเป็นต้องฝืนความรู้สึกมากมายอย่างที่คิด

ความรักในอาหารที่ถูกฟูมฟักมาตั้งแต่เด็ก 

ป๋วยเล่าย้อนกลับไปถึงจุดเริ่มต้นความสนใจในเส้นทางสายอาหารและโภชนาการให้เราฟังว่า“เราเป็นคนชอบกินผัก ผลไม้ มาตั้งแต่เด็ก ๆ อาจเป็นเพราะคุณแม่ชอบเล่นโยคะและกินอาหารสุขภาพ อาม่าเขาก็เคยเป็นกุ๊กมาก่อน ทำให้เราซึมซับเรื่องพวกนี้มาด้วย พอได้ดูซีรีส์เกาหลีเรื่อง ‘แดจังกึม’ ก็ยิ่งเป็นแรงบันดาลใจให้อยากเรียนรู้เรื่องอาหารเพิ่มขึ้นไปอีก เพราะเราไม่เคยคิดมาก่อนว่าอาหารมันมีแง่มุมต่าง ๆ ที่หลากหลายขนาดนี้ ทั้งเรื่องสุขภาพ สังคม วัฒนธรรม ฯลฯ ก็เลยสนใจและอยากเรียนทางด้านนี้ พอไปนั่งไล่ดูหลักสูตรตามสถาบันต่าง ๆ ที่เปิดสอนก็พบว่าตอนนั้นเมืองไทยยังไม่มีสาขากำหนดอาหารก็เลยตัดสินใจบินไปเรียนต่อที่อเมริกา เพราะคิดว่าอยากเรียนทางนี้จริง ๆ

“การไปเรียนที่โน่นทำให้เราได้เห็นผัก ผลไม้แปลก ๆ ที่ไม่เคยรู้จักมาก่อน เห็นกิจกรรมที่คนมารวมตัวกันทำและกินอาหาร เห็นแง่มุมต่าง ๆ ของอาหารที่น่าสนใจ ทั้งความสัมพันธ์กับวิถีชีวิต การเกษตร สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรม จากความตั้งใจที่จะมาเรียนรู้เรื่องอาหารเพื่อดูแลสุขภาพ มันทำให้เราเห็นแง่มุมต่าง ๆ ของอาหารอย่างรอบด้าน

“สมัยก่อนยังไม่ค่อยมีคนพูดถึงประเด็นการดูแลสุขภาพด้วยอาหารมากขนาดนี้ ตอนนั้นการกินคีโต (Ketogenic Diet หรือ การกินอาหารที่เน้นไขมันดีเป็นหลัก กินคาร์โบไฮเดตน้อยลง และกินโปรตีนในปริมาณปานกลาง เพื่อเปลี่ยนระบบเผาผลาญของร่างกาย) ยังเป็นการกินเพื่อรักษาโรคลมชักอยู่เลย ไม่ได้กินเพื่อลดน้ำหนักอย่างที่เราเห็นกันทุกวันนี้

“ตอนแรกตั้งใจว่าจบมาแล้วจะทำงานในโรงพยาบาล แต่ตัวเองก็เป็นคนชอบทำอาหารเลยไปเรียนทำอาหารเพื่อสุขภาพต่อ แล้วก็เลยรู้สึกว่าอาหารมันมีแง่มุมในการใช้ป้องกันโรคด้วย อีกอย่างเราก็คิดว่าถ้าเรานั่งบอกคนไข้อยู่ในโรงพยาบาลว่าอันนั้นกินได้ อันนี้กินไม่ได้ มันคงเห็นภาพได้ไม่ชัดมากเท่ากับการที่เราทำอาหารใส่จานให้เขากิน แล้วบอกเขาว่าควรจะกินอะไร แค่ไหนดีกว่า ก็เลยคิดว่าอยากเปิดร้านอาหารของตัวเองให้ได้ก่อนตาย เป็นหนึ่งในบักเก็ตลิสต์ที่ปักไว้ในชีวิต

“พอทุกอย่างเข้าที่เข้าทางก็เลยเปิดร้านอาหารโฮมเมดของตัวเอง ทำอาหารแบบที่เราทำกินกันที่บ้าน ที่ทำร้านแบบนี้ เพราะเวลาที่เราทำอาหารให้คนที่บ้านกิน เราจะเลือกแต่วัตถุดิบที่ดี และมีความเข้าใจว่าคนในบ้านเขากินอะไรได้หรือไม่ได้บ้าง และเหตุผลที่ตั้งชื่อร้านนี้ว่า Little Sunshine Cafe เพราะเราอยากให้ร้านนี้เป็นพื้นที่สร้างความสุข ความสดใส ให้กับผู้คน ตั้งแต่นาทีแรกที่เขาก้าวเข้ามาที่นี่ และรู้สึกดีจนถึงตอนที่เขากลับออกไป”

กินดีแบบชาว 40+  

สำหรับคนวัย 40+ ที่เริ่มมีความเปลี่ยนแปลงของระบบต่าง ๆ ภายในร่างกาย และมีความเสี่ยงในการเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) อย่างโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ ฯลฯ เพิ่มขึ้น การดูแลสุขภาพด้วยความรู้ที่ถูกต้องเป็นเรื่องสำคัญมาก ในฐานะคนที่ผูกพันและคลุกคลีอยู่ในวงการอาหารเพื่อสุขภาพมาอย่างยาวนาน และเคยทำงานเกี่ยวกับการใช้อาหารในการรักษาโรคมาก่อน ป๋วยพูดถึงประเด็นนี้ว่า

“พอคนเราเข้าวัย 40 ไปแล้ว ระบบต่าง ๆ ในร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นกล้ามเนื้อ กระดูก หรือระบบเผาผลาญจะเริ่มตกลง เมื่อมวลกล้ามเนื้อเราน้อยลง ร่างกายก็จะไม่สามารถเผาผลาญได้เท่าเดิม และถูกแทนที่ด้วยไขมันมากขึ้น อีกอย่างคนวัยนี้ส่วนใหญ่อยู่ในช่วงวัยทำงาน อาจจะต้องรับมือกับความเครียดที่เพิ่มขึ้น และแอคทีฟน้อยลง ทำให้การเผาผลาญดรอปลงเรื่อย ๆ และเสี่ยงต่อการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ ฯลฯ

“การสร้างมวลกระดูก มวลกล้ามเนื้อควรจะต้องเริ่มทำตั้งแต่ช่วงอายุ 20 แต่ถึงแม้ว่าเราจะอยู่ในช่วงอายุที่เข้าเลข 3 หรือเลข 4 ไปแล้ว การเริ่มต้นดูแลตัวเองตอนนี้ก็ยังไม่สายเกินไป ไม่ว่าจะเป็นการดูแลเรื่องอาหาร หรือออกกำลังกายแบบใช้แรงต้าน เพื่อคงคุณภาพและปริมาณของมวลกระดูกและมวลกล้ามเนื้อให้ได้มากที่สุด

“จริง ๆ แล้ว ช่วงวัย 40+ ถือว่าเป็นวัยที่เหมาะมาก ๆ ในการเริ่มต้นปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และหันมาดูแลสุขภาพของตัวเองอย่างถูกต้อง เพราะคนในช่วงวัยนี้เป็นช่วงที่ถือว่ามีอิทธิพลต่อคนรอบข้าง ทั้งคนรุ่นพ่อแม่ที่อายุมากกว่า และคนรุ่นลูกหลานที่อายุน้อยกว่า การเริ่มต้นปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของคนวัยนี้อาจเป็นแรงบันดาลใจให้คนในครอบครัวอยากดูแลสุขภาพบ้าง อีกอย่างคนที่อยู่ในช่วงวัยนี้ถือเป็นช่วงสำคัญที่ต้องดูแลทั้งตัวเองและครอบครัว ดังนั้น ถ้าร่างกายเราแข็งแรง เราก็จะสามารถดูแลคนอื่นได้ดีขึ้นด้วย

“สำหรับอาหารที่อยากแนะนำให้คนวัยนี้กินให้มากขึ้นเพื่อประโยชน์ต่อสุขภาพ คือ  

  1. เผือก มัน ช่วยลดคอเลสเตอรอล ช่วยในกระบวนการขับถ่าย ลดความเสี่ยงการเกิดโรคเบาหวาน โรคมะเร็งลำไส้ และเสริมสร้างอารมณ์ให้ดีขึ้น
  2. ถั่วเหลือง ถั่วแระญี่ปุ่น เป็นโปรตีนจากพืชคุณภาพสูง มีไอโซฟลาโวน ช่วยลดอาการร้อนวูบวาบที่เกิดจากวัยทอง ลดความเสี่ยงโรคหัวใจ ลดความเสี่ยงมะเร็งเต้านม ลดคอเลสเตอรอลและลดความดันโลหิตสูง
  3. แฟล็กซีด – เป็นธัญพืชโภชนาการสูง หรือ Superfood ที่ให้ไฟเบอร์ โปรตีน ธาตุเหล็ก วิตามินบี และแมกนีเซียม ช่วยลดภาวะดื้อต่ออินซูลิน และทำให้หัวใจแข็งแรง
  4. ปลาทะเล มีโปรตีน โอเมก้า 3 และวิตามินดี ช่วยบำรุงกระดูก ลดความเสี่ยงโรคซึมเศร้า ลดความเสี่ยงของภาวะสมองเสื่อม ลดความเสี่ยงต่อภาวะดื้ออินซูลินและเบาหวาน และช่วยลดการอักเสบในร่างกาย
  5. พืชผักตระกูลกะหล่ำ – มีไฟเบอร์สูง ช่วยบำรุงสุขภาพลำไส้ให้ดีขึ้น มีสารต้านอนุมูลอิสระสูง ช่วยลดความเสี่ยงโรคมะเร็งบางชนิดได้

“หลายคนอาจจะชอบคำแนะนำด้านสุขภาพที่ทำตามได้เลยแบบไม่ต้องคิดต่อ แต่จริง ๆ แล้ว มันไม่มีสิ่งที่สำเร็จรูปแบบนั้น ในฐานะนักกำหนดอาหารเราไม่สามารถที่จะให้คำแนะนำเรื่องการกินแบบที่เหมาะกับทุกคนได้แบบเป๊ะ ๆ เพราะมันเป็นเรื่องเฉพาะบุคคล ซึ่งแต่ละคนก็มีไลฟ์สไตล์ไม่เหมือนกัน มีความเสี่ยงในการเกิดโรคทางกรรมพันธุ์ต่างกัน สิ่งที่เราทำได้คือการให้คำแนะนำในแบบทั่วไป

“เรื่องพวกนี้เป็นเรื่องที่ต้องลองทำ ลองพิสูจน์ด้วยตัวเอง ถ้าเรากินดี ร่างกายของเราจะรู้สึกดีได้เองแบบที่ไม่ต้องมีใครมาบอก เพราะสุดท้ายคนที่รู้จักหรือเข้าใจร่างกายของเรามากที่สุดก็คือตัวเราเอง”

กินดีแบบที่ยังมีพื้นที่ให้ความอร่อย 

“สิ่งสำคัญในการดูแลสุขภาพด้วยอาหาร อย่างแรกคือการกินที่สมดุล กินอาหารให้ครบ 5 หมู่ โดยเน้นปริมาณของผัก ผลไม้ ครึ่งหนึ่งของจาน หรือ 50% ข้าว แป้ง ธัญพืช 25% และโปรตีนอีก 25% ต่อ 1 มื้อ แต่ในความสมดุลนั้นเราต้องมีพื้นที่สำหรับอาหารที่เราชอบด้วย มันเป็นไปไม่ได้ที่คนเราจะกินข้าวกล้อง บรอกโคลีต้ม อกไก่ทุกมื้อ เราแค่เอาโมเดลนี้ไปปรับใช้กับการกินแบบทั่วไป เช่น ข้าวเหนียว-ไก่ย่าง-ส้มตำ ชาบู หมูกระทะ หรือใน 1 วัน เราอาจจะกินขนมสักคำ สองคำ มันก็ทำให้เรารู้สึกว่าชีวิตบาลานซ์ได้ เพราะเราได้กินอะไรที่ดีต่อร่างกาย แต่ก็ยังได้กินสิ่งที่เราชอบ ซึ่งมันเป็นการปรับมุมมองการกินที่เรารู้สึกว่ามันยั่งยืนและดีต่อสุขภาพในระยะยาว

“เรื่องที่สองคือการเพิ่มอาหารที่ดีเข้าไปในมื้ออาหารแต่ละวัน ปกติเราอาจจะชอบกินข้าวราดแกง เราก็เพิ่มสารอาหารที่ดีเข้าไปได้ด้วยการเพิ่มผักเข้าไปในมื้ออาหาร หรือถ้าเราชอบกินข้าวขาว เราอาจจะลองเพิ่มธัญพืช หรือข้าวกล้องหุงผสมไปด้วย หรือถ้าวันไหนเราอยากกินมาม่า          เราก็จะไม่กินมาม่าอย่างเดียว แต่เราเพิ่มกะหล่ำปลี หมูสับ ไข่ ลงไปด้วย โพแทสเซียมที่อยู่ในผัก ก็จะช่วยบาลานซ์ปริมาณโซเดียมได้

“เราอาจจะลองเปลี่ยนของว่างหรือของกินเล่นเป็นผลไม้แทนขนม เพื่อสร้างความเคยชินใหม่ให้กับลิ้นเรา หรือถ้ามื้อไหนเราอยากกินพิซซ่า เราก็กินสลัดด้วย สิ่งสำคัญคือกินโปรตีนให้พอดี ในแบบที่มั่นใจว่าทุกมื้อของเรามีโปรตีนอยู่ด้วย เพราะมันเป็นสารอาหารที่จำเป็น ช่วยให้เราอิ่มเร็ว อิ่มนาน และช่วยเรื่องระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย

“เราต้องสร้างสมดุลระหว่างการกินเพื่อความสุขกับสุขภาพ เลือกอาหารที่เราชอบ โดยคำนึงถึงความสะดวก อร่อย และสุขภาพด้วย ไม่จำเป็นต้องกินอาหารที่สมบูรณ์แบบ เช่น อาหารคลีน หรืองดแป้ง เพื่อให้มีสุขภาพที่ดี เพราะการกินดีที่สมดุลและสม่ำเสมอเป็นกุญแจสำคัญที่จะช่วยให้เรามีสุขภาพที่ดีได้อย่างยั่งยืนมากกว่า

“เราเชื่อว่าถ้ามีความพร้อมจะเปลี่ยนพฤติกรรมการกินจริง ๆ ทุกคนก็สามารถทำมันได้ แต่เราอาจจะไม่พร้อม เพราะไม่มีเวลา หรือคิดว่ามันยาก สิ่งแรกที่เราควรทำอาจจะเริ่มจากการปรับมุมมองที่เรามีต่ออาหารและการกินดีด้วยความรู้และความเข้าใจที่ถูกต้อง”

การสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับอาหาร

“เราสามารถสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับอาหารได้ เริ่มจากการมองอาหารแบบยืดหยุ่น ไม่มองว่าอาหารนี้ดี อาหารนี้ไม่ดี อันนี้กินได้ อันนั้นกินไม่ได้ แล้วเปลี่ยนมามองบริบทในการกินแทน เช่น วันนี้เราเครียด แล้วรู้สึกว่าไอติมลูกหนึ่งมันฮีลใจเราได้ เราก็กินไปเลย แล้วก็มาดูว่าวันนั้นเราจะเพิ่มสารอาหารอะไรให้กับร่างกายได้บ้าง

“ทุกอย่างมันไม่ใช่ขาวหรือดำแต่มันคือความเทา การกินดีมันไม่ใช่การเลิกกินอะไรบางอย่างเด็ดขาด แต่มันคือการกินให้พอดีกับความต้องการของร่างกาย และสิ่งสำคัญคือเราจะต้องมีสติในการกินด้วย เราลองสังเกตว่าถ้าเราไปกินฮันนี่โทสต์ 1 ก้อน กับเพื่อนตามคาเฟ่ เรากินไปคุยไป มันก็เลยกินหมด แต่ถ้าเราโฟกัสที่การกิน ตั้งใจว่าจะกินมันจริง ๆ เราจะรู้ว่าตัวเองอิ่มแล้วและกินไม่หมด

“นอกจากนี้ ความสัมพันธ์กับอาหารยังเชื่อมโยงกับเรื่อง socialize หรือการใช้เวลาร่วมกับคนอื่นด้วย อย่างประชากรที่อาศัยอยู่ในเขตบลูโซนที่มีอายุยืนที่สุดในโลก นอกจากเขาจะกินดี กินอิ่ม 80% แล้ว เขาไม่ได้นั่งกินอาหารคนเดียว แต่เขากินกับครอบครัว กับเพื่อน ๆ ของเขาด้วย

“การดูแลสุขภาพไม่ได้อยู่ที่การกินดีอย่างเดียว บางคนคิดว่า ถ้าเราออกกำลังกายหนักแล้วก็สามารถกินเยอะได้ ต้องลองมองใหม่ว่าการออกกำลังกายไม่ใช่การเอาออก แต่คือการเสริมสร้างมวลกล้ามเนื้อ เสริมศักยภาพของการกินที่ดีให้ชัดเจนขึ้น

“อีกเรื่องที่สำคัญมากคือเรื่องของความเครียด ถ้าเราเครียด 1 ชั่วโมง จะต้องใช้เวลาถึง 8 ชั่วโมงในการเพิ่มจำนวนเซลล์เม็ดเลือดขาวที่เรียกว่า NK Cell เข้าไปใหม่ นอกจากนี้ความเครียดยังเป็นตัวกระตุ้นให้เซลล์มะเร็งที่อยู่ในร่างกายกลายเป็นโรคมะเร็งขึ้นมาด้วย”

อยากให้ทุกคนเข้าถึงการกินดีในแบบที่ทำได้ง่ายและยั่งยืน

“ปีนี้เราเปิดร้านเป็นปีที่ 9 แล้ว คอนเซ็ปต์ร้านเราก็คือการกินอย่างสมดุล ไม่ได้มองว่าอะไรดีหรือไม่ดี ร้านเรามีเมนูคาโบนารา พาสตา อาหารของเราต้องใช้วัตถุดิบที่ดี รู้แหล่งที่มา ต้องมีรสชาติซึ่งเกิดจากเทคนิคการปรุงให้กลิ่นและรสธรรมชาติของอาหารออกมา เช่น ความหวานจากหอมหัวใหญ่ ความหอมจากเสาวรส รวมทั้งเป็นอาหารที่มีสีสันที่สวยงามและหลากหลาย กินแล้วรู้สึกดีไม่ใช่รู้สึกเหมือนถูกบังคับให้กิน

“เมนูขายดีของร้านเรา คือ ข้าวผัดแจ่วแซลมอนย่าง รสชาติจะออกไทย ๆ แต่ฝรั่งก็สามารถทานได้ จะปรุงให้เผ็ดมาก เผ็ดน้อย เราทำให้ได้หมด อีกเมนูที่ลูกค้าสั่งบ่อย ๆ ก็คือ สลัดกุ้งราดน้ำสลัดเสาวรส ที่เราใช้เสาวรสแท้ ๆ มาทำน้ำสลัด

“ถ้าไม่ติดอะไรเราจะทำเวิร์กช็อปสอนทำอาหารเดือนละครั้ง เราอยากให้พื้นที่ตรงนี้เป็นที่ที่คนได้มาเรียนรู้และทำความเข้าใจเรื่องการกินที่ถูกต้องจริง ๆ เราพยายามดีไซน์ทุกเมนูให้มีความสมดุลมากที่สุด อย่างการทำพาสตา เราก็ใส่ผักพื้นบ้านตามฤดูกาลและใส่กุ้งลงไปด้วย ทำสลัดก็จะใส่ผักเยอะ ๆ และใส่หลาย ๆ สี ทำออกมาให้มีทั้งความกรอบและความนิ่ม ลูกค้าบางคนก็บอกว่ามาที่นี่แล้วได้กินของอร่อย ของดี ที่กินแล้วไม่เหนื่อย และดีต่อสุขภาพ เราพยายามวางหนังสือเกี่ยวกับอาหารไว้ในร้าน ถ้าลูกค้ามากินอาหารแล้วสนใจก็สามารถยืมกลับไปอ่านที่บ้านได้ ตอนนี้เรากำลังจะทำช่องยูทูปเพื่อสื่อสารเรื่องการกินที่ถูกต้องผ่านการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับอาหาร เพราะอยากทำให้มันเป็นเรื่องที่เข้าถึงคนทั่วไปได้มากขึ้น

“เดือนนี้ เรามีเวิร์กช็อปสอนทำอาหารเพื่อสุขภาพชื่อว่า Healthy Hack หรือการสอนทำเมนูอาหารสุขภาพง่าย ๆ ใน 20 นาที ทำง่าย ได้กินเร็ว และได้ประโยชน์ ซึ่งเป็นคลาสที่เปิดทีไรก็เต็มทุกรอบ คลาสนี้เราได้แรงบันดาลใจมาจากการที่เรารู้ว่าคนสมัยนี้ไม่ค่อยมีเวลา แต่อยากดูแลสุขภาพ เราก็เลยสอนเมนูที่ทำได้ง่าย ใช้เวลาน้อย และดีต่อสุขภาพให้เขาได้กลับไปทำกินเองได้”

สำหรับใครที่สนใจ ตอนนี้ทางร้านยังมีอีก 2 เวิร์กช็อปสุดท้ายของปีที่ยังเปิดรับสมัครอยู่ คือ Woman’s Health Nutrition หรือ รู้ทันก่อนวัยทอง ที่จะเปิดช่วงเดือนตุลาคม เวิร์กช็อปนี้เหมาะกับผู้หญิงวัย 35 ปีขึ้นไป ที่สนใจเรื่องโภชนาการก่อนวัยทอง ฮอร์โมนและการเปลี่ยนแปลงของร่างกายที่เราหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่สามารถดูแลให้ดีได้ และในเดือนพฤศจิกายนก็จะมีเวิร์กช็อปที่ชื่อว่า Healthy Holidays ที่จะชวนทุกคนมาสนุกไปกับคลาสโภชนาการและทำอาหารปาร์ตี้แบบสนุกสนานและมีสาระ เพื่อต้อนรับช่วงเทศกาลช่วงสิ้นปีที่กำลังจะมาถึง

หัวใจสำคัญของการกินดีที่ยั่งยืนคือการกินที่ได้ทั้งความสุขและสุขภาพที่ดี 

“การกินดีที่ยั่งยืนควรจะเกิดขึ้นจากการออกแบบการกินของเราเอง ด้วยพื้นฐานความรู้ที่ถูกต้อง เราต้องอ่านฉลากเป็น อาหารที่เรากินต้องไม่ยุ่งยาก และเป็นอาหารที่สามารถซื้อหาได้จากซูเปอร์มาร์เก็ตทั่วไป

“จริง ๆ แล้วหลักการสำคัญของการกินดี มีแค่การกินให้สมดุลและหลากหลาย ในปริมาณที่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายของตัวเอง เราต้องทำให้มันเป็นเรื่องง่าย มีพื้นที่ให้ความยืดหยุ่นในการกิน ทำทุกอย่างให้มันเป็นนิสัยหรือความเคยชินของเรา และทำให้มันสอดคล้องกับรูปแบบการใช้ชีวิต เราถึงจะทำมันได้อย่างยั่งยืน

“ทุกวันนี้คนเราหันมาให้ความสนใจเรื่องการดูแลสุขภาพด้วยอาหารการกินกันมากขึ้นซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดี แต่พอเรามีแหล่งข้อมูลที่หลากหลายและเข้าถึงได้ง่าย เราก็ต้องเลือกแหล่งที่น่าเชื่อถือ ที่สามารถตรวจสอบที่มาของข้อมูลได้ ถ้าเรามีความรู้ที่ถูกต้อง เราก็สามารถดูแลสุขภาพด้วยการกินดีอย่างยั่งยืนได้ ทำให้อาหารเป็นมิตรแทนที่จะเป็นพิษกับร่างกายเรา”

แสงเล็ก ๆ ที่จะยังส่องสว่างเพื่อสร้างความสุขในการกินดี  

“จากวันแรกที่เราเริ่มต้นทำร้านขึ้นมาจนถึงวันนี้ เราคิดว่ามันประสบความสำเร็จในระดับหนึ่งแล้ว หลายคนที่แวะเวียนมาก็ได้กินอาหารดี ๆ คนที่มาทำเวิร์กช็อปก็ได้ความรู้ในการดูแลตัวเองกลับไป แต่เราก็ยังอยากจะทำให้มันดียิ่งขึ้นไปอีก ถึงแม้มันจะใช้พลังงานในการทำค่อนข้างมาก แต่เราก็มีความสุขที่ได้เติบโตขึ้นไปพร้อมกับร้าน

“ไม่ว่าต่อไปเราจะทำร้านของเราออกมาในรูปแบบไหน สิ่งหนึ่งที่ไม่เคยเปลี่ยนไปคือความตั้งใจแรกของเราที่อยากทำอาหารดี ๆ ให้ทุกคนได้กิน และอยากให้ทุกคนดูแลตัวเองได้ด้วยความรู้ที่ถูกต้อง ให้ที่นี่เป็นพื้นที่ที่ให้ความสุขกับทุกคนที่แวะเวียนมา และเป็นความสุขของเราแบบนี้ต่อไปเรื่อย ๆ”

ใครที่สนใจอยากลองชิมอาหารเพื่อสุขภาพสไตล์โฮมเมดที่รสชาติอร่อยเหมือนอาหารที่แม่ทำให้กินที่บ้าน หรืออยากมาเรียนรู้เรื่องการกินดีในแบบของหญิงสาวที่รักอาหารเป็นชีวิตจิตใจคนนี้ สามารถแวะเข้าไปได้ที่ร้าน Little Sunshine Cafe บริเวณถนนวิทยุ ใกล้ ๆ บีทีเอสเพลินจิต ที่นี่มีเมนูอาหารมากมายที่อร่อย กินง่าย และได้ประโยชน์ต่อสุขภาพไว้รอต้อนรับทุกคนด้วยบรรยากาศที่อบอุ่น และสำหรับคนที่มีข้อจำกัดทางสุขภาพ หรือแพ้อาหารชนิดไหน สามารถแจ้งที่ร้านได้เลย ที่นี่สามารถทำอาหารที่เหมาะกับสุขภาพและความต้องการของทุกคนได้เสมอ

Little Sunshine Cafe

83/4 ซอยวิทยุ 1 ลุมพินี ปทุมวัน กรุงเทพฯ 

เปิดทุกวันอังคาร – อาทิตย์  

เวลา 08.00-16.00 น.

โทร. 091-8898327

Credits

Authors

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ