“อาจารย์เจษ” ผศ. ดร.เจษฎา ศาลาทอง ลูกชายที่ดูแลพ่อที่ป่วยด้วยโรคอัลไซเมอร์

“คนที่ดูแลผู้ป่วยอัลไซเมอร์ คุณไม่ได้อยู่ตัวคนเดียวในโลก ยังมีคนอื่นที่อยู่ในเส้นทางนี้เช่นกัน อยากให้ลองมองหาด้านที่ดีกับเรื่องที่เกิดขึ้น วันไหนที่มันดีก็เก็บมาเป็นกำลังใจ แต่ถ้าวันไหนที่ไม่ดี ก็พยายามปล่อยมันไป อย่าถือเอาไว้ ผมรู้ว่ามันทำยาก แต่อะไรที่จะช่วยประคับประคองจิตใจได้ก็อยากให้ทำ”

มนุษย์ต่างวัยคุยกับ ‘อาจารย์เจษ’ ผศ. ดร.เจษฎา ศาลาทอง อาจารย์มหาวิทยาลัย พิธีกร และเจ้าของเพจ ‘อาจารย์เจษ’ ที่หลายคนอาจจะคุ้นหน้าคุ้นตาและติดตามกันอยู่แล้ว แต่วันนี้เราจะคุยกับอาจารย์เจษในบทบาทของลูกชายที่ดูแลพ่อซึ่งป่วยด้วยโรคอัลไซเมอร์

กว่า 2 ปีแล้วที่อาจารย์เจษได้รับบทบาทใหม่ในการเป็นผู้ดูแลผู้ป่วยอัลไซเมอร์ ถึงแม้อาจารย์จะโชคดีที่มีโอกาสได้ทำงานทางด้านนี้ พอมีความรู้ และรู้จักกับผู้เชี่ยวชาญอยู่บ้าง แต่เขาก็ไม่เคยคาดคิดมาก่อนว่าสิ่งนี้จะเกิดขึ้นกับคนในครอบครัวของตัวเอง

วันที่พ่อเปลี่ยนไป

“พ่อเขาเป็นคนชอบเข้าสังคม ชอบออกไปข้างนอก แต่วันหนึ่งเขาก็เริ่มอยู่ติดบ้านมากขึ้น และไม่ค่อยออกไปไหน ถ้าขับรถไปข้างนอกก็มักจะเกิดอุบัติเหตุเล็ก ๆ น้อย ๆ อยู่เสมอ เวลากด ATM ก็จะโดนตู้กินบัตรตลอด แต่ตอนนั้นผมก็ยังไม่ได้คิดว่ามันเป็นปัญหา

“ปกติผมจะกลับบ้านทุกเสาร์-อาทิตย์ มีอยู่อาทิตย์หนึ่งที่ผมกลับบ้าน แม่ก็มาเล่าให้ฟังแบบขำ ๆ ว่า ‘พ่อแกเริ่มอาการหนักแล้วนะ กินข้าวแล้วก็บอกว่ายังไม่ได้กิน’ ผมก็เลยคิดว่ามันเป็นสัญญาณที่น่าเป็นห่วง เลยรีบไปปรึกษาอ.อ้อย (ผศ.พญ.สิรินทร ฉันศิริกาญจน)แล้วพาคุณพ่อไปตรวจ และได้รับการยืนยันว่าคุณพ่อเป็นโรคอัลไซเมอร์จริง ๆ

“ความโชคดีของผมคือผมพอมีความรู้อยู่บ้าง ทำให้เรารู้ว่าการเป็นอัลไซเมอร์มันไม่ใช่วันสิ้นโลก เรายังเดินต่อไปได้​ และมองเห็นภาพว่าจะต้องไปต่อในทิศทางไหน ถ้าเป็นคนอื่นที่เขาไม่เคยรู้จักอะไรพวกนี้มาก่อน เขาก็อาจจะไปไม่เป็น แต่ถึงแม้จะเป็นแบบนั้น​ การที่พ่อป่วยก็ยังไม่ใช่เรื่องที่จะรับมือได้ง่าย”

ใกล้เกินไปก็ไม่ดี

“ผมเลือกที่จะสื่อสารกับพ่อตรง ๆ แล้วพาเขาเข้าสู่กระบวนการรักษา รวมทั้งบอกให้แม่เข้าใจถึงอาการที่พ่อเป็นด้วย แต่จนถึงทุกวันนี้ก็ยังไม่ใช่เรื่องง่ายที่แม่จะยอมรับและลดความคาดหวังให้พ่อเขาทำอะไรหลาย ๆ อย่างด้วยตัวเองได้เหมือนเมื่อก่อน เขาจะมีคำถามอยู่ตลอดว่า ทำไมถึงลุกออกจากเตียงเองไม่ได้ ทำไมถึงฉี่รดที่นอน​ ฯลฯ​

“ผมโชคดีที่พ่อเขาไม่ได้มีอาการไปทางฉุนเฉียว ก้าวร้าว เขาจะนอนทั้งวัน ทำให้เคสพ่อดูแลค่อนข้างง่ายเมื่อเทียบกับเคสอื่น ๆ

“ผมพยายามให้อามาเป็นตัวเชื่อม การที่ให้ลูกหลานหรือคนที่ใกล้ชิดมากเกินไปมาดูแลพ่อแม่หรือคนในครอบครัวที่เจ็บป่วย บางครั้งมันก็ไม่ดีนะ เพราะมันมีความคาดหวังบางอย่างในความสัมพันธ์อยู่ เช่น เมื่อก่อนพ่อเคยเป็นฮีโร่ของเรานะ เขาเคยทำหลาย ๆ อย่างให้เราได้ หรือเรื่องของลำดับชั้นความสัมพันธ์ที่เป็นความทรงจำหรือความรู้สึกที่มีต่อบุคคลนั้น ๆ เช่น พ่อเขาอาจจะมองว่าอาเป็นน้องคนเล็ก เวลาบอกอะไรเขาไม่จำเป็นต้องฟัง เวลาที่แม่กับอาบอกให้เขาทำอะไร เขาก็จะไม่ค่อยทำ แต่พอเป็นผมพูด เขาจะฟังมากขึ้น”

ถ้า‘เข้าใจ​’ จะไม่​ ‘คาดหวัง’

“ช่วงหลัง ๆ มา​พ่อเขาไม่ค่อยมีกิจกรรมทางกายเท่าไร​ ร่างกายเขาเฉื่อยชาลงมาก นอนทั้งวันทั้งคืน จากที่เคยออกไปเดิน ไปวิ่ง ตอนนี้ก็ไม่ได้ทำแล้ว พอเขาใช้พลังงานน้อย​ เขาก็กินข้าวน้อยลง แต่แม่ยังทำทุกอย่างให้พ่อเหมือนตอนก่อนที่พ่อจะป่วย เคยตักข้าวให้พ่อแค่ไหน เขาก็ยังตักเท่าเดิม แล้วเวลาพ่อกินไม่หมด เขาก็จะไม่เข้าใจ แล้วคาดหวังให้พ่อกินข้าวให้หมด เราก็ต้องค่อย ๆ อธิบายให้แม่เข้าใจ และลดความคาดหวังที่จะให้พ่อยังทำอะไร​ ๆ​ ​เหมือนเดิมได้อยู่

“การดูแลผู้ป่วยอัลไซเมอร์​ สิ่งที่สำคัญมาก​ ​ๆ​ คือความเข้าใจ​ เพราะถ้าไม่เข้าใจมันจะเกิดคำถามหลายอย่างตามมา​ ผมไม่เคยตั้งคำถามกับพ่อหรือกับตัวเองเลยว่า ทำไมพ่อเขาถึงทำอย่างนั้น​อย่างนี้ไม่ได้”

เตรียมพร้อมอยู่เสมอ

“ก่อนที่พ่อแม่จะป่วย ผมเป็นคนที่โฟกัสเรื่องงานเป็นหลัก แต่พอเขาป่วยเราต้องจัดตารางเวลาของเราให้ชัดเจนขึ้น เมื่อก่อนเราแทบไม่มีบล็อกกิจวัตรต่าง ๆ ของพ่อแม่อยู่ในตารางเวลาเลย แต่ทุกวันนี้เรื่องของพ่อแม่จะต้องเป็นส่วนหนึ่งที่จัดไว้ในตารางเวลาของเราเสมอ

“สิ่งหนึ่งที่ท้าทายอย่างมากคือผมต้องพยายามบริหารทุกอย่างด้วยทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด โชคดีที่พ่อแม่ผมเป็นข้าราชการ ทำให้เบิกค่ารักษาพยาบาลได้ รวมทั้งเขาก็มีพื้นฐานในการเก็บเงินที่ดี ทำให้ผมสามารถผ่านตรงนี้ไปได้ง่ายขึ้น แต่ถ้าครั้งไหนที่มีการใช้ยานอกบัญชี เราก็มีค่าใช้จ่ายตรงนี้เพิ่มขึ้นค่อนข้างสูงเหมือนกัน

“สิ่งที่ครอบครัวควรเตรียมไว้คือติดเบอร์ติดต่อหรือข้อมูลสำคัญไว้กับตัวผู้ป่วย หากมีเบอร์นี้อยู่คนที่พบเห็นก็จะสามารถช่วยเหลือ หากเกิดเหตุฉุกเฉินขึ้นกับผู้ป่วยได้ สังคมเป็นอีกส่วนที่สำคัญอย่างมากที่จะช่วยดูแลผู้ป่วยอัลไซเมอร์ หากพบเจอผู้สูงอายุที่ต้องการความช่วยเหลือ ก็อยากให้ทุกคนเข้าไปถามได้เลย แม้ว่าจะไม่ได้เป็นผู้ป่วยอัลไซเมอร์ก็ตาม”

ให้ในสิ่งที่เคยได้รับ

“ผมอยากให้พ่อมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความสุข ไม่อยากให้เขาอยู่ในสภาพที่ไม่สบายตัว ไม่สบายใจ ผมจะคอยบอกเขาตลอดว่า ‘ต้องสู้นะ ต้องอยู่ต่อนะ’ เวลาพาเขาทำกายภาพฯ ผมก็จะชมเขาตลอด กว่าพ่อจะก้าวได้แต่ละก้าว เรารู้สึกว่าเขาเก่งมาก มันคงเป็นความรู้สึกแบบเดียวกับตอนที่พ่อฝึกให้เราเดิน แล้วเราเดินได้ก้าวแรก

“บางคนอาจจะคิดว่าการดูแลพ่อเป็นหน้าที่หนึ่งที่เราต้องรับผิดชอบ และอยากหลุดออกจากกรอบความกตัญญู แต่ผมแค่นึกย้อนกลับไปถึงตอนที่เขาดูแลเราตอนเป็นเด็ก กว่าเราจะโตมาได้ขนาดนี้ พ่อแม่เขาก็ให้ในสิ่งที่ดีที่สุดที่เขาทำได้กับเรา ณ เวลานั้น  พอมาถึงตอนนี้ผมก็แค่ทำสิ่งที่ดีที่สุดที่ผมทำได้ให้กับเขาในแบบเดียวกัน”

ทุกข์เบาลงเมื่อได้แบ่งปัน

“ผมพูดคำว่าโชคดีบ่อยมาก ถ้าเหรียญมันมีสองด้าน ผมจะเลือกมองด้านที่มันดีเสมอ เช่น ตอนรู้ว่าพ่อเป็นอัลไซเมอร์ก็จะคิดว่าดีจังที่รู้เร็ว ดีจังที่เป็นชนิดที่ไม่รุนแรงมาก ดีที่เรามีความรู้เรื่องนี้ สำหรับคนที่กำลังเผชิญปัญหาผมคิดว่าสิ่งหนึ่งที่สำคัญ คือ การเลือกว่าเราจะหยิบมุมไหนขึ้นมามอง แม้ปัญหาจะถาโถมเข้ามามาก แต่สุดท้ายมันจะมีทางออกของมันเสมอว่าจะเราจะต้องจัดการอย่างไร

“ถ้ามีโอกาสก็อยากให้ลองแชร์เรื่องราว ประสบการณ์ แลกเปลี่ยนกับคนอื่น อย่างสมาคมผู้ดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อมก็มีพื้นที่ให้แชร์เรื่องราว อยากให้ลองเล่า ลองระบายออกมา บางครั้งเรื่องราวของเราอาจจะเป็นประโยชน์และสามารถช่วยคนอื่นได้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ก็จะกลายเป็นพลังงานที่ดีที่ส่งกลับมาให้เราก้าวต่อไปได้เช่นกัน”

ขอบคุณภาพจาก : อาจารย์เจษ

พบกับงาน “แม่…ยังอยู่ในนั้นไหม” เวที Talk และ Workshop ที่อยากพาทุกคนไปสำรวจจักรวาลภายในของผู้ป่วยสมองเสื่อม พร้อมเรียนรู้วิธีป้องกันและสร้างความเข้าใจภาวะสมองเสื่อม ‘ที่ไม่ว่าใครก็อาจเป็นได้’

กิจกรรมจะจัดขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 22 กันยายน 2567

เวลา 11.00-16.00 น.

ณ ห้อง Friends of BACC ชั้น 6 หอศิลปวัฒนธรรมแห่ง กรุงเทพมหานคร (BACC)

ขอบคุณทุกเสียงตอบรับและความสนใจในการเข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้ สำหรับผู้ผ่านการคัดเลือกเข้าร่วมกิจกรรมทุกท่าน อย่าลืม !! มาพบกันวันอาทิตย์นี้

สำหรับผู้ที่พลาดโอกาสร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ สามารถติดตามเพจมนุษย์ต่างวัยไว้เพื่อรับข้อมูลข่าวสารการจัดกิจกรรมอื่น ๆ ที่น่าสนใจในครั้งหน้า เรายังมีอีกหลายกิจกรรมไว้รอให้ทุกคนได้เข้ามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ไปด้วยกันตลอดทั้งปี

Credits

Author

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ