เมื่อปัญหา “ฮิคิโคโมริ” พฤติกรรมแยกตัวออกจากสังคม กำลังเป็นปัญหาหนักอกของสังคมญี่ปุ่น

เมื่อสังคมสูงวัยในญี่ปุ่นที่มีสัดส่วนประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปมากถึงร้อยละ 36.4 ของจำนวนประชากร ไม่ได้ก่อให้เกิดแค่ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ประชากรลดลง และค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพที่ทวีสูงขึ้นทุกขณะเท่านั้น แต่ยังมีอีกหลากหลายปัญหาที่รัฐบาลญี่ปุ่นกำลังกุมขมับ เพราะเป็นปัญหาที่คาดไม่ถึง แถมยังซับซ้อนและไม่รู้ว่าจะหาแนวทางใดมาแก้ปัญหาได้อย่างถูกวิธี

และนี่คือ 3 ปัญหาที่กำลังขยายตัวขึ้นในสังคมญี่ปุ่น

ปัญหาที่ 1 “การตายอย่างโดดเดี่ยว” แค่ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2024  มีชาวญี่ปุ่นที่อาศัยอยู่คนเดียวเสียชีวิตตามลำพังในบ้านรวม 37,227 ราย ในจำนวนนี้ ร้อยละ 76 หรือ 28,330 ราย เป็นผู้สูงวัยอายุ 65 ปี และ 3,393 ศพ ตายลำพังมานานกว่าหนึ่งเดือนแล้ว

ปัญหาที่ 2 “ฮิคิโคโมริ วัยผู้ใหญ่” จากการสำรวจของทางการญี่ปุ่นเมื่อปี 2022 พบว่า มีบุคคลที่ปฏิเสธการอยู่ร่วมกับผู้อื่น เลือกที่จะอยู่คนเดียว ไม่ไปโรงเรียน ไม่ไปทำงาน มากกว่า 6 เดือนขึ้นไป หรือที่เรียกว่า ฮิคิโคโมริมากขึ้นเรื่อย ๆ จากการสำรวจพบว่า “ฮิคิโคโมริวัยผู้ใหญ่” ในญี่ปุ่นมีอยู่ราว 1.46 ล้านคนจากประชากรญี่ปุ่น 125 ล้านคน ในจำนวนนี้ มีมากถึง 613,000 คน หรือ เกือบครึ่งหนึ่งที่มีอายุระหว่าง 40-60 ปี นั่นทำให้ครอบครัวที่มีลูกเป็นฮิคิโคโมริ พ่อแม่ที่แก่เฒ่าต้องเลี้ยงดูลูกที่กำลังมีอายุเข้าใกล้วัยเกษียณ

ปัญหาที่ 3 “ลูกหลานทอดทิ้งศพ” สำนักข่าวไมนิจิรายงานว่า คนวัยกลางคนอายุประมาณ 40 ปีขึ้นไปถูกจับกุมเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากถูกกล่าวหาว่าละทิ้งศพพ่อแม่ผู้สูงอายุที่เสียชีวิตในบ้านที่พวกเขาอาศัยอยู่ด้วยกัน เฉพาะสถิติในปี 2023 ถูกจับกุมมากถึง 19 ราย เพิ่มขึ้นจากค่าเฉลี่ยรายปีระหว่างปี 2014 ถึง 2023 ที่เกิดขึ้นเพียง 14.6 รายต่อปี โดยผู้กระทำผิดส่วนใหญ่อายุ 50 ปีขึ้น และเกือบทั้งหมดเป็นคนว่างงาน

ปัญหาการตายอย่างเดียวดายนั้น จากเดิมที่รัฐมองเป็นเรื่องปัจเจกชนที่ต้องไปหาซื้อบริการจากเอกชนมาจัดการให้ตั้งแต่ยังไม่เสียชีวิต แต่พบว่า มีแต่ผู้สูงอายุที่ฐานะดีเท่านั้นที่สามารถเตรียมการได้ ทำให้ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา กระทรวงสวัสดิการของญี่ปุ่นเสนอแผนให้มี “ผู้ประสานงาน” ของรัฐทำหน้าที่เป็น “ผู้ค้ำประกัน” ของคนแก่ที่อยู่อาศัยคนเดียวในกรณีต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการคอยดูแลเซ็นต์เอกสารค้ำประกันให้ในการเข้าบ้านพักคนชราหรือการผ่าตัด คอยประสานงานแผนงานศพไว้ตอนยังมีชีวิตและเตรียมจัดงานตามการร้องขอของผู้เสียชีวิต รวมถึงการจัดหาทนายมาทำพินัยกรรมและคอยจัดการทรัพย์สินให้ด้วย ซึ่งที่ผ่านมามีโครงการแบบนี้นำร่องในหลายเขตเทศบาลแล้ว และเร็ว ๆ นี้น่าจะมีการพัฒนาเป็นโครงการระดับชาติ เพื่อดูแลปั้นปลายชีวิตของผู้สูงอายุ และลดปัญหาที่รัฐต้องจัดการสิ่งต่าง ๆ ของ “คนแก่ไร้ญาติที่ตายโดยลำพัง”

แต่อีก 2 ปัญหานั่นคือ “ฮิคิโคโมริ วัยผู้ใหญ่” และ “ลูกหลานทอดทิ้งศพ” ดูเหมือนจะหาทางออกได้ยากกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหา “ฮิคิโคโมริวัยผู้ใหญ่”

ฮิคิโคโมริ เป็นคำศัพท์ในภาษาญี่ปุ่น แต่ได้รับการบรรจุเป็นคำศัพท์ในพจนานุกรมออกซ์ฟอร์ดตั้งแต่ปี 2010 จากพฤติกรรมการแยกตัวจากสังคมของวัยรุ่นและคนวัยทำงานชาวญี่ปุ่นในช่วงปลายทศวรรษ 1990 จากปัญหาเศรษฐกิจและสังคมที่บีบคั้น ภาพที่เห็นก็คือ พ่อแม่วัย 80 ปีต้องดูแลลูก ๆ วัย 50 ปี ที่เป็นฮิคิโคมิริ หรือที่มักเรียกกันว่า “ปัญหา 80-50″ และตอนนี้ก็กำลังกลายเป็นปัญหา “90-60” นั่นคือพ่อแม่วัย 90 ปี ต้องดูแลลูก ๆ วัย 60 ปี

ตลอดเวลากว่าสามทศวรรษที่ปัญหานี้ถูกมองเป็นเรื่องปัจเจกชน ปัญหาของแต่ละครอบครัว ส่วนใหญ่ไม่กล้าเปิดเผยหากมีสมาชิกในครอบครัวเก็บตัวเช่นนี้ เพราะถือเป็นเรื่องน่าอับอาย ไม่กล้าปรึกษาหรือขอรับความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญใด ๆ ทำให้จากเด็กวัยรุ่นที่เริ่มเก็บตัว ซุกอยู่ในห้อง บัดนี้พวกเขาเติบโตเข้าสู่วัยผู้ใหญ่และกำลังเข้าสู่วัยใกล้เกษียณที่มี ชีวิตโดดเดี่ยว เก็บตัวอยู่แต่ในห้องไม่มีสังคม และที่น่าหนักใจไปกว่านั้นก็คือพ่อแม่ของพวกเขากำลังก้าวเข้าสู่วัยชรา

อาจมีข้อสงสัยว่า แล้วเหล่าคนที่เก็บตัวเหล่านี้มีชีวิตอยู่ได้อย่างไร?

คำตอบก็คือ… พวกเขาอยู่ได้ด้วยการดูแลจากพ่อแม่สูงวัยของพวกเขานั่นเอง เช่น นำอาหารและน้ำมาวางหน้าห้อง จนวันหนึ่งพ่อแม่ของเขาเสียชีวิต ศพของพ่อแม่ก็ถูกทิ้งอยู่ในบ้าน ด้วยเหตุที่ว่า เหล่าฮิคิโคโมริใช้ชีวิตอยู่แต่ในห้อง ไม่พบปะผู้คนนอกบ้านมานานกว่า 20-30 ปี จนไม่รู้จะหาทางจัดการศพอย่างไร หรือจะขอความช่วยเหลือจากใคร จึงได้แต่ปล่อยร่างของพ่อแม่ที่ตายแล้วไว้อย่างนั้น ซึ่งผิดกับบางคดีที่ลูกหลานจงใจปิดบังการตายของพ่อหรือแม่ ตั้งใจปิดบังซ่อนเร้นศพเพื่อหวังรับบำนาญต่อเนื่องเหมือนกับพ่อแม่ยังมีชีวิตอยู่

อย่างไรก็ตาม ปัญหา 80-50 และ 90-60 ยังไม่จบแค่นั้น รศ.มิโนรุ คาวาคิตะ อาจารย์ด้านสังคมวิทยาจากมหาวิทยาลัยการศึกษาไอจิ ชี้ว่า ไม่ใช่แค่การละทิ้งศพเท่านั้น แต่ยังมีกรณีที่ฮิคิโคโมริที่เป็นผู้ใหญ่ถูกทิ้งไว้ตามลำพังที่บ้านในขณะที่พ่อแม่ของพวกเขาเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งหลายกรณีที่พบคือ ฮิคิโคโมริเหล่านี้จะเสียชีวิตลงไม่นานหลังต้องอยู่ลำพัง “เราจำเป็นต้องมีมาตรการเพื่อให้ผู้คนเหล่านี้ส่งสัญญาณ SOS ขอความช่วยเหลือในกรณีฉุกเฉิน”

ข้อมูลรวบรวมจากรัฐบาลท้องถิ่นต่าง ๆ พบว่า ขณะนี้ มีเคสของคนที่อยู่ในภาวะฮิคิโคโมริที่กำลังตกอยู่ในความเสี่ยงที่พ่อแม่สูงวัยตายจากไปแล้ว น่าจะมีมากถึง 300 คนทั่วญี่ปุ่น จนถึงขณะนี้ นักสังคมสงเคราะห์ของรัฐบาลท้องถิ่นยังประสบความยากลำบากในการเข้าถึงตัวพวกเขา

สารคดี Documentary 360 ของ NHK ตามนักสังคมสงเคราะห์ไปตามบ้านฮิคิโคโมริหลายหลังเพื่อไถ่ถามว่า ต้องการความช่วยเหลือหรือไม่อย่างไร แต่สิ่งที่พวกเขาทำได้คือ ดูว่ายังมีร่องรอยการใช้ชีวิตของคนในบ้านหรือไม่ เพราะส่วนใหญ่คนเหล่านี้จะไม่ยอมสื่อสาร บางครั้งนักสังคมสงเคราะห์ก็ต้องใช้การเขียนกระดาษโน้ตแปะไว้ เพื่อไถ่ถามว่าต้องการความช่วยเหลืออะไรหรือเปล่า เพราะพวกเขาเชื่อว่า อย่างน้อยการเขียนตอบว่า “ขอบคุณ ไม่ต้องการ” ยังดีกว่ากระดาษโน้ตยังอยู่ที่เดิมแล้วได้กลิ่นศพลอยออกมาจากบ้าน

“เป็นเรื่องยากมากๆที่ฮิคิโคโมริที่เก็บตัวนาน ๆ จะแก้ปัญหาของเขาเอง หรือครอบครัวต้องแก้ปัญหากันตามลำพังเพื่อทำให้เขากลับเข้ามาสู่สังคมใช้ชีวิตปกติได้ แต่ถ้าทิ้งปัญหานี้ยาวนานออกไป นี่คือปัญหาที่กระทบกับคนทุกวัย” ทามากิ ไซโต้ นักจิตวิทยาผู้เขียนหนังสือ Hikikomori: Adolescence Without End กล่าว

“เขาจะอยู่ยังไง ถ้าฉันตายไป ตอนนี้ฉันต้องเริ่มหาความช่วยเหลือจากที่ต่าง ๆ” คุณแม่ที่เป็นหม้ายวัย 77 ปีได้แสดงความกังวลระหว่างการสำรวจของภาครัฐถึงชะตากรรมของลูกชายวัย 53 ปีที่เก็บตัวอยู่แต่ในห้อง

บางองค์กรพัฒนาเอกชนที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐเริ่มจัดค่ายให้คนที่เคยเก็บตัวมาลองค่อย ๆใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่น ก่อนที่จะออกไปใช้ชีวิตในสังคมปกติ เช่น Hito Refresh Camp ที่ผู้ปกครองส่งลูกหลานวัย 20-40 มาเข้าค่าย มีทั้งคนที่ประสบความสำเร็จสามารถกลับไปใช้ชีวิตและหางานทำได้ แต่ก็มีบ้างที่ถอนตัวกลับไปตั้งแต่ 2 สัปดาห์แรก

ทาเคชิ ไซโตะ นายกเทศมนตรีเขตเอโดะกาวะ ในกรุงโตเกียว เริ่มโครงการเชิญชวนผู้ที่อยู่ในภาวะฮิคิโคโมริมาประชุมเพื่อสื่อสารกับคนที่เก็บตัว สอบถามเกี่ยวกับสมาชิกในครอบครัว หรืออะไรที่พวกเขาต้องการบอก ผู้เข้าร่วมสามารถเลือกได้ว่าจะมาที่ศาลาว่าการเขต หรือจะเข้าร่วมผ่าน ‘Avatar’ แบบไม่ต้องเปิดเผยชื่อใน livestream ซึ่งในการประชุมครั้งแรกนั้น มีผู้เข้าร่วมออนไซต์ 19 คนและผ่าน Avatar ถึง 12 คน

“เราต้องสร้างสิ่งแวดล้อมให้พวกเขาสามารถส่งสัญญาณของความช่วยเหลือได้ แม้จะยังปลีกตัวจากสังคมก็ตาม เราจะแสวงหาหนทางและกลไกที่แตกต่างเพื่อทำให้คนเหล่านี้สามารถเชื่อมโยงกับคนอื่น ๆ ได้” นายกเทศมนตรีไซโตะกล่าว

ขณะนี้ หลายรัฐบาลท้องถิ่นพยายามจัดประชุมช่วยเหลือพ่อแก่แม่เฒ่าที่อายุเกิน 80 ปี ที่มีลูกอายุ 50+ ที่เป็นฮิคิโคโมริ แม้ไม่ง่ายนัก แต่รัฐบาลท้องถิ่นต่าง ๆ ยังไม่ถอดใจ เพราะนี่ไม่ใช่แค่ปัญหาภายในแต่ละครอบครัวที่จะปล่อยให้พวกเขาไปจัดการแก้ปัญหากันเองอีกต่อไป

อ้างอิง

Credits

Author

  • กรรณิการ์ กิจติเวชกุล

    สื่อมวลชนอาวุโส วัยไล่เลี่ยกับ Founder มนุษย์ต่างวัย สนใจความเป็นไปของโลก เมื่อว่างจากงานตบตีกู้โลก ยังสนุกสนานกับการถ่ายทอดเรื่องราวต่าง ๆ ผ่านเสียงและข้อเขียน

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ