ภาพยนตร์ ‘หลานม่า’ หนังไทยที่เล่าเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างเอ็ม เด็กหนุ่มวัยรุ่น นำแสดงโดย บิวกิ้น พุฒิพงศ์ อัสสรัตนกุล กับอาม่าเชื้อสายจีน นำแสดงโดยคุณยายแต๋ว อุษา เสมคำ หนังไทยที่ถูกพูดถึงมากที่สุดเรื่องหนึ่งกำลังจะเข้าฉายที่จีนแผ่นดินใหญ่ปลายเดือนนี้ หลังจากกวาดรายได้มาแล้วหลายประเทศ รวมทั้งที่สิงคโปร์ ‘หลานม่า’ เป็นภาพยนตร์ไทยที่ทำรายได้สูงสุดตลอดกาลหลังออกฉายเพียง 11 วันเท่านั้น
ไม่เพียงแต่จะประสบความสำเร็จด้านรายได้ “หลานม่า” ยังเป็นภาพยนตร์ที่สร้างความประทับใจและตราตรึงใจให้กับผู้ชมชาวสิงคโปร์เป็นอย่างมาก จนนำไปสู่การตั้งคำถามถึงถึงประเด็นช่องว่างระหว่างวัยที่เกิดขึ้นในภาพยนตร์อย่างประเด็นที่ว่า จะพูดคุยกับอาม่าอย่างไร ก่อนที่ภาษาจีนแต้จิ๋วของอาม่าจะตายไป
รศ.ตันหยิงหยิง ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีนันยาง บอกเล่าเรื่องราวในฐานะที่เธอเป็นหนึ่งในผู้โชคดีไม่กี่คนที่เติบโตมาโดยพูดภาษาแต้จิ๋วกับอาม่า หรือคุณย่าที่ล่วงลับไปแล้ว
‘หลานม่า’ แสดงให้เห็นถึงการใช้ “ภาษาถิ่น” ที่ลดน้อยลงอาจทำให้หลาน ๆ สื่อสารกับปู่ย่าตายายได้ยากเหมือนที่เอ็มไม่เข้าใจเมื่ออาม่าพูดแต้จิ๋ว ขณะเดียวกัน ภาษาแต้จิ๋วถูกใช้เป็นกลยุทธ์ในฉากที่สะเทือนใจในช่วงท้ายเรื่อง เมื่อเอ็มจับมืออาม่าแล้วพยายามร้องเพลงกล่อมเด็กภาษาแต้จิ๋วในขณะที่อาม่าสิ้นใจ
“ตอนนี้ฉันพยายามอย่างมากที่จะหาเนื้อเพลงกล่อมเด็กภาษาแต้จิ๋วที่อาม่าร้องให้ฉันฟัง ในสิงคโปร์ เมื่ออาม่าเสียชีวิต ภาษาของเธอก็ตายไปพร้อมกับเธอด้วย เมื่อภาษาตายไป ทัศนคติทางวัฒนธรรมก็หายไปด้วย แม้การสูญเสียนั้นอาจเป็นสิ่งที่จับต้องไม่ได้”
การที่คนหนุ่มสาวอย่างเอ็มไม่สามารถเข้าใจภาษาจีนแต้จิ๋วหรือ “สำเนียง” อื่นๆ ของจีนได้นั้นไม่ใช่ปัญหาเฉพาะในประเทศไทย รศ.ตันชี้ว่า ในสิงคโปร์เองก็กำลังเผชิญกับสถานการณ์เดียวกันนี้ หรืออาจจะเลวร้ายกว่าด้วยซ้ำ
ตามการสำรวจสำมะโนประชากรในปี 2563 พบว่าชาวจีนสิงคโปร์ที่มีอายุระหว่าง 5 ถึง 34 ปี เพียงร้อยละ 1.4 เท่านั้นที่ใช้ “ภาษาถิ่น” เวลาที่พูดกันในครอบครัว ในขณะที่คนอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไปยังใช้อยู่ถึงร้อยละ 31.6
อะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้การใช้ภาษาถิ่นสูญหายไปในประเทศสิงคโปร์ ทั้งที่ก่อนได้รับเอกราช ฮกเกี้ยน แต้จิ๋ว และกวางตุ้งเป็นสามภาษาที่ใช้กันทั่วไปมากที่สุดของประชากรจีนในสิงคโปร์
เช่นเดียวกับสิ่งมีชีวิต ภาษาต่าง ๆ ก็มีชีวิตและความตายเช่นกัน ภาษาจะตายเมื่อภาษานั้นไม่ได้ถูกพูดหรือเข้าใจในชุมชนใด ๆ อีกต่อไป
ในสิงคโปร์นโยบายด้านภาษาและการศึกษาให้ความสำคัญกับภาษาอังกฤษ ภาษาจีนกลาง ภาษามาเลย์ และภาษาทมิฬ จึงทำให้สถานะในสังคมของภาษาเหล่านี้สูงขึ้น ภาษาจีนอื่น ๆ เช่น ภาษาฮกเกี้ยน ภาษาแต้จิ๋ว และภาษากวางตุ้ง ถูกจัดเป็นแค่ “ภาษาถิ่น”
แคมเปญ Speak Mandarin ซึ่งเปิดตัวในปี 1979 มีบทบาทสำคัญในการเร่งให้ภาษาจีนอื่น ๆ ล่มสลายลง ระยะแรกของการรณรงค์ฯ มุ่งเน้นให้พ่อแม่และอากงอาม่าเรียนรู้และใช้ภาษาจีนกลางแทนจีนอื่น ๆ รายการโทรทัศน์และวิทยุแบบสาธารณะต้องเป็นจีนกลางทั้งหมด ยกเว้นงิ้วหรือบางรายการที่ได้รับการอนุมัติโดยเฉพาะ ในบทสนทนาและเพลงอาจได้รับอนุญาต หากบริบทเหมาะสมและจำเป็นจริง ๆ เท่านั้น กว่าที่ละครฮกเกี้ยนเรื่อง Jiak Ba Buay (กินข้าวแล้วเหรอ?) ซึ่งมีความยาว 10 ตอน ได้ออกอากาศในทีวีสิงคโปร์ ในฐานะซีรีส์ “จีนอื่น” ล่วงเลยมาถึงปี 2016
ในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา มีการอภิปรายทั้งในเชิงวิชาการและในที่สาธารณะเกี่ยวกับการสูญเสียภาษาเหล่านี้ไปว่า ได้สร้างปัญหาในการสื่อสารข้ามรุ่นระหว่างปู่ย่าตายายกับหลาน ๆ ของพวกเขา ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีรายงานพบว่า ชาวจีนสิงคโปร์รุ่นเยาว์รู้สึกสูญเสียอัตลักษณ์เนื่องจากไม่สามารถพูด “ภาษาถิ่น” ของตัวเองได้ และต้องการค้นหารากของตนเอง
ปัญหาที่มากไปกว่านั้น คือ ชาวจีนสิงคโปร์รุ่นที่พูดได้แต่ “ภาษาถิ่น” มีปัญหากับบริการสาธารณะ และเป็นปัญหาร้ายแรงโดยเฉพาะในโรงพยาบาลและสถานดูแลผู้สูงอายุ ทำให้มีการตั้งชุมชนออนไลน์ที่รวบรวมผู้คนมาเรียนรู้ภาษาเหล่านี้เพื่อฟื้นคืนชีพภาษาขึ้นมาใหม่ องค์กรหลายแห่ง ยังเปิดชั้นเรียนสำหรับบุคลากรทางการแพทย์เพื่อให้สามารถดูแลผู้ป่วยที่รู้เฉพาะภาษาถิ่นได้ดีขึ้น พร้อม ๆ ไปกับนโยบายการห้ามใช้ “ภาษาถิ่น” ในพื้นที่สื่อลดความเข้มงวดลง
ปัจจุบัน ช่อง 8 ที่สิงคโปร์นำเสนอรายการ “ภาษาถิ่น” ในเช้าวันศุกร์ และสถานีวิทยุ Capital FM 95.8 เสนอข่าวสารประจำวันเป็น “ภาษาถิ่น” เพื่อถ่ายทอดข้อมูลและนโยบายสาธารณะให้กับผู้สูงอายุอีกด้วย บันไดเลื่อนบางจุดในสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินมีประกาศข้อความเพื่อดูแลความปลอดภัยเป็นภาษาฮกเกี้ยนและกวางตุ้งเพื่อเตือนผู้โดยสารให้จับราวบันไดไว้ให้แน่น
เมื่อหันกลับมาที่ประเทศไทย ภาษาจีนทั้งจีนกลาง จีนแต้จิ๋ว และจีนถิ่นอื่น ๆ ถูกรัฐกำกับอย่างเข้มข้นกว่าโดยสัมพันธ์กับการเรืองอำนาจของพรรคคอมมิวนิสต์บนจีนแผ่นดินใหญ่
จาก ‘ภาษาแห่งการสืบทอดอัตลักษณ์จีน’ ตาม พ.ร.บ. โรงเรียนราษฎร์ พ.ศ.2461 สู่ ‘ภาษาที่เป็นภัยต่อความมั่นคง’ ตามพ.ร.บ.โรงเรียนราษฎร์ พ.ศ.2479 และ ‘ภาษาที่เป็นเครื่องมือเผยแพร่ลัทธิคอมมิวนิสต์’ ในแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2494 ช่วงเวลาดังกล่าว ครอบครัวชาวไทยเชื้อสายจีนเผชิญความยากลำบากที่จะให้ลูกหลานได้รับการศึกษาภาษาจีน ไม่ว่าจีนกลาง หรือ จีนอื่น ๆ การปิดโรงเรียน การเข้มงวดตรวจสอบโรงเรียนเอกชนสอนภาษาจีน การลดชั่วโมงสอนภาษาจีนในแต่ละวัน แต่ละสัปดาห์ หรือถึงขั้นอนุญาตให้การเรียนการสอนกลุ่มเล็ก ๆ ไม่เกิน 7 คนเท่านั้น ฯลฯ
กว่าที่ ‘ภาษาจีน’ จะถูกยกให้เป็น ‘ภาษาเศรษฐกิจเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม’ ตามแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2535 ก็ล่วงไปเกือบ 4 ทศวรรษ โดยมติคณะรัฐมนตรีของรัฐบาลอานันท์ ปันยารชุนเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2535 เรื่องการกำหนดนโยบายการสอนภาษาต่างประเทศ และโรงเรียนสอนภาษาต่างประเทศ อนุญาตให้มีการเรียนการสอนภาษาจีนได้ในทุกระดับ ทำให้ภาษาจีนกลางมีสถานะเช่นเดียวกับภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน และญี่ปุ่น แต่ภาษาจีนอื่น ๆ ที่ใช้พูดกันในครอบครัวก็ลางเลือนหายไปไม่ข้ามรุ่นอีกต่อไป
“แม้จะพยายามทำทุกวิถีทางแล้ว แต่เราก็ไม่สามารถชุบชีวิตคนตายได้ ความพยายามชุบชีวิตเหล่านี้เป็นการแสดงความรู้สึกคิดถึงอดีต หรืออาจเป็นเพียงความเสียใจและความวิตกกังวลที่ “ภาษาถิ่น” เหล่านี้จะไม่อยู่ในพื้นที่ทางภาษาของเราอีกต่อไป”
อย่างไรก็ตาม ในมุมมองของ รศ.ตันหยิงหยิง ต่อจากการยอมรับความจริงว่า ภาษาถิ่นเหล่านี้ได้ทยอยตายตามผู้สูงอายุในชุมชนไป ประเด็นสำคัญที่ต้องพิจารณา คือ การสื่อสารและความเข้าใจระหว่างคนข้ามรุ่นที่รู้ภาษาแต่ละฝ่ายอย่างกระท่อนกระแท่นยังเป็นไปได้หรือไม่ และมีความพยายามสานความสัมพันธ์สร้างความเข้าใจให้เกิดขึ้นระหว่างกันหรือไม่อย่างไร
“ที่สิงคโปร์ อากงอาม่าในปัจจุบันหันมาพูดจีนกลางหรือภาษาอังกฤษกับลูกหลาน เช่นเดียวกับเอ็มและอาม่าในภาพยนตร์ การสื่อสารและความเข้าใจยังเกิดขึ้นได้ ถึงแม้จะไม่ใช่ด้วยภาษาของอาม่า แต่พวกเขายังสื่อสารกัน” รศ.ตันหยิงหยิงกล่าวทิ้งท้าย
อ้างอิง :
How to speak to Grandma before her language dies, CNA : https://shorturl.at/AmFwz
ความนิยมในการเรียนภาษาญี่ปุ่นและภาษาจีนของนิสิตเกษตรศาสตร์: แรงจูงใจแตกต่างกันอย่างไร, ยุพกา ฟูกุชิม่า กนกพร นุ่มทอง และสร้อยสุดา ณ ระนอง, ภาควิชาภาษาตะวันออก คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ : https://so02.tci-thaijo.org/…/japanese/article/view/13393