เปิดเคล็ดลับ ในการอัปสกิลแบบขั้นสุด กับคอร์สติวเข้มสู่การเป็นที่ปรึกษามืออาชีพ

เตรียมพร้อมให้ชีวิตซีซันใหม่ ต่อยอดทุกทักษะและความเชี่ยวชาญ อัปสกิลสู่การเป็น “ที่ปรึกษามืออาชีพ” อีกหนึ่งคอร์สเข้มข้นจากกิจกรรม “ชีวิต ซีซัน 2”

เมื่อวันที่ 3-4 สิงหาคม 2567 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับมนุษย์ต่างวัย SCB Academy ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) และ สำนักเคเอกซ์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เปิดห้องเรียนธุรกิจและการออกแบบชีวิตสำหรับคนวัยก่อนเกษียณ

ชวนคนวัย 45+ ที่มีของ มีไฟ และมีใจอยากเป็นที่ปรึกษา มาร่วมเรียนรู้เพื่อเตรียมพร้อมสู่เส้นทางการเป็นที่ปรึกษา เพื่อส่งต่อความรู้ ประสบการณ์ สร้างโอกาส และเสริมพลังให้กลุ่มผู้ประกอบการไทย ในห้องเรียนที่ 2 ของกิจกรรม “ชีวิต ซีซัน 2” วิชา “อัปสกิลขั้นสุดสู่การเป็นที่ปรึกษามืออาชีพ”

โดยกิจกรรมครั้งนี้ได้รับเกียรติจาก ดร.สุกฤตา ปรีชาว่อง Co-founder and learning innovator บริษัท สกิลเชป จำกัด และคุณอาจอำนงค์ อภิรักษ์ภูบาล กรรมการผู้จัดการ บริษัท โกกู๊ดเกน168 จำกัด มาร่วมถ่ายทอดความรู้ และแนวทางในการเป็นที่ปรึกษามืออาชีพ ให้กับผู้เข้าร่วมทุกท่าน

เรียนรู้ทักษะสำคัญในการเป็นที่ปรึกษา การพัฒนา EQ เทคนิคการตั้งคำถามและให้คำปรึกษา รูปแบบการสื่อสารกับคนแต่ละประเภทตามหลักการ DISC ที่จะช่วยให้เราเข้าใจตัวเองและคนอื่นได้ดีขึ้น เพื่อสร้างประสิทธิภาพสูงสุดในการสื่อสาร รวมทั้งได้ทดลองให้คำปรึกษาจากสถานการณ์จำลอง เพื่อแลกเปลี่ยนมุมมอง และความคิดกับเพื่อนใหม่ ในหลายวงการอาชีพ

เรียกได้ว่านอกจากความรู้และเทคนิคดี ๆ แบบจัดเต็มแล้ว ครั้งนี้ ทุกคนยังได้มิตรภาพดี ๆ จากเพื่อนใหม่ที่มีความฝันและความตั้งใจเหมือนกันในการก้าวสู่เส้นทางที่ปรึกษามืออาชีพในอนาคต

** กิจกรรมชีวิต ซีชัน 2 ยังมีวิชาอื่น ๆ ที่น่าสนใจ เตรียมไว้ให้เพื่อน ๆ ชาวมนุษย์ต่างวัยได้เรียนรู้กันอีกตลอดทั้งปี

อย่าลืมมาสนุกกับการเรียนรู้เพื่อเตรียมพร้อมสู่ชีวิตซีซันใหม่ไปด้วยกันนะครับ

“คุณสมบัติการเป็นที่ปรึกษา ประกอบด้วย การศึกษา ประสบการณ์ทำงาน ทักษะการคิดวิเคราะห์ แก้ปัญหา ทักษะการสื่อสารและมนุษยสัมพันธ์ ทักษะการบริหารจัดการโครงการ ความรู้ในธุรกิจหรืออุตสาหกรรมที่เราจะเข้าไปให้คำปรึกษา การปรับตัวและยืดหยุ่น และสำคัญที่สุดคือจริยธรรมในวิชาชีพ

“การที่จะทำให้คนอื่นรู้สึกไว้วางใจเราได้ คือการที่เขารู้สึกว่ามีบางอย่างคล้ายคลึงกับเรา ซึ่งสามารถฝึกฝนได้ ชวนคุยเพื่อทำความรู้จักคู่สนทนาเพิ่มขึ้น ก่อนจะถามในรายละเอียดเชิงลึก สังเกตท่าทีหรือปฏิกิริยาในการตอบสนองของเขา เริ่มจากการตั้งคำถามและการฟัง เพื่อปรับวิธีการสื่อสารให้เหมาะสม

“ในการสื่อสารให้ความสำคัญกับภาษากายมากที่สุดถึง 55% น้ำเสียง 38% และคำพูด 7% ที่เป็นแบบนั้นเพราะถ้าเราตามงานกับใครสักคนด้วยคำพูดประโยคเดียวกัน แต่ใช้น้ำเสียงต่างกัน ความรู้สึกก็จะไม่เหมือนกัน เราจึงต้องตระหนักอยู่เสมอว่าเราใช้ท่าทางและน้ำเสียงแบบไหนในการสื่อสาร ส่วนคำพูดก็สำคัญเช่นเดียวกัน ในบางครั้งการใช้คำสุภาพมากไปก็ไม่เหมาะกับบางที่ ทั้งนี้ต้องดูบริบทเป็นสำคัญ

“การเริ่มงานที่ปรึกษาในช่วงแรก ๆ เราจะมีความรู้สึกว่าเราอยากช่วยผู้ประกอบการอยู่มากซึ่งมันเป็นสิ่งที่ดี แต่ก็มีข้อควรระวังว่าเราจะรีบหาข้อสรุปเร็วเกินไป เอาสิ่งที่ตัวเองมีไปใส่เขา รีบตัดสินจนอาจทำให้แก้ปัญหาผิดจุด เวลาเราได้ข้อมูลมา อย่าเพิ่งรีบเชื่อเร็วเกินไป ต้องหาข้อมูลจากทุกแง่มุมให้ครบถ้วนก่อนทั้งผู้ประการ พนักงาน ลูกค้า

เวลาที่เราต้องให้ฟีดแบก เราจะใช้หลัก S.I.D.C โมเดล คือ นึกย้อนไปถึงสถานการณ์นั้น ๆ เวลานั้นเกิดอะไรขึ้น (Situation) แล้วพูดถึงสิ่งที่กระทบกับตัวเขา (Impact) แสดงความเป็นห่วงที่เรามีต่อเขา (Care) และเสนอวิธีการแก้ไขหรือพัฒนา (Develop) การพูดในเชิงพฤติกรรมจะช่วยให้เขาเห็นภาพและเกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นตามมา

“หลักการ DiSC ใช้ในการทำความรู้จักตัวเอง ทำความรู้จักคนอื่น และเชื่อมต่อเข้าหาผู้คน ทุกคนมีส่วนผสมทั้ง 4 สไตล์ แต่จะมีคุณสมบัติเด่นข้อใดข้อหนึ่งมากน้อยต่างกันไป

D Style

  • ขยัน เป็นทางการ มีแบบแผน
  • มองภาพใหญ่ เน้นเป้าหมาย ความสำเร็จมากกว่ารายละเอียดหรือวิธีการ
  • ชอบความท้าทาย ชอบการแข่งขัน

ข้อควรระวัง : ขาดความรอบคอบ ใจร้อน ความอดทนต่ำ ตัดสินใจเร็ว อาจทำให้ผิดพลาดได้

i Style

  • กระตือรือร้น สร้างสรรค์และเป็นมิตร
  • คุยเก่ง ชอบสังคม ตอบสนองเร็ว มีทักษะในการสื่อสาร จูงใจคนอื่นได้ดี
  • ไม่ค่อยเก็บอารมณ์

ข้อควรระวัง : ไม่รอบคอบ ไม่ระมัดระวัง ขี้เบื่อ ไม่ค่อยโฟกัส

◼️S Style

  • สบาย ๆ เป็นมิตร ไม่ชอบออกหน้า ชอบฟังมากกว่าพูด
  • ละเอียด สุภาพ ระมัดระวัง ต้องการขั้นตอนที่ชัดเจน ▪️ไม่ชอบการเปลี่ยนแปลงทันที
  • ให้ความสำคัญกับการทำงานเป็นทีม ตัดสินใจช้า

ข้อควรระวัง :  ตัดสินใจไม่เด็ดขาด แคร์ความรู้สึกมากเกินไปจนอาจไม่ได้ผลลัพธ์

◼️C Style

  • เข้มงวด ต้องการความสมบูรณ์แบบ ไม่ชอบเสี่ยง
  • เงียบ ขรึม เน้นข้อมูลและความชัดเจน
  • เคารพกติกา และต้องการให้ผู้อื่นทำด้วย

ข้อควรระวัง :  ตัดสินใจช้าเพราะต้องรอข้อมูลครบถ้วน 100% ขาดความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ไม่คิดนอกกรอบ

“ผมทำงานในแวดวงการขายและการตลาดมาตลอดช่วง 30 ปี มีประสบการณ์เรื่องการสร้างทีมขาย มีโอกาสได้ทำงานเชิงที่ปรึกษาในด้านการขาย ผมพบว่าการที่ช่วยแก้ปัญหาให้ลูกค้าได้ แล้วปัญหามันจบ ลูกค้ามีความสุข ทำให้ผมมีความสุขไปด้วย หลายคนก็ยังเป็นเพื่อนกันอยู่จนถึงทุกวันนี้ พอเห็นโครงการนี้เลยรีบสมัครเข้ามา

“ผมชอบทุกช่วงของกิจกรรม วิทยากรมีเทคนิคที่ทำให้คนอยากมีส่วนร่วม การได้เจอกับทีมงาน ได้เจอคอนเน็กชันใหม่ ๆ การได้ทำเวิร์กชอป การโยนโจทย์ให้เราคิด ให้เราได้ใช้ทักษะที่เรามีมาลองถามคำถามในช่วงจำลองสถานการณ์การให้คำปรึกษา

“การที่เราได้โจทย์ที่ชัดเจน จะทำให้เราแก้ปัญหาได้ถูกประเด็น ซึ่งเทคนิคการตั้งคำถามจะช่วยได้มาก รวมทั้งการหาจุดร่วม สิ่งที่คล้ายคลึงกัน จะทำให้คนที่เราให้คำปรึกษาเขาเปิดใจกับเรามากขึ้น อาจจะเป็นเรื่องง่าย ๆ อย่างเป็นคนภูมิภาคเดียวกัน จบโรงเรียนเดียวกันก็ได้

“ตอนนี้ผมทำบ้านสวนภู-นภัส สวนเกษตรอินทรีย์อยู่ที่กลางดง จ.นครราชสีมา ผมตั้งใจจะทำวิสาหกิจชุมชนในอนาคต อยากทำเรื่องแยกขยะ เลี้ยงไก่ไข่อารมมณ์ดี ผมพยายามจะกลับไปทำอะไรที่มีประโยชน์กลับสู่สังคม อยากเห็นสังคมที่ดีขึ้น”

“เราทราบข่าวกิจกรรมนี้จากรุ่นพี่ เห็นว่าเป็นกิจกรรมที่น่าสนใจ เลยอยากมาเข้าร่วมกิจกรรม เพราะอยากใช้ประสบการณ์ของตัวเองมาทำประโยชน์ให้กับคนอื่นได้บ้าง

“เรามองว่าธุรกิจ SME ตอนนี้มีปัญหาในด้านการเข้าถึงแหล่งเงินทุน เราทำงานอยู่สถาบันการเงิน มีทักษะด้านการเงินและสินเชื่อ ทำให้พอจะรู้แนวทางหรือเกณฑ์ของธนาคารที่จะพิจารณา  เลยคิดว่ามันน่าจะเป็นประโยชน์ต่อธุรกิจเล็ก ๆ ที่เขาไม่รู้ว่าต้องเตรียมตัวอย่างไร

“ปีหน้าเราก็จะเกษียณแล้ว อยากจะใช้เวลาที่มีไปทำประโยชน์ให้กับคนอื่นได้บ้างไม่มากก็น้อย คิดว่าจะฝึกฝน พัฒนาตัวเองจากความรู้ที่วิทยากรให้ รวมทั้งหาความรู้ใหม่ ๆ เพิ่มเติมด้วย เพราะการที่เรามีความรู้ แต่ไม่สามารถถ่ายทอดให้ออกมาได้ดีมันก็ไม่เกิดประโยชน์

ถ้าไม่ได้มาร่วมกิจกรรมวันนี้ คงพลาดโอกาสในการมาอบรม มาเจอเพื่อน ๆ หลากหลายธุรกิจหลากหลายสาขาอาชีพ ทำให้เราได้เปิดโลกความรู้ รวมทั้งบรรยากาศในการเรียนก็สนุกสนานด้วย

“ผมเห็นกิจกรรมนี้จากเพจมนุษย์ต่างวัย ลองอ่านรายละเอียด แล้วเห็นว่ากิจกรรมน่าสนใจ ประกอบกับเป็นคนชอบเรียนรู้อยู่แล้ว เลยสมัครมาเข้าร่วมกิจกรรมในวันนี้

“การมาร่วมกิจกรรมวันนี้ทำให้ได้เจอเพื่อนร่วมเรียนหลากหลายอาชีพ มีประสบการณ์ค่อนข้างเยอะ ทำให้แลกเปลี่ยนกัน เป็นการเปิดมุมมองและทัศนคติอีกแบบ ทำให้เรามองเห็นว่าสิ่งที่เราเข้าใจกับสิ่งที่วิทยากรสอนมีความแตกต่างกัน

“การเป็นที่ปรึกษาจะมีเครื่องมือต่าง ๆ เพื่อที่จะช่วยให้ข้อจำกัดทางความคิดบางอย่างของคนที่เข้ามาปรึกษาเปิดกว้างมากขึ้น ปัจจุบันเราหนีไม่พ้นเรื่องการใช้ไอที ผมอยากทำให้คนใช้ไอทีได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ นำเทคโนโลยีมาปรับใช้กับทุกส่วนของธุรกิจ ลดค่าใช้จ่ายให้น้อยที่สุด แต่ได้ผลลัพธ์ออกมามากที่สุด โดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย

“อีกเหตุผลหนึ่งที่อยากทำงานด้านที่ปรึกษาคือสนุกกับการได้พูดคุย สนุกกับการคิดวิธีการแก้ปัญหา การได้แลกเปลี่ยนกับคนอื่น ๆ”

“เราออกจากงานประจำเมื่อปลายปีที่แล้ว มีประสบการณ์ด้านการประชาสัมพันธ์และการผลิตสื่อ มากว่า 20 ปี คิดว่าสามารถที่จะแชร์ความรู้ที่มีให้กับผู้ประกอบการได้ เพราะเคยมีประสบการณ์ในการดูแลผู้ประกอบการทั้งรายใหญ่และรายย่อย

“คนเก่ง ๆ ที่มีความรู้มีอยู่เยอะมาก แต่การที่เราจะส่งต่อความรู้ให้ถึงผู้ประกอบการที่กำลังต้องการความช่วยเหลืออยู่ เราอาจจะต้องเสริมความรู้เพื่อให้เราสามารถที่จะสื่อสารได้ดีขึ้น เพื่อทำให้เขายอมรับในข้อเสนอหรือข้อแนะนำที่เราคิดว่ามันดีกับเขา และทำให้เขาเปิดใจกับเรามากขึ้น

“เราประทับใจที่ทางมนุษย์ต่างวัยพยายามจะสร้างอีโคซิสเต็มสำหรับซิลเวอร์ เจเนอเรชัน ซึ่งเป็นเจนฯ ที่ยังมีคุณค่า พร่อมที่จะแบ่งปัน และพัฒนาต่อไปได้อีก ไม่ใช่แค่ให้ความรู้เพียงอย่างเดียวแล้วไปต่อไม่ได้ แต่สร้างคอมมูนิตี้ที่แข็งแรงไว้รองรับด้วย

“เทคโนโลยีทุกวันนี้มันหมุนเร็วและความรู้มันไม่ที่สิ้นสุด ทำให้สิ่งที่เราเรียนรู้อยู่ตอนนี้อาจจะเปลี่ยนแปลงไปได้ภายในเวลาสั้น ๆ สิ่งที่เราต้องปรับตัวคือเราต้องไม่ยึดติดอยู่กับอาชีพเดียว บอกไม่ได้ว่าสิ่งที่ทำอยู่ตอนนี้จะยั่งยืนหรือเปล่า แต่สิ่งที่บอกได้คือเราไม่ควรจะหยุดเรียนรู้และพัฒนาตัวเอง”

Credits

Author

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ