“ทุกคนสามารถเป็นดอกเตอร์ในชีวิตของตัวเองได้ ถ้านับตั้งแต่เกิดจนถึงเรียนจบคือปริญญาตรี ชีวิตการทำงานก็คือการเรียนปริญญาโทที่ต้องลงมือปฏิบัติจริง แต่หลังเกษียณคือวันที่คุณต้องมาตอบตัวเอง ว่าคุณอยากเป็นใครในช่วงเวลาที่เหลืออยู่ไม่มาก ซึ่งเหมือนการเรียนรู้ความหมายของชีวิตขั้นสูงสุด”
มนุษย์ต่างวัยและแสนสิริพาไปรู้จักกับ “ดร.พงศ์พันธ์ จินดาอุดม” วัย 67 ปี อดีตอาจารย์ผู้ไม่เคยหยุดท้าทายตัวเอง และเชื่อว่าการทำเรื่องยาก ๆ ให้สำเร็จตอนหนุ่มได้เป็นเรื่องน่าภูมิใจ แต่ถ้าทำเรื่องยาก ๆ ให้สำเร็จตอนอายุมาก มันคือความหมายของการมีชีวิตต่อไป
เพราะถึงแม้เขาจะเกษียณจากการทำงานแล้ว แต่ ‘ดร.พงศ์พันธ์’ก็ไม่เคยหยุดใฝ่หาความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาติดอาวุธให้ตัวเอง จนกลายเป็นคุณตาที่สามารถใช้ภาษาคอมพิวเตอร์ได้อย่างเชี่ยวชาญ และใช้เวลาหลังเกษียณแบ่งปันความรู้ผ่านคลาสเรียนออนไลน์ให้กับทั้งคนรุ่นใหม่และคนรุ่นเดียวกัน ซึ่งคลาสออนไลน์นี้ได้กลายมาเป็นอาชีพเสริมให้เขา อย่างที่ไม่คาดคิดมาก่อนว่าจะทำได้ในช่วงอายุนี้
นี่คืออีกหนึ่งตัวอย่างของบุคคลที่ไม่เคยปล่อยให้เวลาของตัวเองหยุดนิ่ง แต่กลับคอยเติม “โอกาส” ให้กับตนเองได้มีอาชีพ มีรายได้ และได้ใช้ชีวิตในแบบที่ตนเองต้องการ เหมือนกับแนวคิดของแสนสิริ ที่ผลักดันเรื่องของความเท่าเทียมที่ไม่ใช่แค่เรื่องเพศมาโดยตลอดและสม่ำเสมอ ผ่านแคมเปญที่ชื่อว่า “Live Equally” ที่ต้องการให้ทุกคน รวมถึงผู้สูงอายุได้รับ “โอกาส” ที่มากพอที่จะได้เลือกใช้ชีวิตในแบบที่ตนเองต้องการ ด้วยความเชื่อที่ว่า ทุกชีวิตล้วนงดงามไม่ต่างกัน
ไม่ว่าคุณเป็นใคร ก็สามารถเป็นดอกเตอร์ในชีวิตของตัวเองได้ มนุษย์ต่างวัยชวนอ่านบทสัมภาษณ์ที่อาจจะทำให้เรามองเห็นความหมายของชีวิตหลังเกษียณได้แจ่มชัดขึ้น
ดร.พงศ์พันธ์ เชื่อว่าชีวิตคือการทดลองที่ไม่มีวันสิ้นสุด และความรู้ของเราก็ไม่จำเป็นต้องแก่ตามวัยเสมอไป
“ผมเป็นเด็กบ้านนอกอยู่จังหวัดสงขลา ยุคนั้นนอกจากอ่านหนังสือกับไปเล่นแถวริมทะเล มันไม่มีอะไรให้เด็กอย่างเราทำในเวลาว่างเลย ผมเลยสนใจพวกชีวิตสัตว์ใต้ท้องทะเล จึงกลายเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ผมสนใจโลกวิทยาศาสตร์ตั้งแต่นั้น ซึ่งโชคดีที่บ้านผมอยู่ใกล้สถานทูตอเมริกาพอดี เลยมีห้องสมุดให้ไปค้นหาความรู้ได้ง่าย
“ตอนนั้นผมไม่คิดหรอกว่าตัวเองจะมีคำนำหน้าว่า ‘ดอกเตอร์’ ด้วยซ้ำ แต่ผมรู้ว่าตัวเองอยากอยู่ในวงการนี้เพราะชอบงานที่ต้องลองผิดลองถูกแล้วคอยดูผลของมัน จนเรียนจบปริญญาตรีสาขาฟิสิกส์ และเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยอยู่ช่วงหนึ่ง ก่อนจะได้ทุนไปเรียนปริญญาโทที่อเมริกา
“ผมอยู่อเมริกาเป็น 10 ปี จนเรียนจบปริญญาเอก แต่สุดท้ายก็กลับมาอยู่ไทยเพราะคิดถึงบ้าน และต้องกลับมาดูแลพ่อแม่ที่แก่ลงด้วย ซึ่งช่วงนั้นเป็นช่วงปี 40 ที่เกิดวิกฤตต้มยำกุ้งพอดี ทำให้ผมหางานยากเพราะอาชีพที่ต้องการนักวิจัยในประเทศไทยมีไม่มาก แต่หลังจากอดทนอยู่ประมาณปีหนึ่งผมก็ได้งานเป็นหนึ่งในทีมวิจัยเครื่องเคลือบฟิล์มบางสปัตเตอริ่งซึ่งเกี่ยวกับการเคลือบเลนส์กระจกรถยนต์ กระจกแว่นตาหรือจอโทรศัพท์มือถือ ซึ่งผมก็สนุกกับการทำงานทุกวันจนกระทั่งทำงานในตำแหน่งหัวหน้าห้องปฏิบัติการเทคโนโลยีฟิล์มบางเชิงแสง เป็นงานสุดท้ายจนเกษียณ
“ตอนเกษียณใหม่ ๆ ผมได้สัญญาจ้างรายปีให้กลับไปเป็นอาจารย์สอนนักศึกษาที่สนใจด้านนี้ แต่เมื่อโควิดระบาดในไทย ผมก็ถูกยกเลิกสัญญาแบบกะทันหัน พอกลับมาอยู่บ้านจริง ๆ ก็ไม่รู้จะทำอะไร แต่ก็ไม่อยากเป็นคุณตาที่อยู่บ้านเฉย ๆ โดยไม่ได้เจอใคร ผมเลยตัดสินใจหาความรู้ครั้งใหม่ให้ตัวเอง ซึ่งตอนนั้นคนในวงการเทคโนโลยีกำลังหันมาสนใจ ภาษา R ภาษาที่วิเคราะห์ข้อมูลทางด้านสถิติและตัวเลขซึ่งกำลังมาแรงในตอนนี้ ผมก็เลยอยากเรียนรู้มันบ้าง
“ผมมีพื้นฐานเกี่ยวกับภาษาคอมพิวเตอร์มาบ้าง แต่ก็ไม่ได้มากมายอะไรเพราะตอนสมัยผมเรียนผมทำงานกับคอมพิวเตอร์เครื่องใหญ่ ๆ แบบโบราณมาตลอด เพิ่งจะมาจับโน๊ตบุ๊กแบบจริงจังที่นิยมใช้กันก็ช่วงหลัง ๆ ก่อนเกษียณ ผมก็เลยเหมือนมาเริ่มต้นใหม่ตั้งแต่ต้น
“ผมคิดว่าตัวเองแก่แต่ตัว แต่สมองไม่เคยแก่ และความรู้ก็ไม่มีวันถึงทางตัน เลยคิดจะเรียนรู้ภาษา R ด้วยตัวเองทั้งหมดจากกูเกิล ซึ่งตอนแรกคิดว่าต้องยากแน่ ๆ เพราะเราก็เป็นคนแก่ที่พยายามเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ ๆ เพียงลำพัง แต่ปรากฏว่าหลังจากทำไปสักพักมันสนุกมาก ซึ่งการนั่งเรียนรู้เองที่บ้านแบบเอาเป็นเอาตายในตอนอายุ 60 กว่า ๆ ก็ยังให้ความรู้สึกเหมือนตอนอ่านหนังสือสอบเข้ามหาวิทยาลัยสมัยวัยรุ่นเลย แต่ครั้งนี้ดีกว่าตรงที่มันไม่กดดัน ทำได้ก็ดี ไม่ได้ก็ไม่เป็นไร”
“ภาษา R มีประโยชน์อย่างมากในการเอาไปใช้ทางด้านข้อมูลและสถิติ ถ้าให้พูดแบบง่าย ๆ ก็คือเหมือนไมโครซอฟท์เอกซ์เซลที่เก็บข้อมูลได้มากกว่า ซึ่งสามารถหาคนสอนได้ทั่วไป แต่อาจเพราะผมเป็นคนใจเย็นรวมถึงชอบแบ่งปัน ไม่ได้ชอบสอน และคำนึงถึงคนที่อยากเรียนก่อนว่าต้องการแบบไหน แล้วเราก็ช่วยเหลือเขาแบบนั้น เลยมีทั้งคนรุ่นใหม่ ๆ และคนวัยเดียวกันที่มาเรียนภาษา R กับผมเพื่อเอาไปต่อยอดต่อในงานของพวกเขา
“ผมต้องสอนคนรุ่นใหม่แยกคลาสกันกับคนรุ่นผม เพราะเรื่องเทคโนโลยีคนรุ่นใหม่เขาจะเรียนรู้เร็วมาก แค่บอกไม่กี่คำเขาก็ทำได้แล้ว ส่วนคนรุ่นผมคือต้องค่อย ๆ บอก ค่อย ๆ คลำไปเรื่อย ๆ ถึงจะทำได้ แต่ไม่ว่าจะคนรุ่นไหนผมก็มีความสุขที่ได้แบ่งปันความรู้ที่ตัวเองเก็บเกี่ยวมาแล้วส่งไปถึงพวกเขา และมันยังเป็นการทำให้ผมใช้สมองแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ได้ดี เวลาเขียนโปรแกรมเขียนโค้ดยาก ๆ ได้ มันทำให้ผมกระโดดโลดเต้นดีใจหน้าคอมหลายครั้งมาก
“ทุกวันนี้มีความสุขมากเวลาเปิดคลาสสอนออนไลน์ที่บ้าน ผมจะใช้เวลาสอนคลาสหนึ่งประมาณ 1-2 ชั่วโมง โดยมีคนเรียนประมาณ 10 คน ซึ่งเป็นจำนวนที่กำลังดี เพราะถ้ามากกว่านี้ผมคงดูแลไม่ทั่วถึง เนื่องจากผมก็อายุมากแล้ว กำลังก็ไม่ได้ดีเหมือนเมื่อก่อน แต่ยังเชื่อว่าความรู้สามารถไปไกลกว่าวัยได้
“แค่นี้คนรอบตัวผมก็บ่นผมแล้วว่าให้พักผ่อนบ้าง แก่แล้วทำไมไม่ทำงานง่าย ๆ อย่างรดน้ำต้นไม้ หรือออกกำลังกายฆ่าเวลาไป แต่ผมบอกพวกเขาว่าสิ่งนี้คือความสนุกที่แท้จริง เพราะมันท้าทาย ได้ใช้ทั้งพลังกายและพลังใจ และที่สำคัญคือทำให้ผมยังรู้สึกเหมือนได้ทำงานที่รักอยู่ตลอดเวลาอีกด้วย
“ในสังคมเรามักมีความเชื่อว่าผู้สูงอายุไม่ถูกกับเทคโนโลยีเพราะใช้ยาก ทั้ง ๆ ที่เทคโนโลยีมีส่วนสำคัญมากในเรื่องการส่งเสริมคุณภาพของคนรุ่นผม อย่างง่าย ๆ เลยในวันที่ลูกหลานไม่อยู่บ้าน แล้วเวลาผมเจ็บไข้อะไรผมก็ถ่ายรูปแผล หรือเล่าอาการให้หมอฟังผ่านทางออนไลน์ แล้วก็ให้เขาจัดส่งยามาให้โดยไม่ต้องไปโรงพยาบาล ซึ่งผมว่าลดภาระลูกหลานลงไปได้เยอะหากเราใช้เทคโนโลยีดูแลตัวเองได้ ผมจึงเป็นคนแก่ที่อยากเก่งเทคโนโลยีขึ้นไปอีก แม้ในวันที่แก่ตัวแล้วก็ไม่เคยคิดที่จะหยุดเรียนรู้ในด้านนี้เลย”
“ทุกวันนี้เวลามีคลาสเรียนไหนเปิดสอนเกี่ยวกับการใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ใหม่ ๆ หรือบรรยายเกี่ยวกับเทคโนโลยี ผมจะไปสมัครเรียนเสมอ ซึ่งผมก็เป็นคนหัวขาวคนเดียวท่ามกลางคนอายุ 20-30 ในคลาส
“ผมรู้สึกตลกดีนะ แต่ไม่ได้มองว่าเป็นเรื่องแปลก หรือเรื่องเกินตัว กลับกันผมมองว่ามันคือการท้าทายตัวเอง เวลาในคลาสเรียนเขาให้เขียนโค้ดหรือทำงานอะไร ผมก็ได้เรียนรู้จากเด็กรุ่นเก่าทั้งในเรื่องของงานนำเสนอและงานเชิง ปฏิบัติ ส่วนผมที่อายุขนาดนี้แล้วทำงานนำเสนอไม่เก่งเลย เพราะไม่ถนัดใช้พาวเวอร์พ้อยท์ แต่ผมพบว่าตัวเองยังทำงานเชิงปฏิบัติได้ไม่แพ้คนรุ่นใหม่ แค่ทำได้ช้ากว่าพวกเขาไปบ้างแค่นั้นเอง
“ผมอายุขนาดนี้แล้วไม่ได้เรียนเพื่อให้ตัวเองเก่งกว่าใคร แต่เรียนเพื่อเอาไว้แบ่งปันให้กับคนอื่นที่ไม่ได้มีโอกาสเหมือนผม เพราะผมมีวันนี้ได้ก็เพราะได้รับความรู้และประสบการณ์จากคนที่อาวุโสกว่า และในวันที่ผมกำลังกลายเป็นผู้อาวุโสคนนั้น ผมก็อยากแบ่งปันประสบการณ์ของผมให้กับคนรุ่นหลังต่อไป ผมอยากเป็นคนแก่ที่คนอื่นอยากเข้าหา มีคนอยากมาคุยด้วยอยู่เสมอ ทั้งรุ่นเดียวกันและต่างรุ่น ไม่ใช่คนแก่ที่ยึดแต่ว่าตัวเองเก่งที่สุดจนไม่มีใครอยากเป็นเพื่อนด้วย
“ถ้าผมไม่ได้มาเรียนรู้เรื่องภาษาคอมพิวเตอร์ที่ขึ้นชื่อว่ายากสำหรับผู้สูงอายุละก็ ผมก็คงกลายเป็นคนแก่ขี้บ่นไปแล้ว เพราะผมมองว่าการที่เราได้สนุกกับการเรียนรู้เรื่องยาก ๆ นั้นมันทำให้ผมมีความอดทน รู้จักวิธีแก้ปัญหา และรับฟังคนอื่น ทำให้รู้สึกว่าเป็นคนหนุ่มในร่างคนแก่ที่มีไฟใช้ชีวิตต่อไป
“สุดท้ายผมอยากบอกว่า ในวันที่ประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ผมกับเพื่อน ๆ รุ่นเดียวกันคงไม่มีใครอยากกลายเป็นคนแก่ที่ล้าหลัง หรือเป็นภาระของคนอื่น แต่เราควรสร้างคุณค่าของตัวเองขึ้นมาให้ได้ และทุกประเทศทั่วโลกต่างก็กำลังติดอาวุธให้กับผู้สูงอายุของตัวเองอย่างเข้มข้น เพื่อให้พวกเขากลับมาขับเคลื่อนสังคมได้อีกครั้ง ดังนั้นผมก็อยากให้สังคมเราช่วยกันขับเคลื่อนเรื่องนี้บ้าง เพื่อไม่ให้คนรุ่นผมกลายเป็นรุ่นที่ถูกลืม
“ทุกคนสามารถเป็นดอกเตอร์ในชีวิตของตัวเองได้ ถ้านับตั้งแต่เกิดจนถึงเรียนจบคือปริญญาตรี ชีวิตการทำงานก็คือการเรียนปริญญาโทที่ต้องลงมือปฏิบัติจริง แต่หลังเกษียณมันคือวันที่คุณต้องมาตอบตัวเองว่าคุณอยากเป็นใครในช่วงเวลาที่เหลืออยู่ไม่มาก ซึ่งเหมือนการเรียนรู้ความหมายของชีวิตขั้นสูงสุด”
เพราะทุกคนล้วนมีความแตกต่าง แต่ก็มีคุณค่าเหมือนกัน ในวันนี้ไม่ว่าคุณจะอายุเท่าไร เพศอะไร ทำงานอยู่หรือไม่ ทุกคนก็ควรได้รับโอกาสอย่างเท่าเทียม ทั้งโอกาสในการทำงาน โอกาสในการค้นพบสิ่งที่ใช่ของตัวเอง ไปจนถึงการมีอาชีพที่หาเลี้ยงตัวเองได้หลังเกษียณ เพราะไม่ว่าจะวัยไหนก็ไม่มีใครสมควรถูกทิ้งไว้ข้างหลังเพียงเพราะพวกเขาแตกต่างจากคนอื่น
จึงเป็นที่มาของ ‘Live Equally’ แคมเปญของแสนสิริที่ส่งเสริมเรื่องความเท่าเทียมที่ไม่ได้จำกัดอยู่แค่เรื่องเพศ แต่ตั้งใจให้คนในสังคมก้าวข้ามกำแพงของความต่างวัย และเข้าใจคนต่างวัยให้มากยิ่งขึ้น ซึ่งจะช่วยเปิดโอกาสให้ทุกคนเป็นตัวเองได้อย่างเต็มที่ รวมถึงโอกาสในการมีความสุขในทุกช่วงของชีวิตโดยไม่มีเรื่องของเพศหรืออายุมาข้องเกี่ยวอีกต่อไป
เรามองเพียงว่า “คุณอยากเป็นแบบไหนก็ขอให้เป็นแบบนั้น” ซึ่งถ้าทุกคนได้รับโอกาสให้แสดงความสามารถบนเวทีของตัวเอง เราก็เชื่อว่าทุกคนจะสามารถมี Best Version ของตัวเองด้วยเช่นกัน