การดูแลผู้สูงอายุหลังการเจ็บป่วยเฉียบพลันควรทำอย่างไร ?
ผู้สูงอายุสามารถทำสิ่งต่าง ๆ ด้วยตัวเองได้มากแค่ไหน ?
ผู้ดูแลควรดูแลอย่างไร และเน้นเรื่องอะไรบ้าง ?
ศูนย์วิทยาการเวชศาสตร์ผู้สูงอายุศิริราชชวนคุยเรื่องความสำคัญของการดูแลผู้สูงอายุในช่วงพักฟื้นหลังการเจ็บป่วยเฉียบพลัน เพื่อให้ผู้สูงอายุกลับมามีสุขภาพที่แข็งแรงทั้งกายและใจอีกครั้ง กับ รศ. พญ.วราลักษณ์ ศรีนนท์ประเสริฐ หัวหน้าสาขาอายุรศาสตร์ปัจฉิมวัย ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
“การดูแลผู้สูงอายุหลังมีความเจ็บป่วยเฉียบพลันมีความสำคัญมาก ในทางการแพทย์หลาย ๆ ประเทศ จะมีเรียกการดูแลช่วงนี้ขึ้นเป็นพิเศษ ว่าเป็น การดูแลระยะกลาง ซึ่งหมายถึงการดูแลต่อจากระยะเจ็บป่วยเฉียบพลัน โดยจะเป็นช่วงของการเยียวยาผู้สูงอายุ ที่ไม่ได้เน้นการรักษาโรคหรือเน้นการใช้ยาอย่างเดียว แต่ต้องสร้างเสริมส่วนที่ถดถอยให้ฟื้นคืนขึ้น ซึ่งจะประกอบด้วยการออกกำลังกาย การเพิ่มกิจกรรมทางกาย และกิจกรรมต่าง ๆ
เพื่อเสริมสร้างความแข็งแรงทางกาย การดูแลด้านการกินที่เหมาะสม รวมทั้งการฟื้นฟูสภาพจิตใจให้ดีขึ้น แจ่มใสขึ้น โดยในการดูแลระยะกลาง จะมีทั้งรูปแบบที่ดูแลในโรงพยาบาลหรือสถานพยาบาลที่จัดขึ้นเป็นพิเศษ หรือการดูแลที่จัดขึ้นที่บ้านโดยมีบุคลากรทางการแพทย์ไปช่วยดูแลเพิ่มเติม หรือเป็นการดูแลกันเองโดยครอบครัว ซึ่งความแตกต่างของรูปแบบการดูแล จะขึ้นกับความแข็งแรง หรือความเปราะบางของผู้สูงอายุ
“คำว่า ‘การดูแลระยะกลาง’ อาจเป็นคำที่ค่อนข้างใหม่สำหรับสังคมไทย แต่จริง ๆ ก็เป็นสิ่งที่สังคมเราทำกันอยู่แล้ว ในขณะที่รูปแบบการดูแลระยะกลางในสถานพยาบาล ยังมีไม่แพร่หลายมาก หลาย ๆ ครอบครัวจะดูแลผู้สูงอายุในช่วงเวลาแบบนี้กันที่บ้าน ซึ่งในบางครั้งก็ไม่เข้าใจว่าจะต้องดูแลอย่างไร ให้เหมาะสม หมอเชื่อว่าต่อไปน่าจะมีข้อมูล ความรู้ และการดูแลที่ช่วยซับพอร์ตครอบครัวผู้ดูแลเพิ่มมากขึ้นในช่วงเวลาที่ท้าทายแบบนี้
“การดูแลผู้สูงอายุ เราต้องดูแลทั้งโรคทางกายที่ผู้สูงอายุ ควบคู่ไปกับการดูแลด้านอื่น ๆ ด้วย ส่วนใหญ่ตัวโรคทางกายคุณหมอที่ดูแลประจำก็จะดูแลเรื่องยาให้อยู่แล้ว ส่วนที่เหลือเป็นสิ่งที่ครอบครัวจะต้องช่วยกันดูแล อย่างเรื่อง การกินอาหารที่เหมาะสม การดูแลตัวเองในการทำกิจวัตรประจำวัน
“การกินอาหารประเภทโปรตีนเป็นสิ่งที่สำคัญสำหรับผู้สูงอายุ ยิ่งไม่สบาย ยิ่งต้องกินโปรตีนให้มากขึ้น ทั้งโปรตีนจากพืชและโปรตีนจากสัตว์ เพื่อเสริมให้ร่างกายแข็งแรง เพราะผู้สูงอายุอาจมีมวลกล้ามเนื้อลดลง และจะยิ่งลดลงมากขึ้น หลังการเจ็บป่วยเฉียบพลันเป็นเหตุให้เดินไม่ค่อยแข็งแรง ดังนั้น เราต้องช่วยกันดูแลให้ผู้สูงอายุกินโปรตีนให้เพียงพอ และอาจต้องเพิ่มมากขึ้นหลังการเจ็บป่วย ควบคู่ไปกับการกินอาหารให้ครบหมู่ เพื่อให้ผู้สูงอายุมีมวลกล้ามเนื้อเพิ่มขึ้น เพื่อให้สามารถเดินได้อย่างแข็งแรง มั่นคง
นอกจากนั้น ผู้สูงอายุทุกคนก็อยากทำอะไรได้ด้วยตนเอง ทำกิจวัตรของตนเองได้โดยไม่ต้องพึ่งพาใคร อยากเดินไปเข้าห้องน้ำเองได้ ไปทำกิจกรรมต่าง ๆ เองได้ ซึ่งพวกท่านจะทำสิ่งเหล่านี้ได้ จะต้องมีทั้งโภชนาการที่ดี และมีการส่งเสริมให้ท่านมีโอกาสทำกิจกรรมทางกายต่าง ๆ ด้วยตัวเอง โดยหลังการเจ็บป่วยเฉียบพลัน ท่านอาจทำได้ไม่ดีเท่าเดิม ไม่แข็งแรง ซึ่งถ้าเป็นไม่มาก ครอบครัวก็สามารถให้การดูแลกันเอง ควรมีการพาท่านเดิน โดยใช้อุปกรณ์ช่วยบ้างเล็ก ๆ น้อย ๆ
แต่ถ้าหากร่างกายท่านอ่อนแอ อ่อนแรงมาก ก็อาจจะจำเป็นต้องมีการดูแลโดยบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความรู้ความชำนาญมากขึ้น ในบางครั้ง ยังมีความเข้าใจผิด ว่าผู้สูงอายุเพิ่งหายป่วย ควรให้พักผ่อนมาก ๆ แล้วไม่ได้ให้ท่านลุกเดิน ลุกทำกิจกรรมต่าง ๆ ซึ่งไม่ถูกต้อง
“ในฐานะที่เราดูแลผู้สูงอายุมาตลอด เราจะเห็นว่าบุคคลสำคัญอีกคนที่น่าห่วงไม่แพ้กัน คือ ผู้ดูแล ถ้ามีคนในครอบครัวหลายคน ก็จะมีผู้ดูแลหลักอยู่หนึ่งคน ซึ่งบ่อยครั้งจะต้องรับมือกับสิ่งต่าง ๆ เยอะมาก ถ้าไม่มีใครเข้าใจเขา ไม่มีใครมาช่วยผ่อน เขาก็จะกลายเป็นคนไข้คนถัดไปของเรา ดังนั้นผู้ดูแลจะต้องมีคนที่เข้าใจ ให้กำลังใจและผู้ดูแลเองจะต้องไม่ลืมที่จะกลับมาดูแลตัวเองด้วย
“ในอนาคตเราน่าจะมีการดูแลระยะกลางอย่างแพร่หลายมากขึ้น ซึ่งศูนย์วิทยาการเวชศาสตร์ผู้สูงอายุศิริราชเอง ก็มีการจัดการดูแลระยะกลางในโรงพยาบาล และ มีความตั้งใจที่จะเป็นต้นแบบในการให้ความรู้กับบุคลากรทั่วประเทศเพื่อเผยแพร่แนวทางในการดูแลผู้สูงอายุในระยะต่าง ๆ ที่ถูกต้องและเหมาะสม” siriraj
ศูนย์วิทยาการเวชศาสตร์ผู้สูงอายุศิริราช เป็นสถาบันทางวิชาการด้านเวชศาสตร์ผู้สูงอายุแห่งแรกของประเทศไทย ที่มุ่งมั่นสู่การเป็นต้นแบบการบูรณาการการดูแลผู้สูงอายุอย่างยั่งยืน สร้างสรรค์ และส่งต่อองค์ความรู้ในการฟื้นฟูดูแลผู้สูงอายุในระยะกลาง เพื่อป้องกันการกลับ เข้ารับการรักษาซ้ำในโรงพยาบาล ส่งผู้สูงอายุกลับไปใช้ชีวิตที่บ้านได้อย่างมีคุณภาพ