อุปกรณ์จำลองการเป็นผู้สูงอายุ เชื่อมใจรุ่นใหม่และรุ่นใหญ่ให้เข้าใจกัน

มนุษย์ต่างวัยพาไปคุยกับ “อาจารย์ก้อย” รศ. ดร.วรรณลักษณ์ เมียนเกิด อาจารย์ประจำคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ทำงานพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุมากว่า 20 ปี ตั้งแต่วันที่ยังไม่มีใครให้ความสำคัญกระทั่งวันนี้ที่ประเด็นสังคมสูงวัยกลายเป็นประเด็นฮอตฮิตที่แทบทุกเวทีที่สนทนาเกี่ยวกับอนาคตประเทศไทยต้องพูดถึง 

“ตอนนั้นเพื่อนก็มองว่าเราแปลก บ้า ถามเราว่าพูดเรื่องพวกนี้ทำไม เรายังเป็นวัยรุ่น มันเป็นเรื่องไกลตัวมาก แต่เราไม่คิดแบบนั้น เราคิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องใกล้ตัว

“ความสนใจน่าจะมาจากตอนเรียนจบปริญญาโท ได้มีโอกาสลงพื้นที่ชุมชนและพบเจอกับผู้สูงอายุหลากหลายกลุ่ม รวมทั้งผู้สูงอายุที่ใช้ชีวิตด้วยความยากลำบากและได้รับการปฏิบัติที่ไม่เหมาะสมจากครอบครัวและชุมชนรอบข้าง จึงเป็นจุดเริ่มต้นให้ตอนนั้นเราตั้งคำถามกับตัวเองว่าจะทำอย่างไร ไม่ให้ในวันข้างหน้าตัวเองต้องกลายเป็นผู้สูงอายุแบบนั้น ทำอย่างไรให้ยังคงมีศักยภาพและคุณภาพชีวิตที่ดี

“หลังจากทำงานมาได้สักประมาณ 2 ปี ประเทศไทยก็เริ่มประกาศเข้าสู่การเป็นสังคมสูงวัย เราคิดว่าคนจะเริ่มหันมาใส่ใจเรื่องนี้มากขึ้น แต่ก็ผิดคาด คนในสังคมก็ยังไม่ค่อยให้ความสำคัญในประเด็นนี้มากนัก เราเลยเป็นนักวิชาการยุคแรก ๆ ที่มาทำงานและพัฒนา

“ตอนนั้นเมืองไทยพยายามจะทำโครงการนำร่องเรื่องของการพัฒนาระบบดูแลผู้สูงอายุระยะยาว แต่เราไม่มีประสบการณ์เลย ประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีประสบการณ์ในเรื่องนี้มาก่อน เราเลยได้รับการสนับสนุนจากองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่นหรือไจก้า (JICA) ที่เข้ามาสนับสนุนเรื่ององค์ความรู้ การวางระบบ การพัฒนาบริการต่าง ๆ โดยได้ส่งนักวิชาการไทยไปดูงานที่ญี่ปุ่น และเราได้ “อุปกรณ์จำลองเป็นผู้สูงอายุ” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนของไจก้าที่มอบไว้ให้ประเทศไทยได้นำมาทดลองใช้ในพื้นที่นำร่องด้วย”     

 

อุปกรณ์จำลองเป็นผู้สูงอายุ ช่วยให้เราเข้าใจคนรุ่นใหญ่มากขึ้น 

“ที่สาขาสวัสดิการผู้สูงอายุ คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เราอยากให้นักศึกษาจินตนาการให้ได้ก่อนว่าเวลาทำงานกับผู้สูงอายุ หรือเวลาอยู่ร่วมกับผู้สูงอายุนั้น ผู้สูงอายุจะรู้สึกแบบไหน ตอนแรก ๆ เด็กบางคนอาจยังมีทัศนคติเชิงลบต่อผู้สูงอายุ เราก็อยากจะให้เขาเปิดใจกับผู้สูงอายุมากขึ้น เราเลยใช้อุปกรณ์จำลองเป็นผู้สูงอายุ ซึ่งมีทั้งหมด 6 ชิ้น เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยจูงใจให้เด็ก ๆ เริ่มเข้าใจผู้สูงอายุมากขึ้น เช่น เราให้เขาใส่สนับข้อศอกและสนับเข่า ทำให้การเคลื่อนไหวบริเวณข้อศอก แขน ขา และเข่าติดขัด ไม่สะดวก ถุงถ่วงข้อมือและถุงถ่วงข้อเท้า ที่ทำให้ยกมือ ขยับแขนขา และก้าวเดินได้ไม่คล่องตัว แว่นจำลองสายตารูปแบบต่าง ๆ เช่น ตาต้อ ที่ใส่แล้วจะทำให้มองเห็นได้ไม่ชัด เบลอ พร่ามัว หรือแม้กระทั่งมองไม่เห็น และหูฟังลดการได้ยิน ที่ทำให้ได้ยินเสียงเบาลง หรือแทบไม่ได้ยินเสียงอะไรเลย ทำให้นักศึกษาเข้าใจว่าการที่ผู้สูงอายุเดินช้า หรือเวลาที่จะพูดคุยด้วยอาจต้องพูดเสียงดังหรือตะโกน เป็นเพราะความเสื่อมตามวัย เมื่อเขาได้สัมผัสประสบการณ์นั้นด้วยตัวเอง จะทำให้เกิดความเข้าใจผู้สูงอายุมากขึ้น และเริ่มตระหนักว่าถ้าวันข้างหน้าเขาเป็นผู้สูงอายุ เขาก็ต้องเผชิญกับสภาพแบบนี้เช่นเดียวกัน 

“เราคิดว่าถ้าเราทำงานด้านผู้สูงอายุ แต่ไม่ทำงานกับคนกลุ่มอื่น ๆ ไปพร้อมกัน ก็ไม่น่าจะทำให้การทำงานประสบผลสำเร็จเท่าไร เพราะจะมองแค่ในมุมผู้สูงอายุอย่างเดียว เราจะเห็นแค่ว่า จะพัฒนาบริการสำหรับผู้สูงอายุอย่างไร จะดูแลผู้สูงอายุอย่างไร ซึ่งเท่ากับเราขาดแรงจูงใจที่จะสร้างบรรทัดฐานในการปฏิบัติและการดูแลที่ดีให้กับผู้สูงอายุ ดังนั้น เราจำเป็นต้องให้คนในวัยอื่น ๆ ที่จะต้องเป็นคนดูแลผู้สูงอายุเข้าใจในตัวผู้สูงอายุด้วย

“แต่การใช้อุปกรณ์เหล่านี้ อาจช่วยจำลองได้เพียงด้านกายภาพ เราจะต้องเสริมเรื่องของทัศนคติเข้าไปด้วย เช่น การให้คนต่างวัยได้ลองอยู่ร่วมกับผู้สูงอายุ เราลองให้โจทย์กับเด็ก ๆ ไปคิดว่าในวันที่เราเป็นผู้สูงอายุ ถ้ามีความเสื่อมตามวัยแบบนี้ แล้วถูกมอง ถูกปฏิบัติแบบนี้จากลูกหลาน เราจะรู้สึกอย่างไร เด็ก ๆ ก็จะเริ่มเข้าใจ และมองผู้สูงอายุในมุมอื่น ๆ มากขึ้น เมื่อเขาเข้าใจข้อจำกัดทางร่างกายของผู้สูงอายุ เขาจะเริ่มมองในเชิงบวกว่าผู้สูงอายุมีความลำบากในการใช้ชีวิต แต่ก็ยังต้องการใช้ชีวิตร่วมกับคนวัยอื่น ๆ ในสังคม รวมทั้งยังมีผู้สูงอายุกลุ่มอื่น ๆ ที่ยังแข็งแรง ดูแลตัวเองได้ ชอบทำกิจกรรมอาสาสมัครต่าง ๆ และยังออกมาใช้ชีวิตอย่างมีความสุขเช่นกัน” 

เสียงสะท้อนจากคนหนุ่มสาว ในวันที่ลองเป็นคนแก่ชรา

“ก่อนหน้านี้ผมอาจไม่เข้าใจว่าทำไมผู้สูงอายุถึงทำอะไรได้ช้า ไปไหนมาไหนไม่สะดวก หรือบางคนต้องมีคนดูแลตลอดเวลา แต่พอได้มาใส่อุปกรณ์จำลองเป็นผู้สูงอายุ ก็ได้รู้ว่าแม้กระทั่งการเดินตรง ๆ ยังทำได้ยากและเป็นปัญหาสำหรับผู้สูงอายุ หรือการดื่มน้ำที่ผมก็ทำอยู่ทุกวัน แต่สำหรับผู้สูงอายุกลับกลายเป็นข้อจำกัด และมีเงื่อนไขเต็มไปหมด ผมเลยรู้สึกว่าถ้าผมเป็นผู้สูงอายุ ผมคงไม่อยากออกไปไหนเลย คงอยากนั่งอยู่เฉย ๆ

“จากการได้ทดลองใส่อุปกรณ์ ผมคิดว่า สิ่งที่เป็นอุปสรรคในการใช้ชีวิตของผู้สูงอายุมากที่สุด คือ ปัญหาด้านการได้ยิน เพราะส่วนใหญ่ผู้สูงอายุในสังคมไทย ยังต้องใช้ชีวิต เดินทางไปไหนมาไหนด้วยตัวเอง การที่เขาจะข้ามถนน แต่เขาไม่ได้ยินเสียง ไม่ได้ยินสัญญาณต่าง ๆ เป็นเรื่องที่อันตรายมาก อาจทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ นอกจากนี้ยังเป็นอุปสรรคในเรื่องของการสื่อสาร ทำให้ผู้สูงอายุสื่อสารกับลูกหลานหรือคนอื่น ๆ ไม่เข้าใจ อาจทำให้เกิดปัญหาตามมาได้

“ผมรู้สึกว่าจริง ๆ แล้วผู้สูงอายุไม่ได้เป็นตัวถ่วงของสังคม แต่การที่ผู้สูงอายุใช้ชีวิตในสังคมได้ลำบากนั้น เป็นเพราะว่าสิ่งอำนวยสะดวก หรือบริการต่าง ๆ ยังไม่ถูกออกแบบมาเพื่อรองรับการใช้ชีวิต อย่างเช่นเมื่อผู้สูงอายุจะต้องเดินทางไปหาหมอโดยการใช้เส้นทางหรือขนส่งสาธารณะร่วมกับคนต่างวัย เขาอาจจะต้องเผชิญกับข้อจำกัดทางด้านร่างกายมากกว่าคนในวัยอื่น ในอนาคตถ้าเราจะออกแบบนวัตกรรมหรือสิ่งต่าง ๆ โดยคำนึงถึงผู้สูงอายุมากขึ้น ก็จะทำให้ผู้สูงอายุสามารถใช้ชีวิตได้อย่างสะดวกมากขึ้นตามไปด้วย

“เราดีใจที่สามารถดึงเครือข่ายเรื่องเด็กและผู้สูงอายุให้เข้ามาทำงานร่วมกันได้ วันนี้เราเริ่มมองเห็นภาพของเด็ก ๆ เข้ามาช่วยในการทำงานพัฒนาสังคมผู้สูงอายุไปด้วยกัน อาจารย์เชื่อว่าถ้าเราสร้างโครงสร้างทางสังคมที่เด็ก ๆ มีส่วนร่วมในกิจกรรมและเห็นความสำคัญของผู้สูงอายุ วันข้างหน้าที่เขากลายเป็นผู้สูงอายุ เขาก็จะได้รับการปฏิบัติที่ดีเช่นเดียวกัน” 

20 ปีผ่านไป ประเด็นสังคมสูงวัย ควรทำและต้องทำเพื่อตัวเองและลูกหลานในอนาคต

“วันแรก ๆ เราอาจจะสนใจงานด้านผู้สูงอายุจากการเชิญชวน แต่วันนี้เรามองว่าสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่ควรทำและต้องทำเพื่อตัวเองและลูกหลานในอนาคต วันนี้ก็ดีใจที่เห็นคนให้ความสำคัญกับผู้สูงอายุมากขึ้น

“ความเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัด คือ เรื่องของความรู้และเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่ทันสมัยและสอดคล้องกับสังคมในปัจจุบันมากขึ้น แต่สิ่งที่ยังน่ากังวลอยู่ คือ เรื่องของทัศนคติที่มีต่อผู้สูงอายุยังไม่ค่อยดีเท่าไร ถ้าสังคมมีทัศนคติที่ดีจะช่วยลดเรื่องของการเลือกปฏิบัติต่อผู้สูงอายุ ซึ่งอาจจะไม่ใช่แค่การบอก สอน หรือแนะนำ แต่ใช้วิธีให้เด็ก ๆ ได้อยู่ร่วมกับผู้สูงอายุ ได้ทำความเข้าใจผู้สูงอายุไปทีละเล็กทีละน้อย เราเชื่อว่าสิ่งเหล่านี้จะสร้างแรงจูงใจในการดูแลผู้สูงอายุอย่างถูกต้องและเหมาะสมได้

“ถ้าให้มองภาพตัวเองที่จะเป็นผู้สูงอายุในอนาคต ในมุมส่วนตัวเราก็อยากเป็นผู้สูงอายุที่มีศักยภาพ สามารถพึ่งพาตัวเองให้ได้นานที่สุด และมีช่วงเวลาที่ต้องประคับประคองหรือเจ็บป่วยในระยะท้ายน้อยที่สุด เพื่อที่จะไม่เป็นภาระของใคร ถึงแม้ว่าจะอยู่ในวัยสูงอายุ ก็ยังอยากมีคุณภาพชีวิตที่ดีและมีอิสระในการใช้ชีวิต แต่ถ้ามองในมุมนักวิชาการด้านผู้สูงอายุ เราก็อยากจะเห็นระบบสวัสดิการที่ดีสำหรับผู้สูงอายุ มีบริการใหม่ ๆ ที่ทันสมัยมากขึ้น รวมทั้งในสังคมจะต้องให้ความสำคัญและเกื้อกูลผู้สูงอายุไปพร้อมกัน  

อาจารย์ก้อยฝากทิ้งท้ายถึงทุกคนว่า“ผู้สูงอายุมีคุณค่า มีศักดิ์ศรี บางครั้งถึงแม้ว่าเขาอาจจะช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ แต่สังคมก็ควรดูแล ใส่ใจ และปฏิบัติต่อผู้สูงอายุอย่างเท่าเทียมกับคนวัยอื่น ๆ ไม่ใช่ว่าอายุมากกว่าแล้วจะสำคัญกว่า แต่ทุกคนควรค่าแก่การได้รับการปฏิบัติที่ดี และเท่าเทียมกันในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง”

Credits

Author

  • มนุษย์ต่างวัย

    Authorพื้นที่ถ่ายทอดเรื่องราวของสังคมสูงวัยในมุมที่สนุก สร้างสรรค์ และเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนทุกวัย

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ