มนุษย์เราขับเคลื่อนด้วยเป้าหมายในการมีชีวิตไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ก็ตาม เพื่อทำให้ตนเองยังรู้สึกสำคัญไม่เรื่องใดก็เรื่องหนึ่ง
เช่นเดียวกับ ‘ชายนักจำ’ ชายชราที่สามารถจดจำขบวนรถไฟได้ทุกสาย เขาเชื่อว่าไม่มีใครรู้เรื่องรถไฟดีไปกว่าตนเองแม้เขาจะไม่เคยก้าวเท้าขึ้นรถไฟสักครั้ง นั่นคือสิ่งที่เขาภูมิใจ และรู้สึกมีคุณค่ากับตัวเองในช่วงเวลาหนึ่ง จนกระทั่งกาลเวลาเปลี่ยนผ่านไป ความก้าวหน้าเริ่มเข้ามาแทนที่ ทำให้ ‘ความทรงจำ’ ของเขากลายเป็นเรื่องล้าหลังที่ไม่ได้รับความต้องการอีกต่อไป
ตัวบทดัดแปลงจากวรรณกรรม Der Mann mit dem Gedächtnis โดย Peter Bichse หรือรวมเรื่องสั้น “โต๊ะก็คือโต๊ะ” แปลโดย ชลิต ดุรงค์พันธุ์ กำกับการแสดงโดย ตุลย์ – วริศรา นาคประเสริฐ นิสิต และ จีจ้า – ไกรสร รุ่งขจรกลิ่น จาก MAMAI PRODUCTION คณะละครน้องใหม่ไฟแรงที่อยากให้ละครเวทีเข้าถึงคนทุกเพศทุกวัย
บทเรียนชีวิตจาก ‘ชายนักจำ’
เคยลองนึกไหมว่า ในวัยที่เริ่มเดินสวนทางกับเวลาและเทคโนโลยี เราจะยังทำอะไรเพื่อใช้ชีวิตมีคุณค่าหรือรู้สึกภูมิใจอยู่บ้าง เป้าหมายหลังการลืมตาตื่นขึ้นมาในแต่ละวันจะยังเหมือนเดิมอยู่ไหม จะรู้สึกไร้ค่าเมื่อไม่เป็นที่ต้องการหรือเปล่า ยังไม่ต้องตอบตอนนี้ก็ได้นะ แต่อยากชวนไปค้นหาคำตอบผ่านละครเรื่องนี้ด้วยกัน
พอแสงไฟโรงละครเริ่มมืดลง ตัวละครเด็กหนุ่มนักเล่าเรื่องก็เริ่มเล่าเรื่องราวของชายชราคนหนึ่งที่กำลังต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงของเวลา…
‘ชายนักจำ’ เป็นชายผู้จำตารางรถไฟได้จนขึ้นใจ เพราะรถไฟคือสิ่งเดียวที่ทำให้เขามีความสุข เขามักใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ที่สถานี เพื่อเฝ้าดูรถไฟเทียบชานชาลาและเคลื่อนขบวนออก
เขารู้จักรถไฟทุกขบวน ท่องจำหมายเลขรถได้ทั้งหมด รู้กระทั่งว่ารถไฟขบวนไหนจะถึงกี่โมง วิ่งไปไหนต่อ ถึงที่หมายเมื่อไร และผ่านสถานที่ใดบ้าง หากวันไหนมีใครหลงเข้าไปถามข้อมูลสถานีรถไฟกับเขา เขาจะอารมณ์ดีเป็นพิเศษ
แต่หลายปีต่อมา กลับมีเรื่องที่ทำให้เขาต้องประหลาดใจ เมื่อเคาน์เตอร์ประชาสัมพันธ์ปรากฏขึ้นในสถานีรถไฟ พร้อมเจ้าหน้าที่สวมชุดเครื่องแบบของการรถไฟนั่งประจำโต๊ะ ซึ่งเจ้าหน้าที่คนนี้สามารถตอบคำถามเกี่ยวกับรถไฟได้ทั้งหมด ชายนักจำไม่อยากเชื่อเรื่องที่เกิดขึ้น เขาจึงคอยไปที่โต๊ะประชาสัมพันธ์ทุกวัน ๆ ตั้งคำถามยาก ๆ เพื่อทดสอบเจ้าหน้าที่หนุ่มคนนั้น แต่เจ้าหน้าที่ก็ยังตอบกลับได้ทุกคำถามเช่นเคย
เหตุการณ์ในครั้งนั้นทำให้ชายนักจำรู้สึกพ่ายแพ้และสูญเสียคุณค่า เขาตัดสินใจเผาสมุดจดเกี่ยวกับรถไฟทิ้งและลืมความรู้ไปทั้งหมด จากนั้นเขาก็กลับไปหานายสถานีพร้อมคำถามใหม่ว่า บันไดหน้าสถานีทั้งหมดมีกี่ขั้น? และทันทีที่เจ้าหน้าที่คนนั้นตอบกลับว่า ไม่รู้ครับ เขากระโดดโลดเต้นด้วยความดีใจ เดินตรงไปยังหน้าสถานีเพื่อท่องจำจำนวนขั้นบันไดทั้งหมดในเมือง จนเขารู้จำนวนขั้นบันไดทั้งหมด จากนั้นเขาก็ไม่มาที่สถานีรถไฟอีกเลย…
ดูท่าว่าเขาจะออกเดินทางเพื่อทำตามเป้าหมายใหม่ในชีวิตของเขาอีกครั้ง และเป็นอีกครั้งที่เขารู้สึกว่าชีวิตนี้ยังมีคุณค่าแม้เวลาชีวิตจะเริ่มนับถอยหลังก็ตาม
ใช้ชีวิตในแบบของเรา ให้มีคุณค่าและน่าจดจำ
เรื่องราวของละครเวทีในวันนี้ จบลงด้วยประโยคทิ้งท้ายจากเด็กหนุ่มนักเล่าเรื่องว่า “วันหนึ่งผมคงจะทำอะไรเหมือนที่ทำตอนนี้ไม่ได้แล้ว ถ้าถึงวันนั้นยังอยู่บนโลก ผมคงจะหาอะไรทำสักอย่างให้ชีวิตมีชีวิต”
เหมือนเป็นนัยยะที่กำลังบอกกับเราว่า ช่วงวัยหนึ่งของชีวิตเราอาจต้องพบกับการเปลี่ยนแปลงมากมาย ไม่ว่าจะร่างกายที่เริ่มถดถอย ยุคสมัยที่เปลี่ยนไป หรือเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่ผ่านไปไวเสียจนวันหนึ่งเราก็คงตามไม่ทัน วันนั้นเราอาจต้องเล่นดนตรีโดยไม่มีใครฟัง วาดรูปโดยไม่มีใครดู เขียนหนังสือโดยไม่มีใครอ่าน จบที่ความสามารถไม่เป็นที่ต้องการตามยุคสมัย
แต่ถึงอย่างนั้นก็ไม่ได้หมายความว่าสิ่งที่เราทำอยู่ จะไร้ซึ่งความหมาย ‘ความสุข’ ณ ชั่วขณะที่ได้ลงมือทำและความพึงพอใจต่างหาก ที่ทำให้ ‘ชีวิตเรามีชีวิต’ เช่นเดียวกับที่ชายนักจำมีความสุขและรู้สึกสนุกกับการหาเป้าหมายใหม่ ๆ ให้กับชีวิต และทุ่มเทให้กับสิ่งนั้นอย่างเต็มกำลัง
การจำตารางรถไฟ หรือการนับขั้นบันไดในเมือง อาจดูเป็นการกระทำที่เข้าใจได้ยาก และอดสงสัยไม่ได้ว่าเขาจะทำสิ่งนั้นไปเพื่ออะไร แต่ในขณะเดียวกัน การกระทำของเขาอาจช่วยสะท้อนให้ผู้ชมได้เห็นว่า คนเราล้วนมีเหตุผลและเป้าหมายในการทำบางสิ่งที่แตกต่างกันออกไป ตามการให้ค่า ‘ความสุข’ ของแต่ละคน
และบางทีความหมายของการมีชีวิตอยู่ อาจเป็นสิ่งง่าย ๆ ที่มีคุณค่าในตัวของมันเอง เป็นสิ่งที่เราไม่ได้พยายามทำเพื่อให้ชีวิตมีความหมาย แต่เป็นเรื่องเล็ก ๆ ที่เราชอบ สนใจ และสิ่งนั้นจะมีความหมายในตัวเอง