‘เดอ คัวร์’ แบรนด์แฟชั่นจากลูกหลานชาติพันธุ์แห่งเมืองเชียงใหม่ เชื่อมชุมชน สร้างรายได้ ส่งต่อมรดกรุ่นปู่ย่าสู่สายตาชาวโลก

เพราะเติบโตมาจากครอบครัวช่างเย็บผ้า และร่ำเรียนมาทางศิลปะ เห็นความสวยงามที่เป็นอัตลักษณ์ท้องถิ่นของชุมชนชาติพันธุ์มาเนิ่นนาน จึงอยากนำความสวยงามมาต่อยอดสร้างสรรค์ผลงาน เพื่อทำให้คนรุ่นใหม่มองเห็นคุณค่าของภูมิปัญญาท้องถิ่น นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ ‘ซิลเวอร์’ ยุจเรศ สมนา ตัดสินใจเปิดร้านขายของที่ระลึกใกล้ถนนคนเดินเชียงใหม่ กระทั่งต่อยอดมาสู่การทำแบรนด์ ‘เดอ คัวร์’ เพื่อนำมรดกทางภูมิปัญญาจากฝีมือชาวบ้านกลุ่มชาติพันธุ์กว่า 200 ชุมชน ถ่ายทอดผ่านลวดลายบนผืนผ้าสู่สายตาชาวโลก

“เราอยากถ่ายทอดวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่ผ่านงานหัตถกรรม ยกระดับคุณภาพสินค้าให้ได้มาตรฐาน เพิ่มมูลค่าให้สินค้าขายได้ในราคาที่สมเหตุสมผล ตอนแรกเราเริ่มจากการเปิดร้านขายของที่ระลึกให้กับชาวต่างชาติใกล้ถนนคนเดินเชียงใหม่ เพราะเรามักจะเห็นพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์เร่ขายของตามร้านอาหาร หรือแหล่งท่องเที่ยวในเชียงใหม่อยู่บ่อย ๆ แต่นำมาขายในราคาที่ถูกมาก ทั้งที่ชิ้นงานมีความสวยงาม ประณีต และคนทั่วไปก็มักจะซื้อเพราะความสงสารมากกว่าซื้อเพราะความชื่นชอบในชิ้นงานนั้น แต่เราอยากให้ทุกคนเห็นคุณค่าของศิลปะท้องถิ่น อยากให้เขาซื้อแล้วนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง”

‘เดอ คัวร์’ แบรนด์แฟชั่นที่ตั้งใจถ่ายทอดอัตลักษณ์อันหลากหลายของกลุ่มชาติพันธุ์ในจ.เชียงใหม่

“ช่วงแรกที่เปิดร้าน เราเน้นเจาะกลุ่มตลาดนักท่องเที่ยว หลังจากนั้นจึงค่อย ๆ ขยับมาทำแบรนด์ ขยายมาทำงานกับชุมชน ผลิตสินค้าคอลเลกชันต่าง ๆ โดยออกแบบชิ้นงานตามโจทย์เเละความถนัดของแต่ละชุมชน เราอยากแก้ปัญหาเรื่องการขาดแคลนช่างฝีมือ และการหาบเร่ขายของของพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์ เราเลยจดทะเบียนบริษัทเป็นกิจการเพื่อสังคม แล้วออกเดินทางลงพื้นที่ไปในชุมชนต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนการสร้างอาชีพ ช่วยลบภาพลักษณ์การบุกรุกป่า ตัดต้นไม้ สนับสนุนการปลูกฝ้าย นำวัตถุดิบที่มีในท้องถิ่นมาสร้างรายได้ ด้วยกระบวนการที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม

“ด้วยความที่เราเป็นคนในพื้นที่ และเรียนมาทางศิลปะ ทำให้พอมีข้อมูลเกี่ยวกับแหล่งวัตถุดิบ และกลุ่มคนที่มีฝีมือทางหัตถกรรมในชุมชนต่าง ๆ เราเลยเดินทางไปหาพวกเขา โดยเริ่มต้นทำงานกับกลุ่มกะเหรี่ยง หรือปกาเกอะญอ ขยายไปยังกลุ่มม้ง อาข่า ในเชียงใหม่ แล้วขยายต่อไปทางเชียงราย น่าน แพร่ พะเยา ลำปาง ลำพูน จนขยายเครือข่ายไปทั่วประเทศ 200 กว่าชุมชน 

“เเม่ ๆ กลุ่มชาติพันธุ์มีฝีมือในการทอผ้าอยู่แล้ว แต่ในด้านการออกแบบอาจจะยังไม่ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดมากนัก เราเลยเข้าไปดูตั้งแต่วัตถุดิบ ทรัพยากร และข้อจำกัดของชุมชน เพื่อที่จะออกแบบงานให้ตรงกับความต้องการของตลาดมากขึ้น แต่ยังคงรักษาอัตลักษณ์ และภูมิปัญญาท้องถิ่นเอาไว้

“อย่างการทำคอลเลกชัน ‘ลาโบย’ เราได้เเรงบันดาลใจมาจาก ‘คุณยายลาโบย’ คุณยายชาวกะเหรี่ยงโปว์แห่งอมก๋อย วัย 80 ปี เราออกแบบคอลเลกชันนี้ โดยใช้ลายผ้ามัดหมี่จากลายผ้าถุงของคุณยายมาทำเป็นลายกระเป๋า แล้วออกแบบให้มีความมินิมอลมากขึ้น ใช้เส้นใยที่มีความเหนียว แข็งแรง และใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติมาย้อมสี อาทิ สีน้ำเงินจากคราม สีน้ำตาลจากเปลือกไม้คุ และสีแดงจากเปลือกไม้ฝาง โดยที่คุณยายและคนในชุมชนมีส่วนร่วมในทุกกระบวนการ ตั้งแต่การออกแบบลวดลาย การเลือกวัตถุดิบ การทอ และการย้อม หรือการออกแบบลวดลายปลาบนหมอนอิง ซึ่งเกิดจากความอุดมสมบูรณ์ของเมืองไทยจนมีคำกล่าวที่ว่า ‘ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว’ โดยใช้เทคนิคยกดอกแบบพิเศษของคุณยายมาออกแบบ”

แม้ต่างพื้นเพ ต่างวัย แต่ไร้ปัญหาการสื่อสาร เพราะเป็นลูกหลานคนพื้นที่ และเรียนเรื่องวิถีชีวิตจากศิลปะ 

“ถึงแม้จะมีความแตกต่างทางช่วงวัย หรือพื้นเพทางวัฒนธรรมอยู่บ้าง แต่เราไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องการสื่อสาร และการทำงานร่วมกับคนในชุมชนเท่าไร อาจเพราะเราเป็นคนในพื้นที่ และมีโอกาสได้เรียนรู้เรื่องราวของผู้คนมาตั้งแต่สมัยเรียนมหาวิทยาลัย ผ่านการเรียนด้านการจัดการศิลปวัฒนธรรม ทำให้เรามีความเข้าใจเรื่องภาษา สังคม วัฒนธรรม การเมืองของชุมชนอยู่บ้าง และยังได้ลงพื้นที่ เดินทางไปในชุมชนต่าง ๆ ค่อนข้างบ่อย ทำให้สามารถปรับตัวเข้ากับคนในชุมชนได้

“หลังเรียนจบ ก็มีโอกาสได้ไปทำงานออกแบบที่ประเทศญี่ปุ่น ได้สัมผัสความละเมียดละไม และได้ลงพื้นที่ไปนำผ้าไหมจากประเทศลาวมาทำงานออกแบบ สิ่งเหล่านี้ทำให้เรามีต้นทุนที่ดีในการทำความเข้าใจวิถีชีวิตผู้คนและวัฒนธรรมที่หลากหลาย” 

‘ทอผ้า’ การทำงานที่สร้างคุณค่าให้ผู้สูงอายุและเชื่อมสายใยของคนทุกวัยไว้ด้วยกัน

“จากการทำงานร่วมกับผู้สูงอายุในชุมชนชาติพันธ์ุ เราได้รับเสียงสะท้อนที่ดีต่อใจคนทำงานอย่างเราว่า การทำงานทำให้แม่ ๆ รู้สึกมีตัวตน และเห็นคุณค่าของตัวเองมากขึ้น เห็นว่าตัวเองยังทำงานได้ ไม่รู้สึกเป็นภาระของลูกหลาน ทำให้เกิดการปรับตัว เกิดไอเดียใหม่ ๆ ในการสร้างสรรค์งาน รวมทั้งมีรายได้เพิ่มขึ้นจากเดิม 2-3 เท่า 

“อย่างคุณยายลาโบยที่พูดภาษาไทยแทบไม่ได้ และไม่เคยรู้จักคอมพิวเตอร์มาก่อน แต่ในช่วงโควิด-19 คุณยายลาโบยนำค่าทอผ้าที่ได้ ให้หลานไปซื้อคอมพิวเตอร์ไว้ใช้เรียนออนไลน์ จากคนที่ไม่เคยรู้จักคอมพิวเตอร์ สามารถซื้อคอมพิวเตอร์เพื่อต่อยอดอนาคตให้หลานได้ จนทำให้หลานของคุณยายลาโบยเรียนจบรัฐศาสตร์ตามความตั้งใจ เพื่อจะกลับมาทำงานพัฒนาชุมชน ซึ่งสิ่งนี้ไม่ได้เป็นแค่ความฝัน และความภูมิใจของคุณยายลาโบยเท่านั้น แต่เป็นความฝันและความสุขของคนทั้งชุมชนด้วย  

“นอกจากสร้างรายได้ให้ตัวเองและครอบครัวแล้ว การทำงานของผู้สูงอายุยังเป็นการสร้างความสัมพันธ์ เชื่อมโยงคนรุ่นใหม่และผู้สูงอายุ ให้มีโอกาสได้ใช้เวลาร่วมกันด้วย และยังทำให้คนรุ่นใหม่มองเห็นคุณค่าของงานหัตถกรรมท้องถิ่น เพราะเห็นว่าการทำงานนี้ ช่วยให้มีรายได้ที่มั่นคงโดยไม่ต้องอพยพ ย้ายถิ่นฐาน หรือเข้าไปทำงานในเมือง”    

‘หัตถกรรมท้องถิ่น’ มรดกของคนรุ่นใหญ่ที่สร้างให้คนรุ่นใหม่ ไว้หล่อเลี้ยงหัวใจและชีวิต

“สิ่งที่เป็นความภูมิใจของเรา คือ การสร้างอาชีพ สร้างชีวิตใหม่ให้กับคนในชุมชน เราทำเเบรนด์เดอ คัวร์ มาจนถึงวันนี้ เข้าปีที่ 6 แล้ว ดีใจที่ผู้บริโภคไทยเห็นความสำคัญของงานหัตถกรรมท้องถิ่นมากขึ้น แต่คิดว่าแบรนด์ยังต้องเดินทางอีกยาวไกล เรายังสนุกและตื่นเต้นที่จะตื่นขึ้นมาทำงานในทุก ๆ เช้า ตั้งใจว่าอยากส่งต่อวิธีคิดและกระบวนการทางภูมิปัญญาผ่านระบบอีโคซิสเต็ม ต่อยอดไปสู่การนำวัตถุดิบอื่น ๆ ที่มีในท้องถิ่นมาใช้ หรืออาจจะขยายไปยังอุตสาหกรรมอื่น ๆ เช่น อุตสาหกรรมอาหาร งานไม้แกะสลัก ฯลฯ นอกจากนี้ เรายังส่งผลิตภัณฑ์ไปร่วมงานแฟชั่นวีกในหลาย ๆ ประเทศ เพื่อขยายตลาดให้กว้างขึ้นด้วย  

“การที่เรามีศิลปะประจำท้องถิ่นที่มีสวยงาม อ่อนช้อย เป็นสิ่งที่น่าภูมิใจ ที่เราสามารถบอกกับคนทั่วโลกว่าเรามีศิลปะพื้นบ้านที่สวยงาม โดดเด่น ไม่เหมือนใคร และพูดได้เต็มปากว่า ‘เมืองไทยมีดีไม่แพ้ชาติใดในโลก’ ชาวต่างชาติที่ได้สัมผัสต่างชื่นชมและเห็นคุณค่าของสิ่งเหล่านี้ แต่สิ่งที่เราหวังและอยากให้เกิดขึ้น คือ อยากให้คนไทยกลับมามองเห็นคุณค่า และสัมผัสความสวยงามเหล่านี้ แล้วช่วยกันรักษา สร้างสรรค์ และส่งต่อมรดกทางวัฒนธรรมที่คนรุ่นปู่ย่าตายายของเราทิ้งไว้ให้ เพราะถ้าหากไม่มีสิ่งเหล่านี้ ตัวตน รากเหง้าต่าง ๆ ของเรา ก็จะค่อย ๆ เลือนหายไป”    

 

ติดตามงานคราฟต์เท่ ๆ และสนับสนุนผลิตภัณฑ์ชุมชนได้ที่ www.facebook.com/dequarr?locale=th_TH 

ขอบคุณภาพจาก De Quarr – Crafting Community

Credits

Author

  • มนุษย์ต่างวัย

    Authorพื้นที่ถ่ายทอดเรื่องราวของสังคมสูงวัยในมุมที่สนุก สร้างสรรค์ และเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนทุกวัย

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ