“ป้าคือแม่ในละครหลังข่าว ลูกไม่มีสิทธิ์คิดต่าง มีหน้าที่แค่ทำตามและเชื่อฟัง” นี่คือความผิดพลาดที่สุดที่กว่าจะรู้ตัวลูกก็อายุ 39 ปีแล้ว
มนุษย์ต่างวัยพาไปฟังประสบการณ์ของ “ป้าติ๋ม” คุณอลิษา ชาลีพจน์ อายุ 70 ปี เจ้าของหอมนวลเบเกอรี กับจุดเปลี่ยนชีวิตที่เคยเป็นแม่ที่เข้มงวดทุกอย่างในชีวิตลูกสู่การเป็นแม่ที่ลูก ๆ กล้าเข้ามาพูดคุยหยอกล้อด้วยในรอบ 39 ปี
ลูกมีหน้าที่แค่ทำตาม ไม่ต้องคิด หรือแสดงความคิดเห็นอะไรทั้งนั้น
“ก่อนหน้านี้ป้าคือแม่ที่ในละครหลังข่าวทุกอย่าง ไม่ใช่แม่ที่ดีนะ แต่คือแม่ที่ทำให้ลูกต้องหนักใจโดยที่เราไม่รู้ตัว ป้าเลี้ยงลูกมาแบบ “แม่ถูกเสมอ” ลูกเชื่อแม่ เก่งเหมือนแม่แล้วจะได้ดี ดังนั้นเราไม่เคยที่จะพูดดี ๆ กับลูก ลูกไม่เคยได้ออกความคิดเห็น มีหน้าที่แค่ทำตาม ถ้าคำสั่งไหนออกจากปากแม่ถือเป็นอำนาจสูงสุดเด็ดขาดที่จะฝ่าฝืนไม่ได้ หนูลองจิตนาการดูว่าลูกป้าต้องเจ็บปวดขนาดไหน”
“เพราะเราเชื่อมั่นเสมอว่าเราเกิดก่อน เราย่อมรู้ดีกว่า ถ้าเราไม่บังคับ ไม่สอนให้ลูกทำตามแบบเรา เคารพยำเกรงเรา ลูกก็อาจไม่ได้ดี โดยที่ป้าก็ลืมคิดถึงใจลูกนะว่าลูกจะรู้สึกอย่างไร บอกตามตรงว่าตอนนั้นคิดถึงใจตัวเองมากกว่า เพราะเราอยากให้ทุกคนเป็นได้ดั่งที่ใจเราต้องการ”
“ขนาดสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ ป้ายังให้แค่กระเป๋าราคาไม่เกิน 1,000 บาท เรียนได้เกียรตินิยม สอบได้ที่ 1 ไม่เคยมีรางวัลหรือคำชื่นชมให้ เพราะนั่นคือสิ่งที่ลูกควรทำได้ไม่ใช่สิ่งพิเศษ”
เกิดระยะห่างจุดเริ่มต้นกำแพงพรากความใกล้ชิดของแม่-ลูก
“ป้าไม่เคยรู้ตัวว่าสิ่งที่เราทำไม่ถูกต้องนะ เพราะเราก็รักลูกเรา เราคาดหวัง เข้มงวด ตัดสินใจแทนลูกเราก็เพราะเราคิดว่าเรารู้ดีกว่า เกิดก่อน พลาดมาก่อน ถ้าเขาฟังเรา เขาจะได้ไม่เดินหลงทาง แต่ป้าไม่รู้เลยว่าสิ่งที่ป้าทำ จะทิ้งบาดแผลในใจให้กับลูก เพราะลูกยอมเราตลอด ยอมจนไม่กล้าเข้าหาเรา มีความลับ กลัวที่จะบอกความรู้สึกตรง ๆ กับเรา”
“มีครั้งหนึ่งที่ลูกตัดสินใจไม่อยากแต่งงานกับคนที่คบหาอยู่ ซึ่งใกล้ถึงงานแต่งแล้วอีกไม่กี่เดือน แต่เขากลับไม่กล้าบอกป้า กลัวว่าจะถูกว่า กลัวป้าจะรับไม่ได้ เลยหนีออกจากบ้านไปหลายวัน นี่เป็นอีกเรื่องที่ยืนยันได้ว่า ขนาดชีวิตของเขาเจ็บปวดขนาดนี้เขายังกลัวการที่จะบอกกับแม่ตรง ๆ เลย”
จุดเริ่มต้นของความเปลี่ยนแปลงเริ่มจาก “ภาวะซึมเศร้า”
“จุดเปลี่ยนจริง ๆ เริ่มมาจากการที่ป้าเริ่มมีภาวะซึมเศร้า และอยู่กับตัวเองมากขึ้น ความเงียบทำให้ได้ทบทวนบางสิ่งบางอย่างในใจ ช่วงนั้นคุณหมอให้หากิจกรรมทำ ป้าเลยตัดสินใจนั่งดูละคร ดูย้อนหลังไป 500 กว่าเรื่อง ดูไปก็เริ่มคิดไป ทำไมแม่ในละครถึงทำกับลูกแบบนี้ ลูกถึงได้หนีไป เสียคน แล้วจุดหนึ่งเราก็สะดุ้งว่าที่ผ่านมาเราก็เป็นแม่แบบนั้นมาโดยตลอด ป้านึกในใจเลยว่า นี่ป้าสร้างบาดแผลให้ลูกต้องเจ็บปวดมา 38 ปีเลยหรือ”
“ก่อนที่จะซึมเศร้าป้าคือนักธุรกิจที่ทำบ้านโครงการจัดสรร มีเงินมีอำนาจ ทำให้เราตัวใหญ่เสียงดัง พูดอะไรใครก็ฟัง พอซึมเศร้าตัวเราเล็กลง ถึงได้มองเห็นสิ่งที่ตัวเองทำกับคนอื่น โดยเฉพาะสิ่งที่ทำกับลูก มันเรียกสติป้าขึ้นมาเลยว่า เวลาที่เหลืออยู่ถ้ายังเอาตัวเองเป็นใหญ่ ไม่มีทางที่จะมีความสุข เพราะให้ตายยังไงก็ไม่มีใครถูกใจเรา 100% และลูกก็จะไม่มีความสุขด้วย นั่นคือจุดเปลี่ยนเป็นป้าติ๋มเวอร์ชันใหม่”
ลดอัตตาเพื่อเป็นแม่คนใหม่
“หลังจากนั้นสิ่งที่ไม่น่าเชื่อว่าจะเกิดขึ้นกับป้าเลยก็คือ ลูกกล้าพูดเล่นด้วย เราไม่มีความลับต่อกัน ใจเราเบาขึ้นและเป็นสุขขึ้น เพราะเราไม่ต้องไปมัวคาดหวังให้เด็กรุ่นใหม่คิดเหมือนคนรุ่นเรา เพียงแค่ปรับมุมมองเข้าหากัน หลังจากที่ลูกปรับหาเรามาทั้งชีวิตแล้ว ก็ถึงเวลาที่เราต้องปรับหาลูกบ้าง ป้ากลายเป็นคนใจดี ใจเย็นขึ้นและรับฟังลูกมากขึ้นกว่าเดิม
“สิ่งที่ทำให้ป้ามีความสุขที่สุดคือความสัมพันธ์ที่อบอุ่นกลับคืนมา แววตารอยยิ้มที่เป็นรอยยิ้มจริง ๆ มันเบ่งบานในหัวใจ “ความสุขอยู่รอบตัวเรา” คือคำที่ป้าค้นพบ หลังจากนั้นป้าก็เห็นลูกเลี้ยงลูกของเขาในแบบที่ไม่เหมือนป้าเลย เป็นแม่ที่เข้าใจ และพร้อมซัพพอร์ตลูก สิ่งนั้นยิ่งทำให้ป้าเข้าใจว่าจริง ๆ ถ้าอยากให้คนต่างวัยเข้าใจเรา ไม่ใช่แค่รอให้เขาปรับเข้าหาเรา แต่เราก็ต้องลดอัตตา ความมั่นใจ ของเราลงครึ่งหนึ่งเพื่อเข้าใจคนอื่นด้วย ”
“ ป้าอยากฝากไว้ถึงผู้ใหญ่ทุกคนว่า เรามีความคิดของเรา เด็กมีความคิดของเด็ก การจะทำให้ความห่างและช่องว่างระหว่างวัยกลับมาใกล้กัน ต้องไม่ใช้การบังคับในแบบที่เราเชื่ออย่างเดียว แต่เราต้องเปิดใจคุยกันด้วยหลักเหตุและผล ลดความมั่นใจว่าเราเกิดก่อนต้องเชื่อเราบ้าง ถ้าทำได้ไม่ว่าเรื่องอะไรเราก็จะผ่านไปได้ เพราะวัยอาจไม่ใช่ปัญหาเท่าใจที่ไม่เปิดรับกัน”
– อลิษา ชาลีพจน์ อายุ 70 ปี –