ที่ทำงานเป็น ‘พิษ’ ทำชีวิต ‘พัง’ รับมืออย่างไร เมื่อต้องเผชิญหน้ากับ toxic ในที่ทำงาน

ถามมนุษย์เงินเดือนว่า ใครกำลังตกอยู่ในสภาวะแบบนี้บ้าง ?

ไม่อยากตื่นไปทำงานตอนเช้า มองนาฬิกาทุกสิบห้านาที บางวันก็ต้องอยู่ทำโอทีจนดึก วันเสาร์อยากนอนตื่นสาย ๆ แต่ก็ต้องรีบตามเจ้านายไปประชุมตั้งแต่ตีสี่

เพราะระบบการทำงานที่ไม่ชัดเจน ซ้ำซ้อน ภาระงานที่ล้นจนคนทำงานไม่ทัน การเลือกปฏิบัติ เอารัดเอาเปรียบ คำพูดเสียดสี ประชดประชัน การขโมยผลงานคนอื่นไปเป็นของตัวเอง รวมทั้งการอยู่ในองค์กรที่ไม่เอื้อให้คนทำงานเติบโตและพัฒนาศักยภาพของตัวเองได้อย่างเต็มที่

สถานการณ์เหล่านี้ ล้วนแล้วแต่เป็น ‘วัฒนธรรมการทำงานที่เป็นพิษ’ หรือวัฒนธรรมท็อกซิกในองค์กรที่สร้างบรรยากาศความกดดัน ตึงเครียด ทำลายสุขภาพจิต และความสัมพันธ์ระหว่างคนทำงาน จนนำไปสู่ปัญหาที่ส่งผลกระทบในแง่ลบต่อองค์กร ทั้งการได้ผลงานที่ขาดคุณภาพ การสูญเสียบุคลากรที่มีศักยภาพ สูญเสียความไว้วางใจทางธุรกิจ และปัญหาอื่น ๆ อีกมากมาย แต่เมื่อเราต้องใช้เวลาในที่ทำงานมากถึง 1 ส่วน 3 ของชีวิต เราจะรับมือกับปัญหานี้ได้อย่างไร

มนุษย์ต่างวัยชวนไปติดตามบรรยากาศวงสนทนาเล็ก ๆ กับการแบ่งปันเรื่องราวและประสบการณ์ เพื่อร่วมกันสร้างสรรค์พื้นที่การทำงานที่เป็นมิตร ปรับวิธีคิด และการสื่อสาร เตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์ท็อกซิก ไปกับงาน CareerVisa Networking Party ร่วมกันคิด เปลี่ยนพื้นที่ Toxic ให้เป็นพื้นที่ของเรา ที่จัดขึ้น ณ Clazy Cafe BTS สนามเป้า เมื่อช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา

เคยสงสัยหรือไม่ว่าทำไมเจ้านายต้องใจร้อน พูดจาเสียงดัง โผงผาง น้องฝ่ายบัญชีต้องคอยจ้ำจี้จ้ำไช พูดซ้ำไปซ้ำมาเรื่องเดิมไม่จบ หรือพี่ฝ่ายธุรการที่ชอบตอบคำถามเสียงเบา ๆ ในที่ประชุมทุกครั้ง เพราะไม่กล้าตัดสินใจ จริง ๆ แล้วเรื่องนี้มีคำตอบ ลองมาทำความเข้าใจคนแต่ละแบบง่าย ๆ เพื่อเรียนรู้วิธีอยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ ด้วยโมเดลสัตว์ 4 ทิศ

1. ทิศเหนือ – กระทิง

คนประเภทนี้เป็นคนที่ชัดเจน ตรงไปตรงมา รักความยุติธรรม มุ่งมั่น ตั้งใจ กล้าได้กล้าเสีย ใจร้อน คิดเร็วทำเร็ว พร้อมพุ่งชนเป้าหมาย ไม่กลัวอุปสรรค ชอบการได้รับมอบหมายให้ทำงานที่โดดเด่น การได้รับเกียรติ การเป็นคนสำคัญ ความใส่ใจ และคำขอบคุณ จะไม่พอใจ ถ้าหากถูกมองข้าม เมินเฉย หรือได้รับมอบหมายให้ทำงานเล็ก ๆ ที่ไม่ท้าทาย และไม่น่าสนใจ

2. ทิศใต้ – หนู

คนประเภทนี้ปรับตัวง่าย รักสันติ ขี้เกรงใจ มีน้ำใจ ชอบอาสา และมักจะไม่บอกความต้องการของตัวเองตรง ๆ ชอบการทำงานเป็นทีม ชอบพูดคุย ถามไถ่ ชอบความรู้สึกเชื่อมโยง เป็นส่วนหนึ่ง ไม่ชอบการถูกทิ้ง ถูกปฏิเสธ การเมินเฉย และการไม่ใส่ใจความรู้สึก

3. ทิศตะวันตก – หมี

คนประเภทนี้เป็นคนมีเหตุผล เจ้าระเบียบ โลกส่วนตัวสูง ชอบคิดวิเคราะห์ ชอบเก็บข้อมูล ความรู้เยอะ ชอบกฎเกณฑ์ ชอบทำงานรูทีน ชอบความปลอดภัย ความชัดเจน และการใช้เหตุผล ไม่ชอบความไม่แน่นอน เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา การโกหก ความเสี่ยงที่ไม่จำเป็น และการใช้อารมณ์เป็นใหญ่

4. ทิศตะวันออก – อินทรี

คนประเภทนี้ชอบเข้าสังคม เป็นคนที่มองภาพรวม ภาพกว้าง แต่มักละเลยรายละเอียด ชอบความหลากหลาย ช่างเจรจา มีความคิดสร้างสรรค์ ชอบการท่องเที่ยว การใช้ไอเดีย กิจกรรมสนุก ๆ เรื่องแปลกใหม่ไม่ชอบเรื่องซ้ำ ๆ เดิม ๆ งานนั่งโต๊ะ หรือการถูกออกคำสั่งให้ทำตามกฎเกณฑ์

การที่เราใช้โมเดลนี้ จะช่วยให้เราเข้าใจตัวเองและคนอื่นมากขึ้น เรียนรู้ว่าคนรอบตัวเราเป็นคนแบบไหน ชอบหรือไม่ชอบอะไร ทำให้เรารู้วิธีในการปรับตัวและอยู่ร่วมกันได้ดีขึ้น ช่วยเปลี่ยนพลังงานลบให้กลายเป็นพลังงานบวก สร้างบรรยากาศที่เป็นมิตรในที่ทำงาน ลดความขัดแย้ง และสถานการณ์ที่เป็นพิษได้

สำหรับกิจกรรมในครั้งนี้ มนุษย์ต่างวัย มีโอกาสได้คุยกับผู้เข้าร่วมเวิร์กช็อป 2 คน ที่มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์และความประทับใจที่ได้รับ โดยคนแรกเป็นหญิงสาวเจนวายในสายงาน HR หรือฝ่ายทรัพยากรบุคคลของบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง เธอบอกกับเราว่า

“การที่เราจะรับมือกับเหตุการณ์ท็อกซิกได้นั้น อาจเริ่มต้นง่าย ๆ ที่ตัวเราเอง อย่างการหาข้อมูล หาเคสตัวอย่างที่คล้ายกับปัญหาของเรา เพื่อหาวิธีแก้ไข แล้วลองนำมาปรับใช้กับเรื่องของตัวเอง

“หนูเป็นคนไม่กล้วที่จะพูดตรง ๆ อยู่แล้ว เพราะเราพูดด้วยข้อเท็จจริง ด้วยเหตุผล หนูมองว่าการสื่อสารออกไปตรง ๆ บอกให้เขารู้ว่าสิ่งที่เขาทำส่งผลกระทบอะไรกับเราบ้าง จะช่วยแก้ปัญหาได้ นอกจากนี้ เมื่อเกิดปัญหาที่ทำให้เราเกิดความเครียด หรือส่งผลกระทบกับจิตใจ เราควรกลับมาดูแลตัวเอง หาทางระบายออกกับคนที่ไว้ใจได้ ส่วนตัวหนู หนูจะคุยกับเพื่อน เล่าให้เขาฟังว่าเราเจออะไรมา เพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองและให้กำลังใจกัน ทำให้เราสบายใจขึ้น แล้วค่อยหาวิธีแก้ปัญหาต่อ”

ทางด้านของสาวน้อยนักศึกษาฝึกงานวัย 21 ปี ที่ฝึกงานมาแล้วในองค์กรหลายประเภททั้งภาครัฐ เอกชน รวมทั้งรัฐวิสาหกิจ ได้แบ่งปันมุมมองให้เราฟังว่า

“การมาร่วมเวิร์กช็อปในวันนี้ทำให้เห็นมุมมองของสถานการณ์ท็อกซิกที่หลากหลายและแตกต่างจากที่เราคิดมากขึ้น ได้รู้ว่าบางเรื่องที่เราไม่เคยคิดว่าจะนำไปสู่ปัญหา ก็ทำให้เกิดความท็อกซิกขึ้นได้ ไม่ว่าจะเรื่องความสัมพันธ์ วัฒนธรรมองค์กร หรือการเข้ามาแทรกแซงหรือควบคุมการทำงานที่มากเกินไปจนน่าอึดอัด

“การจะแก้ปัญหาได้นั้น สิ่งแรก คือ เราต้องยอมรับก่อนว่ามันเป็นปัญหา มองกลับมาที่ตัวเองก่อนว่าเราจะแก้ที่ตัวเองได้อย่างไร ก่อนที่จะมองไปที่ความผิดของคนอื่น หรือมองว่าคนอื่นเป็นปัญหา แล้วค่อยเข้าหา คนอื่นด้วยวิธีที่ถูกต้อง มองให้ออกก่อนว่า เขาเป็นคนรูปแบบใด อินทรีย์ หนู หมี หรือกระทิง เราจะได้รู้ว่าต้องใช้วิธีไหนในการสื่อสาร หรือรับมือ เช่น ถ้าไปคุยกับคนที่เป็นกระทิง เราก็ต้องเลือกใช้คำพูดที่ค่อนข้างซอฟต์ ชี้ให้เห็นจุดที่เป็นปัญหา โดยที่ไม่ทำให้เขารู้สึกเสียหน้า และที่สำคัญเราควรแสดงออกทันทีที่เกิดปัญหา ไม่ปล่อยให้ค้างคาไว้นาน เพื่อไม่ให้สถานการณ์ลุกลามกลายเป็นปัญหาใหญ่ เลือกวิธีที่ใช่ มาใช้ในเวลาที่เหมาะสม

“สถานการณ์แบบนี้ เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ยังไงก็ต้องเจอ อยู่ที่ว่าเราจะรับมือได้ดีแค่ไหน เราต้องเตรียมตัวให้พร้อมอยู่เสมอ ทุกวันนี้ก็พยายามเรียนรู้ และคิดว่าตัวเองก็เป็นพนักงานคนหนึ่งขององค์กร ไม่มองตัวเองเป็นแค่เด็กฝึกงาน กล้าที่จะพูด กล้าที่จะถาม พยายามใช้โอกาสที่เรามีเรียนรู้ให้ได้มากที่สุด เพื่อให้เราพร้อมในตอนที่เข้าสู่ชีวิตการทำงานจริง ๆ

“หนูเชื่อว่า การแก้ไขปัญหาความท็อกซิกนั้น ทุกคนทำได้ด้วยการเป็นกระบอกเสียง เริ่มจากการดูแลให้คำปรึกษาคนใกล้ตัว ส่งต่อสิ่งที่เราเรียนรู้มาให้กับคนอื่น พอคนเราเริ่มเกิดการเรียนรู้ เขาก็จะบอกต่อกัน ไปเรื่อย ๆ หนูคิดว่าการทำแบบนี้ เป็นวิธีที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ดีที่สุด”

Credits

Authors

  • ปัญจวรา บุญสร้างสม

    Authorมนุษย์ลักษณ์สอง ผู้หลงรักดอกทานตะวัน

  • ภาณุมาศ จำปาพงษ์

    Authorครีเอทีฟตัวน้อย ร้อยห้าสิบสี่เซน เป็นคนกรุงเก่าเข้ามาตามฝันในบางกอก รักสุขภาพดื่มน้ำวันละ 8 ชั่วโมง นอนวันละ 8 แก้ว อนาคตอยากเลี้ยงแมวแล้วให้เงินทำงาน

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ