Customize Consent Preferences

We use cookies to help you navigate efficiently and perform certain functions. You will find detailed information about all cookies under each consent category below.

The cookies that are categorized as "Necessary" are stored on your browser as they are essential for enabling the basic functionalities of the site. ... 

Always Active

Necessary cookies are required to enable the basic features of this site, such as providing secure log-in or adjusting your consent preferences. These cookies do not store any personally identifiable data.

Functional cookies help perform certain functionalities like sharing the content of the website on social media platforms, collecting feedback, and other third-party features.

Analytical cookies are used to understand how visitors interact with the website. These cookies help provide information on metrics such as the number of visitors, bounce rate, traffic source, etc.

Performance cookies are used to understand and analyze the key performance indexes of the website which helps in delivering a better user experience for the visitors.

Advertisement cookies are used to provide visitors with customized advertisements based on the pages you visited previously and to analyze the effectiveness of the ad campaigns.

TASC 2023 สร้างเยาวชนเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงรุ่นใหม่เพื่อสร้างสังคมสูงวัยที่ยั่งยืน

“เราหวังว่าเยาวชนที่เข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้จะสามารถลุกขึ้นมาเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงทางสังคม และได้รับมิตรภาพอันยั่งยืนที่จะเติบโตไปพร้อมกับพวกเขาด้วย”

Mori Tae ผู้อำนวยการแผนกการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศ (ส่วนที่ 2) ฝ่ายความร่วมมือระดับโลก Japan Foundation สำนักงานใหญ่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น

หลายคนอาจจะพอรู้ว่าญี่ปุ่น เป็นประเทศที่พบปัญหาสังคมสูงวัยสูงสุดของเอเชีย แต่ไม่ใช่ประเทศญี่ปุ่นเท่านั้นที่กำลังเผชิญปัญหานี้อยู่ หลายประเทศในเอเชียก็กำลังใกล้เผชิญสถานการณ์เดียวกันกับประเทศญี่ปุ่น ไม่ว่าจะเป็นสิงคโปร์ เวียดนาม หรือแม้แต่ประเทศไทย

จุดนี้แสดงให้เห็นว่าปัญหาสังคมสูงวัยนั้นเป็นปัญหาที่เป็นจุดร่วมของหลายประเทศ รวมทั้งเป็นประเด็นที่เยาวชนให้ความสนใจที่จะเรียนรู้และทำความเข้าใจ เพื่อเตรียมความพร้อมในการรับมือกับปัญหานี้และร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างสรรค์ ริเริ่มการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ด้วยตัวเอง

Japan Foundation ร่วมกับมูลนิธิ Kamenori และเครือข่ายมหาวิทยาลัยแห่งอาเซียน (ASEAN University Network) จัดโครงการ ASEAN – Japan Youth Forum : Take Actions for Social Change (TASC) 2023 ขึ้น เพื่อเฉลิมฉลองครบรอบ 50 ปี แห่งมิตรภาพและความร่วมมือระหว่างอาเซียน-ญี่ปุ่น โดยคัดเลือกเยาวชนจากประเทศญี่ปุ่นและประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เข้าร่วมโครงการเพื่อศึกษาในประเด็นปัญหาหลักของสังคม 3 ด้าน คือ สังคมสูงวัย สิ่งแวดล้อมศึกษาและการจัดการภัยพิบัติ และความหลากหลายทางสังคม เพื่อสร้างพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ เชื่อมโยงความสนใจ และสร้างเครือข่ายมิตรภาพที่มีความหมายให้กลุ่มเยาวชนได้มีโอกาสนำความรู้ที่ได้ไปต่อยอดสร้างสรรค์ เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงในการแก้ปัญหาและสร้างคุณภาพสังคมในประเทศให้ดียิ่งขึ้น

มนุษย์ต่างวัยพาไปชมภาพกิจกรรมลงพื้นที่ศึกษาดูงานของคณะเยาวชนที่ผ่านการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการฯ เพื่อเรียนรู้ในประเด็นสังคมสูงวัย ให้น้อง ๆ เยาวชนได้ทำความเข้าใจวิถีชีวิตและระบบการจัดการดูแลผู้สูงอายุในพื้นที่ชุมชนหนองหอย จังหวัดเชียงใหม่ ท่ามกลางบรรยากาศการต้อนรับสุดอบอุ่นโดยทีมแม่ ๆ จากชมรมผู้สูงอายุชุมชนหนองหอย ทีมงานมูลนิธิพัฒนาผู้สูงอายุ ทีมงาน Buddy HomeCare รวมทั้งอาสาสมัครทุกท่านที่จัดเตรียมทั้งข้อมูล ความรู้ที่น่าสนใจ อาหารท้องถิ่นทั้งคาวหวาน อาหารตาจากศิลปะการฟ้อนที่เป็นเอกลักษณ์ตามแบบฉบับล้านนา และอาหารใจจากการให้น้อง ๆ เยาวชน ได้ไปเยี่ยมเยียนผู้สูงอายุอย่างใกล้ชิดถึงที่บ้าน

“จากสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมา เด็ก ๆ และเยาวชนไม่มีโอกาสได้เจอและทำกิจกรรมร่วมกันเลย เราเลยอยากจัดพื้นที่ให้เด็ก ๆ ได้มาเจอและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน เพราะปีนี้เป็นโอกาสที่ดี ในวาระครบรอบ 50 ปี ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศญี่ปุ่นและภูมิภาคอาเซียนด้วย เราเห็นว่ามีปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นร่วมกันของหลาย ๆ ประเทศในภูมิภาคนี้ เลยอยากมีพื้นที่ให้เด็ก ๆ ได้หาแนวทางแก้ไขปัญหาร่วมกัน

“ประเด็นสังคมสูงวัยเป็นประเด็นปัญหาหลักของประเทศญี่ปุ่นอยู่แล้ว เราเลยมาปรึกษากับทาง Japan Foundation สำนักงานกรุงเทพฯ ประเทศไทย เพื่อหาแนวทางแก้ไขใหม่ ๆ บ้าง เพราะสังคมไทยเองก็เพิ่งเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างเต็มรูปแบบเมื่อปีที่แล้ว และกำลังเผชิญปัญหานี้อยู่เช่นกัน ถือเป็นจังหวะที่ดีที่จะให้เด็ก ๆ ได้มาศึกษาดูงานและทำกิจกรรมในพื้นที่ได้

“เหตุผลที่เลือกเมืองไทยเป็นต้นแบบในการศึกษาประเด็นนี้ เพราะมองว่าประเทศไทยมีเครื่องมือหลายอย่างที่น่าสนใจที่หลายประเทศหรือญี่ปุ่นเองยังไม่มี อย่างเช่นการทำสื่อ เพื่อสื่อสารและสร้างทัศนคติที่ดีต่อสังคมสูงวัย รวมทั้งเปิดโอกาสให้เยาวชนในหลายประเทศที่ยังไม่ได้เผชิญปัญหานี้ได้มาสัมผัส และนำแนวทางที่ได้เรียนรู้ไปเตรียมตัวปรับใช้ในอนาคตได้

“แต่ละประเทศเผชิญปัญหาสังคมสูงวัยไม่เหมือนกันเลย อย่างสิงคโปร์กับญี่ปุ่นที่มีปัญหานี้เป็นอันดับต้น ๆ ของเอเชียอยู่แล้ว เด็ก ๆ จะมีความเข้าใจและเห็นภาพค่อนข้างชัดเจน แต่ประเทศกัมพูชา เป็นประเทศที่ยังไม่เคยประสบปัญหานี้ ตัวเยาวชนก็จะได้เข้าใจว่าไม่นานประเทศเขาก็จะต้องประสบกับปัญหานี้เช่นเดียวกัน

“เราหวังว่าการที่เด็ก ๆ ได้เข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้ จะทำให้เกิดความสัมพันธ์กันในระยะยาว แม้ว่าจะจบโครงการไปแล้วก็ตาม รวมทั้งสามารถลุกขึ้นมาเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงทางสังคมได้ โดยไม่ต้องรอการสนับสนุนจากภาครัฐเพียงอย่างเดียว พวกเขาอาจจะไปทำงานอาสาสมัคร ริเริ่มทำธุรกิจเพื่อสังคม วันหนึ่งที่เขาเติบโตขึ้น มิตรภาพจากการเข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้จะเติบโตไปพร้อมกับเขาด้วย นี่เป็นสิ่งที่เราตั้งใจอยากจะให้เป็นของขวัญกับเด็ก ๆ เพื่อใช้ต่อไปในอนาคต”

Aung Zayar Naing (Zayar) นักศึกษาจากประเทศเมียนมา

“ผมสนใจกิจกรรมการเรียนรู้ทางด้านสื่อจากมนุษย์ต่างวัย จากการดูคลิปวิดีโอต่าง ๆ ทำให้เห็นว่าผู้สูงอายุเปิดรับมุมมองของคนรุ่นใหม่ค่อนข้างมาก ส่วนอีกกิจกรรม ก็คือ การร้อยมาลัยกับผู้สูงอายุของทาง Young Happy ที่ทำให้ผมค่อนข้างประหลาดใจ เพราะไม่คิดว่าคุณป้าที่เป็นคู่ในการทำกิจกรรมร่วมกับผมจะให้ความสนใจอยากรู้เรื่องราวชีวิตผม อยากรู้ว่าผมมาจากที่ไหน เคยทำอะไรมาบ้าง ตัวผมเองก็เลยเปิดรับและเรียนรู้เรื่องราวของคุณป้าเช่นกัน ทำให้เกิดการเชื่อมโยงระหว่างคนสองวัยเข้าด้วยกัน”

Nguyen Thi Thu Huyen (Gwen) นักศึกษาจากประเทศเวียดนาม

“ตั้งแต่มาถึงเมืองไทย มีโอกาสได้ร่วมกิจกรรมที่มีความหมายหลากหลายมาก ๆ ทั้งกิจกรรมทางสังคม วัฒนธรรม แต่กิจกรรมที่ประทับใจมากที่สุด คือ การไปเยี่ยมบ้านผู้สูงอายุที่หนองหอย เพราะมีโอกาสได้เห็น วิถีชีวิตของผู้สูงอายุในชุมชน ทำให้ได้รับแรงบันดาลใจสำหรับกลับไปทำงานกับผู้สูงอายุในเวียดนามต่อไป”

กานต์ชนิต ฮ้อเรืองเวทย์กิจ (ไข่มุก) นักศึกษาจากประเทศไทย

“มุกเชื่อว่าทุกคนที่มาเข้าร่วมโครงการในครั้งนี้ มีพื้นที่สื่อของตัวเองในระดับหนึ่ง เราเป็นสมาชิกขององค์กรหรือหน่วยงานต่าง ๆ อยู่แล้ว ทุกคนจะนำสิ่งที่ได้เรียนรู้ไปถ่ายทอดต่อ ไม่ว่าในรูปแบบใดก็ตาม อย่าง Social Media เพจองค์กรในมหาวิทยาลัย หรือการจัดกิจกรรมเพื่อเผยแพร่ความรู้สู่สาธารณะ

“ส่วนตัวมุกเอง การมาร่วมโครงการครั้งนี้ทำให้เราเข้าใจผู้สูงอายุและมีมุมมองในด้านที่แตกต่างออกไปมากขึ้น เรามี Empathy ที่ไม่ใช่แค่ความรัก ความห่วงใย แต่เราเห็นอะไรในตัวเขามากขึ้น จากที่เคยคิดแค่ว่าจะทำอย่างไรให้พ่อแม่อยู่สบายที่สุด ไม่ต้องทำอะไร พักผ่อนอยู่บ้านสบาย ๆ แต่ตอนนี้มุกอยากสนับสนุนให้พ่อแม่ ได้ลองทำอะไรใหม่ ๆ ออกจาก Comfort Zone สร้างแรงบันดาลใจและความเป็นไปได้ในการค้นหาชีวิตในแบบที่เขาอยากใช้ ไม่ว่าจะอายุเท่าไรก็ตาม”

Ubana, Shane Dominique D. (Shane) นักศึกษาจากประเทศฟิลิปปินส์

“สังคมฟิลิปปินส์มีความเหลื่อมล้ำค่อนข้างมาก ถ้ามีโอกาสแนะนำกิจกรรมต่าง ๆ ให้ผู้สูงอายุได้เข้าร่วม ก็อยากให้ผู้สูงอายุทุกคนมีโอกาสเข้าถึงกิจกรรมต่าง ๆ อย่างเท่าเทียมกัน ไม่ว่าสถานะทางสังคมของพวกเขา จะเป็นแบบใดก็ตาม”

Kenneth Cheok Jia Cheng (Ken) นักศึกษาประเทศสิงคโปร์

“ประเทศสิงคโปร์เข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์แล้ว ผมอยากขยายกิจกรรมต่าง ๆ ให้เข้าถึงกลุ่มคนมากขึ้น ผ่านภาคเอกชน หรือ Social Enterprise สร้างทางเลือกที่หลากหลายนอกจากสวัสดิการที่ภาครัฐจัดเตรียมให้ เพื่อทำให้เกิดการแก้ไขอย่างยั่งยืนในสังคม”

สิ่งหนึ่งที่เราคงจะไม่ถามถึงไม่ได้ว่าอะไรที่เป็นแรงบันดาลใจหรือเหตุผลที่ทำให้เยาวชนคนรุ่นใหม่จากหลากหลายประเทศให้ความสนใจและเลือกศึกษาในประเด็นสังคมสูงวัย แม้สังคมในบางประเทศยังมีค่าเฉลี่ยของคนวัยทำงานค่อนข้างสูง และยังไม่ได้เผชิญกับปัญหานี้ด้วยซ้ำ แต่น้อง ๆ ก็ตระหนักว่าเรื่องนี้เป็นประเด็นสำคัญที่ควรจะเตรียมพร้อมไว้ตั้งแต่เนิ่น ๆ

Shota Toriba (Shota) นักศึกษาจากประเทศญี่ปุ่น

“ประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีค่าเฉลี่ยอายุขัยค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ผมเลยคิดว่าเป็นประโยชน์ที่จะศึกษาเรื่องนี้ อีกประเด็น คือ ผมอยากถ่ายทอดประเด็นปัญหาสังคมสูงวัยในเชิงบวกบ้าง อยากให้คนทั่วไปได้เข้าใจถึงแง่มุมอื่น ๆ ของสังคมสูงวัยด้วย ไม่ใช่มองประเด็นนี้ในแง่ลบ หรือมองว่าเป็นปัญหาที่ต้องแก้ไขเพียงอย่างเดียว”

Nabilla Putri Maharani (Bibil) นักศึกษาจากประเทศอินโดนีเซีย

“อินโดนีเซียยังเป็นประเทศที่มีค่าเฉลี่ยของคนวัยทำงานค่อนข้างสูง และยังไม่ได้เข้าสู่สังคมสูงวัย แต่ในอนาคตอย่างไรก็ตาม มองว่าทุกประเทศจะต้องเผชิญกับปัญหานี้ เราเลยคิดว่าน่าจะเป็นเรื่องดีที่มีโอกาสได้มาศึกษาเรียนรู้ เห็นตัวอย่างจากประเทศอื่น เพื่อเตรียมพร้อมที่จะรับมือกับปัญหานี้ในอนาคต”

“พอมีโอกาสได้คุยกับน้อง ๆ ก็พบว่าหลายคนมีประสบการณ์ตรงกับเรื่องสังคมสูงวัยอยู่แล้วไม่มากก็น้อย ซึ่งทำให้ทัศนคติ การเข้าหา หรือการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้สูงอายุมีระยะห่างที่น้อยกว่าเด็ก ๆ ทางฝั่งตะวันตก แต่สัมผัสได้ว่าทุกคนจะมีความกลัวหรือความกังวลเป็นพื้นฐาน ในเรื่องความแตกต่างระหว่างวัยที่จะต้องมีขั้น มีลำดับอาวุโส และต้องให้ความเคารพผู้สูงอายุอยู่

“ตั้งแต่วันแรกที่น้อง ๆ มาถึงเมืองไทย เราก็พยายามให้น้อง ๆ ได้ปรับตัวและเรียนรู้ในการอยู่ร่วมกัน โดยสอดแทรกวัฒนธรรมไทยไว้บางส่วน ให้ลองกินข้าวจากปิ่นโต เล่นหมากเก็บด้วยกัน พอช่วงบ่ายก็ให้ลองร้อยมาลัย และเต้นลีลาศกับผู้สูงอายุ เห็นได้ว่าน้อง ๆ อาจจะเขินและเกร็งบ้าง แต่ทุกคนก็ตั้งใจร่วมกิจกรรมกันอย่างเต็มที่

“วันนี้ที่น้อง ๆ ได้เข้าไปในพื้นที่ชุมชน มีช่วงหนึ่งที่เราเห็นแล้วน่ารักมาก น้องที่มาจากสิงคโปร์เข้าไปช่วยวัดความดันให้คุณยาย คุณยายก็ลูบหัวเป็นการขอบคุณ แต่น้องทำตัวไม่ถูก ไม่รู้จะตอบกลับแบบไหน เลยเอามือเอื้อมไปโอบไหล่คุณยาย บางคนอาจจะมองว่าทำแบบนี้ไม่สุภาพ แต่จากสีหน้าและแววตาที่เราเห็น สัมผัสได้เลยว่าเขาอยากขอบคุณจริง ๆ แต่เขาแค่ไม่รู้จะแสดงออกยังไง ตรงนี้ก็เลยเป็นการตอบโจทย์ว่าเขาไม่ได้ปิดกั้นที่จะเข้าหาผู้สูงอายุ และพร้อมที่จะเรียนรู้มาก ๆ

“สิ่งที่อยากให้น้อง ๆ ได้กลับไปอย่างแรก คือ มิตรภาพที่ดีในการสร้างทีมจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยสร้างความเปลี่ยนแปลงไปด้วยกัน อย่างที่สอง คือ ประสบการณ์ตรงที่เขาได้สัมผัสด้วยตัวเองจากการลงพื้นที่ทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้เห็นวิถีชีวิตผู้สูงอายุในหลายพื้นที่ ซึ่งจะทำให้เกิดความเข้าใจ ได้นำสารตั้งต้นหรือสิ่งที่เขาได้เรียนรู้ในเมืองไทยกลับไปใช้ในพื้นที่ของเขา”

Credits

Author

  • มนุษย์ต่างวัย

    Authorพื้นที่ถ่ายทอดเรื่องราวของสังคมสูงวัยในมุมที่สนุก สร้างสรรค์ และเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนทุกวัย

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ