มนุษย์ต่างวัยรีวิวมื้ออาหารจาก “ผู้ลี้ภัย” ในวันที่ต้องจำใจหนีออกจากบ้านเกิด อาหารที่คุณอยากกินคืออะไร ?

ในวันที่ต้องจำใจหนีออกจากบ้านเกิด อาหารที่คุณอยากกินคืออะไร ?

อาจจะเป็นไข่เจียวที่แม่เคยทำให้ เป็นส้มตำฝีมือคุณป้าร้านโปรด หรืออาจจะคิดถึงรสมือแม่ครัวร้านอาหารตามสั่งที่ไปฝากท้องเป็นประจำ

เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2566 ซึ่งถือเป็นวันมนุษยธรรมโลก มนุษย์ต่างวัยได้มีโอกาสไปร่วมงาน “Silent Emergency Party มื้อฉุกเฉินเพื่อผู้ลี้ภัยที่ถูกลืม” ที่ Na Cafe at Bangkok 1899 ซึ่งจัดขึ้นโดย UNHCR หรือสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ

ภายในงาน เราได้มีโอกาสได้ลิ้มชิมรสอาหารที่ “ผู้ลี้ภัย” (refugee) และ “ผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ” (internally displaced people) ได้กิน ในวันที่พวกเขาจำต้องทิ้งบ้านไปเพราะความขัดแย้งภายในประเทศ สงคราม ความอดอยาก หรือภัยธรรมชาติที่ทวีความรุนแรงขึ้นจากสภาวะโลกรวน

อาหารทั้งหมดมาจากฝีมือการตระเตรียมของผู้ลี้ภัยที่จะพาพวกเราไปสัมผัสกับรสชาติและความรู้สึกที่หลายคนอาจนึกไม่ถึงและไม่เคยนึกถึง

มาลองนึกไปพร้อมกันว่าหากวันหนึ่งคุณจำต้องทิ้งบ้าน คุณจะ “อยากกิน” อะไร ? และคุณอาจจะ “ได้กิน” อะไร ?

UNHCR หรือสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ เป็นหน่วยงานภายใต้สหประชาชาติที่ทำงานด้านการให้ความช่วยเหลือและให้ความคุ้มครองกับผู้ลี้ภัย ผู้พลัดถิ่นฐาน และบุคคลไร้รัฐไร้สัญชาติโดยเฉพาะ ความช่วยเหลือของ UNHCR ไม่ได้จำกัดเพียงการมอบน้ำดื่ม อาหาร เต็นท์พักพิง เครื่องนุ่งห่ม และของยังชีพต่าง ๆ ให้แก่ผู้ลี้ภัยเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงความช่วยเหลือด้านกระบวนการยืนยันตัวตน การเดินทางกลับภูมิลำเนา การตั้งถิ่นฐานใหม่ และการหาทางออกให้กับปัญหาของผู้ลี้ภัยอย่างยั่งยืนในระยะยาว

ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ UNHCR หรือร่วมสนับสนุนการทำงานของ UNHCR ได้ที่: https://www.unhcr.org/th/

มื้ออาหารที่คุณนึกไม่ถึงและอาจไม่เคยนึกถึง

อาหารเที่ยงที่ประกอบไปด้วยเมนูทั้ง 7 คอร์สนี้ ไม่เหมือนอาหารมื้อไหน ๆ ของเรา เพราะเป็นมื้อที่เกิดขึ้นจากฝีมือของผู้ลี้ภัยที่ UNHCR ให้ความคุ้มครองอยู่ในกรุงเทพ อาหารทั้ง 7 อย่าง บ้างชื่อไม่คุ้นหู บ้างรูปลักษณ์ไม่คุ้นตา เป็นหน้าต่างเชื่อมไปสู่ประเทศที่หลายคนอาจไม่เคยรู้จัก หรือหากเคยได้ยินชื่อ ก็เพียงผ่านหูผ่านตามาบ้างเท่านั้น เช่น ซูดานใต้ โซมาเลีย หรือ เอริเทรีย ฯลฯ

หลายคนอาจไม่รู้จักประเทศเหล่านี้ ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะนี่เป็นตัวอย่างของประเทศที่กำลังตกอยู่ในสถานการณ์ที่เรียกได้ว่าเป็น “วิกฤตที่ถูกลืม”

ถ้าเราพูดถึงวิกฤตการณ์ที่เป็นข่าวในช่วงนี้ หลายคนอาจนึกถึงสงครามระหว่างยูเครนกับรัสเซีย หรือถ้าเป็นก่อนหน้านี้อีกหน่อย ก็อาจจะนึกถึงสงครามกลางเมืองในซีเรีย แต่ถ้าพูดถึงทวีปแอฟริกา สิ่งที่ผุดขึ้นมาในใจหลาย ๆ คน คงหนีไม่พ้นเรื่องความยากจนและความอดอยาก แต่อาจจะนึกถึงรายละเอียดอื่น ๆ ไม่ออก

นี่อาจจะเป็นเพราะวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นในทวีปแอฟริกา คงอยู่และกินเวลายาวนาน จนสำหรับใครหลาย ๆ คนอาจหลงลืมไปแล้วว่ายังคงมีผู้ได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน วิกฤตที่พวกเขาประสบค่อย ๆ เลือนหายจากความสนใจของผู้คนกลายเป็นเพียงฉากหลังให้กับวิกฤตการณ์ที่ “สดกว่า” “ใหม่กว่า”

อาหารทั้ง 7 จานที่ผู้ลี้ภัยและ UNHCR ได้เสิร์ฟให้เราในมื้อเที่ยงนี้ ไม่เพียงเปิดโอกาสให้เราได้ลิ้มชิมรสชาติที่พวกเรา “นึกไม่ถึง” เท่านั้น แต่ยังได้ทำให้เราได้สัมผัสกับรสชาติ เรื่องราว และความรู้สึกที่พวกเรา “ไม่เคย” นึกถึงอีกด้วย

“Imagine” เมนูเครื่องดื่มที่อยากให้คุณได้ชิมรสชาติชีวิตของผู้ลี้ภัย

ถ้าวันหนึ่งคุณต้องหนีออกจากบ้านของตัวเองโดยไม่ทันตั้งตัว และต้องรอนแรมเดินเท้าหลายวันเพื่อหาที่พักพิงที่ปลอดภัย ท่ามกลางความหิวกระหาย คุณคิดว่าเครื่องดื่มแบบไหนที่คุณอยากจะดื่ม ? อาจจะเป็นน้ำเย็น ๆ สดชื่นสักแก้ว หรือหากเป็นชาสมุนไพรหอม ๆ ที่ช่วยให้ผ่อนคลายก็คงไม่เลว

“Imagine” เป็นเมนูเครื่องดื่มที่ถูกยกมาเสิร์ฟให้กับเรา น้ำ “ชา” ที่อยู่ใน “แก้ว” ซึ่งทำมาจากขวดพลาสติกตัดครึ่งนี้ มีรสขมอย่างยิ่งและไม่มีกลิ่นหอมละมุนชื่นใจให้เรารู้สึกผ่อนคลายแม้แต่น้อย กลับกัน น้ำต้ม “ใบไม้” ในแก้วพลาสติกนี้ทั้งเฝื่อนและขม จนแขกหลาย ๆ คนที่ได้รับเชิญมาร่วมมื้ออาหารสุดพิเศษมื้อนี้เบ้หน้าไปตาม ๆ กัน

น้ำต้มใบไม้ในแก้วนี้คือเครื่องดื่มที่แม่ซึ่งเป็นผู้ลี้ภัยคนหนึ่งต้มให้ลูกของเธอกิน หลังจากลูกล้มป่วยเพราะไม่มีอะไรตกถึงท้องมาเป็นเวลาหลายวัน น้ำต้มใบไม้ที่ขมปร่าจนสื่อมวลชนทั้งหลายในงานยังต้องเบ้หน้า ย่อมไม่ใช่รสชาติที่พึงประสงค์สำหรับเด็กน้อยเท่าไหร่

เด็กชายอาเจียนออกมา หลังจากดื่มน้ำต้มใบไม้นี้ลงไป

แต่แม่ก็ต้องพยายามบอกให้เด็กน้อยกินลงไป เพราะนอกจากน้ำต้ม “ใบไม้” นี้ ก็ไม่มีใครรู้ว่าพวกเขาจะหาอะไรใส่ท้องได้อีก

พวกเรายังโชคดีที่หลังจากชิมรสน้ำต้มใบไม้ที่ว่านั่น ทาง UNHCR ได้เตรียมชาอู่หลงเย็นสดชื่นมาให้ดื่มล้างปาก แต่หากวันหนึ่งน้ำรสขมในขวดพลาสติกตัดครึ่งนี้เป็นเพียงสิ่งเดียวที่เรามี เราจะทำอย่างไร ?

“The Other Side Dish” ถ้าเลือกได้ พาสต้าของคุณจะใส่ “ไก่” หรือใส่ “กล้วย” ?

อาหารจานหนึ่งที่ทำให้เราตื่นเต้นมาก ๆ ในอาหารมื้อนี้คือ “Suugo Suuqar” พาสต้าโซมาเลียที่เสิร์ฟมาในซอสไก่พร้อมกับกล้วยฝานบาง ๆ วางมาให้ในจาน

ตอนที่ทาง UNHCR เล่าว่าอาหารจานนี้เป็นหนึ่งในอาหารประจำวันของชาวโซมาเลีย เราอดแปลกใจไม่ได้และแอบคิดว่า “เอ๊ะ ชาวโซมาเลียกินกล้วยกับอาหารคาวด้วยเหรอ ?” แต่เปล่าเลย สาเหตุที่พาสต้าซอสไก่จานนี้มี “กล้วย” แถมมาให้พวกเรา เป็นเพราะในค่ายผู้ลี้ภัยแทบไม่มี “ซอสไก่” ให้กิน หรือเอาเข้าจริง แม้แต่ในชีวิตประจำวัน ชาวโซมาเลียก็หาไก่รับประทานได้ยากมาก ๆ ภายใต้วิฤตการณ์มากมายที่ประเทศโซมาเลียเผชิญ

ฉะนั้น ชาวโซมาเลียในค่ายผู้ลี้ภัยจึงมักได้กินเพียง “เส้นพาสต้าเปล่า” กับ “กล้วย” เท่านั้น ซอสไก่นุ่มชุ่มลิ้นนี้เป็นอภิสิทธิ์ที่ UNHCR จัดเตรียมให้พวกเราพร้อมกับคำถามว่า ระหว่าง “ซอสไก่” และ “กล้วยฝาน” เราจะอยากกินพาสต้าของเรากับอะไร ? (คำตอบอยู่ในรูปถ่าย)

“Human Rice” และ “Ethiopian Coffee”

อาหารจานสุดท้ายที่มาปิดท้ายมื้ออาหารของพวกเรา คือ “Dabo Kolo” ขนมปังที่ทำจากข้าวบาร์เลย์ทอดของชาวเอธิโอเปียและเอริเทรีย เสิร์ฟพร้อมกาแฟเอธิโอเปียหอมกรุ่น

ขนมปังโรยมาด้วยน้ำตาลไอซ์ซิ่ง ทำให้มีรสชาติหวานเล็กน้อย กำลังพอดีกับแป้งทอดหอม ๆ ที่กรอบนอกนุ่มใน เข้ากันกับกาแฟเอธิโอเปียมีรสขมแต่มีกลิ่นหอมลุ่มลึกได้อย่างลงตัว

แต่ภายใต้รสชาติและกลิ่นหอมนั้น อาจมีเพียงไม่กี่คนจะรู้ว่าประเทศเอธิโอเปียกำลังเผชิญกับภัยแล้งที่ทำให้ฝนไม่ตกมานานถึง 6 ปี อันเป็นผลมาจาก “ภาวะโลกรวน” หรือ “climate change” ที่พวกเราได้ยินกันบ่อย ๆ ผู้คนในเอธิโอเปียอดอยากอันนำไปสู่ภาวะขาดสารอาหาร จำนวนผู้ลี้ภัย ผู้ขอลี้ภัย และผู้พลัดถิ่นฐานภายในประเทศเพิ่มจำนวนมากขึ้นและมากขึ้น

Ethiopain Coffee ในแก้วที่เราดื่ม จึงไม่เพียงมีรส “ขม” ของกาแฟ แต่ยัง “ขื่น” ด้วย “ความเจ็บปวด” (pain) ที่ชาว “เอธิโอเปีย” (Ethiopia) ต้องเผชิญ

UNHCR ทำงานเพื่อนำความช่วยเหลือมาสู่ผู้ลี้ภัย ผู้พลัดถิ่นฐาน และบุคคลไร้รัฐไร้สัญชาติทั่วโลก นอกจากการให้ความช่วยเหลือเบื้องต้นอย่างการปัจจัยดำรงชีพพื้นฐาน และความช่วยเหลือด้านสิทธิมนุษยชนแล้ว UNHCR ยังมีทีมเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญที่พร้อมเดินทางไปให้ความช่วยเหลือผู้ลี้ภัยไม่ว่าจะ ณ มุมใดของโลกภายใน 72 ชั่วโมงเมื่อเกิดภาวะฉุกเฉิน

ทุกท่านสามารถช่วยเหลือการทำงานของ UNHCR และทีมผู้เชี่ยวชาญในภาวะฉุกเฉินได้ผ่านกองทุน “Empathy Emergency Fund” หรือ “กองทุนภาวะฉุกเฉิน” ที่จะช่วยให้ผู้ลี้ภัยไม่ว่าจะในประเทศไหนในโลกได้รับความช่วยเหลืออย่างรวดเร็วที่สุด มากที่สุด และครอบคลุมที่สุดในภาวะฉุกเฉิน

ร่วมบริจาคเพื่อผู้ลี้ภัยในภาวะฉุกเฉินได้ที่ https://www.unhcr.org/th/ หรือโอนผ่านธนาคารที่

  • ธ.ไทยพาณิชย์ (SCB) ชื่อบัญชี UNHCR Special Account เลขที่บัญชี 004-225-8596
  • ธ.กสิกรไทย (K BANK) ชื่อบัญชี UNHCR Special Account เลขที่บัญชี 030-288-8043

*เงินบริจาคทั้งหมดไม่มีการหักค่าใช้จ่าย และจะถูกนำเข้าสู่กองทุนเพื่อการเตรียมความพร้อมสำหรับวิกฤตการณ์ฉุกเฉินและความช่วยเหลือในภาวะฉุกเฉินไม่ว่าจะที่ใดบนโลกของ UNHCR

เครดิตภาพถ่าย

  • ©UNHCR/Varunyu Sahasakmontri
  • ©UNHCR/Potchara Soonthornsaratoon

Credits

Author

  • มนุษย์ต่างวัย

    Authorพื้นที่ถ่ายทอดเรื่องราวของสังคมสูงวัยในมุมที่สนุก สร้างสรรค์ และเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนทุกวัย

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ