งานใหม่ครั้งนี้จะไม่มีใครเป็นบอสอีกต่อไปกับแคมเปญ ‘Inside SC – เริ่มงานใหม่ ใครเป็น Boss ?’ องค์กรที่เชื่อว่าพวกเราทุกคนคือทีมเดียวกัน

ไม่ว่าคุณจะเป็น First jobber หรือพนักงานที่ทำงานมาแล้วสักพัก คงต้องเคยมีประสบการณ์การสัมภาษณ์งานกันมาทั้งนั้น เป็นอันรู้กันว่าเมื่อเสียงสวรรค์จาก HR ติดต่อกลับมาเมื่อไหร่ สนามประลองชัยครั้งใหม่กำลังจะเกิดขึ้นแล้ว เริ่มจากการเตรียมเสื้อผ้าหน้าผม กระทั่งชุดสูทสุดเนี้ยบกับรองเท้าหนังเงาวับ ให้ดูสวยหล่อสร้างความประทับใจ ไหนจะต้องซ้อมท่องบทตอบคำถามที่หาจากอินเทอร์เน็ต ไม่ว่ากรรมการถามอะไร ก็ต้องทำท่ามั่นใจเข้าไว้ก่อน ทำอะไรก็ได้เพื่อชนะใจกรรมการแล้วได้เข้าทำงานในบริษัทในฝันเสียที

ที่ผ่านมามีแต่องค์กรที่มีสิทธิ์เลือกเราฝ่ายเดียว แต่จริง ๆ แล้วเราเองก็มีสิทธิ์ในการเลือกองค์กรและหัวหน้าที่ต้องตาต้องใจเราได้เช่นเดียวกันหรือเปล่า

มนุษย์ต่างวัยชวนพูดคุยกับ คุณจูน – โฉมชฎา กุลดิลก Head of Corporate Brand and Communications แห่ง บริษัท เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และคนรุ่นใหม่อย่าง นายน้อย – ยิ่งศักดิ์ เหลืองมณีเวชย์ และ บุ๋น – บุริศร์ อินทรเสวก ผู้เป็นเจ้าของไอเดียสุดเจ๋งซึ่งเป็นที่มาของแคมเปญ ‘Inside SC – เริ่มงานใหม่ ใครเป็น Boss ?’ แคมเปญสะเทือนวงการที่เปลี่ยนขนบการสัมภาษณ์งานแบบเดิม ๆ แบบ 360 องศา สะท้อนให้เห็นถึง insights ของคนรุ่นใหม่ผ่านภาพยนตร์สั้นและเว็บไซต์ของ SC Asset แคมเปญที่กำลังจะบอกว่า ไม่ใช่แค่หัวหน้าหรือองค์กรจะเป็นฝ่ายเลือกเพียงฝ่ายเดียวอีกต่อไป แต่ผู้สมัครต่างหากที่สามารถเลือกหัวหน้า เพื่อนร่วมงาน และองค์กรที่เหมาะสมกับความต้องการและสอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ในการใช้ชีวิตของตัวเองได้เช่นกัน

ค้นหา Insight ที่ซ่อนอยู่ในใจ – คนรุ่นใหม่ต้องการอะไรกันแน่ ?

“หลังโควิด เราเห็นว่าวิธีการทำงานมีทางเลือกมากมาย บางคนทำงานที่บ้านเท่านั้น ในขณะที่บางคนเลือกที่จะเป็นครีเอเตอร์เสียเองและไม่เข้าสู่ระบบการทำงานแบบเก่าอีกต่อไป การแข่งขันในตลาดแรงงานตอนนี้รุนแรงและท้าทายมาก นี่จึงเป็นสิ่งที่องค์กรต้องหาวิธี ว่าทำอย่างไรถึงจะดึงดูดคนทำงานให้อยากมาทำงานกับเรา

“โดยเฉพาะกลุ่ม Gen Z ที่กำลังทยอยเข้าสู่ตลาดแรงงาน เขาเป็นกลุ่มคนที่มีความสามารถและมีทางเลือก แต่บางครั้งเขายังไม่รู้ว่าตัวเองชอบอะไร และเราก็ไม่รู้ว่าจะชนะใจเขาได้อย่างไร จึงเป็นที่มาที่เราพยายามหา insight ว่าพวกเขาต้องการอะไรกันแน่

“ที่ผ่านมา ทางทีมมีการลงสำรวจกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่กำลังหางานอย่างเข้มข้น ทั้งการทำโฟกัสกรุ๊ปและการสัมภาษณ์เพื่อจะรู้ให้ได้ว่าเขามีความต้องการอะไร มีโจทย์ในการใช้ชีวิตแบบไหน จนกระทั่งเราไปเจอ insight หนึ่งที่พวกเขาอยากได้ และเราในฐานะองค์กรก็พร้อมจะมีให้ นั่นคือ ‘Freedom’ จนในที่สุดก็เกิดเป็นแคมเปญแรกภายใต้คอนเซปต์ ‘Inside SC – Freedom to Be Our Best’

“จนกระทั่งในปีนี้ เราได้มีโอกาสแจกโจทย์ให้กับน้อง ๆ ในเวทีประกวดไอเดียนักศึกษา B.A.D Student ทำให้เราได้ฟัง insights จากน้อง ๆ เกือบ 30 ทีม ซึ่งเป็นไอเดียที่ดีทุกทีม แต่ก็มาได้ฟังไอเดียของ ‘นายน้อย’ และ ‘บุ๋น’ ที่มีไอเดีย Insight ตรงกับปรัชญาการทำงานของ SC Asset เราจึงได้หยิบไอเดียมาปั้นจนเกิดเป็นที่มาของแคมเปญ ‘Inside SC – เริ่มงานใหม่ ใครเป็น Boss?’ ในปีนี้” คุณจูนเล่าให้เราฟังถึงที่มาของแคมเปญ

สำหรับคุณนายน้อยและคุณบุ๋นเป็นเสมือนตัวแทนของคน Gen Z ที่เพิ่งเรียนจบและกำลังเริ่มทำงาน ทั้งคู่ได้เล่าให้เราฟังถึงที่มาของไอเดียที่ได้มาจากการสังเกตเงื่อนไขและความต้องการของตนเอง

“ผมมีประสบการณ์ทำงานพาร์ตไทม์มาก่อน พอทำไปสักพักพ่อแม่ก็เริ่มถามว่าทำไมแต่ละวันทำงานนานจัง วันหนึ่งได้กลับบ้านมาเจอพ่อแม่แค่วันละ 2-3 ชั่วโมงเองเหรอ แต่ละวันเราต้องคุยกับคนที่ทำงานมากกว่าพ่อแม่เสียอีก เราใช้เวลากับพวกเขานานกว่าคนที่บ้านด้วยซ้ำ

“นี่เลยกลายเป็น insight ของผมว่า ในความเป็นจริง คนที่เราต้องใช้ชีวิตอยู่ด้วยเป็นส่วนใหญ่ไม่ใช่ครอบครัวแต่เป็นคนที่ทำงาน และเราทำงานกับคน ไม่ใช่เครื่องจักร ฉะนั้นคงจะดีกว่าถ้าเราได้เลือกหัวหน้างาน เลือกคนที่เราจะมีความสุขที่ได้อยู่ด้วย

“แคมเปญนี้ผมจึงต้องการสื่อสารแทนคนรุ่นเดียวกัน นั่นคือคนที่กำลังจะเรียนจบและเป็น First jobber ว่าคนส่วนใหญ่ต้องการอะไร และผมค้นพบว่าสิ่งนั้นคือ ‘Freedom’” คุณนายน้อยเล่าที่มาของไอเดีย

“สำหรับผม บางครั้งผมเองก็จะดื้อกับคนที่อายุมากกว่า ถึงจะไม่ได้เถียง แต่ก็คิดว่ามีอิสระที่จะคิดแบบที่เป็นตัวของตัวเอง ผมคิดว่าคนแบบผมมีเยอะ เลยลองตั้งโจทย์นี้ขึ้นมา สิ่งหนี่งที่เราเห็นแบรนด์อื่นทำคือการต้องการเด็กเก่งเข้าไปในทีม แต่กลับไม่เคยบอกว่าจะให้อะไรกับเขาบ้าง จนบางครั้งดูเหมือนว่าเจ้านายพร้อมตัดสินลูกน้อง ผมเลยอยากเปลี่ยนมุมมองว่า เจ้านายก็ถูกตัดสินได้นะ เลยเป็นที่มาของแคมเปญนี้” คุณบุ๋นกล่าวเสริม

ก่อนสมัครงานที่ใหม่ ขออ่านเรซูเม่เจ้านายก่อนบ้างได้ไหม ?

โดยปกติแล้ว ผู้สมัครงานต้องส่งเรซูเม่ให้ว่าที่หัวหน้างานในอนาคตดูใช่ไหม? แต่ไม่ใช่กับครั้งนี้ คุณนายน้อยและคุณบุ๋น ตัวแทนคน Gen Z ขอมองในมุมกลับและเสนอว่าการพิจารณาเรซูเม่ไม่ควรเป็นแค่ของคนใดคนหนึ่ง แต่ควรเป็นของทุกคนต่างหาก ไม่ว่าจะเป็นผู้สมัคร หัวหน้า หรือผู้ร่วมงาน เพราะการได้เห็นเรซูเม่ของหัวหน้าหรือคนในทีมก่อนจะช่วยในการตัดสินใจให้กับเหล่าผู้สมัคร ทำให้รู้ว่าจะได้เจอกับทีมแบบไหน นิสัยใจคอ หรือบุคลิกอย่างไร

“การได้เห็นเรซูเม่ของคนในทีมก่อนเข้าห้องสัมภาษณ์เหมือนการละลายพฤติกรรม บางคนเราอ่านดูแล้วก็เดาได้เลยว่าพี่เขาน่าจะเป็นคนตลก แบบนี้มันทำให้เราเลือกได้ง่ายขึ้น ยังทำให้รู้ชัดเจนเลยว่าถ้าเราได้ทำงานที่นี้แล้วเราต้องทำงานกับทีมไหน มีใครบ้าง แบบนี้มันดีมากเลย” คุณบุ๋นกล่าว

“ลองคิดว่าถ้าเราเข้าไปทำงานในบริษัทที่หนึ่ง เราไม่รู้จักอะไรเกี่ยวกับเพื่อนร่วมงานเลยแม้แต่ชื่อเล่น แต่อีกที่หนึ่ง เรารู้จักชีวิต รู้จักงานอดิเรก มันทำให้เราเห็นความเป็นมนุษย์ของเพื่อนร่วมงาน ผมเลือกแบบหลังมากกว่า

“ผมเห็นพี่คนหนึ่งเขียนว่าความสามารถพิเศษคือการปลูกต้นไม้แล้วตาย ผมชอบมากเพราะมีประสบการณ์นี้มาก่อนเหมือนกัน คิดว่าเราน่าจะคุยกันได้” คุณนายน้อยกล่าวเสริม

และแน่นอนว่ามาถึงตอนนี้แล้ว หากเราลองกดเข้าไปดูในเว็บไซต์ของ Inside SC – เริ่มงานใหม่ ใครเป็น Boss ? เราจะได้เห็นเรซูเม่ของเหล่าผู้บริหารไปจนกระทั่งถึงทีมทำงาน และไม่ว่าใคร หากแวะเวียนเข้ามาดูแล้วต้องตาต้องใจกับทีมหรือบอสคนไหนจนอยากทำงานด้วย ก็สามารถกดส่งใบสมัครได้เดี๋ยวนั้นเลย อาจฟังดูแปลกอยู่เสียหน่อย แต่ทั้งหมดนี้คือการเปิดโอกาสให้ผู้สมัครได้เป็นผู้เลือกบ้าง ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญพอ ๆ กับการเป็นผู้ถูกเลือก เพราะ SC Asset เชื่อว่าการจะทำงานที่มีความสุข ต้องเป็นงานที่สอดคล้องกับเป้าหมายและไลฟ์สไตล์ของคนทำงานแต่ละคน

และถ้าหากใครได้ลองเปิดชมภาพยนตร์สั้นของทางแคมเปญแล้ว เราจะได้เห็นรูปแบบการสัมภาษณ์งานที่แปลกใหม่สุด ๆ จนลืมภาพเด็กจบใหม่ใส่สูทผูกเนกไทนั่งตัวเล็กตัวน้อยตอบคำถามพี่ใหญ่ในห้องสัมภาษณ์ได้เลย แต่เราจะได้เห็นผู้บริหารมานั่งตอบคำถามน้อง ๆ ที่สนใจมาสมัครงานแทน ไม่ว่าจะเป็น ชอบกินอะไร ? วันว่างชอบทำอะไร ? ทำงานวันแรกต้องแต่งตัวยังไง ? หรือแม้กระทั่งเคยอกหักไหม ? แล้วผ่านมันมาได้อย่างไร ?

“เราเริ่มจากไปรวบรวมคำถามจี้ ๆ จากอินเทอร์เน็ตที่คนรุ่นใหม่ชอบถามพนักงานออฟฟิศ แล้วลองเอามาถามสด ๆ กับผู้บริหาร ตั้งแต่ระดับสูงจนถึงระดับคนทำงาน ปรากฏว่าสิ่งที่ได้มันสดมาก จริงมาก และคนดูชอบมาก

“เราอยากให้คนอื่นได้เห็นว่า เขาอาจมองเราเป็นองค์กรใหญ่ ต้องน่าเบื่อหรือมีลำดับขั้นตอนมากมาย แต่ความจริงแล้วที่นี่มีแต่คนทันสมัย และไม่ว่าคุณจะเป็นหัวหน้าทีมหรือคนทำงาน เราพูดคุย ถามไถ่กันได้ทุกเรื่อง ตราบใดที่ทำให้งานหรือชีวิตดีขึ้นและไม่ทำร้ายกัน” คุณจูนเล่าถึงวัฒนธรรมขององค์กรของ SC Asset

เจนฯ เก่าปะทะเจนฯ ใหม่ คาดหวังอะไรในตัวกันและกัน ?

“วันแรกที่เราเริ่มทำงาน เรารู้สึกผิดทาง ไม่สบายตัวอยู่สักพัก เพราะในยุคนั้นเราไม่ได้มีข้อมูลข่าวสารมากมายพอที่จะช่วยตัดสินใจได้เหมือนทุกวันนี้ เราไม่รู้จักองค์กร ไม่รู้จักคณะที่เรียน และไม่รู้จักความต้องการในใจของตัวเองด้วยซ้ำ ในเมื่อตอนนั้นเราไม่มีโอกาสได้เลือกมากนัก เราจึงกลายเป็นผู้ถูกเลือกแทน ถ้าเรามีโอกาสได้เลือกอีก คงเลือกได้ถูกต้องกว่านี้ และรู้จักแพสชันตัวเองได้เร็วกว่านี้ แต่เด็กยุคนี้เขาเป็นเจ้าของข้อมูลมหาศาลและเข้าถึงความคิดเห็นในโลกอินเทอร์เน็ตมากมาย มันช่วยให้เขามีทางเลือกได้มากขึ้น ตัดสินใจได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งต่างกับวันที่เราอายุเท่าเขา

“รวมถึงการรู้หลายภาษา นอกจากจะทำให้เข้าถึงข้อมูลได้มากขึ้นแล้วยังทำให้เขาคิดเรื่องราวซับซ้อนได้ดีกว่า แต่สิ่งหนึ่งที่อยากเสริมคือต้องไม่ด้อยค่าสิ่งที่เรียกว่า ‘ประสบการณ์’ เราเชื่อในการฝึกฝนอย่างช่ำชอง มันอาจเป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องนำความรู้ ข้อมูลที่มีอยู่มาใช้ร่วมกับการเรียนรู้จากประสบการณ์ของคนรุ่นก่อน จะขาดอย่างใดอย่างหนี่งไม่ได้

“สำหรับเราแล้ว อยากทำงานกับลูกน้องที่กล้าคิด กล้าถามในสิ่งที่เขามั่นใจว่าจะสร้างผลดีในภาพรวม เราชอบคนที่พูดว่า ‘ได้เลย’ จนติดปาก คนที่คิดว่าทุกอย่างเป็นไปได้ไว้ก่อน จากนั้นจะเป็นไปได้หรือไม่ได้นั้นค่อยมาชวนกันคิด มันคือมายด์เซ็ตที่ทำให้เกิดพลังงานที่ดีในการทำงาน” คุณจูนกล่าว

ในขณะที่คุณนายน้อยและคุณบุ๋นเล่าถึงความคาดหวังต่อหัวหน้างานในมุมมองที่น่าจะเป็นตัวแทนของชาว Gen Z หลาย ๆ คน

“ผมอยากทำงานกับองค์กรที่มีวัฒนธรรมเอื้อให้เราเติบโต มีหัวหน้าที่คอยแนะนำ และช่วยเราถอดบทเรียนได้ในวันที่ทำผิดพลาดจากประสบการณ์ที่พวกเขามีมา แม้ในวันที่ทำผิดพลาดแต่ก็ได้เรียนรู้ แบบนี้เราจะรู้สึกอบอุ่นและมีความสุข” คุณนายน้อยเล่า

“ส่วนผมชอบหัวหน้าที่มีวิสัยทัศน์ บางครั้งเราอาจทำอะไรสะเปะสะปะไปบ้างเลยยังต้องการคนคอยไกด์ให้ทำในสิ่งที่ถูกต้อง แต่สิ่งหนึ่งที่สำคัญมากคือทัศนติ ผมคิดว่าสำคัญกว่าทักษะความสามารถเสียอีก ถ้าเราต่างมี Growth mindset ด้วยกันทั้งคู่ มันจะทำงานด้วยกันง่ายขึ้น ส่งผลดีทั้งต่อเราและองค์กร” คุณบุ๋นกล่าวเสริม

ตกลงแล้ว ใครกันแน่ที่เป็นบอส ?

“ผมคิดว่าเราต่างเป็นบอสของตัวเอง มันคงไม่ใช่ว่ามีใครคนใดคนหนี่งมาสั่งว่าให้เราเดินไปทางไหน แต่เราต่างมีเป้าหมายเดียวกัน ทำในสิ่งเดียวกัน ก็แค่เดินจับมือไปด้วยกัน จะผิดถูกหรือเจอปัญหาก็แค่ช่วยเหลือกัน เพราะเราคือทีมเดียวกันต่างหาก” คุณนายน้อยคิดว่าอยากเดินไปด้วยกันกับเพื่อนร่วมทีมมากกว่าจะมีใครเป็นหัวหน้าใครมากกว่า

“สำหรับผม ถ้าทีมมีกัน 4 คน ตัดคนใดคนหนึ่งออกไป คนที่เหลือก็อยู่ไม่ได้ ถ้าไม่มีคนที่เป็นลูกทีม บอสก็คงไม่จำเป็น ฉะนั้น ทุกคนมีเหตุผลของการมีอยู่ บอสอาจมีหน้าที่ทำให้ลูกทีมทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่วนลูกทีมก็มีหน้าที่ตั้งใจทำงานแต่ละชิ้นให้ดี แปลว่าสุดท้ายแล้วไม่ว่าอยู่ในตำแหน่งไหน เราแค่มีหน้าที่ต่างกัน แต่มีเป้าหมายเดียวกัน เราต้องเดินไปด้วยกัน

“การเคารพกันและกันเป็นสิ่งสำคัญ บางเรื่องหัวหน้างานอาจมีประสบการณ์การทำงานมากกว่า นั่นเป็นสิ่งที่คนอายุน้อยกว่าต้องเรียนรู้ ในขณะเดียวกัน คนอายุน้อยก็มีมุมมองใหม่ ๆ ที่ต่างออกไป นั่นเป็นสิ่งที่คนเป็นหัวหน้างานต้องเรียนรู้เหมือนกัน ผมคิดว่าเราต่างเป็นบอสของกันและกันต่างหาก” คุณบุ๋นเสริม

“เราไม่อยากนิยามตัวเองว่าเป็นบอส แต่ชอบคำว่าลีดเดอร์มากกว่า สองคำนี้ความรู้สึกต่างกัน เราไม่อยากให้ใครรู้สึกว่าเราเป็นบอส เพราะถ้าเขารู้สึกแบบนั้น เขาจะไม่มาปรึกษาเรา ไม่ชวนเรากินข้าว กินขนม ไม่ชงกาแฟมาแบ่ง แต่ถ้าเราเป็นลีดเดอร์ เมื่อมีปัญหาเขาจะเข้ามาปรึกษา เมื่อมีเรื่องน่ายินดีเขาก็จะชวนเราร่วมยินดี นั่นมันรู้สึกว่ามันจับใจกว่ามาก

“คนเป็นลีดเดอร์ไม่จำเป็นต้องทำงานเก่งกว่าลูกทีม แต่ต้องเป็นคนที่มีภาวะผู้นำที่ดี และในบางครั้งคนในทีมอาจจะสลับกันเป็นหัวหน้าก็ได้เพราะเรารู้ว่าเรากำลังพุ่งสู่เป้าหมายอะไรร่วมกันอยู่ ถ้าเป็นแบบนี้ได้แล้ว ในทีมไม่จำเป็นต้องมีบอสเลยก็ได้” คุณจูนกล่าวทิ้งท้าย

 ลองเข้าไปชมสัมภาษณ์เหล่าบอสแบบเต็ม ๆ พร้อมทั้งอ่านเรซูเม่ของแต่ละคน ได้ที่ https://m.scasset.com/EVvD 

Credits

Author

  • มนุษย์ต่างวัย

    Authorพื้นที่ถ่ายทอดเรื่องราวของสังคมสูงวัยในมุมที่สนุก สร้างสรรค์ และเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนทุกวัย

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ