‘แม่ต้อย’ ดร. ดวงสมร บุญผดุง ผู้เรียนดอกเตอร์ในวัย 67 และสร้างงานวิจัยที่กลายเป็นมาตรฐานในสถานพยาบาลทุกแห่ง

“แม่ต้อยเรียนปริญญาเอกแค่ 2 ปีนะ มุ่งมั่นมาก ไม่ได้เรียน 6 ปีเหมือนคนอื่น อ่านหนังสือทุกคืน จบเป็นคนแรกของรุ่น เพราะคิดว่ามีเวลาน้อย ตอนที่เรียนอายุ 67 แล้ว ไม่รู้จะตายเมื่อไหร่”

มนุษย์ต่างวัยชวนรู้จักกับ “แม่ต้อย” – ดร. ดวงสมร บุญผดุง ผู้ทรงคุณวุฒิ สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (สรพ.) วัย 73 ปี ผู้มองเห็นทั้งความทุกข์ของผู้ป่วยและความยากลำบากของคนทำงานในแวดวงสาธารณสุข จึงใช้เวลาทั้งชีวิตในการพัฒนามาตรฐานโรงพยาบาลและบริการสุขภาพให้คนทั้งประเทศ ไม่หยุดทำงานแม้หลังเกษียณ แถมยังลุกขึ้นมาเรียนปริญญาเอกในวัย 67 ปี จนกระทั่งสามารถทำให้ประเทศไทยมีมาตรฐาน SHA- Spiritual Healthcare in Action ที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนามิติจิตวิญญาณในสถานพยาบาล มุ่งเน้นให้บุคลากรเห็นคุณค่าและความหมายของตนเอง งาน และคนไข้ ดูแลผู้ป่วยด้วยหัวใจแห่งความเป็นมนุษย์ควบคู่กับการบรรลุเป้าหมายขององค์กร

“ตอนเด็ก ๆ ฝันอยากเป็นนักการทูต แต่ต้องออกจากโรงเรียนไปสอบชิงทุนเรียนพยาบาล เพื่อช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายของครอบครัว พอเรียนไปเรื่อย ๆ ก็เห็นความดีของอาชีพนี้ที่ได้ดูแลผู้คน เป็นผู้ให้ พอเรียนจบก็ได้ทำงานที่โรงพยาบาลตอนนั้นพยาบาลต้องอยู่เวรกลางคืน ทั้งโรงพยาบาลมีพยาบาลเพียงคนเดียวนอกจากนั้นเป็นทีมผู้ช่วย เราก็เจอสภาพที่คนทำงานลำบาก คนไข้ไม่มีเตียง หมอมีน้อย ขนาดพ่อของเราเองป่วยก็ยังไม่มีเตียง นึกในใจว่าในอนาคตถ้ามีโอกาสจะพยายามทำทุกวิถีทางที่จะพัฒนาโรงพยาบาลให้ดีขึ้นทุกด้าน เป็นที่พึ่งของประชาชน และทำให้คนทำงานมีความสุขในการทำงานไปพร้อมกันด้วย”

ด้วยความตั้งใจแบบนั้น แม่ต้อย ซึ่งผันตัวจากพยาบาลมาสู่นักวิชาการด้านสาธารณสุข ก็ได้ตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งผู้อำนวยการกองแผนงานและวิชาการของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ในวัย 50 เพื่อมาเริ่มต้นทำงานที่ สรพ. – สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) ซึ่งตอนนั้นเป็นโครงการวิจัยระบบสาธารณสุข

“คนอื่น ๆ คัดค้านกันใหญ่ มีแต่คนว่าบ้าที่ลาออกจากงานราชการที่มั่นคง แต่แม่ต้อยยอมทิ้ง ทุกอย่างเพื่อมาบุกเบิกทำเรื่องใหม่ของประเทศเพื่อพัฒนาโรงพยาบาลให้มีคุณภาพมากขึ้น คือ HA (Healthcare Accreditation – การรับรองกระบวนการคุณภาพตามมาตรฐานโรงพยาบาลและบริการสุขภาพ) และทำเรื่อง Humanized Health Care (การแพทย์ที่มีหัวใจของความเป็นมนุษย์) เราทำงานแบบลืมวันลืมคืนด้วยความสนุก จน สรพ.กลายเป็นองค์การมหาชน ก็เป็นความภาคภูมิใจเงียบ ๆ ที่ชีวิตเราสามารถสร้างประโยชน์ให้คนอื่นได้ รับรู้ว่าชีวิตเรามีความหมายและรู้สึกดีกับตัวเอง

“หลังเกษียณแม่ต้อยยังทำที่ สรพ. ต่ออีก 3 ปี จนอายุ 63 ก็ไปเป็นผู้อำนวยการสถาบันที่ปรึกษาคุณภาพ มูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช 4 ปี โดยไม่รับเงินเดือน

“อายุ 67 ครบวาระการเป็นผู้อำนวยการสถาบันฯ ก็ตัดสินใจเรียนปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาบริหารการพัฒนา คือเราอยากรู้ว่า ปัจจัยอะไร ที่จะทำให้คนมีจิตวิญญาณในการทำงานในโรงพยาบาล เพื่อที่จะเอาไปเสริมมาตรฐาน HA ที่ทำไว้เดิม ต่อยอดในเรื่องความเป็นมนุษย์ที่มีคุณค่า และนำไปสู่การดูแลที่มีจิตวิญญาณ

“ช่วงนี้ (ในวัย 73) เป็นช่วงที่งามที่สุดแล้ว มองเหลียวหลังไป เราทำทุกจังหวะอย่างเต็มที่ ทั้งหมดเป็นเส้นทางชีวิตที่ทำให้เราภาคภูมิใจ ทุกวันนี้ยังทำงานที่รักอยู่ คือ ออกไปสอน ไปบรรยายให้คนเข้าใจถึงการใช้จิตวิญญาณในการทำงาน ซึ่งงานนี้ทำให้แม่ต้อยรู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่า มีพลังในการที่จะลุกขึ้นมาทำงานด้วยความสุข และต้องมีมรณานุสติ เพื่อที่เราจะจากโลกนี้ไปอย่างมีความสุขและไม่เสียดาย”

ชวนร่วมฟังเรื่องราวแห่งมิตรภาพและสุขภาวะทางปัญญาในงานประชุมวิชาการระดับชาติเครือข่ายความรู้สุขภาวะทางปัญญา ครั้งที่ 1 “สุขภาวะทางปัญญา: สุขภาพ จิตวิญญาณ และสังคม”
ในวันที่ 17-18 สิงหาคม 2566 ที่อาคารเฉลิมราชกุมารี 60 พรรษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
และพบกับ ‘แม่ต้อย – ดร.ดวงสมร บุญผดุง’ ผู้ทรงคุณวุฒิสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (สรพ.) ในห้องย่อย “HA Spiritual in Healthcare: บูรณาการมิติจิตวิญญาณในระบบสุขภาพ” ในวันที่ 17 สิงหาคม 2566 เวลา 15.10 – 17.00 น.

กิจกรรมนี้เป็นส่วนหนึ่งของงาน Soul Connect Fest 2023 มหกรรมพบเพื่อนใจ จัดโดยภาคีเครือข่ายด้านสุขภาวะทางปัญญามากกว่า 50 องค์กร ภายใต้การสนับสนุนของสำนักสร้างเสริมระบบสื่อและสุขภาวะทางปัญญา สสส.

ติดตามรายละเอียดงานได้ที่เพจ Soul Connect Fest 

Credits

Author

  • มนุษย์ต่างวัย

    Authorพื้นที่ถ่ายทอดเรื่องราวของสังคมสูงวัยในมุมที่สนุก สร้างสรรค์ และเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนทุกวัย

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ