เมื่องานศิลปะไม่ได้ทำหน้าที่เพียงถ่ายทอดความงาม แต่ยังสะท้อนให้เห็นถึงคุณค่าและความหมายของความเป็นมนุษย์ได้มากกว่าที่ตาเห็น
ชวนรู้จักกับ “ถิง ชู (Ting Chu)” ศิลปินนักปั้นและนักวาดภาพประกอบวัย 41 ปี กับผลงานทางศิลปะที่ได้แรงบันดาลใจมาจากความเชื่อที่ว่า ผู้สูงวัยยังมีคุณค่า และเปี่ยมไปด้วยภูมิปัญญา และไม่ว่าเวลาจะผ่านไปเท่าไร พวกเขาเหล่านั้นก็ได้ดำเนินชีวิตมาจนถึงช่วงเวลาที่ ‘สุกงอม’ ได้อย่างสวยสดและงดงาม
“ตอนเด็ก ๆ เราเหมือนเด็กทั่วไปที่ชอบวาดรูปตามหนังสือการ์ตูน ด้วยความที่เราเรียนหนังสือไม่เก่ง การวาดรูปจึงเป็นกิจกรรมหลักในตอนนั้น เพราะมันเป็นเหมือนห้องส่วนตัว เป็นห้องที่เราอยู่ในนั้นแล้วไม่ต้องกังวลว่าจะติดศูนย์ ติด ร.ไหม แต่สุดท้ายแล้ว เราก็ไม่ได้เรียนจบสายนี้มาโดยตรงอยู่ดี ทำให้เราไม่คิดว่าจะยึดการวาดรูปมาเป็นอาชีพ มันเลยทำให้เรามองการวาดรูปเหมือนเป็นเพื่อนของเรามากกว่าจะเป็นเป้าหมายในชีวิตที่ต้องไปให้ถึง แต่ด้วยความที่เราชอบมันมากทำให้ตอนนี้กลายเป็นว่า เรายึดอาชีพศิลปินเป็นหลักแล้ว บางทีก็คิดว่าถ้าตอนนั้นเรียนหนังสือเก่ง ตอนนี้อาจจะวาดรูปไม่เก่งแล้วก็ได้นะ (หัวเราะ)”
“เรามีสตูดิโอตั้งอยู่ที่เชียงใหม่ เน้นสอนงานปั้นเป็นหลัก ตอนแรกคิดว่าจะเจอแต่นักเรียนหรือคนวัยทำงาน แต่ปรากฏว่ากลับมีนักเรียนทุกช่วงวัย รวมทั้งผู้สูงอายุด้วย
สำหรับคนหนุ่มสาว การทำงานศิลปะอย่างการปั้น อาจเพื่อความผ่อนคลาย ได้ทำงานสร้างสรรค์ และได้มีผลงานศิลปะฝีมือตัวเองอย่างแก้วน้ำหรือกระถางต้นไม้กลับบ้าน แต่สำหรับผู้สูงวัยแล้วมันอาจเป็นอีกเรื่องหนึ่ง
“เพราะงานปั้นเป็นกิจกรรมทางศิลปะที่ใช้ความคิดน้อยกว่าการวาดรูป แต่ต้องใช้การจดจำของกล้ามเนื้อในร่างกายเยอะ เราเคยเห็นผู้สูงอายุที่มีความท้าทายเรื่องการเคลื่อนไหว ความคิด ความจำ หรือภาวะอัลไซเมอร์ แต่พอเขาได้ลงมือจับดิน ลงมือปั้น เขาไม่ต้องคิดอะไร แค่ใช้กล้ามเนื้อ ใช้ร่างกาย และทำไปตามที่ร่างกายจดจำ
“เคยมีผู้สูงอายุชาวต่างชาติคนหนึ่ง อายุราว 70 ปี ป่วยเป็นโรคอัลไซเมอร์และอยู่ระหว่างมาพักฟื้นที่เชียงใหม่ เขามาขอใช้สตูดิโอของเราในการทำงานปั้น เราสังเกตเห็นว่าวินาทีที่เขาลงมือปั้น เขาทำมันได้ดีมาก ไม่มีอาการของโรคใด ๆ เหมือนเป็นผู้สูงอายุปกติคนหนึ่ง แต่พอช่วงท้ายวัน เขาหยุดปั้น เขาก็เริ่มเหม่อลอยเหมือนว่าอาการป่วยกลับมาอีกครั้ง สำหรับเรามันมหัศจรรย์มาก ๆ มันเหมือนกับว่างานศิลปะช่วยทำให้คนป่วยกลับมาเป็นปกติได้อีกครั้ง มันเหมือนกับหนังสารคดีเรื่องหนึ่งที่เคยดู เป็นเรื่องของบ้านพักคนชราแห่งหนึ่งในต่างประเทศที่จะเปิดเพลงเก่าให้ผู้สูงอายุฟัง พอผู้สูงอายุได้ยินก็จะหวนคิดถึงความทรงจำบางอย่างขึ้นมาได้อีกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นกลิ่น เสียง หรือสัมผัสที่คุ้นเคย เราคิดว่าสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นรูปแบบหนึ่งที่ช่วยกระตุ้นให้สมองทำงานกับความทรงจำ และศิลปะอาจกำลังทำหน้าที่นั้นอยู่ก็ได้
“จนเราได้ดูสารคดีอีกเรื่องหนึ่งเกี่ยวกับการที่ผู้สูงวัยในญี่ปุ่นต้องต่อคิวเพื่อไปรอเสียชีวิตในโรงพยาบาล บางคนรอนานเป็นปีจนกระทั่งในที่สุดก็ต้องเสียชีวิตในบ้านตัวเอง เราสงสัยว่ามันเกิดอะไรขึ้นในสังคมญี่ปุ่นกันแน่เลยลองหาข้อมูลเพิ่มเติมแล้วก็พบว่าบ้านเราเองก็กำลังเข้าสู่สังคมสูงวัยเหมือนที่ญี่ปุ่นไม่มีผิด
“ในอดีต ผู้สูงอายุมีฟังก์ชันหนึ่งที่สำคัญคือการเป็นแหล่งความรู้ เป็นที่ปรึกษา และที่มาของประสบการณ์ แม้ร่างกายจะไม่ได้ฟังก์ชันเหมือนหนุ่มสาวในวัยแรงงาน แต่ประสบการณ์และภูมิปัญญาของพวกเขายังเป็นสิ่งที่ทรงคุณค่า แต่ตอนนี้ สังคมไทยกลายเป็นครอบครัวเดี่ยว ความสัมพันธ์ของคนที่อยู่ในวัยปู่ย่าตายายกับวัยลูกหลาน มันต่างออกไป คนที่มีความสำคัญต่อชุมชนกลับเหลือเพียงแค่คนวัยทำงาน ทำให้ผู้สูงวัยในไทยมีความหมายเปลี่ยนไปจากเดิมมาก และระบบยังทำให้ผู้สูงวัยรู้สึกว่าการที่ร่างกายถดถอยไปทำให้ตัวเองหมดศักยภาพ และไม่รู้จะอยู่ต่อไปทำไม”
“ในความจริง ความแก่ชราไม่ได้ทำให้ใครไร้ค่าลงไปได้เลย และด้วยความที่บ้านเราไม่ได้มีรัฐสวัสดิการที่แข็งแรงเพียงพอ มันทำให้เราเป็นห่วงทั้งตัวเองและคนรอบตัว เลยคิดว่าอยากทำงานศิลปะสักชุดเพื่อให้ตัวเองได้พูดถึงมัน
“นี่จึงเป็นที่มาของ ‘สุกงอม’ งานปั้นชุดหนึ่งที่เราตั้งใจทำขึ้นมา เพื่อให้เห็นว่าผู้สูงอายุที่เต็มไปด้วยร่องรอยแห่งประสบการณ์ที่ปรากฏเป็นรอยเหี่ยวย่น รอยตีนกาบนใบหน้าก็สามารถมีคุณค่าและมีความสุขได้ไม่แพ้วัยหนุ่มสาว เหมือนกับมะม่วงที่ตอนเป็นผลอ่อนย่อมรสเปรี้ยว กินยาก แต่เมื่อให้เวลาจนสุกงอมแล้วกลับหอมหวาน กินง่าย เหมือนกับความสุกงอมของชีวิต
“จากงานปั้นชุดนี้ ทำให้เราได้รับการชวนให้มาออกแบบชุดสติกเกอร์ไลน์ให้กับ ‘ศูนย์วิทยาการเวชศาสตร์ผู้สูงอายุระดับชาติ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล’ ที่เป็นศูนย์ฯ สำหรับวิจัย ดูแลและให้บริการผู้สูงวัย เราตอบรับทันทีเพราะเราสนใจและติดตามประเด็นเกี่ยวกับผู้สูงวัยมาสักระยะแล้ว เราคิดว่าในอนาคต ภาวะโดยรวมของโลกต้องมีประชากรสูงวัยเพิ่มขึ้นไม่ต่างจากในญี่ปุ่นที่เราเห็นในสารคดีตอนนี้ ถ้าเป็นไปได้จึงอยากพูดถึงเรื่องนี้ให้มากกว่านี้ในงาน เพื่ออย่างน้อยอาจเป็นการชูบทสนทนาเรื่องนี้ในกลุ่มคนเสพงานศิลปะได้บ้าง”
ความเชื่อในคุณค่าและความสุขของผู้สูงวัย ‘ถิง ชู’ ได้ถูกถ่ายทอดออกมาเป็นลายเส้นสดใสและดูเป็นมิตรในรูปแบบสติกเกอร์ไลน์ในชื่อชุด ‘SiACG: Siriraj Academic Center of Geriatric Medicine’ ให้กับศูนย์วิทยาการเวชศาสตร์ผู้สูงอายุระดับชาติ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ทุกการดาวน์โหลด นอกจากจะเป็นการร่วมบริจาคเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของศูนย์วิทยาการเวชศาสตร์ผู้สูงอายุศิริราชแล้ว นี่ยังอาจเป็นการส่งต่อความเชื่อที่ว่า ไม่ว่าจะมีอายุเท่าไหร่ เราก็ยังมีคุณค่าและมีความสุขได้
ดาวน์โหลดได้แล้ววันนี้ที่: https://line.me/S/sticker/23430276/?lang=en&utm_source=gnsh_stickerDetail