ตลอดชีวิต 67 ปีที่ผ่านมา ลุงจิ๋ว-ปราโมทย์ โรจน์เรืองแสง บอกว่าตนเองผสมพันธุ์พืชต่างๆ มาแล้วหลากหลายชนิดก่อนจะมาเจอกับลิ้นมังกรไม้ประดับที่มีถิ่นกำเนิดในทวีปแอฟริกา การเติบโตในดินแดนกาฬทวีป ทำให้ลิ้นมังกรเป็นพืชที่มีความอดทนสูง ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่ลุงจิ๋วประทับใจ นอกเหนือไปจากความสวยงาม และความหลากหลายของลักษณะทางกายภาพ นี่คือเรื่องราวของ Breeder หรือปรับปรุงและผสมพันธุ์พืชกับพืชที่เขารัก พืชที่ไม่ได้แค่ทำให้ลุงจิ๋วเป็น Breeder ที่ดี แต่ยังทำให้เขาเป็นมนุษย์สูงวัยที่ใช้ชีวิตอย่างมีความสุข
ลูกมือพ่อ
ในยุคเมื่อราว 60 ปีก่อน ตลาดนัดและตลาดต้นไม้ที่ใหญ่ที่สุดในกรุงเทพมหานครไม่ได้อยู่ที่สวนจตุจักร แต่อยู่ที่สนามหลวงและคลองหลอด
“เมื่อก่อนในตอนที่เรายังเด็กท้องสนามหลวงนี่คือตลาดนัดที่ใหญ่มากๆ มีขายทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้า อาหารหนังสือ สัตว์เลี้ยง ฯลฯ ถ้านึกไม่ออกก็นึกไปถึงสวนจตุจักรในตอนนี้ ประมาณนั้นเลย ส่วนคลองหลอดที่อยู่ไม่ห่างกันก็จะเป็นตลาดต้นไม้ที่มีทั้งขายอยู่บนฝั่ง แล้วก็มีเรือพายขนต้นไม้มาขาย จนกระทั่งในปี 2525 สนามหลวงมีการจัดงานกรุงเทพฯ ครบ 200 ปี ก็เลยย้ายทุกอย่างไปอยู่ที่สวนจตุจักรในปัจจุบัน ซึ่งก็รวมถึงตลาดต้นไม้ที่คลองหลอดด้วย”
ลุงจิ๋ว-ปราโมทย์ โรจน์เรืองแสง เล่าย้อนความถึงภาพความทรงจำเมื่อครั้งยังเด็ก ซึ่งพ่อของคุณลุงได้เปิดร้านขายต้นไม้ที่ริมคลองหลอดด้วย
พ่อแม่ของลุงจิ๋วมีลูกด้วยกันทั้งหมด 10 คน (ชาย 6 หญิง 4) อย่างไรก็ตาม กลับมีเด็กชายจิ๋วคนเดียวเท่านั้นที่หลงใหลในเรื่องของต้นไม้เหมือนคุณพ่อ
“คุณพ่อไม่ได้แค่เปิดร้านขายต้นไม้เพื่อเลี้ยงชีพ แต่ยังเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งสมาคมพฤกษชาติแห่งประเทศไทยที่ก่อตั้งขึ้นมาในปีพ.ศ. 2492 เพื่อส่งเสริมการปลูกเลี้ยงไม้ดอกไม้ประดับต่างๆ รวมถึงกล้วยไม้ซึ่งเป็นที่นิยมในช่วงเวลานั้น ก็จะเป็นที่รวมตัวของคนรักต้นไม้ มีการจัดการประกวดต้นไม้ และพันธุ์พืชมากมาย เราเองก็ได้ติดตามคุณพ่อไปตามงานประกวดด้วย
เมื่ออยู่ร้าน เด็กชายจิ๋วจะเป็นลูกมือพ่อ มีหน้าที่คอยรดน้ำ ให้ปุ๋ยและทำงานตามแต่ที่พ่อสั่ง ขณะที่เมื่อมีเวลาว่างก็จะติดตามพ่อไปตามสวน และงานประกวดต้นไม้ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด
“เวลาไปตามสวนต้นไม้และตามงานประกวด มันเหมือนเป็นการเปิดโลกของเราเลย เราจะได้เห็นต้นไม้แปลกๆ ที่เราไม่เคยเห็น ได้เห็นต้นไม้ที่นำเข้าจากต่างประเทศ มันน่าตื่นตาตื่นใจมากสำหรับเด็กอย่างเรา พอได้อยู่กับต้นไม้มากๆ เราก็ซึมซับ จนกลายเป็นความชอบ รู้สึกมีความสุขที่ได้เห็นไม้ดอกไม้ประดับที่สวยงาม เฝ้ารอที่จะเห็นความเปลี่ยนแปลงและการเติบโตของต้นไม้แต่ละต้น ที่สำคัญเรามองว่างานนี้เป็นงานที่อิสระ ไม่ต้องเป็นลูกจ้างใคร”
หลังเรียนจบม.ศ.3 ลุงจิ๋วก็เข้าเรียนต่อในสายอาชีวะ แต่เรียนไปได้สักพักก็ลาออก เนื่องจากรู้สึกว่าไม่ใช่สิ่งที่ตัวเองชอบ จากนั้นก็ไปเรียนต่อด้านดนตรีที่สยามกลการ แต่ก็ล้มเลิกกลางคันอีก ต่อมาพอได้ไปเรียนเป็นช่างซ่อมเครื่องปรับอากาศก็เลิกเรียนมันเสียดื้อๆ ก่อนที่สุดท้ายจะไม่เรียนต่อแล้ว และเลือกอยู่กับสิ่งที่ตัวเองรักที่สุดนั่นคือการเพาะพันธุ์ต้นไม้
“เราจบการศึกษาสูงสุดแค่ม.ศ.3 ก่อนหน้านั้นเคยไปสมัครเรียนหลายด้าน แต่ก็เลิกเรียน ไปแล้วใจมันไม่ชอบ สุดท้ายก็เลยไม่เรียนต่ออะไรเลย แล้วก็อยู่กับสิ่งที่เรารักจริงๆ นั่นก็คือการเพาะและผสมพันธุ์ต้นไม้ เพราะนี่เป็นงานที่เรารู้สึกมีความสุขที่ได้ทำ นั่งทำได้ทั้งวันไม่มีเบื่อ เวลาผสมแล้วได้เห็นมันออกเป็นต้นใหม่ สีใหม่ ที่ยังไม่มีใครทำได้มาก่อน เราจะรู้สึกภูมิใจมาก
“ความจริงในตอนแรก เราเพาะพันธุ์ปลาสวยงามไปพร้อมกับเพาะพันธุ์ต้นไม้ แต่เพาะพันธุ์ปลาปัญหามันเยอะ ต้องคอยเปลี่ยนน้ำ ให้อาหาร เอาใจใส่ตลอดเวลา ก็เลยค่อยๆ เลิก หลังจากนั้นเราก็เดินหน้าทำงานด้านผสมพันธุ์พืชอย่างเต็มตัว”
ลุงจิ๋วเริ่มต้นจากการเพาะเลี้ยงบอนไซก่อนเป็นอย่างแรก ก่อนจะตามมาด้วยกล้วยไม้ โดยเฉพาะสกุลรองเท้านารี ซึ่งเป็นที่นิยมในเวลานั้น ขณะเดียวกันก็สะสมไม้ด่างนานาชนิดเอาไว้ด้วย กระทั่งต่อมามีกฎหมายพระราชบัญญัติออกมาว่ารองเท้านารีเป็นพืชใกล้สูญพันธุ์ จึงวางมือจากพืชดังกล่าว และหันมาจับพืชชนิดอื่นแทน ไม่ว่าจะเป็นบัว เข็ม อโกลนีมา ฯลฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอโกลนีมา หรือที่เรียกอีกอย่างว่าแก้วกาญจนา ลุงจิ๋วของเราถือเป็น Breeder หรือนักปรับปรุงและผสมพันธุ์พืชคนแรกของโลกที่สามารถผสมใบของต้นดังกล่าวออกมาเป็นสีแดงล้วนได้ทั้งใบเมื่อ 20 กว่าปีที่แล้ว
“ตั้งแต่จบม.ศ.3 เราไม่เคยทำงานอื่นอีกเลย จะเรียกว่าอยู่กับต้นไม้ตลอดมาก็ว่าได้ ทำมาตั้งแต่ตลาดต้นไม้ยังอยู่ริมคลองหลอด จนย้ายมาอยู่ที่สวนจตุจักร จนมาถึงทุกวันนี้อายุ 67 ปีแล้วเราก็ยังทำอยู่”
ถึงวันนี้ลุงจิ๋วบอกว่าตนเองผสมพันธุ์พืชมาแล้วมากมายหลากหลายชนิด อย่างไรก็ตามมีพืชอยู่ชนิดหนึ่งที่กลายมาเป็นพืชคู่ใจและมีจำนวนมากที่สุดในสวนต้นไม้ของเขา มันมีมากมายนับหมื่นต้น ชื่อของมันคือ ‘ลิ้นมังกร’
ลิ้นมังกรต้นแรก
ลิ้นมังกรต้นแรกที่ลุงจิ๋วซื้อมาเมื่อ 30 กว่าปีก่อน คุณลุงเองยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามันคือต้นอะไร คิดแต่เพียงว่าเป็นไม้ประดับทั่วไป เห็นหน้าตาแปลกดี เลยซื้อมารวมกันกับต้นไม้อื่นๆ
“เราไปดูงานต้นไม้ที่อินโดนีเซีย แล้วก็ไปซื้อไม้ด่างหิ้วกลับไทยมาด้วยหลายต้น มีต้นหนึ่งมันมีลักษณะใบยาว หนา กลมๆ เป็นเหมือนดาวกระจายรอบๆ ต้น ใบเขียว มีสีขาวด่างๆ เราไม่รู้หรอกว่ามันคือต้นอะไร เห็นหน้าตาแปลกดี เลยหิ้วกลับมาด้วย จนวันหนึ่งมีลูกค้าจากยุโรปเขามาเห็น บอกว่ามันคือลิ้นมังกร เรายังสงสัยว่ามันใช่เหรอ เพราะหน้าตามันไม่เหมือนลิ้นมังกรในเมืองไทยที่เราเคยเห็น ซึ่งส่วนใหญ่ใบจะแบน และบาง สีก็จะเป็นสีเขียวล้วน ไม่ก็เขียวขอบเหลือง ต้นหนึ่งจะมีแค่ 5-6 ใบ ซึ่งมีอยู่ไม่กี่ชนิด หลังจากวันนั้นเราก็เลยเริ่มศึกษา แล้วก็เพาะพันธุ์ลิ้นมังกรเพิ่มขึ้นมาอีก 1 ชนิด”
เมื่อยิ่งศึกษา ค้นคว้า และผสมพันธุ์ ลุงจิ๋วก็ยิ่งรู้สึกว่าลิ้นมังกรนั้น เป็นพืชที่มีเสน่ห์และความพิเศษเฉพาะตัวอย่างมาก นี่คือพืชที่อดทนเป็นเลิศ มีความหลากหลายทางกายภาพ และยังทำหน้าที่เป็นเครื่องฟอกอากาศภายในบ้านอีกด้วย
“ถ้าถามว่าความน่าสนใจของลิ้นมังกรอยู่ตรงไหน และเพราะอะไรเราถึงเพาะเลี้ยงเขา อย่างแรกเลยคือเป็นพืชที่มีความอดทนสูงมาก เขามีถิ่นกำเนิดอยู่ที่ทวีปแอฟริกา แถบพวกเอธิโอเปีย เคนย่า โซมาเลีย ซึ่งร้อนแห้งแล้งและกันดาร บางต้นเกิดในหลืบในซอกหิน แต่ก็ไม่ตาย อดทนเอาตัวรอดเติบโตขึ้นมาได้ เอาเป็นว่าตอนที่มีเหตุการณ์ปิดสนามบินสุวรรณภูมิ ต้นไม้และสินค้าที่ส่งมาจากต่างประเทศ ติดค้างอยู่ในสนามบินเป็นเดือน ลิ้นมังกรเป็นพืชชนิดเดียวที่รอดมาได้ นอกนั้นเฉาตายหมด
“อย่างที่สอง เขาเป็นพืชที่มีความหลากหลายทางกายภาพมาก ซึ่งความหลากหลายตรงนี้มันดึงดูดใจเรา และบรรดา Breeder หลายๆ คน เอาแค่สีของใบ มีทั้งสีเขียว เทา น้ำตาล เหลือง ขาว ส้มอมชมพู ส้มอมม่วง ฯลฯ รูปทรงก็มีหลากหลาย ทั้งใบกลม ใบแบน ใบหนา ใบบาง ใบยาว ใบสั้น ใบแค่นิ้วเดียว ใบทรงงาช้าง ทรงกุหลาบหิน หรือทรงเป็นแท่งแบบไม้พลอง ฯลฯ ยิ่งเมื่อเรานำมาปรับปรุงและผสมพันธุ์ก็จะเกิดเป็นทรงแบบใหม่ เป็นไม้ส่วนตัวที่คนอื่นไม่มี แต่เรามี สามารถนำไปต่อยอดได้อีกหลากหลายทรงหลายแบบ
“อย่างที่สามเลยก็คือลิ้นมังกร เป็นพืชที่ได้รับความนิยมในระดับนานาชาติ ที่ญี่ปุ่นนิยมเอาไว้ในห้องนอนเนื่องจากเขาจะปรุงอาหารในตอนกลางคืน แล้วจะคายออกซิเจนออกมา ทำให้อากาศบริสุทธิ์เป็นเหมือนเครื่องฟอกอากาศ ยิ่งต้นใหญ่ก็ยิ่งให้อากาศที่ดีมากกว่าต้นเล็ก”
แม้จะเต็มไปด้วยเสน่ห์และความโดดเด่นเฉพาะตัว แต่ในช่วงแรกลุงจิ๋วก็ไม่ได้ให้ความสำคัญ และโฟกัสกับการเพาะพันธุ์ลิ้นมังกรมากสักเท่าใดนัก เนื่องจากยังมีไม้ดอกไม้ประดับอีกมากมายในสวนให้ต้องดูแล กระทั่งเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ปี 2554
ลิ้นมังกรก็กลับกลายเป็นพืชชนิดเดียวที่หลงเหลืออยู่ในชีวิต
หัวใจแตกสลาย
ในเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ปี 2554 สวนของลุงจิ๋วอยู่ในสภาพที่เรียกได้ว่าจมบาดาล
“บ้านเราอยู่ที่คลองสาม ปทุมธานี เป็นจุดน้ำท่วมใหญ่เลย ชั้นล่างนี่ลงไปไม่ได้ น้ำท่วมหมด เราได้แต่นั่งมองอยู่บนชั้นสอง ดูต้นไม้ที่เรารักค่อยๆ ตายไป หัวใจมันแตกสลาย สภาพจิตใจในเวลานั้นย่ำแย่มากๆ”
ลุงจิ๋วไม่มีลูกเป็นของตัวเอง สำหรับเขาลูกเพียงหนึ่งเดียวที่มีก็คือต้นไม้ในสวนที่เพาะพันธุ์ และเก็บสะสมมานานเกินกว่าครึ่งชีวิต บางต้นอยู่กับคุณลุงมาตั้งแต่เพิ่งเริ่มเข้าวงการต้นไม้ใหม่ๆ บางต้นมีอายุยาวนานกว่า 40 ปี เอาลงดินครั้งแรกตั้งแต่ยังมีไม่กี่ใบไม่กี่ดอก จนบัดนี้เติบใหญ่พอที่จะปีนขึ้นไปนั่งเล่นได้
ด้วยเหตุนี้การต้องมานั่งดูมันจากไปโดยไม่สามารถทำอะไรได้ จึงเป็นภาพที่เจ็บปวดสะเทือนใจเป็นอย่างยิ่ง ลุงจิ๋วบอกกับภรรยาด้วยน้ำตานองหน้าว่าหลังจากนี้เขาจะเลี้ยงและปลูกต้นไม้เอาไว้ดูเล่น แต่จะหันหลังให้กับการเป็น Breeder อย่างถาวร เพราะไม่อยากเห็นต้นไม้ที่ตนเองปรับปรุงและผสมพันธุ์มากับมือต้องมาตายจากไปเช่นนี้อีก
“เราคิดว่าพอแล้ว เราไม่อยากเจ็บปวดแบบนี้อีก เพราะการเป็น Breeder นี่มันมีความผูกพันลึกซึ้งมากกว่าการปลูกนะ เพราะมันเป็นสิ่งที่เราจินตนาการแล้วลงมือทำ สร้างมันขึ้นมาแต่ละต้นด้วยตัวของเราเอง ทุกต้นเราผูกพัน รักเขาเหมือนลูก ดูแลอย่างดี พอเจอแบบนี้ เราก็คิดว่าเราไม่อยากผูกพันแล้วต้องมาเจ็บปวดตอนจากกันแบบนี้อีก เลยพอดีกว่า เราจะไม่เป็น Breeder อีกต่อไปแล้ว”
ก่อนที่น้ำท่วมน้ำจะท่วมจนมิด ลุงจิ๋วเริ่มทยอยถอนต้นไม้ออกมาไว้ในกะละมัง โดยหวังว่าหากน้ำลงกลับสู่ภาวะปกติตามเดิม ก็จะสามารถนำกลับมาลงดินใหม่อีกครั้ง แต่ด้วยความที่สวนของลุงมีขนาดกว้างถึง 20 กว่าไร่ และต้นไม้ก็มีมากมายหลายหมื่นต้น ทำให้คุณลุงถอนออกมาได้ทั้งหมดเพียงแค่ 400-500 ต้นเท่านั้น นอกเหนือจากนั้นก็จมน้ำตายไม่มีเหลือ
วันเวลาผ่านไปกว่า 2 เดือน น้ำที่ท่วมค่อยๆ ลดระดับลงจนกลับสู่ภาวะปกติ อย่างไรก็ตามด้วยวันเวลาที่ยาวนานเกินไป ต้นไม้ที่ถอนเอาไว้ ก็ทนอยู่ในสภาพดังกล่าวไม่ไหว และแทบไม่มีต้นใดรอดชีวิต
“กว่าน้ำจะลงก็อีก 2 เดือน สุดท้ายต้นไม้ที่เราถอนเอาไว้ก็ไม่รอด ทุกต้นขาดน้ำตายหมด มีแต่ลิ้นมังกรที่ไม่ตาย”
แม้จะเหี่ยวแห้งเฉาโรยอยู่ในกะละมังเปล่าๆ นานกว่า 60 วัน แต่สุดท้ายลิ้นมังกรกลับกลายเป็นพืชชนิดเดียวในสวนที่ยังคงมีลมหายใจอยู่ จากต้นไม้ในสวนกว่า 20 ไร่ลุงจิ๋วหลงเหลือลิ้นมังกรอยู่เพียง 100 กว่าต้น กับสภาพที่บอบช้ำทั้งร่างกายและจิตใจ
ท่ามกลางชีวิตที่กำลังมืดมน ลิ้นมังกรรอดตายเหล่านี้ น่าจะเป็นแสงสว่างเล็กๆ ที่ลุงจิ๋วยังพอจะลงเหลืออยู่ในชีวิต
การกลับมาของ Breeder
เมื่อพื้นที่ความเสียหายในสวนได้รับการจัดการจนกลับสู่ภาวะปกติ ลุงจิ๋วก็นำลิ้นมังกรร้อยกว่าต้นที่เหลือกลับมาลงดินปลูกใหม่อีกครั้ง
ในเวลานั้นข่าวคราวของคุณลุงได้แพร่กระจาย และเป็นที่รับรู้ไปทั่วทั้งวงการต้นไม้ เพื่อนๆ ไปจนถึงลูกค้าหลายคนที่เคยซื้อ-ขายต้นไม้ด้วยกัน ต่างพากันเดินทางมาเยี่ยมเยียนเขาถึงที่บ้าน บางคนลงทุนบินข้ามน้ำข้ามทะเลมาจากต่างประเทศ ซึ่งแทบทุกคนไม่ได้มาเพียงเพื่อจะให้กำลังใจ หากแต่ยังนำต้นไม้พ่อพันธุ์แม่พันธุ์สวยๆ มาให้ พร้อมกับร้องขอว่าอย่าล้มเลิกการเป็น Breeder อย่างเด็ดขาด
“สำหรับเราพันธุ์ไม้ที่เพื่อนๆ และลูกค้าเอามาให้มันมีค่ามีความหมายมากกว่าให้เงินทองอีกนะ มันได้ทั้งในแง่กำลังใจ เพราะเขาให้ในสิ่งที่เรารัก ขณะเดียวกันเราก็สามารถนำไปต่อยอดขยายพันธุ์ทำให้เกิดมูลค่าได้ เรารู้สึกว่าเรายังโชคดีที่มีเพื่อนฝูงและลูกค้าคอยช่วยเรา ทุกคนที่มาหาจะบอกกับเราเหมือนกันหมดว่าอย่าเลิกเป็น Breeder นะ เสียดายความรู้และประสบการณ์ อย่าท้อ เรายังสามารถสร้างความสวยงามให้กับต้นไม้ได้อีกมาก
จากที่จะล้มเลิก ลุงจิ๋วตัดสินใจกลับมาทำงานที่เขารักอีกครั้ง Breeder สูงวัยจะตื่นมาผสมพันธุ์พืชชนิดอื่นๆ ที่เพื่อนให้มาในตอนเช้า ขณะที่ในตอนหัวค่ำจะผสมพันธุ์ลิ้นมังกร ซึ่งเป็นพืชที่มีจำนวนมากที่สุด ลุงจิ๋วทำงานของตัวเองทุกวันด้วยความเพลิดเพลิน รู้ตัวอีกทีจากลิ้นมังกรร้อยกว่าต้น กลับกลายขยายพันธุ์เป็นหมื่นกว่าต้นแล้วในตอนนี้ ขณะที่พืชอื่นๆ ก็มีมากมาย ทั้งไม้ด่าง 100 กว่าชนิด อโกลนีมา พลูฉลุ พลูด่าง ต้นปรง ป่านศรนารายณ์ ต้นปาล์ม เฟิร์น โชคเก้าชั้น ฯลฯ
จากสวนที่พังทลายเต็มไปด้วยต้นไม้ล้มตายในตอนน้ำท่วม กลายเป็นสวนสีเขียวที่เต็มไปด้วยชีวิตชีวาอีกครั้ง จะว่าไปก็ไม่ใช่แค่สวนหรอกที่ได้ชีวิตกลับคืนมา
ลุงจิ๋วเองก็ได้ความสุขในชีวิตกลับคืนมาอีกครั้งเช่นกัน
ลิ้นมังกรสอนชีวิต
จากที่เคยเป็นเพียงแค่พระรองเมื่อเทียบกับพืชชนิดอื่นๆ มาวันนี้ลิ้นมังกรกลายเป็นพระเอกของสวนลุงจิ๋วอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
“การที่ลิ้นมังกรกลายเป็นพระเอกในสวนของเรา ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะพืชอื่นๆ พากันล้มตายไปหมด มีแต่ลิ้นมังกรที่เหลืออยู่ ทำให้เราจำเป็นต้องเพาะพันธุ์เขา เอาเขาเป็นตัวนำ แต่จริงๆ แล้วมันเป็นเพราะความอดทนของเขาต่างหาก ที่ไม่ว่าจะมีอะไรเกิดขึ้น ยากลำบากขนาดไหน เขาก็อดทนรอดตายจนทำให้เราได้กลับมาดูแลเขา จนเขาเติบโตเกิดใหม่จนเต็มสวนไปหมด
“ถ้าเรามองกลับกัน มันไม่ใช่แค่เราหรอกที่ให้ชีวิตกับเขา เขาเองก็ให้ชีวิตใหม่กับเราด้วยเช่นกัน”
เมื่อเหลียวดูไปยังต้นลิ้นมังกร ลุงจิ๋วยอมรับว่าต้นไม้ชนิดนี้เป็นเหมือนครูที่สอนวิชาชีวิตให้กับเขาในหลายสิ่งหลายอย่าง
“หลักๆ เลยคือเขาสอนให้เราอดทน เหมือนกับเขาที่อดทนรอดตายได้ ทั้งที่ไม่ได้กินน้ำเลยเป็นเดือนๆ ซึ่งความอดทนนี้มันไม่ใช่แค่เรื่องกายภาพนะ แต่มันรวมไปถึงการอดทนรอคอยโอกาสที่เขาเข้ามาในชีวิตด้วย มันเหมือนกับว่าถ้าเราอดทนกับช่วงเวลาที่เลวร้ายได้มากพอ แล้วรู้จักที่จะรอคอยโอกาส อย่างไรสักวันหนึ่งมันก็ต้องมีวันที่เป็นวันของเรา
“นอกจากนี้เขายังสอนเราว่าจะทำอะไร ต้องรู้ลึก รู้จริง เพราะพืชแต่ละชนิดมีคุณลักษณะไม่เหมือนกัน อย่างพืชส่วนใหญ่ในสวนเราจะผสมพันธุ์ในตอนเช้า แต่กับลิ้นมังกรนั้นจะเป็นตอนหัวค่ำ ซึ่งถ้าเราไม่ศึกษาค้นคว้า เราก็จะสร้างพันธุ์ใหม่ออกมาไม่ได้ คือต้นไม้ทุกต้นก็เหมือนคน มีความต่าง มีความเหมาะสม และมีเส้นทางเป็นของตัวเอง ถ้าเรารู้ว่าเขาชอบอะไรเหมาะสมกับอะไร ก็แค่ส่งเสริมและสนับสนุนเขาในสิ่งนั้น
“นี่คือสิ่งที่ลิ้นมังกรและพืชพันธุ์ในสวนทั้งหลายบอกกับเรา นอกเหนือไปจากรายได้และความสุขที่เขาให้เรามาโดยตลอด”
อย่างที่กล่าวไปในตอนต้นว่า ทุกวันนี้ลุงจิ๋วยังตื่นมาทำในสิ่งที่รักอยู่ทุกวัน คุณลุงยังคงยืนยันว่าการอยู่กับต้นไม้ และนั่งปรับปรุงผสมพันธุ์พืชเป็นสิ่งเดียวที่เขาทำมันแล้วไม่เคยรู้สึกเบื่อ ไม่เคยรู้สึกว่าจำใจทำเพราะเลี้ยงชีพ หรือทำเพราะจำเป็นต้องทำ หากแต่ทำเพราะความรัก ซึ่งนับได้ว่าเป็นรางวัลสูงสุดของชีวิต
“ตลอดชีวิตที่ผ่านมาเราได้รางวัลเกี่ยวกับต้นไม้มากมายนับไม่ถ้วน อย่างล่าสุดก็ได้รางวัลนักปรับปรุงพันธุ์พืชดีเด่นพฤกษาเชิดชูเกียรติประจำปี 2565 ของสมาคมไม้ดอกไม้ประดับภาคตะวันออก ซึ่งเราก็รู้สึกภูมิใจทุกครั้งที่ได้รับรางวัล เพราะเท่ากับมีคนเห็นคุณค่าในงานที่เราทำให้กับวงการต้นไม้
“แต่ถ้าจะถามว่ารางวัลสูงสุดในชีวิตของเราคืออะไร เราว่าก็คือการได้เป็น Breeder ได้ทำงานกับต้นไม้นี่แหละ เพราะมันเป็นสิ่งที่เรารัก ทำได้ไม่เบื่อ คนเราถ้าหาตัวเองเจอว่าตัวเองชอบแบบไหน และได้ทำได้อยู่กับสิ่งที่เรารักนะ เราว่ามันคือรางวัลสูงสุดของชีวิตแล้ว
“เราไม่ได้เก่งหรือดีกว่าคนอื่นหรอก แต่เราแค่โชคดีที่ตื่นขึ้นมาแล้วได้รับรางวัลชีวิตในทุกๆ วัน”