จุดเริ่มต้นของ Mother Roaster

Mother Roaster

จุดเริ่มต้นของ Mother Roaster ร้านกาแฟเล็กๆ ริมถนนมหาพฤฒาราม ไม่มีอะไรมากไปกว่า การมองหาพื้นที่เล็กๆ ให้กับตัวเองของคนเป็นแม่และลูกชาย

“เดิมทีเราเป็นคนชอบกินกาแฟอยู่แล้ว พอดีวันหนึ่งมีโอกาสไปช่วยลูกเปิดบูธขายกาแฟในงาน K-Village ก็ไปช่วยกันสองคน พอเสร็จงานเราเองอยู่บ้านเฉยๆ ไม่ได้ทำอะไร ก็เลยบอกกับลูกว่าอยากเปิดร้านกาแฟ เขาก็ตกลง จากนั้นก็หาสถานที่ที่เหมาะกับเรา เราไม่ได้ต้องการที่จะเปิดร้านอะไรใหญ่โต จนกระทั่งมาเจอพื้นที่ตรงนี้ รู้สึกว่ามันเหมาะกับเราดี เลยตกลงเปิดร้านขึ้นมา”

การมีร้านกาแฟเป็นของตัวเองอาจเป็นความฝันของใครหลายคน โดยเฉพาะกับบรรดาหนุ่มสาวในยุคนี้ แต่สำหรับหญิงชราคนหนึ่งการมีพื้นที่เล็กๆ แห่งนี้เริ่มต้นเมื่ออายุเกือบ 70 ปี อย่างไรก็ตามถึงวันนี้เธอและลูกยืนยันว่าเดินมาไม่ผิดทาง

“เราเชื่อว่าสิ่งที่เราเลือก เราคิดถูกแล้ว มันไม่ใช่เรื่องของยอดขาย ธุรกิจ หรือผลตอบแทน เพราะร้านกาแฟของเราไม่ได้มุ่งเน้นไปที่เรื่องนั้น แต่มันคือการที่เราได้ออกจากบ้านมาเจอผู้คน มาแลกเปลี่ยนทรรศนะกับคนรุ่นใหม่ เพราะกาแฟทุกวันนี้มันไม่เหมือนสมัยก่อน มันเป็นกาแฟของคนรุ่นใหม่ มันมีกระบวนการ มีความซับซ้อน มีรายละเอียดกว่าเดิมมาก ซึ่งเราเองก็ต้องเรียนรู้อยู่เรื่อยๆ

“การเรียนรู้ การได้พูดคุยแลกเปลี่ยนกับผู้คนทำให้สมองของเราไม่หยุดนิ่ง ซึ่งเรากลัวมากว่าจะเป็นอัลไซเมอร์ ความจริงเราจะเลี้ยงหมาเลี้ยงแมวอยู่กับบ้านตามวัยของเราก็ได้ แต่เรารู้สึกว่าการได้ทำในสิ่งที่เรารักและสนใจถึงจะเหนื่อยแต่ก็มีความสุข”

กาแฟของร้าน Mother Roaster  มีจุดเด่นอยู่ตรงที่ทุกกระบวนการผลิตเป็นงานคราฟทั้งหมด ไม่มีเครื่องใช้ไฟฟ้า ทำให้ตัวกาแฟของร้านได้แสดงตัวตนออกมาอย่างเด่นชัด ไม่ต่างอะไรกับสิ่งที่สองแม่ลูกเลือกให้กับชีวิต

“พรุ่งนี้จะเป็นอย่างไรเราไม่รู้ แต่ที่แน่ๆ สิ่งที่เราเลือกในวันนี้ทั้งแม่และเราต่างก็มีความสุข เราอาจจะทะเลาะกันบ้าง มีความเห็นไม่ตรงกันบ้าง แต่อย่างน้อยที่สุดเราก็ได้สื่อสารกันตลอด”

ประโยคทิ้งท้ายของลูกชายบ่งบอกอย่างชัดเจนว่าการสื่อสารเป็นเรื่องสำคัญ

คงไม่มีอะไรจะดีไปกว่าการที่เราได้สื่อสารกับคนที่เรารักและห่วงใยในชีวิต

Credits

Authors

  • ปองธรรม สุทธิสาคร

    Author & Photographerเป็นคนเขียนหนังสือ ที่หลงใหลในวรรณกรรมน้อยกว่ากีฬา และภรรยาของตนเอง ยามว่างหากไม่ใช้เวลาไปกับการนั่งคุยกับคน ก็มักหมดเวลาไปกับการนั่งดูบาส ดูบอล และละครน้ำเน่า นักเขียนวัยหลักสี่คนนี้ยืนยันว่าตนเองคือนักอุทิศเวลาให้กับความขี้เกียจ เนื่องจากเขามีความเชื่อว่าชีวิตที่ดีต้องเป็นชีวิตที่ขี้เกียจได้

  • บุญทวีกาญน์ แอ่นปัญญา

    Cameramanเดินให้ช้าลง ใช้เวลามองความสวยงามข้างทาง

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ