ชวนสำรวจมนุษย์ร้อยปีในชีวิตจริง ที่ไม่ใช่ในนวนิยายวิทยาศาสตร์

“มนุษย์ต่างวัย” ชวนทุกท่านสำรวจโลกผู้สูงวัยที่มีอายุยืนที่สุดในโลก และผู้สูงวัยที่มีอายุเกิน 100 ปี ว่ามีสาเหตุมาจากอะไร และหากเราต้องการจะเป็นหนึ่งในผู้ที่มีชีวิตที่ยืนยาวบ้าง เราต้องปฏิบัติตัวอย่างไร เพื่อให้ใกล้เคียงกับคำว่า “มนุษย์อมตะ” ตามนิยามใหม่ในชีวิตจริง ไม่ใช่ในนวนิยายวิทยาศาสตร์

ใครครองแชมป์อายุยืนในโลกปีนี้

เว็บไซต์ Worldometer ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มรายงานสถิติสำคัญระดับโลก ระบุว่าปีนี้ฮ่องกงเป็นแชมป์ประชากรอายุยืนที่สุดในโลกเฉลี่ยที่ 85.29 ปี พร้อมวิเคราะห์สาเหตุว่า เนื่องจากมีการลงทุนในการศึกษาที่ดี มีการจัดการตลาดแรงงานให้สอดคล้องกับประชากรในอนาคต และมีการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงอย่างก้าวกระโดด นับตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา

องค์ประกอบเหล่านี้ ทำให้รัฐบาลฮ่องกงมีศักยภาพในการเพิ่มประสิทธิภาพของระบบสาธารณสุขให้ดีขึ้น รวมทั้งยังมีความพยายามที่จะลดอัตราการเสียชีวิตของเด็กเกิดใหม่ เพื่อให้อยู่ในเกณฑ์ต่ำที่สุดในโลกด้วย

ส่วนญี่ปุ่นปีนี้คว้าอันดับ 2 จากตัวเลขประชากรอายุขัยเฉลี่ยที่ 85.03 ปี เนื่องจากวิถีชีวิต สภาพแวดล้อม และอาหารการกินที่อุดมสมบูรณ์ ทั้งผัก ผลไม้ เนื้อปลา ธัญพืช ฯลฯ รวมทั้งรัฐบาลยังลงทุนในระบบสาธารณสุขที่มีประสิทธิภาพในช่วง 50 ปีที่ผ่านมาด้วย เช่น โปรแกรมฉีดวัคซีนสำหรับเด็ก และประกันสุขภาพถ้วนหน้า เป็นต้น

ขณะที่คนไทยอายุขัยเฉลี่ยอยู่ที่ 77.74 ปี โดยเพศหญิงเฉลี่ย 81.34 ปี เพศชายเฉลี่ย 74.16 ปี ทำให้เราติดอันดับที่ 59 จาก 193 ประเทศอายุยืนที่สุดในโลก นอกจากนี้ StatisticsTimes ยังคาดการณ์ต่อไปอีกว่า คนไทยจะมีอายุขัยเพิ่มขึ้นเฉลี่ยที่ 85 ปี ภายในปี พ.ศ. 2568 จากจำนวนผู้สูงวัย 20.4 ล้านคนภายในปี พ.ศ. 2583 หรือประมาณ 30% ของประชากรทั้งหมด

สำหรับสถิติประชากรไทยที่มีอายุ 100 ปีขึ้นไป กรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ระบุว่าอยู่ที่ 20,287 คน จากจำนวนประชากรทั้งหมด (สถิติเดือนกุมภาพันธ์ ปี พ.ศ. 2562)

UN เผยผลสำรวจมนุษย์ร้อยปี

ทางด้านองค์การสหประชาชาติ (UN) เปิดเผยสถิติของปีก่อน โดยระบุว่าผู้สูงวัยอายุ 100 ปีทั่วโลก จาก 6.3 แสนคน (0.0008% จากประชากรทั่วโลก 7.94 พันล้านคนในปีเดียวกัน) ในรอบระยะ 110 ปี ระหว่างปี พ.ศ. 2533-2643 จะเพิ่มขึ้นเป็น 22 ล้านคน (0.21% จากประชากรทั่วโลก 1 หมื่นล้านคนในปีเดียวกัน) ภายในปี พ.ศ. 2643 หรืออีก 77 ปีข้างหน้า

ฐานข้อมูลดังกล่าว ยังชี้ให้เห็นว่าอายุขัยเฉลี่ยของมนุษย์มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดูจากค่าเฉลี่ยอายุ 72.8 ปี เมื่อปี พ.ศ. 2562 เป็น 77.2 ปี ในปี พ.ศ. 2593 แต่ประเด็นที่น่าสนใจกว่านั้นคือการมีอายุยืนยาวไม่ใช่ภาพสะท้อนความสำเร็จของประเทศนั้น ๆ แต่ต้องพิจารณาถึงการบริหารจัดการประชากรที่มีคุณภาพรอบด้านด้วย

เช่น คุณภาพชีวิตผ่านระบบสวัสดิการรัฐ การสนับสนุนการศึกษา การสาธารณสุข มาตรการทางเศรษฐกิจ และนโยบายอื่น ๆ ตลอดช่วงชีวิตของคน ๆ หนึ่ง ซึ่งเริ่มจากการเป็นเยาวชนที่มีความหวัง เป็นแรงงานที่มีคุณภาพ และเป็นผู้สูงวัยที่มีสุขภาวะดี หรือพูดง่าย ๆ คือเป็นพลเมืองที่มีความสุขตั้งแต่เกิดจนสิ้นสุดอายุขัยนั่นเอง

Image: World Economic Forum, United Nations

บรรยาย : แผนภูมิแสดงการคาดการณ์อายุขัยเฉลี่ยตั้งแต่เกิดของประชากรโลกตั้งแต่ปี ค.ศ. 1950 – 1955 จนถึง ค.ศ. 2095 – 2100 โดยแนวนอน (แกน X) แสดงถึงช่วงเวลาเป็นรอบละ 5 ปี และแกนตั้ง (แกน Y) แสดงแนวโน้มอายุขัยเฉลี่ยของประชากรในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว (สีเขียว) และกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา (สีส้ม)

ไม่ใช่ทุกคนอยากอายุยืน 100 ปี งานวิจัยเผยมีแค่ 35 %

“ถ้าต้องอายุยืนเป็นร้อยปีก็มองได้สองทาง คือถ้าไม่มีเงินแล้วต้องอายุยาวขนาดนั้น คงไม่มีความสุข คงเครียดทุกวันว่าจะนำเงินจากที่ไหนมาใช้ และส่วนตัวคิดว่าคงไม่อยากมีลูกด้วย ถ้ายังเลี้ยงตัวเองได้ไม่ดี เลยตัดเรื่องที่จะให้ลูกมาเลี้ยงไปได้เลย ส่วนอีกทางคือถ้าเกษียณแล้วมีเงินใช้เอง ก็คงจะแฮปปี้มาก คงไปปฏิบัติธรรม แล้วรู้สึกดีที่ได้มีเวลาชีวิตเยอะ ๆ ไปบนเส้นทางนั้น” – สุพัตรา ครุฑนภา พนักงานบริษัทวัย 23 ปี

แม้การมีชีวิตยืนยาวจะเป็นความท้าทายที่คนตั้งแต่ในยุคอดีตพยายามไขว่คว้า แต่จากผลสำรวจความคิดเห็นในคนในปัจจุบันกลับพบว่าการมีชีวิตยืนยาวไม่ใช่เป็นเป้าหมายชีวิตสูงสุดอีกต่อไป หากต้องอยู่อย่างแห้งแล้งโดดเดี่ยว ผลสำรวจจากอิปซอสส์ (Ipsos) ประเทศฝรั่งเศส ชี้ว่ามีประชากรเพียง 35 % เท่านั้น ที่ต้องการมีอายุยืนถึงร้อยปี เนื่องจากยิ่งอายุมากขึ้น ร่างกายยิ่งต้องเผชิญความเสี่ยงจากโรคภัยไข้เจ็บ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคหัวใจ และระบบทางเดินโลหิต รวมถึงศักยภาพด้านการรู้คิดที่เสื่อมถอยลงตามช่วงวัยด้วย

หากสังเกตจากปกรณัม งานวรรณกรรม หรือสื่อที่กล่าวถึงอมตชน จะพบว่าการมีชีวิตยาวนานแทบไม่มีความหมายอะไร หากไม่มีสุขภาวะที่ดี ร่างกายไม่สามารถเคลื่อนไหว หรือใช้งานได้ตามใจ ต้องถูกกักขังไว้อย่างไร้อิสรภาพ ไม่มีคนรอบข้างให้แลกเปลี่ยนเรื่องราวและความสุข หรือต้องอยู่อย่างโดดเดี่ยวเดียวดาย

ในทางกลับกัน หากคนเราจะสามารถมีชีวิตยืนยาวเป็นร้อยปีได้ อย่างน้อยคน ๆ นั้นจะต้องมีสุขภาวะที่ดีครบทั้ง 8 ด้าน ได้แก่ ร่างกาย ความสัมพันธ์ อารมณ์ สภาพแวดล้อม อาชีพ การเงิน สติปัญญา และจิตวิญญาณ ซึ่งไม่เพียงทำให้เกิดความสุข แต่ยังมีนัยถึงการเป็น “อมตะ” ตามนิยามใหม่ด้วย

กล่าวคือในอดีตเมื่อพูดถึงคำว่า “อมตะ” เราจะคิดถึงชีวิตที่เป็นนิรันดร์ ไม่มีวันตาย แต่การศึกษาจากหลากหลายสาขาวิชาในปัจจุบัน ชี้ให้เห็นว่า “อมตะ” ในนิยามใหม่ หมายถึงการที่คนเราดูอ่อนกว่าวัย มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง มีสติปัญญาแจ่มใส และเสื่อมโทรมช้ากว่าคนทั่วไป อีกทั้งยังมีศักยภาพในการดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างยั่งยืน

แล้วปัจจัยใดบ้างที่กำหนดให้คนเราอายุยืน

“ถ้ามีอายุยืนถึงร้อยปีก็คงจะดี เพราะการมีอายุถึงร้อยปี นัยหนึ่งเเสดงว่าเราต้องดูแลตัวเองดีทุกอย่าง แต่ถ้ามีอายุยืนแล้วไม่เเข็งเเรง ก็คงไม่แฮปปี้ เคล็ดลับที่ทำอยู่และคิดว่าจะทำให้อายุยืนคือการมีแก๊งค์เพื่อนดี ไปแฮงค์เอ้าท์ และออกกำลังกายด้วยกัน” – สิริกร เพ็ญภู่ ผู้ประกอบการรับเหมาก่อสร้างวัย 54 ปี

มีปัจจัยอย่างน้อย 4 ด้าน ที่ทำให้คนเราอายุยืนได้ในโลกความเป็นจริง เริ่มจาก “รหัสพันธุกรรม” ซึ่งตามรายงานวิจัยทางการแพทย์ส่วนใหญ่ระบุว่า ทำให้คนเรามีโอกาสอายุยืนตั้งแต่เกิดด้วย “ยีน” โดยเฉพาะกรณีศึกษาในคู่แฝด 2,872 คู่ ที่พบว่ารหัสพันธุกรรมมีบทบาทมากถึง 25% ในการกำหนดอายุขัยของมนุษย์ และปัจจุบันก็ยังคงศึกษาวิจัยกันต่อไป

ต่อมาคือเรื่องสภาพแวดล้อมและที่อยู่อาศัย Worldometer ระบุว่ามาเก๊าและสิงคโปร์ คว้าตำแหน่งการเป็นพื้นที่ที่มีประชากรอายุขัยเฉลี่ยสูงเป็นอันดับที่ 3 และ 5 ของโลกในปีนี้ได้ เพราะมีสภาพแวดล้อมที่ดี ทั้งคุณภาพอากาศ และสุขอนามัยน้ำ นอกจากนี้ การจัดการพื้นที่อยู่อาศัยภายในบ้านและภายในเมืองก็มีส่วนช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตได้มาก

โดยเฉพาะการออกแบบพื้นที่ที่ใส่ใจผู้อยู่อาศัย เช่น การยศาสตร์ (Ergonomics) หรือการศึกษาเกี่ยวกับการจัดวางรูปแบบของที่ทำงานให้เหมาะสม สะดวก ปลอดภัย และการออกแบบเพื่อทุกคน (Universal design) ซึ่งเหมาะสมเป็นพิเศษกับผู้สูงวัยที่มีความเสี่ยงต่ออุบัติเหตุและต้องการตัวช่วยในการดำเนินชีวิตมากขึ้น

รวมถึงการออกไปสัมผัสแสงแดด และธรรมชาติกลางแจ้งอย่างน้อยวันละ 1 ชั่วโมง ก็มีส่วนช่วยลดระดับความเครียด และยกระดับสุขภาวะของคนเราให้ดีขึ้นได้ หรือทำกิจกรรมบำบัดต่าง ๆ เช่น อาบป่า อาบทะเล อาบทราย อาบแสงอาทิตย์ ฯลฯ

ต่อมาคือพฤติกรรมการใช้ชีวิต ซึ่งมีกรณีศึกษาของมหาเศรษฐีวัย 45 ไบรอัน จอห์นสัน (Bryan Johnson) ที่ทุ่มเงินกว่า 65 ล้านบาท ย้อนวัยตัวเองให้กลับมาเป็นหนุ่ม 18 อีกครั้ง โดยยอมเป็นหนูทดลองในการศึกษาของทีมแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูกว่า 30 ชีวิต เพื่อจะดำเนินชีวิตตามตารางที่กำหนดโดยแพทย์อย่างเคร่งครัด

ทั้งจำนวนชั่วโมงการหลับและตื่น การออกกำลังกาย การทำสมาธิ การรักษาสมดุลน้ำหนักตัว การควบคุมแคลอรี่ การรับประทานอาหารมังสวิรัติ ยา และอาหารเสริม โดยงดบุหรี่ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สารเสพติด รวมทั้งหมั่นตรวจสอบและติดตามกิจกรรมต่าง ๆ ภายในร่างกายอย่างต่อเนื่อง แถมในอนาคตยังจะรวมการบำบัดด้วยยีนเข้าไปด้วย

สุดท้ายคือการมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีระหว่างบุคคล ซึ่งรายงานจากวารสารวิชาการ รวมกับความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญสาขาต่าง ๆ และงานวิจัยระยะยาวเกือบ 80 ปี ของมหาวิทยาลัยฮาร์เวิร์ดที่ติดตามชีวิตนักศึกษาปีที่ 2 จำนวน 268 คน ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2481 ล้วนให้ความเห็นตรงกันว่า พฤติกรรมการใช้ชีวิตของบุคคล และการมีปฏิสัมพันธ์ หรือความสัมพันธ์ที่ดีต่อสุขภาพจิต มีส่วนเกี่ยวข้องกับการยืดอายุขัยของมนุษย์ให้ยืนยาวอย่างมีสุขภาวะที่ดีได้

และทั้งหมดนี้คือการสำรวจโลกผู้สูงวัย ซึ่งหากท่านใดต้องการจะเป็นหนึ่งในผู้ที่มีชีวิตที่ยืนยาวบ้าง ก็สามารถลองปฏิบัติได้ อย่างน้อยก็เพื่อให้ใกล้เคียงกับคำว่า “มนุษย์อมตะ” ตามนิยามใหม่ในชีวิตจริง ไม่ใช่ในนวนิยายวิทยาศาสตร์อีกต่อไป หรือจะลองปรับจากแนวทางของอาม่าอารมณ์ดีในวัย 77 ท่านนี้ก็ได้

“ถ้าต้องมีอายุยืนเป็นร้อยปี อาม่าก็รู้สึกดีใจเหมือนกันที่จะได้อยู่กับหลาน ๆ แต่ก็กลัวว่าถ้าเราดูแลตัวเองไม่ได้ จะลำบากหลาน ๆ ไหม แต่ไม่รู้จะทำอย่างไร อาม่าเป็นเบาหวานมา 10 กว่าปีแล้ว ก็หาหมอกินยาปกติ ถ้าวันไหนเจาะเลือดแล้วค่าน้ำตาลสูงก็กินน้อยหน่อย วันไหนค่าต่ำก็กินเยอะได้ (หัวเราะ) อาม่าอยู่อย่างสนุกสนาน อยู่กับหลาน ๆ แค่นี้แหละ ไม่ได้ทำอะไรมากมาย ก็ทำตัวเองให้มีความสุข บางทีก็นัดลูก ๆ ไปกินข้าว ถ้าตัวเรามีความสุข ไม่เครียด อายุก็ยืนยาว ไม่ป่วยแล้ว” – วิภา มหัทธนพรรค วัย 77 ปี

อ้างอิง:
1.https://www.statista.com/statistics/996597/number-centenarians-worldwide/
2.https://www.statista.com/statistics/262618/forecast-about-the-development-of-the-world-population/
3.https://worldpopulationreview.com/
4.https://www.weforum.org/agenda/2021/07/how-long-will-people-live-in-the-future/
5.https://www.worldometers.info/demographics/life-expectancy/
6.https://statisticstimes.com/demographics/country/thailand-population.php
7.https://www.hfocus.org/content/2023/01/26880
8.https://www.ipsos.com/en-uk/one-seven-britons-expect-live-be-100-years-old-down-third-2019
9.https://www.verywellmind.com/erik-eriksons-stages-of-psychosocial-development-2795740#toc-stage-7-generativity-vs-stagnation
10.https://www.csupueblo.edu/health-education-and-prevention/8-dimension-of-well-being.html
11. https://link.springer.com/article/10.1007/BF02185763
12.https://doi.org/10.1375/twin.6.5.448
13.https://www.researchgate.net/profile/Andrew-Thatcher/publication/309606212_Longevity_in_a_sustainable_human_factors_and_ergonomics_system-of-systems/links/58194eb308ae1f34d24ac505/Longevity-in-a-sustainable-human-factors-and-ergonomics-system-of-systems.pdf
14.https://doi.org/10.1016/j.jeoa.2022.100421
15.https://doi.org/10.1016/j.ijheh.2017.08.004
16.https://www.weforum.org/agenda/2022/09/nature-improve-mental-health-well-being/
17.https://news.harvard.edu/gazette/story/2017/04/over-nearly-80-years-harvard-study-has-been-showing-how-to-live-a-healthy-and-happy-life/
18.https://www.huffingtonpost.co.uk/entry/aging-gracefully-portraits-of-centenarians-around-the-world_n_58b0b9ffe4b060480e0820cd? & & & -3Pu2FiX3roO44YumLE-U_g_kgBUboxSA8GUMdAKRfLrudZP58xY-u4CdV-gqFzq1qTRdX4OhXsIuVL42VhkqugA_ukZMfwEz0u9sVtAk52KJ98UeAq63JjF5YsgDpRghCx3S6yjqyNL4dG_6-PDNvZ1DCgo2P
19.https://www.theguardian.com/artanddesign/gallery/2012/mar/23/photography-older-people? %3Aimg-6

ขอบคุณภาพจาก

  • Freepik

Credits

Author

  • มนุษย์ต่างวัย

    Authorพื้นที่ถ่ายทอดเรื่องราวของสังคมสูงวัยในมุมที่สนุก สร้างสรรค์ และเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนทุกวัย

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ