คุณหมอนักปลูกผัก
เรื่องราวของวิสัญญีแพทย์หญิงวัย 60 ปี ผู้ไม่ชอบทานผัก แต่แล้ววันหนึ่งกลับได้ค้นพบชีวิตใหม่และความสุขจากการปลูกผักในสวนหลังบ้าน คุณหมอคนนี้ค้นพบอะไร การปลูกผักทำให้เธอมีความสุขแค่ไหน วิสัญญีแพทย์อย่างเธอมาปลูกผักเพราะอะไร
ขยับสายตาลงมาที่ย่อหน้า แล้วหาคำตอบทั้งหมดไปด้วยกัน
เมื่อคุณหมอขอปลูกผัก
ว่ากันแบบตรงไปตรงมาอาชีพหมอกับการปลูกผักเป็นสองสิ่งที่ดูอย่างไรก็ไม่น่าจะมาบรรจบกันได้ ไม่ได้มีกฎหมายข้อใดบัญญัติไว้ว่าคนเป็นหมอห้ามปลูกผัก หรือคนปลูกผักห้ามเป็นหมอ แต่ดูแล้วอย่างไรสองสิ่งนี้ก็ดูราวกับอยู่คนละโลกกันอยู่ดี
“ก็มีคนถามหรือว่าตั้งข้อสงสัยกันเยอะ ว่าเป็นหมอจะปลูกผักได้เหรอ จะมีเวลาเหรอ ปลูกผักแล้วผักจะงามไหม ผักจะเป็นผักหรือเปล่า เพราะเราไม่ได้เป็นเกษตรกรหรือทำไร่ทำสวนมาตั้งแต่เด็ก แต่เราก็คิดว่าถ้าเราจะทำมันต้องทำได้เหมือนตอนเด็กๆ เราก็เคยคิดว่าจะปั่นจักรยานจะขับรถได้ไหม สุดท้ายเราก็ทำได้ เคยคิดว่าไม่น่าจะว่ายน้ำได้ สุดท้ายเราก็ว่ายได้ ปลูกผักก็เป็นอะไรที่ไม่น่าจะต่างกันถ้าเราคิดว่าทำได้ยังไงก็ต้องทำได้”
แพทย์หญิงรังสิมา พิณเมืองงาม วิสัญญีแพทย์ 60 ปี กล่าวด้วยรอยยิ้ม ปัจจุบันคุณหมอผู้มีใบหน้าอ่อนเยาว์กว่าวัยผู้นี้ได้ทำหน้าที่เป็นอาจารย์หมอให้กับโรงพยาบาลหลายๆ แห่งในจังหวัดนครสวรรค์ สำหรับเธอสิ่งเดียวที่ยังทำไม่ได้ก็คือสิ่งที่ยังไม่ได้ทำ ด้วยเหตุนี้คุณหมอจึงคิดว่าหากต้องการจะลงมือปลูกผักจริงๆ แล้วก็จะต้องทำมันให้สำเร็จให้ได้
“เหตุผลที่เราต้องการหันมาปลูกผักก็คือการที่เราต้องการหากิจกรรมใหม่ ๆ ทำแทนการเล่นแบดมินตันซึ่งเรารู้สึกว่ามันเป็นกิจกรรมที่ไม่เหมาะกับเราแล้ว เนื่องจากเราเริ่มสูงวัยขึ้นแล้วบางทีมีคนเล่นเยอะทำให้กลับบ้านดึก พอดีเราเจอในเฟซบุ๊คเห็นเพื่อนเขาปลูกผักแล้วดูสวยน่าทาน ประกอบกับที่คุณหมอผู้ชายสามีของเราเขาเป็นคนชอบทานผัก แต่พอเขาไปทานผักนอกบ้านแล้วรู้สึกว่ามันไม่สะอาด มีสารปนเปื้อน บางวันทานแล้วท้องเสีย เราก็เลยคิดว่าไหนๆ เราก็ต้องการหากิจกรรมใหม่ทำอยู่พอดี แล้วคุณหมอผู้ชายก็จะได้ทานผักที่สดสะอาดที่บ้านด้วยเราก็เลยเริ่มหันมาปลูกผักอย่างจริงจัง”
แม้จะมีความเชื่อว่าตัวเองสามารถทำได้ หากแต่เมื่อเริ่มต้นลงมือจริงๆ เส้นทางการเป็นนักปลูกผักของคุณหมอก็ไม่ใช่ว่าจะง่ายนัก เมื่อผลผลิตที่ออกมาไม่ได้สวยงามอย่างที่คิด แถมยังหยุดการเจริญเติบโตเร็วกว่าที่ควรจะเป็น หรือที่สุดแล้วในวัยใกล้เกษียณปลดระวางจากการทำงาน เธอควรเอาเวลาไปทำอย่างอื่นมากกว่าจะมาเสียเวลานั่งปลูกผัก
“ผักดูไม่เป็นผักเลย มันงอกแต่ไม่งาม แล้วก็แคระแกร็น โตได้สักพักก็หยุด เนื่องจากรากเดินไม่สะดวกและอาหารในดินไม่เพียงพอสุดท้ายเราก็มานั่งทบทวนตัวเองว่าอะไรที่เรายังทำได้ไม่ดีและเป็นเพราะอะไร ถึงได้เป็นแบบนี้”
วิสัญญีแพทย์ผู้มีรอยยิ้มอยู่ตลอดเวลา กลับมาทบทวนตัวเองก่อนจะพบว่าสาเหตุหลักที่ยังทำให้เธอไม่ประสบความสำเร็จในการปลูกผักก็คือเธอมีความรู้น้อยเกินไป เมื่อคิดได้ดังนั้นจึงเดินหน้าติดอาวุธทางปัญญาในโลกของการปลูกผักให้ตัวเอง
คุณหมอรังสิมาเริ่มต้นทุกอย่างใหม่หมด มันเป็นการยอมถอยหลังหนึ่งก้าวเพื่อจะเดินไปข้างหน้าอีกหลายกิโลเมตร
สูตรปลูกผัก = ความรู้ ความรัก ความเข้าใจ
หลังจากรู้ว่าตัวเองยังมีความรู้น้อยเกินไป แพทย์หญิงรังสิมาจึงหาความรู้เพิ่มเติมโดยการเข้าไปในอินเตอร์เน็ต ก่อนจะเข้าไปเป็นสมาชิกกลุ่ม ‘เมื่อคนเมืองอยากปลูกผัก’ ซึ่งเต็มไปด้วยผู้คนที่ปลูกผักในสถานที่พักอาศัยต่างๆ มากมายไม่ว่าจะเป็นบ้าน คอนโดมิเนียม อพาร์ทเม้นท์ หอพัก ริมระเบียง นอกจากนั้นยังมีคนที่มาให้และแลกเปลี่ยนความรู้เกี่ยวกับการปลูกผักมากมายเต็มไปหมด
“ด้วยความที่ไม่มีความรู้ เราเลยคิดแบบง่ายๆ ว่าแค่ซื้อดินถุงทั่วไปตามร้านมาใส่ปลูกผักก็จบ แต่พอเรามีความรู้แล้วจะรู้เลยว่าสารอาหารในดินมันไม่เพียงพอ พออาหารไม่พอ รากก็ไม่เดิน ผลผลิตก็ไม่โต พอรู้อย่างนี้เราก็ทำการปรุงดินปรับคุณภาพดินโดยการใช้มูลสัตว์ หลัก ๆ ก็คือขี้วัว พอคุณภาพดินดีสารอาหารในดินครบถ้วน ทีนี้ปลูกอะไรก็ขึ้น ซึ่งเราจะให้ความสำคัญกับดินมากทั้งขั้นตอนการเตรียมดิน ปรุงดิน หมักดิน”
หลังจากใช้เวลาร่วม 3 เดือนไปกับการปลูกผักโดยขาดความรู้ความเข้าใจ กระทั่งได้ความรู้วิชาการปลูกผักเข้าไปใหม่ในที่สุดผลผลิตชุดแรกก็ออกดอกออกผลอย่างงดงาม
“ผักชุดแรกที่เราได้ผลผลิตแบบรู้สึกว่ามันเป็นผักจริงๆ ก็คือคะน้าที่เราปลูกในกระถาง มันทั้งใหญ่ ทั้งอวบ ความรู้สึกของเราทั้งดีใจแล้วก็ภูมิใจในตัวเองมากๆ ว่าในที่สุดเราก็ทำได้เหมือนกัน จำได้ว่าวันนั้นเรานำมาทำเป็นผัดคะน้าน้ำมันหอยให้คุณหมอผู้ชายทานตอนเย็น”
ภายหลังจากผลผลิตชุดแรกคลอดออกมา ประกอบกับได้โอกาสเพิ่มเติมและแลกเปลี่ยนความรู้กับผู้คนในกลุ่มปลูกผักมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้คุณหมอเริ่มที่จะหลงรักการปลูกผักมากขึ้น จากที่ปลูกในกระถางก็เริ่มออกแบบ และสร้างสวนผักของตัวเอง จากผักกินใบอย่างคะน้า ก็เริ่มมีผักกินผลอย่างมะเขือเทศ แตงกวา มะนาว ฯลฯ ไปจนถึงผักกินหัวอย่างหัวไชเท้า แครอท มันม่วง โดยในปัจจุบันแปลงผักของคุณหมอมีผักทั้งหมดรวมกว่า 20 ชนิดด้วยกัน
“ทุกวันนี้เวลาตื่นขึ้นมาตอนเช้า เราจะมาที่แปลงผัก มารดน้ำ มาดูแลเขาเล็กๆ น้อยๆ บำรุงเขาด้วยปุ๋ยอินทรีย์ที่เราทำไว้เองบ้าง เพาะต้นอ่อนบ้าง ย้ายต้นกล้าบ้าง ตัดแต่งกิ่งบ้าง ถ้าวันไหนไม่มีงานเราก็จะอยู่กับเขาถึงเกือบเที่ยง จากนั้นก็เข้ามาทานอาหาร พักผ่อน เย็นเราก็จะออกไปดูแลเขาอีกที ใช้น้ำส้มควันไม้ไล่แมลงบ้าง พรวนดินบ้าง จนถึง 1 ทุ่มเศษ เราถึงค่อยกลับเข้าบ้าน ทานข้าว และเข้านอน ชีวิตเราตอนนี้หากมีเวลาเราก็จะอยู่ที่แปลงผักตลอด คอยดูแลเขา คือมันเป็นกิจกรรมที่เราหลงรัก แล้วก็รู้สึกมีความสุขมากๆ ที่ได้ทำ มันไม่ใช่แค่เรื่องของความอิ่มท้อง แต่ยังเป็นเรื่องของความอิ่มใจด้วย”
เมื่อมีองค์ความรู้ รวมทั้งเติมความรักความเอาใจใส่เข้าไปแล้ว คุณหมอแนะนำว่าปัจจัยที่จะปลูกผักหรือพืชผลใดก็แล้วแต่ให้ได้ดีผู้ปลูกควรจะมีความเข้าใจในผักแต่ละชนิดด้วย
“ผักแต่ละชนิดก็เหมือนคน มีความชอบ มีความต้องการไม่เหมือนกัน เพราะฉะนั้นถ้าเราจะปลูกอะไร เราควรรู้นิสัยและมีความเข้าใจในผักที่เราจะปลูกด้วย เช่น ผักชนิดนี้ชอบน้ำมากหรือน้ำน้อย เขาต้องการแสงแดดมากแค่ไหน หรือเขามีลักษณะพิเศษอื่นๆ อย่างไรอีก คือถ้าเราเข้าใจเขา เขาก็จะตอบแทนเราด้วยผลผลิตที่ดี”
สูตรปลูกผักด้วยความรู้ ความรัก ความเข้าใจ ทำเอาผักของหมอรังสิมาเขียวอวบและงอกงามไปทั้งสวน สำหรับหมอคนหนึ่งที่วันๆ เคยชินกับการวางยาสลบและการผ่าตัด มันไม่น่าเชื่อเลยว่าชีวิตของเธอจะมาปลูกผักได้งามขนาดนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อนึกไปถึงวัยเด็กที่เป็นคนไม่ชอบผักเลยแม้แต่นิดเดียว
เด็กหญิงไม่กินผัก
หากย้อนเวลากลับไปในวัยเด็ก คุณหมอรังสิมาเป็นคนที่ไม่ชอบกินผักเอาเสียเลย
ทุกๆ ครั้งเมื่อไปร้านก๋วยเตี๋ยวหรือทานอาหารนอกบ้าน ไม่ว่าจะสั่งเมนูอะไรก็แล้วแต่ต้องมีคำพูดเน้นย้ำอยู่เสมอว่า “ไม่เอาผัก” หากคนทำอาหารเผลอใส่ผักมาให้ เด็กหญิงรังสิมาก็จะเขี่ยทิ้งไว้ข้างจาน
“เราเป็นคนไม่ชอบทานผักมาตั้งแต่เด็ก ไม่สนใจผักเลย ขนาดหอมกระเทียมยังเรียกผิดเรียกถูก ทุกครั้งที่สั่งก๋วยเตี๋ยวหรืออาหารเราจะบอกพ่อค้าแม่ค้าตลอดว่าไม่เอาผัก ถ้าเขาเผลอใส่ผักชี ต้นหอมก็ยังพอไหว แต่ถ้าใส่ผักบุ้ง ถั่วงอก หรือผักชิ้นใหญ่ เราจะไม่ทานเลย เราชอบทานนม ทานข้าว ทานอาหารได้ทุกอย่าง แต่ไม่ทานผักเลย ซึ่งเป็นการปลูกฝังนิสัยที่ไม่ดีให้กับตัวเองมากๆ”
สาเหตุในการเป็นมนุษย์ไม่กินผักของเด็กหญิงรังสิมา ไม่ต่างจากเด็กทั่วไปที่รู้สึกว่าผักมีรสขม ไม่อร่อย รวมทั้งผักบางชนิดก็ติดกลิ่นยาฆ่าแมลงและสารเคมี คุณหมอใช้ชีวิตวัยเด็กจนเติบโตเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัยมาด้วยการเป็นคนไม่กินผัก ก่อนจะมีอันต้องฝึกปรับตัวเองเสียใหม่ เนื่องจากในตอนปี 1 น้ำหนักตัวของเธอขึ้นรวดเดียว 7 กิโลกรัม ทั้งๆ ที่เป็นนักกีฬาของมหาวิทยาลัย
“เราเป็นนักกีฬาแบดมินตัน ช่วงนั้นซ้อมหนักมาก ซึ่งก็เป็นเพราะเราทานอาหารดึก และสิ่งที่เราทานเข้าไปไม่มีผักเลย น้ำหนักก็ขึ้นรวดเดียว 7 กิโล มันส่งผลต่อการแข่งขันทำให้เราเคลื่อนไหวช้า เสียแต้มบางแต้มทั้งๆ ที่ควรจะได้ เราก็เลยหาวิธีควบคุมน้ำหนักด้วยการหันมาทานผัก โดยเริ่มจากพวกผักทานใบอย่างคะน้า ซึ่งก็ทำให้เราพอจะเป็นคนที่ทานผักได้บ้าง ไม่เหมือนวัยเด็กที่ทานไม่ได้เลย”
ลักษณะนิสัยดังกล่าวของคุณหมอตรงข้ามกันกับคุณหมอผู้ชายซึ่งเป็นคู่ชีวิตราวกับมาจากคนละโลก ซึ่งการเป็นคนชอบกินผักของสามีนี่เองคือหนึ่งในเหตุผลสำคัญที่ทำให้หมอรังสิมาหันมาเป็นนักปลูกผักมือฉมัง
“เรามีความสุขและชื่นใจทุกครั้งเวลาได้เห็นคุณหมอผู้ชายเขาเคี้ยวผักกรอบๆ ที่เราปลูก ได้เห็นเขาทานผักอย่างเอร็ดอร่อย เพียงเท่านี้เราก็หายเหนื่อยและอิ่มใจมากๆ แล้ว”
จะว่าไปไม่ใช่แค่คู่ชีวิตหรอกที่ได้กินผักที่มาจากฝีมือของคุณหมอนักปลูกผักวัย 60 ปี หากแต่ยังหมายรวมไปถึงบุคลากรทางการแพทย์ ผู้เป็นเพื่อนร่วมงานและคนที่รู้จักมักคุ้นกับเธอแทบทุกคนอีกด้วย
ตู้เย็นยักษ์
ความสำเร็จในการเป็นนักปลูกผักของคุณหมอรังสิมา ไม่ได้วัดค่าจากการมีผลผลิตจำนวนมากหรือมีแปลงผักที่สวยงาม หากแต่เป็นเพราะเธอได้รับสองสิ่งจากการปลูกผัก
หนึ่งคือความสุข อีกหนึ่งคือการมีแหล่งอาหารเป็นของตนเอง ซึ่งคุณหมอเปรียบเปรยผักในแปลงของเธอไว้ว่าเป็นตู้เย็นขนาดยักษ์
“จุดมุ่งหมายของเราในการปลูกผักก็คือการปลูกไว้เพื่อรับประทาน เราไม่ได้มุ่งเน้นที่จะปลูกไว้เพื่อขาย ไม่ได้ต้องการผลผลิตเยอะๆ เราคิดแค่ว่าถ้าอยากทานอะไรเราก็ปลูกสิ่งนั้น ซึ่งเราก็ดีใจที่เราสามารถผลิตอาหารไว้เป็นของเราเองได้เหมือนกับเรามีตู้เย็นขนาดใหญ่
“เวลาที่เราเปิดตู้เย็นเราคาดหวังที่จะเจอกับอาหาร แปลงผักซึ่งมีผักอยู่มากมายหลายชนิดของเราเทียบกันแล้วมันก็เหมือนกับเรามีตู้เย็นยักษ์อยู่ในบ้านเรา แถมเป็นตู้เย็นที่ไม่กินไฟ ไม่ต้องเสียบปลั๊ก บางคนที่เคยมาเยี่ยมแปลงผักเขาก็บอกว่าเหมือนเรามีซุปเปอร์มาร์เก็ตอยู่หลังบ้าน”
มิเพียงแต่มีตู้เย็นยักษ์เป็นของตัวเอง แต่บ่อยครั้งคุณหมอยังแบ่งปันอาหารในตู้เย็นให้กับคนอื่นๆ อีกทั้งยังเป็นแรงบันดาลใจให้คนรอบตัวลุกขึ้นมาปลูกผักด้วยตัวเอง
“อาจารย์จะเอาผักที่ท่านปลูกมาให้เราบ่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นคะน้า แตงกวา ถั่วฝักยาว ฯลฯ ผักของอาจารย์นอกจากจะปลอดภัยไม่มีสารพิษแล้วยังรสชาติดี กรอบ สด ซึ่งพอเราเห็นอาจารย์ปลูกผัก เราก็ลองปลูกตามบ้าง อาจารย์ก็ช่วยแนะนำทุกอย่างโดยเฉพาะเรื่องของเตรียมและปรับปรุงดิน
“การที่เราหันมาปลูกผักตามอาจารย์ทำให้เรารู้สึกมีความสุขมาก แม้ว่าผักของเราจะยังไม่สวยเท่ากับของอาจารย์ก็ตาม” วิไลพร กรีฑาเวช พนักงานช่วยเหลือผู้ป่วยประจำห้องผ่าตัด โรงพยาบาลรวมแพทย์ นครสวรรค์ หนึ่งในบุคลากรทางการแพทย์ซึ่งเป็นผู้ร่วมงานของแพทย์หญิงรังสิมากล่าวพร้อมกับเสียงหัวเราะ
แม้จะเป็นแบบอย่างและแรงบันดาลใจให้กับคนรอบข้างลุกขึ้นมาทำอะไรอย่างที่ชีวิตไม่เคยทำ หากแต่ในโลกของการปลูกผัก คุณหมอกลับไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองเป็นนักปลูกผักที่เก่งกาจอะไรนัก ตรงกันข้ามกลับรู้สึกว่าตัวเองยังต้องเรียนรู้อะไรอีกหลายสิ่งหลายอย่างหากเทียบกับอีกหลายๆ คน
“เราเป็นแค่คนที่ปลูกผักได้แต่ไม่ถึงกับเก่ง คือเราแค่ปลูกกินได้ พอแนะนำคนอื่นๆ ได้บ้างนิดหน่อย แต่จะให้เป็นอาจารย์ในด้านนี้หรือให้เปิดแปลงผักของเราเป็นศูนย์เรียนรู้เหมือนกับคนที่เขาเก่งมากๆ เรายังห่างไกล
“ถ้าเปรียบการปลูกผักเป็นโลกการศึกษา เราคงเพิ่งขึ้นชั้นมัธยมเอง ยังมีอะไรที่เราต้องเรียนรู้อีกหลายอย่าง แต่ถ้าถามว่าถึงวันนี้เราพอใจไหมกับการปลูกผัก ก็ตอบตัวเองได้อย่างภาคภูมิใจเลยว่าเราพอใจมาก แค่เราได้มีกิจกรรมดีๆ ทำ ได้แบ่งปันสิ่งที่ทำให้คนรอบข้าง ได้ผลิตอาหารเป็นของตัวเอง ได้เห็นคนที่เรารักมีความสุข
“นี่คือสิ่งที่การปลูกผักมอบให้เรา และเราก็ไม่ได้ต้องการอะไรมากไปกว่านี้แล้ว”