คุณเคยลองนึกภาพวาระสุดท้ายของชีวิตตัวเองไหม ภาพที่ต้องนอนเปื่อยเป็นผักบนเตียงคนไข้
นับถอยหลังถึงเวลาในชีวิตที่กำลังจะหมดไป ข้างเตียงรายล้อมไปด้วยครอบครัว
ญาติจากทุกสารทิศมาล้อมวงราวกับมีปาร์ตี้สังสรรค์
หากขาดก็แต่รอยยิ้มบนใบหน้า มีเพียงความโศกเศร้า
และบทสนทนาที่หาข้อตกลงไม่ได้ว่าจะทำอย่างไรกับร่างกายของคุณ
ร่างกายที่ยังคงนอนแน่นิ่ง และไม่สามารถตอบโต้อะไรได้
วาดภาพความตาย
หากความตายของคุณไม่ได้มาในรูปแบบของอุบัติเหตุ ก็เป็นไปได้สูงมากที่คุณจะได้เจอกับสภาวะของการป่วยระยะสุดท้าย (Terminally ill หรือความเจ็บป่วยที่รักษาไม่หายและไม่สามารถมีชีวิตอยู่ได้นานเกินกว่า 6 เดือน) หรือแม้กระทั่งตกอยู่ในภาวะกลายเป็นผัก (Vegetative State ที่สมองส่วนที่ควบคุมความคิดและบุคลิกภาพได้รับความเสียหาย) จนทำให้คุณไม่สามารถตอบสนองต่อสิ่งเร้าหรือสภาพแวดล้อมรอบๆ ตัว นั่นหมายถึงการอยู่ในภาวะไร้ความสามารถ การที่คุณจะกระเด้งขึ้นมาจากเตียงเพื่อมาแก้ปัญหาในบทสนทนาของครอบครัวที่ว่าจะทำอย่างไรกับชีวิตและร่างกายของคุณ ก็คงเป็นไปไม่ได้
อาจจะดูแปลก ที่จะมานั่งคิดถึงภาพในอนาคตที่ยังไม่เกิดขึ้น และเชื่อว่าก็ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น แต่ก็ไม่มีใครสามารถบอกได้หรอกว่าความตายของเราจะเดินทางมาถึงวันไหน อาจจะดีกว่าหากเราจะระลึกเอาไว้ว่าความตายอยู่ใกล้แค่เอื้อมและสักวันมันต้องเกิดขึ้นกับเราอย่างแน่นอน
“คนเราก็รู้อยู่แล้วว่าต้องมีการเกิด แก่ เจ็บ ตาย ในศาสนาพุทธมีอยู่เรื่องหนึ่งที่พระพุทธเจ้าเจอผู้หญิงคนหนึ่งกำลังร้องห่มร้องไห้ที่ลูกเสียชีวิต พระพุทธเจ้าจึงใช้อุบายให้ไปหาเมล็ดผักกาดของบ้านที่ไม่เคยมีคนเสียชีวิตมาปลูก และผลปรากฏว่าทุกบ้านมีเมล็ดพันธุ์ผักกาด แต่ไม่มีบ้านใดเลยที่ไม่เคยมีคนตาย”
เรื่องเล่าและประโยคสุดคลาสสิคจาก ผศ.พ.ต.หญิง ดร.พนมพร พุ่มจันทร์ อาจารย์สาขาจิตวิทยาคลินิก ภาควิชาจิตวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และผู้อำนวยการสมาคมสะมาริตันส์แห่งประเทศไทยเล่าถึงเหตุการณ์ที่แสดงให้เห็นว่าความตายเป็นเรื่องปกติธรรมดาของชีวิต แต่นั่นไม่ได้หมายถึงให้ใช้ชีวิตไปวันๆ เพื่อรอความตาย แต่เป็นการย้ำเตือนให้กลับมาทบทวนในตอนที่มีชีวิตอยู่ว่าเราอยู่ในที่เหมาะที่ควรแล้วหรือยัง ดูแลคนที่รักดีแล้วหรือยัง รวมถึงวางแผนรับมือกับความตายแล้วหรือยัง
“ความตายไม่ได้ใกล้แค่เอื้อมเฉพาะผู้สูงวัยนะ มันเกิดอย่างกะทันหันได้หมด ไม่ว่าจะเป็นวัยไหนก็มีความเสี่ยงที่ทำให้จากโลกนี้ไปได้ทั้งนั้น”
อาจารย์พนมพรพูดถึงวัยที่ไม่ได้เป็นตัวกำหนดว่าใครจะจากโลกนี้ไปก่อนหรือหลัง อย่างสำนวนที่มักจะเจอได้ตามร่มไม้ภายในวัดที่ว่า โลงศพไม่ได้มีไว้ใส่คนแก่ แต่มีไว้ใส่คนตาย เพราะความตายเป็นเรื่องของทุกคน
ไม่ว่าจะเร็วหรือช้า ‘ความตาย’ จะต้องเดินทางมาถึง ขึ้นอยู่กับว่าจะมาในรูปแบบไหนและร้อยทั้งร้อยทุกคนก็อยากจะเลือกจากโลกนี้ไปอย่างสงบ โดยไม่ต้องเผชิญกับความทรมานใดใด
จะดีแค่ไหนกันถ้าเราได้มีโอกาสใคร่ครวญความตายอย่างใกล้ชิดและสามารถวางแผนรับมือกับมันได้
สมุดเบาใจ
ความสุขสบายกายที่ฉันต้องการ
ทำเครื่องหมายถูก หน้าข้อความที่ท่านต้องการ
◌ ฉันต้องการรักษาตัวที่ __________
◌ ฉันต้องการห้องพักที่เห็นหน้าต่าง เห็นท้องฟ้าและทิวทัศน์สีเขียว
◌ ฉันต้องการการดูแลเพื่อบรรเทาความทุกข์ ทรมานจากความเจ็บปวด และความไม่สุขสบายต่างๆ
◌ ฉันต้องการกินอาหารทางปาก มิใช่ด้วยสายยางให้อาหาร
นี่เป็นส่วนหนึ่งของข้อความที่อยู่ใน ‘สมุดเบาใจ’ สมุดเล่มบางที่จัดทำขึ้นโดยโครงการความตายพูดได้ ของมูลนิธิเครือข่ายพุทธิกา เพื่อให้บุคคลทั่วไปได้บอกถึงความต้องการในการจัดการความเจ็บป่วย ตลอดจนร่างกายของตนเมื่อวาระสุดท้ายมาถึง สมุดเล่มนี้เปิดโอกาสให้เราได้แสดงเจตจำนงล่วงหน้า ในรูปแบบของการทำ ‘พินัยกรรมชีวิต (Living Will)’
“ร่างกายจะเริ่มไม่ใช่ของเราเมื่อต้องมีคนอื่นมาช่วยดูแล”
อาจารย์พนมพรเล่าว่าเมื่อก่อนเราอาจจะอาบน้ำ โดยไม่ต้องการให้คนมาช่วยเหลือ แต่เมื่อป่วยหรือสูงวัยมากขึ้น ทุกอย่างเปลี่ยนไป อาบน้ำด้วยตัวเองไม่ได้ ต้องมีคนช่วยอาบ ช่วยพยุง เมื่อถึงเวลานั้นก็เรียกได้ว่าร่างกายเริ่มไม่ใช่ของเราเข้าไปทุกที พอมาถึงวันที่เราอาการหนัก อยู่ในภาวะกลายเป็นผัก การตัดสินใจในชีวิตของเราก็อาจจะไม่ใช่ของเรา อำนาจเหล่านั้นก็ต้องเป็นของลูกหลาน ครอบครัว ซึ่งเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องที่อ่อนไหวและพูดยาก การทำพินัยกรรมชีวิตจึงเป็นการตัดสินใจที่ทิ้งไว้ให้ลูกหลานได้ทำตามความต้องการของเรา เสมือนให้เราเป็นคนหยิบปากกามาวาดภาพสุดท้ายของชีวิตด้วยตัวเราเอง
พินัยกรรมชีวิตเป็นเอกสารทางกฎหมาย ตามมาตรา 12 ของพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 ว่าด้วยสิทธิที่บุคคลจะพึงมีในการทำหนังสือแสดงเจตนารมณ์ที่จะปฏิเสธบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพียงเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิตตน หรือเพื่อยุติการทรมานจากการรักษาพยาบาล นั่นหมายถึงการให้คุณเป็นคนตัดสินใจไม่ขอรับการยื้อชีวิตด้วยมือคุณเอง โดยไม่ต้องให้ลูกหลานรู้สึกผิด
“สมุดเบาใจก็คือพินัยกรรมชีวิตที่ทำออกมาในรูปแบบเพื่อให้เข้าใจง่าย และไม่ทำให้เห็นว่าความตายมันน่ากลัว ทำเสร็จก็เหมือนว่าชีวิตนี้เราสามารถทิ้งทุกอย่างไว้ได้แล้ว”
การจัดการร่างกายและงานศพ
ฉันต้องการให้งานศพของฉัน (ทำเครื่องหมายถูก ได้หลายข้อ)
◌ ประหยัด ไม่สิ้นเปลือง
◌ เรียบง่าย ได้ปัญญา
◌ เป็นงานรวมญาติ สมัครสมานสามัคคี
ระบุความต้องการอื่นๆ เกี่ยวกับงานศพฉัน
(เช่น ของที่ระลึกงานศพ การจัดการเงินบริจาค เป็นต้น)
นี่เป็นอีกหนึ่งข้อความในสมุดเบาใจที่ขอให้คุณตอบ
หากเป็นคุณ จะตอบคำถามเหล่านี้อย่างไร
พินัยกรรมฉบับนี้จะบอกทุกความต้องการ ทุกการตัดสินใจ ตั้งแต่การดูแลร่างกายในยามป่วยไข้ระยะสุดท้าย ไปจนถึงการจัดการร่างกายในยามที่กลายสภาพเหลือเป็นเพียงสสารที่รอวันย่อยสลาย
“เมื่อทำสมุดเบาใจเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็สามารถนำให้กับครอบครัวของเรา และคุณหมอที่เราเข้ารับการรักษาเป็นประจำ”
อาจารย์พนมพรให้ข้อมูลเกี่ยวกับการทำสมุดเบาใจเสร็จเรียบร้อยจำเป็นต้องส่งต่อให้ครอบครัว หรือบุคคลใกล้ชิดเพื่อทราบถึงเจตนารมณ์
สมุดเบาใจจำเป็นต้องมีการลงลายมือชื่อพยานเพื่อยืนยันว่าทุกปลายปากกาที่จดแสดงความต้องการลงไปนั้นเป็นจริง และต้องมีผู้แทนการตัดสินใจด้านสุขภาพ 2 คน ในวันที่ตัวเราเองไม่สามารถตัดสินใจเองได้แล้วก็จะต้องมอบหมายให้สิทธิทุกอย่างเป็นของผู้แทนการตัดสินใจ
เมื่อทำสมุดเบาใจเสร็จเรียบร้อยแล้ว ขั้นตอนคือการตรวจสอบความเรียบร้อยความถูกต้องเกี่ยวกับการกำกับลงลายเซ็น ในส่วนนี้สามารถปรึกษาแพทย์ประจำตัวหรือทนายความเกี่ยวกับสิทธิได้ อีกหนึ่งสิ่งสำคัญก็คือต้องทำให้ผู้อื่นรับรู้ได้ด้วยว่าเราทำสมุดเบาใจไว้เรียบร้อยแล้ว เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ในการทำ โดยการพูดคุยถึงความต้องการที่ได้เขียนลงในสมุดเบาใจให้กับคนใกล้ชิด ครอบครัว แพทย์ประจำตัว และผู้แทนการตัดสินใจ พร้อมเก็บสมุดเบาใจในพื้นที่ที่หาเจอง่าย ทำสำเนามอบให้กับคนใกล้ชิด และถ่ายสำเนาสมุดเบาใจหน้าที่บอกถึงความต้องการเมื่อเข้าสู่วิกฤตช่วงสุดท้ายของชีวิตสอดไว้กับแฟ้มประวัติของโรงพยาบาลที่รักษาตัวอยู่ และตัดบัตรส่วนที่ในสมุดเบาใจให้ตัดเพื่อทำเป็นบัตรประจำตัวพกใส่กระเป๋าสตางค์ บัตรนี้จะทำหน้าที่สื่อสารกับหน่วยแพทย์ในกรณีที่ท่านเข้าสู่ภาวะวิกฤตและใกล้ชิดกับความตายมากที่สุด
การใคร่ครวญถึงความตายของตัวเองอาจจะไม่ใช่เรื่องง่ายนัก แต่การเอ่ยปากบอกเรื่องการวางแผนความตายให้คนรอบข้างหรือคนในครอบครัวได้รู้อาจจะเป็นเรื่องยากยิ่งกว่า เพราะยังมีความเชื่ออบอวลในสังคมว่า เรื่องเหล่านี้คือเรืองอัปมงคล ขืนเล่าไปอาจจะโดนด่าเปิงหาทางกลับไม่ถูกเสียเลยทีเดียว
ความตาย=อัปมงคล
“พ่อกับแม่เคยคิดไหมว่าอยากจัดงานศพแบบไหน”
“ใครเขาให้พูดเรื่องแบบนี้ มันไม่ดี มันเหมือนแช่ง ห้ามพูดเลยนะ”
พร้อมรีบกุลีกุจอยกมือไหว้ขอให้เรื่องที่พูดเมื่อสักครู่นี้อย่าได้เกิดขึ้นเลย
บทสนทนาภายในครอบครัวหนึ่งทำให้ฉุกคิดได้ว่าไม่ใช่ทุกครอบครัวที่สามารถพูดเรื่องการวางแผนความตายได้อย่างเต็มปาก แถมยังเป็นเรื่องอัปมงคลที่ไม่ควรพูดคำว่าตายให้ดังขึ้นภายในบ้านเลย เพราะกลัวว่าจะเป็นการแช่งให้เรื่องนี้เป็นจริงขึ้นมา ตรงกันข้ามกับครอบครัวหนึ่งที่มาเดินเยี่ยมชมพื้นที่สีเขียวโอบล้อมไปด้วยภูเขา และมีแอ่งน้ำเล็กๆ อยู่ข้างกัน มองเผินๆ อาจจะคิดว่าครอบครัวนี้มาเที่ยวชมวิวกันปกติ แต่ใครจะรู้ว่าครอบครัวนี้มาเดินดูที่ทางที่จะสร้างหลุมฝังศพหรือฮวงซุ้ยของตนเอง
“ไม่มีใครเคยกำหนดว่าไม่ให้พูดเรื่องความตาย ที่แต่ละครอบครัวพูดได้บ้าง พูดไม่ได้บ้าง ก็เพราะการเติบโตมาแตกต่างกันในเรื่องวัฒนธรรม การเรียนรู้ภายในครอบครัวที่แตกต่างกัน บางบ้านไม่สามารถทำสมุดเบาใจได้ก็ไม่ใช่เรื่องผิดอะไร บางบ้านเขียนได้ ทำได้ แถมยังบอกว่ามีประโยชน์ดีเสียด้วย”
อาจารย์พนมพรเล่าถึงครอบครัวหนึ่งที่หลานพายายมาทำพินัยกรรมชีวิตไว้ ซึ่งเป็นความสบายใจของทั้งสองฝ่าย ยายจะไม่ต้องมีความกังวลห่วงความรู้สึกของหลาน ส่วนหลานจะได้ไม่รู้สึกผิดในการตัดสินใจอะไรต่อหลังจากนี้ เพราะเรื่องของการยื้อชีวิตมันไม่ได้ส่งผลความเจ็บปวดต่อแค่กับผู้ป่วยเท่านั้น คนที่ยังเหลืออยู่ต้องทนเห็นภาพคนที่รักเจ็บปวดอาจเป็นเรื่องที่ปวดใจไม่แพ้กัน
“บางคนบอกอย่าไปพูดเลยความตายมันไม่ดี อัปมงคล แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าไม่ได้พูดแล้วจะไม่เกิดปรากฏการณ์นี้ขึ้น ฉะนั้นหากเปลี่ยนมาพูดคุยกันอย่างจริงจัง ตั้งหลักกันดีดีค่อยๆ คุยกันถึงเรื่องการวางแผนความตาย แล้วกลับมาใช้ชีวิตในปัจจุบันให้ดีที่สุด มันน่าจะดีกว่า”
เรื่องที่ต้องใส่ใจคือเรื่องความรู้สึก
การกลัวความตายไม่ใช่เรื่องผิดแปลก ทุกคนล้วนกลัวตาย กลัวว่ายังไม่ได้ทำอย่างที่ฝัน ยังไม่ได้ทำทุกวันให้เต็มที่ ยังไม่ได้ทำให้คนที่บ้านสบาย ยังไม่ได้ดูแลพ่อกับแม่ แต่ ณ วันนี้ ตรงนี้เรายังมีชีวิตอยู่ ยังมีความรู้สึกรัก ความห่วงใย ยังสามารถสื่อสารความรู้สึกเหล่านี้ผ่านการพูดคุย กอด สัมผัส ก็จงทำให้ทุกวินาทีของชีวิตเป็นเวลาที่มีค่า เมื่อเรามองย้อนกลับมาก็จะไม่เสียใจกับมันแม้แต่วินาทีเดียว
การทำพินัยกรรมชีวิตจะตอบโจทย์ความต้องการ การเตรียมตัวตายของชีวิตมากน้อยแค่ไหนขึ้นอยู่กับตัวเราเอง และครอบครัวที่ยังต้องมีภาระหน้าที่ดูแลกันและกันจนหมดลมหายใจ สิ่งสำคัญที่สุดในสมุดเบาใจคงเป็นการแสดงความต้องการในช่วงวาระสุดท้ายของชีวิต ได้จับปากกามาวาดภาพระบายสีช่วงสุดท้ายของตนเอง ตลอดจนถึงการเลือกขั้นตอนรักษาพยาบาลที่ฝากฝังไว้ เพื่อไม่ให้ทิ้งรอยบาดแผลในจิตใจให้กับครอบครัว
งานเสริมของสมุดเบาใจที่สำคัญไม่แพ้กันคือการ ส่งต่อความรู้สึก ที่สามารถบอกได้ว่าคุณรู้สึกอย่างไรกับคนที่คุณรักในวาระสุดท้ายของชีวิต
สุดท้ายแล้ว หากวันพรุ่งนี้คุณตาย คุณอยากให้คนใกล้ชิดของคุณรู้ว่า…
◌ ฉันรักพวกเขา
◌ ฉันขอโทษ ขออโหสิกรรม และให้อภัยในความผิดพลาดของฉันด้วย
และ
◌ ฉันต้องการให้คนในครอบครัวจดจำภาพฉันเมื่อครั้งแข็งแรงและมีความสุข หรือไม่ก็จดจำภาพของฉันในแง่มุมที่ดีตลอดไป
ข้อคำถามในสมุดเบาใจในหน้าท้ายที่อาจทำให้คุณฉุกคิดได้ว่าทุกวันนี้คุณพร้อมแล้วหรือยังกับการเผชิญความตาย
ขอขอบคุณ : ผศ.พ.ต.หญิง ดร.พนมพร พุ่มจันทร์ อาจารย์สาขาจิตวิทยาคลินิก ภาควิชาจิตวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และผู้อำนวยการสมาคมสะมาริตันส์แห่งประเทศไทย
ขอขอบคุณข้อมูลเพิ่มเติมจาก https://peacefuldeath.co และมูลนิธิเครือข่ายพุทธิกา