จากผู้บริหารฝ่ายข่าวสู่ ‘แม่ค้า’ คุยกับ ‘หน่อง’ สุดารัตน์ สุขแสงรัตน์ เรื่องการตกงานและการเริ่มต้นอาชีพใหม่ในวัยใกล้ 50

มนุษย์ต่างวัย ชวนอ่านบทสัมภาษณ์ ‘คุณหน่อง’ สุดารัตน์ สุขแสงรัตน์ อดีตผู้ช่วยบรรณาธิการบริหารฝ่ายข่าวสำนักข่าวชื่อดังแห่งหนึ่ง กับมุมมองการเปลี่ยนวิกฤตในชีวิตเป็นโอกาส จากนักข่าวไฟแรงที่ต้องตกงานในวัย 48 ปี สู่การเป็นแม่ค้าที่เปิดร้านอาหารเล็กๆ เป็นของตัวเอง ก้าวผ่านวันที่ล้มแล้วลุกขึ้นมาสู้ต่อ เพราะมีครอบครัวเป็นกำลังใจที่สำคัญ

ความรู้สึกเมื่อต้องตกงานในวัยใกล้ 50

“เราทำงานด้านสื่อสารมวลชนมาเกือบ 30 ปี เริ่มต้นชีวิตการทำงานด้วยการเป็นผู้สื่อข่าววิทยุที่ต้องคอยรายงานข่าวแบบเรียลไทม์ ทำงานเป็นครีเอทีฟ ทำงานเป็นโปรดิวเซอร์ผลิตรายการโทรทัศน์ จนสุดท้ายผันตัวเองไปเป็นผู้ช่วยบรรณาธิการบริหารฝ่ายข่าว จากประสบการณ์ทำให้มองเห็นสถานการณ์ของสื่อในตอนนั้นว่าความมั่นคงไม่มีอยู่จริง กระทั่งเริ่มมีสัญญาณเตือนว่าอาจจะต้องตกงานเพราะวิกฤตสื่อในไทยขาดทุน ตอนนั้นทุกคนต่างลุ้นว่าองค์กรจะไปรอดหรือไม่รอด จากที่เคยขายโฆษณากันนาทีละแสนกว่าบาท กลายเป็นว่าสปอนเซอร์หอยทอด ผัดไทยก็ต้องรับ การแข่งขันก็สูงขึ้น จนการทำงานเต็มไปด้วยแรงกดดัน สะสมจนเป็นความเครียด และเราก็คิดว่า ถึงจะรักในอาชีพแต่เราคงไม่อยู่ในอาชีพนี้ไปจนตาย

“เรามองวิกฤตที่เกิดขึ้นในชีวิต ณ ตอนนั้นว่า มันเป็นจังหวะที่เข้ามาทำให้เราได้เปลี่ยนไปใช้ชีวิตในอีกรูปแบบหนึ่งที่เราต้องการ

“ในวันที่นายทุนไปต่อไม่ไหว มันไม่ใช่ความล้มเหลวของเรา เพราะว่าถ้าองค์กรยังอยู่เราก็ยังทำงานของเราต่อไปได้ แต่ ณ วันนั้นองค์กรอยู่ไม่รอด เราบอกตัวเองว่าต้องไม่ไปฟูมฟายกับความสูญเสีย เราตกงานแต่เราต้องไม่ตกใจ สิ่งที่ต้องทำคือ ตั้งสติแล้วรีบมองหาช่องทางว่าหลังจากตกงานจะทำอะไร จะเคลื่อนตัวเองไปทางไหน อะไรที่ทำแล้วเราจะมีความสุข เราคิดเสมอว่าตอนที่ทำงานสื่อเราเครียดมาก เพราะฉะนั้นเราจะหันไปทำอะไรที่เราชอบ ทำให้เรามีแรงบันดาลใจขับเคลื่อนตัวเองในทุกๆ วัน”

สิ่งที่ทำทันทีหลังจากตกงาน

“ทันทีที่รู้ตัวว่าต้องตกงาน เราหันหน้าไปคุยกับครอบครัวเพื่อตั้งหลักชีวิตใหม่ เราคิดว่าจะทำงานอะไรดีที่ทำให้เราอยากตื่นไปทำงานทุกวัน ทำแล้วเรามีความสุข ไม่เครียด ไม่กดดัน คำตอบก็คือ ‘อาหาร’ เพราะเป็นสิ่งที่เราชอบมากที่สุดและเรามีฝีมือในเรื่องการทำอาหาร พอรู้ตัวว่าจะตั้งหลักแบบนี้ ก็คิดเลยว่าถ้าได้เงินชดเชยมาจะเอาไปลงทุนทำร้านอาหาร ก่อนจะถึงวันที่ต้องออกจากงาน เราก็เริ่มไปเรียนรู้สูตรอาหารเพราะจำเป็นต้องหาจุดขาย ตอนนั้นไม่ได้คิดเลยว่าตัวเองจะเหลือเวลาทำงานอีกกี่เดือนหรืออีกกี่วัน ไม่ได้คิดว่าจะมีเงินเดือนไปอีกกี่เดือน เราคิดแค่ว่า ช่วงก่อนที่จะต้องออกจากงานเหลือเวลาประมาณ 12 เดือนให้เราเตรียมตัว แล้วอีกกี่วันเราถึงจะได้เปิดร้านอาหารตามที่ตั้งใจ ถามว่าไม่ทำงานต่อได้ไหม เพราะลูกคนโตก็เรียนจบแล้ว มีทั้งงานมีทั้งเงินเดือน คนเล็กก็ใกล้จะเรียนจบ แต่เราคิดว่าไม่ได้ บ้านยังผ่อนไม่หมด เราไม่ต้องการทิ้งภาระให้ลูก ไม่อยากดึงเงินเก่าออกมาใช้ เพราะฉะนั้นเรายังต้องมีอาชีพ”

อะไรที่ทำให้ก้าวผ่านวันที่ล้มแล้วลุกขึ้นมาสู้ต่อ

“กำลังใจจากครอบครัว ชีวิตคนเรามันต้องมีสะดุดบ้าง ต้องมีอุปสรรคเข้ามาให้เรียนรู้เสมอ แต่ในวันที่เราล้ม ครอบครัวคือกำลังใจสำคัญที่ทำให้เราเข้มแข็งและก้าวผ่านมาได้ บางคนเขาอาจจะมองว่า เราเคยทำงานมีตำแหน่งเป็นถึงผู้ช่วยบรรณาธิการบริหาร มีลูกน้องมากมาย สามารถสั่งงานคนอื่นได้ แต่วันนี้ทำไมต้องมาทำเองทุกอย่าง ตั้งแต่ตื่นเช้าไปจ่ายตลาด เตรียมวัตถุดิบ ปรุงอาหาร เสิร์ฟ ทำทุกอย่างจนเหงื่อท่วมตัว กำไรก็ไม่ได้มาก แต่เราไม่ได้ไปนึกถึงเรื่องนั้น เราคุยกับครอบครัวว่าเราจะทำอะไรที่มีความสุข ไม่ต้องจริงจังถึงขนาดที่ต้องเอาเป็นเอาตายในการหามาซึ่งรายได้ เราเปิดใจเลยว่าถ้าวันหนึ่งทุกคนต้องมาเหนื่อยด้วยกันจะรับได้ไหม เขาตอบกลับมาว่าไม่มีปัญหา พร้อมที่จะลุยไปกับเราเต็มที่

“วันแรกที่เปิดร้านอาหารสามีกับลูกสาวก็มาช่วยขายของ มาบริการลูกค้า แม่ในวัย 73 ปีก็มาช่วยทำอาหาร ทำให้รู้สึกว่าวิกฤตที่เกิดขึ้นในชีวิตไม่ใช่เรื่องเลวร้าย แต่มันคือกำไรชีวิต เพราะในวันที่เราล้ม เราได้เห็นกำลังใจจากครอบครัว ในวันที่เราพร้อมลุกขึ้นสู้ พวกเขาทุกคนก็พร้อมใจที่จะเหนื่อยไปกับเรา และในวันที่เราทำได้ พวกเขาภูมิใจในตัวเรา

“จากเมื่อก่อนแม่อยู่กับบ้านเหงาๆ ไม่ได้ทำอะไร ตอนนี้แม่ใจฟูขึ้นมามากเพราะลูกค้าชอบอาหารที่แม่ทำและชมแม่ตลอด จากที่คิดว่าเรากำลังทำให้คนในครอบครัว ลูกๆ และสามีลำบากอยู่หรือเปล่า แต่ทุกคนบอกเราว่า อย่าคิดมาก ทุกคนพร้อมจะทำ เต็มใจที่จะทำเพื่อแม่คนนี้”

ชีวิตเปลี่ยนไปอย่างไร

“หลังจากตกงานและผันตัวเองมาเป็นแม่ค้า การใช้ชีวิตเปลี่ยนไปมาก จากเมื่อก่อนตีหนึ่งตีสองยังต้องนั่งทำงาน แต่ตอนนี้หนึ่งทุ่มก็เริ่มเข้านอนแล้ว เพราะเราต้องตื่นเช้าไปเปิดร้าน ต้องเดินทางจากบ้านไปร้านระยะทางกว่า 30 กิโลเมตร หลายคนถามว่าทำไมถึงไปเปิดร้านไกลขนาดนั้นทั้งๆ ที่ขายอยู่ใกล้ๆ บ้านก็ได้ มีคนมาเสนอให้ไปขายในอาคารพาณิชย์ที่มีฐานลูกค้าแน่ๆ วันหนึ่งขายได้มากกว่าร้อยชาม แต่เรามานั่งคิดกับครอบครัวว่าเราต้องการแบบนั้นหรือเปล่า คำตอบคือ เราไม่ได้ต้องการแบบนั้น

“วันนี้เรามองว่าเงินไม่ใช่คำตอบสุดท้ายของชีวิต การบริหารชีวิตของเราให้มีความสุขหลังจากนี้ต่างหากที่สำคัญ

“เราอยากเปิดร้านเล็กๆ บรรยากาศดีๆ ที่ลูกค้าไม่ได้แค่มานั่งกินข้าวแล้วก็ไป แต่สามารถชวนเพื่อนมาเจอกัน มานั่งกินได้นานๆ อยากทำร้านให้ลูกค้ารู้สึกว่ากินอาหารของเราแล้วเหมือนอยู่บ้าน”

ระหว่างชีวิตก่อนตกงานกับหลังตกงาน ชีวิตแบบไหนมีความสุขกว่ากัน

“เราเปรียบตัวเองเหมือนน้ำ อยู่ตรงไหนก็มีความสุข เพราะเราปรับตัวกับทุกสถานการณ์ งานสื่อเป็นอาชีพที่เรารักและอยู่กับมันมาตั้งแต่แรก ในช่วงเวลาที่เราได้ทำงานตรงนั้นเราก็มีความสุข พอต้องมาทำร้านอาหาร คนอาจจะคิดว่าเราลำบาก ต้องมาทำเองทุกอย่างมันเป็นงานที่หนัก แต่ถามตัวเราเองเรามีความสุข”

เรียนรู้อะไรจากวิกฤตที่เกิดขึ้นกับชีวิต

“จากประสบการณ์ของตัวเราเอง ณ เวลานี้ไม่มีอาชีพไหนที่มั่นคง เราต้องเตรียมพร้อมในทุกก้าวของชีวิต ถ้ามีงานประจำอยู่ให้กอดไว้แน่นๆ หารายได้เสริมจากช่องทางอื่นไปด้วยยิ่งดี แต่ขอให้นึกไว้เสมอว่า ถ้าวันหนึ่งตกงานจะเดินไปทางไหน ต้องตั้งสติและคิดให้เร็ว

“ชีวิตของคนเราสามารถเริ่มต้นใหม่ได้ทุกวัน ในวันหนึ่งที่ไม่ว่าคุณจะอายุเท่าไหร่ เคยทำงาน มีเงินเดือน แต่ถ้าต้องตกงานหรือถูกเลิกจ้าง ให้รู้ว่าชีวิตมันไม่ได้สิ้นสุดอยู่แค่นั้น ต้องปลุกไฟในตัวเอง อย่าไปตกอกตกใจ ร้องไห้ฟูมฟาย เพราะบางทีในวิกฤตมันมีโอกาสซ่อนอยู่ การตกงานอาจจะเป็นจังหวะที่ทำให้ได้ทำอะไรที่เป็นความฝัน ได้ทำในสิ่งที่ชอบจริงๆ และมันอาจจะสร้างความสุขให้เราได้มากกว่าตอนที่เราอยู่ในวงจรของมนุษย์เงินเดือนก็ได้”

Credits

Authors

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ