‘ภูผาตาด โฮมสเตย์’ เป็นที่พักแห่งหนึ่งในอำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี บ้านพักทั้ง 5 หลังของที่นี่ซ่อนตัวอยู่ท่ามกลางสายหมอก ขุนเขาและแม่น้ำ นอกจากนั้นเจ้าของยังใจดี มีมิตรไมตรีกับแขกผู้มาเยือนทุกคน ด้วยเหตุนี้จึงไม่แปลกที่คนที่เคยมาพักที่นี่จะแวะกลับมาอีกครั้ง
นอกเหนือจากบรรยากาศดีๆ ที่ชวนให้มาพักผ่อน ชีวิตเจ้าของโฮมสเตย์ก็นับได้ว่าน่าสนใจไม่แพ้กันย้อนกลับไปเมื่อ 20 กว่าปีก่อน ในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 ลุงหมึก – ชำนาญ มณีวงษ์ กลายเป็นคนตกงานที่ไม่รู้จะหาทางออกอย่างไรให้ชีวิต วิกฤตภายนอกส่งผลกระทบมาถึงวิกฤตภายใน ชายร่างเล็กรู้สึกว่าตัวเองไม่ต่างอะไรจากฝุ่นผงที่ไร้ค่า เอาแต่นั่งผลาญเวลาชีวิตให้หมดไปวันๆ
แน่นอนว่าการเป็นคนว่างงานไม่ใช่เรื่องสนุก โดยเฉพาะถ้ามันเกิดขึ้นในวันที่คุณกลายมาเป็นหัวหน้าครอบครัว มีลูกๆ ให้ต้องดูแล และการตกงานตอนเริ่มแก่
ก็ไม่เหมือนกับการตกงานตอนเริ่มหนุ่ม
ตกงานตอน 50
ก่อนจะมาใช้ชีวิตปัจจุบันอยู่ที่อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี เป็นเจ้าของภูผาตาดโฮมสเตย์ ชำนาญ มณีวงษ์ หรือที่ใครหลายคนเรียกกันว่า ‘ลุงหมึก’ ก็เหมือนกับคนทั่วไปที่เคยทำงานเป็นลูกจ้างอยู่ในเมืองหลวง
ชายวัย 68 ปี เคยทำงานเป็นเจ้าหน้าที่ธุรการขององค์การเหมืองแร่ในทะเล เคยเป็นฝ่ายประสานงานบริษัทประชาสัมพันธ์แห่งหนึ่ง เคยเป็นเซลล์ขายอุปกรณ์ประกอบอาหาร ขายประกันอัคคีภัย ขายอสังหาริมทรัพย์ ฯลฯ ก่อนที่สุดท้ายจะโดนบีบให้ออกจากงานมาเดินเตะฝุ่นในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540
“เราถูกบีบให้ออกจากงานที่ทำอยู่ในช่วงปี 2540 ตอนนั้นเราทำงานเป็นเซลล์ขายอสังหาริมทรัพย์ ช่วงนั้นเป็นช่วงวิกฤตเศรษฐกิจของประเทศ ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศลอยตัวค่าเงินบาท บริษัทเอกชนปิดตัวลงเป็นจำนวนมาก คนที่เคยเป็นเจ้าของธุรกิจฆ่าตัวตายเพราะไม่รู้จะหาทางออกกับชีวิตยังไง เราเองหลังจากตกงานในเวลานั้นก็ไม่รู้จะหาทางออกยังไงเหมือนกัน จะไปหางานที่ไหนก็ไม่ได้ ตอนนั้นข้างในจิตใจของเรามันรู้สึกเบื่อไปหมด เบื่อคน เบื่อสังคม เบื่อทุกอย่าง แต่ก็ไม่รู้ว่าจะหาทางออกอย่างไรดี”
การตกงานในวัยเกือบ 50 ย่อมไม่เหมือนกับการตกงานในช่วงอายุ 20 ต้นๆ ยิ่งในเวลานั้นลุงหมึกมีสถานะเป็นหัวหน้าครอบครัวที่มีภรรยาและลูกชายอีก 2 คนให้ต้องดูแล การไม่มีงานทำเอาในช่วงเวลานี้จึงเต็มไปด้วยความทุกข์ทนกังวลใจ ผิดกันกับเมื่อครั้งวัยหนุ่มที่เขาไม่ต้องรับผิดชอบอะไรมากมายนอกจากชีวิตตัวเอง
“การตกงานตอน 50 มันไม่มีทางเหมือนกับการตกงานตอน 20 แน่ๆ เราอาจไม่มีงานทำเหมือนกัน แต่ความทุกข์ความกังวลมันคนละเรื่อง ในตอนอายุ 50 มันมีสิ่งที่คุณต้องแบก มีความรับผิดชอบ ความกดดันในชีวิตมากมายไปหมด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องครอบครัว สุขภาพ ความมั่นคง หรือแม้กระทั่งหน้าตาทางสังคม ลูกเมียจะอยู่ยังไง ไหนจะค่าเทอมลูก ค่าใช้จ่ายต่างๆ ไหนจะต้องคอยมานั่งตอบคำถามจากคนอื่นที่เราไม่อยากตอบมันไม่เหมือนตอนที่เรายังหนุ่มอายุ 20 กว่า เราตกงานก็ยังไปหาเพื่อน ไปกินข้าวบ้านเพื่อนได้ ภาระค่าใช้จ่ายก็ไม่มีอะไร เพราะเราอยู่ตัวคนเดียว ไม่มีอะไรต้องกดดัน หรือถ้ามีก็น้อยกว่าตอนที่เราอายุ 40-50 แน่ๆ ที่ทุกอย่างมันกลายเป็นความกดดันไปหมด”
ท่ามกลางความโชคร้าย ความโชคดีเพียงอย่างเดียวของลุงหมึกก็คือภรรยาของเขาไม่ได้ถูกให้ออกจากงานด้วยอีกคน ทั้งที่จะว่าไปในเวลานั้นเธอเองก็มีความกดดันในงานของตัวเองอยู่ไม่น้อย
“เขาทำงานเป็นพนักงานธนาคาร ในขณะนั้นเป็นช่วงที่ธนาคารกำลังเปลี่ยนระบบมาเป็นการใช้คอมพิวเตอร์ในการบันทึกข้อมูลต่างๆ แทนที่ระบบเก่าซึ่งเป็นการใช้พิมพ์ดีด คนสมัยนี้อาจนึกภาพไม่ออก แต่ถ้าถอยหลังไปเมื่อ 20 กว่าปีก่อนคอมพิวเตอร์ถือเป็นเรื่องใหม่มาก แล้วภรรยาเราเขาอายุจะ 50 แล้วเขาต้องมานั่งเรียนรู้อะไรใหม่ๆ ก็ไม่เคยชินและมีปัญหาปรับตัวกับสิ่งที่เข้ามาใหม่ไม่ได้ เขาก็มีความกดดันไม่น้อย แต่ยังโชคดีที่ยังได้ทำงานอยู่ เพราะถ้าตอนนั้นเขาตกงานด้วยอีกคนก็ไม่รู้ว่าครอบครัวจะเป็นยังไงนึกภาพไม่ออกเหมือนกัน”
ความจริงที่เกิดขึ้นในเวลานั้นกลับกลายเป็นว่าผู้หญิงเพียงคนเดียวต้องทำงานหาเลี้ยงผู้ชาย 3 ชีวิตภายในบ้าน เรื่องดังกล่าวกลายเป็นความกดดันที่ถาโถมซ้ำเข้ามาอีกในชีวิตของลุงหมึก จากผู้นำที่เคยหาเลี้ยงปากท้องให้ทุกคนในครอบครัวมีความสุข กินอิ่มนอนหลับ มีกินมีใช้ มาวันนี้เขากลับต้องกลายเป็นภาระให้ภรรยาต้องเลี้ยงดู
“เรารู้สึกว่าตัวเองเป็นคนไร้ค่า ความรู้สึกมันตกต่ำ ได้แต่รอให้เวลาผ่านไปวันๆ โดยไม่ได้ทำอะไร”
วันเวลาหมุนผ่านไป วันแล้ววันเล่า คืนแล้วคืนเล่า แต่ทุกอย่างก็ยังไม่มีอะไรดีขึ้นมา
ลุงหมึกยังคงเป็นคนตกงานและรู้สึกว่าคุณค่าในตัวเองเหลือน้อยลงทุกที
ล่องลอย
สิ่งที่ลุงหมึกรู้สึกเบื่อหน่ายอย่างมากในช่วงที่กลายเป็นคนตกงานก็คือการต้องคอยตอบคำถามซ้ำๆ กับเพื่อนบ้านและคนรู้จักเกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้น
“ลำพังแค่เรื่องที่เจอก็แย่อยู่แล้ว เรายังต้องคอยมาตอบคำถามเพื่อนบ้านอีก เช่น เขาเห็นเราอยู่บ้านเฉยๆ ก็จะมาถามว่าวันนี้ไม่ไปทำงานเหรอ ทำไมถึงไม่ไปทำงาน ตอนนี้ทำงานอะไรอยู่ เราเจอคำถามแบบนี้ทุกวัน เบื่อมาก แล้วเรารู้สึกว่าคนถามก็ไม่ได้ถามด้วยความปรารถนาดี สุดท้ายด้วยความเบื่อหน่ายเราก็เลยเลือกแก้ปัญหาด้วยการแต่งตัวใส่ชุดทำงานออกจากบ้านให้เขาเห็น แล้วพอช่วงเย็นก็กลับเข้าบ้านมาใหม่ เพื่อให้คนเข้าใจว่าเราออกไปทำงาน จะได้ไม่มีใครมาถามอีก”
ลุงหมึกใส่เสื้อเชิ้ต ผูกเนคไทออกจากบ้านทุกวัน หากแต่เมื่อถึงริมถนนเขาก็ไม่รู้จะพาตัวเองไปที่ไหน ย้อนกลับบ้านก็ไม่ได้ จะให้ไปที่ทำงานก็ไม่มี ที่สุดลงหมึกจึงตัดสินใจนั่งรถเมล์ไปเรื่อยฆ่าเวลาให้หมดไปวันๆ หรือบางวันก็ไปนั่งเฉยๆ ตามท้องสนามหลวง ตามสวนสาธารณะ รอถึงเย็นจึงค่อยเดินทางกลับเข้าบ้าน ชีวิตล่องลอยไปมาเช่นนี้จนกระทั่งเงินเก็บที่มีอยู่ก็เริ่มร่อยหรอลงทีละน้อย
“ถ้าเงินที่มีอยู่เป็นน้ำ ก็เป็นน้ำที่ระเหยไปทุกวัน ไม่ได้มีน้ำใหม่มาเติม เพราะเราไม่มีงานใหม่ อย่างที่บอกงานในยุควิกฤตเศรษฐกิจไม่ได้หาได้ง่ายๆ เราเองก็ไม่รู้จะทำอะไร ไม่รู้จะเอายังไงกับชีวิตต่อไป”
เมื่อยิ่งคิดยิ่งทุกข์ ลุงหมึกจึงพยายามหาทางออกด้วยการพาความคิดของตัวเองออกไปจากเรื่องเดิมๆ เขานึกไปถึงภาพความสุขในวัยเด็ก สมัยที่นั่งรถไฟไปเที่ยวเมืองกาญจน์กับครอบครัว เมื่อนึกขึ้นมาแล้วก็ปรากฏรอยยิ้มเล็กๆ บนใบหน้าซึ่งแทบจะเป็นยิ้มแรกในรอบเดือนรอบปี
“พอนึกแล้วเราก็มีความสุข แล้วเมื่อนึกไปถึงกาญจนบุรีก็จะนึกไปถึงอำเภอทองผาภูมิ ซึ่งเป็นอำเภอที่คนพูดถึงกันมากในช่วงนั้น สุดท้ายเราจึงตัดสินใจขับรถไปทองผาภูมิ ไปมันคนเดียว กะว่าจะไปหาที่พักนอนคนเดียวสักคืน ยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าจะนอนที่ไหน แค่คิดว่าไปแล้วน่าจะพาตัวเองออกไปจากบรรยากาศเดิมๆ”
ลุงหมึกเดินทางไปถึงอำเภอทองผาภูมิโดยไม่ได้มีเป้าหมายอะไร นอกจากการพาตัวเองออกจากความทุกข์ ทว่าในระหว่างที่เขากำลังนั่งทานข้าวอยู่ที่ร้านอาหารตามสั่งข้างทางก็มีชายคนหนึ่งเดินเข้ามาในร้านพร้อมกับเสนอขายที่ดินให้กับเขา
“เขายิ้มให้เราแล้วก็ถามว่ามีคนขายที่ดินสนใจไหม เราเลยคิดว่าลองดูก็ไม่เสียหายอะไร ก็เลยตามนายหน้าคนนั้นไปดูที่ เมื่อเดินดูเราคิดขึ้นมาในตอนนั้นเลยว่าเราอยากทำสวนอยู่ที่นี่ เราเบื่อคน เบื่อสังคม เบื่อกรุงเทพฯ จากตอนแรกที่กะว่าจะค้างคืน เราตัดสินใจเดินทางกลับกรุงเทพฯ ทันที กลับไปเล่าความคิดทุกอย่างให้ภรรยาฟัง พอวันหยุดสุดสัปดาห์เขาก็ขึ้นไปดูที่ดินด้วยกันกับเรา”
ลุงหมึกตัดสินใจนำเงินเก็บก้อนสุดท้ายที่มีอยู่ไปซื้อที่ดินจำนวน 24 ไร่ ก่อนจะปลูกต้นไม้ทำเกษตรอินทรีย์ โดยนานๆ ทีจะลงไปบ้านที่กรุงเทพฯ เวลาหมุนผ่านไปราว 3 ปี พืชผักผลไม้ของลุงหมึกก็ค่อยๆ เติบโตออกดอกออกผล ชายร่างเล็กตั้งใจว่าจะใช้ชีวิตอยู่เช่นนี้ไปเรื่อยๆ โดยหากมีเวลาว่างก็เอาผลไม้ลงไปขาย หรือไม่ก็ทำงานเล็กๆ น้อยๆ กับเพื่อน พอให้ได้เงินมาเลี้ยงชีพบ้างแต่วันหนึ่งเมื่อเขาไปแช่ตัวที่บ่อน้ำพุร้อนไม่ไกลจากสวน จุดเริ่มต้นของการทำโฮมสเตย์เล็กๆ ก็เริ่มต้นขึ้นมาจากตรงนั้น
“เราไปเจอคนไต้หวัน เขาพอพูดไทยได้มาแช่น้ำพุร้อนอยู่ เราคุยกันถูกคอ เลยชวนมาเที่ยวสวน ก่อนที่ตอนหลังเขาจะมาขอพัก ตอนนั้นยังมีเรือนอยู่หลังเดียว พอเขามาพักบ่อยเข้า เราก็เลยสร้างบ้านพักขึ้นมาอีกหลัง ซึ่งเขาก็ไม่ได้พักฟรี แต่ช่วยค่าน้ำ-ค่าไฟด้วย ต่อมาเขาก็เลยชวนเพื่อนมาอีก 10 กว่าคน มันก็พอมีรายได้เข้ามา ก่อนที่จากนั้นเขาจะขอซื้อที่ของเรา เราก็แบ่งขายไป 1.5 ไร่ แล้วก็เอาเงินที่ได้มาปลูกบ้านเพิ่มจากที่ทำสวนอย่างเดียวก็กลายเป็นโฮมสเตย์ขึ้นมา”
จากที่เต็มไปด้วยความทุกข์และมืดมิดชีวิตของลุงหมึกดูเหมือนจะมีแสงสว่างแห่งความสุขเล็ก ๆ ลอดเข้ามา
เขาตั้งชื่อที่พักของตัวเองว่า ‘ภูผาตาด โฮมสเตย์ ’
ภูผาตาด โฮมสเตย์
ภูผาตาด โฮมสเตย์เป็นที่พักที่อยู่ท่ามกลางธรรมชาติ ที่นี่อยู่ใกล้กับน้ำตกผาตาด โอบล้อมไปด้วยภูเขานั่นจึงเป็นที่มาของชื่อที่ตั้งขึ้น
ภูผาตาด โฮมสเตย์มีบ้านพักทั้งหมด 5 หลัง โดยแต่ละหลังมีชื่อเฉพาะและเอกลักษณ์ของตัวเองแตกต่างกันออกไป ไม่ว่าจะเป็น ‘ พะเน้าพะนอ ’ ซึ่งเป็นเรือนใหญ่พักได้ตั้งแต่ 6 – 13 ‘ออดอ้อน ฉอเลาะ’ พักได้ 2-4 คน ‘พะเพื่อน พะแพง’ ซึ่งเป็นบ้านแฝด 2 หลังติดกัน สามารถเข้าพักได้หลังละ 4-5 คนรวมแล้ว 10 คน ‘ ระริกระรี้ ’ บ้านพักที่เหมาะกับคู่รักหนุ่มสาวและ ‘ ออดอ้อนออเซาะ ’ ซึ่งเป็นบ้านที่ลุงหมึกพักอยู่เอง
“บ้านทุกหลังจะมีเอกลักษณ์ของตัวเองอย่างระริกระรี้ เราก็ทำให้มันระริกระรี้ตามชื่อจริงๆ คือเราจะไม่มีประตูห้องน้ำแค่เอาผ้าบังเอาไว้เฉยๆ แล้วก็เป็นห้องที่มองเห็นเขาเห็นหมอก ห้องนี้จึงเป็นห้องที่เหมาะกับคู่รักหนุ่มสาวหรืออย่างพะเพื่อน พะแพงเราก็ทำให้เป็นเรือนสองหลังคู่กันตามชื่อ
“นอกจากนี้เรามีกฎของเรา คือไม่รับแขก walk-in ที่อยู่ๆ เดินเข้ามาพักได้เลย หากใครจะเข้ามาพักต้องโทรจองล่วงหน้า เพราะเราอยู่คนเดียว เราไม่มีการสต็อคอาหารอะไรไว้ทั้งสิ้น ถ้าเกิดรู้ล่วงหน้า จะได้มีเวลาเตรียมตัว แล้วก็เราให้พักเต็มที่ไม่เกิน 3 คืน เนื่องจากเรามีหน้าที่ต้องทำสวน บางทีเราไม่สะดวกที่จะดูแลเขาได้ตลอดเวลา แต่ถ้าเรามีเวลาแน่นอนว่าไม่เกิน 2-3 วัน เราก็จะดูแลเขาได้เต็มที่”
ทุกกระบวนการตั้งแต่ซักและเปลี่ยนผ้าปูที่นอน ไปจนถึงทำอาหารให้นักท่องเที่ยวทุกมื้อ ลุงหมึกจะเป็นคนจัดการทุกอย่างด้วยตัวเอง มีเพียงช่วง 1 ปีหลังมานี้ที่เริ่มจ้างแม่บ้านมาช่วยเป็นลูกมือ แขกหรือนักท่องเที่ยวที่มาพักแทบทุกคนล้วนแล้วแต่ประทับใจและมีความสุข รวมทั้งมีจำนวนไม่น้อยที่แวะเวียนกลับมาพักอีกครั้ง เนื่องเพราะพวกเขาไม่ได้รู้สึกว่าชายวัย 68 คือเจ้าของกิจการ หากแต่เป็นเสมือนญาติคนหนึ่ง
“เรารู้สึกเหมือนเรามาหาญาติ มาพักบ้านญาติ ลุงหมึกให้ความเป็นกันเองมาก น่ารัก ทำอาหารให้เรากินเหมือนพวกเราเป็นลูกเป็นหลานเลย แล้วอาหารที่ทำก็หลากหลายและอร่อยมาก น้ำพริกนี่เด็ดสุดๆ” นักท่องเที่ยวสาวสวยคนหนึ่ง หล่นความคิดเห็นเอาไว้เมื่อครั้งมาพักที่ภูผาตาด โฮมสเตย์
เคล็ดลับของลุงหมึกในการดูแลผู้มาเยือน ไม่มีอะไรมากไปกว่ารักษาความพอดีสำหรับทั้งตัวเขาและนักท่องเที่ยวเอาไว้ ไม่ใช่ว่าความสุขสบายไปตกอยู่กับใครฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง
“สำหรับภูผาตาดเงินไม่ใช่ปัจจัยหลักที่เราต้องการ แต่เราต้องการที่จะดูแลผู้มาเยือนให้ทั่วถึง โดยที่เราเองก็มีความสุข ไม่เหนื่อย ที่พักเรารองรับได้ทั้งหมดน่าจะประมาณเกือบ 40 คน แต่เอาจริงๆ เราให้พักแค่ไม่เกิน 20 คนเท่านั้น เพื่อที่จะได้ดูแลทุกคนให้ดีที่สุด เขาสบาย เราก็สบาย มีความสุขด้วยกันทั้งสองฝ่าย” ลุงหมึกกล่าวด้วยใบหน้าอาบรอยยิ้ม ก่อนจะนั่งพิจารณาถึงชีวิตในปัจจุบัน
ชายวัย 68 ปี ค้นพบว่าในตอนนี้ชีวิตของเขาเป็นชีวิตที่มีความสุข และความสุขในช่วงสูงวัย ก็ไม่เหมือนกับความสุขในตอนเป็นหนุ่มแม้แต่นิดเดียว
เมื่อต่างวัยความสุขก็ต่างออกไป
“ความสุข ความทุกข์ บางครั้งก็เป็นเรื่องของวัยเหมือนกันนะ เราตกงานตอน 50 กับตกงานตอน 20 ความทุกข์จากการไม่มีงานทำยังต่างกันเลย เมื่อมองความสุขในวันนี้เราก็รู้เลยว่า มันเป็นความสุขคนละแบบกับตอนเป็นหนุ่ม”
ความสุขในวัย 68 ของลุงหมึกไม่ใช่ความสุขจากการสร้างเนื้อสร้างตัวหรือ การต้องการการยอมรับอย่างเช่นในวัยหนุ่ม หากแต่เป็นความเงียบสงบ ไม่วุ่นวาย ยุ่งยากมากความ
“ความสุขของเราทุกวันนี้คือการอยู่นิ่งๆ ไม่วุ่นวายกับใคร คนละเรื่องกับตอนเป็นหนุ่มเลยที่ความสุขจะเป็นการได้เอาชนะความท้าทาย การทำงานให้บรรลุผล ประสบความสำเร็จ
“เราว่ามันเป็นไปตามวัยนะ ตอนยังหนุ่มจะให้เรามาอยู่นิ่งๆ เหมือนตอนนี้มันก็ไม่ใช่ แรงขับดันของวัยมันไม่ได้เป็นแบบนั้น”
ทุกวันนี้ลุงหมึกจะตื่นตั้งแต่ตี 5.30 ทำกายภาพบนที่นอน จากนั้นจะทำธุระส่วนตัวและจะเข้าสวนไปปลูกต้นไม้ในช่วงเช้า จากนั้นจึกพักทานข้าวในตอนเที่ยง แล้วกลับไปทำสวนต่อจนถึงบ่าย 4 โมง ก่อนกลับมาทำอาหารแล้วออกไปแช่น้ำพุร้อน จากนั้นจึงกลับบ้านทานข้าวและเข้านอนราว 2 ทุ่ม ชีวิตหมุนวนไปประจำเช่นนี้ทุกวัน ยกเว้นแต่วันที่มีนักท่องเที่ยวเข้าพัก กิจกรรมทุกอย่างก็จะเปลี่ยนไป
ผลไม้ที่ปลูกไว้ในสวนก็มีมากมายทั้ง มะยงชิด เงาะ ส้มโอ มะไฟ ลองกอง น้อยหน่า ขณะที่ผักพื้นบ้านมีทั้งสะเดา ชะมวง มะกอก มะรุม ฯลฯ รวมแล้วกว่า 30 ชนิด นอกจากนั้นลุกหมึกยังปลูกไม้เศรษฐกิจเอาไว้อีกด้วยไม่ว่าจะเป็นไม้สัก ไม้พะยูง ตะเคียนทอง ประดู่ ชิงชัง ยางนา จำปาทอง ฯลฯ
“ไม้เศรษฐกิจพวกนี้เราปลูกไว้ให้เป็นมรดกของลูกชาย ในภายภาคหน้าไม้พวกนี้จะยิ่งมีราคา อย่างน้อยสิ่งเหล่านี้ก็เป็นการทดแทนที่เขาไม่ได้อะไรจากเราในช่วงที่เราตกงานเมื่อ 20 กว่าปีก่อน”
ไม่ว่าจะเป็นใครและอยู่ในช่วงวัยไหน ความจริงข้อหนึ่งที่เป็นจริงอยู่เสมอก็คือ ไม่มีชีวิตของใครหัวเราะได้ทุกวัน และไม่มีใครเช่นกันที่ร้องไห้ได้ทุกเวลา
ชีวิตในวัยเกือบ 70 ของลุกหมึกเจ้าของภูผาตาดโฮมสเตย์ก็เป็นเช่นนั้น เขาผ่านความทุกข์ ผ่านความสุข ผ่านเหงา ผ่านเศร้า ผ่านวันเวลาที่รู้สึกไม่มีค่า ไปจนถึงวันที่สุขสงบในหัวใจ และไม่ว่ากราฟชีวิตจะเป็นอย่างไร จะทะยานสูงขึ้นฟ้าหรือดิ่งต่ำลงดิน เขาก็ยังจะเป็นลุงหมึกคนเดิม
คนที่คุณจะรู้สึกเหมือนญาติเมื่อมาถึงภูผาตาด โฮมสเตย์