‘เอก’ ธเนศ วรากุลนุเคราะห์ เป็นทั้งนักร้อง นักแต่งเพลง และนักแสดงมากฝีมือ งานเพลงแดนศิวิไลซ์ คนเขียนเพลงบรรเลงชีวิตกลายเป็นผลงานระดับมาสเตอร์ของวงการเพลงไทยในยุคนั้น ช่วง 3-4 ปีหลัง เขาปรากฏตัวขึ้นอีกครั้งบนจอภาพยนตร์ในฐานะนักแสดงที่ได้รับบทอันท้าทาย โดยเฉพาะในบทบาทของพ่อที่ทั้งเข้าใจและไม่เข้าใจลูก การแสดงของเขาได้รับรางวัลและเสียงชื่นชมมากมายจากนักวิจารณ์และผู้ชม
มนุษย์ต่างวัย ถือโอกาสชวนเขามาพูดคุยไม่ใช่ในฐานะ “พ่อ” ในภาพยนตร์แต่ในฐานะ “พ่อ” ในโลกแห่งความจริงที่ต้องดูแลลูกชายวัย 18 ปี
“ตอนแรกไม่ได้กำหนดว่าจะหยุดงานเพื่อดูแลลูกกี่ปี แต่ทำไปทำมามันลงตัวที่ 15 ปี เราไม่ได้ดูแลคนเดียว ตอนนั้นภรรยาก็ช่วยดูแล ปู่ ย่า ตา ยาย ทุกคนก็ช่วยกัน แต่มันเป็นความตั้งใจเราเองที่อยากจะทุ่มเทให้เขา เราปรารถนาที่จะเลี้ยงลูกในมุมมองของเรา
“เป็นความตั้งใจ ซึ่งไม่ควรเอาเป็นเยี่ยงอย่าง มันไม่ต้องขนาดนั้น เพียงแต่ตัวผมเองพอทำได้ ผมมองว่าเราเป็นคนที่ทำงานมาตั้งแต่วัยรุ่น ไม่เคยหยุดเลย แล้วทำงานหนักมาตลอด พอมีลูกก็ตั้งใจว่าจะเลี้ยงลูกให้ดีที่สุด จะทุ่มเททุกอย่างให้เขา แต่ก็ไม่ได้จำกัดว่าต้องทำอะไร ไม่ทำอะไร ไม่มีหลักการ มีแค่เป้าหมายอย่างเดียวคือ เลี้ยงเขาให้ดีที่สุด”
คำว่า “ดีที่สุด” ในมุม ‘เอก’ ธเนศ
เลี้ยงลูกให้ดีที่สุดของผมคือ ให้เขาได้มีความสุขในแบบของเขา ความสุขต้องมาก่อนเป็นอันดับแรก จากนั้นก็ให้เขารู้สึกว่า เขามีความภาคภูมิใจในตัวเอง อยู่ในสังคมได้ หาเลี้ยงชีพได้ ไม่เป็นปัญหาเดือดร้อนให้กับคนอื่น หรือคนในครอบครัว เพราะฉะนั้นเรื่องการเลี้ยงลูกให้ดีที่สุดสำหรับผมมันไม่ใช่เรื่องล้อเล่น
ถามว่าทำไมความสุขต้องมาเป็นข้อแรกๆ ก็เพราะว่า เราสังเกตตัวเราเองก่อน ชีวิตทั้งชีวิตเราเดินอ้อมตั้งไกล สุดท้ายอนาคตที่ดี การงานที่ดี เราทำเพื่ออะไร คำตอบคือ เพื่อให้เรามีความสุข
การอยู่กับลูกทำให้เราได้รู้จักตัวเองมากขึ้น จากมุมสะท้อนของลูกนั่นแหละ เราเห็นตัวเราในลูก ได้เรียนรู้ชีวิตอยู่ตลอดเวลา มีช่วงหนึ่งที่ลูกเริ่มพูดได้นิดหน่อย แล้วก็เริ่มอยากรู้อยากเห็น เขาสนใจปลั๊กไฟ เราก็เลยไปหาฉนวนกันไฟ แล้วบอกเขาว่าปลั๊กนี้มันอันตราย เดี๋ยวพ่อจะเอาฉนวนมากันไว้ เราอธิบายให้ลูกฟัง เขาก็ฟังและเข้าใจ พอเราเสียบปลั๊ก เขาขอทำบ้าง เราบอกลูกว่าอย่าเลยอันตรายเดี๋ยวพ่อทำเอง เขาย้อนกลับมาเลยว่า พ่อเอาฉนวนมากันไว้แล้วไม่อันตรายแล้วแต่ทำไมยังไม่ให้เขาเสียบปลั๊กแล้วบอกว่ามันยังอันตราย สุดท้ายเขามีเหตุผลมากกว่าเรา และมันทำให้เราเห็นตัวเองว่าจริงๆ ที่เราบอกว่า เราจะให้อิสระกับลูกจริงๆ แล้วเราให้อิสระหรือเปล่าหรือเรายังอยากจะควบคุมเขา คิดดูจะหาโอกาสจากไหน ที่ทำให้ได้อยู่กับตัวเอง ได้สำรวจตัวเอง ต้องขอบคุณลูกที่เป็นอุปกรณ์ ช่วยให้เราได้เรียนรู้ตัวเอง
ในวันที่ลูกโตเป็นวัยรุ่น
เราใช้หลักการเดิม พยายามบอกตัวเองตลอดเวลาว่า ความสุขของลูก อิสรภาพของลูก คือการได้ทำในแบบที่เขาต้องการ สิ่งไหนที่ทำแล้วมันไม่เกินเลยถึงขนาดที่เสียผู้เสียคนเราก็ให้เขาทำ เพราะเรายังเคยทำเลย เรารู้ว่าเด็กส่วนใหญ่จะกลัวพ่อแม่ดุในเรื่องที่ผู้ใหญ่หรือสังคมบอกว่าไม่ดี อย่างเช่น สูบบุหรี่ กินเหล้า หรือเที่ยวกลางคืน แต่เด็กส่วนใหญ่ก็จะแอบทำอยู่ดี
วันหนึ่งเราก็เลยถามลูกว่า อยากดูดบุหรี่ อยากดื่มเหล้า อยากเที่ยวผู้หญิงแล้วหรือยัง มาบอกพ่อได้นะ เพราะเรามองว่า ให้เขาบอกดีกว่าไปทำแล้วไม่บอก
เราบอกเขาเสมอว่า ลูกคุยทุกเรื่องกับพ่อได้นะ แต่เขาก็บอกว่าบางเรื่องก็ไม่ได้นะ เราก็โอเคๆ เพราะเราให้อิสรภาพเขา ปล่อยให้เขาคิดเอง แต่เราก็ต้องให้กรอบ เพราะว่าเด็กก็คือเด็ก
เรื่องช่องว่างยังไงมันก็ต้องมี แต่ว่าพยายามทำให้มันมีให้น้อยที่สุดเท่าที่จะน้อยได้ เราใช้วิธีฟังเขาให้เยอะ มากกว่านั้นคือฟังตัวเราเองด้วย สำรวจตัวเองไปด้วย เพราะบางทีคนเป็นพ่อยอมไม่ได้เพราะกลัวจะเสียฟอร์ม แต่เราควรจะเสียบ้าง
ลูกทำให้ยกมือกราบได้
เราพูดตลอดว่า ลูกมีบุญคุณกับเราอย่างมาก เรายกมือท่วมหัวกราบลูกได้เลย
จากความตั้งใจอย่างแรงกล้าว่าเราจะเลี้ยงลูกให้ดี มีความสุข ให้เขามีอิสรภาพทางความคิดในแบบของเขา แต่ทุกครั้งก็ทำให้เราได้ตั้งคำถามกับตัวเองว่า เรากำลังทำอะไรอยู่ สอนอะไรลูกไป แล้วอะไรคือดีที่สุดสำหรับลูก
ลูกทำให้เราเห็นธรรมมะว่า มันมีอย่างเดียวนั่นคือ ความจริงตามความเป็นจริง หมายความว่ามันคือความเป็นธรรมชาติ การที่เราอยากจะเป็นพ่อที่ดี ได้มอบสิ่งที่ดีที่สุดให้กับลูก นี่แหละคือดีที่สุดสำหรับเขา
เขาทำให้เรามีปัญญา ปัญญาจากการเรียนรู้จากเขา ไปไหนเราก็พูดได้ไม่อายว่าลูกมีบุญคุณ แล้วทำไมจะกราบลูกไม่ได้ ถึงแม้ไม่ได้ลงไปกราบด้วยภาษากายแต่ใจเรากราบได้ตลอดเวลา