คุยเรื่อง ‘ความสุขแบบย่อมเยา’ กับ ลุงน้อง-ยอดยิ่ง จริตกุล แห่งร้าน Cotton Hut Café ร้านอาหารโฮมเมด ไซส์ S แห่งเชียงใหม่ ผู้ถือคติว่า ‘ลูกค้ามีความสุข เราก็มีความสุข’

Cotton Hut Café เป็นร้านอาหารเล็กๆ ที่ซ่อนตัวอยู่บริเวณหลังมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่นี่มีโต๊ะไว้ต้อนรับลูกค้าแค่เพียง 7 โต๊ะ มีเมนูอยู่ราวๆ 20 เมนู โดยจะเน้นไปที่อาหารต่างประเทศเสียเป็นส่วนใหญ่

แม้ร้านรวงจะไม่ใหญ่โตนัก ทว่าก็มีลูกค้าทั้งคนไทยและชาวต่างชาติแวะเวียนมาฝากท้องที่ร้านแห่งนี้อยู่ไม่เคยขาด ร่ำลือกันว่านอกจากอาหารจะอร่อย ราคาไม่แพง ใช้วัตถุดิบอย่างดี เจ้าของร้านยังอัธยาศัยดี มีมิตรไมตรี ให้ความรู้สึกเหมือนนั่งทานอาหารที่บ้านตัวเอง

ลุงน้อง-ยอดยิ่ง จริตกุล หลงรักการทำอาหารมาตั้งแต่วัยหนุ่ม และนับตั้งแต่กลับจากไปเรียนที่อังกฤษเมื่อราว 40 ปีก่อน ไม่ว่าจะประกอบอาชีพอะไร สิ่งหนึ่งที่เขาทำควบคู่ไปด้วยตลอดเวลาก็คือการเปิดร้านอาหาร

“สำหรับเราการได้ทำอาหาร ได้อยู่กับบรรยากาศในร้านอาหาร มันคือความสุข”

เป็นความสุขโดยแท้จริง แม้ว่าบางช่วงของชีวิตจะเต็มไปด้วยความทุกข์ก็ตามที

ประสบการณ์ในร้านอาหารแดนผู้ดี

“พื้นเพดั้งเดิมเราเป็นคนกรุงเทพฯ อาศัยอยู่ย่านสุขุมวิท หลังเรียนจบเราทำงานเป็นพนักงานบัญชีองค์กรแห่งหนึ่ง พอทำไปได้ 3 ปี เก็บเงินได้ก้อนหนึ่งก็ไปเรียนต่อที่เมืองนอก เลือกไปที่ลอนดอน ประเทศอังกฤษ ไปเรียนภาษาก่อน 1 ปี จากนั้นจึงไปเรียนต่อด้านการจัดการโรงแรม ระหว่างนั้นก็ทำงานที่ร้านอาหาร เป็นร้านอาหารฝรั่งเศส เริ่มทำงานจากคนล้างห้องน้ำ มาเป็นคนล้างจาน จนต่อมาเป็นผู้ช่วยกุ๊ก ซึ่งตอนเป็นผู้ช่วยกุ๊ก คนที่เป็นกุ๊กเขาก็สอนและถ่ายทอดวิชาให้เราทุกอย่าง ตั้งแต่เรื่องของการเตรียมการ การทำอาหาร การเก็บรักษาวัตถุดิบ เขาสอนเราทำอาหารฝรั่ง ขณะเดียวกันเราก็แลกเปลี่ยนสอนเขาในเรื่องการทำอาหารไทย เรารู้สึกมีความสุขกับการทำอาหาร แล้วก็มีความฝันว่าอยากเป็นเชฟ”

ลุงน้อง-ยอดยิ่ง จริตกุล บอกเล่าถึงเรื่องราวเมื่อครั้งไปใช้ชีวิตอยู่ที่ประเทศอังกฤษ ดินแดนซึ่งทำให้เขาได้ค้นพบตัวเอง

ชายวัย 69 ปี เล่าให้ฟังว่า การทำงานในร้านอาหารแดนผู้ดีนั้น ทุกอย่างเต็มไปด้วยความพิถีพิถัน ไล่ตั้งแต่การเตรียมภาชนะไปจนถึงขั้นตอนการทำอาหาร

“ทุกอย่างพิถีพิถันหมด ยกตัวอย่างแก้วไวน์จะต้องแห้งและใส ส่องไฟต้องมีประกาย หากนำผ้าไปถูจะต้องได้ยินเสียง หรือการล้างผักก็ไม่ใช่ล้างแบบจุ่มลงไปเฉยๆ แล้วเอาลงกระทะลงจาน แต่ต้องพลิกใบมาดูให้ทั่วว่าสะอาดจริงๆ ไม่มีคราบหรือความสกปรกอะไรซ่อนอยู่”

ลุงน้องใช้ชีวิตอยู่ที่อังกฤษราว 8 ปี ตั้งใจว่าจะลงหลักปักฐานที่นั่น หากกลับมาก็เป็นแบบชั่วครั้งชั่วคราว อย่างไรก็ตามด้วยความที่ผู้เป็นพ่อต้องการให้เขากลับมาดูแลและช่วยงานธุรกิจที่บ้าน สุดท้ายจึงต้องกลับมาใช้ชีวิตอยู่ที่เมืองไทยแบบเสียไม่ได้

“พอทำงานช่วยที่บ้านไปสักพัก เราเริ่มเบื่อเลยดึงเพื่อนเข้ามาช่วยงานพ่อแทนเรา แล้วเราก็ไปสมัครงานที่โรงแรมแห่งหนึ่งในพัทยา ในตำแหน่งเชฟ เพราะเราอยากทำอาหาร แต่ปรากฏว่าเขาไม่สู้เงินเดือนเรา เขาบอกว่าถ้าเงินเดือนขนาดนี้เขาเพิ่มอีกนิดจ้างเชฟฝรั่งได้เลย สุดท้ายเขาก็ให้เราไปทำตำแหน่งอื่น ทำอยู่ได้ปีกว่า สุดท้ายดูแล้วไม่ได้เป็นเชฟแน่ๆ แล้วรายได้ก็ไม่ดี เราเลยลาออก”

หลังจากลาออกลุงน้องทำงานอีกหลายองค์กร ขณะเดียวกันก็นำเงินที่เก็บหอมรอมริบจากการทำงานมาเปิดร้านอาหารเป็นของตัวเอง เป็นรายได้อีกทางหนึ่งด้วย อย่างไรก็ตามด้วยความที่ต้องทำงานประจำไปด้วย ทำให้ลุงน้องไม่สามารถลงมาโชว์ผีมือทำอาหารด้วยตัวเองได้ หนักไปทางบริหารกิจการเสียเป็นส่วนใหญ่

“เราเคยเปิดร้านชื่อกระท่อมเสวย อยู่แถวลาดพร้าว 71 เป็นร้านอาหารไทย แต่ก็มีอาหารฝรั่งด้วย โดยเราบริหารทุกอย่าง ทั้งคิดเมนู จ้างแม่ครัว ควบคุมวัตถุดิบและค่าใช้จ่าย จากนั้นก็ย้ายมาเปิดที่เพลินจิต ราชประสงค์ แล้วก็ทำงานประจำไปด้วย ก่อนที่ต่อมาจะมาลงทุนทำธุรกิจที่เชียงใหม่ ซื้อที่ดินที่อำเภอสันป่าตอง ทำโรงงานใหญ่โต ขณะเดียวกันก็ยังเปิดร้านอาหารควบคู่กันไปด้วย แล้วก็ทำเป็นเบียร์การ์เด้น เรียกว่าธุรกิจในเวลานั้นไปได้ดีทั้ง 2 ทาง”

ในเมื่อท้องฟ้าไม่มีทางจะสว่างได้ทุกเวลา ชีวิตคนธรรมดาอย่างลุงน้องก็คงไม่ต่างกัน ชีวิตเมื่อขึ้นไปถึงจุดสูงสุด ก็คงจะต้องถึงคราวที่ตกลงมา เพียงแต่ว่าตัวเขาไม่คิดว่ามันจะดิ่งลงเร็วจนน่าใจหาย

“เราเจอกับวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2540 เมื่อฟองสบู่แตกจากที่เคยมีเงิน 60-70 ล้าน มีลูกน้องในการทำงาน มีกิจการใหญ่โต ทุกอย่างหายหมด แล้วตอนนั้นลูกเราก็เรียนอยู่เมืองนอก ยอมรับว่าเครียดมาก แต่เมื่อมองดูคนอื่นที่เจอแบบเดียวกัน บางคนฆ่าตัวตาย บางคนสิ้นเนื้อประดาตัวยิ่งกว่าเรา เราเลยกลับมามองว่า เรามีอะไรอยู่ ก็พบว่าอย่างน้อยที่สุดเราก็มีร้านอาหาร จะดีจะร้ายยังไงคนก็ยังต้องกินข้าว เราก็เลยเดินหน้าทำสิ่งที่เหลือต่อไป เพียงแต่เราไม่ทำใหญ่เหมือนเดิม ปรับเป็นร้านอาหารเล็กๆ ไม่ลงทุนเยอะให้เกิดความเสี่ยง”

จากที่เคยจ้างแม่ครัว ลุงน้องลงมาเป็นเชฟด้วยตัวเอง การได้ทำอาหารให้ลูกค้าทาน ปลดปล่อยเขาออกจากความทุกข์มากมายที่รุมเร้า รวมทั้งทำให้ไม่อาลัยอาวรณ์กับสิ่งที่สูญเสียไปแล้ว

“ถ้าจะถามว่าอะไรที่ทำให้เราผ่านวิกฤตในช่วงเวลานั้นมาได้ก็ต้องบอกว่าเป็นการที่เราได้ลงมือทำอาหาร เวลาอยู่ในครัวเราจะลืมทุกสิ่งทุกอย่างไปเลย พอเราไม่ไปโฟกัสกับมัน ความทุกข์ที่มีอยู่ก็ลดทอนลง จนเราค่อยๆ ลืมมันไป”

แม้จะผ่านพ้นวิกฤตมาได้แต่ดูเหมือนบททดสอบจากพระเจ้ายังไม่จบลงแค่นั้น เมื่อวันหนึ่งลุงน้องไม่สามารถที่จะลุกขึ้นมาทำอาหารให้ใครทานได้อีก

“เราป่วยเป็นอัมพฤกษ์ร่างกายด้านซ้ายไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ อย่าว่าแต่จะลุกขึ้นมาทำอาหารให้ใครกิน เอาแค่เดินเข้าห้องน้ำยังทำไม่ได้”

ลุงน้องจะผ่านบททดสอบนี้ไปได้อย่างไร จะเอาชนะโรคร้ายแล้วกลับมาทำสิ่งที่รักได้อีกครั้งหรือไม่ หรืออาหารจานต่อไปจะไม่มีวันเกิดขึ้นจากรสมือของเขาอีกเลย

รสขาติของชีวิต

“ปกติเราความดันสูงอยู่แล้วเนื่องจากดื่มเหล้า ทำงานดึก แล้วก็ไม่ออกกำลังกาย ความดันของเราอยู่ที่ 200 กว่าๆ เวลาไปหาหมอ หมอก็จะด่าเราทุกทีพร้อมกับให้ยามากิน แต่เราก็กินบ้างไม่กินบ้าง เนื่องจากกินยาแล้วมันง่วง พอง่วงก็ทำงานไม่ได้ ช่วงนั้นเราเปิดร้านถึงดึกด้วย ทุกเย็นเราก็จะกินไก่ทอดกับเบียร์ จากนั้นก็ต่อด้วยเหล้า ขณะเดียวกันก็สูบบุหรี่ด้วย เรียกว่าทุกอย่างครบสูตร”

ลุงน้องอธิบายถึงพฤติกรรมการใช้ชีวิตอันเป็นที่มาของการเป็นอัมพฤกษ์ ตัวเลขความดันโลหิตที่สูงถึง 200 ย่อมไม่ต่างอะไรจากการมีระเบิดเวลาฝังอยู่ในหัว กระทั่งวันหนึ่งระเบิดลูกนั้นก็ได้เวลาทำงาน

“เราตื่นมาแล้วรู้สึกปวดหัวมาก จากนั้นลิ้นแข็ง พูดไม่ชัด ตอนนั้นเรายังคิดว่าไม่เป็นอะไร เดี๋ยวไปเดินออกกำลังกายก็คงจะดีขึ้น แต่ปรากฏว่าพอไปเดินมันเวียนหัวมากแล้วน้ำลายก็เริ่มยืด เลยตัดสินใจว่าไม่ไหวแล้ว ให้ภรรยาพาไปหมอ หมอบอกว่าถ้ามาช้ากว่านี้อีกวันเดียวเส้นเลือดในสมองแตก เสียชีวิตแน่นอน”

ช่วงเวลา 1 วันที่ตัดสินใจไปหาหมอเร็วขึ้น แม้จะช่วยเซฟชีวิตลุงน้องไม่ให้จากโลกใบนี้ไป แต่ก็ไม่ได้ช่วยให้เขาหายเป็นปกติ ลุงน้องกลายเป็นอัมพฤกษ์ ร่างกายด้านซ้ายไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ แน่นอนว่าหากปล่อยไว้เช่นนี้ก็จะเป็นอัมพาตเต็มตัวในที่สุด

“มันทรมานนะ เวลาที่เราอยากจะทำอะไรแล้วทำไม่ได้ คือประสาทมันสั่งการ แต่ร่างกายมันกลับไม่ทำงานตามที่สั่ง เราคิดว่าหากปล่อยไว้แบบนี้มันไม่มีอะไรดีขึ้น อีกหน่อยเราคงเป็นอัมพาต นอนติดเตียง เป็นภาระให้ลูก-เมียต้องมาป้อนข้าวป้อนน้ำ อาหารก็ทำให้ใครทานไม่ได้ เราจะต้องไม่เป็นคนแก่แบบนั้น ก็เลยกลับมาลุกขึ้นสู้พยายามทำทุกอย่างด้วยตัวเอง”

ในช่วงที่นอนอยู่ที่โรงพยาบาล ลุงน้องพยายามทำกายภาพบำบัดให้ได้มากที่สุด แม้โอกาสจะมีไม่มากนัก แต่อย่างน้อยหากเขาจะต้องกลายเป็นคนพิกลพิการ ก็ขอให้เป็นความพิกลพิการที่อยู่ท่ามกลางความพากเพียร หลังกลับมาบ้านลุงน้องนำดินน้ำมันที่ซื้อมา ฝึกบีบมันด้วยมือข้างซ้าย จากนั้นก็ค่อยๆ ลุกขึ้นมาจับราวที่อยู่รอบบ้านเดินไปเดินมาขณะที่การทำกายภาพบำบัดก็ยังคงทำอยู่ไม่เคยขาด รวมทั้งหันมาควบคุมอาหาร เลือกกินแต่สิ่งที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย

“ถ้าเราไม่ลุกขึ้นสู้ ให้หมอเก่งแค่ไหนก็ไม่มีทางจะทำให้เราหายดี เราพยายามทำทุกอย่าง จนร่างกายเริ่มตอบสนองในทางที่ดี เริ่มหยิบจับของด้วยมือซ้ายได้ เริ่มเดินได้ช้าๆ จากนั้นก็ซื้อจักรยานมา แล้วก็ทดลองขี่มัน ตั้งใจว่าจะขี่ให้ได้รอบหมู่บ้าน ถ้าเกิดมันจะล้ม ก็ต้องล้ม ก็ล้มอยู่หลายครั้งแต่เราก็ลุกขึ้นมาขี่ใหม่ วันนี้ยังขี่ไม่ได้ วันต่อไปก็เริ่มใหม่ จากนั้นก็เริ่มลองทำอาหารเอง เริ่มจากใช้ร่างกายด้านขวาทำก่อนแล้วก็พยายามใช้ร่างกายด้านซ้ายให้มากขึ้น เราทำทุกอย่างที่ว่ามาไม่เคยขาด ทำทุกวัน จนสุดท้าย ก็เริ่มกลับมาเป็นปกติอีกครั้ง”

ลุงน้องใช้เวลาทั้งหมด 2 ปี จากคนพิการซีกซ้ายกลายมาเป็นคนปกติ ชายใจแกร่งวัย 69 บอกว่าในช่วงที่ชีวิตกำลังต่อสู้กับโรคร้าย เขาคิดถึงการทำอาหารทุกวัน มันเป็นความปรารถนาอย่างแรงกล้า ที่จะพาตัวเองกลับมายืนอยู่ในครัวและทำอาหารให้ลูกค้าได้ทานอีกครั้ง

“ในช่วงที่เราเป็นอัมพฤกษ์ เราปิดร้านไปเลย รายได้ก็ใช้เอาจากเงินเก็บที่พอมีอยู่ เชื่อไหมว่าในช่วงนั้นไม่มีวันไหนเลยที่ไม่คิดถึงการทำอาหาร เราคิดถึงมัน แล้วก็วางเป้าหมายว่าจะต้องหายดี กลับมาเปิดร้านให้ได้อีกครั้ง”

ความคิดถึงแปรเปลี่ยนเป็นความพยายาม ความพยายามแปรเปลี่ยนเป็นความสำเร็จ

ในที่สุดลุงน้องก็กลับมาทำอาหารที่เขารักอีกครั้ง

ถูกและดี

ใครหลายคนเคยบอกว่าของถูกและดีไม่มีในโลก แต่นั่นไม่ใช่สำหรับ Cotton Hut Café ร้านอาหารของลุงน้อง

“ร้านของเราจะเน้นอาหารโฮมเมด แรกๆ ก็มีอยู่ 5-6 เมนู แล้วก็มีอยู่แค่ 4 โต๊ะแต่พอมีคนเริ่มมาทานกันเยอะขึ้น เราก็เริ่มคิดเมนูใหม่ๆ ขึ้นมา จาก 5-6 เมนูก็เป็น 10 เมนู จนตอนนี้มีอยู่กว่า 20 เมนูแล้ว

“สิ่งที่เราเน้นมากก็คือตัวของวัตถุดิบ คือเราจะใช้วัตถุดิบที่มีอยู่ในท้องถิ่นเป็นหลัก อย่างผักเราจะใช้ผักของโครงการหลวง หรืออย่างซอส เราจะไม่ใช้ซอสทั่วไป แต่เราจะกวนซอส ตีซอสเอง เรียกว่าทำเองหมด ที่สำคัญเราไม่ได้ตั้งโจทย์ข้อแรกไว้ที่กำไร แต่ก็มีข้อแม้ว่าต้องไม่ขาดทุน สิ่งที่เรามุ่งหวังก็คือคุณภาพของอาหารที่ลูกค้าจะได้รับ ให้เขากินอิ่ม กินอร่อย ในราคาที่ไม่แพงนัก นี่คือความสุขที่แท้จริงของเราในการทำอาหาร”

สปาเก็ตตี้ก็อดฟาเธอร์ อกไก่โรสแมรี่อบน้ำผึ้ง หัวไหล่แกะราดซอสไวน์แดง แฮมเบอร์เกอร์โฮมเมด แซนวิชโฮมเมด ไส้กรอกโฮมเมด สปาเก็ตตี้เบคอนกรอบ ฯลฯ เหล่านี้คือเมนูขึ้นชื่อของทางร้าน ซึ่งนอกจากจะใช้วัตถุดิบชั้นดี ให้ปริมาณเยอะแล้ว ยังมีราคาถูกกว่าร้านทั่วไปถึงเกือบเท่าตัว

“อย่างสปาเก็ตตี้ก็อดฟาเธอร์ เมนูขึ้นชื่อของทางร้าน เป็นเมนูที่เราตั้งชื่อขึ้นมาเอง เนื่องจากเราดูหนังเรื่อง เดอะ ก็อดฟาเธอร์ แล้วเห็นตระกูลคอลิโอเน่ ซึ่งเป็นตระกูลเจ้าพ่อในเรื่องนี้ เวลาเขากินสปาเก็ตตี้ เขาไม่ได้ทำกินแต่เส้น แต่ยังมีวัตถุดิบและอาหารหลายอย่างอยู่ในนั้น เรียกว่ากินกันแบบอร่อย ถึงใจ เราอยากให้ลูกค้าเราได้กินแบบนั้นบ้างก็เลยเอามาคิดค้นแล้วก็ออกแบบเอง โดยนอกจากส่วนที่เป็นเส้นแล้วในจานเรายังมีหมูทอดเกล็ดขนมปังโปะชีส มีสลัด มีขนมปังกระเทียมเรียกว่าเราให้ลูกค้ากินแบบอลังการเลย โดยขายเพียงจานละ 95 บาทเท่านั้น ซึ่งหากเป็นที่อื่น ที่ใช้วัตถุดิบเกรดเดียวกัน และปริมาณขนาดนี้ ราคาอาจจะอยู่ที่ 190 บาทขึ้นไป แต่เราทำในบ้านตัวเอง ไม่ต้องเช่าร้าน ต้นทุนเราก็เลยมีไม่มาก เลยสามารถที่จะขายได้ในราคาถูก

“เมื่อลูกค้ากินอิ่ม ได้กินของดีและราคาถูก เขาก็มีความสุข เมื่อเขามีความสุขเราก็มีความสุข”

ทุกวันนี้ลุงน้องจะตื่นนอนตั้งแต่ตี 5.30 เตรียมตัวออกไปซื้อของ รวมทั้งกลับมาเตรียมของเพื่อเปิดร้าน ในช่วงราวๆ 10 โมง โดยขายถึง 16.30 น. ก็เตรียมปิดครัวและเก็บร้าน

อย่างไรก็ตามหากลูกค้าคนใดหิวจนไส้กิ่วและอยากทานอาหารฝีมือของเขา ลุงน้องบอกให้มาเคาะประตูบ้านได้เลย หากไม่เหลือบ่ากว่าแรงเขายินดีที่จะทำให้แม้ว่าจะปิดครัวไปแล้วก็ตาม

“บางทีเราอาจจะปิดครัวไปแล้ว แต่ก็มีลูกค้าบางคนที่เขาหิว คือถ้าไม่พักผ่อนหรือนอนไปแล้ว ก็มาเคาะประตูได้เลย ถ้าดูแล้วเรายังไหว เรายินดีทำให้กิน ต่อให้มาคนเดียวเราก็ทำให้

“ชีวิตเรามันผ่านเรื่องขาดทุน-กำไรมาไกลแล้ว เราเอาชนะโรคร้าย ผ่านพ้นความตาย แล้วกลับมาทำอาหารได้อีกครั้ง แค่นี้ชีวิตก็คุ้มค่าไม่จำเป็นต้องหากำไรมากมายแล้ว”

ความสุขแบบย่อมเยา

ความสุขของลุงน้องในวันนี้ไม่ใช่ความสุขที่มีราคาแพงมากดังเช่นเมื่อก่อน หากจะบอกว่าเป็นความสุขแบบราคาย่อมเยาก็คงไม่ผิดนัก

“ทุกวันนี้เราขอแค่ตื่นขึ้นมาแล้วมีสุขภาพที่แข็งแรง มีแรงที่จะทำงาน มีสมองคิดที่จะครีเอทอาหาร ให้ลูกค้ากินอาหารให้อร่อย ต่อให้มีมากินแค่คนเดียวเราก็มีความสุขแล้ว ความสุขของเราในตอนนี้มันหาง่าย ไม่ใช่ความสุขที่มีราคาแพงเหมือนกับเมื่อก่อน”

ความสุขราคาแพงที่ลุงน้องหมายถึงคือช่วงเวลาเมื่อหลายสิบปีก่อนที่เขายังประกอบธุรกิจมีเงินหลายสิบล้าน มีลูกน้องในองค์กรเป็นร้อยคน แน่นอนว่าในช่วงนั้นความมั่งมีก็อาจเป็นความสุข หากแต่ก็เป็นความสุขที่มาพร้อมกับความเครียด ความกังวล ต้องออกไปแสวงหา ต่างจากวันนี้ที่เป็นความสุขราคาย่อมเยา มีเงื่อนไขน้อย ขอแค่ตื่นมาแล้วมีแรงทำอาหารให้คนกิน

ว่ากันว่าคนทุกคนโลกใบนี้ล้วนมีความสุขแตกต่างกันออกไปความรู้สึกของแต่ละคน ความสุขของบางคนมีราคาแพงและต้องใช้เงื่อนไขมากมายในการที่จะได้มา ขณะที่บางคนความสุขดูจะเป็นเรื่องง่ายดาย แทบจะไม่มีเงื่อนไข และดูเหมือนไม่จำเป็นต้องออกแรงวิ่งตามหา

ความสุขแบบย่อมเยาของลุงน้องทุกวันนี้ คงไม่จำเป็นต้องนิยามว่ามันเป็นความสุขแบบไหน จะเป็นแบบแรกหรือแบบหลัง ความเป็นจริงในชีวิตของเขาคงเป็นคำตอบที่ดีที่สุด

“ความสุขของเราทุกวันนี้ มันหาง่ายมาก มันไม่ต้องหาเงินให้ได้เป็นล้านเหมือนเมื่อก่อน มันไม่ใช่ความสุขที่มีราคาแพงอะไรเลย

“สุดท้ายเราแค่อยากบอกว่าความสุขมันไม่ได้ขึ้นอยู่ที่ตัวเงิน แต่มันขึ้นอยู่ที่ตัวเรา”

Credits

Authors

  • ปองธรรม สุทธิสาคร

    Author & Photographerเป็นคนเขียนหนังสือ ที่หลงใหลในวรรณกรรมน้อยกว่ากีฬา และภรรยาของตนเอง ยามว่างหากไม่ใช้เวลาไปกับการนั่งคุยกับคน ก็มักหมดเวลาไปกับการนั่งดูบาส ดูบอล และละครน้ำเน่า นักเขียนวัยหลักสี่คนนี้ยืนยันว่าตนเองคือนักอุทิศเวลาให้กับความขี้เกียจ เนื่องจากเขามีความเชื่อว่าชีวิตที่ดีต้องเป็นชีวิตที่ขี้เกียจได้

  • บุญทวีกาญน์ แอ่นปัญญา

    Cameramanเดินให้ช้าลง ใช้เวลามองความสวยงามข้างทาง

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ