แป้ง-ณัฐธิดา ศาสตร์ยุทธ คือเจ้าของเพจ Noonday เพจถ่ายภาพที่มีผู้ติดตามมากกว่า 5 หมื่นคน นอกจากนั้นเธอยังมีอาชีพเป็นช่างภาพอิสระรับถ่ายรูปทั่วไป เช่น งานรับปริญญา งานแต่งงาน งานศพ ฯลฯ ตามแต่ผู้ว่าจ้างจะต้องการ
บนวัย 22 ปี การมีรายได้ขนาดเลี้ยงดูคนในครอบครัวได้ นับได้ว่าไม่ธรรมดา อย่างไรก็ตามสิ่งเหล่านั้นไม่ได้ทำให้เธอมีความสุขมากไปกว่าการทำงานที่เธอรัก เป็นผู้บันทึกวันเวลาและความทรงจำในชีวิตของผู้คน
แป้งชอบถ่ายภาพ Portrait ซึ่งเป็นการถ่ายภาพแนวบุคคล โดยเธอจะเน้นไปที่แววตา อารมณ์ รอยยิ้มและความสุขของคนที่อยู่ในเฟรมเป็นหลัก
แป้งเริ่มจับกล้องครั้งแรกตอนอายุ 16 ปี ถึงวันนี้เธอบันทึกเรื่องราวของผู้คนมาแล้วเป็นจำนวนไม่น้อย ทว่าในจำนวนนั้นแทบจะไม่มีภาพของอากงและอาม่า คนซึ่งเปรียบได้กับพ่อและแม่ของเธออยู่เลย กระทั่งวันหนึ่งอากงเดินเข้ามาขอให้เธอถ่ายภาพของเขาเอาไว้เนื่องจากรู้ว่าตนเองจะมีชีวิตอยู่อีกไม่นาน
“อากงป่วยเป็นมะเร็งตับระยะสุดท้าย เขาเดินมาบอกเราว่าถ่ายภาพให้เขาหน่อยได้ไหม จะได้มีรูปตั้งไว้ในงานศพ”
ความรู้สึกของช่างภาพสาวสุดเศร้าเกินกว่าจะบรรยาย อย่างไรก็ตามหลังจากเวลาผ่านพ้นไป เธอก็รวบรวมความกล้ารับปากอากงว่าจะเป็นผู้บันทึกภาพให้ เพียงแต่ภาพที่ถ่ายออกมาจะไม่ใช่ภาพหน้างานศพแบบที่อากงร้องขอ
มันไม่ใช่ภาพของคนที่หมดกำลังใจและเดินเข้าใกล้ความตาย หากแต่เป็นภาพของคนที่กำลังเริงระบำและเต็มไปด้วยความหวังในชีวิต
พ่อแม่คนที่สอง
วิกฤตเศรษฐกิจในช่วงปี 2540 ทำให้ชีวิตของหลายครอบครัวพบกับความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่
ครอบครัวของแป้ง-ณัฐธิดา ศาสตร์ยุทธ์ เองก็ไม่ต่างกัน เพราะวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2540 นี่เองที่ทำให้พ่อและแม่ของเธอจำต้องเปลี่ยนเส้นทางทำมาหากินและฝากลูกไว้ให้อยู่ในการเลี้ยงดูของปู่และย่า หรือที่เธอเรียกว่าอากงและอาม่าตั้งแต่ยังเด็ก
“เดิมทีพ่อและแม่มีอาชีพขายของชำ แต่เป็นแบบขายส่งนะไม่ใช่ขายปลีกเหมือนตามร้านทั่วไป แต่พอเกิดวิกฤตเศรษฐกิจพ่อกับแม่ก็ต้องล้มเลิกกิจการ ต้องเปลี่ยนงานใหม่ไปทำสวนส้มและปลูกข้าวอยู่ที่กำแพงเพชร แล้วก็เอาเราไว้กับอากงอาม่าก่อนจะอยู่ที่นั่นถาวร กงกับม่าก็เลยเลี้ยงเรามาตั้งแต่ 9 เดือนจนถึงตอนนี้”
แม้จะไม่ได้เติบโตมากับพ่อแม่แท้ๆ แต่แป้งก็ไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองขาดความรักความอบอุ่นหรือมีปมด้อยในชีวิตแต่อย่างใด เนื่องจากอากงและอาม่าดูแลเธออย่างดีมากๆ คอยเอาใจใส่มีเวลาให้เธอตลอดเวลา แป้งสามารถเล่าเรื่องทุกเรื่องให้อากงและอาม่าฟังได้อย่างเปิดเผย ไม่ว่าเรื่องนั้นจะเป็นเรื่องสุข เรื่องเศร้า เรื่องทุกข์ หรือเรื่องไร้สาระแค่ไหนก็ตาม
“เราสามารถคุยกับอากงและอาม่าได้ทุกเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสุข เรื่องทุกข์ หรือเรื่องไร้สาระ อย่างเรามีแฟนหรือเลิกกับแฟนก็บอกกงกับม่า หรืออย่างเราไปแอบชอบใครเขาแต่เขาไม่ชอบ กงกับม่าก็จะแซวว่าก็เป็นซะอย่างนี้ใครมันจะไปชอบ
“จำได้ว่าตอนที่เราเสียใจร้องไห้เพราะเอ็นทรานซ์ไม่ติด ก็เป็นกงกับม่าที่ช่วยปลอบใจบอกเราว่าไม่เป็นไรให้ลองสู้ใหม่นอกจากนี้กงกับม่ายังเป็นคนที่จำรายละเอียดเกี่ยวกับตัวเราได้ดีมาก โดยเฉพาะอากง เคยมีอยู่ครั้งหนึ่งเราไปเดินตลาดแล้วเห็นลูกชิ้นปลาน่ากิน เราบอกกงเฉยๆ ไม่ได้คิดอะไร ปรากฏว่าเย็นวันนั้น กงซื้อลูกชิ้นปลามาให้เราเลย
“แม้จะไม่ได้อยู่กับพ่อแม่แต่เราไม่เคยขาดความรัก กงกับม่าเลี้ยงดูเราดีมาก สามารถพูดได้เต็มปากเลยว่าเขาคือพ่อแม่คนที่สองของเรา”
สำหรับพ่อแม่แท้ๆ ของแป้ง ทั้งคู่ไม่ได้ห่างหายไปไหน แม้จะอยู่กันคนละที่แต่ยังโทรศัพท์คุยกับลูกสาวแทบทุกวันรวมทั้งส่งเงินมาเป็นค่าเลี้ยงดูแป้งและทุกคนในครอบครัวตั้งแต่เล็กจนโต อย่างไรก็ตาม ปฏิเสธไม่ได้ว่าสาววัย 22 รู้สึกรักและผูกพันกับอากงอาม่ามากกว่าใครในชีวิต
“สำหรับเรา อากงและอาม่าคือทุกอย่างในชีวิต เป็นทั้งพ่อแม่ เป็นทั้งปู่ย่า เป็นทั้งเพื่อน เป็นคนที่เราแชร์ทุกอย่างในชีวิตได้ ถ้าจะเปรียบเทียบให้ชัดๆ กงกับม่าก็เป็นเหมือนบ้านที่ให้ความอบอุ่น เป็นเซฟโซน เป็นพื้นที่ที่เรารู้สึกปลอดภัย
“เราโชคดีมากๆ ที่มีอากงและอาม่าอยู่ในชีวิต”
การถ่ายภาพคือความรัก
แป้ง – ณัฐธิดาเริ่มรู้สึกชอบการถ่ายรูปเมื่อตอนอยู่ม .4 เพียงแต่ตอนนั้นยังไม่ได้จริงจังอะไรมากมาย เธอไม่คาดคิดด้วยซ้ำว่าวันหนึ่งการถ่ายภาพจะสร้างรายได้ให้เธอเลี้ยงดูครอบครัวได้อย่างสบายๆ ไม่เดือดร้อน
“เราเริ่มจากการชอบถ่ายรูปในโทรศัพท์มือถือก่อน เราถ่ายทั้งรูปท้องฟ้า รูปคนเดิน รูปหมา รูปแมว รูปอาหาร ฯลฯ เรียกว่าอยากถ่ายอะไรก็ถ่ายไปเรื่อย จนกระทั่งตอนม. 4 เราถึงได้มีโอกาสลองจับกล้องถ่ายรูปเป็นครั้งแรก เป็นกล้องของอาจารย์ฝึกสอนที่โรงเรียน พอลองถ่ายดูก็รู้สึกว่าภาพจากกล้องมันดูมีมิติและสวยกว่าในโทรศัพท์มือถือมาก คิดว่าถ้ามีกล้องสักตัวเป็นของตัวเองก็คงจะดี”
ด้วยความที่ยังเป็นเด็กยังไม่มีรายได้เป็นของตัวเอง เด็กสาวเก็บความรู้สึกของตัวเองเอาไว้อย่างนั้น เพียงแต่เล่าให้อากงฟังว่าเธอได้มีโอกาสถ่ายภาพด้วยกล้องจริงๆ เป็นครั้งแรกและมันให้ความรู้สึกแตกต่างจากการถ่ายภาพด้วยโทรศัพท์มือถือแบบคนละเรื่อง
ไม่กี่วันต่อมาอากงพาเธอไปที่ร้านขายกล้องในห้างสรรพสินค้าฟิวเจอร์พาร์ค รังสิต ก่อนควักเงินกว่า 2 หมื่นบาทซื้อกล้องถ่ายรูปให้หลานรัก
Canon 700D คือกล้องถ่ายรูปตัวแรกในชีวิตของแป้ง เธอจำความรู้สึกได้ว่าตัวเองดีใจมาก แม้ว่าจะยังไม่สามารถนำมันไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดด้วยการหารายได้อย่างที่ควรจะเป็น แต่ก็ทำให้เธอหลงรักการถ่ายรูปอย่างจริงจัง
“ตอนอยู่ปี 2 เพื่อนที่มหาวิทยาลัยชวนเราทำเพจถ่ายรูปเราก็เลยลองดู แต่เป็นการถ่ายตามความรู้สึก เริ่มจากการถ่าย Portrait เพื่อนๆ ในกลุ่มแล้วก็ทำมาเรื่อยๆ แต่ถ่ายไปถ่ายมาเรารู้สึกว่างานของเพื่อนกับเรามันคนละแนวก็เลยขอแยกออกมาทำเพจของตัวเองดีกว่า”
หลังจากเริ่มรู้ว่าตัวเองหลงรักการถ่ายภาพอย่างจริงจัง แป้งจึงเริ่มหันมาทำเพจของตัวเองตั้งแต่ยังเรียนอยู่ในรั้วมหาวิทยาลัย พร้อมกันนั้นก็รับจ้างถ่ายรูปตามงานต่างๆ ไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นงานรับปริญญา งานแต่งงาน งานบวช งานศพฯลฯ โดยเธอเริ่มสั่งสมประสบการณ์เก็บชั่วโมงบินมาเรื่อยๆ ขณะเดียวกันตัวเพจก็เริ่มเป็นที่รู้จัก รวมทั้งมีสปอนเซอร์เข้ามามากขึ้น
“ถึงวันนี้เราเปิดเพจมาได้ 2 ปีกว่าแล้ว เราตั้งชื่อเพจว่า Noonday เนื่องจากเราเกิดวันที่ 12 เดือน 12 แล้วก็เป็นช่วงเที่ยงตรงพอดี ซึ่งภาษาอังกฤษก็เป็นช่วงที่เรียกว่า noon ก็เลยตั้งเพจว่า Noonday โดยเพจเราจะเน้นถ่ายภาพ Portrait เสียส่วนใหญ่ เน้นไปที่การสื่ออารมณ์และความสุข นอกจากนั้นก็จะมีภาพวิว ภาพทะเลบ้าง แต่โดยมากจะเน้นคนเป็นหลัก ซึ่งถึงวันนี้เพจเราก็มีคนติดตามประมาณ 1 แสนคนแล้ว ขณะที่สปอนเซอร์ก็มีเข้ามาเรื่อยๆ อาจจะไม่ได้เยอะแยะมากมายแต่เมื่อรวมกับที่เรารับถ่ายงานต่างๆ เช่น งานรับปริญญา งานแต่งงาน ฯลฯ รวมๆ แล้วก็มีรายได้เลี้ยงดูครอบครัว พอที่จะดูแลกงกับม่าได้”
จากกล้องตัวแรกที่อากงซื้อให้ในวันนั้น ถึงวันนี้แป้งสามารถหาเงินจากการถ่ายภาพได้มากกว่าสิ่งที่อากงลงทุนให้หลายเท่าตัว
ด้วยความที่ชื่นชอบการถ่ายภาพ Portrait จึงทำให้มีคนมากมายหลายร้อยที่ผ่านฝีมือการลั่นชัตเตอร์ของช่างภาพสาววัย 22 ทว่าไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่าท่ามกลางผู้คนมากมายนั้นกลับไม่มีภาพของคนที่รักที่สุดในชีวิตอย่างอากงและอาม่าอยู่เลย
“เราแทบไม่เคยถ่ายรูปกงกับม่าเลย เพราะทั้งอากงทั้งอาม่าเป็นคนไม่ชอบถ่ายรูป จะมีก็เพียงรูปถ่ายขาวดำที่เราได้มาจากญาติซึ่งเขาถ่ายในวันแต่งงานเมื่อ 50 ปีก่อน”
ตลอดเวลาที่ผ่านมาด้วยความที่ต้องทำงาน ประกอบกับอากงกับอาม่าก็เป็นคนไม่ชอบถ่ายรูปเป็นทุนเดิม จึงทำให้ทั้งคู่ไม่มีรูปถ่ายที่ได้จากการกดชัตเตอร์ของหลานรักอย่างแป้งเลย
ทุกอย่างคงจะดำเนินต่อไปเช่นนี้ หากว่าวันหนึ่งอากงไม่ได้เดินเข้ามาบอกอะไรบางอย่างกับเธอ
ชายวัย 75 บอกกับหลานสาวว่าเขากำลังเป็นมะเร็งตับระยะสุดท้าย และอาจมีชีวิตอยู่อีกไม่นาน อากงไม่ได้ขออะไรมากนอกเสียจากให้ช่วยถ่ายรูปเขาสักใบ
เพื่อใช้ในงานศพ
รูปที่ไม่อยากถ่าย
หลังจากได้ฟังสิ่งที่อากงร้องขอ ช่างภาพสาววัย 22 วิ่งออกไปนอกบ้าน ปิดหน้าร้องไห้อยู่คนเดียว
ก่อนที่จากนั้นไม่นานจะกดรูปของอากงเดี่ยวๆ ให้ไป ท่ามกลางรูปถ่ายนับร้อยนับพัน นี่เป็นรูปที่เธอไม่อยากถ่ายมากที่สุดในชีวิต
“พอฟังแล้วเราช็อคไปเลย ไม่เคยคิดว่าจะต้องมาเจออะไรแบบนี้ เราเคยแต่ถ่ายรูปให้กับคนอื่น ได้เห็นความสุขของคนที่เราถ่ายรูปให้ แต่นี่เรากลับต้องมาถ่ายรูปคนที่เรารัก คนที่เลี้ยงเรามา เพื่อให้เขาเอาไปตั้งในงานศพ มันกลั้นไม่อยู่ ห้ามความรู้สึกไม่ได้จริงๆ”
ช่างภาพสาวเล่าถึงวินาทีที่อากงเดินเข้ามาขอให้เธอถ่ายรูปด้วยเสียงสั่นเครือ ด้วยวัยเพียงแค่ 20 ต้นๆ การล่วงรู้ว่าจะสูญเสียคนที่เป็นดั่งพ่อแม่ย่อมไม่ใช่เรื่องที่เธอจะเตรียมรับมือได้ง่ายนัก
ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ล้วนมีเวลาที่เหมาะสมเป็นของตัวเอง การทำใจยอมรับความจริงที่เกิดขึ้นของเด็กสาววัย 22 อย่างแป้งก็เช่นกัน มันต้องใช้เวลานานพอสมควรกว่าที่เธอจะยอมรับได้
“เราอยู่ในวัยแค่นี้ แล้วยังไม่เคยเจอการสูญเสียก็เลยยังรับไม่ได้ในช่วงแรก แต่พออยู่ไปเห็นอากงก็ยังดูแข็งแรงยังเดินได้ กินข้าวได้ตามปกติทุกอย่าง เราก็เลยคิดได้ บอกตัวเองว่าโอเคเราจะไม่มานั่งเสียใจกับสิ่งที่ยังมาไม่ถึง เราทำช่วงที่อยู่ด้วยกันตอนนี้ให้ดีที่สุดดีกว่า
“ในเมื่อเราไม่เคยถ่ายรูปอากงอาม่าเลย เราก็ถ่ายเขาในขณะที่ยังมีความสุขด้วยกันดีกว่า อย่างน้อยที่สุดก่อนที่วันนั้นจะมาถึงเราจะได้มีช่วงเวลาที่ดีร่วมกัน จากนั้นเราก็เลยชวนอากงกับอาม่ามาถ่ายรูปด้วยกัน ตอนแรกก็ไม่ยอมเพราะเขาไม่ชอบถ่ายรูป แต่พอเราขอร้องอ้อนวอนมากเข้า กงกับม่าก็ไม่ปฏิเสธ”
แป้งถ่ายภาพอากงกับอาม่าของเธอในหลากหลายอิริยาบถ รวมทั้งมีธีมต่างๆ มากมายไม่ว่าจะเป็นธีมวันคริสต์มาสธีมวัยรุ่น ธีมคู่รัก ธีมสวนสัตว์ ฯลฯ ซึ่งเมื่อนำไปโพสต์ลงในเพจ Noon day กลับมีแฟนๆ เข้ามาให้กำลังใจอย่างล้นหลาม อีกทั้งยังไปเตะตาสปอนเซอร์หลายๆ เจ้าที่ติดต่อเข้ามาให้อากงกับอาม่าเป็นแบบโฆษณาสินค้า จากที่ตั้งใจว่าจะบันทึกช่วงเวลาดีๆ ในชีวิตกลับกลายเป็นการสร้างรายได้โดยไม่คาดคิดมาก่อน
“แรกๆ ที่เราถ่ายภาพอากงอาม่าโพสต์ลงเพจแล้วเขียนเล่าเรื่องราวทั้งหมดที่เกิดขึ้น โดยตั้งชื่อว่า ‘เพราะชีวิต … อยู่ได้ด้วยกำลังใจ’ ปรากฏว่ามีคนเข้ามากดไลก์และแชร์เป็นหมื่น บางคนเขียนข้อความมาในอินบ็อกซ์บอกว่าขอบคุณมากรู้สึกมีกำลังใจขึ้นมากเพราะเขาเองก็ป่วยอยู่เหมือนกัน หรือบางคนก็บอกว่าขอบคุณที่ทำให้เขาลุกขึ้นสู้และไม่ท้อแท้ มันกลายเป็นว่าเรื่องราวของอากงและอาม่าส่งต่อกำลังใจให้กับคนอื่นได้ดีมากๆ หลังจากนั้นเราจึงถ่ายรูปของกงกับม่ามากขึ้นเรื่อยๆ
“จนกระทั่งเริ่มมีสปอนเซอร์หลายๆ รายติดต่อเข้ามาให้เป็นแบบโฆษณาสินค้า มีทั้งแว่นตา โทรศัพท์มือถือ ไปจนถึงสินค้าอย่างข้าวสาร ฯลฯ แล้วก็ยังมีงานอีเว้นท์ต่างๆ ที่จ้างกงกับม่าไปแบบแพ็คคู่ กลายเป็นว่าสินค้าหลายๆ แบรนด์ชอบอากงกับอาม่ายิ่งกว่าหนุ่มสาวทุกคนที่เราเคยถ่ายมาเสียอีก”
ไม่ใช่แค่มีคนมาขอบคุณให้กำลังใจและมีรายได้มากขึ้น หากแต่การถ่ายภาพอากงกับอาม่ายังทำให้ทั้งเด็กสาวและผู้สูงวัยทั้งสองได้ใช้เวลาชีวิตร่วมกันมากกว่าเดิม
“สิ่งสำคัญคือเราทั้งหมดได้คุยกันมากขึ้น ได้ใช้วันเวลาดีๆ ร่วมกัน ซึ่งบางทีหากอากงไม่ได้เป็นโรคร้ายเราอาจไม่ได้ใช้เวลาร่วมกันแบบนี้”
ความรักของอากงกับอาม่า
ความรักของอากงกับอาม่าไม่ได้หวือหวาอะไรมากมายเหมือนกับความรักของหนุ่มสาวสมัยใหม่ ทุกอย่างเป็นไปอย่างเรียบง่ายไม่ซับซ้อน แต่ก็มั่นคงจนถึงทุกวันนี้
“อาม่าเล่าว่าความรักของอาม่ากับอากงไม่ได้มีเวลาคบหาดูใจ หรือไปไหนมาไหนด้วยกันสองต่อสองเหมือนหนุ่มสาวสมัยนี้ ความรักของอาม่ากับอากงเกิดขึ้นจากการมีพ่อสื่อพามาดูตัว แต่ก็ยังสามารถเลือกได้ว่าจะแต่งงานหรือไม่ ถ้าดูตัวกันแล้วโอเคก็แต่ง ถ้าไม่ชอบก็ไม่ต้องแต่ง”
อากงกับอาม่าแต่งงานกันเมื่อ 50 ปีก่อน โดยฝ่ายชายมีอายุ 25 ปี ส่วนฝ่ายหญิงอายุ 22 ปี ทั้งคู่เป็นลูกชาวสวน อาม่าเป็นคนอำเภอสามโคก ปทุมธานี ส่วนอากงอยู่ที่อำเภอวังน้อย พระนครศรีอยุธยา แม้จะอยู่ด้วยกันมากว่าครึ่งศตวรรษแต่ทั้งอากงและอาม่าเป็นคู่แสดงออกถึงความรักน้อยมาก ยิ่งถ้าอยู่ต่อหน้าคนอื่นด้วยแล้วจะมาให้กอด หอม จับมือถือแขนยิ่งแทบเป็นไปไม่ได้ ดังนั้นการที่หลานสาวอย่างแป้งจะให้ทั้งสองมาถ่ายรูปร่วมกันโดยแสดงออกถึงความรักจึงเป็นสิ่งที่ยากที่สุดในการถ่ายภาพครั้งนี้
“ทั้งอากงและอาม่าไม่ใช่คนที่แสดงออกเรื่องความรัก เขาจะเขินเวลาที่เราบอกให้กอด หอม หรือจับมือกัน คือคนวัยเขาจะไม่ทำอะไรแบบนี้ เราต้องขอร้องอยู่นาน หรือบางทีก็ต้องจัดท่าให้เขา พอเห็นเขาเขินอายกันเป็นเด็กๆ ก็น่ารักดี ซึ่งเราก็คิดว่ากงกับม่าเองก็คงรู้สึกสนุกดีที่ได้ทำอะไรที่ไม่เคยทำมาก่อน”
แม้จะไม่ได้เป็นคนที่แสดงออกเรื่องความรักด้วยกันทั้งคู่ ทว่านั่นก็ไม่ได้หมายความว่าทั้งอากงและอาม่าไม่รักกันความรักของทั้งสองคนอาจไม่ได้สื่อออกมาในรูปแบบของการสัมผัส โอบกอด หรือหอมแก้ม หากแต่ปรากฏตัวอยู่ในรูปแบบของการอยู่เคียงข้างและความสม่ำเสมอในทุกๆ วัน ตลอด 50 ปีที่ผ่านมา
“ถึงเขาจะไม่แสดงออกถึงความรักโดยการสัมผัส แต่เราเชื่อว่าเขารักกันมาก เขาแสดงออกด้วยการไปไหนมาไหนด้วยกัน อยู่ข้างๆ กัน คอยใส่ใจห่วงใยดูแลกันทุกวัน ตอนที่อากงป่วยอาม่าดูแลไม่เคยห่าง แล้วเราเห็นเขาทำแบบนี้มาตลอดทุกวันตั้งแต่เราเกิด เราว่ามันมีค่ามากกว่าการมาหอมแก้มหรือจับมือให้คนอื่นดูอีกนะ มันเหมือนอากงกับอาม่าบอกรักกันทุกวันผ่านสิ่งเหล่านี้ โดยที่เขาไม่จำเป็นต้องพูดมันออกมาเลย”
จากรูปที่ไม่อยากถ่าย มาถึงวันนี้กลับกลายเป็นรูปที่ช่างภาพอย่างแป้งถ่ายแล้วรู้สึกมีความสุขที่สุดตลอดชีวิตการทำงานที่ผ่านมาของเธอ
“ถ้าให้ย้อนกลับไปในวันที่กงเดินมาขอให้ถ่ายรูปให้แล้วจะตัดสินใจแบบเดิมไหม เราบอกได้เลยว่าเราก็ยังจะตัดสินใจเหมือนที่ทำวันนี้ แน่นอนว่าคนเราทุกคนไม่มีใครอยากให้คนที่เรารักจากไปหรอก เราเองก็เหมือนกับคนอื่นๆ ที่ไม่อยากสูญเสียคนที่รักเหมือนกัน แต่เหตุการณ์ที่เป็นอยู่มันทำให้เรายอมรับความจริงได้มากขึ้น ว่าเราคงไม่ได้อยู่ด้วยกันตลอดไป
“เอาจริงๆ เมื่อเวลานั้นมาถึง ก็ไม่รู้หรอกนะว่าจะทำใจยอมรับมันได้แค่ไหน แต่อย่างน้อยที่สุดในช่วงเวลาที่เหลืออยู่เราก็ได้ใช้มันกับคนที่เรารัก
“เราไม่รู้หรอกว่าวันนั้นมันจะเป็นยังไง แต่วันนี้เราบอกได้เลยว่านี่คือช่วงเวลาที่เราทุกคนมีความสุข”