แม้รับราชการครูมีตำแหน่งเป็นถึงผู้อำนวยการโรงเรียน แต่ ธีระพล จันทวงษ์ กลับมองว่าหลังจากเกษียณไปเขาอาจกลายเป็นคนแก่ที่ทำได้แค่นั่งผลาญเงินบำเหน็จ-บำนาญ หากว่าไม่รีบหาอะไรทำให้เป็นชิ้นเป็นอัน
“คนเรามันไม่ใช่ว่าเกษียณแล้วชีวิตมันจะจบไปด้วยแต่มันยังต้องใช้ชีวิตต่อไป สมมติว่าคุณอยู่ถึง 80 นั่นก็หมายความว่าคุณยังต้องใช้ชีวิตต่อไปอีก 20 ปี คำถามก็คือไอ้ 20 ปีตรงนี้ คุณจะทำอะไรที่ทำให้ชีวิตยังมีงานทำ มีรายได้อย่างต่อเนื่อง แล้วก็มีความสุขในชีวิตควบคู่กันไปด้วย”
ผอ.ธีระพลพยายามหาอาชีพเสริมทำในขณะที่รับราชการมากมาย ก่อนจะมาลงเอยที่การเป็นเกษตรกร อาชีพซึ่งน่าจะตอบโจทย์ทุกข้อที่กล่าวมาทั้งหมด
แม้จะคิดถึงการมีชีวิตหลังจากเกษียณอายุราชการ แต่ในความเป็นจริงธีระพลตั้งใจเตรียมตัวที่จะเป็นเกษตรกรตั้งแต่ก่อนจะเกษียณมาเป็น 10 ปีแล้ว ทว่าก่อนที่จะไปพบกับชีวิตในปัจจุบันว่าเป็นอย่างไร เราจะพาคุณผู้อ่านย้อนกลับไปยังวันแรก
วันแรกที่ชายวัย 62 ตั้งใจจะเป็นเกษตรกรก่อนเกษียณอายุราชการ
เกษียณแล้วทำอะไรดี
ธีระพล จันทวงษ์ เป็นผู้อำนวยการอยู่ที่โรงเรียนวัดเนินสูง ตำบลวังตะเคียน อำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรีมาตั้งแต่พ.ศ 2534 หรือเมื่อร่วม 30 ปีที่แล้ว ในขณะที่ยังรับราชการ ผอ.ธีระพล มีอาชีพเสริมนอกเหนือจากการเป็นครูอยู่มากมาย ทั้งขับมอเตอร์ไซค์รับจ้าง เลี้ยงตะพาบน้ำส่งออก รับเขียนแบบบ้าน รับเหมาก่อสร้าง เรื่อยไปจนถึงการทำธุรกิจขายตรงกับผลิตภัณฑ์สินค้าชื่อดังหลายๆ แบรนด์ ฯลฯ
“แรกๆ เรายังไม่คิดเรื่องทำการเกษตรหรอกเนื่องจากเรามีอาชีพเสริมมากมาย ธุรกิจขายตรงก็ทำ เขียนแบบบ้านก็ทำรับเหมาก่อสร้างก็ทำ ขนาดขับมอเตอร์ไซค์รับจ้างเรายังทำเลย ตอนนั้นเรายังไม่ได้คิดถึงชีวิตหลังเกษียณด้วยซ้ำ คิดแค่ว่าให้มีรายได้เสริมเพิ่มเติมไปจากงานรับราชการที่ทำอยู่”
ฟังดูแล้วชีวิตน่าจะสุขสบาย มีรายได้จากหลายทาง แต่เมื่อเวลาเริ่มผ่านไปอาชีพเสริมที่เคยทำก็เริ่มเกิดความไม่แน่นอน ธุรกิจขายตรงในสังคมบ้านนอกก็ไม่ได้มีใครให้ความสนใจมากนัก มอเตอร์ไซค์รับจ้างก็ไม่ได้มีเวลาขับทุกวัน ขณะที่ธุรกิจรับเหมาก่อสร้างก็ต้องคอยพึ่งพาคนอื่น เมื่ออาชีพเสริมที่มีค่อยๆ หดหาย ผอ. ธีระพลจึงเริ่มมองไกลไปถึงชีวิตหลังเกษียณว่าเมื่อถึงตอนนั้นตนเองจะเป็นเช่นไร จะเป็นผู้สูงวัยแบบไหน หากไม่สร้างอาชีพที่มีความมั่นคงรองรับไว้ตั้งแต่วันนี้ เขาอาจเป็นคนแก่ที่ทำได้แค่ผลาญเงินบำเหน็จ-บำนาญโดยไม่มีการงานอะไรให้ทำ
“เราเริ่มมานั่งคิด งานรับเหมาก่อสร้างถ้าทำไปเราต้องมีทีมงาน ถ้าไม่มีทีมงานคอยทำก็จบ มันต้องพึ่งพาคนอื่นเยอะแล้วพอเขาทำกับเราไปเรื่อยๆ วันหนึ่งเมื่อเขามีฝีมือ เขาเก่งขึ้น ก็จะแยกตัวออกไปทำของตัวเอง กลายเป็นว่ามาเป็นคู่แข่งกันอีก แล้วเราเองก็เป็นคนค้าสัตว์ไม่ขึ้น เคยส่งออกตะพาบน้ำ เพาะพันธุ์กบขาย พอถึงวันที่ลูกค้านัดเอาสินค้ามันจะต้องมีเหตุให้ขายไม่ได้หรือต้องเกิดอะไรเสียหายทุกที กระทั่งล็อตสุดท้ายเราตัดสินใจขายกบที่เหลือทั้งหมด 50,000 ตัว ตอนที่กำลังขนย้ายกบขึ้นรถของลูกค้า ภรรยาเราพูดออกมาประโยคหนึ่งว่า “50,000 ชีวิตจะไม่เหลือรอดแม้แต่ชีวิตเดียว” เพราะต่อไปกบทั้งหมดจะต้องถูกนำไปฆ่า เราฟังแล้วก็รู้สึกใจหาย รู้สึกว่ากำลังทำบาปหนักเลยเลิกไม่ค้าสัตว์อีก คิดว่าถ้าจะทำอะไรต้องเป็นสิ่งที่เราสามารถพึ่งตัวเองได้ ไม่เบียดเบียนชีวิตอื่น แล้วก็มีความมั่นคง มีรายได้ต่อเนื่อง เรากำหนดเองได้ไม่ต้องขึ้นอยู่กับคนอื่น”
หลังจากนั่งคิดอยู่นานผู้นำแห่งโรงเรียนวัดเนินสูงก็ลงเอยกับอาชีพเกษตรกร แม้จะรับราชการมาทั้งชีวิตแต่ก็คิดว่าตัวเองจะลองผิดลองถูกกับสิ่งที่ตัวเองเลือก
อย่างไรก็ตาม ผอ.ธีระพลไม่ได้คิดจะเริ่มจับจอบจับเสียมในตอนที่อายุ 60 ปี หากแต่ให้เวลาตัวเองก่อนถึง 10 ปี
ก่อนที่วันเกษียณจะมาถึง
ทำเกษตรก่อนเกษียณ
แม้ว่าจะเลือกวางแผนชีวิตหลังเกษียณด้วยการทำอาชีพเกษตรกรแต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเมื่อเกษียณอายุราชการแล้วจึงค่อยเริ่มลงมือทำ ผอ.ธีระพลเริ่มลงมือทำเกษตรอย่างจริงจังในตอนอายุได้ราว 50 เรียกว่าเตรียมตัวตั้งแต่ 10 ปีก่อนจะเกษียณอายุราชการ
“เราเป็นครูมาตั้งแต่เรียนจบ พูดได้ว่ารับราชการมาเกินครึ่งชีวิต การเป็นเกษตรกรจึงเป็นเรื่องใหม่สำหรับเรา ถ้ารอจนเกษียณ อายุ 60 แล้วค่อยไปเริ่ม ถามว่าถึงตอนนั้นมันจะลองผิดลองถูกได้กี่ครั้ง ถ้าลองแล้วสำเร็จเลยก็ดีไป แต่ถ้าไม่สำเร็จขึ้นมาถึงเวลานั้นเราจะมีแรงมีกำลังลุกขึ้นสู้ใหม่ไหม
“ลองคิดดูง่ายๆ ว่าปลูกต้นไม้สักอย่าง กว่ามันจะให้ผลเป็นที่น่าพอใจใช้เวลา 3-5 ปี นั่นหมายความว่ากว่าเราจะได้เห็นผลต้องรอจนอายุ 65 แต่ถ้าเราเริ่มทำตั้งแต่ก่อนเกษียณ 10 ปี ถึงตอนเกษียณเราก็เก็บผลผลิตจากสิ่งที่เราปลูกไว้ไม่รู้เท่าไหร่แล้ว ที่สำคัญเราได้เริ่มทำในตอนที่เรายังมีแรง สุขภาพยังไหว เงินก็ยังมี ไม่ต้องเอาเงินบำเหน็จ-บำนาญซึ่งเป็นเงินเลี้ยงชีพตอนแก่มาหมุนลงทุน
“การเริ่มต้นเร็วยังทำให้เราได้รู้และมีเวลาในการปรับตัว รวมทั้งพิสูจน์ได้ว่าสิ่งที่เราเลือกมันถูกหรือไม่ ถ้ามันไม่ถูก ทำแล้วไม่เป็นโล้เป็นพายก็จะได้เลิกทันไม่ต้องไปเจ็บตัวตอนแก่”
ผอ.ธีระพลเริ่มต้นการทำเกษตรด้วยหลักการง่ายๆ ไม่มีอะไรซับซ้อนนั่นคือปลูกทุกอย่างที่กินและกินทุกอย่างที่ปลูก รวมทั้งจะไม่ปลูกพืชที่ต้องป้อนเข้าสู่โรงงานอุตสาหกรรม เช่น ข้าวโพด อ้อย มันสำปะหลัง ฯลฯ โดยหากพืชที่ปลูกขึ้นมาเกิดขายไม่ได้ อย่างน้อยมันก็ยังทำให้เขาอิ่มท้องได้ไม่อดตาย
อดีตผู้อำนวยการโรงเรียนวัดเนินสูงเริ่มต้นจากการปลูกไผ่ เนื่องจากศึกษาแล้วว่าเป็นพืชที่ทำกำไรได้ดี จากนั้นก็เริ่มเน้นไปที่พืชผักสวนครัวอย่างข่า ตะไคร้ มะกรูด พริก มะนาว ดอกแค ไปจนถึงพริกไทย ฯลฯ ก่อนที่จากนั้นไม่นานจะขยับขยายด้วยการซื้อที่ดินแปลงข้างๆ เพิ่ม แล้วทำการขุดสระ ปลูกผลไม้เพิ่มเข้าไป ไม่ว่าจะเป็น ขนุน ฝรั่ง ส้มโอ น้อยหน่า ลิ้นจี่มะขามป้อม ฯลฯ รวมทั้งทำนาปลูกข้าวไว้กินในครอบครัว ทั้งหมดที่ว่ามานี้ ผอ.ธีระพลทำขึ้นมาในขณะที่ยังทำงานรับราชการควบคู่กันไปด้วย
“ก่อนจะตัดสินใจปลูกอะไรหรือจะไม่ปลูกอะไร เราจะพยายามศึกษาให้ดีก่อน ยกตัวอย่างเช่น มะนาว เราคิดแล้วว่านี่คือของคู่ครัวคนไทย ทุกคนต้องมีมะนาว เราก็ศึกษาว่าถ้าจะปลูกต้องทำอย่างไร ควรปลูกพันธุ์ไหน จากนั้นก็ไปอบรม เมื่อเรามีความรู้เราก็จะตอบตัวเองได้ว่าจะทำอะไร
“ในกรณีของมะนาว เราเริ่มปลูกพันธุ์แป้นพิจิตรก่อน เนื่องจากมีลูกโต แข็งแรง ไม่เป็นโรคง่าย ได้น้ำหนักดี ถ้าจะเริ่มก็ควรเริ่มปลูกจากพันธุ์นี้ก่อนเพราะความทนโรคของเขาจะทำให้เราได้ผลผลิต จากนั้นพอเรามีความรู้ความชำนาญมากขึ้นก็ค่อยเอาพันธุ์อื่น เช่น แป้นสุขประเสริฐ แป้นวโรชามาลงเพิ่มเข้าไป”
แม้จะรับราชการมาตลอดชีวิตและไม่เคยทำการเกษตรด้วยตัวเองมาก่อน แต่ผอ.ธีระพลกลับเริ่มต้นบนเส้นทางสายนี้ได้อย่างไม่มีปัญหา ปัจจัยที่สำคัญอย่างมากก็คือการที่เขาให้ความสำคัญกับกระบวนการคิดและหาความรู้ก่อนที่จะลงมือทำ
ชายวัย 62 ไม่ได้แค่คิดอย่างเป็นเหตุเป็นผลและเป็นระบบเท่านั้น หากแต่ยังคิดไปในหลายๆ มิติอีกด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของการตลาด
“เราไม่ได้ต้องการเพียงแค่สร้างความมั่นคงทางอาหาร แต่เราต้องการสร้างความมั่นคงในเรื่องรายได้ควบคู่ไปด้วย ก่อนที่เราจะเกษียณ”
หาตลาด
เหตุผลหนึ่งที่ผอ.ธีระพลไม่ปลูกพืชอุตสาหกรรมอย่าง ข้าวโพด อ้อย มันสำปะหลัง ก็เพราะปัจจัยในเรื่องรายได้จะถูกกำหนดโดยโรงงานไม่ใช่ตัวของเขาเอง
“ถ้าเราปลูกพืชอุตสาหกรรมเราก็ต้องส่งโรงงานอย่างเดียว ราคาโรงงานก็จะเป็นผู้กำหนดซึ่งเขาก็ไม่มีทางให้เรามากไปกว่าเกณฑ์ที่เขากำหนดไว้หรอก ก่อนจะปลูกหรือทำอะไรนอกจากเรื่องว่าเราเองกินได้แล้ว ก็จะคิดในเรื่องที่ว่าต้องมีตลาดที่เราสามารถหาลูกค้าเองได้ด้วย”
ในระหว่างที่ทำการเกษตรก่อนเกษียณด้วยการปลูกข้าวปลูกพืช ผอ.ธีระพลก็จะทำการหาตลาดและฐานลูกค้าไปด้วย โดยในช่วงแรกเขาบุกไปที่ตลาดสดเพื่อสอบถามพ่อค้าแม่ค้าว่าสนใจจะรับซื้อผลผลิตจาก ‘คุ้มจันทวงษ์’ ซึ่งเป็นสวนของเขาไปขายหรือไม่ แต่ปรากฏว่านอกจากจะไม่มีใครสนใจแล้วยังโดนปฏิเสธกลับมาด้วยท่าทีไม่เป็นมิตรอีกต่างหาก
“เราถามแม่ค้าในตลาดว่ารับซื้อตะไคร้ราคาเท่าไหร่ สนใจจะรับซื้อตะไคร้ของเราไหม แต่นอกจากจะไม่ซื้อแล้วเขายังตอบเสียงแข็ง ขึ้นเสียงใส่เราอีก ต่อมาเราเลยเปลี่ยนจากตลาดสดมาบุกหาลูกค้าในตลาดนัดแถวบ้านเอง ซึ่งเป็นตลาดที่เล็กกว่าแต่ปรากฏว่าได้รับการตอบรับที่ดีกว่า มีพ่อค้าแม่ค้าอยู่พอสมควรที่รับซื้อสินค้าของเรา”
นอกเหนือจากบุกตลาดนัดแถวบ้านแล้วผอ.ธีระพลยังนำผลผลิตที่มีอยู่ในสวนของตัวเองถ่ายรูปลงในเว็บเพจและเฟซบุ๊กของตัวเอง ผลปรากฏว่ามีผู้ตอบรับอย่างดี มีพ่อค้าแม่ขายจากจังหวัดอื่นๆ ให้ความสนใจมารับซื้อผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรของเขาถึงในสวน
“อย่างมะนาวของเราก็จะมีคนจากชัยนาทมารับซื้อ ส่วนสินค้าอื่นก็จะมีกลุ่มแม่ค้าจากจังหวัดหรืออำเภอใกล้เคียงที่ให้ความสนใจอยู่ ส่วนพืชตัวไหนที่ขายไม่ค่อยได้หรือราคาไม่ดี เราก็จะนำมาแปรรูป เช่น กล้วยที่ปลูกไว้เราก็จะนำมาแปรรูปเป็นกล้วยตากอบน้ำผึ้งทำเป็นสินค้า OTOP ขาย นอกจากนี้เราก็กำลังทำไวน์อยู่ แต่ยังไม่ได้นำออกจำหน่าย เป็นไวน์มะขามป้อม ไวน์มะกอกน้ำ ฯลฯ
“ถ้าถามว่าทุกวันนี้ขายดีหรือมีลูกค้าเยอะไหม ก็ต้องตอบว่ายังไม่ได้มากมายอะไรหรอก เพียงแต่ก็มีจำนวนมากกว่าในตอนเริ่มต้น และมีแนวโน้มที่จะมากขึ้นเรื่อยๆ แต่สิ่งสำคัญกว่านั้นก็คือ ทุกวันนี้หลังเกษียณมา ชีวิตของเรามีความสุขมาก
“เราสามารถตอบตัวเองได้ว่าเราคิดไม่ผิดที่เลือกใช้ชีวิตเป็นเกษตรกร”
สุขสบายในวัยเกษียณ
ปัจจุบัน ผอ.ธีระพลเกษียณอายุราชการมาเป็นเวลาร่วม 2 ปีแล้ว เป็นช่วงเวลา 2 ปีที่เขาบอกว่ามีความสุขและสบายใจอย่างมาก แม้จะยังต้องทำงาน แต่กลายเป็นว่าชีวิตไม่มีวันเหงา แถมเป็นอิสระทุกอย่างกำหนดด้วยตัวเอง อยากจะทำงานวันไหนก็ทำ จะหยุดวันไหนก็หยุด
“ทุกวันนี้เราทำงานมากกว่าสมัยเป็นครูอีก เพราะมีเวลาว่าง เราก็ลงทำงานในสวนเต็มที่เลย บางวันก็อยู่จนค่ำ แต่นั่นก็เป็นเพราะเราเลือกเอง ไม่มีใครบังคับ ในความเป็นจริงเราจะหยุดวันไหนก็ได้ เราจะหยุดก็ไม่มีใครด่า ต้นไม้เขาก็ไม่บ่นไม่ว่าอะไรเรา” ชายวัย 62 ว่าพลางหัวเราะอย่างสบายใจ
ทุกวันนี้ในวัยเกษียณ ผอ.ธีระพลแทบไม่มีความจำเป็นต้องใช้เงิน เนื่องจากอาหารที่กินเอามาจากผลผลิตในสวน ขณะที่รายได้ก็มีเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ไม่นับเงินบำนาญที่ได้ประจำอยู่ทุกเดือน
“การทำเกษตรก่อนเกษียณทำให้เมื่อเกษียณในวันนี้เราก็ได้รับดอกผลที่เราสร้างไว้ ทุกวันนี้เราไม่ต้องใช้เงินบำนาญเลย เนื่องจากมีรายได้จากการขายผลผลิตทางการเกษตร นอกจากนั้นยังมีข้าวปลาอาหารกินไม่มีหมด หิวก็หุงข้าวที่ปลูกไว้ ไปเอาไข่ในฟาร์ม เอาผักผลไม้ในสวนมากิน”
อดีตข้าราชการครูวัย 62 บอกว่ามีเพียงน้ำมันพืชเท่านั้นที่เขายังทำเองไม่ได้ และหากเกิดศึกสงครามหรือเหตุการณ์อะไรขึ้นในสังคม ตัวเขาสามารถใช้ชีวิตอยู่ในสวนได้อย่างสบายๆ
“ถ้าเกิดเหตุการณ์เลวร้ายอะไรขึ้นมา ขอแค่น้ำมันพืชให้ผม แล้วขังผมไว้ในสวนได้เลย ผมมีชีวิตรอดได้แน่นอน
เพราะเกษตรที่เริ่มต้นไว้ก่อนเกษียณ ทำให้เราแทบจะไม่ต้องพึ่งพาอะไรจากสังคมภายนอกหรือคนอื่นๆ อีกเลย”