สองพี่น้องนักล่า ‘ไก’ แห่งลำน้ำน่าน การงานแห่งชีวิตที่ไม่ได้ทำคงคิดถึง

ตั้งแต่ช่วงต้นเดือนพฤศจิกายนจนถึงปลายเดือนกุมภาพันธ์ ช่วงเวลานี้แม่น้ำน่าน ต้นน้ำสายสำคัญที่หล่อเลี้ยงชีวิต และวิถีของคนเมืองน่านมาหลายร้อยปี กำลังใสเย็น เป็นช่วงที่เหมาะอย่างยิ่งแก่การเจริญเติบโตของ ‘ไก’ สาหร่ายน้ำจืดที่เกาะตัวอยู่ตามก้อนโขดหินใต้ท้องน้ำ และเป็นช่วงที่นักล่าไกแห่งลำน้ำน่าน จะเริ่มการงานแห่งชีวิตที่จะเวียนมาทุกๆ ฤดูหนาว พวกเขาจะลงไปเก็บพืชน้ำชนิดนี้เพื่อนำมาปรุงเป็นอาหารตามภูมิปัญญา และสร้างรายได้เสริม

นี่น่าจะเป็นอาชีพที่หาดูที่ไหนไม่ได้ ถ้าไม่มาที่อำเภอท่าวังผา จังหวัดน่าน และน่าจะเป็นอาชีพเก่าแก่ที่บอกเล่าถึงสุขภาพ และความผูกพันระหว่างคนกับสายน้ำได้เป็นอย่างดี

มนุษย์ต่างวัย คุยกับ “แม่คำดี วันควร” วัย 66 ปี และ “แม่บัวผัน บุญมาสร้อย” วัย 60 ปี สองพี่น้องนักล่าไก ชาวบ้านนาเตา อำเภอท่าวังผา จังหวัดน่าน ถึงอาชีพเก่าแก่ที่จะเริ่มต้นหลังการเก็บเกี่ยว รวมไปถึงสุขภาพของสายน้ำน่านในวันที่หลายสิ่งหลายอย่างกำลังเปลี่ยนแปลงไป

เสร็จจากนา ก็ถึงฤดูกาลเก็บ ‘ไก’

‘ไก’ เป็นสาหร่ายน้ำจืดสีเขียว ที่ได้ชื่อว่าเป็นอาหารพื้น บ้านของชาวไทลื้อมานานนับร้อยปี ความพิเศษของไกคือ เป็นวัตถุดิบที่เกิดขึ้นเอง ตามธรรมชาติในบริเวณที่น้ำค ุณภาพดี ใสสะอาด และมีน้ำไหลเอื่อยๆ เท่านั้น ยิ่งน้ำคุณภาพดีมากเท่าไร ไกก็จะยิ่งงาม มีสีเขียวสด เป็นแพยาว 1-2 เมตร คล้ายกับเส้นไหม และเมื่อสัมผัสจะลื่นมือไม่ สากหรือหยาบ ซึ่งในประเทศไทยเราจะพบไกได้มากที่สุดที่อำเภอท่าวังผา จังหวัดน่าน ตั้งแต่ช่วงต้นฤดูหนาวราวเดือนพฤศจิกายน และไกจะเจริญเติบโตมากในช่วงเดือนมกราคมถึงกุมภาพันธ์ ซึ่งตรงกับช่วงที่ชาวบ้านว่างเว้นจากการทำนา ทำสวน

‘ไก’ ดัชนีชี้วัดสุขภาพของลำน้ำน่าน

สำหรับคนที่นี่ ‘ไก’ ถือได้ว่าเป็นทรัพยากรที่ล้ำค่า เพราะเป็นสิ่งที่ช่วยชี้วัด คุณภาพและความอุดมสมบูรณ์ของแม่น้ำน่านตลอดหลายร้อยปีที่ผ่านมา ขณะเดียวกันยังเป็นวัตถุดิบ พื้นถิ่นชั้นเลิศที่ช่วยสร้างรายได้เสริมให้กับชาวบ้าน โดยเฉพาะผู้สูงวัย

เป็นเวลากว่า 10 ปีแล้วที่แม่คำดีและแม่บัวผันยึดอาชีพเก็บไกเป็นรายได้ เสริมในช่วงที่ว่างเว้นจากการทำนาปี คุณป้านักล่าไกแห่งเมือง น่านเล่าให้ฟังว่า อาชีพนี้มีแต่คนสูงวัยทำ คนรุ่นใหม่เขาไม่ทำกัน เพราะน้ำในแม่น้ำจะเย็นมากแถมเวลาลงไปเก็บต้องใช้แรง และยืนแช่น้ำตลอดทั้งวัน

หลายคนอาจจะมองว่าลำบาก แต่สำหรับแม่คำดีและแม่บัวผัน กลับมีแต่ความสนุกเพลิดเพลิน เมื่อถึงเวลาต้องออกล่าไก จะนัดกันออกจากบ้านแต่เช้า รอจนสายให้มีแสงแดดอุ่นๆ จึงจะเริ่มภารกิจเก็บไก โดยจะตระเวนไปตามลำน้ำน่าน หรือจุดที่ปีก่อนๆ เคยไป เพราะไกมักจะขึ้นที่บริเวณเ ดิมซ้ำๆ หากที่นั่นน้ำยังมีคุณภาพดี อยู่ อุปกรณ์ที่สองพี่น้องนำติดต ัวไปก็ไม่มีอะไรพิเศษ มีเพียงสองมือที่แข็งแรง สองขาที่ยืนในน้ำได้อย่างมั่นคง และความอดทน หากขยันวันหนึ่งก็สามารถเก็บไกได้มากถึง 50-100 กิโลกรัม เลยทีเดียว

คุณค่าของวัตถุดิบบ้านๆ

ในสมัยปู่ย่าตายายร่ำลือกันว่า เมื่อรับประทานไกแล้ว จะช่วยทำให้ผมดกดำ ช่วยชะลอความแก่ มีความจำดี และอายุยืนยาว ไกจึงเป็นที่นิยมมากในหมู่ผู้สูงวัย บางคนพอได้ไกมาก็จะนำไปล้าง ด้วยน้ำสะอาดแล้วนำไปปรุงสุก (กินดิบไม่ได้)

เมนูยอดฮิตที่นิยมทำกินก็หนีไม่พ้น ‘ห่อนึ่งไก’ คือการนำไกมาผสมคลุกเคล้ากับเครื่องเทศต่างๆ โดยมีส่วนผสมหลักคือน้ำใบย่านาง แล้วห่อด้วยใบตอง ก่อนนำไปนึ่งให้สุก หรือนำไปคั่วให้สุกแทนการนึ่ง บางคนจะนำไปมัดด้วยตอกแล้วห้อยแขวนไว้บนราวไม้ไผ่เพื่อ ตากให้แห้งและนำไปอบเตาฟืนเพื่อฆ่าเชื้อ เป็นการถนอมอาหารอย่างหนึ่ง ซึ่งจะเก็บไว้ได้นานข้ามปี ไกเมื่ออบแล้วจะมีลักษณะเป็นเส้นใยกรอบๆ มักจะนำมายีด้วยมือให้เป็นฝอยละเอียด จากนั้นก็นำไปปรุงเป็นเมนูอาหาร เรียกว่า ‘ไกยี’

สำหรับแม่คำดีและแม่บัวผัน จะแบ่งไกไว้กินบางส่วน และนำบางส่วนไปขายตามตลาดนัดชุมชน หากปีไหนหาได้มากก็ส่งไปขาย ที่ศูนย์สินค้าโอทอปของตำบล เพื่อให้กลุ่มแม่บ้านประจำชุมชนนำไปแปรรูปเป็นสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่ม พัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ชุมชน เป็นของดี และของฝากที่สร้างรายได้และ ความภาคภูมิใจให้กับคนในอำเภอท่าวังผา

ถ้าไม่ได้มาเจอคงคิดถึง

หากในน้ำมีปลา ในนามีข้าว สำหรับแม่คำดี วันควร วัย 66 ปี และแม่บัวผัน บุญมาสร้อย วัย 60 ปี สองพี่น้องนักล่าไกบอกว่า แม่น้ำน่านก็มีความมั่นคงทางอาหารและมีคุณค่าทางจิตใจ แม้ในแต่ละปีไกจะปรากฏแค่ครั้งเดียว บางปีไกก็งาม บางปีไกก็ไม่งามและมีน้อย หากแต่เมื่อถึงฤดูเก็บไก ก็เหมือนได้กลับมาเจอกับเพื่อนเก่าที่คุ้นเคย ถึงเวลาลงน้ำไปจกไกก็อยู่ได้เป็นวันๆ ไกที่ไหนมีมากก็เก็บกันเพลินจนลืมเวลา และถึงแม้ว่าหลายคนจะมองว่า ไกเป็นแหล่งสร้างรายได้ แต่สำหรับแม่คำดีและแม่บัวผันมากกว่าเม็ดเงินที่ได้มา คือความสุขที่ได้เห็นว่า ไกยังอยู่คู่กับแม่น้ำน่านแห่งนี้

“ถ้าบ่ได้มาก็ท่าจะง่อมหามัน” 

Credits

Authors

  • อชิตา พุ่มแจ้

    Author & Drawมนุษย์เป็ดที่กำลังฝึกหัดภาษาจีน ฝันอยากเป็นนักร้องเสียงเพราะ แต่ปัจจุบันยังเป็นแค่นักร้องเสียงเพี้ยน

  • วิเชษฐพงษ์ เผ่ากล้า

    Cameramanเริ่มต้นเส้นทางสายนี้ด้วยความอยากเป็นดีเจ แต่สุดท้ายมาค้นพบว่าโลกข้างนอกห้องจัดรายการมันช่างเย้ายวลและมันส์กว่าการใช้เสียงเป็นไหนๆ ผมหลงใหลการเขียนภาพด้วยแสงพอๆ กับการวาดรูปด้วยดินสอ และที่สำคัญชีวิตเป็นเรื่องของเรา ไม่ต้องรอให้ใครมาสั่งแอ็คชั่น

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ