Connecting the dots ประสบการณ์ทุกช่วงวัยล้วนมีความหมาย กับ ‘หนุ่มเมืองจันท์’ – สรกล อดุลยานนท์

เป็นคนจันทบุรี เป็นเจ้าของนามปากกา ‘หนุ่มเมืองจันท์’ เป็นบรรณาธิการบริหารหนังสือพิมพ์ มติชนรายวัน เป็นผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์คอลัมน์การเมือง เป็นนักเขียนหนังสือ ‘ฟาสต์ฟู้ดธุรกิจ’ สุดฮิต เป็น 1 ใน 4 คอลัมนิสต์รายการ ‘เจาะใจ’ เป็นผู้ก่อตั้งสถาบันพัฒนาความคิดสร้างสรรค์เชิงธุรกิจ (Academy of Business Creativity หรือ ABC) มหาวิทยาลัยศรีปทุม และเป็นฟรีแลนซ์วัย 58 ปี ที่มีผลงานหลากหลาย

สิ่งเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นอย่างไร้ที่มา มนุษย์ต่างวัยชวนคุณมาต่อจุดชีวิต ‘หนุ่มเมืองจันท์’ – สรกล อดุลยานนท์ จากงานแรกที่ไม่ได้เลือก จากแพสชัน (passion) จน มาสู่ชีวิตปัจจุบันที่ช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้กับใครหลายๆ คน อ่านแนวคิดที่ได้จากประสบการณ์ในการทำงานในทุกช่วงวัยของเขา และชวนหนุ่มสาววัยทำงานมาสำรวจตัวเองและค้นหาคำตอบให้กับชีวิตไปพร้อมๆ กัน

งานที่ไม่ได้ฝันจะทำ แต่ทำเพราะทำได้

คนวัยหนุ่มสาวยุคนี้มักบอกว่าชีวิตต้องเดินด้วย Passion สำหรับผม ตั้งแต่เรียนจบ ผมเริ่มต้นทำงานด้วยการเป็นคนที่ไม่มีความฝันอะไรเลย รู้เพียงแค่ว่าถ้าทำงานข่าวน่าจะพอทำได้ เพราะช่วงที่เป็นนักศึกษาเคยทำกิจกรรมที่ต้องทำงานกับคน มีการคุยงาน มีการประชุม ศึกษาข่าวสารบ้านเมือง โดยเฉพาะข่าวเกี่ยวกับการเมือง ผมต้องอ่านหนังสือพิมพ์ทุกหน้า ฉะนั้นพอผมอ่าน ผมศึกษาจนรู้เรื่อง ผมก็คิดว่าถ้าทำงานข่าวเกี่ยวกับการเมืองผมพอจะบอกได้ว่าใครชื่ออะไร ผมมองว่ามันคือความได้เปรียบ แม้เราจะไม่เคยฝันมาก่อน พอเรียนจบผมได้งานในตำแหน่งนักข่าวธุรกิจ ที่ประชาชาติธุรกิจ ผมก็เลยทำงานตามความจำเป็น คือผมทำข่าวได้ก็ทำ

ย้อนกลับไปสมัยที่ยังไม่ทำงาน ผมเป็นคนที่ชอบมองความฝันของคนอื่น แต่ความฝันของตัวเองมีน้อยมาก ผมเรียนสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาบัณฑิต ที่ธรรมศาสตร์ ไม่เคยฝันว่าตัวเองจะเป็นนักเขียน ไม่เคยฝันถึงเรื่องการเป็นนักข่าว แต่พอเริ่มต้นทำงาน ด้วยจังหวะที่เข้ามามันทำให้ผมต้องลองเดินเข้าไป ไปเรียนรู้ในสิ่งที่เราไม่รู้

บางอย่างที่เราคิดว่ามันใช่ สุดท้ายแล้วเราก็ไม่รู้ว่ามันใช่จริงหรือเปล่า หรือต่อให้ทางที่เราคิดว่ามันไม่ใช่ เราไม่แน่ใจ เราเดินไปบางทีมันอาจจะใช่ก็ได้ แล้วผมก็ได้ข้อสรุปว่า อ๋อ…การลองเดินเข้าไปไม่ใช่เพราะเราเลือกผิดแต่มันเป็นสิ่งที่ทำให้เราได้ค้นหาตัวเอง ที่สุดแล้วมันทำให้รู้ว่ามันใช่หรือไม่ใช่สำหรับเรา

ทำงานแบบไม่รู้สึกว่ากำลังทำงาน

ถามว่าแล้วแต่ละวันที่เราเดินไปในสายงานนี้ที่ไม่ใช่สิ่งที่เราฝัน เราอยู่กับมันอย่างไร คุณลองนึกถึงคนที่เคยอ่านหนังสือพิมพ์ทุกวัน ติดตามข่าวการเมืองทุกวัน แล้วพอได้มาทำงานข่าวที่ได้รู้ข่าวก่อนคนอื่น มันโคตรมีความสุขเลย ผมทำประชาชาติธุรกิจ แต่มีมติชนอยู่ชั้นเดียวกันและผมสนใจเรื่องการเมืองเป็นทุนเดิม ทุกครั้งที่มติชนมีการประชุมข่าว ผมก็เดินเข้าประชุมกับเขาด้วย ไปนั่งฟังว่าข่าวนี้มีเบื้องลึกเบื้องหลังอะไร พอรู้แล้วก็มีความสุข เพราะรู้สึกว่าเรารู้ก่อนคนอื่น จากนั้นผมก็จะคอยวิเคราะห์การเมืองไปด้วย แล้วทุกครั้งที่ผมวิเคราะห์การเมืองอะไร พอมันตรงกับที่พี่เสถียร จันทิมาธร เขาวิเคราะห์ เราก็จะรู้สึกว่าเราคิดเหมือนกับที่รุ่นใหญ่เขาคิดเลย แค่นี้ก็มีความสุขแล้ว หรือเวลาทำข่าวหมู่ สัมภาษณ์มาเหมือนกัน แต่ใครพาดหัวได้ดีกว่ากัน ใครจับประเด็นเก่งกว่ากัน พอมันเป็นเรา แค่นั้นก็ชนะแล้ว พอชนะก็ชมตัวเองได้ หัวใจสำคัญของการทำงานคือเราต้องหาอะไรก็ได้ที่เป็นเป้าหมายเล็กๆ ของเรา ทำแล้วรู้สึกชนะ แล้วชมตัวเองบ่อยๆ ว่าเราเก่งกับมัน มันคือพลังอย่างหนึ่งที่ทำให้เราลืมนับวันว่าเมื่อไรเงินเดือนจะออก เราจะได้เงินเดือนเท่าไร ทำให้รู้สึกว่าเราไม่ได้กำลังทำการทำงาน

ไม่ว่าจะสำเร็จหรือล้มเหลว ไม่มีอะไรสูญเปล่า

หัวใจสำคัญเมื่อเราทำในสิ่งที่ไม่ถนัดหรือทำในสิ่งที่ไม่ได้เลือกเอง คือการเปิดใจและเต็มที่กับมัน ถ้าคุณเต็มที่กับการเป็นช่างภาพ แม้คุณจะเป็นช่างภาพที่ดีไม่ได้ อย่างน้อยที่สุดคุณก็จะรู้จักเทคนิคการใช้กล้องมากขึ้น และวันหนึ่งคุณอาจจะเปิดร้านขายกล้องซึ่งคุณไม่ต้องขายของดี แต่คุณรู้ว่าคนเล่นกล้องต้องการอะไร แม้ว่าวันนี้จะไม่รู้ว่าต่อไปชีวิตจะไปเป็นอะไร แต่ถ้าคุณทำดีที่สุดในจุดที่กำลังทำ อย่างไรคุณก็จะได้มากกว่าเสีย แต่ถ้าคุณไม่เต็มที่เมื่อไร คุณแทบจะไม่ได้เรียนรู้อะไรเลย เพราะคุณปฏิเสธมันตั้งแต่เริ่มต้น ผมก็เคยปฏิเสธหลายเรื่องนะ แต่พอถึงจุดหนึ่งที่ต้องทำ ก็ต้องทำให้ดีที่สุด แล้วคุณจะไม่เสียดาย

มันต้องมีบ้างที่คนเราต้องทำในสิ่งที่ไม่ถนัด ผมยังเชื่อว่าตราบใดที่เราไม่เคยทำ มันไม่ใช่เราทำไม่ได้ เราทำได้แม้ว่าเราจะโดนบังคับ ยกตัวอย่างเวลาเรียนหนังสือมันจะมีวิชาบังคับบางวิชาที่เราไม่ชอบแต่เราต้องเรียน แล้วพอเรียนบางทีเราอาจจะชอบหรือไม่ชอบก็ได้ แต่เราต้องจ่ายค่าหน่วยกิตนะ พอมาทำงานแล้วเขาให้คุณทำในสิ่งที่ไม่ชอบ อย่างน้อยที่สุดคุณก็ได้เงินเดือน ได้เรียนรู้ทักษะบางอย่างจากมัน ไม่ได้รู้สิบ คุณก็รู้สอง สาม ก็ยังดีกว่ารู้แค่ศูนย์

ในระหว่างที่ทำข่าวธุรกิจ ผมต้องไปเดินในสายโฆษณาด้วย ผมลองไปทำแล้วมันล้มเหลวกลับมา เพราะผมขายไม่เป็น ผมไม่ได้จบนิเทศฯ ไม่ได้เรียนโฆษณา ถามว่าผมได้อะไร มันทำให้ผมรู้มากขึ้น เข้าใจทีมโฆษณามากขึ้น เข้าใจการพัฒนาโฆษณามากขึ้น เข้าใจแนวคิดและวิธีการขายมากขึ้น แล้วเมื่อผมกลับไปที่กองบรรณาธิการ เวลาที่มีปัญหาเรื่องโฆษณา ผมก็รู้แล้วว่าต้องทำอย่างไร และมันทำให้ผมไม่ตั้งกำแพงเหมือนเดิม เพราะเข้าใจว่าปัญหามันเกิดจากอะไร

ประสบการณ์ในงานแต่ละอย่างไม่ว่าจะสำเร็จหรือล้มเหลว มันไม่เคยเป็นเรื่องสูญเปล่า ทุกครั้งที่เกิดความล้มเหลวขึ้นมา เราต้องให้เวลากับมัน แล้วพยายามค้นหาว่าอะไรที่จะทำให้ไม่ล้มเหลวอีก ค้นหาดีๆ บางทีเราอาจจะเจอกุญแจดอกเล็กๆ ของความสำเร็จก็ได้

เวลาที่เราล้มเหลวให้มองว่ามันเป็นบทเรียน แต่ถ้าไม่มีบทเรียนจากความล้มเหลว นั่นคือความล้มเหลวอย่างแท้จริง เพราะว่าคุณไม่ได้อะไรจากมันเลย ทุกก้าวที่เดิน เราต้องได้อะไรบางอย่างกลับมาเสมอไม่ว่าล้มเหลวหรือสำเร็จ

หัวหน้าที่ไม่ต้องเดินนำ แต่เดินข้างกัน

พออายุ 30 กว่าๆ ผมเริ่มขยับจากลูกน้องมาเป็นหัวหน้า ความรู้สึกในการทำงานมันเปลี่ยนไปจากช่วงที่เราอายุ 20 กว่าๆ ผมเป็นคนชอบเล่นกีฬาแข่งขัน ผมวิ่งคนเดียวไม่ค่อยได้ ต้องเล่นฟุตบอล ปิงปองก็ยังดี อะไรที่มีเกณฑ์ว่าต้องมีแพ้ชนะ ตอนเป็นบก.มติชน ผมอายุ 34 ช่วงนั้นเป็นช่วงที่ยังสนุกกับการที่มีเป้าให้ตัวเองวิ่งชนอยู่เลย ก็ยังสนุกกับเกมนั้นอยู่ พอเรามาอยู่ในตำแหน่งบริหารระดับที่สูงขึ้นมันก็ต้องสามารถเสนออะไรที่เป็นนโยบายใหญ่ๆ ให้กับบริษัทแทนที่จะรับคำสั่งและทำอย่างเดียว อย่างเช่นช่วงท้ายก่อนลาออกก็มาบุกเบิกทีวีกับออนไลน์

สมัยก่อนผมเป็นคนชอบอยากรู้อยากเห็น มีอะไรใหม่ๆ มาผมเข้าไปเรียนรู้มัน อะไรแบบนี้มันมีอยู่ในหัวอยู่เสมอ แต่วันนี้วัยเรามันเลยจุดนั้นแล้ว เทคโนโลยีบางอย่างมันเร็วเกินไป อย่าง Clubhouse อยากรู้ว่ามันคืออะไร มันเข้าง่ายก็จะเข้าไปเพื่อเรียนรู้กับมันแล้วมาเล่าต่อ แต่ TikTok ผมยังไม่กล้าเข้า มีคนบอกว่าเรื่องใหม่ก็ให้คนใหม่ทำ เรื่องใหม่อย่าให้คนเก่าทำ เพราะว่าคนเก่าจะติดกรอบเดิม ฉะนั้นเรื่องใหม่คนเก่าทำเขาก็ต้องเรียนรู้เรื่องใหม่ แล้วทำไมไม่ให้คนใหม่เขาทำเลย เพราะเขาจะอินกับเรื่องเหล่านี้อยู่แล้ว แล้วผมก็ใช้วิธีการนี้ในการบริหารงาน

แต่ต่อให้มีตำแหน่งใหญ่โตแค่ไหนก็ตาม ต้องคิดเสมอว่าเราจะทำงานอย่างไรให้น้องๆ ที่ทำงานร่วมกับเรา เถียงเราได้ แต่ผมอาจจะเป็นหัวหน้าที่ไม่ดีนะ ตรงที่ผมเป็นคนชอบลงไปทำงาน ลงไปลุยเอง มันอดไม่ได้ เห็นน้องยกโต๊ะเราก็ต้องยกโต๊ะด้วย เพราะแรงเรายังมี

ผมชอบคำหนึ่งของคุณอนันต์ อัศวโภคิน ที่บอกว่า หัวหน้าที่ดีคือหัวหน้าที่ลูกน้องอยากเดินตาม หรืออีกมุมหนึ่งที่เนลสัน แมนเดลา (Nelson Mandela) ยกตัวอย่างการเลี้ยงวัว เขาบอกสังเกตไหมว่าเวลาวัวเดิน คนที่คุมวัวไม่ได้เดินนำหน้า เขาเดินข้างๆ จ่าฝูง ถ้าจะให้ฝูงวัวเลี้ยวขวาแต่บังเอิญมันเลี้ยวซ้าย เขาจะเดินไปเขี่ยจ่าฝูง ฉะนั้นผู้นำที่ดีไม่จำเป็นต้องเดินนำหน้าเสมอ เดินข้างๆ ก็ได้

Connecting the dots ต่อจุดชีวิต

น้องๆ หลายคนที่มาปรึกษาผมเรื่องลาออก มีทฤษฎีหนึ่งที่ผมพูดเป็นประจำคือแรงดูดกับแรงผลัก ถ้าน้องคนนั้นมาด้วยปัญหาภายในองค์กร นี่คือแรงผลัก เขาจะมองที่ทำงานใหม่ว่ามันดี สวยงามเสมอ และมองที่เก่าด้วยแว่นตาสีดำ ทั้งที่เขายังไม่เคยไปเจอปัญหาในที่ใหม่ ผมก็จะเล่าให้เขาฟังว่าทุกที่มีปัญหาหมดนะ แล้วก็ให้สติ บอกให้ใจเย็นๆ แต่ถ้าการตัดสินใจลาออกด้วยแรงดูดเมื่อไร เช่น ลาออกเพราะได้งานใหม่ที่ใฝ่ฝัน อย่างนี้ผมจะอวยพรให้เลย ผมเคยผ่านจุดนี้มาแล้ว ครั้งหนึ่งผมเคยจะลาออกจากมติชน เพราะ 2 ปีแรกมันมีแต่แรงผลักที่ว่า ผมรู้สึกว่าเสนออะไรไปก็ไม่ได้ แต่ผมก็ยังคิดในใจว่าเราเต็มที่กับมันแล้วหรือยัง ถ้ายังไม่เต็มที่กับสิ่งเก่า ไปที่ใหม่ก็มีปัญหา แต่ถ้าวันนี้เราเต็มที่กับมันแล้วอยากจะไปที่ใหม่ ต่อให้มีปัญหาก็ไม่เสียดาย เพราะเต็มที่กับมันแล้ว พอคิดอย่างนั้นผมก็เลยอยู่ต่อแล้วอยู่ต่อมา 20 ปี

ผมลาออกจากงานตอนอายุประมาณ 50 ปี โชคดีที่มีงานรองรับอยู่พอประมาณ แต่อย่าลืมนะครับว่าที่เราวางแผนไว้กับความเป็นจริงมันไม่เหมือนกัน ผมเคยคิดว่า หนังสือที่ผมเขียนมันพิมพ์ซ้ำตั้งหลายรอบ แต่พอหลังจากนั้นก็โดน Disruption การพิมพ์ซ้ำมันน้อยลง ทุกอย่างมันเปลี่ยนแปลงไป ยอดพิมพ์ต่อเล่มเดิมจำนวนเท่านี้ มันก็ลดลง โชคดีที่ยังมีงานบรรยาย และโชคดีอีกข้อหนึ่งคือ ดอทที่ผมสร้างไว้มันทำงานโดยที่ไม่รู้ตัวทั้งประสบการณ์ และความสัมพันธ์กับผู้คน เพื่อนที่เราเคยทำงานร่วมด้วยกัน ทุกอย่างมันเอื้อเส้นทางฟรีแลนซ์ของเราหมดเลย ผมก็เลยบอกน้องๆ ทุกคนว่า ฟรีแลนซ์ที่ดีไม่ใช่คนเก่งที่สุด แต่เป็นคนนิสัยดี ผมรู้สึกว่าฟรีแลนซ์ไม่จำเป็นต้องเก่งที่สุด แต่ถ้าเป็นคนนี้นิสัยดีเวลาที่คุณออกมาหางานเอง คุณจะมีคนวิ่งเอางานมาให้ แล้วบังเอิญผมออกตอนอายุ 50 ดอทผมเยอะ นอกจาก Connection แล้วมันก็มีผลงาน มีชื่อเสียงอะไรบางอย่างที่เราสามารถที่จะหางานได้ง่ายขึ้น สมมติเราอายุ 23-24 บางทีเขายังไม่เห็นตัวเราเท่าไร แต่วันนี้ผมผ่านงานมาเยอะแยะมากมาย ผมเขียนหนังสือ มันมีต้นทุน ฉะนั้นเวลาออกมามันก็เริ่มได้ง่ายขึ้น

สำหรับคนวัยทำงานเมื่ออายุเดินทางมาถึงวัยที่ 40-50 ปี การจะเริ่มต้นลาออกจากงานที่เราคุ้นเคย จากเส้นเดินทางที่เราเคยเดิน มันต้องใช้เวลาในการตัดสินใจ ผมเป็นคนที่ไม่ตัดสินใจแบบหุนหันพลันแล่น ผมจะวางแผนไว้คร่าวๆ ว่าวันหนึ่งถ้าผมลาออกจะเป็นอย่างไร จะมีรายได้ทางอื่นที่มาทดแทนเงินเดือนประจำหรือเปล่า เราทำงานประจำสิ้นเดือนได้เงิน แต่พอไม่ได้ทำงานประจำแล้วจะเป็นอย่างไร บังเอิญช่วงนั้นเป็นช่วงที่ผมมีงานบรรยายข้างนอกอยู่บ้าง แล้วมันก็กลายเป็นทักษะรูปแบบใหม่ที่ช่วยให้มีรายได้เข้ามา บวกกับตอนนั้นหนังสือผมก็ค่อนข้างขายดี ทั้งหนังสือพิมพ์ซ้ำ หนังสือใหม่ คำนวณเงินแล้วน่าจะรอด แต่ก็ไม่ได้ทำอะไรกับมัน ก็คิดไว้เฉยๆ แต่ช่วงนั้นเป็นช่วงเวลาหนึ่งที่ผมรู้สึกไม่ค่อยสนุกกับงาน ตอนเช้าตื่นขึ้นมาแล้วรู้สึกไม่ได้อยากไปทำงานทั้งๆ ที่ก็ถือว่าเป็นงานที่ใหม่ทั้งเรื่องของทีวีที่บุกเบิกขึ้นมา หรือออนไลน์ แต่มันไม่สนุก ไม่รู้เพราะอะไร รู้แค่ว่าตอนเช้าไม่ค่อยแฮปปี้กับการตื่นไปทำงาน พอทำงานก็ทำแบบ Routine สุดท้ายผมก็ต้องตัดสินใจลาออกจริงๆ ส่วนหนึ่งเพราะภรรยาผมตรวจพบว่าเป็นมะเร็ง พอลาออกจากงานมันก็แปลกๆ อยู่ช่วงแรก มันจะมีความสุขอยู่ประมาณสัก 2 อาทิตย์ที่เราไม่ต้องทำงาน เราอิสระ ไม่ต้องเข้าไปห้องประจำ หลังจากนั้นก็เริ่มคิดว่าจะอย่างไรต่อ

น้องๆ รุ่นใหม่บางคนทำงานแบบ 6 เดือนออก บางคนทำงาน 1 ปีแล้วออกไปทำงานที่ใหม่ สำหรับผมรู้สึกว่าทำงาน 6 เดือนคุณยังไม่ค่อยรู้อะไรหรอก 6 เดือนแทบจะไม่รู้อะไร 1 ปีพอรู้บ้าง แต่คุณยังไม่ได้รู้ดีที่สุดในสายงานที่คุณทำ ดอทสั้นๆ นี้มันอาจจะดีกับคุณในช่วงต้นตรงที่ว่าคุณเหมือนคนที่ผ่านงานเยอะมาก แล้วพอไปสมัครที่ใหม่ๆ ก็ได้เงินเดือนเพิ่มขึ้น แต่พอถึงจุดหนึ่งที่ต้องเป็นหัวหน้างาน มันต้องการความรู้ที่แท้จริง แต่ถ้าดอทของคุณสั้นเกินไปในแต่ละอย่าง บางทีมันทำให้เราไปต่อยาก

เจ้าของทุนทุกคนเวลาจ้างคุณมาทำงานเขาหวังผลนะ ถ้าคุณอายุ 25 เงินเดือน 60,000 เขาต้องหวังกับคุณเยอะทีเดียว แล้วคุณมีความพร้อมพอที่จะรับกับความกดดันนี้หรือเปล่า แล้วพอทำไม่ได้ คุณจะไปสมัครงานที่ใหม่แล้วได้เงินเดือนเท่านี้ มันก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ตรงนี้ผมอยากจะให้ทุกคน เวลาทำอะไรให้รู้จริงในแต่ละจุดก่อน ก่อนที่จะขยับไปทำอย่างอื่น

ผมก็ไม่กล้าสรุปนะว่ามันเป็นแนวทางที่ถูก แต่จากประสบการณ์ผมมันเป็นอย่างนั้น สำหรับคนรุ่นใหม่มันอาจจะไม่ใช่ก็ได้ บางทีเขาอาจจะเรียนรู้ได้เร็วกว่าที่เราคิดก็ได้ โลกนี้ไม่ได้มีคำตอบเดียว มันอยู่ที่ว่าเมื่อเลือกเองแล้วก็หัวเราะกับมันให้เยอะ

Credits

Author

  • อชิตา พุ่มแจ้

    Author & Drawมนุษย์เป็ดที่กำลังฝึกหัดภาษาจีน ฝันอยากเป็นนักร้องเสียงเพราะ แต่ปัจจุบันยังเป็นแค่นักร้องเสียงเพี้ยน

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ