แม้ผลการแข่งขันเมื่อวันที่ 28 ก . ค . 2564 ไม่เป็นไปตามคาด โดย “ปอป้อ – บาส” หรือ ทรัพย์สิรี แต้รัตนชัย วัย 29 ปี และ เดชาพล พัววรานุเคราะห์ วัย 24 ปี พ่ายแพ้ให้กับคู่ต่อสู้สุดหินจากประเทศญี่ปุ่นในรอบก่อนรองชนะเลิศ 1 : 2 เกม พลาดเหรียญโอลิมปิกไปอย่างน่าเสียดาย
แต่ที่ผ่านมาผลงานของทั้งคู่ก็สร้างปรากฏการณ์ในวงการแบดมินตันเมืองไทย ด้วยการเป็นคู่แรกของโลกที่กวาดแชมป์แบดมินตันคู่ผสม 3 รายการรวดภายใน 1 เดือน ไล่ตั้งแต่แชมป์ Yonex Thailand Open แชมป์ Toyota Thailand Open ก่อนปิดท้ายด้วยแชมป์ HSBC BWF World Tour Finals 2020 ทั้งหมดถือเป็นรายการในระดับ World Tour Super 1000 หรือรายการแบดมินตันในระดับโลก
ผลงานที่ผ่านมาส่งให้ทั้งคู่ทะยานขึ้นไปเป็นคู่มือวางอันดับ 2 ของโลกในปัจจุบัน ซึ่งกว่าจะฝ่าฟันมาถึงจุดนี้ได้ ทั้งสองคนต่างมีครอบครัวเป็นคนสำคัญเบื้องหลังความสำเร็จ
มนุษย์ต่างวัยชวนอ่านเรื่องราวที่เล่าจาก ‘ลมใต้ปีก’ ของสองนักแบดมินตันคู่หู แม่กุง – สุนีย์ แต้รัตนชัย วัย 60 ปี แม่ของปอป้อ และ แม่ญา – อริญา พัววรานุเคราะห์ วัย 49 ปี แม่ของบาส ที่อยากส่งข้อความเดียวกันถึงลูกๆ ว่า
‘แพ้ – ชนะในวันนี้ให้เป็นเรื่องของกีฬา แค่ลูกชนะใจตัวเองก็ถือเป็นผู้ชนะแล้ว’
จุดเริ่มต้นบนเส้นทางลูกขนไก่ของปอป้อ
ครอบครัวเราชอบเล่นกีฬา พ่อกับแม่เคยเป็นนักกีฬาแบดมินตันของมหาวิทยาลัยกันทั้งคู่ พอมีลูกก็ตั้งใจว่าอยากให้ลูกได้เล่นกีฬาเป็นกิจกรรมในวันหยุดเพื่อฝึกเขาในเรื่องจิตใจและทัศนคติ เรามี ‘ปอป้อ’ เป็นลูกสาวคนสุดท้องในบรรดาพี่น้องทั้งหมด 3 คน ก่อนที่ปอป้อจะเริ่มเล่นแบดมินตัน เราพาไปลองเล่นกีฬา หลายอย่าง ทั้งบาสเกตบอล ว่ายน้ำ แต่ก็ไม่สำเร็จ จนกระทั่งมาจบที่กีฬาแบดมินตัน
วันแรกที่พาไป แม่ลองโยนลูกขนไก่ไปที่ปอป้อ ตอนนั้นจำได้ว่าเขาจับไม้แบดขึ้นมาแล้วก็ตีโดนลูกเลย เราเห็นแล้วก็รู้สึกประหลาดใจ เพราะว่าตอนนั้นปอป้ออายุแค่ 8 ขวบ ไม่เคยจับไม้แบดมาก่อน แต่กลับรู้จังหวะการรับลูก ส่งไปกี่ลูกก็ตีได้หมด เราเลยเห็นว่าเขาน่าจะเล่นกีฬานี้ได้ดี หลังจากนั้นก็พาเขามาเล่นประจำ และพาไปลองแข่งครั้งแรกตอนอายุ 9 ขวบ
ปอป้อกล้าลงสนามทั้งๆ ที่ไม่ได้ซ้อมจริงจัง เขาวิ่งรับทุกลูกที่ฝั่งตรงข้ามตีมา ตัวเขาตีกลับได้บ้าง ไม่ได้บ้าง แต่ไม่เคยยอมปล่อยให้ลูกไหนตกพื้นโดยที่เขาไม่วิ่งไปรับลูกเลย หลังจบเกมเขาแพ้แบบเกมศูนย์เลย เดินคอตกเหงื่อท่วมออกมาจากสนาม ทำหน้าเหมือนจะร้องไห้ วันนั้นแม่เลยถามเขาว่ายังอยากเล่นต่อไหมหรือพอแค่นี้ เขาบอกแม่ว่าเขาอยากเล่น เขาอยากติดทีมชาติ หลังจากวันนั้นมาครอบครัวเราก็ตกลงใจกันว่าจะผลักดันเขาไปให้สุดทาง ลองดูว่าเขาจะไปได้ไกลแค่ไหน
ปล่อยให้ลูกได้โบยบินและเติบโต
ตลอดเวลาที่ผ่านมาปอป้อพยายามพัฒนาตัวเอง เช่น เขาจะเป็นคนที่เร่งแม่ให้ไปส่งซ้อม แม่ไม่เคยต้องบอกเขาว่าวันนี้มีซ้อมนะ ต้องตื่นกี่โมง ต้องเก็บกระเป๋าเสื้อผ้านะ ตื่นมาเขาก็พร้อมมากแล้ว บางวันเราตื่นสายกว่าลูก เขาก็เดินมาปลุกเรา ลากเราลงจากที่นอน บอกว่า ‘แม่ เร็ว หน่อย เดี๋ยวไม่ทันวอร์ม ถ้านัด 4 โมงเราก็ต้องไปก่อนเวลานะแม่’
ที่ผ่านมาเราสนับสนุนลูกก็จริง แต่ไม่ได้คาดหวังว่าลูกจะต้องดีที่สุด จะต้องเป็นแบบนั้นแบบนี้ ไม่เคยเลย แม่จะบอกกับปอป้อเสมอว่าแม่พอใจในสิ่งที่ลูกเป็น แต่จะสนับสนุนลูกเต็มที่ในสิ่งที่ลูกอยากทำ สมมติว่าสิ่งที่เขาทำมันมีจุดสูงสุดอยู่ที่ 10 ปอป้อจะอยู่ที่ 3 4 หรือ 5 พ่อกับแม่ก็โอเค ขอแค่ลูกมีความสุขก็พอแล้ว
จนอายุ 14 ปี ไปแข่งรายการ SCG Junior Championships รุ่น 15 ปี แล้วได้แชมป์กลับมา ซึ่งเป็นการคว้าแชมป์แบดมินตันเยาวชนระดับประเทศ หลังจากวันนั้นทางเอสซีจีก็มาหาปอป้อถึงบ้าน จะพาเข้ากรุงเทพฯ ไปฝึกซ้อมแบบเป็นระบบ ตอนแรกแม่จะไม่ให้ปอป้อไป เพราะเขาเป็นลูกสาวคนเดียว เรายังอยากอยู่ใกล้ๆ เขา แล้วยิ่งช่วงนั้นลูกกำลังวัยรุ่น เรากลัวว่าลูกจะไม่มีชีวิตวัยรุ่นเหมือนเด็กคนอื่นๆ เลยคิดว่าเราส่งเขาไปแข่งกันเองก็ได้ หรือถ้าต้องไปฝึกกับเอสซีจีจริงๆ ก็ขอไปซ้อมเฉพาะวันหยุดได้ไหม เดี๋ยวเราไปรับไปส่งเอง ตอนนั้นในความคิดแม่คือถึงจะต้องเดินทางไป – กลับ กรุงเทพฯ – อุดรฯ ก็ยอม เขาก็บอกว่า ปอป้อจะเหนื่อยมากนะถ้าแม่ทำแบบนั้น
เมื่อถึงจุดหนึ่งแม่ก็ต้องเปิดโอกาสให้ลูกได้บินด้วยปีกของลูกเอง ที่ผ่านมาเราเป็นคนสอนลูกเองว่าอย่าปิดกั้นโอกาสตัวเอง แล้วถ้าวันนี้เราเป็นฝ่ายปิดกั้นโอกาสลูก ในอนาคตเราจะเสียใจไหม ถึงวันนั้นต่อให้เรามีเงินก็คงย้อนเวลากลับไปไม่ได้ สุดท้ายเราก็เลยมานั่งคุยกันจริงจังว่าจะเอาแน่ใช่ไหม ปอป้อบอกว่าเอาแน่ เขาอยากไป หลังจากวันนั้นแม่กับพ่อก็ได้แต่เฝ้ามองทางที่เขาเลือก จนกระทั่งปอป้อติดทีมชาติไทยตอนอายุ 15 ปี วันนั้นเป็นวันที่เราดีใจและภูมิใจที่สุดเพราะฝันของลูกเป็นจริงแล้ว
แม่กุง – สุนีย์ แต้รัตนชัย วัย 60 ปี (คุณแม่ของปอป้อ )
ในวัย 13 ปี บาส – เดชาพล พัววรานุเคราะห์ เด็กชายจากชลบุรีได้ก้าวเข้ามาเป็นนักกีฬาแบดมินตันอาชีพตามที่ใฝ่ฝัน และใช้เวลาร่วม 2 ปี ในการพิสูจน์ตัวเองบนเส้นทางนักแบดมินตันเดี่ยว ก่อนจะหันมาลองเล่นประเภทคู่และคว้าแชมป์เยาวชนโลกมาครองได้สำเร็จ
ในวัย 18 ปี บาสตัดสินใจเดินไปขอจับคู่กับปอป้อ รุ่นพี่สโมสรเดียวกัน เปลี่ยนจากเล่นคู่ชาย – ชาย เป็นคู่ผสมชาย – หญิง แม้ในช่วงแรกที่ทดลองเล่นด้วยกันจะยังไม่ประสบความสำเร็จ ทว่าในระยะเวลาเพียงไม่กี่ปีถัดมา นักแบดมินตันคู่ผสมบาส – ปอป้อ กลับกลายเป็นที่กล่าวขวัญถึงในฐานะคู่ผสมที่ดีที่สุดของวงการนักแบดมินตันไทยที่เคยมีมา
จากเด็กติดเกม สู่นักกีฬาอาชีพ
ตอนเด็กๆ บาสเป็นเด็กติดเกม เลิกเรียนมาทำอะไรเสร็จไม่เสร็จไม่รู้ รู้แต่ว่าต้องได้เล่นเกมก่อน ในตอนนั้นเราไม่ได้มองว่าเกมไม่ดี แต่วัยของบาสยังเด็กเกินไปที่จะเล่นแล้วรู้จักคิดสร้างสรรค์ ก็เลยคิดว่าต้องทำอย่างไรถึงจะทำให้เขามีเวลาเล่นเกมน้อยที่สุด แต่เด็กสมัยนี้อยู่ๆ เราจะไปห้ามเลยก็ไม่ได้ เราก็คิดหาวิธี บังเอิญว่าคุณครูมาขอตัวบาสไปลงเล่นฟุตบอลพอดี เป็นการแข่งขันกีฬาอนุบาล เราจึงตัดสินใจส่งลูกไป และตามไปเชียร์ถึงขอบสนาม
ตอนนั้นบาสอายุแค่ 5 ขวบ แต่เขาเล่นกีฬาแบบทุ่มสุดตัว พลังเยอะจนคุณครูติดใจ มีการแข่งขันกีฬาอะไรก็ส่งบาสไปหมด ต่อมาเราเลยคิดว่ากีฬานี่แหละที่จะทำให้บาสได้ใช้เวลาว่างอย่างเกิดประโยชน์
หลังจากนั้นเราก็พาเขาไปสนามเทนนิส แต่บาสไม่ชอบ ก็เลยลองพาไปสนามแบดมินตัน ปรากฏว่าเห็นครั้งแรกเขาก็ตื่นเต้นมาก เขาดีใจมากที่เราพามา แล้วก็ขอเราลงเล่นเลย นับตั้งแต่นั้นมาบาสก็เล่นกีฬาแบดมินตัน ตอนนั้นบาสอายุ 7 ขวบ เราไม่ได้ฝันว่าลูกชายจะต้องโตขึ้นมาเป็นนักกีฬา เราเพียงแค่อยากใช้กีฬาช่วยฝึกให้เขาเป็นเด็กที่มีระเบียบวินัย รู้จักแบ่งเวลา รู้จักจัดการตัวเอง
ช่วงแรกๆ ที่พาไปเรียน เขาจะเรียนตั้งแต่ 6 โมงเย็นจนถึง 2 ทุ่ม แต่ทุกครั้งพอถึงเวลาเลิก บาสจะไม่ยอมกลับ ถึงขั้นร้องไห้เพราะอยากเล่นต่อ แล้วก็ขอเราเล่นต่อทุกครั้ง เราก็จะบอกว่าเล่นก็เล่น แล้วก็นั่งเฝ้าเขาเล่นทุกวัน รอจนเขาหมดแรงถึงจะได้กลับ
ครั้งแรกที่ครูส่งบาสไปแข่งแล้วได้เหรียญทองแดงกลับมา เขาดีใจใหญ่ มันยิ่งทำให้เขามีพลังในการเล่นต่อ หลังจากนั้นเราเลยคิดว่าเขาคงเอาดีด้านนี้แน่ๆ แล้ว ก็เลยให้บาสเล่นมาเรื่อยๆ และพา ไปแข่งขันตามรายการต่างๆ แพ้บ้าง ชนะบ้างแต่บาสก็ไม่เคยท้อ จนกระทั่งอายุได้ 13 ปี เอสซีจีเขามองเห็นถึงความสามารถเลยเรียกตัวเข้าไปให้ทดลองเล่นในสโมสร 6 เดือน
ก่อนหน้านี้บาสเคยบอกกับเราว่า ความฝันของเขาคือการเป็นนักกีฬาทีมชาติ อยากได้เหรียญทองโอลิมปิก เรารู้สึกว่าโอกาสในครั้งนี้เหมือนบาสได้ก้าวขาข้างหนึ่งเข้าไปในความฝันแล้ว หลังจากนี้ก็ขึ้นอยู่ที่เขาเองว่าจะพิสูจน์ตัวเองได้มากน้อยขนาดไหน
ช่วง 6 เดือนที่บาสเข้าไปทดลอง เราจะคอยขับรถจากชลบุรีไปส่งเขาทุกเย็นวันศุกร์ เพื่อให้เขาซ้อมเสาร์ – อาทิตย์ พอถึงเย็นวันอาทิตย์เราก็มารับกลับเพื่อไปโรงเรียนในวันจันทร์ ทำอยู่อย่างนี้จนกระทั่งบาสพิสูจน์ให้เห็นว่าเขาสามารถเป็นนักกีฬาแบดมินตันอาชีพแบบเต็มตัว
ตอนเด็กๆ เราเป็นห่วงเขามาก เพราะทุกครั้งที่แข่งแบดมินตันแพ้ เขาจะร้องไห้ตลอด ยังจำได้เลยว่าทุกครั้งที่ลูกร้องไห้เราต้องนั่งอยู่ข้างๆ คอยปลอบใจเขาว่าไม่เป็นไรนะ ลูกทำเต็มที่ที่สุดแล้ว พอมาถึงวันที่รู้ว่าเขาติดทีมชาติ มันเป็นความรู้สึกที่พูดไม่ออกเลย เพราะเราไม่เคยคาดหวัง ไม่เคยฝันใหญ่ขนาดนี้ ทีมชาติเป็นความฝันของบาส ซึ่งเขาสามารถทำความฝันของเขาให้เป็นจริง หลังจากวันนั้นเราก็ไม่เคยเห็นน้ำตาของลูกอีกเลย
มีอยู่วันหนึ่งเราบอกกับลูกว่า ให้ตั้งใจซ้อมนะ เขาตอบกลับมาว่า เรื่องซ้อมไม่ต้องเป็นห่วงนะแม่ บาสเต็มที่กับการซ้อมอยู่แล้ว บาสรู้ว่าหน้าที่ของตัวเองคืออะไร พอได้ยินแบบนั้นความรู้สึกเราคือ โอ้โห ลูกเราพูดได้แบบนี้แล้ว ลูกโตขึ้นมากจริงๆ มันยิ่งทำให้เราภูมิใจในตัวเขา
แม่ญา – อริญา พัววรานุเคราะห์ วัย 49 ปี (คุณแม่ของบาส)
เป็นเวลากว่า 5 ปีแล้วที่ทั้งคู่ไล่ล่าความสำเร็จในโลกแบดมินตันด้วยกัน จนมาถึงวันนี้ที่ทั้งคู่จับมือกันเดินมาสู่เส้นทางโอลิมปิก
ฝันถึงโอลิมปิก
ความฝันสูงสุดของบาสที่บอกไว้คือ เขาอยากได้เหรียญทองโอลิมปิก ในวันที่รู้ว่าเขาได้ตั๋วไปแข่งโอลิมปิก นั่นหมายความว่าเขาเข้าใกล้ความฝันเข้าไปทุกที ก่อนไปเราบอกเขาว่า ไม่ว่าผลจะออกมาเป็นยังไง แม่จะคอยเชียร์ คอยอยู่ข้างๆ เหมือนตอนที่บาสยังเด็กแล้วแม่ไปเชียร์บาสทุกสนาม เชียร์ทุกสิ่งที่บาสทำ
ในฐานะแม่และครอบครัว ลูกจะทำได้ตามเป้าหมายได้หรือไม่ได้ก็ตาม หน้าที่ของเราคือยินดีเมื่อเขาได้รับชัยชนะ และเป็นกำลังใจให้เมื่อเขารู้สึกพ่ายแพ้ เราจะบอกบาสเสมอว่า คำว่ากีฬามันเป็นเรื่องปกติอยู่แล้วที่จะต้องมีฝ่ายหนึ่งเป็นผู้แพ้ อีกฝ่ายเป็นผู้ชนะ เพราะฉะนั้น ทำให้ดีที่สุดเพื่อจะได้ไม่ต้องเสียดายภายหลัง แพ้ชนะให้เป็นเรื่องของกีฬา ใจเราไม่แพ้ก็พอ
แม่ญา – อริญา พัววรานุเคราะห์ วัย 49 ปี (คุณแม่ของบาส)
การร่วมยินดีในวันที่ได้รับชัยชนะไม่สำคัญเท่าการอยู่เคียงข้างกันในวันที่พ่ายแพ้
กว่าจะมาถึงวันนี้ได้ปอป้อล้มลุกคลุกคลาน ตกรอบมาแล้วไม่น้อยเลย บางครั้งเขาก็มีท้อบ้าง แต่เขาไม่เคยพูดกับแม่เลยสักครั้งว่าจะถอดใจ มีแต่จะฮึดสู้แล้วไปต่อ พ่อ แม่ และพี่ๆ เองก็เหมือนกัน เราทุกคนก็ไม่เคยหมดแรงเชียร์ ไม่ว่ารายการไหน ไม่ว่าสุดท้ายผลจะออกมาเป็นอย่างไร เราก็พร้อมที่จะเป็นกำลังใจให้เขารู้สึกดี เป็นบ้านให้พักเอาแรง เป็นข้าวปลาอาหารให้เขาได้กินอิ่ม พร้อมที่จะสู้ต่อไป
สำหรับโอลิมปิกในครั้งนี้ก็เช่นเดียวกัน ต่อให้ครั้งนี้หรืออีก 3 ปีข้างหน้าผลจะออกมาว่าแพ้หรือชนะ แค่ลูกได้เอาชนะใจตัวเองและยืนยันว่าจะไปต่อในเส้นทางนี้ ทุกคนในครอบครัวก็พร้อมจะไปด้วย
แม่กุง – สุนีย์ แต้รัตนชัย วัย 60 ปี (คุณแม่ของปอป้อ)
ขอบคุณภาพในวัยเด็กจากครอบครัวปอป้อ-บาส