ผมทำงานเป็นช่างภาพฟรีแลนซ์อายุ 32 ปี ด้วยงานของผมคือการเดินทางไม่ค่อยได้อยู่กับที่ จึงเป็นเหตุให้เสี่ยงที่จะไปสัมผัสกับผู้ติดเชื้อ
ตอนที่ตัดสินใจไปตรวจคือผมไม่ได้มีอาการอะไร แต่ต้องการตรวจเพื่อความมั่นใจ และมีเอกสารรับรองการตรวจ เพื่อเป็นประโยชน์ในการเดินทางไปทำงาน แต่เมื่อตรวจก็พบว่าตัวเองติดเชื้อโควิดวันที่ 26 เมษายน 2564 หลังจากนั้นก็เข้ามารักษาตัวที่โรงพยาบาลพริ้นซ์ สุวรรณภูมิ ห้อง 610
ผมไม่มีความกังวลในตอนที่ต้องรักษาตัว เพราะคิดว่าเราก็เป็นคนแข็งแรงคนหนึ่ง แต่สิ่งที่แอบกลัวคือเราไม่รู้ว่าการไปรักษาของเราจะต้องไปอยู่กับใคร ขั้นต่ำก็ 14 วัน เราจะอยู่ได้ไหม จะมีใครคุยด้วย หรือจะปรับตัวได้หรือไม่
สวัสดีเพื่อนใหม่ พวกเรา “ติดโควิด” เหมือนกัน
ผมไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลพริ้นซ์ สุวรรณภูมิ เบอร์ห้อง 610 มีผู้ป่วยโควิดอยู่รวมกันทั้งหมด 7 คน ตอนแรกบรรยากาศก็เงียบๆ ผมคิดว่าไหนๆ มันก็ต้องอยู่แล้ว ขอให้ช่วงการรักษาตัวของพวกเราผ่านมันไปได้อย่างมีความสุขดีกว่า
ผมเริ่มเปิดบทสนทนาในห้องว่า ของเยี่ยมของผมแบ่งไปกินได้ครับ หลังจากนั้นทุกคนก็เอาของเยี่ยมมารวมกันและแบ่งกัน กลายเป็นธรรมเนียมของห้องไปเลย บรรยากาศที่เคยเงียบก็ทำให้เราใกล้ชิดและคลายความกังวลได้มากขึ้น
ในห้องจะมีคนตั้งแต่อายุ 20 30 40 50 ปี ไปจนถึงเฮียใหญ่ของห้อง ที่เป็นผู้สูงอายุคือ 71 ปี ถึงแม้จะอายุต่างกัน แต่สิ่งที่มีเหมือนกันคือพวกเราติดเชื้อโควิด นั่นอาจจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เราเชื่อมกันได้ง่าย บวกกับการเปิดใจของแต่ละคนในการอยู่ร่วมกัน โดยเฉพาะเฮียใหญ่ของเรา ถึงแม้จะเป็นผู้สูงอายุและมีโรคประจำตัว แต่ความใจสู้และอารมณ์ดี ยิ่งทำให้เราเองก็ได้พลังบวกตามไปด้วย
ดูแลกันและกัน เราจะหายไปด้วยกัน
ในแต่ละวันเราจะต้องมีการส่งการบ้านประจำวัน โดยคุณหมอจะเข้ามาวัดออกซิเจน วัดความดัน วัดชีพจร และวัดไข้ ซึ่งคุณหมอและพยาบาลที่นี่ทำงานหนักกันทุกคน เรารู้ว่าเขาทั้งเหนื่อยแล้วก็เสี่ยง
หนึ่งในความตั้งใจของพวกเราห้อง 610 คือ เราต้องไม่เป็นภาระให้หมอ เราต้องช่วยกันดูแลกันและกันให้ดีที่สุด ทำให้นอกจากอาหารที่เราแบ่งปันกันยังมีอีกกิจกรรมที่ขาดไม่ได้ เนื่องจากเรามีผู้สูงอายุในห้อง คือการชวนกันออกกำลังกายในห้อง เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้ตัวเองเพื่อไปต่อสู้กับโควิด
เพื่อนร่วมห้องมีผลต่อจิตใจในช่วงรักษาตัว
สำหรับผมแม้กำลังใจจากครอบครัวจะสำคัญ แต่ผมมองว่าไม่ได้สำคัญที่สุด เพราะเราไม่ได้เห็นหน้าและใช้ชีวิตร่วมกัน สิ่งที่สำคัญสำหรับผมคือเพื่อนร่วมห้องมากกว่า ที่จะทำให้เราสบายใจหรือลำบากใจ ถ้า 14 วันนี้มันผ่านไปด้วยดี เราไม่เครียด ผมว่ามันเป็นผลดีกับร่างกายนะ แต่ถ้า 14 วันผ่านไปอย่างทรมานและไม่มีความสุข จิตใจเราไม่สู้ร่างกายก็ไม่ไหวตาม
ออกจากโรงพยาบาลเราก็ยังคงเป็น “เพื่อน” กัน
ตอนนี้ผมรักษาตัวครบ 14 วันผ่านไปอย่างรวดเร็ว และมีข่าวดีจากหมอคือผมกำลังจะได้ออกจากโรงพยาบาลแล้ว สิ่งที่ผมประทับใจคือ ก่อนผมจะกลับเพื่อน ๆ ก็บอกว่า ไปแล้วอย่าลืมกันนะ โทรมาคุยเล่นกันบ้างเดี๋ยวจะตามออกไปเหมือนกัน มันทำให้ผมรู้สึกว่าพวกเขาเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ผมหาย เพราะกำลังใจที่เรามีให้กัน
สำหรับผมแล้วเรื่องราวในห้อง 610 ก็คงเป็นความทรงจำอีกช่วงหนึ่งในชีวิต ใครจะไปคิดว่าจะได้เพื่อนจากการป่วย แถมคนละวัยกันอีก