เสิร์ฟทิปส์บิวตี้อย่างมีสาระกับ ‘คุณยายจูลี่’ ยูทูบเบอร์รุ่นใหญ่ที่เข้าใจคนวัยเดียวกัน

“สารเคมีมันอันตราย มันทำร้ายเรา”

ฟัง จารีรัตน์ จันทร์ศิริ เจ้าของเพจ ‘คุณยายจูลี่มีสาระ’ และช่อง YouTube ชื่อเดียวกัน เริ่มต้นอย่างนี้ ดูเหมือนเรื่องที่กำลังจะคุยกันเป็นเรื่องเครียด แต่ขอบอกว่าไม่ใช่อย่างนั้นเลย เพราะหลังจากตรงนี้ไปเรื่องเล่าของเธอจะนำความสุขมาให้คนที่ได้อ่าน และยังอาจช่วยเพิ่มความกล้าให้กับคนที่กำลังลังเลว่าจะออกจากคอมฟอร์ตโซนของตัวเองดีไหมด้วย

“จูลี่เป็นชื่อเรียกตอนที่เราทำงานเป็นไกด์ แล้วลูกหลานที่ย้ายไปเมืองนอกเขาถนัดปากเรียก ‘ยายจูลี่’ เลยเอามาตั้งเป็นชื่อเพจ ‘คุณยายจูลี่มีสาระ’ เราว่ามันน่ารัก ให้ความรู้สึกเป็นกันเอง” ยูทูบเบอร์สาย health & beauty วัย 58 ปีที่มีคนตามติดกว่า 66,000 คน เล่าถึงที่มาของชื่อ ‘จูลี่’ แทนชื่อเล่นจริงๆ ที่ชื่อ ‘ตู่’

ส่วนที่มาของการเริ่มต้นดูแลตัวเองนั้นย้อนกลับไปตั้งแต่เมื่อ 40 ปีก่อน ตอนที่เธออายุเพียง 18 ปี แต่กลับต้องเสียคุณแม่ด้วยโรคมะเร็งเต้านม ตามด้วยข่าวร้ายว่าทั้งพี่สาวและพี่ชายเป็นมะเร็งสมอง ส่วนน้าเป็นมะเร็งลำไส้ ความกลัวบวกความไม่รู้ผลักดันให้คุณยายจูลี่ค้นคว้างานวิจัยและปรึกษาแพทย์จนรู้ว่า สมาชิกในครอบครัวมีโอกาสเป็นมะเร็งสูงเนื่องจากพันธุกรรม แต่การเป็นมะเร็งก็ขึ้นอยู่กับพฤติกรรมการใช้ชีวิตด้วย เธอจึงตัดสินใจเปลี่ยนวิถีชีวิตตัวเองด้วยการลด ละ เลิกใช้สารเคมีนับจากนั้น

แต่ถ้าถามถึงจุดเริ่มต้นของการทำเพจ ต้องเล่าถึงตอนที่ลูกสาวซึ่งอยู่ออสเตรเลียขอให้คุณยายจูลี่ไปช่วยดูแลลูกวัย 8 เดือนที่ป่วยด้วยโรคภูมิแพ้ “ไม่ไหวแล้วแม่ ต้องให้แม่ช่วยแล้วละ” สิ้นคำขอร้องของลูก แม่ก็แพ็กกระเป๋าทันที พอไปถึงจึงรู้ว่าหลานรักเป็นโรคภูมิแพ้ขั้นรุนแรง

“หลานชายแพ้นมวัว แพ้ไข่ แพ้อาหารทะเล กินอาหารเด็กที่มีถั่ว น้ำตาล แป้งไม่ได้เลย ขนาดยาสระผมที่หมอให้มาก็ยังแพ้ แพ้ทุกสิ่งอย่างในโลก ลูกเขารู้ว่าเราดูแลตัวเองแบบวิถีออร์แกนิกมานานเลยคิดว่าน่าจะช่วยได้ พอเราเอาน้ำผึ้งกับน้ำซาวข้าวอินทรีย์สระผมให้ หลานก็เริ่มดีขึ้น จากที่กินปลากินแป้งไม่ได้ เราก็ทำเมนูโภชนาการให้เขา

“ระหว่างนั้นเราก็เริ่มแชร์เทคนิคดูแลหลานที่เป็นภูมิแพ้ลงเฟซบุ๊กส่วนตัว อย่างเช่นต้องอาบน้ำด้วยอะไร เป็นหวัดทำอย่างไร กินยาตัวนี้ไม่ได้แล้วกินอะไรแทนได้ พอแชร์แล้วก็มีแม่ๆ จากเมืองไทยตามมาดูเยอะขึ้น ลูกเลยแนะนำให้เราทำเพจจะได้แยกจากชีวิตส่วนตัว คนตามเขาจะได้สาระจากตรงนี้เต็มๆ นั่นคือที่มาของเพจ”

“ช่วงแรกเพจเราเล่าเรื่องการดูแลหลาน จากนั้นค่อยๆ พัฒนามาดูแลเป็นเรื่องการดูแลผิวผู้สูงวัย ซึ่งเป็นสิ่งที่เราทำประจำเพราะเราเริ่มสูงวัยแล้ว เราคิดว่าเราดูแลตัวเองได้ดีเลยอยากจะแบ่งปันความรู้ให้คนอื่นด้วย จริงๆ มันเชื่อมโยงกันหมด เรื่องการใช้ชีวิต ของใช้ ของกิน เรายึดหลัก 5 อ. มีอาหาร อากาศ ออกกำลังกาย อารมณ์ และอุจจาระ ทั้ง 5 อย่างนี้ถ้าดูแลตัวเองให้ถูกวิธี เราจะไม่ป่วย”

รู้ครบจบทุกปัญหาความงามของ ‘ผู้สูงวัย’

“ไม่อยากดูแก่ แต่อยากดูดี แต่จะดูดีอย่างไรในวิถีของเรา” ซึ่งวิถีของคุณยายจูลี่ก็คือการทดแทนการใช้สารเคมีด้วยของที่ทำเองจากของใกล้ตัวนั่นเอง

คุณยายอธิบายข้อดีของการทำผลิตภัณฑ์บำรุงผิวใช้เองว่า ข้อหนึ่งคือ ลดการใช้สารเคมี สองคือ ลดค่าใช้จ่ายเพราะใช้ผัก ผลไม้ และสมุนไพรที่หาได้จากในครัว ส่วนข้อสามก็คือ ได้สนุกกับการเลือกและทำผลิตภัณฑ์บำรุงผิวของเราเอง คุณยายจูลี่ย้ำว่าที่กล้าแนะนำเพราะผ่านการศึกษาจริงและทดลองกับตัวเองจนเห็นผล

“อะไรกินได้ก็เสริมสวยได้ จำสโลแกนนี้ไว้เลย เราดูแลตัวเองเป็นปกติ ตื่นเช้ามาเปิดตู้เย็นแล้วมีอะไรก็ใช้อันนั้น อย่างโยเกิร์ต มะนาว น้ำผึ้ง แป้งข้าวเจ้า นม ผงถั่วเขียวนี่ใช้ได้หมด ยิ่งเราชอบทำครัวอยู่แล้วเลยยิ่งมีผัก ผลไม้ สมุนไพรเยอะ

“คลิปที่ปังมากทำให้มีคนติดตามเราเยอะขึ้นด้วยคือ คลิปนวดหน้าด้วยน้ำมันสมุนไพร ยกกระชับ ลดริ้วรอย ปรากฏว่าคนกดไลก์คลิปนั้น 400,000   คน ซึ่งเป็นผู้สูงวัยทั้งนั้น เราเลยได้รู้ว่ามีกลุ่มผู้สูงวัยที่ไม่อยากทำศัลยกรรมเยอะ ไม่อยากฉีดหน้าให้ดูเด็ก เขาสนใจวิธีนวดตามที่เราแนะนำ เราเลยอยากเอาสิ่งที่รู้มาให้เป็นทางเลือกหนึ่งของเขา”

บิวตี้บล็อกเกอร์มีมากมาย แต่ทำไมผู้สูงวัยถึงติดตามยายจูลี่

นี่คือคำถามที่เราสงสัยจนไปแอบส่องไลฟ์สไตล์ยูทูบเบอร์รุ่นยายสักพักถึงเข้าใจ เพราะบทบาทของเธอไม่ใช่แค่คอยแนะนำ แต่เมื่อเผชิญปัญหาเดียวกัน ประสบการณ์ใกล้เคียงกัน จึงเป็นเหมือนเพื่อนสาวผู้รู้ใจกันและกัน

“เพจวัยรุ่นเล่าเรื่องความงามมีเยอะ แต่โครงสร้างผิววัยรุ่นกับผิวผู้สูงวัยต่างกันมาก ผิววัยรุ่นยังสร้างคอลลาเจนและอีลาสตินได้ ในขณะที่ผิวผู้สูงวัยมีแต่จะเสื่อมลงในทุกๆ ด้าน มีปัญหาให้แก้เยอะกว่า แล้วไหนจะยา ความเครียด หรือสารเคมีต่างๆ ที่สะสมในร่างกายจนส่งผลให้ผมร่วง ผิวหนังเปลี่ยนไป ปัญหามันมาจากภายใน ทีนี้ถ้าเป็นเพจวัยรุ่นเขาอาจยังไม่เข้าใจปัญหาตรงนี้เหมือนผู้สูงวัยด้วยกันเอง เราก็เข้ามาแก้และคอยซัพพอร์ตตรงนั้น”

ปัญหาผิวผู้สูงวัยหลักๆ คือ ผิวแห้งเป็นฝ้า ผิวขาดน้ำ มีริ้วรอย ใบหน้าหย่อนคล้อย ซึ่งคุณยายจูลี่อธิบายว่าเป็นเพราะขาดการบริหารกล้ามเนื้อบริเวณใบหน้า และเมื่อผิวมีปัญหาก็ทำให้ขาดความมั่นใจ

“อย่าลืมว่ายิ่งเข้าวัยทอง ฮอร์โมนขึ้นๆ ลงๆ เกิดอาการซึมเศร้าได้ง่าย ความรู้สึกก็ถูกกระทบกระเทือนได้ง่ายอีกเหมือนกัน แต่ถ้าเขาลุกขึ้นมาทำสวย สิ่งที่ได้คืนมาคือความมั่นใจและสุขภาพจิต เราไม่ได้ไปสวยให้ใครดูหรอก สวยเอง ดูเอง แค่นี้ก็มีความสุขแล้ว

“เป้าหมายการทำงานของเราคืออยากส่งต่อความรู้ที่ถูกต้องให้กับผู้สูงวัย อาจไม่ค่อยมียูทูบเบอร์คนไหนเน้นไปที่กลุ่มนี้เพราะไม่ได้ยอดวิว แต่เราอยากเป็นเพื่อนคุย เพื่อนที่คอยให้กำลังใจเชียร์ให้เขาลุกขึ้นมาดูแลตัวเอง ดูแลคนรอบตัวได้”

Slow but Strong ไม่เก่งก็เป็นยูทูบเบอร์ได้

“แต่ก่อนไม่เคยสนใจเรื่องออนไลน์ อาศัยลูกกับเพื่อนลูกช่วยทำเพจ จะลงคลิปเกิน 5 นาทีก็ทำไม่เป็น ลูกต้องบอกให้ไปลงในยูทูบก่อนแล้วเอาลิงก์มาแปะ สมัยนั้นแค่อ่านคอมเมนต์ยังทำไม่เป็นเลย” คุณยายจูลี่เล่าไปก็ขำตัวเองไปเมื่อนึกถึงตอนเริ่มต้นใหม่ๆ

“แต่พอเราอยู่ไกลกันกับลูก เราเลยจำเป็นต้องศึกษาหาความรู้เอง ถึงวัยนี้ให้เรียนเรื่องเทคโนโลยีจริงจังมันเหนื่อยนะ สิ่งที่สำคัญคือต้องทำ ฝึกทำไปเรื่อยๆ เดี๋ยวก็เก่งเอง จะรอให้เก่งแล้วค่อยทำสุดท้ายคงไม่ได้ทำสักที แต่ระหว่างทำเราต้องสนุก ทำแล้วมีความสุขกับมันด้วย และอย่าคาดหวังมาก เรื่องนี้ก็สำคัญ

“ถ้าคนโลว์เทคอย่างยายจูลี่ทำได้ ใครก็ทำได้”

เสียงหัวเราะดังสลับน้ำเสียงชัดถ้อยชัดคำที่พูดเป็นจังหวะจะโคน ประกอบกับการที่เคยเป็นไกด์มาก่อน ยายจูลี่จึงมีทักษะการเล่าเรื่องได้ไหลลื่นและน่าฟัง แต่ใช่ว่าความสามารถเหล่านี้จะเป็นมาแต่แรก ถึงจะมีพื้นฐานที่ดีแต่ทั้งหมดก็มาจากฝึกฝน ไม่ต่างจากทุกคลิปที่คุณยายหมั่นเรียนรู้ ลองผิดลองถูกด้วยตัวเอง

“เราทำเองทั้งหมด ตื่นเช้ามาถ่าย ตัดต่อ ทำจากโทรศัพท์เครื่องเดียว ตอนหลังเพิ่งได้ไฟมาเอาไว้ไลฟ์สด ผู้สูงวัยที่อยากลองทำต้องค่อยๆ เรียนรู้ โดยเฉพาะแอปพลิเคชันตัดต่อ มันจะมี 2 – 3 แอปฯ ที่ใช้ง่ายมาก ให้ลองทำดูหลายๆ อันแล้วเลือกที่เราถนัดสุด โค้ชที่เขาสอนฟรีก็มี เขาจะสอนทีละเรื่องๆ เราก็ตั้งเป้าเลย สมมติถ้าจะเรียนตัดต่อก็เรียนเรื่องนี้เรื่องเดียวหลายๆ วัน ลองทำจนชำนาญแล้วถึงค่อยขยับไปหัดแต่งภาพ ถัดมาก็ลองใส่เพลงจนแม่น เรียนรู้ทีละอย่างให้เวลากับมัน

“เราตัดคลิปเองบนมือถือ 4 – 5 ชั่วโมง ทำช้ากว่าเด็กเยอะ ลำพังแค่เลือกเพลงก็แย่ละ บางทีทำแล้วก็ลบ แต่ข้อได้เปรียบคือคนสูงวัยมีเวลามากกว่าเด็ก แทนที่จะอยู่บ้านเฉยๆ ลองเรียนรู้สิ่งใหม่ ถ้าเราไม่ออกจากคอมฟอร์ตโซน สมองมันจะเสื่อมเอา”

ค้นหาความสุขให้เจอแล้วปล่อยพลังออกมาให้สุด

คุณยายจูลี่มองว่าหนึ่งในปัญหาของคนอยากเริ่มทำอะไรใหม่ๆ คือกลัวทำแล้วคนด่า ทำไปแล้วไม่ดี หรือถูกวิจารณ์ในแง่ลบ สุดท้ายความกลัวนี้จะกลายเป็นเงื่อนที่บีบรัดจนทำให้เสียโอกาสในการพัฒนาตัวเอง ยูทูบเบอร์รุ่นใหญ่จึงถือคติว่า “จะเริ่มต้นอะไรไม่ต้องรอให้เก่งแล้วค่อยทำ ถ้ามัวแต่รอ ชาตินี้ก็ไม่ได้ทำ”

การคาดหวังความสำเร็จตั้งแต่ครั้งแรกเป็นอีกหนึ่งอุปสรรค คุณยายจูลี่จึงแนะนำว่า “อยากทำต้องทำเลย ทำแล้วย้อนกลับมาดูตั้งแต่คลิปแรก แล้วไม่ต้องรอให้คนวิจารณ์ แต่เราต้องวิจารณ์ตัวเองให้เป็น ความสำเร็จของคนอื่นที่เราเห็นมันมีขั้นตอนเบื้องหลังของมันอยู่ เรามักเห็นตอนปลาย เห็นแต่เบื้องหน้า ทั้งที่ทุกคนมาจากสเต็ปที่ 1 2 3 4 ด้วยกันทั้งนั้น

“ถ้าคนที่เรียนเรื่องถ่ายภาพเข้าไปดูคลิปของยายจูลี่ เขาจะบอกว่าคลิปพวกนี้ใช้ไม่ได้ แต่รู้ไหมว่าคลิปแบบนี้มันกลับถูกจริตกับคนบางกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงวัย เราเคยตัดต่อคลิปแล้วใส่เพลง วางภาพสวยๆ กลายเป็นว่าแฟนคลับเราไม่เอา เขาชอบแบบเรียลๆ ใส่ชุดอยู่บ้าน ไม่แต่งหน้า เหมือนเราคุยกับเขาอยู่จริงๆ

“ดังนั้น อย่ามองอะไรด้านเดียว ให้มองรอบทิศทาง ลองทำก่อนแล้วค่อยมาดูว่าทำไมคนถึงชอบและไม่ชอบ ถ้าจุดไหนไม่ดีเราต้องยอมรับและปรับปรุง เพราะมันจะทำให้เราพัฒนาขึ้นทุกๆ วัน”

บางคนไม่รู้ตัวว่าชอบอะไร ในขณะที่บางคนชอบไปเสียทุกอย่างจนไม่รู้จะเลือกอะไร นี่คือเรื่องธรรมดาที่เกิดได้กับทุกวัย คุณยายจูลี่บอกว่าหากอยากลองเป็นยูทูบเบอร์ เรื่องที่นำเสนอควรเป็นเรื่องที่เราสนใจและถนัด วิธีที่ง่ายคือลองสำรวจตัวเองก่อน แต่ถ้ายังหาไม่เจอมีอีกเทคนิคที่อาจช่วยได้

“เชื่อเถอะ คนเรามักมีเรื่องที่รู้มากกว่าคนอื่นเสมอ คนซ่อมจักรยานรู้เรื่องจักรยานมากกว่าทุกคน แม่ค้าขายกับข้าวรู้เรื่องวัตถุดิบและการทำอาหาร ไม่จำเป็นต้องทำแต่เรื่องที่มีสาระ อะไรก็ได้ที่คุณรู้ และอะไรก็ได้ที่คุณคุยได้ไม่รู้เบื่อ เหมือนที่เราทำเรื่องความสวยความงาม เราทำแล้วมีความสุขมาก ถ้าจะเริ่มต้น 2 อย่างนี้แหละสำคัญ”

“ถ้ายังคงไม่รู้ ให้ลองสังเกตว่าคนรอบตัวมักถามเราเรื่องอะไร เรื่องไหนที่เราถูกถามตลอด สมมติเราชอบกระเป๋าแบรนด์เนมแล้วมีคนมาถามซื้อที่ไหน เลือกอย่างไร รุ่นไหนกำลังมา ซ่อมที่ไหน มีวิธีดูแลอย่างไรบ้าง นั่นแหละแสดงว่าเรารู้มากกว่าคนอื่น และดูท่าทางจะชอบด้วยถึงรู้เยอะ แต่บางทีตัวเราไม่รู้หรอกว่าถนัดอะไรเพราะไม่ได้ประเมินตัวเอง”

โลกออนไลน์ ความท้าทายของผู้สูงวัย

“สูงวัยไม่ได้แปลว่าไม่เก่งเทคโนโลยี แค่ยังไม่เคยลอง”

คุณยายจูลี่บอกเราด้วยความเชื่อมั่น ยิ่งในช่วงนี้มียูทูบเบอร์และอินฟลูเอนเซอร์สูงวัยลุกขึ้นมาแชร์สิ่งที่ตัวเองสนใจผ่านโลกออนไลน์เพิ่มขึ้น แถมยังได้รับความสนใจและแรงสนับสนุนจากคนวัยเดียวกันและรุ่นลูกหลาน จนไม่แน่ว่าเราอาจได้เห็นคลื่นลูกใหม่จากพลังสูงวัยในอนาคตอันใกล้

“หลายคนที่เรารู้จักลองทำช่องยูทูบแล้วไปไวมาก กลายเป็นช่องทางทำเงิน ไลฟ์สไตล์ของผู้สูงวัยเปลี่ยนไปโดยเฉพาะช่วงล็อกดาวน์ เราเห็นหลายคนลุกขึ้นมาทำสิ่งที่ไม่เคยทำ เราเชื่อว่าจะมีคนประสบความสำเร็จเยอะขึ้นเรื่อยๆ มีคนติดตามเราเขาส่งคอมเมนต์มาว่าเขาเองก็ลองทำช่องตัวเองเหมือนกัน ฝาก subscribe ให้ด้วยนะ เราก็ตามไปให้กำลังใจ ต่อไปจะกลายเรื่องปกติที่ผู้สูงวัยจะอยู่ในโลกออนไลน์ตามช่องทางต่างๆ”

เมื่อถูกถามว่าเคยท้อไหมที่ต้องศึกษาเรื่องเทคโนโลยีที่ไม่ถนัด คุณยายจูลี่ตอบชัดแจ๋วว่า “ไม่เคยท้อ จะท้อตอนเจอคนคอมเมนต์ในแง่ลบมากกว่า แต่ก่อนเวลาโดนบุลลีจะท้อบ้าง มีคลิปหนึ่งเราแนะนำการถูบ้านโดยไม่ใช้น้ำยา โดนคอมเมนต์ในแง่ลบ แต่ปรากฏคนยิ่งเข้ามาดูเยอะ หลายคนขอบคุณเราเพราะเขาได้ประโยชน์จากคลิปที่เราทำ เราก็เลือกมองมุมดีๆ ของมันแทน

“มีผู้สูงวัยที่ทำเพจอาหารที่รู้จักกัน เขาโดนถล่มเละในเพจจนไม่เข้าใจว่าทำไมต้องว่าเขาขนาดนั้น เราก็บอกอย่าไปสนใจมาก มันเป็นแบบนี้แหละ ผ่านเข้ามาแล้วเดี๋ยวก็ผ่านไป เราไม่ต้องไปโต้ตอบอะไรทั้งนั้น เดี๋ยวเขาก็เลิกด่ากันไปเอง ถ้าเราตัดสินใจเดินทางนี้แล้วอะไรปล่อยได้ต้องปล่อย มันเป็นเรื่องปกติของโลกออนไลน์ที่อาจเกิดขึ้นได้ ถ้าทำใจไม่ได้ก็อย่าเพิ่งไปดูคอมเมนต์ แต่ถ้าเราผิดพลาดก็ต้องยอมรับและแก้ไขให้ดีขึ้น เพราะฉะนั้นไม่ใช่แค่สุขภาพกายที่ต้องดูแล สุขภาพใจก็สำคัญ ต้องสร้างภูมิต้านทานให้ดี”

การนำเสนอข้อมูลที่ถูกต้องเป็นความท้าทายอีกอย่างของผู้สูงวัยที่อยากผันตัวเองมาเป็นบล็อกเกอร์หรือยูทูบเบอร์ ซึ่งความถูกต้องของข้อมูลเป็นเรื่องคุณยายจูลี่ให้ความสำคัญมาก

“บางทีข้อมูลไม่ผิดแต่ไม่สมบูรณ์ นี่คือเหตุผลว่าทำไมได้ข่าวสารมาแล้วเราต้องหาข้อมูลซ้ำอีกหลายๆ ด้าน อย่าเชื่อเพราะเขาว่ากันว่าหรือเพื่อนส่งมาแล้วรีบส่งต่อ ต้องเช็กจนมั่นใจ โดยเฉพาะข่าว ผลสำรวจ และงานวิจัยว่าอัพเดตหรือเปล่า

“เราเองจริงจังกับการค้นคว้าข้อมูลเพราะกลัวจะเป็นโทษกับผู้ชม แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่พลาดอย่างเช่นบอกข้อมูลไม่ครบถ้วน เราก็จะรีบกลับมาแก้ไข ห้ามปล่อยผ่าน โดยเฉพาะเรื่องสมุนไพรนี่ซี้ซั้วใช้ไม่ได้ รู้ข้อดีแล้วก็ต้องรู้ข้อควรระวังด้วย ที่ฮิตมากคือ ฟ้าทะลายโจร เราย้ำบ่อยมากว่าถ้าไม่ป่วยไม่ต้องกิน ถ้ายังไม่เป็นโควิด ฟ้าทะลายโจรไม่ช่วยอะไร มิหนำซ้ำจะมีผลกับไตอีก ส่วนน้ำกระชายดื่มทุกวันไม่ได้ มันร้อน เดี๋ยวธาตุไฟแตก ถ้าอยากกินทุกวันแนะนำให้ใช้ทำเป็นอาหารแทน ปริมาณจะได้ไม่เยอะเกินไป

“คนทำคลิปหรือคนนำเสนอข้อมูลเองก็ต้องมีความรับผิดชอบ ถ้าทำเพื่อยอดวิวเ อาเร็วเอาเยอะเข้าว่าแล้วอาจเกิดโทษกับคนอื่น มันอันตราย เราเองปักหมุดไว้แล้วว่าทำเพื่อส่งต่อสาระ ยอดวิวจะมากจะน้อยไม่เป็นไร ขอให้คนดูได้ประโยชน์บ้างก็พอ”

ความฝันใหม่ที่เป็นความสนุกในวัยใกล้ 60

“ตอนนี้กำลังสนุกกับการเทรดหุ้นและซื้อขายคริปโต”

ระหว่างรอคอยว่าสักวันจะได้กลับไปทำหน้าที่ไกด์ตะลุยเที่ยวทั่วไทยอีกครั้ง ยายจูลี่ก็ค้นพบความฝันใหม่ที่นอกจากนำพารายได้ยังพัดพาความสุขเล็กๆ น้อยๆ เข้าสู่ชีวิตในวันที่ต้องเก็บตัวอยู่กับบ้าน

“แต่ก่อนเกลียดเรื่องหุ้นมาก ไม่เคยคิดเลยว่าวันหนึ่งจะได้ลอง มีช่วงที่เราดูซีรีส์เกาหลีใน Netflix จนครบทุกเรื่องแล้ว เบื่อมาก ไม่รู้จะทำอะไร เลยนั่งคิดว่าอยากลองทำธุรกิจที่ไม่ต้องลงทุนมาก ไม่ต้องพึ่งพาใคร ก็นึกถึงเพื่อนคนหนึ่งที่คบกันมา 20 ปีแล้ว เขาเคยชวน เทรด หุ้นหลายรอบ แต่เราไม่เอาเพราะมันคนละทางกัน ทีนี้พอเราโทรหา เขาก็บอกจะสอนให้ โชคดีที่เพื่อนเข้าใจเรา เขารู้ว่าเราสูงวัยแล้วเลยสอนแบบช้าๆ อธิบายอย่างใจเย็นมาก”

ตอนนี้คุณยายจูลี่เข้าสู่วงการนี้มาได้เดือนหนึ่งแล้ว คุณยายมองว่าเป็นเหมือนเงินในอากาศที่ซื้อขายได้อย่าโลภ เพราะถ้าไม่โลภก็จะไม่เจ๊ง การเทรดหุ้นและซื้อขายคริปโตทำให้เธอได้ฝึกสมอง แถมได้เงินไว้ซื้อของกินเข้าบ้านอีกด้วย

“บางทีเราก็ย้อนถามตัวเองนะว่าทำไมถึงปฎิเสธสิ่งๆ ต่างทั้งที่ไม่เคยรู้จัก ไม่เคยลอง ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าไม่ชอบเพราะอะไร   แต่พอได้ลองทำสิ่งที่เชื่อมาตลอดว่าไม่ใช่กลายเป็นว่าสนุกกับมันด้วยซ้ำ เราไม่รู้หรอกว่าอนาคตจะได้ทำอะไรอีก แต่ถ้ามีโอกาสใหม่ๆ เข้ามา เราเองก็อยากลอง เราเชื่อว่าโลกออนไลน์ให้ประโยชน์เยอะมากถ้าเราใช้เป็น มันทำให้เราได้เพื่อน ได้แบ่งปันเรื่องราวดีๆ มันเป็นความภูมิใจของเรา อายุเท่านี้แล้วยังมีรายได้ แถมส่วนหนึ่งยังได้มาจากโซเชียลมีเดียด้วย

“สิ่งที่ดีที่สุดคือเราได้คุยกับลูกมากขึ้น มีเรื่องราวให้ได้คุยกันตลอด ลูกก็รู้ว่าเขามีคุณค่ากับเรา ตอนนี้เขาฉลาดกว่าเรา เขาก็เป็นที่ปรึกษาให้แม่ เขาเอ็นดูเราเหมือนครั้งหนึ่งที่เราเอ็นดูเขานั่นแหละ สลับกัน”

Credits

Authors

  • สุธิดา บุบผากลิ่น

    Authorนักเขียน ยืนหนึ่งเรื่องเขียนงานช้า เพราะมัวกินราเมงและเดินป่า หลงรักการฝึกหายใจ สูดกลิ่นชา โยคะ และบำบัด ฟังเหมือนชีวิตแสนเก๋ แต่เปล่าค่ะ ฉันเป็นออฟฟิศซินโดรม

  • บริภัทร บุญสวัสดิ์

    Cameramanหลงใหลผลลัพท์ในรอยยิ้มหวานเจี๊ยบจริงใจที่ส่งคืนกลับมา :)

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ