“…ไม้ใกล้ฝั่งร้อยปีอย่างเรา จะไปหอมเหมือนดอกไม้ได้ยังไง…”
ประโยคซื่อๆ จากปากคุณยายคิมกัมรี ที่ได้ฟังแล้วก้อนสะอื้นรื้นขึ้นในใจ เป็นเรื่องราวตอนที่แก๊งสามคุณยายคิมกัมรี, อีมาจี และพัคซุกจา พากันไปอุดหนุนเทียนหอม หนึ่งในอาชีพเสริมของ ‘หัวหน้าฮง’ (ฮงดูชิก) พระเอกของเรื่อง ระหว่างเดินกลับบ้าน บทสนทนาเล็กๆ ก็เริ่มต้นขึ้น
พัคซุกจา คุณยายน้องเล็กวัย 70 ปี ชมว่าเทียนนี้ดีเหลือเกิน จุดเพียงแป๊บเดียวก็หอมฟุ้งไปทั่วห้อง เธอจะใช้เทียนหอมนี้ในวันที่ลูกหลานมาเยี่ยม เพราะคราวก่อนหลานของเธอบ่นว่า บ้านนี้ ‘เหม็นกลิ่นคนแก่’
คุณยายคิมกัมรี หัวหน้าแก๊งวัย 80 ปีจึงบอกว่า “ไม้ใกล้ฝั่งอย่างเรา จะให้หอมเหมือนดอกไม้ได้ยังไง” ว่าแล้วคุณยายอีมาจี สมาชิกคนกลาง ก็พูดสำทับว่า “เพราะอย่างนั้นเราจึงต้องอาบน้ำบ่อยๆ ถ้าใช้สบู่ที่หัวหน้าฮงทำขาย ก็จะช่วยดับกลิ่นได้”
Hometown Cha Cha Cha บอกเล่าเรื่องราวของ ‘ยุนฮเยจิน’ ทันตแพทย์สาวจากกรุงโซล ที่ทิ้งหน้าที่การงานและเรื่องราววุ่นๆ ในเมืองหลวงมาเปิดคลินิกที่หมู่บ้านกงจิน ย่านชาวประมงเล็กๆ ริมทะเลภาคใต้ของเกาหลี
ที่หมู่บ้านแห่งนี้ ยุนฮเยจิน ได้พบกับ ‘ฮงดูชิก’ หรือ หัวหน้าฮง ชายหนุ่มผู้มีใบประกอบวิชาชีพมากมาย เขารับจ้างทำงานสารพัดตั้งแต่ชงกาแฟ ซ่อมบ้าน ถ่ายภาพ เป็นพ่อค้าประมูลปลา ไปจนถึงเป็นอาสาสมัครดูแลผู้สูงอายุ ที่เขารับค่าจ้างในอัตราค่าแรงขั้นต่ำ 8,720 วอน ( 240 บาท) ต่อชั่วโมงเท่านั้น ฮงดูชิก ดูจะเป็นคนดังของชาวบ้านย่านนี้ เพราะทุกคนล้วนจ้างวานเขา
หมู่บ้านเล็กๆ แห่งนี้เต็มไปด้วยสีสันเรียบง่ายแบบชนบท ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวระหว่างผู้ใหญ่บ้านชายและผู้นำชุมชนหญิง ที่เคยเป็นผัวเมียแต่หย่ากัน แต่ก็ยังเจอกันทุกวัน เพราะในชุมชนมีกันอยู่แค่นี้, เจ๊ร้านอาหารจีนที่จุ้นจ้านเรื่องชาวบ้านไปทั่ว, คุณพ่อเลี้ยงเดี่ยวอดีตนักร้อง ที่มาเปิดร้านกาแฟ และมีลูกสาวเป็นติ่งไอดอล, ผัวเมียร้านโชห่วยที่กำลังจะมีลูกคนที่สอง
และแน่นอนสามตัวละครที่เรียกได้ว่าเป็นอีกผู้ดำเนินเรื่องหลัก ก็คือแก๊งคุณยายสามคนที่ได้กล่าวถึงข้างต้นนั่นเอง
ภาพจำผู้สูงวัยที่เปลี่ยนไป
ช่วงเกือบ 20 ปีมานี้ ผู้คนล้วนมีภาพจำของ ‘คุณยายในชนบทเกาหลีใต้’ ว่าคล้ายกับ ‘คุณยาย’ ในภาพยนตร์ The Way Home (คุณยายผม… ดีที่สุดในโลก) ที่ฉายในปี 2002
ภาพของหญิงชราหลังค่อม ผอมโซ ในชุดฮันบกมอซอ ถูกลูกสาวทิ้งให้อยู่ตัวคนเดียวในกระท่อมผุพังห่างไกลผู้คน คุณยายผู้ไม่รู้หนังสือ ไม่ดูทีวี ไม่ฟังวิทยุ ไม่แม้แต่จะปริปากพูด หรือแสดงอารมณ์สุข – เศร้าใดๆ ผ่านสีหน้า ทำได้เพียงแต่ก้มหน้ารับชะตากรรม คุณยายที่ถูกหลานชายจากเมืองหลวงดูถูกว่าโง่เง่า เพราะไม่รู้จักกระทั่งไก่ทอด KFC
ถ้าลองคำนวณอายุของคุณยาย เธอก็คือสัญลักษณ์ของสตรีในยุคที่เกาหลีตกเป็นเมืองขึ้นจักรวรรดิญี่ปุ่น ยุคที่ผู้หญิงไม่อาจปริปากเรียกร้องใดๆ ไม่มีสิทธิ์เรียนหนังสือ หรือทำมาหาเลี้ยงชีพ สิ่งเดียวที่ผู้คนคาดหวังคือให้เธอเป็น ‘เมีย’ และ ‘แม่’ ที่ดี แต่เธอก็ยังทำไม่ได้ เพราะไม่ได้ให้กำเนิด ‘ลูกชาย’ และแม้จะดูภาพยนตร์นี้จบแล้ว ผู้ชมก็ยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าคุณยายชื่ออะไร นั่นเพราะตัวตนของผู้หญิงยุคนั้นถูกกดให้ลีบเล็กเหลือเกิน
ในขณะที่ภาพของแก๊งคุณยาย ใน Hometown Cha Cha Cha นั้นแตกต่างออกไปอย่างสิ้นเชิง พวกเธอคือตัวแทนของสาวๆ ในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 ไปจนถึงสงครามเกาหลี ยุคที่ผู้ชายถูกเกณฑ์เป็นทหาร และเสียชีวิตในสนามรบมากมาย ผู้หญิงจึงทำทุกวิถีทางเพื่อหาเลี้ยงชีพ ผ่านเวลามาจนวันนี้ พวกเธอจึงกลายเป็นคุณยายที่กล้าคิดกล้าพูด กล้าแสดงความรู้สึก
บรรยากาศและองค์ประกอบต่างๆ ของหมู่บ้านกงจิน ก็ต่างกับบ้านคุณยาย ใน The Way Home ลิบลับ แม้ไม่หรูหราเหมือนเมืองหลวง แต่มีร้านอาหาร ร้านชำ คาเฟ่ และโครงสร้างพื้นฐานครบถ้วนสะดวกสบาย เหล่าคุณยายเองก็ปรับตัวกับเทคโนโลยีใหม่ๆ รู้จักสมาร์ทโฟน รู้จักชื่อเบเกอรี่ฝรั่งเศส
แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่เคยเปลี่ยนไปเลยในรอบเกือบ 20 ปี คือ แม้ถนนหนทางจะดี แต่ ‘ลูกหลาน’ ก็ไม่ได้กลับมาเยี่ยมคุณยายเลย ทำให้ความห่วงหาที่ผู้สูงวัยมีต่อลูกหลาน ยิ่งทวีเพิ่มพูนและยังคงดำเนินเรื่อยไปอย่างไม่รู้จบ
เกาหลีใต้ ‘ประเทศผู้สูงวัย’
ประเทศเกาหลีใต้เข้าสู่สังคมผู้สูงวัยมาตั้งแต่ปี 2017 แล้ว โดยมีสัดส่วนผู้สูงอายุ ที่อายุตั้งแต่ 65 ปี มากถึงร้อยละ 14.9 และแม้ว่าตอนนี้ แทบทุกประเทศต่างเตรียมตัวเข้าสู่ภาวะผู้สูงวัยกันทั้งนั้น แต่เกาหลีใต้เป็นประเทศที่อัตราผู้สูงอายุขยายตัวเร็วที่สุดในโลก โดยในปี 2045 เกาหลีใต้จะมีสัดส่วนผู้สูงอายุสูงถึงร้อยละ 37 แซงหน้าแชมป์เก่าอย่างประเทศญี่ปุ่น และอีก 20 ปีหลังจากนั้นเกาหลีใต้จะมีประชากรผู้สูงอายุ มากกว่าประชากรวัยทำงานเสียอีก
สิ่งที่น่าตกใจคือ หากเทียบกับประเทศพัฒนาแล้วที่อื่นๆ เกาหลีใต้จัดเป็นประเทศที่มีผู้สูงอายุยากจนมากที่สุดในโลก โดยกว่าครึ่งก็คือผู้สูงอายุที่ลูกหลานทิ้งให้เฝ้าบ้านอยู่ต่างจังหวัด
สาเหตุที่ทำให้อัตราผู้สูงอายุในเกาหลีใต้ก้าวกระโดดอย่างนี้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเกาหลีใต้มีอัตราการเกิดของทารกต่ำที่สุดในโลก ต่างจากประเทศอื่นๆ ที่หลังพ้นช่วงสงครามก็เข้าสู่ยุค Baby Boomer ที่มีเด็กเกิดใหม่มากมายในขณะที่เกาหลียุคหลังสิ้นสุดสงคราม ตกอยู่ภายใต้กฎอัยการศึกของประธานาธิบดี นายพล พัคจองฮี รัฐบาลเผด็จการที่หนึ่งในแผนพัฒนาเศรษฐกิจคือ นโยบายคุมกำเนิด ลดจำนวนการมีบุตร ผู้หญิงเกาหลีจากที่เคยมีบุตรเฉลี่ยคนละ 2.90 คน ก็ลดจำนวนเหลือเพียง 1.56 คน ช่วงปี 1980s และยังคงลดจำนวนลงอย่างต่อเนื่อง
ปัจจุบัน แม้จะมีนโยบายกระตุ้นให้หนุ่มสาวมีบุตร ด้วยสวัสดิการแม่และเด็กมากมาย ทว่าคนเกาหลีใต้ยุคใหม่ก็ยังไม่นิยมมีลูก เพราะค่าครองชีพในเมืองใหญ่สูงมาก และผู้คนยังคงจดจำค่านิยมว่า ‘มีลูกมากจะยากจน’ อยู่นั่นเอง
ความทุกข์ยากของผู้สูงวัย
เทียบกับประเทศพัฒนาแล้วอื่นๆ เกาหลีใต้มีรัฐสวัสดิการผู้สูงอายุน้อยที่สุด ส่วนหนึ่งเป็นเพราะยึดติดค่านิยมขงจื๊อ ‘ความกตัญญู’ นั่นเอง เดิมทีคนเกาหลีอยู่รวมกันเป็นครอบครัวใหญ่ ลูกที่ดีมีหน้าที่ดูแลพ่อแม่ยามแก่เฒ่า แต่เมื่อเมืองขยายตัว หนุ่มสาวจึงเข้าไปหางานในเมืองใหญ่และส่งเงินมาให้พ่อแม่ที่บ้านเกิดแทน
ส่วนหนึ่งที่ทิ้งพ่อแม่ไว้ที่ชนบท ก็เพราะค่าครองชีพในเมืองสูงมาก แต่อีกส่วนหนึ่งก็เพราะปู่ย่าตายายเหล่านี้ติดบ้าน ติดสังคมแวดล้อมที่อยู่มาตลอดชีวิต
จริงอยู่ที่สมัยนี้มีเงินบำนาญผู้สูงอายุ สำหรับคนเกาหลี โดยคิดคำนวณจากเงินเดือนก่อนเกษียณ แต่ความที่ผู้หญิงเกาหลียุคก่อน ลาออกจากงานมาเป็นแม่บ้านเต็มตัว ทำให้พวกเธอได้เงินบำนาญขั้นพื้นฐาน เพียงเดือนละ 254,760 วอน (7,200 บาท) เท่านั้น ความทุกข์ยากเหล่านี้จึงเกิดกับเหล่า ‘คุณยาย’ มากกว่า ‘คุณตา’
แม้ในปัจจุบันมีโครงการช่วยเหลือค่าเช่าบ้านสำหรับผู้สูงอายุ และการให้ผู้สูงอายุจำนองบ้านไว้กับรัฐ ได้เงินค่าบ้านเป็นบำนาญ แต่ยังคงอยู่อาศัยในบ้านหลังเดิมจนกว่าเสียชีวิต หลังจากนั้นลูกหลานก็เลือกได้ว่าจะขายบ้าน หรือผ่อนหนี้สินต่อเพื่อได้รับบ้านคืน แต่อย่างไรก็ตาม ผู้สูงอายุเกาหลีก็ยังรู้สึกว่าสวัสดิการเหล่านี้ยังไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ
จึงไม่แปลกใจเลยที่ผู้สูงอายุมากมายในเกาหลี เลือกที่จะสนับสนุนอดีตประธานาธิบดี พัคกึนฮเย (ลูกสาวของประธานาธิบดี พัคจองฮี) ที่ปัจจุบันต้องโทษอยู่ในเรือนจำ เพราะยังคิดถึงความทรงจำยุคเก่า ช่วงที่มีกินมีใช้ แม้จะอยู่ใต้ร่มเงาเผด็จการก็ตาม
ไม่ใช่ดอกไม้งาม แต่คือ ‘ต้นไม้ใหญ่’
ช่วงนี้มีซีรีส์เกาหลีมากมายที่บอกเล่าสังคมผู้สูงวัยในชนบท Hometown Cha Cha Cha คุณยายคิมกัมรีผู้ห่วงบ้าน ไม่ให้รายการวาไรตี้เข้ามาถ่ายทำ แต่หลังจากเปิดใจก็เลี้ยงดูปูเสื่อทีมงานและไอดอลเป็นอย่างดีด้วยอาหารไม่อั้น
ซีรีส์ Racket Boys คุณยายที่ทำห้องใหม่ ซื้อของเล่นมากมายรอหลานๆ ของตัวเอง แต่สุดท้ายห้องนี้ถูกใช้เป็นห้องเล่นเกมของเจ้าแก๊งเด็กแบดมินตัน ที่เพิ่งย้ายมาอยู่ละแวกบ้าน ทั้งที่เป็นคนแปลกหน้าจากต่างถิ่น แต่เมื่อคุ้นชินกันแล้ว เหล่าผู้มาเยือนก็เป็นเสมือนของลูกหลานของคุณยาย ที่ประทังความเหงาได้ชั่วครั้งชั่วคราว
ลึกๆ ในใจคุณยายเหล่านี้ยังคงมีคำถามว่า ต้องทำอย่างไรให้ลูกหลานกลับมาเยี่ยมบ่อยๆ ต้องอาบน้ำให้หอม ไม่ให้บ้านเหม็นกลิ่นคนแก่ไหม หรือต้องมีภาพวาดกราฟิตีสวยๆ ให้ลูกหลานอยากกลับมาถ่ายรูปลงโซเชียลมีเดีย หรือต้องยกบ้านให้รายการวาไรตี้ใช้เป็นสถานที่ถ่ายทำ ลูกหลานดูจะได้คิดถึงและกลับมา
ทุกครั้งที่ลูกหลานมาหา บอกคนที่บ้านว่า “ไว้จะมาเยี่ยมใหม่” หลังประโยคนั้นจบลง ลูกหลานมีอะไรให้คิดอีกร้อยพันเรื่อง แต่ในใจของผู้สูงวัย จะกี่ปีกี่วัน ก็พร่ำคิดถึงแต่ประโยคนี้
คนเกาหลีดู Hometown Cha Cha Cha แล้ว อาจจะทำให้คิดถึงคุณย่าคุณยายของตัวเอง และไปเยี่ยมท่านที่บ้านเกิด แต่ในซีรีส์ก็บอกใบ้ไว้ว่า ถ้าความคิดถึงของคนแก่ไม่มีที่สิ้นสุด เรายังมีทางออกคือ ‘ย้ายกลับไปทำงานที่บ้านเกิด’ ยุคนี้ถนนหนทางก็ดีขึ้นเยอะ ความเจริญก็เข้าถึง
สิ่งที่เกิดขึ้นในซีรีส์ ไม่ใช่เรื่องราวขายฝัน เพราะเดี๋ยวนี้จะทำงานที่กรุงโซลหรือจังหวัดไหนในเกาหลีใต้ ก็ล้วนมีงานที่เลี้ยงชีพตัวเองได้เหมือนอย่างหัวหน้าฮงแล้ว
ขอบคุณภาพจาก : tvN drama