“วันนี้เป็นวันแห่งความตาย คืนนี้จะไม่มีใครไปไหนทั้งนั้น นี่เป็นคืนของครอบครัว”
อาบูลิตา ริเวรา บอกกับมิเกล หลานชายผู้ใฝ่ฝันอยากเป็นนักดนตรี และพยายามหาทางหนีไปเข้าร่วมแข่งขันประกวดความสามารถที่จัตุรัสกลางใจเมืองในคืนเทศกาลแห่งความตาย
ในวันแห่งความตาย (Dia de los Muertos) ภาพคนในครอบครัวริเวราที่จากไปแล้วถูกเรียงใส่กรอบเป็นลำดับญาติในห้องบูชาที่จัดเตรียมอาหารจานโปรด รวมถึงสิ่งของอันเป็นที่ชื่นชอบของบรรพบุรุษผู้ล่วงลับแต่ละคนเอาไว้ นอกจากนี้ยังมีแท่นบูชาที่ตกแต่งด้วยหัวกะโหลก และดอกไม้สีสันสดใส
อาบูลิตาย้ำกับมิเกลอีกรอบว่า “นี่เป็นคืนสำคัญของปี บรรพบุรุษจะกลับมาเยี่ยมเรานะ” พร้อมกับความเชื่อที่ว่า หากไม่มีรูปญาติคนใดตั้งอยู่ วิญญาณตนนั้นก็จะไม่สามารถข้ามกลับมายังโลกคนเป็นเพื่อมาใช้เวลากับครอบครัวได้ กลายเป็นคนที่ถูกลืม ก่อนที่จะค่อยๆ หายไปตลอดกาล
นี่คือหัวใจสำคัญของเรื่องราวใน Coco วันอลวน วิญญาณอลเวง (2017) ภาพยนตร์แอนิเมชันจากค่ายดิสนีย์พิกซาร์ ที่ฉายให้เห็นภาพประเพณีที่สำคัญของประเทศเม็กซิโกคือ ‘วันแห่งความตาย’ หรือ Day of the Dead วันที่ครอบครัวและญาติๆ จะมารวมตัวกันพร้อมหน้าเพื่อร่วมแสดงความรัก ความเคารพ และระลึกถึงบุคคลที่ล่วงลับไปแล้วประจำตระกูล
มนุษย์ต่างวัยชวนคุณมาทำความเข้าใจความหมายที่ลึกซึ้ง ทำไมเม็กซิโกและวัฒนธรรมของหลากหลายประเทศทั่วโลกจึงให้ความสำคัญกับ วันแห่งความตาย… สัญลักษณ์ของ ‘การระลึกถึง’ บุคคลผู้ล่วงลับ
วันแห่งครอบครัว คนเป็นและคนตายพร้อมหน้า
แม้จะขึ้นชื่อว่าเป็นวันเกี่ยวกับ ‘ความตาย’ แต่เทศกาลนี้กลับเต็มไปด้วยสีสัน ความรื่นเริง และความสุข จากแสงเทียนที่ประดับประดาทั่วเมือง แสงสีแห่งการเฉลิมฉลอง ความสดใสจากมวลดอกไม้ และขบวนพาเหรด
นั่นเพราะในอดีต ชนพื้นเมืองเม็กซิโกถือว่าการไว้ทุกข์เป็นการไม่เคารพต่อผู้ตาย ความตายเป็นเพียงส่วนหนึ่งของชีวิตที่ทุกคนต้องพบเจอ และแม้จะจากโลกนี้ไปแล้วก็ยังถือว่าบุคคลนั้นเป็นสมาชิกของครอบครัวที่มีชีวิตอยู่ในความทรงจำของคนที่ยังอยู่วันยังค่ำ
ชาวเม็กซิกันเชื่อว่าวันแห่งความตาย คือวันที่บรรพบุรุษจากโลกคนตายเดินทางกลับมายังโลกคนเป็น เพื่อให้ครอบครัวได้ใช้เวลาร่วมกันอีกครั้ง แต่ละบ้านจะจัดเตรียมอาหารจานโปรดของทุกคนเอาไว้เซ่นไหว้ พร้อมด้วยกลีบดอกดาวเรืองที่จะช่วยนำทางให้บรรดาวิญญาณกลับบ้านหรือหลุมศพมาใช้เวลาร่วมกันได้
หากยังจำกันได้ ตัวละครมาม่าโคโค่ในภาพยนตร์ คือจิ๊กซอว์ชิ้นสุดท้ายที่จะทำให้ภาพยนตร์เรื่องนี้สมบูรณ์ เพราะเธอเป็นเพียงคนเดียวในครอบครัวที่มีความทรงจำกับพ่อนักดนตรีของเธอ ก็เหมือนกับแก่นของเทศกาลนี้ที่อิงอยู่บนพื้นฐานของความทรงจำระหว่างคนที่ยังอยู่และคนที่จากไปแล้ว
ไม่มีใครรู้ว่ามาม่าโคโค่จำพ่อของเธอได้หรือไม่ เพราะเธอเป็นโรคความจำเสื่อม หากเธอรื้อฟื้นความทรงจำที่มีกับพ่อและส่งต่อให้ลูกหลานไม่ได้ก่อนวันสุดท้ายของชีวิต ถึงวันนั้นความทรงจำก็จะค่อยๆ หายไปพร้อมกับความชราในวันที่เธอจากโลกนี้ไป
วัฒนธรรมร่วม ที่ทั่วโลกให้ความสำคัญกับคนตาย
ไม่ต่างกับเทศกาลที่ชาวไทยเชื้อสายจีนน่าจะคุ้นเคยกันดี นั่นก็คือเช็งเม้ง หรือชิงหมิง เทศกาลที่ลูกหลานจะมารวมตัวกันที่สุสานเพื่อทำความเคารพ ระลึกถึงบรรพบุรุษที่จากไปผ่านการจุดธูปไหว้ เสิร์ฟอาหาร และเผากระดาษเพื่อส่งให้วิญญาณได้ใช้ข้าวของในโลกคนตาย ซึ่งวัฒนธรรมจีนถือว่าเป็นอีกหนึ่งวัฒนธรรมที่แข็งแกร่งในเรื่องบรรพบุรุษ เพราะไม่เพียงเช็งเม้ง แต่ในวันตรุษจีน หรือสารทจีนก็ยังมีช่วงเวลาที่จัดไว้สำหรับไหว้บรรพบุรุษเช่นกัน
นอกจากนี้ยังมีประเพณีโอบง (Obon) จากญี่ปุ่น ที่คนไทยมักเรียกกันว่าเช็งเม้งของญี่ปุ่น โดยเทศกาลนี้จัดขึ้นระหว่างช่วงฤดูร้อนของญี่ปุ่นในเดือนสิงหาคม และถือว่าเป็นเทศกาลใหญ่แห่งปีที่สร้างสีสัน เพราะมีการเฉลิมฉลองด้วยการร้องเล่นเต้นรำอย่างสนุกสนานอย่างบงโอโดริ ที่เสมือนเป็นการเต้นรำต้อนรับผีบรรพบุรุษที่จะเดินทางกลับมายังโลกมนุษย์ในช่วงเทศกาล
ประเพณีเม็กซิกันอันเก่าแก่นี้ได้รับการยกย่องจากยูเนสโกให้เป็นมรดกทางวัฒนธรรมของมนุษยชาติเมื่อปี 2008 ทุกปีแต่ละเมืองก็จะเฉลิมฉลองวันแห่งความตายตามวัฒนธรรมของแต่ละภูมิภาค เช่น
ปัตซ์กัวโร (Pátzcuaro) เมืองทางตะวันออกของเม็กซิโก ที่คนพื้นเมืองจะมารวมตัวที่ทะเลสาบปัตซ์กัวโร จุดเทียนและพายเรือแคนูไปยังเกาะที่เป็นหลุมฝังศพเพื่อใช้เวลาด้วยกัน
หรือที่ตุกซ์เตเปก (Tuxtepec) เมืองเล็กๆ ทางตอนใต้ในรัฐวาฮากา (Oaxaca) ที่มีชื่อเสียงด้านพรมขี้เลื่อย ชาวบ้านก็จะทำพรมจากวัตถุดิบท้องถิ่นเพื่อส่งประกวดในระหว่างเทศกาลวันแห่งความตาย
ความตาย ที่จากกันเพียงกาย แต่ใจไม่เคยห่างกัน
หากนึกในมุมมองของคนที่จากไป พวกเขาก็คงไม่อยากให้คนในครอบครัวจมอยู่แต่กับความเศร้าโศก แค่จดจำความทรงจำดีๆ ที่เคยมีร่วมกันไว้ก็พอ เพราะสุดท้ายคงไม่มีใครอยากลงเอยเหมือนชิชาร์รอน โครงกระดูกนักดนตรีชายแก่ไร้ญาติในหมู่บ้านริมน้ำแห่งโลกคนตายที่สลายไปตามกาลเวลา เพียงแค่ไม่มีใครจำเขาได้ในโลกของคนเป็น
เมื่อวันแห่งความตายเวียนมาถึงในปีถัดไป กรอบรูปของมาม่าโคโค่ก็ถูกตั้งไว้เคียงคู่กับพ่อและแม่ของเธอบนแท่นบูชา วิญญาณพวกเขาเดินทางกลับมาใช้เวลาสุขสันต์ร่วมกับครอบครัวในโลกคนเป็นเป็นเวลา 24 ชั่วโมง
“นี่ไม่ใช่แค่รูปเก่าๆ นะ แต่คือครอบครัว และพวกเขาต้องอาศัยเราในการเป็นที่จดจำ” เสียงมิเกลบอกกับน้องสาวพร้อมรอยยิ้มในห้องบูชา ก่อนจะออกไปเฉลิมฉลองกับครอบครัว
รู้หรือไม่
- ขนมปังแห่งความตาย (Pan de muerto) คือขนมปังรสหวานที่ประดับด้วยแป้งปั้นรูปกะโหลกแต้มสีสันสวยงาม พร้อมโรยเมล็ดโป๊ยกั้ก เป็นอาหารประจำเทศกาลอีกอย่างที่มักจะวางไว้ที่แท่นบูชาเพื่อต้อนรับคนตาย โดยในช่วงเทศกาลตามร้านขนมปังมีขนมปังชนิดนี้วางขายกว่า 400 แบบ
- กระดาษคราฟต์ลายปรุ ( Papel picado) ทำจากกระดาษซ้อนกันหลายสิบชั้นแล้วฉลุลายด้วยสิ่วและค้อน กระดาษนี้ไม่ได้ใช้ตกแต่งแค่เฉพาะในวันแห่งความตาย แต่ยังนำไปใช้เป็นสีสันในเทศกาลรื่นเริงอื่น ๆ ได้อีกด้วย
- ลา กาตรินา ( La Catrina ) โครงกระดูกสาวชาวเม็กซิกันในชุดสไตล์ฝรั่งเศสสุดฮอต มีต้นกำเนิดจากปลายพู่กันของโฆเซ กวาดาลูเป โปซาดา ( José Guadalupe Posada) นักวาดภาพการ์ตูนล้อเลียนชาวเม็กซิกัน แต่ภายหลังได้ถูกจิตรกรมือดีอดีตสามีของฟรีดา คาห์โล ที่ชื่อดิเอโก ริเบรา ( Diego Rivera) จับมาแต่งตัวเสียใหม่และจัดวางในภาพจิตรกรรมชิ้นเอกของเขาที่สื่อความถึงความตายได้จับใจผู้คน จนกลายเป็นสัญลักษณ์ที่โดดเด่นประจำเทศกาลมาจนทุกวันนี้
อ้างอิง
ภาพยนตร์ Coco วันอลวน วิญญาณอลเวง
Top 10 things to know about the Day of the Dead
Obon ( เทศกาลโอบ้ง) เทศกาลรำลึกถึงผู้ล่วงลับของชาวญี่ปุ่น
Day of The Dead: Who is La Catrina?