เกี๊ยวทอดเทพเจ้า ตำนานความอร่อยแห่งจังหวัดเชียงใหม่ กว่า 30 ปี

“ปีนี้คุณยายอายุ 74 คุณตาอายุ 83 แต่ก็ยังอยากไปขายเกี๊ยวทุกวัน เคยพูดกับลูกค้าเหมือนกันว่ารอกินกันก่อนนะ ตากับยายจะขายอีก 20 ปี ขายจนอายุครบ 100 ถึงจะเลิกขาย”

มนุษย์ต่างวัยพาขึ้นเหนือไปแอ่วเชียงใหม่ ลัดเลาะหาของกินระดับตำนานที่ขายมากว่า 30 ปี และขึ้นชื่อว่า ‘หาตัวเจอยากที่สุด’ ซึ่งเจ้าของสูตรความอร่อยระดับตำนาน คือคุณตาเกริก ไพรพนาเพิ่มพูล อายุ 83 ปี และคุณยายอัมพร ไพรพนาเพิ่มพูล อายุ 74 ปี เจ้าของร้านเกี๊ยวทอดเทวดา เกี๊ยวทอดเทพเจ้า เกี๊ยวทอดลุงเกริก เกี๊ยวทอดตำนาน หลากหลายชื่อที่ทุกคนเรียกขาน แต่ไม่ว่าจะเป็นชื่อไหน ล้วนเป็นที่เข้าใจกันถึง ร้านเกี๊ยวทอดที่มีรถเข็นไม้เป็นเอกลักษณ์ ซึ่งคุณตาเข็นขายทั่วตัวเมืองเชียงใหม่มากว่า 30 ปี

แม้จุดเริ่มต้นการขายเกี๊ยวของคุณตาและคุณยาย จะมาจากการหากิจกรรมเพื่อคลายเหงาในวัยหลังเกษียณ แต่ทุกวันนี้ ‘เกี๊ยว’ ของคุณตาคุณยายกลายเป็นของขึ้นชื่อของ จังหวัดเชียงใหม่ ติดลิสต์ของกินระดับตำนาน นอกจากจะเป็นที่ถูกใจของลูกๆ หลานๆ รวมถึงเหล่านักท่องเที่ยวแล้ว สิ่งที่สำคัญที่สุดของการขาย ‘เกี๊ยว’ คือความสุขที่เติมเต็มรอยยิ้มในช่วงบั้นปลายของคุณตาและคุณยายได้เป็นอย่างดีอีกด้วย

“เราทำงานมาตลอดชีวิต พอเกษียณก็ยังอยากทำงานอยู่”

คุณยายเล่าถึงจุดเริ่มต้นให้มนุษย์ต่างวัยฟังว่า คนส่วนใหญ่มักคิดว่าคุณตาและคุณยายขายเกี๊ยวมาตั้งแต่สมัยหนุ่มสาว เป็นอาชีพเลี้ยงตัวเองและลูกหลาน แต่ความเป็นจริงคือก่อนจะมาขายเกี๊ยว ทั้งคู่เป็นเจ้าของโรงงานเฟอร์นิเจอร์ที่จังหวัดเชียงใหม่ โดยสมัยนั้นคุณตาทำหน้าที่ควบคุมการทำงานของลูกน้อง ในขณะที่คุณยายช่วยทำกับข้าวเพื่อเลี้ยงลูกน้อง นับเป็นฝ่ายคอยสนับสนุนธุรกิจมาตลอดตั้งแต่อยู่ด้วยกันมา

“เราทั้งคู่ตั้งใจทำมาหากิน ใช้อาชีพทำเฟอร์นิเจอร์ในการสร้างตัว สร้างฐานะ รวมไปถึงส่งลูกเรียนจนจบปริญญา ซึ่งลูกๆ ต่างก็เรียนทางด้านการออกแบบ ทำให้เมื่อเรียนจบสามารถมารับช่วงต่องานที่โรงงานได้ เมื่อลูกๆ เข้ามาดูแลกิจการ บทบาทของเราก็ค่อยๆ น้อยลง ลูกเขาอยากให้พ่อแม่ได้เกษียณเพื่อพักผ่อนหลังจากทำงานมาทั้งชีวิต

“หลายคนอาจคิดว่าทำงานมาหลายสิบปี ได้หยุดพักบ้างคงจะดีไม่ใช่น้อย แต่สำหรับเราสองคนมันไม่ใช่แบบนั้น เพราะเมื่อไม่ได้ทำอะไรนานเข้า เราก็เริ่มเหงาและเบื่อเวลาไม่ได้ทำงาน อายุเราก็ยังไม่เยอะมากหากหยุดทำงานไปเลย นอนอยู่เฉยๆ ไปอีก 10-20 ปี มันก็เหมือนหมดคุณค่าในชีวิต คุณตาจึงเริ่มชวนยายมาขายของเล็กๆ น้อยๆ เพื่อเป็นกิจกรรมวัยเกษียณ”

  

“ตอนแรกก็ยังไม่รู้หรอกว่าจะขายอะไรดี พอดีว่าตอนนั้น ‘ลูกชิ้นทองสุข’ กำลังดัง เราสองคนเลยทดลองรับมาขาย ก็ขายดีนะ แต่หลังจากนั้นก็เริ่มเงียบลงในช่วงหลัง ลูกๆ เลยเสนอว่าพ่อกับแม่ไม่ลองขายเกี๊ยวดูล่ะ คนน่าจะชอบกันเพราะมันกินง่าย เราคิดว่าน่าจะทำได้เลยลองมาทำเกี๊ยวขายดู

“ตอนแรกคิดว่า ‘เกี๊ยวทอด’ ไม่น่าจะทำยากเพราะพื้นเพเป็นคนทำอาหารอยู่แล้ว แต่ปรากฏว่าพอมาทำจริง ๆ มันไม่ง่ายเหมือนกันนะที่จะทอดให้เกี๊ยวกรอบ เราลองผิดลองถูกทอดเสียไปหลายกระทะเหมือนกัน ไหม้บ้าง อมน้ำมันบ้าง ไม่กรอบบ้าง แป้งเกี๊ยวก็ไม่ใช่ว่าใช้ของอะไรก็ได้ ทอดๆ ไปเดี๋ยวก็อร่อย เราต้องเลือก ต้องค้นหาทดลอง ถึงกับซื้อทุกยี่ห้อที่มีในตลาดมาทดลองชิมดูเลยว่าสูตรไหนทอดแล้วอร่อยที่สุด

“ความน่ารักของลูกค้า พอเห็นเขาเห็นสองตายายเป็นคนขาย ช่วงลองผิดลองถูกลูกค้าจึงให้ความคิดเห็นที่มีประโยชน์มากมาย ว่าควรปรับรสชาติให้เป็นอย่างไร และปรับตรงไหนบ้าง บางทีถึงขนาดไปช่วยหาแป้งเกี๊ยวมาแนะนำด้วยว่าของร้านไหนอร่อยจะได้ลองนำมาทำขาย ใครจะไปคิดว่าแค่ ‘เกี๊ยวทอด ’ ก็ใช้เวลาหลายปีเหมือนกันกว่าจะพัฒนาสูตรจนนิ่ง

“ถ้าถามว่าแค่ขายหลังเกษียณทำไมเราต้องจริงจังขนาดนี้ ลงทุนทดลองทอดทิ้งเสียหายไปหลายกระทะ ก็เพราะเวลาเราค้าขายมันไม่ใช่การเล่นขายของ เราต้องรับผิดชอบกับคนกิน เราทำด้วยใจ คนกินอร่อย คนขายก็สุขใจ ไม่ใช่เอาแค่เราหายเหงาแต่คนอื่นไม่ชอบในสิ่งที่เราทำ มันก็ไม่มีความสุข”


“เพราะทำขายกัน 2 คน เราจึงออกแบบให้ขายได้ง่ายไม่ต้องลำบากลูกหลาน สามารถจัดการกันได้เอง โดยขั้นตอนในแต่ละวัน จะทอดเกี๊ยวเอาไว้ก่อน และนำมาเรียงใส่รถเข็นตระเวนเข็นขายทั่วเมืองเชียงใหม่ เกี๊ยวของเราขึ้นชื่อที่สุดคือความกรอบ บางคนซื้อไปตั้งแต่เช้าตกเย็นมาก็ยังกรอบ หรือบางคนวางไว้ข้ามวันก็ยังกรอบอร่อย ซึ่งความกรอบอร่อยที่ลูกค้าได้สัมผัส นั้นมีที่มา เพราะกว่าจะได้มาขาย เราสองคนใช้เวลาเตรียมถึง 10 ชั่วโมงต่อวัน”

นาฬิกาส่งเสียงสัญญาณเวลา 9 โมงเช้า คือเวลาที่คุณตาและคุณยายจะเริ่มบรรจงห่อเกี๊ยว แต่ละวันจะทำเกี๊ยว 800 ไม้ แต่ละไม้มี 2 ชิ้น เท่ากับต้องห่อกันวันละ 1600 ชิ้น พอห่อเสร็จก็จะนำไปเสียบไม้และทอด โดยทีเด็ดนั้นอยู่ที่การทอด ซึ่งไม่ใช้น้ำมันซ้ำเลย ที่สำคัญต้องใช้ไฟอ่อนเท่านั้น ห้ามใช้ไฟแรงเด็ดขาด เพราะจะทำให้เกี๊ยวกรอบไม่นานก็เหี่ยว กว่าจะเสร็จขั้นเตรียมการที่ทำให้เกี๊ยวเทวดากรอบนานข้ามวัน จึงต้องบรรจงทอดกันอยู่หลายชั่วโมง

“อีกหนึ่งอย่างที่ลูกค้าติดใจคือน้ำจิ้ม คุณตาเป็นคนคิดค้น พัฒนาสูตร และเคี่ยวเองทั้งหมด โดยนำมะขามเปียกไปปั่นกับน้ำตาลปึก ซึ่งให้รสชาติกลมกล่อมกว่าน้ำตาลทราย จากนั้นใส่มะเขือเทศ และซอสถั่วเหลือง จากนั้นนำทุกอย่างไปเคี่ยวรวมกัน วัตถุดิบสำคัญอย่างพริกป่น คุณตาใช้พริกสดที่นำไปตากแดดและนำมาคั่วเอง เพราะให้ความหอมละมุนกว่าพริกสำเร็จรูป นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมน้ำจิ้มของเราจึงเป็นเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร

“ทุกวันนี้มีเกี๊ยวทั้งหมด 4 ไส้ด้วยกันคือ เกี๊ยวกุ้ง เกี๊ยวไข้นกกระทา เกี๊ยวหมูไส้กรอกและเกี๊ยวหมู ที่ขายดีที่สุดจะเป็นเกี๊ยวกุ้งเพราะใช้กุ้งทั้งตัวเต็มปากเต็มคำ”


คุณตาเล่าพร้อมรอยยิ้มว่า “เอกลักษณ์ที่ทำให้ทุกคนจำ ‘เกี๊ยวทอดเทวดา’ ได้ คือรถเข็นไม้ไทยประดิษฐ์จากฝีมือของคุณตา ที่เราเดินตระเวนขาย แต่ละวันคุณตาจะเดินประมาณ 10 กิโลเมตร เดินไปเรื่อย ๆ ทั่วตัวเมืองเชียงใหม่ ช่วงเวลาน่าตื่นเต้นแต่ละวัน คือตอนที่ลูกค้ามาต่อแถวแย่งกันซื้อ เคยทำสถิติคือออกขายไม่ถึงชั่วโมงก็หมดแล้ว ลูกค้ารุมกันจนแทบมองไม่เห็นคนขายเลย

“นี้แหละเคล็ดลับสุขภาพดี การได้ออกมาขายของ ก็เหมือนได้ออกกำลังแถมได้เงินด้วย ไม่ต้องรบกวนลูกหลาน แค่ได้เจอลูกค้า ได้ทักทายกันบ้าง ก็ทำให้ชีวิตคนวัย 80 กว่าไม่เหงาและมีความสุขมาก”


คุณยายเล่าทิ้งท้ายถึงความหมายของคู่ชีวิตว่า ตลอดเวลาที่อยู่กินกับคุณตา สิ่งสำคัญที่สุดคือการสนับสนุนและเคียงข้างกันในทางที่ดี

“อย่างตอนขายเฟอร์นิเจอร์ เราไม่เก่งงานช่าง เราก็ช่วยทำอาหารในส่วนที่ช่วยได้ พอเกษียณมา คุณตาชวนมาขายของ ถามว่าเหนื่อยไหม แน่นอนมันต้องแลกมาด้วยความเหนื่อย แต่เราก็พร้อมที่จะสนับสนุนและเคียงข้างกัน”

ถ้าเกี๊ยวทอดเทวดามีแต่คุณตาที่อยากทำ แต่คุณยายไม่เอาด้วย หรือถ้าคุณยายอยากขาย แต่คุณตาไม่อยากทำ เกี๊ยวรถเข็นคู่เมืองเชียงใหม่อาจไม่ได้ขายมาอย่างยาวนานถึง 30 ปี เพราะใครคนใดคนหนึ่งคงหมดแรง หมดกำลังไปเสียก่อน

“สิ่งที่เราสองคนทำมาตลอด 30 ปีคือการเป็นทั้งความสุข ความรัก และคุณค่าในชีวิตกันและกัน ไม่มีใครคาดคิดว่าการเป็นคนขายเกี๊ยวธรรมดาๆ ไม่ได้เป็นเจ้านายใคร ไม่มีลูกน้อง จะสามารถเติมเต็มชีวิตของเราทั้งคู่ให้รู้สึกมีคุณค่า มีกำลังใจในทุกวันที่ตื่นมา

“เราขอขอบคุณลูกค้าที่มีส่วนสนับสนุนให้คนแก่มีอาชีพ มีแรงใจ อยู่อุดหนุนเราอีกสัก 20 ปีนะลูกๆ เดี๋ยวพออายุครบ 100 ปีก็จะเลิกขายแล้ว” 

Credits

Authors

  • นันท์นภัส โอดคง

    Authorครีเอทีฟตัวกลม อารมณ์ดี รักภูเขา หลงรัก จ.เชียงใหม่ ชอบการเดินทาง enjoy กับการกินอาหารท้องถิ่น สนุกกับการรู้จักคนใหม่ๆ อนาคตที่ฝันไว้สูงสุดคืออยากเป็นคนที่ถูกหวย

  • บุญทวีกาญน์ แอ่นปัญญา

    Cameramanเดินให้ช้าลง ใช้เวลามองความสวยงามข้างทาง

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ