‘ไหมสมเด็จ’ แบรนด์ผ้าไหมทอมือ ที่มีผู้สูงวัยในชุมชนเป็นหุ้นส่วนธุรกิจ

“ผ้าซิ่นบางผืนใช้เวลาทอเกือบค่อนปี แต่ขายได้เพียงผืนละ 200 บาท จนถึงปัจจุบัน แม้จะผ่านมาหลายปี ผ้าซิ่นที่แม่กับยายช่วยกันทอส่งผมเรียนหนังสือ ก็ยังคงราคาเท่าเดิม จะดีแค่ไหนถ้าพวกเราช่วยกันส่งเสริมให้อาชีพนี้เป็นธุรกิจชุมชน ที่ทั้งเติบโต แข็งแรง และมีรายได้เทียบเท่าเด็กจบใหม่จากมหาวิทยาลัย มีสวัสดิการที่ดีไม่ต่างจากคนในเมือง”

อี๊ด-อดุลย์ มุลละชาติ คือผู้ริเริ่มธุรกิจผ้าทอแบรนด์ ‘ผ้าไหมสมเด็จ’ (SILKSOMDET) ที่ตั้งใจให้ผู้สูงวัยในชุมชนได้เข้ามามีส่วนร่วมตั้งแต่ต้นจนปลายน้ำแบบไม่จำกัดอายุและความสามารถ แนวคิดการดำเนินธุรกิจ ‘โดดเด่นแต่ไม่ลืมรากเหง้า’ ของเขาไม่เพียงช่วยต่อลมหายใจให้คนเก่าแก่ยังสามารถประกอบอาชีพนี้ได้อย่างเต็มภาคภูมิ แต่ยังทำให้ผ้าไหมทอมือแห่งบ้านสมเด็จ จังหวัดกาฬสินธุ์ เป็นที่รู้จักมากขึ้น สามารถไปปรากฏตัวบนเวที Miss Universe Thailand 2020 แถมล่าสุดยังได้รับรางวัลชนะเลิศ ‘Cultural Textile Awards 2021’ จากการประกวดออกแบบลายผ้าไทยสู่สากลเพื่อการต่อยอดและพัฒนา จัดโดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม

อาชีพทอผ้าไหม เป็นอาชีพเก่าแก่ที่คนอีสานสืบทอดต่อกันมาจากบรรพบุรุษของแต่ละครอบครัว แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป คนรุ่นใหม่ส่วนใหญ่กลับไม่นิยมสืบทอดภูมิปัญญาทรงคุณค่านี้

อี๊ด-อดุลย์ มุลละชาติ คือหนึ่งในคนรุ่นใหม่ที่ว่า เขาเป็นคนกาฬสินธุ์โดยกำเนิด เติบโตมาในหมู่บ้านที่ทอผ้าเป็นอาชีพหลัก ได้คลุกคลี เห็นกระบวนการทอผ้าไหม ตั้งแต่ปลูกหม่อน เลี้ยงไหม เตรียมเส้น ย้อมสี จนถึงขั้นตอนการทอมือออกมาเป็นผ้าหนึ่งผืน

ทว่าแม้จะมีความผูกพันมาตั้งแต่เด็ก แต่อี๊ดก็เหมือนวัยรุ่นทั่วไปที่ไม่ได้สนใจอาชีพหัตถกรรมพื้นบ้าน เพราะค่าตอบแทนน้อย หลังเรียนจบคณะบริหารธุรกิจ เขาจึงมุ่งหน้าเข้าเมืองหลวงเพื่อหางานทำ และใช้ชีวิตเป็นพนักงานบริษัทอยู่หลายปี จนเวลาผ่านไป ภาพของแม่กับยายที่ยังทอผ้าขาย แต่ไม่ได้ราคา ทำให้เขาเปลี่ยนความคิดและอยากลงมือทำอะไรสักอย่าง

“เราเป็นเด็กบ้านนอก มีความฝันว่าเรียนจบแล้วจะต้องได้ใช้ชีวิตสวยหรูอยู่ในกรุงเทพฯ แต่พอมองย้อนกลับไปที่ครอบครัว แม่ อายุ 60 กว่า กับยายอายุ 90 กว่า ตัวเลขอายุมากขึ้นทุกวัน แต่ชีวิตยังลำบากเท่าเดิม จะผ่านไปกี่ปีๆ แม่กับยายก็ยังทอผ้าขายไม่ได้ราคา ชาวบ้านยังปลูกหม่อนเลี้ยงไหมขายให้กับพ่อค้าคนกลางที่กดราคา ในฐานะคนรุ่นลูก เราอยากแก้วงจรนี้ที่คนในชุมชนทอผ้าเท่าไรก็ยังยากจน เลยหันมาศึกษาเรื่องเศรษฐศาสตร์ของบ้านเกิด แล้วก็พบว่า จริงๆ แล้วบ้านเรามีพร้อมทุกอย่าง ทั้งช่างฝีมือ ทั้งวัตถุดิบ ซึ่งอุดมสมบูรณ์มากพอจะทำให้ชีวิตดีขึ้นได้จากการทำอาชีพนี้ แต่ที่ผ่านมาพวกเขาขาดคนที่มีองค์ความรู้มาช่วยพัฒนาต่อยอด”

เมื่อเห็นถึงต้นตอของปัญหา อี๊ดจึงตัดสินใจลาออกจากงานแล้วกลับบ้านมาเริ่มต้นสานต่ออาชีพนี้ โดยชักชวนชาวบ้าน โดยเฉพาะผู้สูงวัยในชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม

“ความตั้งใจของเราคือใช้องค์ความรู้ด้านบริหารธุรกิจที่เรียนมา ส่งเสริมผ้าทอให้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง ขายง่าย จับต้องได้ทุกกลุ่ม”

แต่ใช่ว่าทุกอย่างจะราบรื่น อี๊ดเล่าย้อนกลับไปถึงจุดเริ่มต้น เขาใช้เวลาอยู่หลายปีกว่าจะได้รับการยอมรับจากชาวบ้าน

“ปีแรกๆ เราเริ่มจากครอบครัวตัวเองก่อน คือให้แม่กับยายทอผ้าในแบบของเขา จากนั้นเราจะเป็นคนไปหาตลาดที่สามารถขายได้ราคาดี โดยตระเวนไปตามตลาดนัดที่ดังๆ คนเดินเยอะๆ ต่อมาเริ่มหยิบยืมผ้าจากชาวบ้านมาสมบทแล้วรวมกันไปขาย มีครั้งหนึ่งขายได้เงินมา 5 หมื่นกว่าบาท ทุกคนในบ้านดีใจกันหมด พอชาวบ้านเห็นว่าเราน่าจะมีช่องทางช่วยเขาได้ ก็เริ่มเข้ามาจับกลุ่มทอผ้ากับบ้านเรา ทอเสร็จก็ฝากให้เราเอาไปขาย ขายได้เท่าไรเราให้ชาวบ้านตามจริง ทำมาเรื่อยๆ จนเราเริ่มมีไอเดียใหม่ว่าอยากทำให้ผ้าทอเป็นผ้าที่อยู่ในกระแสความสนใจของคน มีความโดดเด่นทั้งเรื่องสีสัน ลวดลาย และรูปทรง ประกอบกับช่วงนั้นกระแสนุ่งผ้าไทยกำลังมาแรง เพื่อให้สีสันและลวดลายผ้าทอโดดเด่น เราปรับเปลี่ยนวัตถุดิบ จากเดิมที่ชาวบ้านนิยมใช้สีเคมี เลือกใช้กันอยู่ไม่กี่สี ผ้าที่ทอออกมาจึงมีลักษณะคล้ายๆ กัน ไม่แปลกตา เราชวนให้คนปรับเปลี่ยนมาใช้สีจากวัตถุดิบธรรมชาติแทน เช่น สีชมพูจากครั่ง สีน้ำตาลจากเปลือกต้นประดู่ หรือสีเขียวอมเหลืองจากใบมะเดื่อ ซึ่งให้สีสันหลากหลาย ทั้งยังช่วยลดต้นทุนในการผลิตอีกด้วย”

“ช่วงที่กระแสพญานาคมาแรง เราคิดว่าถ้าทำซิ่นลายนี้ขึ้นมา น่าจะตีตลาดได้ไกล ไม่ใช่แค่ในบ้านเราแต่ไปถึงตลาดเพื่อนบ้านแถบลุ่มน้ำโขง

“ไม่มีใครเห็นด้วยกับไอเดียของเรา แถมยังโดนถากถางจากสังคมคนทอผ้าด้วยกัน เขาบอกว่าทำไมเราเอาลายพญานาคไปอยู่ต่ำจังเลย ไม่มีใครเขาทำกันหรอก หรือผ้าบางผืนที่เราได้แรงบันดาลใจมาจากซีรีส์ เช่น ลายดอกซากุระปลิว ที่เรานำมาประยุกต์ให้เกิดเป็นเรื่องราวบนผืนผ้า หลายคนก็ไม่เข้าใจ ทำไม่เป็น และมองว่าถ้าทดลองจะทั้งเสียเวลา เสียของ เพราะเมื่อลงมือทอผ้าไปแล้ว จะไม่สามารถกลับมาแก้ไขได้อีก

อี๊ดใช้เวลาเกลี่ยกล่อมให้ชาวบ้านเปิดใจที่จะทดลองนานนับปี กว่าจะปรับความคิดในการออกแบบลายผ้ากันได้ เขาอธิบายว่าวิธีที่ดีที่สุดคือพิสูจน์ให้ชาวบ้านเห็นว่า ผ้าลายแปลกใหม่ที่ทำออกมาขายได้ มีคนซื้อ และแม้บางลายอาจจะผิดพลาด ก็ไม่เป็นไร ถือว่าทดลองไปด้วยกัน

“ผ้าที่ทดลองแล้วเกิดผิดพลาด เราไม่เคยทิ้ง เรามองว่าผ้าทุกผืนเก๋ไก๋ในแบบตัวเอง จึงเอาไปโพสต์ขายในเฟซบุ๊ก ใส่เรื่องราวเข้าไป ปรากฏว่ามีคนมาขอซื้อเรื่อยๆ และนั่นคือจุดเริ่มต้นที่ทำให้เราเริ่มกลายเป็นที่รู้จักในโลกออนไลน์ ชาวบ้านค่อยเปิดใจ และ พัฒนาฝีมือมาเรื่อยๆ จนลงตัว ผ้าที่ทำออกมาขายได้ทุกผืน

“ในการทำงานร่วมกัน เราจะบอกชาวบ้านเสมอ เราไม่ได้บังคับว่าทุกคนจะต้องทำลวดลายแบบใหม่เป็น บางคนเชี่ยวชาญลายแบบนี้ เราก็ดูที่ความสามารถและทักษะของแต่ละบุคคลไป เอาที่ทอแล้วมีความสุข สุดท้ายทุกคนได้สร้างสรรค์ชิ้นงานที่มีมูลค่าและคุณค่า พอใจกันทุกฝ่าย”

ในระยะเวลา 4-5 ปี ที่อี๊ดกลับบ้านมาตั้งต้น การได้รับการยอมรับจากชาวบ้านถือเป็นการเปิดโอกาส และเพิ่มพื้นที่เติบโตให้ธุรกิจทอผ้าของอี๊ดเป็นจริงมากยิ่งขึ้น จากครอบครัวตัวเอง ขยายไปยังเครือญาติ เพื่อนบ้าน คนทั้งชุมชน ตั้งแต่อำเภอสมเด็จบ้านเกิด จนมาถึงบ้านเกิดของแม่ อำเภอคำม่วง จังหวัดกาฬสินธุ์ และขยายออกไปถึงจังหวัดใกล้เคียง

“ปัจจุบันเรามีสมาชิกกว่า 200 ครอบครัว อายุมากสุดคือ 90 ปี ทุกคนจะมีงานที่ได้รับมอบหมายให้ทำต่างกัน ตั้งแต่ย้อมไหม ปั่นไหม มัดหมี่ ปั่นหลอดไหม เก็บลาย ทอผ้า เย็บผ้า ตามความสามารถ ความถนัด และกำลังของแต่ละคน อย่างคุณยายวัย 90 ปี เขาอยากมีส่วนร่วม เราก็จะให้เขาทำงานเบาๆ คือปั่นไหม สิ่งเหล่านี้สร้างคุณค่าทางจิตใจ และความสุขในชีวิตประจำวันให้คนสูงวัย

“เราเปิดรับทุกคนเข้ามาทำงานไม่จำกัดอายุ ไม่จำกัดความสามารถ บางคนไม่มีฝีมือในการทำผ้าเลยแต่อยากมีรายได้ เราก็ให้ช่วยหาวัตถุดิบที่จะมาทำสีผ้าขาย ช่วยย้อมผ้า ช่วยมาเป็นแบบในการถ่ายรูปโพสต์ขาย ไม่ใช่แค่ธุรกิจแต่เป็นการดูแลกันและกันแบบครอบครัว เพราะเราอยากให้ทุกคนในชุมชนมีส่วนร่วมกับ SILKSOMDET ได้จริงๆ”

“นอกจากช่างฝีมือ เราพยายามช่วยเหลือชาวบ้านที่ปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ด้วยการรับซื้อจากเขาโดยตรงไม่ผ่านพ่อค้าคนกลางหรือไหมจากโรงงาน ตั้งแต่หมู่บ้านตัวเอง หมู่บ้านใกล้เคียงไปจนถึงต่างจังหวัดอย่างขอนแก่น และชัยภูมิ เพื่อให้เขาขายไหมได้ราคาดีขึ้น ไม่ถูกกดราคาจากพ่อค้าคนกลางเหมือนเมื่อก่อน เพราะเราเข้าใจว่ากว่าที่จะได้ไหมมาสักกิโลกรัม ชาวบ้านต้องปลูกเยอะ ใช้ทั้งเวลาและความอดทนในการเฝ้ารอ”

ทุกครั้งที่อี๊ดนำผ้าทอไปขายตามตลาด งานจัดแสดง หรือโพสต์ขายบนออนไลน์ เขาไม่เคยลืมที่จะบอกเล่าออกไป ว่าไหมที่นำมาทอเป็นไหมพันธุ์พื้นบ้าน ใครปลูก ปลูกที่ไหน มีคุณสมบัติดีอย่างไร ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้ คือชาวบ้านขายไหมได้ราคาดีขึ้น มีกำลังใจในการปลูกไหมต่อไป

“รายได้ทุกบาททุกสตางค์ เราจ่ายให้เขาเป็นรายเดือนเหมือนที่พนักงานบริษัทได้กัน ผู้สูงวัยบางคนได้เงินเดือนเริ่มต้นที่ 15,000 – 30,000 บาท มีสวัสดิการด้านสุขภาพ ถ้าบ้านไหนมีผู้สูงวัยเกิดเจ็บป่วยขึ้นมาเราก็ให้แพทย์เข้ามาดูถึงบ้าน ไม่ต้องเดินทางไปโรงพยาบาล และทุกสิ้นปีเราก็จะมีโบนัสให้ มีการเลี้ยงฉลอง จับรางวัล

“เราไม่ได้มองว่านี่คือระบบการจ้างงาน ที่ชาวบ้านเป็นลูกน้องหรือเราเป็นเจ้านาย เราไม่ได้ทำเป็นโรงงาน เราแค่อยากใช้ระบบนี้เพื่อทำให้พวกเขามีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีรายได้ที่มั่นคง ไม่ต้องออกไปหาเช้ากินค่ำ ทุกคนสามารถทำงานที่บ้านของตัวเองได้ ถึงเวลามีปัญหาเรามาช่วยกันหาทางออก และเติบโตไปด้วยกัน”

ความโดดเด่นของซิ่นไหมสมเด็จ คือการทำมือทุกขั้นตอนและมีลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว มีทั้งลวดลายแบบดั้งเดิมและแบบที่ถูกออกแบบขึ้นใหม่ตามยุคสมัย โดยใช้สีจากธรรมชาติ และใช้เส้นไหมพันธุ์พื้นบ้านที่ชาวบ้านปลูก ตามแนวคิดการดำเนินธุรกิจ ‘โดดเด่นแต่ไม่ลืมรากเหง้า’

“ช่วงแรกที่ตัดสินใจกลับบ้านมาสานต่ออาชีพนี้ ยอมรับเลยว่าอายเพื่อน เพราะไม่รู้ว่าสิ่งที่ทำมันจะไปรอดหรือเปล่า จนวันนี้ เราพิสูจน์แล้วว่ามันเกิดขึ้นจริงได้ มากกว่าการทอผ้าออกมาหนึ่งผืนแล้วขายได้ ทุกคนในชุมชนมีรายได้มั่นคง แต่มันคือความภาคภูมิใจที่ได้ช่วยต่อลมหายใจให้ภูมิปัญญาชาวบ้าน ขยายสู่การเป็นที่รู้จักในวงกว้าง”

ขอบคุณภาพ

อดุลย์ มุลละชาติ

Wattana Bumrungsawat

Credits

Author

  • มนุษย์ต่างวัย

    Authorพื้นที่ถ่ายทอดเรื่องราวของสังคมสูงวัยในมุมที่สนุก สร้างสรรค์ และเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนทุกวัย

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ