อนันต์ เอี่ยวเจริญ จากผู้ป่วยพาร์กินสัน สู่นักว่ายน้ำทีมชาติ

ย้อนกลับไปเมื่อ 6 ปีก่อน บนรถไฟตู้นอนกรุงเทพฯ – เชียงใหม่ อนันต์ เอี่ยวเจริญ วัย 73 ปี เพิ่งเสร็จจากการทำหน้าที่กรรมการแข่งขันกีฬาที่กรุงเทพฯ เนื่องจากที่นอนเตียงล่างเต็มหมด เขาจึงต้องนอนเตียงบนเพื่อเดินทางกลับเชียงใหม่ ร่วมกับผู้โดยสารชาวฝรั่งเศสทั้งตู้รถไฟ

คืนนั้น ไม่มีใครรู้ว่าร่างของชายสูงวัยลงมากองที่พื้นได้อย่างไร เพราะเจ้าตัวก็จำเหตุการณ์ไม่ได้ รู้เพียงว่าหลังจากเดินทางถึงเชียงใหม่ในเช้าวันรุ่งขึ้น ชีวิตของอดีตอาจารย์พลศึกษาต้องพลิกผัน กลายเป็นผู้ป่วยโรคพาร์กินสันที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้

ครั้งนั้นทุกคนที่มาเยี่ยมต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า “อนันต์ต้องตายแน่ๆ”

“ตอนได้ยินก็เสียใจนะ แต่เรายังไม่อยากตาย เลยบอกตัวเองว่าต้องสู้ให้ถึงที่สุด” ลุงอนันต์ อดีตหัวหน้าภาควิชาพลานามัย 3 สมัย ของคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทบทวนถึงอดีตในวันที่ชีวิตเปลี่ยนแปลงอย่างไม่คาดคิดด้วยน้ำเสียงมุ่งมั่น

โรคพาร์กินสัน หรือ Parkinson’s disease เป็นโรคทางสมองที่เกิดจากเซลล์สมองในบางตำแหน่งเกิดมีการตายโดยไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด จึงทำให้สารสื่อประสาทในสมองที่ชื่อว่า ‘โดพามีน’ (Dopamine) ซึ่งทำหน้าที่ควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกายมีการตายและลดจำนวนลง ส่งผลให้ร่างกายผู้ป่วยเกิดอาการสั่น แขนขาเกร็ง เคลื่อนไหวร่างกายได้ช้าลง และสูญเสียการทรงตัว

อาการแสดงของพาร์กินสันจะเริ่มต้นอย่างช้าๆ โดยผู้ป่วยมักไม่ทันสังเกต เพราะหลายอาการเป็นอาการที่ไม่ชัดเจน อาทิ ท้องผูกเรื้อรัง ฝันร้าย นอนละเมอ ประสิทธิภาพในการได้กลิ่นลดลง เกิดอารมณ์เศร้า เป็นต้น รวมถึงอาจมีสาเหตุอื่นๆ ร่วมด้วย

“พอเราเป็นนักกีฬา ออกกำลังกายทุกวัน อารมณ์ซึมเศร้าก็ไม่มี นอนหลับก็ง่าย เพราะสารเอ็นดอร์ฟินหลั่ง ถ้าท้องผูกวันเดียวก็จะกินอาหารที่ช่วยให้ขับถ่ายดีขึ้น แต่หลังจากสลบไปบนรถไฟ พอฟื้นขึ้นมาก็อาเจียนหลายครั้ง จึงไปหาหมอที่โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ (สวนดอก) หมอให้เราลองเดินดู เดินแล้วก็ขาสั่น หมอก็บอกว่าเป็นพาร์กินสันตั้งแต่ตอนนั้น ต่อมาก็ย้ายไปรักษากับหมอเฉพาะทางที่โรงพยาบาลประสาทเชียงใหม่”

จากคนชอบเล่นกีฬาตัวยง เคยชินกับการเคลื่อนไหวร่างกายอย่างคล่องแคล่วทุกวัน เมื่อต้องกลับไปใช้ชีวิตเหมือนย้อนเวลาหาอดีต หัดเขียนชื่อตัวเองแค่ไม่กี่ตัวอักษรยังยากเย็นและออกมาโย้เย้ แต่ละก้าวย่างที่เดินขาก็สั่นไหวราวกับเด็กหัดตั้งไข่ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจึงดูเหมือนว่าโลกของลุงอนันต์หมุนช้าลง ทั้งยังสั่นโคลงเคลง ชีวิตที่พึ่งพาตัวเองไม่ได้เหมือนเก่าจึงสร้างความเจ็บป่วยทางใจตามมา

“ถ้าเราบ่นอยากตายก็จะเป็นภาระสังคมอีก แต่เราไม่ได้อยากตาย จำได้ว่าวันหนึ่งนั่งดูทีวี เห็นนักกรีฑาชาวญี่ปุ่นอายุ 75 ปี กระโดดไกลได้เป็นอันดับหนึ่งของโลก เห็นนักวิ่งอายุ 95 ปี ก็ยังวิ่งได้ จึงตั้งเป้าหมายว่าอยากกลับไปวิ่ง กลับไปเตะฟุตบอลให้ได้อีกครั้ง

“พอคิดว่าจะสู้ ก็เลิกบ่น พร้อมทำทุกอย่างเพื่อให้ร่างกายแข็งแรงขึ้นและกลับมาใช้ชีวิตเป็นปกติ ถ้าเราบ่นว่าไม่อยากอยู่แล้ว เราก็จะเป็นหนักขึ้นเรื่อยๆ”

ช่วง 5 เดือนแรกของการพักฟื้น ลูกชายซึ่งบวชเรียนเป็นภิกษุมานานกว่า 14 พรรษา ตัดสินใจพาโยมพ่อไปดูแลที่วัดสันป่าสักวรอุไร ตำบลหางดง จังหวัดเชียงใหม่ เพราะภรรยาของคุณลุงต้องไปทำงานช่วงกลางวัน

“เขากลัวว่าถ้าเราเป็นอะไรไปจะไม่มีใครรู้ ช่วงนั้นเรารักษาและกินยาตามที่หมอสั่ง ส่วนเรื่องออกกำลังกายก็ใช้การกวาดใบไม้ในวัด พร้อมกับนั่งสมาธิ สวดมนต์ เรารู้ว่าโรคนี้รักษาไม่หายก็จริง แต่ก็ภาวนาอยู่ในใจขอให้ดีขึ้น ไม่เป็นภาระกับใครก็พอ”

เปลี่ยน ‘ใจ’ ให้เป็นนาย

เมื่อ ‘ใจเป็นนาย’ เลิกบ่น เลิกท้อ ‘กายเป็นบ่าว’ จึงเริ่มดีขึ้นทีละน้อย กิจกรรมกวาดใบไม้เริ่มขยับเป็นการเดินใกล้ – เดินไกล จนในที่สุดความฝันอยากกลับไปลงสนามฟุตบอลอีกครั้งก็กลายเป็นความจริงในอีก 8 เดือนต่อมา

“ช่วงพักฟื้นอยู่ที่วัด ลุงเริ่มจากเดินเบาๆ ก่อน เวลาเหนื่อยแล้วจะนั่งเก้าอี้ก็ต้องนั่งบนม้าหินเพราะขาเก้าอี้มั่นคง ไม่ทำให้เราหกล้ม ตอนนั้นตั้งปณิธานว่าอยากไปเตะบอลผู้สูงอายุของจุฬาฯ – ธรรมศาสตร์ให้ได้ พอมีเป้าหมาย ใจก็สู้ ไม่เคยบ่น ไม่เคยท้อ หลังออกจากวัด 2 เดือน ก็ได้ไปเตะบอลสมกับที่รอคอย”

เมื่อร่างกายเคลื่อนไหวได้ดีขึ้น อดีตครูพลศึกษาจึงค่อยๆ ก้าวข้ามสิ่งที่เคยเป็นข้อจำกัด เริ่มเล่นกีฬามากชนิดขึ้น โดยเริ่มทีละอย่างและระวังไม่ให้ตัวเองบาดเจ็บหรือเสี่ยงอันตราย อย่างเช่นหากต้องลงแข่งว่ายน้ำ เวลาขึ้นแท่นปล่อยตัวนักกีฬาลงสระ ลุงอนันต์จะจับมือโค้ชไว้ก่อนเพื่อกันหกล้ม

การออกกำลังทุกวันจนเป็นนิสัยทำให้ชื่อของ ‘ อนันต์ เอี่ยวเจริญ ’ อยู่ในรายชื่อนักกีฬาว่ายน้ำทีมชาติผู้สูงอายุและนักกีฬากรีฑาในการแข่งขันกีฬาผู้สูงอายุแห่งชาติ ครั้งที่ 1 หรือ ‘ งาช้างดำเกมส์ ’ ซึ่งชิงชัยกันไปเมื่อวันที่ 21-27 เมษายน 2561

บนเวทีพิธีปิดคราวนั้น ลุงอนันต์ได้รับเลือกให้เป็น 1 ใน 3 นักกีฬาดีเด่น ด้วยผลงานในการกวาดเหรียญรางวัลไปถึง 9 เหรียญ ประกอบด้วยเหรียญทองจากกีฬาว่ายน้ำ 8 เหรียญ และอีก 1 เหรียญทองแดงจากกรีฑา พร้อมรับเสื้อสามารถใส่กลับบ้านอย่างภาคภูมิใจ

“ปีนั้นลุงกวาดไปคนเดียว 9 เหรียญ ปีต่อมา ทาง กกท. (การกีฬาแห่งประเทศไทย) จึงมีกฎออกมาว่าให้แข่งได้คนละประเภทเท่านั้น เพื่อป้องกันคนคนเดียวกวาดหลายเหรียญ (หัวเราะ)” เจ้าของเหรียญทองวัย 79 ปีในปัจจุบัน กล่าวอย่างอารมณ์ดี

ความมุ่งมั่นและความรักในกีฬาทำให้ลุงอนันต์กลับมาใช้ชีวิตใกล้เคียงกับปกติอีกครั้ง กีฬาจึงเป็น ‘ ยาวิเศษ ’ ของคนที่ไม่ขี้เกียจออกกำลังกาย

“คนเล่นกีฬาใหม่ๆ วันรุ่งขึ้นมักจะปวดเมื่อย ก็เลยเลิกเล่น แต่ถ้าเล่นทุกวัน พลังกาย พลังจิต พลังลมปราณจะแข็งแรงขึ้น เราต้องสะสมพลังแฝงพวกนี้ไว้แล้วนำมาใช้ประโยชน์ ถ้าเราเล่นกีฬา กลางคืนจะนอนหลับสบาย เพราะสารเอ็นดอร์ฟินจะหลั่งออกมาทุกคืน”

หลังกลับมาเล่นกีฬาในระดับติดทีมชาติผู้สูงอายุ คนที่เคยบอกว่าลุงอนันต์ต้องตายแน่นอนต่างพากันแปลกใจที่คนป่วยพาร์กินสันสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ใกล้เคียงปกติ บ่อยครั้งจึงมีคนรู้จักพาญาติหรือคนใกล้ตัวที่เป็นโรคเดียวกันมาหาลุงอนันต์เพื่อสร้างขวัญกำลังใจ

“วิธีออกกำลังกายง่ายๆ คือ การเดิน การวิ่ง แต่ยังควบคุมการเคลื่อนไหวได้ไม่ดี ยังไม่ควรว่ายน้ำกับขี่จักรยานเพราะเสี่ยงอันตรายเกินไป ต้องมั่นใจก่อนว่าสามารถว่ายน้ำได้แล้วจึงค่อยว่าย ตัวลุงเองชอบวิ่งกับว่ายน้ำเพราะเป็นกีฬาที่ทำให้การเต้นของหัวใจสม่ำเสมอ ถ้าตีเทนนิสจะต้องวิ่งไปรับลูกให้ทัน อาจจะเหนื่อยเกินไปได้”

สุขภาพที่ดีขึ้นเรื่อยๆ ทุกวันของลุงอนันต์ทำให้คนรอบข้างต่างชื่นชม รวมถึงแพทย์ที่ดูแลอาการของลุงอนันต์มาตั้งแต่แรกด้วย

“หมอเองยังไม่เชื่อว่าเราจะดีขึ้นได้ขนาดนี้ เพราะวันแรกที่ไปหาหมอ หมอให้ลองเขียนรูปเข็มนาฬิกาบอกเวลาบ่ายโมงห้านาที ยังเขียนไม่ได้เลย หมอให้บอกชื่อคนที่ขึ้นต้นด้วยตัวอักษร ก.ไก่ มาให้มากที่สุดในเวลา 1 นาที ขนาดพระลูกชายชื่อก้อง ลุงยังนึกไม่ออก บอกหมอไม่ได้เลย”

เล่นกีฬารักษากาย นั่งสมาธิรักษาใจ

นอกจากการเล่นกีฬาเพื่อรักษากายแล้ว สิ่งที่ลุงอนันต์ทำควบคู่กันไปด้วยคือ การสวดมนต์ นั่งสมาธิ เพื่อรักษาใจ ลุงอนันต์เล่าว่า “ภาวนาไว้ว่าถ้าหายจะสวดอิติปิโส 76 รอบ นั่งสมาธิทุกวันพระ ครั้งละ 30 นาที สวดมนต์อย่างน้อย 15 นาทีก่อนเข้านอน การทำแบบนี้ช่วยให้ใจเราสงบขึ้น ไม่มีเวลาคิดท้อใจ เศร้าใจ”

“อย่าบ่น อย่าท้อ อย่าพูดว่าอยากตาย” เป็นคาถา 3 ข้อที่ลุงอนันต์มักจะบอกกับคนที่มาขอคำปรึกษา เคยมีคนที่มาปรึกษาเล่าว่า สามีเป็นพาร์กินสันเหมือนกันและบ่นตลอดว่าอยากตาย ลุงอนันต์ก็ให้คาถา 3 ข้อนี้ไป พร้อมชวนให้มองโลกในแง่บวก และให้คำแนะนำในการดูแลสุขภาพ ทั้งเรื่องการออกกำลังและเรื่องอาหาร

จากวันแรกที่ล้มป่วยจนทำให้แม้แต่การเขียนชื่อตัวเองก็กลายเป็นเรื่องยาก มาถึงวันนี้ ชายสูงวัยคนเดียวกันเขียนบันทึกรายการแข่งขันในกีฬาผู้สูงอายุได้ยาวเหยียดและลงรายละเอียดไปถึงจำนวนนักกีฬาที่ร่วมการแข่งขันในแต่ละรายการ พร้อมสถิติการแข่งกีฬาแต่ละประเภทของตัวเอง ตั้งแต่ว่ายน้ำท่าผีเสื้อ วิ่ง ฟุตบอล หากงานไหนเปิดให้ลงแข่งได้หลายประเภท คุณลุงก็จะลงแข่งแบบเต็มสตีม และมักจะกวาดเหรียญรางวัลกลับบ้านจนเต็มคอ

แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคพาร์กินสันกล่าวถึงประโยชน์ของการออกกำลังกายในผู้ป่วยโรคนี้ว่า มีผลการศึกษาพิสูจน์แล้วว่าการออกกำลังกายช่วยชะลอความเสื่อมของโรคพาร์กินสันลงได้ โดยแพทย์จะแนะนำคนไข้ทุกคนให้ออกกำลังกาย พร้อมกับกินยาควบคู่ไปด้วย เพราะการกินยาช่วยให้การเคลื่อนไหวดีขึ้น ป้องกันอุบัติเหตุจากการหกล้ม แต่ถ้าไม่กินยา เซลล์จะเสื่อมสภาพไปเรื่อยๆ ส่งผลให้คุณภาพชีวิตถดถอยลงไป

คำแนะนำเบื้องต้นในการออกกำลังกายสำหรับผู้ป่วยพาร์กินสันคือ ต้องดูระยะของโรคและความพร้อมของร่างกายก่อน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอันตราย แพทย์แนะนำว่า การออกกำลังกายสามารถทำได้หลายกิจกรรมขึ้นอยู่กับระยะของโรค หากเป็นระยะแรกๆ การเคลื่อนไหวยังใกล้เคียงกับคนปกติ สามารถออกกำลังได้ตามต้องการ แต่ต้องให้ความสำคัญกับความต่อเนื่อง รวมถึงการยืดเหยียด การทรงตัว และการฝึกซ้อม แต่ถ้าเริ่มเดินไม่ดี เคลื่อนไหวลำบาก การออกกำลังกายที่แนะนำก็คือกิจกรรมประเภทไท่เก๊กที่มีส่วนช่วยบาลานซ์การทรงตัวได้ดีขึ้น

ทุกวันนี้ ตารางชีวิตของลุงอนันต์เต็มไปด้วยการออกกำลังกาย จนไม่มีเวลาให้กับความเหงา ท้อแท้ หรือซึมเศร้าอีกต่อไป เพราะสนุกกับการฟิตซ้อมร่างกายทุกวัน และเมื่อใดก็ตามที่มีการคัดตัวนักกีฬาผู้สูงอายุลงแข่งว่ายน้ำระดับชาติ เมื่อนั้นจะต้องมีชื่อ ‘อนันต์ เอี่ยวเจริญ’ ติดโผอยู่ด้วยเสมอ การเดินทางไปแข่งว่ายน้ำในฐานะตัวแทนประเทศไทยจึงเป็นอีกหนึ่งความภาคภูมิใจในวัยเกษียณของลุงอนันต์และเป็นกำลังใจให้กับคนวัยเดียวกันด้วย

“ช่วงเช้ากับเย็นจะเป็นเวลาของการเดิน วิ่ง ปั่นจักรยาน ช่วงบ่ายจะนอนพัก ส่วนว่ายน้ำจะเลือกวันที่สระเปิด ปีหน้าจะต้องเตรียมไปแข่งว่ายน้ำที่เป็นเหมือนซีเกมส์ผู้สูงอายุที่เวียดนาม และอีกรายการก็เหมือนกับเอเชียนเกมส์ผู้สูงอายุที่ญี่ปุ่น ต้องฟิตซ้อมให้เต็มที่”

เมื่อ 6 ปีก่อน โรคพาร์กินสันเคยเปลี่ยนชีวิตของอดีตครูสอนกีฬาให้กลายเป็นคนที่พึ่งพาตัวเองไม่ได้ แต่ในวันนี้ ชายคนเดียวกันกลับกลายเป็นไอดอลของเพื่อนร่วมโรค ทำให้หลายคนมีความหวังในชีวิตอีกครั้งด้วยคาถา “อย่าบ่น อย่าท้อ อย่าพูดว่าอยากตาย”

“ถ้าไม่เล่นกีฬา ป่านนี้ก็อาจตายไปจริงๆ แล้วก็ได้” นักกีฬาสูงวัยกล่าวทิ้งท้ายกลั้วเสียงหัวเราะสดใส

Credits

Author

  • วันดี สันติวุฒิเมธี

    Authorนักเขียนสารคดีชายขอบ ชอบทำงานจิตอาสา เป็นลูกครึ่งนิเทศศาสตร์ผสมมานุษยวิทยาที่ชอบเล่าเรื่องคนตัวเล็กๆ ที่มีหัวใจงดงาม

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ