“กลุ่มบางกอก สเกตเชอร์ส (Bangkok Sketchers Group)” และ “เออร์เบิ้น สเกตช์เชอร์ส ไทยแลนด์ (Urban Sketchers Thailand)” คือกลุ่มของคนรักการวาดรูปที่รวมตัวกันเพื่อแบ่งปันผลงานศิลปะในกลุ่มเฟซบุ๊ก ภายใต้แนวคิดที่เชื่อว่า “ไม่มีใครในโลกวาดรูปไม่ได้” ภาพที่วาดไม่จำเป็นต้องเหมือนแบบ และความสวยงามก็ไม่ได้มีแค่มาตรฐานเดียว แต่ความสุขระหว่างลงมือทำ การเรียนรู้ระหว่างทาง และการบันทึกประสบการณ์ต่างหากที่สำคัญกว่า
หลายปีที่ผ่านมานี้ กลุ่มบางกอก สเกตช์เชอร์ส จัดกิจกรรมรวมกลุ่มวาดรูปนอกสถานที่อย่างสม่ำเสมอและมีจำนวนสมาชิกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องกว่า 30,000 คนแล้ว จนกลายเป็นทั้งพื้นที่ทางศิลปะและพื้นที่แห่งความสุขที่เป็นมิตรกับคนทุกวัย
มนุษย์ต่างวัยได้มีโอกาสคุยกับผู้ดูแลหลักของกลุ่ม ได้แก่ คุณสุเธียร โล้กูลประกิจ คุณปราโมทย์ กิจจำนงค์พันธ์ุ คุณหมอ-ทิววัฒน์ ภัทรกุลวณิชย์ คุณเต้-ปิติรัตน์ ยศวัฒน และคุณพิสิฐ อภิรติกุล ผู้ซึ่งขับเคลื่อนกิจกรรมของกลุ่มให้ยังคงมีสีสัน สนุกสนาน และเป็นพื้นที่ของคนทุกเพศทุกวัยมายาวนานกว่า 10 ปี
คุณปราโมทย์ กิจจำนงค์พันธ์ุ เล่าให้เราฟังถึงที่มาของการก่อตั้งกลุ่มว่าเกิดจากกลุ่มเพื่อนที่ชอบออกวาดรูปเพื่อบันทึกประสบการณ์และช่วงเวลาดี ๆ ด้วยกัน ความสุขที่เกิดขึ้นจากการวาดรูปมันล้นปรี่เสียจนอยากส่งต่อสิ่งนี้ให้กับผู้อื่นด้วย
“แม้ว่าผมเรียนด้านศิลปะมา แต่พอเรียนจบ ก็เป็นพนักงานในบริษัทมาเป็นสิบปี ก่อนเกษียณ ผมคิดว่าอยากกลับไปทำสิ่งที่เคยชอบอีกครั้ง นั่นก็คือการวาดรูป ตอนนั้นได้เจอกับสถาปนิกคนหนึ่งชื่อคุณ อัสนี ทัศนเรืองรอง (ผู้ก่อตั้งกลุ่ม) เราชวนกันออกไปวาดรูปตามสถานที่ต่าง ๆ ช่วงนั้นความสุขมันมากล้นเหลือเกิน เราเลยคิดว่าน่าจะตั้งกลุ่มแบบนี้เพื่อส่งต่อให้คนอื่นด้วย
“เราเห็นคนมากมายอยากวาดรูปแต่ไม่กล้า ประกอบกับตอนนั้นเราเห็นต่างประเทศมีการตั้งกลุ่มวาดรูปชื่อ Urban Sketchers (เออร์เบิ้น สเกตช์เชอร์ส) ที่ให้คนออกจากบ้านมาวาดรูปด้วยกัน นั่นกลายเป็นแรงบันดาลใจ เราเลยคิดกันว่าในประเทศไทยน่าจะมีกลุ่มแบบนี้บ้าง จึงก่อตั้ง “กลุ่มบางกอก สเกตช์เชอร์ส (Bangkok Sketchers Group) ขึ้นมา”
กลุ่มบางกอก สเกตช์เชอร์ส (Bangkok Sketchers Group) ถูกตั้งขึ้นในปี 2553 ภายใต้แนวคิด “At your own mind, No artistry required” นั่นคือ ให้ทุกคนเขียนภาพตามความชอบ ตามความพึงพอใจของตนเองโดยไม่มีกฎเกณฑ์ใด ๆ เพื่อใช้บันทึกหรือถ่ายทอดประสบการณ์และเรื่องราวที่พบเจอ ต่อมาจึงมีการตั้งกลุ่ม ”เออร์เบิ้น สเกตช์เชอร์ส ไทยแลนด์” (Urban Sketchers Thailand) ขึ้นในปี 2557 โดยยึดถือกฎกติกาเดียวกับระดับสากลที่จะเป็นการโพสต์ภาพวาดที่วาดจากสถานที่จริง (on location) ในประเทศไทยเท่านั้น ทริปแรกของกลุ่มเกิดขึ้นที่วัดโพธิ์ มีทั้งคนที่ไปวาดรูปและไปสังเกตการณ์รวมแล้วเกือบ 10 คน ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีและมีกิจกรรมต่อเนื่องมาจนกระทั่งทุกวันนี้
คุณเต้-ปิติรัตน์ ยศวัฒน สถาปนิกอิสระ หนึ่งในผู้ดูแลกลุ่มเล่าให้เราฟังถึงการออกทริปไปวาดรูปของกลุ่มที่จัดต่อเนื่องทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด
“เราอยากให้คนได้ออกจากบ้านมาวาดรูป มามีกิจกรรมด้วยกัน ถึงเราจะเป็นคนวาดรูปมาก่อน แต่การออกไปวาดรูปนอกสถานที่ ถ้าให้ไปนั่งวาดคนเดียวก็คงไม่กล้า แต่พอมีเพื่อนไปนั่งวาดด้วย นั่ง 2-3 ชั่วโมงก็ยังได้
“เราจะเลือกสถานที่หลากหลายโดยเน้นถิ่นเก่า ถิ่นอนุรักษ์ ทั้งวัด วัง และชุมชนเป็นหลัก เราชอบไปวาดชุมชนเก่า เพราะมันทำให้ชาวบ้านเห็นคุณค่าของชุมชนตัวเอง แต่พอกลุ่มจัดทริปบ่อย ๆ ก็เริ่มต้องหาพื้นที่ใหม่ ๆ บางทีก็เป็นพื้นที่ของเอกชน เราก็ต้องเข้าไปขอเขาใช้พื้นที่ เพื่อให้ได้เห็นมุมมองที่เราไม่เคยเห็น เช่น วัดน้อย แถวโรงเรียนมาแตร์เดอีวิทยาลัย
“ในทริปหนึ่งจะมีคนไปด้วยกันราวสามสิบคน หลายครั้งมีทั้งเด็กและผู้สูงอายุมาด้วยบ่อย ๆ แต่เราไม่จำเป็นต้องดูแลใครเป็นพิเศษเลย ทุกคนดูแลตัวเองได้ เพราะมีการเตรียมตัวกันมาอย่างดี ทริปหนึ่งเราอาจอยู่กันทั้งวันใช่ไหม แต่ผู้สูงอายุเขาอาจจะมา 2-3 ชั่วโมงแล้วก็กลับ”
“ปลายปีที่ผ่านมา เราจัดทริปวาดย่านสามแพร่งแล้วนำภาพวาดไปจัดแสดงที่แกลเลอรี มีชาวบ้านในชุมชนมาเดินดูด้วย เขาชี้กันว่าบ้านไหนบ้านใคร มันเป็นความน่ารัก หรือบางสถานที่มันเป็นชุมชนทรุดโทรม แต่ในภาพวาด มันทำให้เขาเห็นว่าบ้านเขาก็มีมุมสวยเหมือนกัน การไปวาดรูปแบบนี้จึงกลายเป็นสิ่งเชื่อมโยงคนในชุมชนได้ เราเคยพูดกันเล่น ๆ ว่าถ้าที่ไหนอยากให้คนในชุมชนรักบ้านตัวเอง ให้ชวนเราไปวาดรูปที่นั่น” (หัวเราะ) คุณสุเธียร โล้กูลประกิจ ผู้ดูแลหลักของกลุ่ม เล่าเสริม
พื้นที่แห่งความสนุก สำหรับคนทุกวัย ใคร ๆ ก็เป็นศิลปินได้ เพราะคำว่าวาดรูปไม่เป็น-ไม่มีจริง
ตอนนี้ กลุ่มบางกอก สเกตช์เชอร์ส มีสมาชิกรวมกันแล้วกว่า 30,000 คน ในกลุ่มช่วงวัยหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นวัยเรียนอย่างเด็กประถมจนถึงกลุ่มคนวัยทำงานในหลากหลายอาชีพ มีทั้งศิลปินนักวาดมืออาชีพไปจนถึงมือใหม่คละเคล้ากันไปกลายเป็นส่วนผสมที่ลงตัวและสร้างสีสันให้กับพื้นที่แห่งนี้เสมอมา
“เราตั้งกลุ่มนี้ขึ้นมาเพราะอยากให้คนมาวาดรูปเล่นกันสนุก ๆ อยากให้มันกลายเป็นพื้นที่แห่งความสุขของคนทุกวัยไม่ว่าจะวาดรูปเป็นมาก่อนหรือไม่ เราเชื่อว่าทุกคนมีจุดประสงค์ในการวาดต่างกัน ไม่ใช่ทุกคนที่อยากจะมาเพื่อวาดรูปให้สวย บางคนแค่อยากมาพักผ่อน บางคนอยากออกมาพบปะผู้คน
“เราอยากให้ทุกคนโดยเฉพาะมือใหม่ ไม่รู้สึกเคอะเขินที่เข้ามาอยู่ในกลุ่ม รู้สึกอิสระที่จะโพสต์ภาพวาดของตัวเองลงในกลุ่มเฟซบุ๊ก เขาจะได้รับกำลังใจดี ๆ จากเพื่อนในกลุ่มผ่านการกดถูกใจและคอมเมนต์เสมอ” คุณสุเธียร เล่าให้เราฟังถึงจุดประสงค์ของกลุ่ม
เพราะกลุ่มวาดรูปส่วนใหญ่จะมีแต่ศิลปินหรือนักวาดมืออาชีพ ภาพรวมของกลุ่มคือการโชว์ผลงานของสุดยอดฝีมือ สมาชิกในกลุ่มทั่วไปอาจจะทำได้แค่เพียงชื่นชมและกดถูกใจเท่านั้น แต่อาจไม่กล้าแสดงผลงานตัวเองเท่าไรนัก แตกต่างจากกลุ่ม บางกอก สเก็ตเชอร์สนี้ที่มีแนวทางต่างออกไป กลุ่มจะให้ความสำคัญกับความสุขที่เกิดขณะลงมือวาดภาพมากกว่าจะมองเห็นแต่ความสมบูรณ์แบบของภาพวาด
คุณหมอ-ทิววัฒน์ ภัทรกุลวณิชย์ นักเขียนการ์ตูนและอาจารย์พิเศษ เล่าให้เราฟังถึงบรรยากาศอันแสนเป็นมิตรของกลุ่ม ที่เราได้ฟังแล้วเชื่อเหลือเกินว่าพื้นที่แห่งนี้คือพื้นที่สำหรับทุกคนอย่างแท้จริง ไม่ว่าผลงานภาพวาดจะเป็นอย่างไรก็ตาม มันสวยงามในแบบของมันเสมอ
“การวาดรูปกับกลุ่มเราไม่มีกรอบตายตัว เราเชื่อในความหลากหลาย การวาดรูปไม่ได้มีได้แบบเดียว ไม่มีแบบไหนที่เรียกว่าสวยหรือไม่สวย เราจะเลือกมองจุดเด่นของแต่ละคน ให้เขาได้เห็นข้อดีของตัวเองแล้วภูมิใจในสิ่งที่ทำ บางครั้ง สังคมก็ยังตีตราว่าการวาดรูปต้องเหมือนแบบเท่านั้น มันทำให้คนไม่กล้าวาดรูปใช่ไหม แต่พวกเรามีหน้าที่พาเขาก้าวข้ามกำแพงนั้นออกมา”
“ในกลุ่มนี้จะไม่มีการติผลงานกันเลยว่าไม่สวย มีแต่การให้คำแนะนำเพิ่มเติมเพื่อให้เติบโตไปในแนวทางของเขาเท่านั้น เราได้เห็นคนที่มาวาดรูปกับเรามีกำลังใจขึ้น เพราะได้รับการยอมรับ รู้สึกมีตัวตนและภาคภูมิใจ ซึ่งมันเป็นความรู้สึกที่สำคัญมาก หลายคนมีปัญหาทางจิตใจ การมาทำกิจกรรมนี้ด้วยกันมันให้ความอบอุ่นแก่เขา ไปไหนเราก็ไปด้วยกัน เหมือนมีเพื่อน มีครอบครัว” คุณปราโมทย์กล่าว
“เวลาเรามองภาพวาดภาพหนึ่ง เราไม่ได้มองที่ทักษะการวาด แต่เราจะมองไปถึงภายในว่าต้องการสื่ออะไรมากกว่า นักวาดบางคนไม่ใช่มืออาชีพ แต่ชอบวาดเหตุการณ์ในชีวิตประจำวัน เช่น ภาพเด็กเดินไปซื้อหมูปิ้ง มันคือสิ่งที่เราพบเจอกันทุกวัน แต่ไม่มีใครบันทึกไว้ ถ้าเราเอาศิลปินมาให้คะแนน เขาอาจจะบอกว่าภาพแบบนี้แสงเงาผิด หรือกายวิภาคศาสตร์ไม่ได้เลย แต่ในสายตาคนทั่วไปมอง มันสัมผัสได้ถึงความจริงใจ และความสุขของคนวาด เป็นสิ่งที่บางคนเรียนมาโดยตรงก็ทำไม่ได้”
“ทุกครั้งที่เราออกทริปกัน พอจบทริป เราจะเอาภาพวาดมาวางรวมกัน มันทำให้เราเห็นความหลากหลายของมุมมอง ความคิด และทักษะ บางคนนั่งวาดรูปอยู่ข้างกันแท้ ๆ แต่มุมมองที่เขาสะท้อนผ่านภาพวาดมันไม่เหมือนกัน เราเห็นเสน่ห์ของความหลากหลายนี้” คุณเต้กล่าวเสริมปิดท้าย
พี่พิสิฐ อภิรติกุล วัย 71 ปี – เริ่มต้นวาดรูปอีกครั้งในวัยหลังเกษียณ เพราะการวาดรูปทำให้รู้ว่าตื่นนอนตอนเช้ามาเพื่ออะไร
กลุ่มบางกอก สเกตช์เชอร์ส ประกอบด้วยผู้คนหลากหลายวัย ตั้งแต่เด็กน้อยวัย 3 ขวบที่มาวิ่งเล่นข้างคุณแม่ที่กำลังวาดรูปจนถึงผู้ใหญ่วัยเกษียณ มนุษย์ต่างวัยได้มีโอกาสพูดคุยกับพี่พิสิฐ อภิรติกุล หนึ่งในผู้ดูแลหลักของกลุ่มและยังเป็นสมาชิกที่มีอายุมากที่สุดในกลุ่มด้วย
“จริง ๆ แล้วผมชอบวาดรูปมาตั้งแต่เด็ก แต่หลังจากจบชั้นประถมมาผมก็ไม่เคยได้วาดรูปอีกเลยเพราะต้องมุ่งแต่เรียน เวลาเพื่อนไปเล่นกัน ผมก็ต้องอ่านหนังสือ ที่บ้านเรามีพี่น้องหลายคนและไม่ได้มีเงินทองมากมายนัก ผมเห็นแต่ความจนมาโดยตลอด ก็เลยต้องพยายามเรียนให้ดี สุดท้ายผมก็สอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ในคณะบัญชีฯ
“หลังจากเรียนจบ ผมก็ทำงานธนาคารและบริษัทส่งออก เราอยู่ในระดับที่มีผู้ใต้บังคับบัญชา ตอนนั้นเรามีงาน มีสังคม มีรายได้ใช่ไหม แต่พอเกษียณแล้วทุกอย่างมันหายไปหมดเลย ตื่นขึ้นมามันก็อ้างว้าง ไม่รู้จะทำอะไร มันทำให้เรารู้สึกตัวเองด้อยค่าลงไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งผมเริ่มมาวาดรูป”
พี่พิสิฐ เล่าให้เราฟังถึงจุดเริ่มต้นที่กลับมาวาดรูปอีกครั้งในวัยหลังเกษียณว่าเกิดจากการฟังวิทยุรายการโปรดแล้วนำพาเข้าสู่กลุ่มบางกอก สเกตช์เชอร์ส ด้วยความบังเอิญ
“ผมชอบฟังรายการวิทยุชื่อ เป็นอยู่คือ วันนั้นคุณหมอ-ทิววัฒน์ ภัทรกุลวณิชย์ พูดในรายการว่าจะพาไปดูคลองอรชร ด้วยความเป็นแฟนรายการ เราอยากเจอตัวแกเป็น ๆ เลยขอตามไปดูหน่อยว่าหน้าตาเป็นยังไง พอวันจริง ผมเข้าใจว่าจะเล่าที่มาที่ไปของคลอง แต่เปล่าเลย แกนัดกลุ่มบางกอก สเกตช์เชอร์ส สวาดรูป ผมเห็นแบบนั้นก็อยากกลับบ้าน แต่ฝนตกพอดี พี่อัสนี ทัศนเรืองรอง ที่เป็นผู้ก่อตั้งกลุ่ม เขาบอกว่าไหน ๆ ผมก็มาแล้ว ให้มาวาดรูปด้วยกัน
“ตอนนั้นผมยืนยันว่ายังไงก็ไม่วาด เพราะวาดรูปไม่เป็น แต่แกบอกผมคำหนึ่งว่า เราไม่ได้วาดรูปเพื่อมาอวดกัน แต่เราวาดรูปเพื่อบันทึกความทรงจำต่างหาก ผมคิดว่ามันดีมากเลย แล้ววันนั้นมันก็กลายการวาดรูปทริปแรกของผม จากนั้นมา เขานัดกันออกไปวาดรูปที่ไหน ผมก็ไปกับเขาตลอด กลายเป็นสมาชิกประจำของกลุ่ม และได้กลับมาวาดรูปครั้งแรกในรอบเกือบห้าสิบปี
ตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา พี่พิสิฐวาดรูปทุกวันมากว่า 11 ปีแล้ว ภาพวาดหลายพันชิ้นบันทึกเรื่องราววิถีชีวิตผู้คน และบ้านเรือนริมทางจนกลายเป็นเครื่องบันทึกความทรงจำในนาทีนั้นให้แจ่มชัดเสียยิ่งกว่ากล้องถ่ายรูปตัวไหน หลายครั้งที่เจ้าของบ้านเรือนหรือผู้คนละแวกนั้นสังเกตเห็น ไม่เพียงแต่ขอแอบยืนมองอยู่ห่าง ๆ แต่บางครั้งยังหยิบยื่นขวดน้ำเย็น ๆ ให้นักวาดเป็นสัญญาณว่าประตูแห่งมิตรภาพกำลังก่อตัวขึ้นแล้ว
“การได้ออกไปวาดรูปข้างนอก มันทำให้ผมได้เชื่อมโยงกับผู้คนและชุมชน ยิ่งได้ออกมารวมกลุ่มวาดรูปกับเพื่อนๆแล้วมันทำให้เรามีสังคม มีมิตรภาพใหม่ ๆ โดยเฉพาะกับคนต่างวัยกัน และสำหรับผมแล้ว การวาดรูปมันเหมือนการนั่งสมาธิ เวลาผมนั่งลงวาดรูป ผมจะลืมเวลา ลืมสิ่งรอบตัวไปเลย เพราะได้กลับมาทำในสิ่งที่ชอบตอนเป็นเด็ก
“การวาดรูปให้อะไรหลายอย่างแก่ผม มันทำให้การตื่นเช้ามาในแต่ละวันมีความหมาย ผมคิดว่าผมโชคดีมากที่มาเจอกลุ่มบางกอก สเกตช์เชอร์ส ตั้งแต่วันนั้นมากลายเป็นว่าผมมีความสุขมาก เพราะมากไปกว่าการได้วาดรูป คือบรรยากาศ ผมชอบบรรยากาศในกลุ่มมาก มันเป็นกลุ่มที่มีคนชอบอะไรเหมือน ๆ กัน วาดยังไงก็ได้ ไม่เคยมีใครมาตัดสินว่าสวยหรือไม่สวย มีแต่การชื่นชมกัน เผลอแป๊ปเดียว ปีนี้ก็เข้าสู่ปีที่ 11 แล้ว
“ผมเป็นคนที่อายุมากที่สุดในกลุ่มแล้ว แต่ในกลุ่มนี้ เราไม่มีการเรียกคำว่าลุงหรือตาเลย เราจะเรียกกันว่าพี่หรือน้องเท่านั้น เด็กอายุสิบกว่าขวบก็เรียกผมว่าพี่ มันทำให้เรารู้สึกดี ไม่รู้สึกว่าตัวเองแก่เลย ผมอยู่กับกลุ่มนี้มานาน บางคนผมเจอตั้งแต่เขาเป็นเด็กมาวาดรูปกับแม่ ตอนนี้ผ่านไป 9 ปีแล้ว เราก็ยังวาดรูปด้วยกันอยู่ เรากลายเป็นครอบครัวเดียวกันไปแล้ว (ยิ้ม)
“สำหรับผู้สูงอายุที่คิดว่าตัวเองอายุมากแล้ว ไม่กล้าเริ่มทำอะไรใหม่ๆ ขอให้หาในสิ่งที่ชอบให้เจอ หรือหากใครก็ตามที่อยากเริ่มวาดรูป มันไม่สำคัญเลยว่าคุณอายุเท่าไหร่ แค่คุณมีดินสอแท่งเดียว ก็ขอให้ลองวาดออกมาเถอะ ยังไงมันก็โอเค ไม่ต้องกังวลเลยว่าจะสวยหรือไม่สวย เพราะความสวยไม่ได้มีมาตรฐานเดียว
“ตอนนี้ผมอายุเจ็ดสิบกว่าแล้ว แต่ตื่นมายังมีเป้าหมายทุกวันว่าจะวาดรูป ถ้าถามว่าผมจะวาดรูปไปถึงเมื่อไหร่ ผมคงตอบไม่ได้ แต่จะวาดไปจนกว่าตาจะมองไม่เห็นนั่นแหละ (หัวเราะ)